The Warlords : จุดยืนที่เสียดุล



ต้นไม้ทรงตัวแบกรับกิ่งก้านที่แผ่ขยายใหญ่อยู่ได้ก็เพราะมีฐานรากที่แผ่ขยายใหญ่อย่างมั่นคงดุจกัน การสั่งสมบารมีสู่ความสำเร็จของคนก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ตราบใดที่ฐานอำนาจหรือพันธมิตรร่วมอุดมการณ์เริ่มสั่นคลอนระหองระแหง เค้าลางแห่งการล่มสลายก็ย่อมปรากฏตามมาเคียงกัน

นั่นย่อมแสดงว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จำเป็นต้องมาจากจุดยืนและฐานอำนาจที่มั่นคง The Warlords ผลงานล่าสุดของผู้กำกับปีเตอร์ ชาน เรื่องนี้กล่าวถึงความสำคัญของสามแนวคิดในแต่ละองค์ซึ่งประกอบรวมเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าชัยชนะหรือความสำเร็จ



สามส่วนสำคัญที่กล่าวถึงข้างต้นคือ สมอง หัวใจและความซื่อตรง The Warlords นำเสนอข้อความคิดนี้ผ่านสามตัวละครหลักในเรื่องท่ามกลางบรรยากาศของสงครามสมัยราชวงศ์ชิง สามตัวละครที่แสดงศักยภาพของพลังในแต่ละส่วนที่เมื่อหลอมรวมกันแล้วจะกลายเป็นอำนาจที่สมบูรณ์แบบ แต่ตราบใดก็ตามที่พลังทั้งสามหักล้างทำลายกันเอง ความสมบูรณ์ที่ว่านั้นก็ถึงคราวแหลกสลายกลายเป็นจุลได้เช่นกัน ผลงานชิ้นนี้ของปีเตอร์ ชาน มาพร้อมความหนักแน่นและจริงจัง บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นถึงผลร้ายของการแตกความสามัคคี



ปีเตอร์ ชาน สร้างชื่อจากหนังรักเรื่องดังอย่างเถียนมีมี่ (Comrades , Almost a Love Story) ที่หากมองผิวเผินมันก็เพียงแค่หนังรักประทับใจของชายหญิงคู่หนึ่ง แต่ลึกยิ่งไปกว่านั้น เถียนมีมี่คือหนังที่แฝงนัยยะทางการเมืองได้อย่างแนบเนียนและงดงาม ว่าด้วยความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ที่ไม่ว่าจะพรากจากกันนานเพียงไหน (ฮ่องกงตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตามสนธิสัญญานานกิงนับแต่ครั้งเหตุการณ์สงครามฝิ่น) แต่หากได้ชื่อว่าเป็นคู่แท้กันแล้วก็ย่อมไม่แคล้วกัน ฮ่องกงกลับมาอยู่ในอ้อมกอดของจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งหลังพิธีส่งมอบเกาะคืนในปี ค.ศ. 1997

หนังเพลง Perhaps Love ก็เช่นกัน ปีเตอร์ ชาน กล่าวถึงความเจริญของฮ่องกงภายใต้ระบบทุนที่พยายามพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก จนบางครั้งก็คล้ายจะหลงลืมความเรียบง่ายของชีวิตและความจริงใจของผู้คนเยี่ยงสังคมจีนในอดีต สื่อผ่านภาพเปรียบเทียบชีวิตของเด็กสาวจนๆคนหนึ่ง ที่เมื่อกลายเป็นดารามีชื่อเสียงโด่งดังแล้วกลับหลงลืมกำพืดของตัวเอง ( ประโยคที่บอกว่า “อย่าลืมปักกิ่ง” ซึ่งพระเอกบอกกับนางเอกในฉากจบของเรื่องซ่อนนัยยะทางการเมืองเพื่อกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ครั้งเก่าก่อนได้อย่างคมคาย )



