บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ 4 : “เธอเข้าใจ งานที่ควรทำ กับ งานที่ต้องทำอย่างไร?”

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



พี่หญิงเสียงดุมากเมื่อผมยังไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ อย่างเช่นเรื่อง งานที่ควรทำ กับงานที่ต้องทำ...

“พี่.. ผมมองไม่ออกว่า การอบรมพนักงานใหม่ เป็นงานที่ต้องทำ หรือ เป็นงานที่ควรทำ จริงๆนะ...”

“การอบรมพนักงานใหม่ เป็นงานที่ต้องทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่า งานของเราต้องการให้พนักงานมีความสามารถให้เร็วมากที่สุด เข้ากับระบบงานได้เร็วที่สุด เพื่อทำงานให้กับบริษัทฯ ได้เร็วที่สุด... เราจึงต้องการทั้งปริมาณ และ คุณภาพ...”

พี่หญิง เป็นผู้หญิงที่ดูเหมือนจะแข็งกร้าวก็จริง แต่ ความเป็นจริงแล้ว เป็นหัวหน้างานที่รักลูกน้องและสอนให้มีมุมมองหลายๆด้านเสมอๆ จนบางครั้ง ดูเหมือนว่า พี่หญิง เป็นคนแปลกๆในสายตาลูกน้องไป...


“การที่เธอทำงานได้เสร็จก่อนเวลาเป็นสิ่งที่ดี แต่พี่อยากให้เธอใช้เวลาที่เหลือในการสอนน้องๆ บริหารเวลาของเธอที่เหลือให้ดี ระหว่างงานของเธอ กับการสอนน้องๆ ว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรทำ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำ หรือ งานไหนเป็นงานสำคัญ งานไหนเป็นงานเร่งด่วน.. สรุปแล้ว เธอจะสอนน้องๆ ทำงานได้หรือเปล่า...?” พี่หญิงพูดหักคอแบบ ยังไงก็ต้องทำให้ได้...

“ครับ ผมจะทำให้ได้ครับ..” ผมรับปากพี่หญิงในตอนนั้นแบบ เจ้านายสั่งงาน ไม่ใช่จากความรู้สึกที่อยากจะสอน...

กว่าผมจะเข้าใจสิ่งที่พี่หญิงพูดก็ใช้เวลาหลายปี ผ่านงานมาหลายหลาก เมือเข้ามาอยู่ในส่วนของการผลิต จึงเข้าใจเรื่องต่างๆกระจ่างขึ้น.. ผมก็อธิบายให้กับ วุฒิไปตามที่ผมเข้าใจ ซึ่งก็ใช้เวลา จนงานเลี้ยงรับรองลูกค้าเสร็จสิ้นเราก็ยังคุยกันไม่จบ เราอยู่ต่ออีกประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนแยกย้ายกันกลับ...

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานในสายการผลิต

งานที่ควรทำ กับ งานที่ต้องทำ เปรียบได้ กับ งานที่ทำเพื่อเน้นปริมาณ กับ งานที่ทำเพื่อเน้นคุณภาพงานที่ ถ้าคุณอยู่ในฝ่ายการผลิต คุณจะรู้ดีเลยว่า งานที่ต้องทำ เป็นงานที่เน้นปริมาณ เพราะ ต้องทำตามจำนวนที่กำหนดให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด แต่หากต้องการให้คุณภาพดีขึ้น ก็จะต้องเสียกำลังคนในการตรวจสอบคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้งานมีคุณภาพ จำนวนการผลิตจึงต้องลดลงด้วย เพราะ เอาแรงงานมาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพบางส่วน... คราวนี้มาดูสิว่า งานที่ควรทำ หรือ งานที่เกี่ยวกับคุณภาพ สามารถรอจนกว่างาน ที่ต้องทำ หรือ จำนวนการผลิต เสร็จสิ้นลง ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าต้องการสินค้าจำนวน 1000 ชิ้น ภายใน 1 สัปดาห์ ดังนั้น หากเรามีแรงงานจำกัด สิ่งหนึ่งที่เราควรทำ คือ ทำให้ปริมาณ 1000 ชิ้น ให้เสร็จตามกำหนดเวลา 1 สัปดาห์ หรือ เร็วกว่า อย่างช้าที่สุดที่จะทำคือ 1 วันประมาณ 143 ชิ้น ต่อวัน โดยทำงาน ทั้ง 7 วัน ซึ่งจะไม่มีเวลาเหลือเพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพ แต่หากเราทราบว่า จำนวนการผลิตทำได้มากที่สุด 200 ชิ้นต่อวัน เราก็จะทำงานผลิต 5 วัน และ มีเวลาเหลืออีก 2 วัน เพื่อค่อยสุ่มเช็คคุณภาพ หรือ เช็คคุณภาพทั้งหมด ในบางครั้ง การสุ่มอาจจะต้องการตรวจสอบทั้งหมด แต่ถึงเวลาส่งแล้ว ก็จะจัดส่งไปทั้งๆที่ยังตรวจสอบไม่เสร็จก็มี ซึ่งนั่นหมายถึงเราเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

