DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
13 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 

ไขปัญหาอาชญากรรมด้วยวิทยาศาสตร์

          คนบริสุทธิ์โดนตัดสินจำคุกก็หลาย คนร้ายที่กฎหมายไม่อาจเอาผิดก็มีเยอะ คนดีก็ฆ่าคนได้ถ้าสถานการณ์บีบคั้น! และมีแต่คนดีเท่านั้นที่ฆ่าคนแล้วยืนรอให้ตำรวจมาจับ หรือไม่ก็เดินเข้ามอบตัวเอาเองพร้อมรับสารภาพ


            คนร้ายฆ่าแล้วหนี ส่วนจะทิ้งหลักฐานร่องรอยไว้แค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญา ขวัญ และความรอบคอบจัดเจนของฆาตกรเอง แต่ไม่ว่าจะรอบคอบสักแค่ไหนก็จะต้องมีร่องรอยให้ตำรวจตามแกะ สืบสาวราวเรื่องลากคอมาเข้าคุกจนได้นั่นแหละ ถ้ามีกำลังพลพอ มีเวลาทุ่มเทกันจริงๆ และที่สำคัญ มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยพยานหลักฐานต่างๆ อย่างเพียบพร้อม


            สำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก้อนตะกั่วหัวลูกปืนที่ผิดรูปผิดร่างไม่ได้มีความหมายอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่สำหรับนักพิสูจน์หลักฐานในห้องปฏิบัติการไร้หน้าต่างแห่ง Bureau of Alcohol, Tobacco and Firearms ในเมืองร็อควิลล์ มลรัฐแมรีแลนด์แล้ว มันคือ ทองทั้งแท่ง!


            หัวกระสุนในร่างเหยื่อรายล่าสุดที่ถูกลอบยิงอาจโยงใยไปถึงรายก่อนๆ ทำให้ตามล่าฆาตกรได้ง่ายขึ้น!


          แม้บรรดามือปืนทั้งหลายจะสบประมาทพนักงานสอบสวน โดยการเด็ดชีพเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก รายแล้วรายเล่า เจ้าหน้าที่ก็ยังลากมาเข้าคุกจนได้ เพราะมีคลังเครื่องมือไฮเทคไว้ช่วยสะสางคดีอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น คอมพิวเตอร์วาดโครงร่างทางภูมิศาสตร์ (geographic-profiling computers) เพื่อช่วยหาตำแหน่งแน่นอนของบ้านมือสังหาร มีฐานข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับขีปนาวุธ (ballistics databases) เพื่อใช้พิสูจน์ริ้วรอยบนหัวกระสุนเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับหัวกระสุนที่ใช้ในอาชญากรรมรายอื่นๆ และ เทคโนโลยีติดตามร่องรอยของสาร (trace-substance technology) เพื่อแกะเงื่อนงำอะไรก็ตามที่พอจะหาได้(เช่น ลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ)ที่ติดอยู่บนปลอกกระสุนหรือบนไพ่ทาโร่


            ทว่า แม้มีข้อมูลทั้งหมดนี้ในมือ หากจะจับผู้ต้องสงสัยก็ยังอาจต้องใช้โชคช่วยหรือมีอะไรเข้าล็อกสักอย่าง แต่พนักงานสอบสวนจะมีข้อติดขัดน้อยกว่าที่เคยในแง่ของโอกาสทำงานให้สำเร็จ และสิ่งที่เปิดเผยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่ชนิดของเครื่องมือไฮเทคที่ใช้อยู่ ซึ่งมีอุปกรณ์กวาดตรวจสัญญาณเคมี (chemical scanners) เพื่อตรวจสอบวัตถุพยานชนิดว่ากันทีละโมเลกุลเลยทีเดียว และเครื่องตรวจสอบเกี่ยวกับความขัดแย้ง (controversial sensors) ในการใช้วิเคราะห์คลื่นสมองของผู้ต้องสงสัยเพื่อดูว่าเขารู้อะไรและไม่รู้อะไรบ้าง


            ผู้ชมทีวีในสหรัฐฯ สามารถเลือกชมละครที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายได้แทบทุกคืน เริ่มจาก CSI (ซึ่งเป็นผู้นำของละครแนวนี้) ทาง CBS (ภาพยนตร์ชุดนี้มีฉายทางช่องเคเบิลทีวีในบ้านเราด้วย - กองบก.) และมี CSI: Miami ซึ่งแตกหน่อออกมาเป็นชุดแรก เสนอทาง CBS เช่นกัน แถม Crossing Jordan เสนอทาง NBC อีก  ด้านเคเบิลทีวีนั้น The Forensics Files คือเรื่องราวเกี่ยวกับศาลในรายการทีวีที่มีผู้ติดตามชมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในขณะที่ Autopsy เป็นการสืบสาวคดีบนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ซึ่งเสนอทาง HBO


            ทิม กริง กรรมการผู้อำนวยการสร้าง Crossing Jordan กล่าวว่า “การเอาวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับงานของตำรวจมันช่วยผลักดันให้บทละครเข้มข้นและน่าสนใจมากขึ้นจริงๆ”


            แต่ว่า มันผลักดันไปทางไหนกันล่ะ?


