ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
กาลเวลาไม่คอยใคร

หัตถิปาลชาดก
ว่าด้วยกาลเวลาไม่คอยใคร



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการออกมหาภิเนษกรมณ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

แท้จริงในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน ตถาคตก็ได้ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์มาแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังนี้

ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เอสุการี ได้ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งเป็นปิยสหายของพระราชานั้นตั้งแต่ครั้งยังเยาว์อยู่ด้วยกัน ทั้งสองนั้น หามีโอรสและบุตรผู้จะสืบสกุลไม่ ครั้นวันหนึ่งในยามที่มีความสุข พระราชากับพราหมณ์ปุโรหิต จึงปรึกษากันว่าอิสริยยศของเราทั้งสองมีมาก โอรสหรือธิดาไม่มีเลย เราทั้งสองควรจะทำอย่างไรดี ลำดับนั้น พระเจ้าเอสุการี ตรัสสั่งพราหมณ์ปุโรหิตว่า สหายรักถ้าหากว่าในเรือนของท่าน จักเกิดมีบุตรขึ้นไซร้ บุตรของท่านจักเป็นเจ้าของครอบครองราชสมบัติของเรา ถ้าว่าเราจักเกิดมีบุตรขึ้น บุตรของเราจักต้องเป็นเจ้าของครอบครองโภคสมบัติในเรือนของท่านด้วย ทั้งสองฝ่ายต่างได้ทำการนัดหมายซึ่งกันแลกันไว้ด้วยอาการอย่างนี้
ต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์ปุโรหิตไปยังบ้านส่วยของตนในเวลาจะกลับ จึงเข้าสู่พระนครทางประตูด้านทิศทักษิณพบสตรีเข็ญใจชื่อ พหุปุตติกะคนหนึ่ง ในภายนอกพระนคร นางมีบุตรเจ็ดคนทั้งหมดไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ลูกชายคนหนึ่งถือชามกระเบื้องอันเป็นภาชนะหุงต้ม คนหนึ่งหอบเสื่อปูนอน คนหนึ่งเดินนำหน้า คนหนึ่งเดินตามหลัง คนหนึ่งเดินเกาะนิ้วมือมารดาเดินไป คนหนึ่งอยู่ที่สะเอว อีกคนหนึ่งอยู่บนบ่า ลำดับนั้นพราหมณ์ปุโรหิต ถามหญิงผู้เป็นมารดาว่า แม่มหาจำเริญ บิดาของเด็ก ๆ เหล่านี้อยู่ที่ไหน? ฝ่ายหญิงเข็ญใจนั้น ก็ตอบว่า บิดาของเด็ก ๆ เหล่านี้จะได้มีอยู่ประจำก็หามิได้ ปุโรหิตจึงถามต่อไปว่า เจ้าทำอย่างไรถึงได้ลูกชายมากถึงเจ็ดคนเช่นนี้ นางไม่เห็นหลักฐานอื่นเป็นเครื่องยืนยัน เห็นต้นไทรต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้ประตูพระนคร จึงตอบไปว่า ข้าแต่นาย ดิฉันบวงสรวงปรารถนาในสำนักของเทพยดาซึ่งสิงอยู่ที่ต้นไทร จึงได้บุตรถึงเจ็ดคน เทพยดาที่สิงอยู่นี้ให้บุตรทั้งหมดแก่ดิฉัน.
ปุโรหิตพูดว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงไปเถิดแล้วลงจากรถตรงไปยังต้นไทรจับกิ่งไทรเขย่า พลางขู่รุกขเทพยดาว่า เทพยดาผู้เจริญ ท่านไม่ยอมให้โอรสแก่พระราชาบ้างเลย อะไรบ้างที่ท่านไม่ได้จากสำนักพระราชา ทุก ๆ ปีมา พระราชาทรงสละพระราชทรัพย์ถึงพันกหาปณะ ตรัสสั่งให้ทำพลีกรรมแก่ท่าน ท่านยังไม่ให้โอรสแก่พระองค์เลย หญิงเข็ญใจนี้ทำอุปการคุณอะไรแก่ท่าน เหตุไรท่านจึงให้บุตรแก่นางเจ็ดคน ถ้าหากว่าท่านไม่ให้โอรสแก่พระราชาของเรา จากนี้ไปอีก ๗ วัน เราจักให้คนฟันต้นไทรโค่นลงทั้งราก สับให้เป็นท่อน ๆ ดังนี้แล้วก็หลีกไป
พอรุ่งขึ้น ๆ ปุโรหิตก็ไปยังต้นไทรนั้น แล้วกล่าวขู่โดยทำนองนี้ จนครบ ๖ วัน แต่ในวันที่ ๖ ได้จับกิ่งไทรพูดว่า ดูก่อนรุกขเทวดา เหลืออีกเพียงราตรีเดียวเท่านั้น ถ้าท่านไม่ยอมให้โอรสผู้ประเสริฐแก่พระราชาของเราไซร้ พรุ่งนี้เราจักให้สำเร็จโทษท่าน รุกขเทวดาคำนึงดูรู้เหตุผลนั้นแน่นอนแล้ว คิดว่า เมื่อพราหมณ์ผู้นี้ไม่ได้บุตร คงจักทำลายวิมานของเราจนพินาศ เราควรให้บุตรแก่พราหมณ์ปุโรหิตนี้ ด้วยอุบายอย่างใดหนอ ดังนี้แล้วจึงไปยังสำนักของท้าวจาตุมหาราช แจ้งเนื้อความนั้นให้ทราบ ท้าวจาตุมหาราชกล่าวปฏิเสธว่าพวกเราไม่สามารถจะให้บุตรแก่พราหมณ์ปุโรหิตนั้นได้ รุกขเทวดาจึงไปยังสำนักของยักขเสนาบดี ๒๘ ตน แจ้งเรื่องให้ทราบ แม้ยักขเสนาบดีเหล่านั้นก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน รุกขเทวดาจึงไปยังสำนักของท้าวสักกเทวราชกราบทูลให้ทรงทราบ ฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงใคร่ครวญดูว่า พระราชาจักได้พระราชโอรสผู้สมควรหรือไม่ ทอดพระเนตรเห็นเทพบุตร ๔ องค์ผู้มีบุญ(ควรเกิดในราชตระกูล).
