ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
การให้ดวงตาเป็นทาน

สีวิราชชาดก
ว่าด้วยการให้ดวงตาเป็นทาน



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ อสทิสทาน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มี ดังนี้.

ก็ในกาลนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงถวายบริขารครบทุกอย่างในวันที่ ๗ แล้วทูลขออนุโมทนา พระศาสดาไม่ได้ตรัสอะไรเลย เสด็จหลีกไปแล้ว พระราชาเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว เสด็จไปยังพระวิหาร ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงทำอนุโมทนา พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร เพราะบริษัทไม่บริสุทธิ์ แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยพระคาถาว่า น หเว กทริยา เทวโลกํ วชนฺติ เป็นต้น แปลว่า คนตระหนี่ทั้งหลาย ย่อมไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย ดังนี้

พระราชา ทรงเลื่อมใส ทรงบูชาพระตถาคตด้วยผ้าอุตราสงค์ สีเวยยกพัสตร์มีราคาแสนหนึ่ง แล้วเสด็จกลับพระนคร

ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเจ้าโกศลราชทรงถวายอสทิสทาน แล้วยังไม่อิ่มด้วยการถวายทานแม้ขนาดนั้น เมื่อพระทศพลทรงแสดงธรรมแล้ว ก็ได้ถวายผ้าสีเวยยกพัสตร์อันมีค่าแสนหนึ่งอีก อาวุโสทั้งหลาย ตลอดเวลาที่ท้าวเธอทรงถวายทาน ยังไม่รู้สึกอิ่มพระทัยเลย

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายขึ้นชื่อว่า พาหิรภัณฑ์ บุคคลจะให้ได้ง่ายก็หาไม่ บัณฑิตแต่ครั้งโบราณทั้งหลาย กระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้เป็นเนินสูงแล้ว ให้ทานบริจาคทรัพย์วันละหกแสนทุก ๆ วัน ก็ยังไม่อิ่มด้วยพาหิรกทานเลย ผู้ให้ของรักย่อมได้ของรัก ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลาย จึงได้ควักดวงตาทั้งสองให้ทานแก่ยาจกผู้มาถึงเฉพาะหน้า แล้วทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้

ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าสีวิมหาราช เสวยราชสมบัติในอริฏฐปุรนคร แคว้นสีวิรัฐ พระมหาสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นพระราชโอรสของท้าวเธอ พระประยูรญาติทั้งหลายขนานพระนามของพระกุมารนั้นว่า สีวิราชกุมาร พระราชกุมารเจริญวัยแล้วไปยังพระนครตักกสิลา ศึกษาศิลปศาสตร์จบแล้ว กลับมาแสดงศิลปศาสตร์ถวายพระชนกทอดพระเนตร จนได้รับพระราชทานยศเป็นมหาอุปราช ในเวลาต่อมา เมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้วก็ได้เป็นพระราชา ละการลุอำนาจแก่อคติเสีย ยังทศพิธราชธรรมให้เกิด เสวยราชสมบัติโดยธรรม ให้สร้างศาลาโรงทานไว้ ๖ แห่งคือ ที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง กลางพระนคร ๑ แห่ง และที่ประตูพระราชนิเวศน์อีก ๑ แห่ง แล้วทรงยังมหาทานให้เกิดขึ้น ด้วยทรงบริจาคทรัพย์วันละ ๖ แสนทุก ๆ วัน และในวันอัฏฐมี จาตุททสี และปัณณรสี คือวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ท้าวเธอเสด็จลงสู่โรงทาน ตรวจตราการให้ทานเป็นราชกรณียกิจประจำ.
