"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
9 พฤศจิกายน 2548
 
All Blogs
 

Count Basie : Count Of Jazz



หากจะให้พูดถึงผู้อำนวยวงอันดับต้นๆ แล้ว แน่นอนว่าต้องมี Duke Ellington, Benny Goodman และในเมื่อโลกแห่งแจ๊สได้จารึกชื่อของดุ๊กแห่งแจ๊สอย่างดุ๊ก เอลลิงตันไว้แล้ว เหตุผลใดเล่าที่ชื่อ เคาน์ต เบซี จะหลุดออกจากตำแหน่งท่านเคาน์ตแห่งวงการนี้ ย้อนหลังไปไม่กี่ปี Big Bad Voodoo Daddy วงดนตรีบิ๊กแบนด์ร่วมสมัยที่บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อมาบ้าง ก็ได้ยอมรับว่าพวกเขาได้เคาน์ต เบซี ออร์เคสตราเป็นอิทธิพลในการทำงาน
เคาน์ต เบซี เป็นหนึ่งในผู้อำนวยวงคนสำคัญคนแรกๆ ที่เราจะนึกถึงในยุคสมัยของสวิง นอกจากในช่วงยุคเข็ญของสงครามช่วงทศวรรษที่ 50 แล้ว เขาเริ่มอำนวยวงบิ๊กแบนด์ตั้งแต่ปี 1935 จนกระทั่งเกือบ 50 ปีให้หลังเมื่อสิ้นลมหายใจ กระนั้นก็ตามทางวงก็ยังคงเล่นต่อไปโดยปราศจากเขา วงออร์เคสตราของเบซีนั้นขึ้นชื่อในเรื่องความสว่างสดใสของดนตรี เต็มไปด้วยจังหวะครึกครื้น นำด้วยเสียงเปียโนของเขาเอง ซึ่งก่อให้เกิดชีวิตชีวาและความเป็นเอกภาพของวงดนตรี รวมทั้งการบรรเลงเดี่ยวที่ไพเราะ จะว่ากันตามตรงแล้ว เบซีไม่ได้ดำรงอยู่ในจุดที่นักประพันธ์อย่างเอลลิงตัน หรือนักโซโลฟอร์มเยี่ยมอย่างกูดแมนเป็น แต่อาวุธสำคัญของเขาคือวงดนตรีทั้งวงนั่นเอง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพรวมของยุคสวิงเลยทีเดียว และท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นอิทธิพลสำคัญในวงการเพลงแจ๊สที่สืบต่อมายังนักดนตรีรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างกว้างขวาง