ได้ยินว่า ในภพก่อน ๆ เทพบุตรทั้ง ๔ นั้นเกิดเป็นช่างหูกอยู่ในเมืองพาราณสี แบ่งทรัพย์ที่หาได้จากการงานนั้นเป็น ๕ ส่วน บริโภคเสีย ๔ส่วน ถือเอาส่วนที่ ๕ พร้อมกันทำบุญให้ทาน ช่างทอหูกทั้ง ๔ นั้น เคลื่อนจากภพนั้นแล้ว บังเกิดในดาวดึงสพิภพ ต่อแต่นั้น เลื่อนขึ้นไปบังเกิดในพิภพยามา เที่ยวเสวยทิพยสมบัติอยู่ในเทวโลก ๖ ชั้น วนไปเวียนมาด้วยอาการอย่างนี้ ก็คราวนั้น ถึงวาระที่เทพบุตรเหล่านั้น จะเคลื่อนจากดาวดึงสพิภพไปเกิดยังพิภพยามา ท้าวสักกเทวราช จึงเสด็จไปยังสำนักของเทพบุตรเหล่านั้น ตรัสเรียกมาแล้ว มีเทวบัญชาว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลายควรที่พวกท่านจักไปบังเกิดยังมนุษยโลก พวกท่านจงบังเกิดในพระครรภ์อัครมเหสี แห่งพระเจ้าเอสุการีราชเถิด.
เทพบุตรเหล่านั้น ได้ฟังพระดำรัสแห่งท้าวสักกเทวราชแล้ว พากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พะย่ะค่ะ พวกข้าพระบาทจักไปตามเทวโองการ แต่ว่าพวกข้าพระบาทไม่มีความต้องการราชตระกูล จักพากันไปบังเกิดในเรือนของท่านปุโรหิต แล้วจักละกามสมบัติออกบวชในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มอยู่นั่นเอง ท้าวสักกเทวราชทรงรับปฏิญญาของเทพบุตรเหล่านั้นว่าดีแล้ว จึงเสด็จมาบอกเนื้อความนั้นแก่รุกขเทวดา รุกขเทวดาดีใจถวายบังคมท้าวสักกเทวราช แล้วตรงไปยังวิมานของตนทันที
ครั้นในวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตมีบัญชาให้บุรุษที่ล่ำสัน มีกำลังมาประชุมกัน แล้วให้ถือมีดและขวานเป็นต้น ไปยังโคนต้นไม้ จับกิ่งไทรไว้แล้วพูดว่า ดูก่อนเทพยดาผู้เจริญเราเพียรขอบุตรกะท่าน ครบ ๗ วันทั้งวันนี้ บัดนี้เป็นเวลาที่จะสำเร็จโทษท่านละ ลำดับนั้น รุกขเทวดาจึงออกมาจากระหว่างต้นไทร ด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่ เชื้อเชิญปุโรหิตนั้นมาด้วยเสียงอันไพเราะ แล้วกล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุตรคนเดียวจะเป็นไรไป เราจักให้บุตรแก่ท่าน ๔ คน พราหมณ์ปุโรหิต ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่มีความต้องการบุตร ท่านโปรดให้แก่พระราชาของข้าพเจ้าเถิด รุกขเทวดากล่าวว่า เราจักให้แก่ท่านเท่านั้น พราหมณ์ปุโรหิตขอร้องว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้ข้าพเจ้าสองคน ให้พระราชาสองคนเถิด.รุกขเทวดาตอบว่า เราจะไม่ให้พระราชา จะให้ท่านผู้เดียวเท่านั้นแม้ทั้ง ๔ คนแต่บุตรทั้ง ๔ นั้น ท่านจักเป็นเพียงแต่สักว่าได้เท่านั้น เพราะบุตรทั้ง๔ นั้น จะไม่อยู่ครองเรือน จักพากันออกบวช แต่ในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มทีเดียว พราหมณ์ปุโรหิตอ้อนวอนต่อไปว่า ท่านโปรดให้บุตรแก่พระราชาหมดทั้ง ๔ คนเถิด ส่วนเหตุที่จะไม่ให้บุตรทั้ง ๔ ออกบวช เป็นภาระของข้าพเจ้าเอง รุกขเทวดา ประทานบุตรผู้ประเสริฐ แก่พราหมณ์ปุโรหิตนั้นแล้วเข้าไปยังพิภพของตน นับแต่นั้นมา ลาภสักการะ ก็เกิดแก่เทวดาอย่างนองเนือง.
เชษฐกเทพบุตร จุติมาบังเกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยา ของพราหมณ์ปุโรหิต ในวันขนานนามกุมารนั้น มารดาบิดาพร้อมกัน ให้ชื่อว่าหัตถิปาลกุมาร แล้วมอบให้นายควาญช้างรับเลี้ยงไว้ เพื่อต้องการป้องกันมิให้กุมารนั้นบวช หัตถิปาลกุมารนั้น เจริญเติบโตในสำนักของนายควาญช้าง.ในกาลที่หัตถิปาลกุมารเดินไปมาได้ เทพบุตรองค์ที่สองก็จุติมาบังเกิดในครรภ์ของนางพราหมณีอีก กาลเมื่อกุมารนั้นเกิดแล้ว มารดาบิดาก็ขนานนามให้ว่าอัสสปาลกุมาร อัสสปาลกุมารก็เจริญเติบโตในสำนักของคนเลี้ยงม้า ในกาลที่บุตรคนที่สามเกิดแล้ว มารดาบิดาขนานนามให้ว่าโคปาลกุมาร มอบให้นายโคบาลเลี้ยงไว้ ในเวลาที่บุตรคนที่สี่เกิดแล้ว มารดาบิดาขนานนามให้ว่าอชปาลกุมาร มอบให้นายอชบาลเลี้ยงไว้ อชปาลกุมารเจริญเติบโตกับพวกอชบาล ครั้นกุมารเหล่านั้นเจริญวัย เติบโตแล้ว ได้เป็นผู้มีรูปร่างงดงามยิ่งนัก.
