ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2564
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
13 กรกฏาคม 2564
 
All Blogs
 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

“มูรติทั้ง 8” มหาอานุภาพบารมีแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ปราสาทบันทายฉมาร์

รูปสลักนูนต่ำบริเวณผนังระเบียงคดชั้นนอกฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มปราสาทราชวิหารแห่งบันทายฉมาร์ เป็นงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นคติความเชื่อพุทธศาสนานิกาย “วัชรยาน/ตันตระ” (Vajrayana/Tantra Buddhism) ของเหล่าผู้ศรัทธาในลัทธิ “พระโลเกศวร/อวโลกิเตศวร” (Lokeśvara /Bodhisattva Avalokiteshvara - โลเกศวรเป็นพระนามที่ปรากฏในจารึก) ผู้ทรงอานุภาพเหนือสกลจักรวาล รวมทั้งรูปของเหล่าโพธิสัตว์ “ยิดัม” (Yi-Dam) พุทธเทวะผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา ปฏิปักษ์โดยตรงกับฝ่ายฮินดูและเหล่าเทพเจ้า ที่ถูกลดระดับลงมาเป็นเพียงบริวารผู้ศรัทธาในพระโลเกศวรเท่านั้น
*** ผนังกำแพงของอาคารระเบียงคดแบบกึ่งโปร่ง ที่มีการก่อเรียงกำแพงเป็นผนังทึบฝั่งด้านใน ฝั่งด้านนอกโปร่งมีเสา 2 ระดับ รองรับชั้นหลังคาหินที่ปัจจุบันได้พังทลายลงมาทั้งหมด (กำลังบูรณะ) เป็นภาพเล่าเรื่องในคติความเชื่อของ “พระโลเกศวร/พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงด้วยอานุภาพบารมี” เรียงรายบนผนังทั้งหมด 8 รูป อาจเรียกว่า “มูรติทั้ง 8” หรือ “มหาอานุภาพทั้ง 8” ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการบูรณะผนังระเบียงคดฝั่งนี้จนสมบูรณ์ เหลือรูปสลักอยู่ 4 รูป อีก 2 รูป ที่ได้คืนจากการโจรกรรม นำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ ส่วนอีก 2 รูปยังคงหายสาบสูญไร้ร่องรอยอยู่ครับ
.
*** ซึ่งจนถึงในปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยมีการพบเห็นรูปศิลปะพระโลเกศวรผู้ทรงอานุภาพในคติวัชรยาน/ตันตระอันมีความเด่นชัด 8 ประการ เช่นนี้ในปราสาทหลังอื่น ๆ ในยุคสมัยของความนิยม นอกจากที่ปราสาทบันทายฉมาร์แห่งนี้เท่านั้น
.
รูปของพระโลเกศวร ทั้ง 8 ภาพ เป็นการแสดง “อานุภาพบารมีทั้ง 8 ” แบบเดียวกับพลังมูรติทั้ง 8 แห่งพระศิวะของฝ่ายฮินดู สลักรูปศิลปะออกมาในลักษณะที่แตกต่างกัน จัดวางองค์ประกอบของภาพจากพระสูตรคัมภีร์ของฝ่ายวัชรยาน ที่มีเค้าโครงวิถีศาสตร์ตามคติแบบฮินดูตันตระเข้ามาผสมผสานครับ
.
-----------------------------
*** ภาพสลักแรก อยู่บนผนังข้างประตูเล็ก ด้านซ้ายสุดของระเบียงฝั่งเดียวกับโคปุระตะวันตก เป็นภาพของ "พระโลเกศวร 22 พระกร” มีรูปเทพเจ้าถือมาลัยในกรอบวงกลม 10 วง รายล้อมรอบรูปประธาน อาจมีความหมายในมูรติ/อานุภาพบารมีว่า “ผู้ให้กำเนิดจักรวาล” ทรงเป็นศูนย์กลางผู้ให้กำเนิดแห่งสกลจักรวาล ให้กำเนิดเหล่าเทพเจ้าและดวงดาว ซึ่งตามคัมภีร์ “การันฑวยูหสูตร” (Karandavyūha Sūtra) กล่าวว่า “...ทรงเปล่งรัศมีอันประกอบด้วยสีต่างๆ แต่ละขุมขนของพระองค์มีโลกอยู่ภายในมีเทพเจ้า 12 องค์ กำเนิดออกมาจากพระองค์ ทั้งพระพรหมกำเนิดขึ้นจากพระพาหา พระนารายณ์ พระมหาเทพ (พระศิวะ) และพระอินทร์ กำเนิดขึ้นจากรากพระเกศา ,พระวรุณกำเนิดขึ้นจากพระอุทร ,พระพายกำเนิดขึ้นจากลมพระโอษฐ์ ,พระยม พระอาทิตย์ พระจันทร์ กำเนิดขึ้นจากพระเนตร ,พระนางปฤถิวี (พระนางภูมิเทวี) กำเนิดขึ้นพระบาท ,พระนางสุรัสวดี กำเนิดจากพระทนต์, พระนางลักษมี กำเนิดขึ้นจากพระชานุทั้งสอง...”   