The Warlords เรื่องนี้ก็เช่นกัน ที่แม้จะมาในอารมณ์ของหนังสงครามฟอร์มยักษ์ แต่ประเด็นเรื่องความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนพ้องชนชาติจีน ก็ยังถูกเน้นย้ำอีกครั้งเหมือนเช่นเคย ( สื่อผ่านตัวละครของเจ็ทลีจากจีนแผ่นดินใหญ่ หลิวเต๋อหัวจากฮ่องกงและทาเคชิ คาเนชิโร่จากไต้หวัน ) แต่แทนที่จะพูดถึงความรักแบบตรงๆ ปีเตอร์ ชาน เลือกที่จะกล่าวถึงความหายนะหากมิตรร่วมเชื้อชาติต้องมาแตกคอและประหัตประหารกันเอง เดินประเด็นตามหลังผู้กำกับรุ่นพี่ซึ่งได้อวดฝีมือไปแล้วก่อนหน้า ทั้งจางอี้โหมวจาก Curse of the golden flower เฉินข่ายเก๋อจาก The Promise และล่าสุด หลี่อันในหนังอื้อฉาวอย่าง Lust , Caution ก็ล้วนได้ย้ำเตือนให้เห็นถึงข้อความคิดอันสลักสำคัญนี้



The Warlords กล่าวถึงความเป็นไปของพี่น้องร่วมสาบานสามคนซึ่งแตกต่างที่มาและอุปนิสัย แต่มารวมตัวรวมใจกันได้ด้วยจุดประสงค์ที่จะนำพาชีวิตของชนเผ่าท้องถิ่นแห่งหนึ่งให้รอดพ้นจากภัยแห่งความอดอยาก ภัยร้ายที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าสงครามที่กำลังปะทุอยู่ในยุคสมัยนั้น

ผู้กำกับแสดงภาพให้เห็นถึงความทุกข์ยากของผู้คนเมื่อต้องขาดแคลนอาหาร ทั้งความหิวโหยของคนในหมู่บ้านและการขาดแคลนเสบียงทัพเมื่อยามออกศึก อาหารจึงเป็นปัจจัยจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตอย่างแท้จริง (คงไม่มีใครอุตริคิดถึงเรื่องอำนาจ เกียรติและเงินตราตราบใดที่ยังไม่อิ่มท้อง) หลายคนอาจประเมินค่าว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่ในมุมมองและวิสัยทัศน์ของผู้นำโดยเฉพาะหัวเรือใหญ่ระดับชาติ เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ประโยคที่นโปเลียนเคยกล่าวว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” จึงกลายเป็นถ้อยวลีอมตะ ที่ผู้นำซึ่งแม้ไม่ได้เป็นแม่ทัพในกองทหารก็ยังต้องตระหนักถึงอยู่ตลอดเวลา ประเทศชาติจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงประชาชนในชาติต้องมีอยู่มีกินอย่างเพียงพอ ความล่มสลายของราชวงศ์ชิงภายใต้การปกครองของซูสีไทเฮาในจีนก็เกิดมาจากปัญหาปากท้องของประชาชนเช่นกัน ผู้นำที่มองข้ามฐานอำนาจที่สำคัญที่สุดคือประชาชนและละเลยความจำเป็นขั้นพื้นฐานนี้ ย่อมพบกับความล่มสลายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสมอ ธรรมชาติข้อนี้แสดงความจริงให้เห็นอยู่ในทุกส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติในอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่สาเหตุเบื้องต้นในการปฏิวัติของคณะราษฎร์ในประเทศไทยเองก็ตามที ( ผู้นำที่เข้าใจความต้องการของมหาชนหมู่มากด้วยนโยบายประชานิยม จึงมักเป็นที่โปรดปรานในทุกยุคทุกสมัย )



The Warlords วางรูปแบบความสัมพันธ์ของตัวละครออกเป็นสามเส้า ( ปีเตอร์ ชาน เท่ห์มากที่นำเอาโครงสร้างความสัมพันธ์แบบสามเส้านี้มาขยายความได้อย่างมีมิติและรอบด้าน ในแง่ดี สามเส้าคือการรวมตัวกันเพื่อสร้างความมั่นคงของพี่น้องร่วมสาบาน คือเสถียรภาพที่เหนียวแน่นของใต้เท้าทั้งสามผู้ร่วมวงไพบูลย์เป็นพันธมิตรกัน ในแง่ร้าย สามเส้าของความรักคือความสัมพันธ์อันซ่อนเร้น เปราะบาง และทนทุกข์ ไม่อาจหาจุดอันลงตัวได้ระหว่างคนสามคน)