ต่อมามารดาบิดาทั้งสองก็เชื้อเชิญบรรพชิตทั้งหลาย ออกไปเสียจากพระราชอาณาเขต เพราะกลัวกุมารเหล่านั้นจะบวช ในแคว้นกาสิกรัฐทั้งหมดจะมีบรรพชิตแม้องค์เดียวก็หามิได้ กุมารทั้ง ๔ เหล่านั้น เป็นผู้หยาบช้ากล้าแข็งยิ่งนัก จะไปสู่ทิศใดก็พากันแย่งชิงเอาสิ่งของที่เขานำจากทิศนั้น ๆ.เมื่อหัตถิปาลกุมารอายุครบ ๑๖ ปี พระราชาและพราหมณ์ปุโรหิตได้เห็นสรีรสมบัติแล้ว จึงปรึกษากันว่า กุมารทั้ง ๔ เติบใหญ่แล้วเป็นสมัยที่จะยกเศวตฉัตรให้ครอบครองราชสมบัติ เราควรจะจัดการกับกุมารเหล่านั้นอย่างไรดี แล้วคิดต่อไปว่า กุมารเหล่านี้ นับแต่ได้รับอภิเษกแล้ว คงจักหยาบช้าสาหัสยิ่งขึ้น ถ้าบรรพชิตทั้งหลายจักมาจากที่ต่าง ๆ ในเวลานี้ กุมารเหล่านี้เห็นเข้า ก็จักพากันบวชเสีย เวลาที่กุมารเหล่านี้บวชแล้ว ชาวชนบทก็จะรวนเร กำเริบ เราทั้งสองต้องทดลองดูก่อน จึงจักอภิเษกกุมารเหล่านั้นต่อภายหลัง แล้วทั้งสองคนต่างแปลงเพศเป็นฤๅษี (ทำเป็น) เที่ยวภิกษาจารไปจนถึงประตูนิเวศน์แห่งหัตถิปาลกุมาร หัตถิปาลกุมาร เห็นบรรพชิตจำแลงเหล่านั้นแล้ว ยินดี มีความเลื่อมใส เข้าไปใกล้ ถวายนมัสการแล้วกล่าวเชื้อเชิญให้รับอาสนะ น้ำ ผ้าเช็ดเท้าและน้ำมันทาเท้าและอื่น ๆ ด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
หัตถิปาลกุมาร กล่าวเชื้อเชิญบรรดาฤๅษีทั้งสองเหล่านั้นเป็นรายรูปต่างวาระกันอย่างนี้ ลำดับนั้น ปุโรหิตฤๅษีแปลงแกล้งถามว่า แน่ะพ่อหัตถปาละ เจ้าสำคัญเราทั้งสองเป็นใครกัน จึงกล่าวอย่างนี้ หัตถิปาลกุมารตอบว่าข้าพเจ้าสำคัญว่า พวกท่านเป็นฤๅษีผู้อยู่ในหิมวันตประเทศ ปุโรหิตแปลงจึงชี้แจงว่า พ่อคุณ พวกเรามิใช่พระฤๅษี นี้คือราชาเอสุการี เราคือปุโรหิตผู้เป็นบิดาของเจ้า หัตถิปาลกุมารถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรบิดากับพระราชาจึงต้องปลอมเพศเป็นฤๅษี? ปุโรหิตตอบว่า เพื่อจะทดลองเจ้าดู หัตถิปาลกุมารถามว่า ทดลองข้าพเจ้าทำไม? พราหมณ์ปุโรหิตจึงกล่าวว่า ทดลองดูว่า ถ้าเจ้าเห็นพวกเราแปลงเป็นพระฤๅษีแล้ว มิได้บวชไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราจึงมาเพื่ออภิเษกเจ้าให้เสวยราชสมบัติ หัตถิปาลกุมารกล่าวว่า ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มีความต้องการราชสมบัติเลย ข้าพเจ้าจักบวช ลำดับนั้น ปุโรหิตผู้บิดาจึงกล่าวชี้แจงกะหัตถิปาลกุมารว่า หัตถิปาลกุมารลูกรัก เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เจ้าจะบวช เมื่อจะพร่ำสอนตามอัธยาศัยจึงกล่าวว่า
หัตถิปาละลูกรัก เจ้าจงเรียนวิชา และจงแสวง หาทรัพย์ จงปลูกฝังบุตรและธิดาให้ดำรงอยู่ในเรือนเสียก่อน แล้วจงบริโภค กลิ่น รส และวัตถุกามทั้งปวงเถิด กิจที่จะอยู่ป่าเมื่อเวลาแก่สำเร็จประโยชน์ดี มุนีใดบวชในกาลเช่นนี้ได้ มุนีนั้น พระอริยเจ้าสรรเสริญ.
ลำดับนั้น หัตถิปาลกุมารกล่าวคาถาว่า ความว่า
ชนทั้งหลายกล่าววิทยาการอันใด ว่าเป็นสวรรค์ และเป็นมรรค แต่ก็หาใช่วิทยาการอันนั้นให้สำเร็จประโยชน์ไม่ วิชาทั้งหลายเป็นของเปล่าประโยชน์ไร้สาระ หาผลมิได้.แม้ลาภคือทรัพย์สมบัติ จะเป็นของมีสภาพเป็นอันเดียวไปทุกอย่างก็หามิได้ เพราะเป็นของปัญจสาธารณ์
ข้าแต่ท่านบิดา ใคร ๆ จะชื่อว่าสามารถ เพื่อจะห้ามชรา หรือพยาธิมรณะได้ด้วยลาภคือบุตรก็มิได้มี เพราะลาภคือบุตรเป็นต้นนี้ มีทุกข์เป็นมูลเป็นที่ตั้งแห่งอุปธิกิเลส
บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมกล่าวสอนเฉพาะความปล่อยวางคันธารมณ์ รสารมณ์ และอารมณ์ที่เหลือทั้งหลายเท่านั้น
ความบังเกิดแห่งผลคือความเผล็ดผล ย่อมเกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะกรรมอันตนทำไว้เท่านั้น ข้าแต่ท่านบิดา เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน.
พระราชาทรงสดับคำของกุมารแล้ว ตรัสว่า
คำของเจ้าที่ว่า ความอุบัติแห่งผลย่อมมีได้เพราะกรรมของตนนั้น เป็นคำจริงแท้แน่นอน อนึ่งมารดาบิดาของเจ้านั้น ประสงค์จะเห็นเจ้ามีอายุยืนร้อยปี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน เมื่อเจ้ามีชีวิตอยู่ถึงร้อยปี จักได้เลี้ยงดูมารดาบิดาบ้าง.
หัตถิปาลกุมาร ฟังพระราชดำรัสแล้ว กราบทูลว่า ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เหตุไรพระองค์จึงตรัสเช่นนี้ มรณะนี้กับชราไม่เคยเป็นมิตรกับผู้ใดเลย หรือแม้ผู้ใดจะพึงรู้ว่า เราจักไม่ตาย มารดาบิดาพึงเห็นผู้นั้นมีอายุยืนร้อยปี ไม่มีโรคเบียดเบียนได้ในบางคราว.