เราย้อนกลับมาดูชีวิตของเบซีกันก่อน วิลเลียม เบซีคือชื่อจริงของเบซี เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1904 ณ เมืองเรดแบงก์ นิวเจอร์ซีย์ พ่อของเขา ฮาร์วีย์ เบซี เป็นนักเมลโลโฟน และแม่ ลิเลียน ไชล์ดส เบซี เป็นนักเปียโน เธอนี่เองที่เป็นคนสอนบทเรียนเปียโนบทแรกให้แก่เบซี ในเบื้อแรกนั้น ตัวเบซีเองอยากจะเรียนตีกลองมากกว่า แต่ด้วยเหตุที่ว่าเขามีเพื่อนชื่อ ซันนี เกรียร์ เป็นคู่แข่งตัวฉกาจเมื่อครั้งนั้น ทำให้เขาหันมาเลือกเปียโน เขายังได้รับบทเรียนจากนักเปียโนสไตรด์ที่ฮาร์เล็ม โดยเฉพาะแฟ็ตส์ วอลเลอร์ ซึ่งเขาเห็นวอลเลอร์สเล่นไปป์ออร์แกนเป็นครั้งแรกที่เดอะ ลินคอร์น เธียเตอร์ เบซีก็ทำตามแบบอย่างนักดนตรีแจ๊สหนุ่มๆ สมัยนั้นที่จะเลือกมายังฮาร์เล็ม เนื่องจากว่าที่ฮาร์เล็มนี้เป็นแหล่งของนักเปียโนชั้นนำอย่าง เจมส์ พี.จอห์นสัน, ลัคกี โรเบิร์ต และ วิลลี “เดอะ ไลออน” สมิธ
งานดนตรีอาชีพงานแรกในชีวิตของเบซี คืองานเล่นสลับการแสดงละคร (เราเรียกการแสดงแบบนี้ว่า Vaudeville) และเขาก็กลายเป็นนักดนตรีที่เร่ร่อนไปกับคณะละครชื่อ Kattie Crippin And Her Kids จากนั้นก็มาอยู่กับคณะ Hippity จนกระทั่งมาแตกคณะเมื่อปี 1927 ในแคนซัสซิตี ทิ้งเบซีให้เคว้งอยู่ผู้เดียว แต่เขาก็ยังคงอาศัยอยู่ที่เมืองทางตะวันตก ในตอนแรกๆ ก็ทำงานในโรงฉายหนังเงียบ Hope เขายังได้เล่นกับวงของจูน คลาร์ก และเล่นกับนักร้องคลารา สมิธและแม็กกี โจนส์ หลังจากนั้นก็ออกตระเวนเร่ร่อน ได้มาร่วมงานกับก็อนเซล ไวต์ เขาได้เล่นในวงสี่ชิ้น แถมยังได้เล่นบทตัวร้ายในละครล้อเลียนเรื่องหนึ่งด้วย ระหว่างที่ทำงานให้ไวต์ เขาก็ได้คลุกคลีรู้จักมักจี่กับวง Blue Devils และวอลเตอร์ เพจ ซึ่งภายหลังเขาได้ร่วมงานกันในช่วงปี 1928 นักร้องนำที่น่าจับตามองก็คือ จิมมี รัชชิง เบซีเคยพูดถึงบลูดีวิลส์ด้วยว่า “เป็นวงดนตรีที่มีความสุขที่สุดเท่าที่ผมเคยเล่นด้วย”

เบซีออกจากวงเมื่อต้นปี 1929 เพื่อร่วมงานกับวงอื่น จนในที่สุดก็ได้ร่วมหัวจมท้ายกับวงดนตรีที่นำทีมโดยเบนนี มอเต็น แต่ด้วยความตายที่มาเยือนมอเต็นอย่างเร็วเกินคาดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 1935 ทำให้เบซีต้องกลายมาเป็นนักบรรเลงนำก่อนที่จะได้เป็นผู้อำนวยวง ซึ่งแต่เดิมตั้งชื่อวงว่า The Barons Of Rhythm นักดนตรีสมทบหลายคนของวงเก่าของมอเต็น ก็ได้เข้ามาร่วมแจมจนกลายเป็นวงดนตรี 9 ชิ้นกะทัดรัด ซึ่งไฮไลต์ก็คือ วอลเตอร์ เพจ (เบส),เฟร็ดดี กรีน (กีตาร์), โจ โจนส์ (กลอง) และ เลสเตอร์ ยัง (เทเนอร์แซ็ก) เบซีได้จิมมี รัชชิงเข้ามาร่วมเป็นนักร้องนำด้วย แค่นี้คงจะเรียกว่าเป็นวงซูเปอร์กรุ๊ปในตอนนั้นได้เหมือนกัน วงของเบซีได้งานที่เดอะ เรโน คลับในแคนซัสซิตี และเริ่มการกระจายเสียงทางวิทยุ นักจัดรายการวิทยุได้เอ่ยถามเขาระหว่างออกอากาศครั้งหนึ่งว่า จะเรียกเขาว่า “เคาน์ต” ได้หรือไม่ หะแรกเบซียังนึกว่านักจัดฯ พูดตลก แต่ก็ตอบตกลงไป และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของนักเปียโนหนุ่มที่ได้รับขนานนาม “เคาน์ต” เบซี
ส้มหล่นใส่เบซีลูกใหญ่ เมื่อเพลงที่ออกอากาศเพลงหนึ่งไปเตะหูนักหนังสือพิมพ์และโปรดิวเซอร์แผ่นเสียง จอห์น แฮมมอนด์ แมวมองตาคมที่ดึงเบซีเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมดนตรีอย่างเต็มตัว และวงของเขาได้เพิ่มนักดนตรีเข้าไปอีกสี่ชีวิต ผลที่ตามมา…เบซีและวงสามารถเดินทางออกจากแคนซัสซิตีเมื่อฤดูใบไม้ร่วง ปี 1936 ทั้งยังได้ทำสัญญาเล่นที่เดอะ แกรนด์ แทร์เรซ ในชิคาโก ตามด้วยนัดเล่นที่บัฟฟาโล นิวยอร์ก ก่อนจะลุยต่อที่โรสแลนด์ ในเดือนธันวาคม นี่เองที่เป็นแรงหนุนให้เกิดอัลบัมเปิดตัวกับเด็กกา เรคอร์ดส ในเดือนมกราคม 1937 แต่ความเปลี่ยนก็เริ่มมาเยือนพร้อมๆ กับการเปลี่ยนตัวสมาชิกในวง พวกเขากลับไปที่ชิคาโก สู่โดรงแรมเดอะ ริตซ์ คาร์ลตัน ในเมืองบอสตัน ขณะเดียวกัน บทเพลงในผลงาน One O’Clock Jump ก็กลายเป็นผลงานติดอันดับเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 1937 เพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงธีมของวงไปในบัดดล และก็ถูกนำเข้าสู่แกรมมี ฮอล ออฟ เฟม ในเวลาต่อมา