สามเส้าของปีเตอร์ ชาน ยังกล่าวถึงสามส่วนของพลังแห่งคริสต์ศาสนา ว่าด้วยพระบิดา (ปัญญา) พระบุตร (ความบริสุทธิ์) และพระจิต (หัวใจ) สอดแทรกผ่านสัญลักษณ์ของไม้กางเขนและบุคลิกของเจ้าเมืองซูโจวที่มีชื่อว่า “เยซู” การตายของเจ้าเมืองซูโจวเป็นการเสียสละอันใหญ่หลวง เสมือนการพลีชีพเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ (การตีความสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ว่าด้วยดุลยภาพของพลังแห่งพระบิดาพระบุตรและพระจิตนี้ ผู้กำกับคลิ้น อีสท์วูด เคยฝากผลงานที่น่าทึ่งไว้ในหนังเรื่อง Million Dollar Baby สื่อความคิดนี้ผ่านสามตัวละครหลักในเรื่อง)



พี่น้องร่วมสาบานสามคน เป็นสามเส้าในรูปแบบแรกของการวิเคราะห์ของปีเตอร์ ชาน

แม่ทัพผางชิงหยุนผู้เปี่ยมอุดมการณ์คือพี่ใหญ่ (เจ็ทลี) เขารอดชีวิตมาจากสงครามอันโหดร้ายเพียงลำพัง นั่นเพราะเล่ห์เหลี่ยมที่แกล้งทำทีเป็นคนตาย ในวิกฤติที่เรียกร้องการตัดสินใจที่เด็ดขาด แม่ทัพผางใช้เหตุผลเป็นที่ตั้งและไม่ยี่หระต่อความรู้สึกของผู้ใด บ่อยครั้งที่ผู้คนรอบข้างไม่เข้าใจในทางเลือกที่เขาตัดสิน นั้นเพราะผางชิงหยุนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีอุดมการณ์ที่ล้ำลึกและมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นยังคิดตามไม่ทัน (ฉากที่ใต้เท้าในราชสำนักให้กองกำลังทหารเพิ่มแก่เขา แม่ทัพผางกล่าวว่ากองหนุนที่ได้มานั้นอาจตามความคิดเขาไม่ทัน ) กลยุทธ์อันแยบคายครั้งแล้วครั้งเล่าในสงครามสะท้อนถึงวิธีคิดของเขาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การโจมตีที่หัว (ประหนึ่งการรุกฆาตทางสงคราม) การทำลายฐานกำลังของคู่ต่อสู้ให้ได้เป็นอันดับแรก การฆ่าทหารฝ่ายตนเองที่กระทำผิดเพื่อปรามให้ผู้อื่นเห็นเป็นเยี่ยงอย่าง หรือการฆ่าเชลยศึกเมืองซูโจวจำนวนสี่พันคนเพื่อสำรองกำลังเสบียงไว้ให้กับทหารฝ่ายของตน เป็นต้น



การตัดสินใจของผางชิงหยุนมีเหตุผลที่ยากจะปฏิเสธ แต่บางครั้งตรรกะและความสมเหตุสมผลของสมองเพียงประการเดียวก็ช่างไร้มนุษยธรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หัวหน้ากองโจรนามจ้าวเอ้อหูเป็นพี่รอง (หลิวเต๋อหัว) รักพวกพ้องเหนือสิ่งใดและใช้หัวใจเป็นแกนหลักในการดำเนินชีวิต ตัดสินใจด้วยอารมณ์และคิดการใหญ่ด้วยความฉาบฉวย หนังสื่อภาพให้เห็นว่าเขาอ่านหนังสือไม่ออก พูดโง่ๆ ทั้งที่ควรนิ่งเงียบและประกาศความคิดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างน่าขัน

พฤติกรรมของเขามักขาดการใคร่ครวญและการไตร่ตรองที่รอบคอบ หากแต่จ้าวเอ้อหูก็ได้ใจลูกน้องและเป็นที่รักของหมู่มิตรทหารทั้งมวล เอ้อหูเป็นคนที่ยึดมั่นในคำสัญญา ฉากที่น่าสลดใจฉากหนึ่ง คือเมื่อเขาปฏิบัติตามคำสัญญาที่เคยลั่นวาจาไว้กับเจ้าเมืองซูโจวไม่ได้ คำสัญญาเหล่านั้นเป็นเสมือนโซ่ตรวนเส้นใหญ่ที่รัดรังให้เขาต้องทุกข์ทรมานอยู่กับความรู้สึกผิดอันมหาศาล