บุรุษเอาเรือมาจอดไว้ที่ท่าน้ำ รับคนฝั่งนี้ส่งถึงฝั่งโน้น แล้วย้อนกลับรับคนฝั่งโน้น พามาส่งถึงฝั่งนี้ฉันใด ชรา และพยาธิ ก็ย่อมนำเอาชีวิตสัตว์ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชอยู่เนือง ๆ ฉันนั้น.
ครั้นหัตถิปาลกุมาร แสดงชีวิตและสังขารแห่งสัตว์เหล่านี้ ว่าเป็นของนิดหน่อยอย่างนี้แล้ว จึงถวายโอวาทพระราชาว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้าขอพระองค์ดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิ และมรณะ ย่อมรุกรานเข้าใกล้ข้าพระพุทธเจ้า ผู้กำลังกราบทูลสนทนาอยู่กับพระองค์ทีเดียว ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทมัวเมา แล้วถวายบังคมพระราชา กราบไหว้บิดาพาบริวารของตน ละทิ้งราชสมบัติในพระนครพาราณสี ออกไปด้วยตั้งใจว่า เราจักบรรพชา มหาชนออกไปพร้อมกับหัตถิปาลกุมาร ด้วยคิดว่า ขึ้นชื่อว่าบรรพชานี้ คงจะงดงามดี ได้มีบริษัทติดตามไปประมาณหนึ่งโยชน์
หัตถิปาลกุมารไปถึงฝั่งน้ำคงคา พร้อมด้วยบริษัทนั้น เพ่งดูน้ำในแม่น้ำคงคาเจริญกสิณบริกรรม ยังฌานให้บังเกิดแล้ว คิดว่า สมาคมนี้จักใหญ่ยิ่ง น้องชายของเราสามคน มารดาบิดาของเรา พระราชาและพระราชเทวี ท่านทั้งหมดเหล่านี้ พร้อมด้วยบริวารก็จักบวช เมืองพาราณสีจักว่างเปล่า เราจักอยู่ในที่นี้แหละ จนกว่าคนเหล่านั้นจะตามมา หัตถิปาลกุมาร นั่งให้โอวาทแก่มหาชนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเอง.
ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าเอสุการี กับพราหมณ์ปุโรหิต คิดกันว่า เจ้าหัตถิปาลราชกุมารสละราชสมบัติ พามหาชนล่วงหน้าไปก่อน ด้วยคิดว่าจักบวช ดังนี้แล้ว นั่งพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว เราทั้งสองต้องทดลองอัสสปาลกุมารดู จักได้อภิเษกให้ครองราชสมบัติ คนทั้งสองจึงได้ไปยังประตูเรือนของอัสสปาลกุมาร ด้วยการจำแลงเพศเป็นฤๅษีเหมือนกัน ฝ่ายอัสสปาลกุมารครั้นเห็นแล้ว มีจิตเลื่อมใส เข้าไปใกล้แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่านานมาแล้วข้าพเจ้าเพิ่งจะได้เห็น แล้วปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั้น แม้ฤาษีจำแลงเหล่านั้น ก็บอกอัสสปาลกุมารอย่างที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน และได้แถลงเหตุที่ตนมาให้ทราบ
อัสสปาลกุมารถามว่า เมื่อหัตถิปาลกุมารพี่ชายของข้าพเจ้ายังอยู่ ไยเศวตฉัตรจะมาถึงข้าพเจ้าก่อนเล่า เมื่อบิดาตอบว่า ลูกรักพี่ชายของเจ้าพูดว่า ไม่ต้องการราชสมบัติ จักบวช อกไปบวชเสียแล้ว จึงถามต่อไปว่า เดี๋ยวนี้พี่ชายของข้าพเจ้าอยู่ที่ไหน ครั้นบิดาบอกว่า พำนักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา จึงพูดว่า ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มุ่งหมายราชสมบัติ ซึ่งอุปมาดังก้อนเขฬะ อันพี่ชายของข้าพเจ้าบ้วนทิ้งแล้ว แท้จริงสัตว์ทั้งหลายผู้โง่เขลาเบาปัญญา ย่อมไม่อาจจะทิ้งกิเลสนั้นได้ แต่ข้าพเจ้าจักละ เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชาและบิดาของตน ได้กล่าวว่า
กามทั้งหลายเป็นดังเปลือกตม เป็นเครื่องให้จมลง เป็นเครื่องนำน้ำใจสัตว์ไป ข้ามได้ยาก เป็นที่ตั้งแห่งมฤตยู สัตว์ทั้งหลายผู้ข้องอยู่ในกามอันเป็นดังเปลือกตม เป็นเครื่องให้จมลงนี้ เป็นสัตว์มีจิตเลวทราม ย่อมข้ามถึงฝั่งไม่ได้.
ขอเดชะพระมหาราชเจ้าอัตภาพของข้าพระพุทธเจ้านี้ เจริญเติบโตมากับพวกนายควาญม้า ได้กระทำบาปกรรมอันหยาบช้าสาหัสเป็นอันมาก ด้วยสามารถแห่งการปล้น แย่งชิงเบียดเบียนมหาชนเป็นต้น
วิบากแห่งกรรมนี้นั้น ข้าพระพุทธเจ้ายึดไว้มั่นแล้ว เมื่อความเป็นไปแห่งสารวัฏยังมีอยู่ ความพ้นไปจากผลแห่งอกุศลกรรมนี้ของข้าพระพุทธเจ้า จะมีอยู่ก็หามิได้
บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจักปิดกั้นกายทวาร วจีทวาร และมโนทวารรักษาอัตภาพนั้นไว้โดยรอบคอบ เพราะเหตุไร เพราะต่อแต่นี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่กระทำความชั่ว จักกระทำแต่ความดีอย่างเดียวเท่านั้น.