เบซีกลับสู่นิวยอร์กเพื่อต่อสัญญากับคลับเล็กๆ เดอะ เฟมัส ดอร์ ในปี 1938 ซึ่งเป็นการปลูกฝังความสำเร็จให้กับวงอย่างแท้จริง Stop Beatin’ Round The Mulberry Bush กับจิมมี รัชชิงในตำแหน่งร้องนำ เข้าสู่ 1 ใน 10 อันดับเพลงฮิตช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1938 เบซีใช้เวลาช่วงครึ่งปีแรกของปี 1939 ในชิคาโก ขณะเดียวกันนั้งเอง เขาก็ย้ายรังจากเด็กกามาสู่โคลัมเบีย เรคอร์ดส แล้วย้ายไปที่เวสต์โคสต์ช่วงใบไม้ร่วง ต้นทศวรรษที่ 40 เขาหมดเวลาไปกับการออกทัวร์เสียมาก แต่หลังจากสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเดือนธันวาคม 1941 และการเข้ารุกไล่ของหน่วยงานแบนเพลงในเดือนสิงหาคม 1942 ทำให้การออกตระเวณเล่นคอนเสิร์ตลำบากยากเข็ญมากยิ่งขึ้น พวกเขารับเล่นภาพยนตร์ถึง 5 เรื่องในช่วงที่อยู่เวสต์โคสต์ ซึ่งออกฉายภายในปี 1943 ทั้งหมด อย่าง Hit Parade Of 1943, Reveille With Beverly, Stage Door Canteen, Top Man และ Crazy House นอกจากนั้น เบซียังมุทำเพลงประกอบภาพยนตร์ชุดออกมาด้วย แถมเพลงเหล่านั้นยังพุ่งเข้าอันดับเพลงฮิตอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นชาร์ตอาร์แอนด์บีและป็อป รวมทั้ง I Didn’t Know About You (1945), Red Bank Blues (1945), Rusty Dusty Blues (1945), Jimmy’s Blues (1945) และ Blue Skies (1946) จากนั้นเขาย้ายมาเข้าสังกัดอาร์ซีเอ วิกเตอร์ เรคอร์ดส เพลงของเขาเข้าอันดับหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 1947 ด้วยเพลง Open The Door, Richard! ตามด้วยอีกสามเพลงถัดมา Free Eats, One O’Clock Boogie และ I Ain’t Mad At You (You Ain’t Mad At Me)