.
คัมภีร์ “อมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตร” (มหายาน) กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งจักรวาล พระเกศาของพระองค์เป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้าซึ่งมีขนาดสูงถึง 25 โยชน์ ทุกส่วนของพระองค์คือ “จักรวาล” 1 จักรวาล พระนลาฏเป็นที่บังเกิดแห่ง “พระมเหศวร” พระเนตรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสูริยา” และ “พระจันทรา” พระอังสาเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระมหาพรหม” พระหทัยเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวิษณุ” พระอุทรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวรุณ” พระโอษฐ์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระพาย” พระทนต์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสุรัสวดี” และแผ่นดินคือ “พระบาท”
.
*** รูปสลักลำดับที่สองอยู่อีกฝั่งหนึ่งของประตูเล็ก เรียงไปทางใต้ของระเบียงคด เป็นภาพของ "พระโลเกศวร 32 พระกร” สวมมงกุฏ ทรงเครื่องจักรพรรดิ์ อาจความหมายถึงมูรติ “ผู้เป็นใหญ่เหนือเหล่ากษัตรา” ในพระหัตถ์ขวาด้านหน้าสุดมีพระมานุษิโพธิสัตว์ประทับ พระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าถือหม้อน้ำอมฤต แสดงมุทราแห่งอำนาจบารมี โดยมีเหล่ากษัตริย์และมหาราชาประทับนั่งในซุ้มปราสาทกำลังถวายการนมัสการ 
.
*** ถัดไปรูปที่ 3 เป็นภาพ “พระโลเกศวร 10 พระกร” ล้อมรอบด้วยรูปบุคคล อาจเป็นมูรติ “ผู้เป็นที่พึ่งของมวลมนุษย์” เหล่าผู้มีบุญบารมีลงไปจนถึงผู้มีบาปกรรมในโลกต่างกำลังถวายสาธุการ “....พระองค์เป็นประหนึ่งวิญญาณของจักรวาลที่ได้เปล่งประกายสารัตถะแห่งการช่วยเหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง และความรอบรู้ชั้นสูงสุดยอดที่จะเผยแผ่ให้คงอยู่ได้ยาวนานตลอดไปด้วยจำนวนมากมายที่มีอยู่ของบรรดาพระพุทธองค์ทั้งหลายอันอยู่รอบพระวรกาย...” 
.
“คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริก” ”(Saddharma Puṇḍarīka Sūtra) กล่าวสรรเสริญพระองค์ในฐานะผู้พิทักษ์ภัยอันตรายให้สรรพสัตว์ โดยมีภาวะอยู่ทุกหนแห่ง มีอานุภาพบันดาลให้ประสบผลสำเร็จในกิจกรรมต่าง ๆ เชื่อกันว่าเพียงหากได้สวดธาริณี (dhāraṇī - มนตรา) เอ่ยพระนามของพระองค์ ด้วยมนตรา 6 พยางค์ (Six Syllables) “โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ” (โอม-ม-ณี-ปทฺ-เม-หูม Oṃ - Auṃ maṇi padme hūṃ) ที่มีความหมายว่า “ดวงแก้วมณี (แสงสว่างเจิดจรัส) ได้อุบัติขึ้นจากดอกบัว” ก็จะได้บุญกุศลเท่ากับการถวายความเคารพบรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนหกสิบสองเท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามาตลอดชีวิต เหล่าพระตถาคต พระมานุษิพุทธเจ้าและมานุษิพระโพธิสัตว์ ก็ล้วนแต่สวดมนตรานี้ทั้งสิ้นก็จะได้บุญกุศลเท่ากับการถวายความเคารพบรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนหกสิบสองเท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา พระองค์ยังสามารถเนรมิตให้มีพระเศียรและพระกรจำนวนมากเพื่อให้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้มากขึ้น
.