คราวหนึ่งเป็นวันปูรณมี ดิถีที่ ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าพระเจ้าสีวิราช ประทับเหนือราชบัลลังก์ ภายใต้เศวตฉัตร ทรงรำพึงถึงทานที่พระองค์ทรงบริจาค มิได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิรวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ชื่อว่าพระองค์ยัง ไม่เคยบริจาค จึงทรงพระดำริว่า พาหิรวัตถุที่ชื่อว่า เรายังไม่เคยบริจาคไม่มีเลย พาหิรกทานหาได้ยังเราให้ยินดีไม่ เราประสงค์จะให้อัชฌัตติกทาน โอหนอ เวลาที่เราไปในโรงทานวันนี้ ยาจกคนใดอย่าได้ขอพาหิรวัตถุเลย พึงเอ่ยออกชื่อขอแต่อัชฌัตติกทานเถิด
ก็ถ้าหากว่าใคร ๆ จะเอ่ยปากขอดวงหทัยของเราไซร้ เราจะเอาหอกแหวะอุรประเทศนำดวงหทัย ซึ่งมีหยาดโลหิตไหลอยู่ ออกให้ ดุจถอนปทุมชาติทั้งก้านขึ้นจากน้ำอันใสฉะนั้น
ถ้าหากว่าใครเอ่ยปากขอเนื้อในสรีรกายของเรา เราจะเถือเนื้อในสรีระให้ ดุจคนขูดจันทน์แดงด้วยศาสตราสำหรับขูดฉะนั้น
ถ้าหากว่าใครเอ่ยปากขอโลหิต เราจะวิ่งเข้าไปในปากแห่งยนต์ ให้คนนำภาชนะเข้าไปรองรับจนเต็มแล้วจึงจักให้โลหิต
หรือว่าถ้าใครจะพึงพูดกะเราว่า การงานในเรือนของเราไม่เรียบร้อย ท่านจงเป็นทาสทำการงานในเรือนของเราดังนี้ เราจักละเพศกษัตริย์เสีย กระทำตนให้อยู่นอกตำแหน่ง แล้วประกาศตนทำการงานของทาส
ถ้าใครเอ่ยปากขอดวงตาของเรา เราจักควักดวงตาทั้งคู่ออกให้เหมือนดังควักจาวตาลฉะนั้น
ดังนี้แล้ว ทรงสรงสนานด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อทรงประดับตกแต่ง องค์ด้วยเครื่องสรรพอลังการ เสวยพระกระยาหารที่มีรสอันเลิศต่าง ๆ แล้ว เสด็จประทับเหนือคอมงคลหัตถีอันประดับตกแต่งแล้ว ได้เสด็จไปสู่โรงทาน.
ท้าวสักกะทรงทราบอัธยาศัยของพระองค์ จึงทรงดำริว่า วันนี้พระเจ้าสีวิราชทรงพระดำริว่า จักควักดวงพระเนตรออกพระราชทานแก่ยาจกผู้มาถึง ท้าวเธอจักอาจเพื่อพระราชทานหรือหาไม่หนอ เมื่อจะทดลองพระเจ้าสีวิราช จึงทรงแปลงเป็นพราหมณ์ แก่ชรา ตาบอด ในเวลาที่พระราชาเสด็จไปสู่ โรงทาน ได้ไปยืนอยู่ที่เนินแห่งหนึ่ง ยื่นพระหัตถ์ออกถวายชัยมงคล พระราชา ทรงไสช้างพระที่นั่งมุ่งเข้าไปหาพราหมณ์นั้น แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพูดว่ากระไร ?
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกะท้าวเธอว่า ข้าแต่ มหาราชเจ้า โลกสันนิวาสทั้งสิ้น กึกก้องด้วยเสียงแซ่ซ้องสาธุการ อาศัยพระอัธยาศัยอันน้อมไปในทานของพระองค์ ฟุ้งขจรอยู่เป็นนิตย์ ส่วนข้าพระองค์เป็น คนตาบอด พระองค์มีพระเนตรสองข้าง ดังนี้แล้ว เมื่อจะทูลขอดวงพระเนตร จึงตรัสว่า
ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนชรา ไม่แลเห็นในที่ไกล มาเพื่อจะทูลขอพระเนตร ข้าพระพุทธเจ้ามีนัยน์ตาข้างเดียว ข้าพระพุทธเจ้าทูลขอแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานพระเนตรข้างหนึ่ง แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด.
พระมหาสัตว์เจ้าทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เรานั่งนึกอยู่ในปราสาท มาเดี๋ยวนี้ทีเดียว เป็นลาภใหญ่ของเรา มโนรถของเราจักถึงที่สุดในวันนี้ทีเดียว เราจักบริจาคทานที่ยังไม่เคยบริจาค แล้วทรงมีพระหฤทัย ชื่นชมโสมนัส ตรัสว่า
ดูก่อนวณิพก ใครเป็นผู้แนะนำท่านให้มาขอดวงตาเรา ณ ที่นี้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าดวงตาใด อันบุรุษสละได้โดยยาก ท่านมาขอดวงตานั้น อันเป็นอวัยวะเบื้องสูง ยากที่จะสละได้ง่าย ๆ.