แต่หากกำหนดว่า งานนี้ ต้องมีคุณภาพเกรด A ทั้งหมด ก็คงต้องผลิตให้มากขึ้นเผื่อตรวจสอบไม่ผ่าน มีคนตรวจสอบคุณภาพแบบ 100% ไม่ใช่สุ่มตรวจ หากการผลิตได้มากที่สุด 200 ชิ้นต่อวัน ตรวจสอบได้ 100 ชิ้นต่อคนต่อวัน ก็คงต้อง ทำการผลิต 6 วัน และ ในวันที่ 6 กับวันที่ 7 ต้องหาคนมาตรวจสอบสัก 5-6 คน เพื่อใช้เวลา 2 วันที่เหลือ ในการตรวจสอบคุณภาพให้ครบ 1000 ชิ้นสำหรับส่งต่อไป..


จากสูตรของการผลิตอย่างง่ายๆ...
ผลที่ต้องการ = (เวลาการผลิต * จำนวนปริมาณการผลิต) + (เวลาการตรวจสอบ * จำนวนการตรวจสอบ)


จะเห็นว่า ไม่ว่าความต้องการคือ ปริมาณ หรือ คุณภาพ ก็จะต้องใช้ เวลาในการทำให้เกิดขึ้น การระบุจำนวนที่ต้องการที่ต้องมีคุณภาพด้วย โดยเวลาจำกัด จึงต้องขยายเวลาออกให้เพิ่มมากขึ้น เวลาคงไม่สามารถขยายได้จริงเพราะจะเกี่ยวข้องกับสัญญา และ การตกลงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในการทำงานจริงๆ เราจะเพิ่มแรงงานเพื่อเพิ่มเวลาในการทำงานออกไป ในขณะที่เวลาจริงๆที่กำหนดยังคงที่... มันเป็นการเพิ่มกำลังคน เพื่อ สร้างให้เรามีเวลาในการทำงานมากขึ้นนั่นเอง

แต่บางครั้งการเพิ่มกำลังคนก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่ควรทำเสมอไป การยืดเวลารับปากลูกค้า จะเป็นผลดีมากกว่าการเพิ่มกำลังคน เพราะ กำลังคนที่เพิ่มเข้ามานั้น เราจะควบคุมจำนวนและ ปริมาณได้ยาก หากเขาทำงานนี้เสร็จ แล้ว เขาจะมีงานอื่นมารองรับการทำงานหรือไม่ นี่เป็นเหตุผลหลักที่ต้องคิด การจ้างแรงงานจึง จ้างจำนวนแรงงานให้เหมาะกับงานโดยรวม เพื่อที่จะไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น.. ดังนั้น ฝ่ายบริการลูกค้า หรือ เซลล์ ควรจะ วางแผนร่วมกับฝ่ายการผลิตเพื่อวางแผนการทำงานของทั้งสองฝ่ายให้สอดคล้องกัน แต่ระบบงานที่เห็นส่วนใหญ่ ทั้งสองฝ่ายจะไม่ค่อยเข้าใจกัน และ มักจะไม่ค่อยสื่อสารหรือร่วมมือกันทำงานมากนัก จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันอยู่บ่อยๆ จนดูเหมือนทั้ง สอง ส่วนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมา กันไม่รู้จบไม่ว่าจะบริษัทฯใดๆก็ตาม...