อัสสปาลกุมารให้โอวาทต่อไปว่า ขอพระองค์และท่านบิดา จงดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิ และมรณะย่อมรุกรานข้าพระพุทธเจ้า ผู้กำลังกล่าวสนทนากับท่านทั้งสองอยู่ทีเดียว แล้วพาบริษัทมีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนดออกไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมาร หัตถิปาลกุมารนั่งอยู่บนอากาศ แสดงธรรมแก่อัสสปาลกุมารแล้วกล่าวว่า น้องรัก สมาคมนี้จักใหญ่ยิ่ง พวกเราจักอยู่ในที่นี้ก่อน ฝ่ายอัสสปาลกุมารก็รับคำ (แล้วอยู่ในที่นั้น)
วันรุ่งขึ้นพระราชากับราชอุโรหิต พากันไปสู่นิเวศน์ของโคปาลกุมาร ด้วยอุบายอย่างนั้นเหมือนกัน อันโคปาลกุมารยินดีต้อนรับ เหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว จึงแจ้งเหตุแห่งการมาของตนให้ทราบ แม้โคปาลกุมารก็ปฏิเสธเหมือนอัสสปาลกุมารกล่าวว่า ข้าพเจ้าปรารถนาจะบวชมานานแล้ว เที่ยวใคร่ครวญหาทางบรรพชาดังคนหาโคที่หายไป ข้าพเจ้าเห็นทางที่พี่ชายทั้งสองข้าพเจ้าไปแล้วเหมือนคนพบรอยโคที่หายไป ฉะนั้น ข้าพเจ้าเองก็จักไปตามทางนั้นเหมือนกันแล้วกล่าวว่า
ขอเดชะพระราชาธิบดี ประโยชน์กล่าวคือบรรพชาของข้าพระพุทธเจ้าหายไปเหมือนโคหายไปในป่า วันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นรอยทางแห่งบรรพชิตทั้งหลายแล้ว ไฉนจะไม่แสวงหาการบรรพชา ขอเดชะพระนรินทรราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า จักไปสู่ทางที่พี่ชายทั้งสองของข้าพระพุทธเจ้าไปแล้วเหมือนกัน.
ลำดับนั้น พระราชาและปุโรหิตบิดา พากันกล่าวอ้อนวอนโคปาลกุมารว่า พ่อโคปาลกุมาร รออีกวันสองวันก่อนเถิด พอให้เราทั้งสองเบาใจแล้วภายหลังเจ้าจักได้บวช โคปาลกุมารกราบทูลว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า กรรมดีควรทำในวันนี้ ไม่ควรกล่าวผัดเพี้ยนว่า จักทำในวันพรุ่งนี้ ขึ้นชื่อว่ากรรมดีควรทำวันนี้ วันนี้เท่านั้น แล้วกล่าวว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า บุรุษใดผัดเพี้ยนการงานที่ควรทำในวันนี้ว่า ควรทำในวันพรุ่งนี้ การงานที่ควรทำในวันพรุ่งนี้ ว่าควรทำในวันมะรืนนี้ แล้วไม่ทำการงาน บุรุษนั้นย่อมเสื่อมจากการงานนั้น คือไม่สามารถจะทำการงานนั้นให้สำเร็จได้
บัณฑิตชนคนใดรู้ว่า สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นยังไม่มีไม่เป็นแล้วพึงบรรเทาคือนำกุศลฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วไป.
โคปาลกุมารแสดงธรรมอย่างนี้แล้วกล่าวว่า ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิ มรณะเป็นต้น ย่อมคุกคามข้าพเจ้า ผู้กำลังกล่าวสนทนาอยู่กับท่านทั้งสองทีเดียว แล้วพาบริวารมีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนด ออกไปยังสำนักแห่งพี่ชายทั้งสอง หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรมแก่โคปาลกุมาร
วันรุ่งขึ้นพระราชาและราชปุโรหิต ไปยังนิเวศน์ของอชปาลกุมาร โดยอุบายอย่างนั้นเหมือนกัน แม้อชปาลกุมารนั้นก็ยินดีต้อนรับดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านทั้งสองบอกเหตุที่ตนมาแล้วกล่าวว่า เราทั้งสองจะยกเศวตฉัตรมอบให้เจ้า อชปาลกุมารถามว่า พี่ชาย ๓ คนของข้าพเจ้าไปไหน? พระราชาและราชปุโรหิตตอบว่า พี่ชายของเจ้าทั้ง ๓ คนนั้น กล่าวว่าไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ ทิ้งเศวตฉัตรไว้ แล้วพาบริวารมี ๓ โยชน์เป็นกำหนด ออกไปบวชพำนักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา อชปาลกุมารกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักเอาศีรษะทูลราชสมบัติ อันเปรียบเสมือนก้อนเขฬะ ที่พี่ชายของข้าพเจ้าทั้ง ๓ บ้วนทิ้งแล้ว เที่ยวไปอยู่หาได้ไม่ แม้ข้าพเจ้าก็จักบวช พระราชาและราชปุโรหิตกล่าววิงวอนว่า พ่ออชปาลกุมาร เจ้ายังหนุ่มนัก เป็นภาระที่เราทั้งสองต้องอุ้มชู คงจักได้บวชในเวลาที่ถึงวัยอันสมควร ลำดับนั้น อชปาลกุมารจึงกล่าวว่า ท่านทั้งสองพูดอย่างไร ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมตายในเวลาเป็นเด็กก็มี ในเวลาแก่ก็มี มิใช่หรือ ไม่มีนิมิตเครื่องหมายที่มือหรือที่เท้าของใครเลยว่า ผู้นี้จักตายในเวลาเป็นเด็ก ผู้นี้จักตายในเวลาแก่เฒ่าข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เวลาตายของข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักบวชเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว แล้วกล่าวว่า
ข้าพระองค์ได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่ง รูปร่างงามพอประมาณ มีดวงเนตรเหมือนดอกการะเกด มัจจุราชมาฉุดคร่าเอาหญิงสาวคนนั้น ซึ่งกำลังตั้งอยู่ในปฐมวัยยังไม่ทันบริโภคโภคสมบัติไป.
อนึ่ง ชายหนุ่มมีทรวดทรงงาม มีใบหน้าผ่องใสน่าดูน่าชม มีวรรณะเรืองรองดังทองคำ มีหนวดเคราละเอียดอ่อนดังเกสรดอกคำฝอย แม้ชายหนุ่มเห็นปานนี้ ก็ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมฤตยู
ขอเดชะ ข้าพระองค์จะละกามละเรือนเสียแล้ว จักบวช ขอได้โปรดทรงพระกรุณา อนุญาตให้ข้าพระองค์บวชเถิดพระเจ้าข้า.