พราหมณ์ทูลตอบว่า
ในเทวโลกเขาเรียกท่านผู้ใดว่า สุชัมบดี ในมนุษยโลกเขาเรียกท่านผู้นั้นว่า "มฆวา" ข้าพระพุทธเจ้าเป็นวณิพก ท่านผู้นั้นแนะนำให้มาขอพระเนตร ณ ที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นวณิพก การขอของข้าพระพุทธเจ้าไม่มีสิ่งใดจะยิ่งไปกว่าขอให้พระองค์ทรงพระราชทานพระเนตรแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้มาขอเถิด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ดวงตาใดยากที่บุรุษจะสละได้ ขอพระองค์โปรดพระราชทานดวงเนตรนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด.
พระเจ้าสีวิราชทรงสดับแล้ว ตรัสตอบว่า
ท่านมาด้วยประโยชน์อันใด ปรารถนาประโยชน์สิ่งใด ความดำริเหล่านั้น เพื่อประโยชน์นั้น ๆ ของท่านจงสำเร็จเถิด ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงได้ดวงตาเถิด เมื่อท่านขอข้างเดียว เราจะให้ทั้งสองข้าง ขอท่านจงมีจักษุด้วยจักษุของเราไปเถิด ท่านปรารถนาสิ่งใดจากเราผู้มุ่งหมายอยู่ ขอสิ่งนั้นจงสำเร็จแก่ท่านเถิด.
พระราชาตรัสเพียงเท่านี้แล้วทรงพระดำริว่า การที่เราจักควักนัยน์ตา ให้แก่พราหมณ์ในที่นี้ทีเดียว เป็นการไม่เหมาะสมจึงพาพราหมณ์ไปสู่ภายในพระราชฐาน แล้วประทับบนราชอาสน์ตรัสสั่งให้เรียกหมอชื่อว่าสีวิกะมาตรัสว่า เจ้าจงชำระนัยน์ตาของเราให้สะอาด ในครั้งนั้นได้มีเสียงเอิกเกริกโกลาหลทั่วทั้งพระนครว่า พระราชาของพวกเรา มีพระราชประสงค์จะควักพระเนตรทั้งสองพระราชทานแก่พราหมณ์ ลำดับนั้น ข้าราชการมีเสนาบดี เป็นต้น ราชวัลลภ ชาวพระนครและนางสนมทั้งหลาย มาประชุมพร้อมกัน เมื่อจะกราบทูลทัดทานพระราชา ได้กล่าวว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์อย่าทรงพระราชทานดวงพระเนตรเลย อย่าทรงทอดทิ้งข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเลย
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์พระราชทานทรัพย์เถิด แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ ในท้องพระคลังก็ทรงมีเป็นอันมาก
ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระองค์จงทรงพระราชทานรถทั้งหลายที่เทียมแล้ว ม้าอาชาไนย ช้างตัวประเสริฐที่ตบแต่งแล้ว ที่อยู่และเครื่องบริโภคที่ทำด้วยทองคำเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐขอพระองค์จงทรงพระราชทานเหมือนกับชาวสิพีทั้งปวง ที่มีเครื่องใช้สอย มีรถเฝ้าแหนพระองค์อยู่โดยรอบ ทุกเมื่อฉะนั้นเถิด.
ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสว่า
ผู้ใดแลพูดว่าจักให้ แล้วมากลับใจว่าไม่ให้ ผู้นั้นเหมือนกับสวมบ่วงที่ตกลงยังพื้นดินไว้ที่คอ ผู้ใดแลพูดว่าจักให้ แล้วมากลับใจว่าไม่ให้ ผู้นั้นเป็นคนลามกยิ่งกว่าผู้ที่ลามก ทั้งจะต้องเข้าถึงสถานที่ลงอาญาของพญายม ความจริงผู้ขอได้ขอสิ่งใดไว้ ผู้ให้ก็ควรจะให้สิ่งนั้นแหละ ผู้ขอยังไม่ได้ขอสิ่งใดไว้ ผู้ให้ก็อย่าพึงให้สิ่งนั้น พราหมณ์ได้ขอสิ่งใดไว้กะเรา เราก็จักให้สิ่งนั้นนั่นแหละ.