            ผู้ชำนาญการมากมายตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าทำให้วิทยาศาสตร์ด้านอาชญากรรมพุ่งเข้าสู่ความนิยมแล้ว มันจะเป็นเรื่องดีจริงหรือ?


            การคลี่คลายปัญหาอาชญากรรมแต่ละครั้งใช่ว่าจะทำได้รวดเร็วและแม่นยำเหมือนที่เห็นในละครตอนละ 46 นาทีจบ งานสืบสวนสอบสวนอาจใช้เวลาหลายเดือน หลักฐานอาจจะซับซ้อนสับสน จนศาลซึ่งยังแคลงใจเกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ๆ พวกนี้ ลังเลที่จะเชื่อถืออยู่บ่อยๆ เคยมีครับ อัยการท่านหนึ่งพยายามตะลุยเข้าไปจนถึงกับเอาคลื่นสมองและดีเอ็นเอของ  ผู้ต้องสงสัยยื่นต่อศาล ก็ยังเจอปัญหาจนได้ คือไม่อาจตอบคำถามทางกฎหมายได้อย่างชัดเจนจนเป็นที่พอใจของศาล!


            นับตั้งแต่มีการใช้ดีเอ็นเอเป็นหลักฐานในคดีทางเพศของ โอ.เจ. ซิมป์สัน เป็นต้นมา นิติวิทยาศาสตร์ในความรู้สึกของคนจำนวนมากก็มักจะเกี่ยวเนื่องกับดีเอ็นเอทั้งสิ้น ความสามารถในการแยกเซลล์จากของเหลวในร่างกายหรือเนื้อเยื่อ เพื่อใช้มันบ่งบอกตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของด้วยความแม่นยำเกือบเต็มร้อยที่ว่านี้ มันเขย่าวงการอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


            ในขณะที่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการแยกดีเอ็นเอได้เก่งขึ้นจากตัวอย่างที่เล็กลงกว่าเดิม เทคโนโลยีก็ยิ่งก้าวหน้าและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย ช่วยให้สามารถแยกเซลล์ที่อุดมด้วยหลักฐานจากคราบเหงื่อ น้ำตา น้ำลาย และคราบเลือดที่มีขนาดเท่าหัวไม้ขีด!


            แต่ไม่ว่าการตรวจดีเอ็นเอจะน่าทึ่งและมีความน่ามั่นใจแค่ไหน มันก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ทำให้บรรดานักนิติวิทยาศาสตร์ หรือนักสร้างละครทีวี ตื่นเต้นสักเท่าใดนัก สิ่งที่ทำให้คนพวกนี้ตาลุกที่สุดกลับเป็นฮาร์ดแวร์หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ เช่น กล้องส่อง (scope) สแกนเนอร์ และ วิธีแมสสเปกโทรมิเตอร์ (mass spectrometers) (เครื่องวัดสเปกตรัมแสงสีชนิดครอบคลุมทุกจุดประสงค์) ซึ่งช่วยให้ผู้ตรวจวิเคราะห์สามารถรีดเอาข้อเท็จจริงออกจากหลักฐานใดๆ ที่รับมา ด้วยความแม่นยำอย่างน่าทึ่ง


            หากต้องการตรวจวิเคราะห์หลักฐานชิ้นเล็กๆ ซึ่งยังไม่ทราบองค์ประกอบทางเคมี ก็เพียงเอาของสิ่งนั้นใส่เข้าไปในแก๊สโครมาโทกราฟ ซึ่งโดยเนื้อแท้มันคือเตาอบความร้อนสูงจัด มันจะเผาหลักฐานชิ้นนั้นให้กลายเป็นไอ ก๊าซที่ได้จะหลั่งไหลเข้าไปในท่อที่ขดเป็นวงๆ ที่บรรจุสารเคมีไว้ข้างใน ซึ่งจะเป็นตัวทำให้สารต่างๆที่เป็นส่วนประกอบของก๊าซหลุดรอดออกไปในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน จากนั้นก็จะนำเอาส่วนประกอบเหล่านี้ไปแยกแยะแบ่งประเภทตามนheหนักอะตอมแล้วแปลงเป็นกราฟ ผู้ตรวจสอบจะใช้ข้อมูลที่ได้(จากคอมพิวเตอร์)นี้เปรียบเทียบกับข้อมูลอ้างอิงซึ่งจัดไว้ในห้องสมุด เพื่อดูว่าหลักฐานชิ้นนั้นทำขึ้นมาจากอะไรบ้าง


            อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการใช้เครื่องมือใหม่สองตัวนี้ก็คือ หากต้องการวิเคราะห์หลักฐานชิ้นใด คุณจำเป็นต้องทำลายมัน(จนไม่เหลือ)ไปด้วย นั่นแปลว่า คุณจะต้องทำให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ในครั้งแรกเลย มิเช่นนั้นก็เท่ากับทำลายหลักฐาน!