ก็แหละครั้นอชปาลกุมารกล่าวอย่างนี้แล้ว กล่าวต่อไปว่า ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิและมรณะรุกรานข้าพเจ้า ผู้กำลังกล่าวสนทนากับท่านทั้งสองอยู่ทีเดียว ดังนี้แล้ว ไหว้กราบลาท่านทั้งสอง พาบริวารมีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนด ออกไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคาทีเดียว หัตถิปาลกุมารนั่งอยู่ในอากาศแสดงธรรม แม้แก่อชปาลกุมารนั้น แล้วพูดว่า สมาคมจักใหญ่ยิ่งแล้วนั่งลงพำนักอยู่ในที่นั้นต่อไป
วันรุ่งขึ้นพราหมณ์ปุโรหิตนั่งท่ามกลางบัลลังก์ พลางคิดว่า บุตรทั้ง ๔ ของเราบวชแล้ว บัดนี้ เหลือแต่เราผู้เดียวเป็นเหมือนมนุษย์ตอไม้ แม้เราก็จักบวช ครั้นพราหมณ์ปุโรลิตคิดอย่างนี้แล้ว จึงเรียกพราหมณ์หมื่นหกพันคน มาประชุมกัน ลำดับนั้นพราหมณ์ปุโรหิตจึงกล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่าพวกท่านจักทำอย่างไร? พราหมณ์เหล่านั้นย้อนถามว่า ท่านอาจารย์เล่าจักทำอย่างไร? พราหมณ์ปุโรหิตตอบว่า เราจักบวชในสำนักแห่งบุตรของเรา พราหมณ์เหล่านั้นจึงกล่าวว่า นรกเป็นของร้อนเฉพาะท่านผู้เดียวก็หามิได้แม้เราทั้งหลายก็จักบวช พราหมณ์ปุโรหิตมอบทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ให้แก่นางพราหมณีผู้ภรรยาแล้ว พาพราหมณบริษัทมีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนด ไปสู่สำนักแห่งบุตรทั้ง ๔ ทันที
หัตถิปาลกุมารยืนอยู่ในอากาศ แสดงธรรมแก่บริษัทแม้นั้น ในวันรุ่งขึ้น นางพราหมณีคิดว่า บุตร ๔ คนของเราละทิ้งเศวตฉัตรไป ด้วยคิดว่า จักบวช แม้พราหมณ์สามีของเราก็ทิ้งสมบัติ ๘๐โกฏิ พร้อมด้วยตำแหน่งปุโรหิต ไปสู่สำนักบุตรทั้ง ๔ เหมือนกัน เราผู้เดียวเท่านั้น จักทำอะไรได้ เราก็จักไปตามทางที่บุตรของเราไปแล้วเหมือนกัน
นางพราหมณีตกลงใจว่า เมื่อเรารู้ชัดอย่างนี้ ไฉนจักไม่ออกบวชเราจักบวชแน่นอน ดังนี้แล้ว จึงเรียกนางพราหมณีทั้งหลายมาชี้แจง แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไร? นางพราหมณีเหล่านั้น ถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า ท่านเล่าจักทำอย่างไร? นางพราหมณีตอบว่า เราจักบวช นางพราหมณีพากันพูดว่า ถึงพวกข้าพเจ้าก็จักบวช นางพราหมณีจึงสละละโภคสมบัตินั้น พาบริษัทมีโยชน์เป็นกำหนดไปสู่สำนักบุตรของตนทันที
หัตถิปาลกุมาร นั่งบนอากาศแสดงธรรมแก่บริษัทแม้นั้น วันรุ่งขึ้น พระราชาตรัสถามราชบุรุษว่า ปุโรหิตไปไหน? ราชบุรุษกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ท่านปุโรหิตและนางพราหมณี ละทิ้งสมบัติทั้งหมด พาบริวารของตนมีสองโยชน์เป็นกำหนด ไปสู่สำนักแห่งบุตรชายทั้ง ๔ แล้ว พระเจ้าข้า
พระราชาทรงพระดำริว่า ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีเจ้าของปกครองย่อมตกเป็นของเราแล้วตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปขนเอาทรัพย์สมบัติมาจากเรือนของปุโรหิตทั้งหมด.ต่อมาพระอัครมเหสีของท้าวเธอตรัสถามราชบุรุษว่า พระราชาทรงทำอะไรอยู่เมื่อราชบุรุษกราบทูลว่า พระราชาตรัสสั่งให้ขนทรัพย์มาจากเรือนของปุโรหิตจึงตรัสถามว่า ปุโรหิตไปไหน? ทรงสดับข่าวว่า ปุโรหิตพร้อมด้วยภรรยาออกบวชเสียแล้ว จึงทรงดำริว่า พระราชสวามีของเรานี้ช่างหลงใหลด้วยโมหจริต ให้ไปขนเอาทรัพย์สมบัติที่เป็นเหมือนคบเพลิง อันพราหมณ์ปุโรหิตนางพราหมณีและบุตร ๔ คน ของเขาละทิ้ง และเป็นเหมือนก้อนเขฬะที่เขาบ้วนทิ้งแล้ว เอามาบรรจุไว้ในพระคลังหลวง เราจักให้ท้าวเธอทิ้งสมบัตินั้นเสีย ด้วยอุปมาข้อเปรียบเทียบ
ดังนี้แล้ว รับสั่งให้คนไปขนเอาเนื้อสุนัขและโค มากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง จัดแจงทางให้ตรงแล้วรับสั่งให้ขึงตาข่ายล้อมไว้โดยรอบ แร้งทั้งหลายเห็นเนื้อแต่ไกล จึงโผลงมาเพื่อจะกินเนื้อนั้น ในจำนวนแร้งนั้น พวกที่มีปัญญารู้ว่าเขาขึงตาข่ายดักไว้ คิดว่า เรากินเนื้ออิ่มหนักกาย ไม่อาจบินไปตรง ๆ ได้ จึงคายสำรอกเนื้อที่ตนกินแล้วออกเสียโผบินขึ้นไปตรงได้ หาติดข่ายไม่ ส่วนพวกที่โง่เขลาเบาปัญญา พากันกินเนื้อที่แร้งเหล่านั้น คายสำรอกทิ้งไว้ จนกายหนักไม่อาจบินเหินไปตรง ๆ ได้ก็พากันติดอยู่ในข่าย ราชบุรุษทั้งหลายจับแร้งได้ตัวหนึ่ง แล้วนำมาถวายพระเทวี พระนางจึงนำแร้งตัวนั้น ไปสู่สำนักพระราชาทูลว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรกิริยาของแร้งตัวหนึ่ง ที่หน้าพระลานหลวงเถิด แล้วทรงเปิดพระแกลทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอเชิญทอดพระเนตรแร้งฝูงนี้เถิด เพคะ แล้วตรัสว่า
ฝูงแร้งเหล่านี้ ครั้นกินเนื้อแล้วก็สำรอกออกเสียจึงบินไปได้ ฝ่ายแร้งเหล่าใด กินเนื้อแล้วไม่สำรอกเนื้อออก แร้งเหล่านั้นก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน ส่วนพระองค์นั้น กลับรับเอากามนั้นไว้บริโภคอีก บุรุษผู้บริโภคสิ่งที่ผู้อื่นคายออกแล้ว ไม่พึงได้รับความสรรเสริญเลย.