ลำดับนั้น เมื่ออำมาตย์ทั้งหลาย จะทูลถามท้าวเธอว่า พระองค์จะพระราชทานพระจักษุ เพราะทรงปรารถนาอะไร จึงกล่าวว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชา พระองค์ทรงปรารถนาพระชนมายุ วรรณะ สุขะ และพละอะไรหรือ จึงทรงพระราชทานพระเนตร พระองค์ทรงเป็นราชาแห่งชาวสีพี ไม่มีใครประเสริฐยิ่งไปกว่า ทรงพระราชทานพระเนตร เพราะเหตุปรโลกหรืออย่างไร.
ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสตอบอำมาตย์เหล่านั้น จึงตรัสว่า
ใช่ว่าเราอยากจะได้บุตร ทรัพย์สมบัติ แว่นแคว้น เพราะผลแห่งการให้จักษุเป็นทานนี้ก็หามิได้ ก็แต่ว่าการให้ทานนี้ ชื่อว่า เป็นโบราณมรรค คือเป็นการบำเพ็ญบารมี อันสัตบุรุษคือบัณฑิตได้แก่ พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญูสั่งสมมาดีแล้ว ด้วยว่าพระโพธิสัตว์หากไม่บำเพ็ญบารมีให้เต็มแล้ว ชื่อว่าจะมีความสามารถที่จะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิ บัลลังก์ก็หามิได้ อนึ่ง เราบำเพ็ญบารมีไว้ ก็ใคร่จะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนี้ใจของเราจึงได้ยินดี เฉพาะในทานบริจาค.
แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงจริยาปิฎก แก่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ เพื่อจะทรงแสดงว่า พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น เป็นที่รักกว่าดวงตาแม้ทั้งสองของเรา จึงตรัสว่า
ดวงตาทั้งสองข้างจะได้เป็นที่เกลียดชังของเราก็หาไม่ ตนของตนเองก็หาได้เป็นที่เกลียดชังของเราไม่ พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงได้ให้ดวงตา.
ก็เมื่ออำมาตย์ทั้งหลาย ได้ฟังพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้ว ไม่อาจจะทูลทัดทาน จำต้องนิ่งเฉยอยู่ พระมหาสัตว์เจ้าได้ตรัสกำชับสีวิกแพทย์ ด้วยพระคาถาว่า
ดูก่อนสีวิกะ ท่านเป็นมิตรสหายของเรา ท่านเป็นคนศึกษามาดีแล้ว จงกระทำตามคำของเราให้ดี จงควักดวงตาทั้งสองของเราผู้ปรารถนาอยู่ แล้ววางลงในมือของพราหมณ์วณิพกเถิด.
ลำดับนั้น สีวกแพทย์ ทูลเตือนท้าวเธอว่า ขึ้นชื่อว่าการให้จักษุเป็นทาน เป็นกรรมหนัก ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์จงใคร่ครวญให้ดี
พระราชาตรัสว่า ดูก่อนสีวิกแพทย์ เราใคร่ครวญดีแล้ว ท่านอย่ามัวชักช้าร่ำไรอยู่เลย อย่าพูดกับเราให้มากเรื่องไปเลย
สีวิกแพทย์คิดว่า การที่นายแพทย์ผู้ศึกษามาดีเช่นเรา จะเอาศาสตราคว้านพระเนตรของพระราชา ไม่สมควร เขาจึงบดโอสถหลายขนาน แล้วเอาตัวยาอบดอกอุบลเขียว แล้วถวายให้ทรงถูพระเนตรเบื้องขวา พระเนตรพร่า เกิดทุกขเวทนาเป็นกำลัง
เขากราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงกำหนดพระทัยดูเถิด การทำพระเนตรให้เป็นปกติดังเดิมยังสามารถกระทำได้อยู่ ถ้าทรงโปรดเช่นนั้น เรื่องนั้นขอให้เป็นภาระของข้าพระพุทธเจ้า
พระราชาตรัสว่า พ่อหมอ เธอจงหลีกไป อย่ามัวทำช้าอยู่เลย เขาจึงปรุงโอสถน้อมเข้าไปให้ทรงถูพระเนตรซ้ำอีก พระเนตรก็หลุดออกจากหลุมพระเนตร บังเกิดทุกขเวทนาเหลือประมาณ
เขากราบทูลว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงกำหนดพระทัยดูเถิด การทำพระเนตรให้เป็นปกติดังเดิมยังสามารถกระทำได้อยู่ ถ้าทรงโปรดเช่นนั้น เรื่องนั้นขอให้เป็นภาระของข้าพระพุทธเจ้า
พระราชาตรัสว่า หลีกไปเถอะพ่อหมอ อย่าทำชักช้า อยู่เลย
ในวาระที่ ๓ เขาปรุงโอสถให้แรงขึ้นกว่าเดิมน้อมเข้าไปถวาย ด้วยกำลังพระโอสถ พระเนตรก็หมุนหลุดออกจากเบ้าพระเนตร ลงมาห้อยอยู่ด้วยเส้นเอ็น เขาจึงกราบทูลซ้ำอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมนรชน ขอพระองค์จงทรงกำหนดพระทัยดูเถิด การทำพระเนตรให้เป็นปกติดังเดิมยังสามารถกระทำได้อยู่ ถ้าทรงโปรดเช่นนั้น เรื่องนั้นขอให้เป็นภาระของข้า พระพุทธเจ้า
พระราชาตรัสว่า เธออย่าทำการชักช้าอยู่เลย
ทุกขเวทนาบังเกิดขึ้น เหลือที่จะประมาณ พระโลหิตก็ไหลออก พระภูษาทรงเปียกชุ่มไปด้วยพระโลหิต นางสนมและหมู่อำมาตย์ทั้งหลาย หมอบเฝ้าอยู่แทบบาทมูลของพระราชา ต่างพากันปริเทวนาการพิไรรำพันอึงคะนึงว่า ขอเดชะ พระองค์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานดวงพระเนตรเลย
พระราชาทรงอดกลั้นทุกขเวทนาตรัสว่า พ่อหมอ เธออย่าทำการชักช้าอยู่เลย
เขารับพระบรมราชโองการแล้ว ประคองพระเนตรด้วยมือซ้าย จับศาสตรา ตัดเอ็นที่ติดพระเนตรด้วยมือขวา แล้วรับพระเนตรไปวางไว้ในพระหัตถ์ของพระมหาสัตว์ พระองค์ทอดพระเนตรเบื้องขวา ด้วยพระเนตรเบื้องซ้าย ทรงอดกลั้นทุกขเวทนา ตรัสเรียกพราหมณ์ว่า มาเถิดพราหมณ์ แล้วตรัสว่า สัพพัญญุตญาณเท่านั้น เป็นที่รักกว่านัยน์ตาของเรานี้ ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า ผลที่เราบริจาคดวงตานี้ จงเป็นปัจจัยแก่พระสัพพัญญุตญาณนั้นเถิด แล้วได้พระราชทานดวงพระเนตรนั้นแก่พราหมณ์ไป
พราหมณ์รับพระเนตรนั้น ประดิษฐานไว้ในดวงตาของตน ด้วยอานุภาพของพระเจ้าสีวิราชนั้น ดวงพระเนตรก็ประดิษฐานอยู่ เป็นเหมือนดอกอุบลเขียวที่แย้มบาน
พระมหาสัตว์เจ้า ทอดพระเนตรดูนัยน์ตาของพราหมณ์นั้น ด้วยพระเนตรเบื้องซ้าย แล้วทรงดำริว่า โอ อักขิทาน เราได้ให้ดีแล้ว ทรงเสวยปิติอันซ่านไปภายในพระหฤทัยหาระหว่างมิได้ จึงได้พระราชทานพระเนตรเบื้องซ้ายนอกนี้อีก ท้าวสักกเทวราช ทรงประดิษฐานพระเนตรเบื้องซ้ายนั้นไว้ในดวงพระเนตรของพระองค์ แล้วเสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ เมื่อมหาชนกำลังแลดูอยู่ นั่นแล ได้ออกจากพระนครไปสู่เทวโลกทันที.