ภาพนี้ถูกโจรกรรมออกไปช่วงหลังปี พ.ศ. 2543 และโดนจับได้ในฝั่งไทย รัฐบาลไทยได้ส่งมอบคืนแก่กัมพูชา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญครับ
.
*** ภาพที่สี่ เป็นภาพ “พระโลเกศวร 6 กร” ในมุทราความหมายของมูรติ “ผู้ให้กำเนิดและปกป้องเหล่าตถาคต/พระโพธิสัตว์” ซึ่งในคัมภีร์การันฑวยูหสูตร กล่าวไว้ว่า “....ด้วยเพียงพระโลมา 1 เส้นของพระองค์ก็มีอานุภาพมากกว่าพระพุทธเจ้า 62 เท่าของจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา นอกจากนั้นในขุมพระโลมาแต่ละขุมของพระองค์ ยังมีคนธรรพ์อยู่เป็นจำนวนพัน อีกขุมหนึ่งมีฤๅษีอยู่เป็นจำนวนล้าน ผู้ที่ออกมาจากพระโพธิสัตว์เปล่งรัศมีจึงมีทั้งเทวดา คนธรรพ์ ฤๅษี และพระพุทธเจ้าอีกมากมาย...” 
.
ในคัมภีร์อมิตายูรธยานสูตร (Amitāyurdhyāna Sūtra) กล่าวว่า ประภามณฑลที่ล้อมรอบพระเศียรพระโพธิสัตว์โลเกศวรประกอบด้วยพระพุทธเจ้า 500 พระองค์ แต่ละองค์แวดล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ 500 พระองค์ และพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ก็ยังแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดาอีกเป็นจำนวนมาก
.
ทางด้านซ้ายล่างอาจเป็นภาพพระวัชริน (เหวัชระ) ทางขวาเป็นภาพเป็นเทวีปรัชญาปารมิตา ศักติของพระอวโลกิเตศวร และพระไตรโลกยวิชัย ในฐานะบริวารผู้พิทักษ์ มีหน้าที่ในการปราบภูตผีปิศาจสิ่งชั่วร้าย (เทพฮินดู) ต่าง ๆ ไม่ให้ทำอันตรายหรือมอมเมาอวิชชาแก่มนุษย์ โดยมีรูปอัปสราและเหล่านางฟ้าบนสรวงสวรรค์กำลังถวายสาธุการ
.
รูปสลักนูนต่ำนี้ ก็ถูกรื้อขโมยออกไปพร้อมกับภาพที่ 3 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญเช่นกันครับ
.
*** ภาพสลักที่ห้าเป็นภาพสลักของ “พระโลเกศวร 8 กร” อาจมีความหมายถึงมูรติ “ผู้ดูแลมวลมนุษย์ด้วยเมตตาบารมี” เป็นที่พึ่งของเหล่ามวลมนุษย์ ในคัมภีร์อมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตรได้กล่าวว่า พระองค์ประทับอยู่เบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอมิตาภะพุทธะ โดยมีพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะอยู่เบื้องซ้าย คัมภีร์นี้ยังกล่าวถึงพระนามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่าหมายถึง “แสงสว่างอันไม่มีที่สิ้นสุด” เปรียบเสมือนปัญญาส่องทางแก่สรรพสัตว์ให้รอดพ้นจากนรกภูมิทั้งหลาย ใน “คัมภีร์โลเกศวรศตกะ” (Lokeśvaraśataka) กล่าว ว่า “...พระองค์เป็นผู้เป็นใหญ่ในโลก ทรงเป็นแสงสว่างอันมั่นคง แสงของพระองค์อยู่คงที่ตลอดกาล ได้กำจัดความมืดมนอันหนาแน่นแห่งอวิชชาอันเกิดจากสังสารวัฏ...” ปัจจุบันภาพสลักนี้ยังหายสาบสูญอยู่
.