ความคิดและการตัดสินใจของจ้าวเอ้อหูคล้อยตามอารมณ์ความรู้สึก (ฉากหนึ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวเขาได้ดีนั่นคือ ตอนที่เอ้อหูสะเทือนใจถึงขั้นร้องไห้ฟูมฟายออกมาเมื่อชมการแสดงงิ้วซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องร่วมสาบาน ) โลกของเขาช่างคับแคบเมื่อเทียบกับสังคมแห่งการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองของเหล่าขุนนาง จุดจบของเอ้อหูประหนึ่งตลกร้ายที่เขาพยายามช่วยเหลือแม้กระทั่งคนที่คิดฆ่าตน เอ้อหูไม่เคยรู้เท่าทันเขี้ยวเล็บของโลกอันโหดร้ายจึงตกเป็นเหยื่อของเล่ห์เหลี่ยมนั้นอย่างน่าเวทนา ความคิดที่ลอยฟุ้งอยู่บนลมหายใจเฮือกสุดท้ายคือความปรารถนาดีต่อพี่น้องร่วมสาบานที่ไม่มีวันดับสูญ



เจียงอู๋หยางผู้น้อง (ทาเคชิ คาเนชิโร) เป็นคนขาดจุดยืนในชีวิต คล้อยตามความคิดใดความคิดหนึ่งอย่างง่ายดาย เขาเป็นคนซื่อสัตย์และมองโลกในแง่ดี ( ฉากหนึ่งตอนเปิดเรื่อง ผางชิงหยุนบอกกับอู๋หยางว่าวันนี้ท้องฟ้ามืดมัวแต่เขากลับยังเห็นว่าท้องฟ้านั้นแจ่มใส) อู๋หยางยึดมั่นในคำสาบานระหว่างพี่น้องเป็นสรณะ ตัดสินใจด้วยความบ้าคลั่ง ไร้ซึ่งเหตุผลและความยับยั้งชั่งใจ แต่ถึงกระนั้น ในสถานการณ์ที่ปัญญาและความอาจหาญของใจไม่อาจเอาชนะ ความบ้าบิ่นบู๊ระห่ำของอู๋หยางกลับเป็นคำตอบที่ดีที่สุดได้เช่นกัน

ทั้งสามคนคือตัวแทนของสมอง หัวใจ และความซื่อตรง ที่เมื่อประกอบรวมกันแล้ว ไม่ว่าภารกิจที่กำลังผจญอยู่นั้นจะยากลำบากและสิ้นไร้ทางออกสักเพียงใด ก็ยังสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ หากทั้งสามสิ่งนี้ยังคงประกอบอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว



อีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์แบบสามเส้า นั่นคือความรัก

อาเหลียน (ซูจิงเล่ย) คือคนรักของจ้าวเอ้อหู ต่อมาอารมณ์รักเริ่มแปรพักตร์ไปอยู่กับพี่ใหญ่ผางชิงหยุน ความเป็นคนสองจิตสองใจของอาเหลียนนำมาซึ่งความทุกข์ ที่แม้จะน่าเห็นใจเพียงใดแต่ก็ไม่อาจมองเห็นทางออกที่เหมาะสม (ฉากที่อาเหลียนบอกอู๋หยางว่าตนอยากซื้อผ้าสีเขียวแต่ก็ไม่อาจตัดใจจากผ้าสีแดง สะท้อนถึงความเป็นคนโลเลของอาเหลียนได้อย่างชัดเจน) ความไม่แน่นอนในฝักฝ่ายของเธอถูกสื่อผ่านสัญลักษณ์ของไม้กางเขนในอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือ สองทางเลือก (ปีกสองข้างของไม้กางเขน) ที่ผูกติดอยู่กับคนเพียงหนึ่งคน รูปทรงที่ขาดความมั่นคงของไม้กางเขน (หนึ่งเสาที่บานออกในส่วนปลาย) คือการเดินเข้าสู่ทางแยกอันเป็นจุดจบแห่งหายนะที่ไม่เกินคาดเดา