กระแสของวงดนตรีบิ๊กแบนด์เริ่มเสื่อมความนิยมลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 40 ตอนนี้ความสำเร็จของเบซีก็เปรียบเสมือนขุนนางระดับท่านดยุค ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจยุบวงออร์เคสตราที่ปลุกปั้นและอยู่กันมานานลงเมื่อปลายยุคนี่เอง เขาเปลี่ยนทิศทางหันกลับมามองดนตรีขนาดย่อมกว่าในช่วงสองสามปีต่อมา แต่ถึงกระนั้นคนเราก็ย่อมกลับสู่รากเหง้าของตัวเอง เช่นกันกับเบซี เมื่อเขากลับมารีฟอร์มวงบิ๊กแบนด์อีกครั้งในปี 1952 โดยเน้นไปในทางออกเดินสายทัวร์มากกว่า เขาไปโชว์ต่างประเทศครั้งแรกที่สแกนดิเนเวีย ในปี 1954 ภายหลังจากนั้น ก็ออกทัวร์นานาชาติไปเรื่อยเป็นส่วนมาก ในช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่ทางวงของเบซีได้โจ วิลเลียมส์นักร้องเสียงชั้นเยี่ยมมาเติมเต็มในช่วงปลายปี 1954 จากตรงนี้เองที่เบซีเริ่มกลับมาอัดแผ่นเสียงขายอีกครั้ง โดยอัลบัมประเดิมได้แก่ Basie Swings, Williams Sings (ตอนนั้นค่ายเคล็ฟเป็นต้นสังกัด) โดยเฉพาะเพลง Every Day (I Have The Blues) ไต่อันดับหนึ่งในห้าของอาร์แอนด์บีชาร์ต และได้รับเชิญเข้าสู่แกรมมี ฮอล ออฟ เฟมในภายหลัง บทเพลงสำคัญอีกหนึ่งบทในยุคนี้ของเบซีคือเพลงบรรเลงอย่าง April In Paris ที่เข้าสู่ท็อปชาร์ตเพลงป็อป 40 อันดับและเข้าหนึ่งในสิบของชาร์ตอาร์แอนด์บีช่วงต้นปี 1956 ซึ่งเพลงนี้ก็เป็นอีกเพลงที่ถูกนำเข้าแกรมมี ฮอล ออฟ เฟมเช่นกัน เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเหล่านี้นี่เองที่ทำให้อัลเบิร์ต เมอร์เรย์ เรียกว่า “พระคัมภีร์ใหม่” แห่งความสำเร็จของเคานต์ เบซี ส่วนวิลเลียมส์ยังคงร้องอยู่กับเบซีจนกระทั่งปี 1960 หลังจากเขาออกจากวงไปแล้ว เบซีก็ยังสร้างความสำเร็จให้กับวงอย่างต่อเนื่อง



สำหรับการรับรางวัลแกรมมี เบซีเริ่มคว้ารางวัลเมื่อปี 1958 ในสาขา Best Performance By A Dance Band และ Best Jazz Performance, Group ในงานอัลบัม Basie ที่ทำกับสังกัดรูเล็ต เรคอร์ดส์ ส่วนอัลบัม Breakfast Dance And Barbecue ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในสาขาวงดนตรีสำหรับเพลงเต้นรำเมื่อปี 1959 แต่เขาก็มาได้รับรางวัลนี้ในปี 1960 จากอัลบั้ม Dance With Basie แล้วยังได้รับเสนอชื่อเข้างชิงสาขา Best Performance By An Orchestra และ Best Jazz Performance, Large Group ในปีเดียวกันจากอัลบัม The Count Basie Story นอกจากนั้นยังมีงานอื่นๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Jazz Performance อย่าง Basie At Birdland ในปี 1961 และ The Legend ในปี 1962 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าอัลบัมเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจในเชิงพาณิชย์สักเท่าไร อย่างไรก็ตามในปี 1962 นี่เองเบซีกลับเข้าไปสังกัดรีไพรส์ เรคอร์ดสสังกัดเดียวกับ แฟรงก์ สิเนตรา ด้วยคำเชื้อเชิญที่ว่าจะสามารถขายแผ่นได้มากขึ้น Sinatra-Basie ก็เป็นอย่างที่พวกเขาตั้งความหวังไว้จริงๆ มันขึ้นได้ถึงอันดับหนึ่งในห้าเมื่อช่วงต้นปี 1963 แล้วก็พาเหรดมาด้วยเพลงอย่าง This Time By Basie! Hits Of The 50’s And 60’s ซึ่งดอดเข้าอันดับหนึ่งในยี่สิบ และฟันรางวัลแกรมมีสาขา Best Performance By An Orchestra For Dancing ในปี 1963