ไม่สู้นานนัก มังสะพระเนตรทั้งคู่ของพระราชาก็งอกขึ้น และเมื่องอกขึ้นก็หาถึงความเป็นหลุมไม่ ได้เต็มบริบูรณ์ด้วยก้อนพระมังสะอันนูนขึ้น เหมือนปมผ้ากัมพล หลุมพระเนตรทั้งสองเป็นเหมือนภาพนัยน์ตาอันนายช่างจิตรกรจัดทำ ทุกขเวทนาก็เสื่อมหายขาดไปสิ้น
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ประทับอยู่บนปราสาทสองสามวัน ทรงดำริว่า ประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติแก่คนตาบอด เพราะฉะนั้น เราจักมอบราชสมบัติแก่อำมาตย์ทั้งหลาย ไปสู่พระราชอุทยาน บวชบำเพ็ญสมณธรรม ดังนี้แล้ว ตรัสสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า ตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่อำมาตย์เหล่านั้น แล้วตรัสสั่งว่า กัปปิยการกคนหนึ่ง สำหรับให้สิ่งของ มีน้ำบ้วนปากเป็นต้น จักอยู่ในสำนักของเรา ท่านทั้งหลาย จงผูกรางไว้ในที่กระทำสรีรกิจของเราเถิด แล้วตรัสเรียกนายสารถีมาตรัสสั่งว่า เจ้าจงเทียมรถ ส่วนอำมาตย์ทั้งหลาย ไม่ให้พระองค์เสด็จด้วยรถ นำเสด็จไปด้วยพระสุวรรณสีวิกา (วอทอง) แล้วให้ประทับอยู่ใกล้ฝั่งสระโบกขรณี จัดแจงวางกำลังพิทักษ์รักษาแล้วจึงหลีกไป
พระราชาประทับนั่งบนบัลลังก์ ทรงรำพึงถึงทานของพระองค์ ขณะนั้นได้ร้อนไปถึงอาสนะของท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกะทรงรำพึงดู เห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว ทรงดำริว่า เราจักให้พรแก่พระเจ้าสีวิมหาราช แล้วทำพระเนตรให้เป็นปกติ ดังนี้แล้วจึงเสด็จมาที่ฝั่งสระโบกขรณี นั้น เสด็จดำเนินไป ๆ มา ๆ ไม่ไกลพระมหาสัตว์เจ้า.
ฝ่ายท้าวสักกเทวราช อันพระมหาสัตว์เจ้าทรงสดับเสียงแห่งพระบาท แล้วตรัสถามว่า นั่นใคร ? จึงตรัสว่า
หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมแห่งเทพ มาในสำนักของพระองค์แล้ว ข้าแต่พระราชฤๅษี ขอพระองค์จงทรงเลือกเอาพรตามที่พระทัยปรารถนาเถิด.
เมื่อท้าวสักกเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาจึงตรัสพระคาถา ความว่า
ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ทรัพย์ก็ดี กำลังก็ดี ของหม่อมฉันมีเพียงพอแล้ว อนึ่ง คลังของหม่อมฉันก็มีเป็นอันมาก บัดนี้ หม่อมฉันเป็นคนตาบอด พอใจความตายเท่านั้น.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกะท้าวเธอว่า ดูก่อนพระเจ้าสีวิราช ก็พระองค์ทรงพระประสงค์จะสิ้นพระชนม์เอง จึงอยากสิ้นพระชนม์ หรือว่า อยากสิ้นพระชนม์เพราะเป็นคนตาบอด ?