พระราชาทรงสดับคำของพระเทวีแล้ว ได้เป็นผู้มีวิปฏิสาร ภพทั้งสามปรากฏประหนึ่งไฟลุกโพลงแล้ว ท้าวเธอเกิดความสลดพระทัย รำพึงว่าควรที่เราจะสละราชสมบัติบวชเสียวันนี้ทีเดียว
ครั้นพระเจ้าเอสุการีราชดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสมั่นให้เรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า ตรัสเล่าให้ฟังแล้วถามว่า ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไร? อำมาตย์ทั้งหลายก็กราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์เล่า พระเจ้าข้า? พระองค์ตรัสตอบว่า เราจักบวชในสำนักของหัตถิปาลกุมาร อำมาตย์เหล่านั้นจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จักบวช พระเจ้าข้า
พระเจ้าเอสุการีราช ทรงละทิ้งราชสมบัติในพระนครพาราณสี อันมีอาณาเขตถึง ๑๒ โยชน์ ทรงประกาศว่าผู้ใดมีความต้องการราชสมบัติ จงให้ยกเศวตฉัตรขึ้นครองราชย์เถิด แล้วทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ราชบริพาร พาบริษัทมีประมาณ ๓ โยชน์เป็นกำหนดเสด็จไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมารเหมือนกัน หัตถิปาลกุมารนั่งอยู่บนอากาศแสดงธรรมแก่บริษัทเหล่านั้นในวันรุ่งขึ้น ประชาชนที่เหลืออยู่ในพระนคร ประชุมกันแล้วพากันไปยังประตูพระราชวัง ให้กราบทูลพระราชเทวีแล้ว พากันเข้าไปในพระราชนิเวศน์ ถวายบังคมพระราชเทวีแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กล่าวอัญเชิญพระเทวีขึ้นครองราชสมบัติ
พระราชเทวีทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว ได้ตรัสว่าก็เมื่อพระราชาทรงพอพระทัยในบรรพชาเพศ ละรัฐสีมาไปแล้ว แม้เราก็จักละกามทั้งหลายแล้วเที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียวจักไปสู่สำนักแห่งหัตถิปาลกุมารแล้วบวชเหมือนกัน
พระนางเทวี ทรงแสดงธรรมแก่มหาชนด้วยประการฉะนี้แล้ว มีรับสั่งให้เรียกภรรยาของอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า แล้วตรัสว่า พวกเธอจักทำอย่างไร? เหล่าภรรยาของอำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลถามว่าข้าแต่พระแม่เจ้า พระองค์เล่าจักทรงทำอย่างไร? พระนางตรัสตอบว่า เราจักบวช ภรรยาของหมู่อำมาตย์ก็กราบทูลว่า แม้พวกกระหม่อมฉันก็จักบวช.พระนางเทวีมีพระเสาวนีย์ ว่าดีแล้วละ แม่คุณทั้งหลาย ดังนี้แล้ว มีรับสั่งให้เจ้าพนักงานเปิดประตูพระคลังทองเป็นต้นในพระราชนิเวศน์ รับสั่งให้จารึกพระสุพรรณบัฏว่า ขุมทรัพย์ใหญ่ ฝังไว้แล้วในที่โน้นบ้าง ในที่นี้บ้าง แล้วดำรัสว่า ใครมีความต้องการ ก็จงขนเอาทรัพย์ที่เราพระราชทานแล้วนี้ไปเถิดแล้วให้ผูกสุพรรณบัฏ แขวนไว้ที่เสาต้นใหญ่ ให้พนักงานเภรีตีกลองป่าวประกาศไปทั่วพระนคร แล้วทรงสละมหาสมบัติ เสด็จออกพระนคร.
ขณะนั้น ทวยนครก็เดือดร้อนโกลาหลว่า พระราชาและนางเทวีทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวชแล้ว พวกเราจักทำอะไรในพระนครนี้.แต่นั้นประชาชนทั้งหลายต่างก็ละทิ้งเคหสถาน ทั้งที่ยังมีสมบัติเต็มบริบูรณ์จูงลูกหลานออกไป (โดยเสด็จพระราชเทวี) เรือนโรง ร้านตลาดก็มีสิ่งของวางอยู่เกลื่อนกลาด โดยนิยามที่วางแบแผ่ไว้ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะเหลียวกลับมาแลดูก็มิได้มี พระนครทั้งสิ้นว่างเปล่าปราศจากผู้คน
ฝ่ายพระนางเทวีทรงพาปริวารมีประมาณ ๓ โยชน์เป็นกำหนด เสด็จไปในสำนักของหัตถิปาลกุมารนั้นแหละ หัตถิปาลกุมารนั่งบนอากาศแสดงธรรม แม้แก่บริษัทนั้นแล้วพาบริษัทมีประมาณ ๑๒ โยชน์นั้น บ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศทวยนาครชาวกาสิกรัฐ ก็กระบือกันกระฉ่อนไปว่า ได้ยินว่า หัตถิปาลกุมารรวบรวมบริษัทได้ถึง ๑๒ โยชน์ กระทำพระนครพาราณสีให้ว่างเปล่า พามหาชนไปสู่หิมวันตประเทศ ด้วยคิดว่าจักบวช พวกเราจะอยู่ไปไยในเมืองนี้.ในเวลาต่อมาบริษัทก็ได้เพิ่มประมาณถึง ๓๐ โยชน์ หัตถิปาลกุมารก็ไปยังป่าหิมพานต์ พร้อมด้วยบริษัทนั้น