เพื่อนผมที่เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตของบริษัทฯอื่น เคยมาคุยปรึกษาผมถึงเรื่อง ฝ่ายผลิต กับ ฝ่ายขายไม่ลงรอยกัน จะทำอย่างไรดี... ซึ่งบริษัทฯเขาเกิดปัญหาต่างๆจากความไม่เข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย.. ผมบอกกับเขาอย่างไม่ละอายใจเลยว่า...


“แต่ก่อน ที่บริษัทฯของฉันก็มีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน... แต่แก้ไขให้ดีขึ้นได้บ้างแล้ว...” ผมยอมรับกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในบริษัทฯ

“แล้วเอ็งแก้ไขยังไงว๊ะ…” เพื่อนคนนี้ห้าวกว่าผมเยอะ.. เหมาะกับหัวหน้าควบคุมการผลิตจริงๆ...

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)





 

Create Date : 28 ธันวาคม 2547    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:21:17 น.
Counter : 1368 Pageviews.  

ตอนที่ 3 : โดนเทศน์ เรื่อง “บริหารเวลา...”

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



“พี่หญิง เทศน์ เรื่องอะไรหรือครับ....”

“ก็โดนเทศน์ เรื่อง บริหารเวลา นี่แหละ พี่ไปปรีกษาพี่หญิงขอไม่สอนงานเธอในตอนนั้น ก็เลยโดนมา 1 กัณฑ์”

“พี่เล่าให้ฟังหน่อยสิ...”

คุยกับวุธเรื่องพนักงานของเขา แล้วจู่ๆทำไมกลับมาคุยเรื่องอดีตในสมัยที่สอนงานวุธใหม่ๆ ได้ไงเนี่ย...

ในช่วงเวลานั้น ผมใส่ใจแต่งานที่เป็นงานของตัวเอง ดังนั้น อะไรก็ตามที่เข้ามา ก็อยากจะปฏิเสธทั้งหมด โดยเฉพาะงานที่ไม่มีผลงาน อย่างเช่นการสอนงานนั้น เพราะในตอนนั้น ผมมองว่า เป็นการเสียเวลา และ ทุกครั้งที่ผมสอนงานพนักงานใหม่ ผมจะไม่มีเวลาในการทำงานที่ผมรับผิดชอบ ทำให้งานผมเสร็จตรงตามกำหนด แทนที่จะเสร็จก่อนกำหนด เหมือนทุกๆงานที่ผมรับผิดชอบ


“จำได้ไม๊ว่า ตอนนั้นนะ ปกติแล้ว งานทุกชิ้นของพี่จะต้องเสร็จก่อนกำหนด.. และงานทุกชิ้นต้องออกมาอย่างดี...”

“ครับ แล้ว มันเกี่ยวอะไรกับที่พี่หญิงเทศน์หละ...”

“ในตอนนั้นพี่ยอมรับเลยนะว่า พี่เป็นหว่งเรื่องงานที่พี่รับมอบหมาย เพราะบริษัทฯต้องการให้พี่ทำงาน มากกว่ามาสอนงาน…”
ผมยอมรับกับน้องตรงๆเลยว่า เคยคิดผิดพลาดมาก่อน..

“พี่หญิง มอบหมายงานให้พี่สอนเธอ พี่ก็บอกปฏิเสธไปตรงๆเลย...ว่า ขอทำงานดีกว่า สอนน้องๆ... เพราะไม่ได้งาน พอบอกไปเสร็จ พี่หญิงก็อธิบาย ซะยกใหญ่เลย... พี่ยังจำได้เลยว่า พี่เค้าซีเรียสมากเรื่องนี้..”