            เป็นไปได้ว่า เทคโนโลยีสำหรับสู้กับอาชญากรรมชิ้นใหม่ที่มีอนาคตที่สุด ซึ่งยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ คือกระบวนการที่รู้จักกันในนาม ลายพิมพ์สมอง (brain fingerprinting) หลักการเบื้องหลังเทคนิคอันนี้ก็คือ เมื่อสมองสร้างภาพที่มันรู้จัก มันจะปล่อยแรงกระตุ้นทางไฟฟ้าอันมีค่าจำเพาะออกมาซึ่งสามารถจับได้โดยอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ติดไว้กับหนังศีรษะ การตอบรับในเชิงบวกต่อภาพสถานที่เกิดเหตุอาจชี้ชัดได้ว่าผู้ต้องสงสัยอยู่ที่นั่น และในทางตรงกันข้าม หากเป็นสิ่งที่มันไม่เคยเห็นมาก่อนก็จะให้ผลออกมาเชิงลบ ซึ่งจะช่วยยืนยันคำแก้ตัวที่ว่า ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยเช่นกัน


            สำหรับชาวบ้านผู้รับรู้นิติวิทยาศาสตร์จากเพียงแหล่งเดียวคือละครในช่วงเวลาที่มีคนชมมากที่สุดนั้น ไม่ว่าอะไรก็ดูจะง่ายและสวยงามไปหมด ความเป็นจริงก็คือ ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างก็แย่งชิงเงินงบประมาณจากถุงใบเดียวกันซึ่งเหลืออยู่ไม่มากหลังจากจ่ายเงินเดือนให้ตำรวจผู้ตรากตรำไปแล้ว มันไม่มีทางที่จะทำอะไรหรูหราแบบนั้นได้เลยแม้แต่น้อย ยิ่งเครื่องมือแบบแมสสเปกโทรมิเตอร์ในทีวีที่ทำไว้อย่างสวยหรู และมีแสงวูบวาบพร้อมภาพบนจอ ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้


          ในทีวีนั้น คดีอาชญากรรมไม่ยืดเยื้อ การสืบสวนใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมงนับตั้งแต่ก่อเรื่องจนถูกจับ ประชาชนหวังจะให้รู้ผลการตรวจดีเอ็นเอในสองชั่วโมง ซึ่งความเป็นจริงอาจต้องใช้เวลาถึงสองเดือน


            ความเชื่อที่ถูกกล่อมให้คล้อยตามนิยายว่า การปราบปรามอาชญากรรมทำได้เร็วและง่าย อาจเริ่มกลายเป็นแนวทางของการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เหล่านักนิติวิทยาศาสตร์ได้พูดถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า CSI effect หรือผลกระทบจาก CSI ที่ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่าห้องปฏิบัติการของตำรวจสามารถทำได้ทุกอย่างตามที่ห้องปฏิบัติการในทีวีทำได้


            เรื่องนี้คงจะไม่สบอารมณ์บรรดาอาชญากรนัก แต่มันก็อาจทำให้นักนิติวิทยาศาสตร์พันธุ์ใหม่ผิดหวังได้เช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นแฟนประจำของ CSI และ Crossing Jordan อยู่ก่อนแล้วละก็ พวกเขาอาจไม่ได้เตรียมตัวมาพบของจริงที่ว่า นิติวิทยาศาสตร์มิใช่จะเร็ว สนุก หรือสวยงามเสมอไป แต่มันเป็นงานที่ต้องอาศัยความทรหดในการทดลอง อดทนกับผลที่คลาดเคลื่อน ไม่สิ้นหวังเมื่อเจอทางตัน และต้องอดทนกับการทดสอบอย่างเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน กระทั่ง... ในที่สุด สักวันหนึ่ง เมื่อทุกแง่มุมทุกข้อปล้องของมันลั่นกริกเข้าสู่จุด คนชั่วก็อยู่ในอุ้งมือของคุณจนได้!


            มันอาจจะไม่ใช่เรื่องหรรษา แต่ก็น่าปลื้มมิใช่หรือ?


            โอกาสหน้าถ้าว่างๆ ผมจะไล่การสืบคดีฆาตกรรมโดยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาฝากครับ ว่ามันทันสมัยขนาดไหน จากอดีตถึงปัจจุบันเลย






 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2553
0 comments
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2553 21:18:06 น.
Counter : 1731 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.