ท้าวสักกเทวราชทรงรำพึงดู รู้พฤติเหตุนั้นแล้วทรงดำริว่า หัตถิปาลกุมารออกสู่มหาภิเนษกรมณ์แล้ว จักเป็นสมาคมใหญ่ยิ่ง ควรที่บริษัททั้งหลาจักได้ที่อยู่ จึงทรงบังคับวิสสุกรรมเทพบุตรว่าไปเถิดวิสสุกรรมเทพบุตร เธอจงเนรมิตอาศรม ยาว ๓๖ โยชน์ กว้าง ๑๕โยชน์ แล้วจัดแจงบริขารของบรรพชิตไว้ให้เสร็จบริบูรณ์ วิสสุกรรมเทพบุตรรับเทวบัญชาแล้ว ไปเนรมิตอาศรมบทขนาดยาวกว้าง ตามเทวบัญชา ไว้ในภูมิภาคอันรื่นรมย์ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา แต่งตั้งอาสนะ มีอาสนะที่ลาดด้วยท่อนไม้และใบไม้เป็นต้นไว้ แล้วเนรมิตบรรพชิตบริขาร ทั้งหมดไว้ในบรรณศาลาและที่ประตูบรรณศาลาแต่ละแห่ง ก็เนรมิตที่จงกรมไว้ แห่งละหนึ่งที่ มีที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันคั่นเป็นระยะ และมีกระดานที่พิงพัก ฉาบด้วยปูนขาวสะอาด ในสถานที่ทุกแห่ง มีพุ่มดอกไม้ ดาดาษไปด้วยสุรภี และโกสุมในแนวสวนหย่อมนานาพรรณ ในที่สุดแห่งที่จงกรมแต่ละแห่ง เนรมิตบ่อน้ำไว้บ่อหนึ่ง ๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำ ในที่ใกล้บ่อน้ำนั้น เนรมิตต้นไม้มีผลไว้ต้นหนึ่ง ๆ ต้นไม้แต่ละต้นก็เผล็ดผลดกทั่วถึงกัน ทั้งหมดนี้ ได้สำเร็จขึ้นด้วยเทวานุภาพ วิสสุกรรมเทพบุตร
ครั้นเนรมิตอาศรมสถาน จัดตั้งบรรพชิตบริขารไว้ในบรรณศาลาเสร็จแล้ว จึงเอาชาดแลหรดาลจารึกอักษรไว้ที่ฝาว่าใคร ๆ มีความประสงค์จะบวช จงถือเอาบริขารเหล่านี้เถิด แล้วขับไล่หมู่มฤคและปักษีที่มีเสียงน่าหวาดแล้ว ทั้งหมู่อมนุษย์ที่มีรูปชั่วร้ายให้หลีกไปห่างไกล ด้วยอานุภาพของตน แล้วกลับไปยังทิพยวิมานสถานที่อยู่ของตนทันที.
หัตถิปาลกุมาร เข้าไปสู่อาศรมที่ท้าวสักกะประทาน โดยทางจรไปเฉพาะตนผู้เดียวก่อน เห็นอักษรที่จารึกไว้แล้วดำริว่า ท้าวสักกเทวราชคงจักทรงทราบความที่เราออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ดังนี้แล้ว จึงเปิดประตูเข้าไปยังบรรณศาลา บรรพชาเป็นฤๅษีแล้วออกสู่ที่จงกรม เดินจงกรมไปมาอยู่สองสามวาระแล้ว ยังหมู่ชนที่เหลือให้บรรพชา ตรวจตราดูอาศรมทั่วไป ให้บรรณศาลาแก่สตรีแม่ลูกอ่อนอยู่ในท่ามกลาง ถัดจากนั้นมาให้แก่สตรีชราถัดออกมาให้แก่สตรีที่มีวัยปานกลาง ส่วนชั้นนอกสุด ให้บุรุษทั้งหลายอยู่รายรอบ
ครั้งนั้นมีพระราชาองค์หนึ่งทรงทราบว่า ในพระนครพาราณสีไม่มีพระราชาประทับอยู่ จึงเสด็จมาตรวจดูพระนครอันประดับประดาตกแต่งไว้ดีแล้ว เสด็จขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ทอดพระเนตรเห็นกองรัตนะในที่นั้น ๆ ทรงดำริว่า นับแต่เวลาที่พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงสละพระนครออกทรงผนวช ชะรอยบรรพชาเพศนี้จักเป็นของมีคุณค่าโอฬารยิ่ง แล้วตรัสถามหนทางกะพวกนักเลงสุรา เสด็จไปยังสำนักของหัตถิปาลดาบส
หัตถิปาลดาบสทราบว่า พระราชาพระองค์นั้นเสด็จมาถึงแนวป่า จึงเดินสวนทางไปรับเสด็จ นั่งในอากาศแสดงธรรมแก่บริษัท แล้วนำไปสู่อาศรมบท ให้บริษัททั้งหมดบรรพชา พระราชาแม้เหล่าอื่นทรงออกบรรพชา โดยอุบายนี้ถึง ๖ พระองค์ รวมพระราชาสละโภคัยมไหศวริยสมบัติ ออกบรรพชาเป็น ๗ พระองค์ อาศรมมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์ เต็มบริบูรณ์หาที่ว่างมิได้ ดาบสองค์ใดตรึกวิตกอย่างใดอย่างหนึ่งมีกามวิตกเป็นต้น หัตถิปาลดาบสผู้มหาบุรุษก็แสดงธรรมแก่ดาบสนั้น บอกให้เจริญพรหมวิหารภาวนาบ้าง กสิณภาวนาบ้าง ดาบสเหล่านั้นยังฌานและอภิญญาให้เกิดแล้วโดยมาก ในสามส่วนไปบังเกิดในพรหมโลกสองส่วน แบ่งส่วนที่ ๓ (คือ กษัตริย์ พราหมณ์และคฤหบดี) ในมนุษยโลก คำสั่งสอนของหัตถิปาลดาบส ทำให้มหาชนปราศจากทุคติคือนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ปิตติวิสัย และอสุรกายด้วยประการฉะนี้.
พระบรมศาสดาครั้งทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในปางก่อน ตถาคตก็ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าเอสุการีในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเจ้าสุทโธทนมหาราชในบัดนี้ พระเทวีได้มาเป็นพระนางมหามายา ปุโรหิตได้มาเป็นพระกัสสป นางพราหมณีได้มาเป็นนางภัททกาปิลานี อชปาลกุมารได้มาเป็นพระอนุรุทธะ โคปาลกุมารได้มาเป็นพระโมคคัลลานะ อัสสปาลกุมารได้มาเป็นพระสารีบุตร บริษัทที่เหลือได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนหัตถิปาลกุมาร ได้แก่เราผู้ตถาคตนั่นเอง ฉะนี้แล.


Create Date : 26 สิงหาคม 2554
Last Update : 26 สิงหาคม 2554 12:52:39 น. 0 comments
Counter : 732 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.