พระเจ้าสีวิราชทูลตอบว่า ข้าพเจ้าอยากสิ้นพระชนม์เพราะเป็นคนตาบอด
ท้าวสักกเทวราช ตรัสข้อสนทนาต่อไปว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า ขึ้นชื่อว่าทานจะให้ผลในสัมปรายภพอย่างเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ย่อมเป็นปัจจัยแม้เพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน ก็พระองค์อันยาจกทูลขอพระเนตรข้างเดียว ได้พระราชทานเสียทั้งสองข้าง เหตุนั้น พระองค์โปรดทำสัจจกิริยาเถิด
พระมหาสัตว์เจ้าทรงสดับเช่นนั้นแล้ว ตรัสว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช แม้หากว่าพระองค์ทรงพระประสงค์จะพระราชทานจักษุแก่ข้าพเจ้า ขออย่าต้องให้ทำอุบายอย่างอื่นเลย ดวงจักษุจงเกิดขึ้นด้วยผลแห่งทานของข้าพเจ้าเถิด
เมื่อท้าวสักกะตรัสว่า เราเป็นท้าวสักกเทวราชไม่สามารถจะให้จักษุแก่คนอื่นได้ จักษุจักเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งทาน อันพระองค์บริจาคอย่างเดียว
จึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นทานอันข้าพเจ้าบริจาคด้วยดีแล้ว ดังนี้ เมื่อจะทรงทำสัจจกิริยา จึงตรัสพระคาถาความว่า
เมื่อมีวณิพกเหล่าใดมาขออะไรจากเรา วณิพกเหล่านั้นก็เป็นที่รักของเรา แม้ผู้ใดมาขอจักษุเรา ถึงผู้นั้นก็เป็นที่รักใคร่ด้วยใจของเรา นี้เป็นสัจจวาจาอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการกล่าวสัจจวาจานี้ ขอจักษุข้างหนึ่งของเราจงเบังเกิดขึ้นเถิด
ลำดับนั้น พระจักษุอันเป็นปฐมก็เกิดขึ้นในระหว่างแห่งพระดำรัสของพระราชา นั่นเอง แต่นั้นเพื่อจะให้พระจักษุข้างที่สองเกิดขึ้น ท้าวเธอจึงตรัสหมวดสอง แห่งคาถา ความว่า
พราหมณ์ผู้มีจักษุพิการมาขอเราว่า ขอพระองค์โปรด พระราชทานดวงเนตรแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด เราได้ให้ดวงตาทั้งสองแก่พราหมณ์ ผู้มาขอ ครั้นให้จักษุทั้งสองแก่พราหมณ์ แล้ว นับแต่นั้นมาก็เป็นคนตาบอด แต่ในเวลาเราตาบอดนั้น หาได้คำนึงถึง ทุกขเวทนาเนั้นไม่ ปิติอันยิ่งเกิดแผ่ซ่านไป คือ เข้าสู่ดวงหทัยของเรา ผู้พิจารณาเห็นว่า โอ เราได้ให้ทานด้วยดีแล้ว ทั้งความโสมนัสก็เกิดขึ้นแก่เรา หาประมาณมิได้
บถ้าหากปิติโสมนัสมิใช่น้อยเกิดขึ้น แก่เราในกาลนั้นไซร้ นี้เป็นสัจจวาจาอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการกล่าวสัจจวาจานี้ จักษุแม้ข้างที่สองจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด.
ในทันใดนั้นเอง พระเนตรดวงที่สองก็เกิดขึ้น แต่พระเนตรของ พระเจ้าสีวิราชนั้น แต่จะว่าเป็นพระเนตรปกติก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นพระเนตรทิพย์ก็ไม่ใช่ เพราะพระเนตรของพระองค์ทรงพระราชทานแก่สักกพราหมณ์แล้ว ทั้งสักกพราหมณ์ก็ไม่สามารถทำพระเนตรให้เป็นปกติเหมือนของเดิมได้ อนึ่ง ธรรมดาพระเนตรทิพย์ จะเกิดขึ้นแก่จักษุ ซึ่งมีที่ตั้งอันถอนเสียแล้ว หามิได้ ฉะนั้น พระเนตรเหล่านั้น ของพระเจ้าสีวิราช ต้องเรียกว่า สัจจปารมิตาจักษุ คือจักษุที่เกิดขึ้นเพราะสัจจบารมีของพระองค์ ในกาลที่พระเนตรเหล่านั้นเกิดขึ้น พร้อมกันนั่นเอง ราชบริษัททั้งปวงต่างก็มาประชุมพร้อมกันด้วยอานุภาพของท้าวสักกเทวราช
ลำดับนั้น เมื่อท้าวสักกเทวราช จะทรงทำการชมเชยพระเจ้าสีวิราชในท่ามกลางมหาชนนั่นเอง จึงตรัสพระคาถาสองคาถา ความว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงสีพีรัฐ พระองค์ตรัสพระคาถาแล้วโดยธรรม พระเนตรทั้งสองของพระองค์จะปรากฏเป็นตาทิพย์เห็นได้ทะลุภายนอกฝา ภายนอกกำแพงและภูเขาตลอดร้อยโยชน์ โดยรอบ.