The Warlords เน้นนำเสนอปรัชญาการเมืองการปกครองของขงจื๊อเป็นกระแสหลัก ว่าด้วยการสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงจากเบื้องล่าง และการสร้างเกราะคุ้มหัวจากผู้มีอำนาจเหนือเบื้องบน การดำรงฐานะของผู้นำที่จำเป็นต้องเพียบพร้อมด้วยปัญญา ความสามารถในการชนะใจผู้ใต้บังคับบัญชาและความสัตย์ตรงที่ต้องมีทั้งต่อมวลมิตรและอุดมการณ์ เป็นแนวทางที่ควรแก่การครุ่นคิดเพื่อให้การดำรงตนในสังคมต่างศักดิ์ต่างระดับ (ทั้งในขั้นคุณวุฒิหรืออาวุโส) อยู่ในจุดที่มั่นคง เหมาะสม และสร้างโอกาสให้กับความเจริญก้าวหน้าในอนาคต



ภาษาภาพยนตร์ที่โดดเด่นมาพร้อมปรัชญาจีนว่าด้วยการเอาชนะ ที่แม้ผู้ชมจะไม่ได้ออกไปรบทัพจับศึกกับใครก็ยังเก็บมาคิดเป็นประโยชน์ได้อยู่เหมือนกัน ว่าด้วยการรักษาจุดยืนของฝ่ายตนให้หนักแน่นและการทำลายจุดยืนของฝ่ายตรงข้ามให้เสียดุล

กลศึกที่ส่วนใหญ่ทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้ว นั้นคือ การมุ่งจู่โจมที่หัว (ในหนังก็กล่าวถึงอยู่เหมือนกัน สื่อผ่านภาพการตัดหัวของแม่ทัพใหญ่ฝั่งตรงข้าม อันเป็นวิธีการฆ่าที่ทำให้ร่างสิ้นลมได้ในทันทีและทำให้สงครามยุติได้ในพริบตาดุจกันเสมือนการรุกฆาตของหมากรุก) แต่อีกวิธีการหนึ่งที่แยบคายไม่ต่างกันนั้นคือการตัดขาหรือขัดขาให้องค์กรกลุ่มระแวงกันเองและเคลือบแคลงสงสัยในความภักดีต่อกันก่อนที่จะแตกหักและทำร้ายกันเอง โดยคู่ต่อสู้ไม่ต้องลงไม้ลงมือให้เปลืองกำลัง (คล้ายการยุแยงตะแคงรั่ว)



สามใต้เท้าใช้เล่ห์เหลี่ยมแห่งกลยุทธ์นี้ทำให้พี่น้องร่วมสาบานสามคนต้องแตกหักกันเองในที่สุด วิธีการนี้ หนังมิได้มุ่งหมายให้เรานำไปใช้ทำร้ายใครหากแต่มีเจตนาให้ผู้ชมได้เห็นถึงความสำคัญของความสามัคคี ว่าเมื่อความรักสมัครสมานในกลุ่มยิ่งลดน้อยลงเพียงใด ความล้มเหลวและการล่มสลายก็ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เป็นเงาตามตัว

สัญลักษณ์ของจุดยืนที่เสียดุลในหนัง ได้แก่ กับดักกองโจรที่ใช้ทำร้ายขาม้าตอนเข้าปล้นสดมภ์ (เป็นกับดักเหล็กฟันปลาที่เมื่อเหยียบแล้วจะงับขาให้บาดเจ็บ ) การใช้ทวนตัดขาทหารฝ่ายตรงข้ามจนร่างร่วงล้มลง (หนังเน้นให้เห็นฉากประเภทนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างชัดเจน ) หรือแม้แต่การละเล่นของพี่น้องร่วมสาบานในกองทัพฉาน ที่พับขาขึ้นข้างหนึ่งแล้วกระโดดเข้าใส่กันจนอีกฝ่ายหนึ่งล้มทรุดลง เป็นต้น เหล่านี้คือภาษาภาพที่แสดงให้เห็นว่าจุดยืนที่มั่นคงนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตมากเพียงใด และเมื่อจุดยืนนั้นเริ่มเสียความมีดุลยภาพ ผลร้ายที่ตามมาจะเป็นเช่นไร