*** ภาพสลักที่หก เป็นภาพ “พระโลเกศวร 8 กร” ถือ วัชระ อังกุศ หนังสือ สังข์ จักร ลูกประคำ หม้อน้ำอมฤตและดาบ ในความหมายของมูรติ “ผู้เป็นใหญ่เหนือไกรลาสปติ” ทรงมีอำนาจเหนือพระศิวะมหาเทพและพระนางปารวตี เทพเจ้าและมหาฤๅษีทั้งหลายบนสรวงสวรรค์ไกรลาส ต่างล้วนแสดงสาธุการด้วยมาลัยดอกไม้หอม
.
ภาพสลักที่หกนี้ ก็ยังคงหายสาบสูญอยู่เช่นกันครับ
.
*** ภาพสลักที่เจ็ดและแปดที่ปลายของผนัง ในวันนี้ได้รับการบูรณะจนเสร็จสิ้นแล้ว ภายหลังจากที่เคยถล่มลงเป็นกองหินจากสงคราม ภาพที่เจ็ด อาจหมายถึงมูรติแห่ง “ผู้ทรงบริบาลโรคา” ทรงรักษาความทุกข์และโรคร้ายทั้งทางกายและจิตใจ เป็นภาพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร พระหัตถ์ถือ ดอกบัวปัทมะ (Padma) คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ลูกปะคำของนักบวช (Rudraksha Mala) และอมฤตกุมภ์ (กมัลฑลุ) (Amritakumbha) รายล้อมด้วยการเฉลิมฉลองด้วยความสุข ความยินดีของเหล่ากษัตริย์ในมหาปราสาท ผู้คนและอสูร และการร่ายรำของเหล่าเทพธิดาอัปสราในท่า “อรรธปรยังก์” (Ardhaparyaṅka) ด้วยความยินดีในชัยชนะเหนือโรคร้ายและความทุกข์
.
*** ภาพสุดท้าย ในมูรติ/อานุภาพบารมีทั้ง 8 เป็นภาพของมูรติ “ผู้ทรงอานุภาพบารมีเหนือ 3 โลก เป็นนิรันดร์กาล” เป็นภาพ “พระโลเกศวร 16 กร 9 พระพักตร์ (?)” ในท่ามกลางเหล่าเทพเจ้าและกษัตริย์ ประนมหัตถ์นมัสการแซ่ซ้องสาธุการ ด้านบนเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์ ในความหมายแห่งนิรันดร์กาล “ตราบที่สูริยะและจันทรายังคงไม่สิ้นแสง” เหล่านางฟ้าแห่งสรวงสวรรค์กำลังเหาะเหิน โปรยปรายเครื่องหอมและบุปผามาลัยถวายการบูชาสักการะ 
.
ที่รอบพระวรกาย ปรากฏภาพของเหล่าเทพเจ้ากำลังแสดงอัญชลี แสดงการกำเนิดของพระศิวะถือตรีศูลที่บริเวณพระเศียรฝั่งซ้าย ซึ่งในพระสูตรกล่าว่า กำเนิดขึ้นจากรากพระเกศาหรือพระนลาฏ ภาพพระนางสุรัสวดี กำเนิดจากพระทนต์ ที่ฝั่งขวาของพระเศียร ภาพพระวิษณุกำเนิดจากพระหทัย พระพรหมกำเนิดจากพระพาหาหรือพระอังสา (ไหล่) ภาพพระวรุณที่พระอุทร และภาพของพระนางปฤถิวีหรือพระนางลักษมี ที่บริเวณพระบาทด้านขวาครับ
.
***
ผู้เป็นใหญ่เหนือจักรวาล
ผู้เป็นใหญ่เหนือเหล่ากษัตรา
ผู้เป็นที่พึ่งแห่งมวลมนุษย์
ผู้ให้กำเนิดและปกป้องเหล่าตถาคต/พระโพธิสัตว์
ผู้ดูแลมวลมนุษย์ด้วยเมตตาบารมี 
ผู้เป็นใหญ่เหนือไกรลาสปติ
ผู้ทรงบริบาลแห่งโรคา
ผู้ทรงอานุภาพบารมีเหนือ 3 โลก เป็นนิรันดร์กาล
.
.
*** โอม มณี ปัทเม หูม
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2564
0 comments
Last Update : 13 กรกฎาคม 2564 14:27:35 น.
Counter : 1189 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.