ท้าวสักกเทวราช ประทับยืนขึ้นบนอากาศ ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ในท่ามกลางมหาชนแล้ว ทรงโอวาทพระมหาสัตว์เจ้าว่า ขอพระองค์จงอย่าประมาท แล้วเสด็จไปยังเทวโลกทันที.
ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้าแวดล้อมด้วยมหาชนเสด็จเข้าสู่พระนคร ด้วยสักการะใหญ่ แล้วเสด็จขึ้นประทับ ณ สุจันทกปราสาท ความที่ท้าวเธอได้พระเนตรทั้งคู่กลับคืนมา ปรากฏแพร่สะพัดไปตลอดทั่วสีวีรัฐสีมามณฑล ลำดับนั้น ประชาชนชาวสีวีรัฐทั้งสิ้น ต่างถือเอาเครื่องบรรณาการมาถวายเป็นอันมาก เพื่อต้องการจะเข้าเฝ้าชมพระบารมีพระเจ้าสีวิราช
พระมหาสัตว์เจ้าทรงดำริว่า เมื่อมหาชนนี้ประชุมกันแล้ว เราจักพรรณนาทานของเรา จึงตรัสสั่งให้สร้างมณฑปใหญ่ที่ประตูพระราชนิเวศน์ ประทับนั่งบนราชบัลลังก์ ภายใต้เศวตรฉัตร ตรัสให้ตีกลองประกาศในพระนคร ตรัสสั่งให้เสนาข้าราชการทั้งมวลประชุมกันแล้วตรัสว่า ดูก่อนประชาชนชาวสีวีรัฐ ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นพระเนตรทิพย์ของเราเหล่านี้แล้ว นับแต่นี้ไป ถ้ายังไม่ได้ให้ทาน แล้วอย่าเพิ่งบริโภค เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสว่า
ใครหนอในโลกนี้ ถูกขอทรัพย์อันน่าปลื้มใจแล้ว แม้จะเป็นของพิเศษ แม้จะเป็นของที่รักอย่างดีของตน จะไม่พึงให้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายผู้เป็นชาวแคว้นสีพีทุก ๆ คน ที่มาประชุมกัน จงดูดวงตาทั้งสองอันเป็นทิพย์ของเราในวันนี้ ตาทิพย์ของเราเห็นได้ทะลุภายนอกฝา ภายนอกกำแพง และภูเขาตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
ในโลกอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายนี้ ไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่าการบริจาคทานเราได้ให้จักษุที่เป็นของมนุษย์แล้ว กลับได้จักษุทิพย์
ดูก่อนชาวแคว้นสีพีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้เห็นจักษุทิพย์ที่เราได้นี้แล้ว จงให้ทานเสียก่อน จึงค่อยบริโภคเถิด บุคคลผู้ให้ทานและบริโภคแล้วตามอานุภาพของตน ไม่มีใครจะติเตียนได้ ย่อมเข้าถึงสุคติสถานดังนี้.
ครั้นพระเจ้าสีวิราช ทรงแสดงธรรมด้วยคาถา ๔ คาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล้ว นับแต่นั้นมา ในวันกึ่งเดือนและวันปัณณรสีอุโบสถ ก็รับสั่งให้มหาชนประชุมกัน ทรงแสดงธรรมด้วยคาถาเหล่านี้เป็นประจำ มหาชน สดับธรรมนั้นแล้ว พากันทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ได้ไปสู่เทวโลกเต็มบริบูรณ์ทั่วกัน.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน ไม่ยินดีด้วยทานในภายนอก ได้ควักดวงตาทั้งสองของตนบริจาคทานแก่ยาจกผู้มาถึงเฉพาะหน้าด้วยอาการอย่างนี้ แล้วทรงประกาศจตุราริยสัจ ประชุมชาดกว่า สีวิกแพทย์ในครั้งนั้นได้มาเป็น พระอานนท์ ท้าวสักกเทวราชได้มาเป็นพระอนุรุทธะ ราชบริษัทที่เหลือ ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพระเจ้าสีวิราช ได้มาเป็นเราผู้ตถาคตฉะนี้แล.


Create Date : 26 สิงหาคม 2554
Last Update : 26 สิงหาคม 2554 12:34:40 น. 0 comments
Counter : 906 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.