ช่วงที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นอีกช่วงที่น่าจดจำของวงการดนตรีแจ๊สที่ชักนำให้เข้าสู่แวดวงนักฟังเพลงอย่างกว้างขวางในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 เมื่อเบซีร่วมทีมกับศิลปินนักร้องหลากหลายคน เพื่อมาทำอัลบัมต่อเนื่องสุดฮิต อาทิ เอลลา ฟิตซเจอรัลด์ (Ella And Basie! ,1963), สิเนตรา (It Might As Well Be Swing, 1964), แซมมี เดวิส จูเนียร์ (Our Shining Hour, 1965), เดอะ มิลส์ บารเธอร์ส (The Board Of Directors, 1968) และ แจ็กกี วิลสัน (Manufacturers Of Soul, 1968) เบซียีงสามารถนำอัลบัมเพลงบรอดเวย์ Broadway Besie’s…..Way (1966) เข้าอันดับได้เช่นกัน



ปลายปี 1960 เบซีหันกลับมาทำงานแจ๊สทูนมากขึ้น ผลงาน Standing Ovation อัลบัมที่ออกมาในปี 1969 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรงวัลแกรมมีในสาขา Best Instrumental By A Large Group Or Soloist With Large Group (9 ชิ้นหรือมากกว่า) ในปี 1970 เขาร่วมกับโอลิเวอร์ เนลสัน อะเรนเจอร์และผู้อำนวยเพลงชื่อกระฉ่อน ทำงานอัลบัม Afrique งานทดลองในแบบอะวองต์การ์ด ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีสาขา Best Jazz Performance By A Big Band ในยุคทองนี่เอง วงของเขาออกเล่นตามงานเทศกาลแจ๊สอย่างหลากหลาย ต้นทศวรรษที่ 70 หลังจากทำงานเพลงร่วมกับเพื่อนฝูงหลายคนในระยะสั้นๆ เบซีก็เซ็นต์สัญญาเข้าสังกัดปาโบล เรคอร์ดส ซึ่งเป็นสังกัดสุดท้ายในช่วงบั้นปลายของชีวิต ปาโบลออกผลงานของเบซีมาอย่างมากมายหลายรูปแบบ ทั้งยังออกมาเป็นชุดต่อเนื่องอย่าง Basie Jam ที่ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีในปี 1975 สาขา Best Jazz Performance By A Group ส่วนอัลบัม Basie And Zoot ก็ได้รับเสนอชื่อในสาขาเดียวกันเมื่อปี 1976 และได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 1976 Prime Time ได้รับรางวัลแกรมมีสาขา Best Jazz Performance By A Big Band ในปี 1977 The Gifted Ones บรรเลงโดยเบซีและดิซซี กิลเลสปี ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัล Best Jazz Instrumental Performance By A Group เมื่อปี 1979 หลังจากนั้น เบซีก็ยังคงเป็นตัวเก็งในรางวัล Best Jazz Performance By A Big Band และได้รางวัลในที่สุดจากอัลบัม On The Road ส่วนปี 1982 ก็ได้รับจากอัลบัม Warm Breeze ตามด้วยการได้รับเสนอชื่อเข้าชิงจากอัลบัม Farmer’s Market Barbecue ในปี1983 และรางวัลสุดท้าย…รางวัลแกรมมีครั้งที่เก้าที่เขาได้รับจากอัลบัม 88 Basie Street ในปี 1984