พี่น้องร่วมสาบานผูกพันกันด้วยพันธะแห่งจิตใจ แต่ละเส้าที่รวมตัวกันสร้างสมดุลอันนำมาซึ่งความสำเร็จในศึกสงคราม แต่เมื่อดุลเหล่าเริ่มนั้นเสียไป จุดหมายปลายทางอันสวยหรูก็ถึงคราวต้องพังครืนลงอย่างน่าเสียดาย

ต่างจากใต้เท้าเจ้าเล่ห์ทั้งสามท่านที่แม้จะขัดคอกันเองบ้างในบางครั้ง แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินใจ ทั้งสามยังคงเล็งเห็นผลประโยชน์ที่มีร่วมกันอยู่เสมอ ความสัมพันธ์บนพื้นฐานของผลประโยชน์นี้ ( win - win situation ) แม้ฟังดูเห็นแก่ตัวและขาดอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่ตราบใดที่เรามองชีวิตโดยปราศจากอคติ การที่โลกเราล้วนแต่หมุนไปในทิศทางของผลประโยชน์ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน

The Warlords จบลงอย่างโศกนาฏกรรม มิตรแท้ที่เคยร่วมรบกันมาในสงคราม วันนึง กลายมาทำสงครามระหว่างกันในหมู่มิตร ความเที่ยงแท้ของความสัมพันธ์คืออะไรและรูปแบบโครงสร้างที่มั่นคงที่สุดของมนุษย์คือแบบไหน คำตอบที่ดีที่สุดน่าจะเป็น ความสัมพันธ์ ณ จุดสมดุลของสามเส้าแห่งพลังระหว่าง สมอง หัวใจและความสัตย์ตรง



สงครามในโลกปัจจุบันที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ทั้งสงครามศาสนา สงครามแบ่งแยกดินแดน สงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ การเข่นฆ่านองเลือดเหล่านี้ล้วนแต่ไร้ค่าและไม่คู่ควรแก่การเข้าร่วมต่อสู้ เพราะลึกยิ่งไปกว่านั้น สงครามเกิดขึ้นภายในตัวเราอยู่ทุกวี่วันและทุกโมงยามของชีวิต เป็นสงครามการต่อสู้ระหว่างปัญญาและกิเลส เป็นการขับเคี่ยวระหว่างสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ถูกใจ ภายในอาณาจักรแห่งกายที่มีอาณาเขตไม่เกินสองเมตรนี้ คงมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำและเป็นเจ้าแห่งชีวิต ตราบใดที่เราชนะตัวเองได้ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ปกครองตัวได้อย่างเหมาะสมและมีดุลยภาพระหว่างปัญญา อารมณ์ และคุณธรรม เมื่อนั้นก็คงเรียกตัวเองว่าเป็นเจ้าแห่งสงครามได้อย่างไม่อายใคร

และสงครามประเภทนี้กระมังที่เหมาะสมที่สุดแก่การเข้าท้าประลองของมนุษย์...





 

Create Date : 20 ธันวาคม 2550
2 comments
Last Update : 21 ธันวาคม 2550 18:07:43 น.
Counter : 4835 Pageviews.

 

หลังจากเข้ามาอ่านในblogแล้ว ก็เลยตัดสินใจไปดู
บอกตรงๆหนังเครียดมาก (รบกันทั้งเรื่องเลย) แต่ก็มีปรัชญา ให้ข้อคิดหลายอย่าง แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่าไม่ว่าผู้ชายชาติไหน เก่งมาจากไหน สุดท้ายก็เหมือนกันหมดแพ้ใจตัวเอง แพ้เพราะผู้หญิงทุกที

 

โดย: น้องเดียว (beerled ) 20 ธันวาคม 2550 15:41:40 น.  

 

การไม่ได้ออกไปดูหนังไม่เคยทรมาณขนาดนี้
ถ้ามันไม่ส่งผลให้ผมไม่อาจจะอ่านงานเขียนของคุณ beerled ได้
ล่าสุดงานในบอร์ด Starpics เอม ริเจส ก็ยังไม่ได้ดู แง่งงงง!!!

 

โดย: ข้าวหวาน IP: 124.121.184.119 27 ธันวาคม 2550 1:36:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
20 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.