สุขภาพของเบซีเริ่มเสื่อมถอยลองในเวลาต่อมาช่วงแปดปีสุดท้ายของชีวิต เขาป่วยเป็นโรคหัวใจเมื่อปี 1976 อันทำให้เขาเหมือนปลดประจำการไปโดยปริยายเป็นเวลาหลายเดือน เขากลับเข้าโรงพยาบาลในปี 1981 แต่ก็กลับออกมาทำงานอีก โดยนั่งเก้าอี้ล้อเลื่อนไฟฟ้ามาขึ้นเวที แต่เขาก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อายุได้ 79 ปี ลมหายใจสุดท้ายของเบซีหมดลงเมื่อ 26 เมษายน 1984 ในฮอลลีวู้ด ฟลอริดา



เราคงไม่ปฏิเสธว่า เคาน์ต เบซีได้รับความชื่นชมและชื่นชอบจากทั้งนักดนตรีด้วยกันเอง และจากผู้ฟังมากพอๆ กัน เขายังได้ฝากผลงานไว้ในฐานะผู้อำนวยวง ที่ทำหน้าที่ยาวนานหลากหลายยุคหลายสมัยของดนตรี เริ่มต้นตั้งแต่ยุคสวิง วงดนตรีของเขายังคงขับเคลื่อนต่อไปโดยมีแธ็ด โจนส์, แฟรงก์ ฟอสเตอร์ และโกรเวอร์ มิตเชลเป็นผู้ผลักดัน

อีกอย่างหนึ่งที่เบซีได้รับการยกย่องก็คือ การเป็นแบบอย่างของการเล่นดนตรีวงใหญ่และโทนัล บาลานซ์ เบซีเองนั้นก็คล่องแคล่วกับการเล่นเปียโนสไตล์คอมพ์ปิง (การเล่นลัดจังหวะ) และความพิถีพิถันในการเล่นคอร์ด และที่น่ายินดีก็คือ เคาน์ต เบซี ออร์เคสตราเป็นแหล่งผลิตศิลปินรุ่นใหม่ๆ ตามออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เลสเตอร์ ยัง, บัค เคลย์ตัน, แธ็ค โจนส์, วอลเตอร์ เพจ, โจ โจนส์, บิลลี ฮอลิเดย์, เฮเลน ฮัมส์ และอีกมาก

หน้าที่การงานทางดนตรีอันยาวนานของเขาทิ้งไว้ซึ่งผลงานดนตรีหลากสังกัด ที่จดจารออกมาเป็นหน้ากระดาษก็ไม่พอ เช่นกันกับคุณค่าทางดนตรีที่เบซีทิ้งไว้ ทำอย่างไรก็ไม่มีวันลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงแจ๊ส.

Selected albums of Count Basie
1936 Count Basie 1936-38 (Classics)
1937 The Original American Decca Recording (MCA GRP)
1937 Listen…You Shall Hear (Hep)
1938 Do You Wanna Jump (Hep)
1939 Count Basie Volume One 1932-1938 (Jazz Calssics In Digital Stereo)
1939 Count Basie 1938-39 (Classics)
1940 Basie Rhythm (Hep)
1943 The Jubulee Alternatives (Hep)
1955 Count Basie Swings, Joe Williams Sings (Verve)
1955 April In Paris (Clef)
1956 The Complete Atomic Basie (Roulette)
1957 One O’Clock Jump (MCA)
1957 Count Basie At Newport..Live (Verve)
1957 Atomic Mr.Basie (Roulette)
1959 Basie Swings, Bennett Sings (Roulette)
1960 The Legend (Capitol)
1972 The Golden Years (Pablo)
1973 Basie Jam (Pablo)
1994 The Complete Atomic Basie (Roulette)
1999 Atomic Swing (Blue Note)




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2548
0 comments
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2548 14:10:01 น.
Counter : 1600 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.