ผมหวลย้อนกลับไปวันที่คุยกับพี่หญิงในห้องของพี่เขา...

“พี่ว่า การที่เธอไม่ยอมสอนเพราะ กลัวทำงานไม่ทันตามกำหนด หรือ ว่า กลัวไม่เสร็จก่อนกำหนด..” พี่หญิงถามอย่างเดาใจผมออก

“เสร็จก่อนกำหนด ไม่ดีหรือพี่...” ผมย้อนถามพี่หญิง

“ดีนะดี แต่เธอต้องแบ่งแยก งานที่สำคัญ กับ งานเร่งด่วน รวมทั้ง งานที่ต้องทำ กับ งานที่ควรทำ นะ” พี่หญิงยกเรื่องเก่าๆมาคุยอีกแล้ว...
พี่หญิง มักสอนถึงความแตกต่างกันในรูปของ กล่อง 4 ใบเสมอๆ ดังรูป

งานสำคัญ กับ งานเร่งด่วน เป็นการจัดลำดับของงานว่า งานที่สำคัญอาจจะไม่ใช่งานเร่งด่วน แต่หากไม่ทำอาจจะทำให้กระทบกับงานส่วนอื่นๆ แต่งานเร่งด่วน บางทีก็ไม่ใช่งานสำคัญ เพราะเพียงเพื่อต้องการผลลัพท์ให้เสร็จอย่างรวดเร็วเท่านั้น ดังนั้น จึงแบ่งงาน จากลักษณะงานนี้ ได้ 4 ประเภท คือ

1. งานสำคัญ และ เป็นงานเร่งด่วน – เป็นงานที่ต้องทำเป็นอันดับแรก เพราะ งานนี้อาจจะเกี่ยวเนื่องกับรายได้ของบริษัทฯ อย่างเช่น การแข่งขันการประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งการซื้อขายของบริษัทฯ เป็นงานที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับ รายได้ของบริษัทฯ และ เป็นงานเร่งด่วนที่ต้องทำให้ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงเป็นงานที่ควรทำให้เสร็จก่อนกำหนด เพื่อจะได้มีเวลาทบทวน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาด อาจจะทำให้รายได้ขาดหายไปหากไม่ได้การประมูลในครั้งนี้ หรือ อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายจากการทำงานในงานนั้นๆ สูงกว่าการประมาณการณ์ ซึ่งก็ทำให้เสียหายทั้งสองด้านเลยทีเดียว

2. งานไม่สำคัญ แต่ เป็นเงานเร่งด่วน – เป็นงานที่ต้องทำเป็นอันดับถัดไป เพราะ งานที่เร่งด่วน จำเป็นต้องได้รับผลลัพท์ในทันที แต่อาจจะไม่สำคัญกับงานโดยรวมก็ได้ อย่างเช่น เจ้านายต้องการข้อมูลเพื่อนำไปประชุมพรุ่งนี้เช้า มันเป็นงานที่เร่งด่วนที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้ แต่ มันไม่ได้มีผลกับงานประจำ มันไม่มีผลกับรายได้ของบริษัทฯ แต่มันมีผลกับเจ้านาย ความต้องการของเจ้านาย มาเหนือเหตุผลที่ต้องทำ ดังนั้น จึงต้องทำให้เสร็จให้ทันตามกำหนด ทั้งๆที่มันไม่สำคัญตามเหตุและผลก็ตาม งานในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นงานที่มุ่งเน้นทางด้านปริมาณ มากกว่า คุณภาพ

3. งานที่สำคัญ แต่ เป็นงานไม่เร่งด่วน – งานลักษณะนี้ เป็นงานที่สำคัญ แต่สามารถรอได้ อย่างเช่น การตรวจวัดความสามารถของพนักงานในการทำงาน เป็นงานที่สำคัญ เพราะ หากสามารถตรวจวัดได้ว่า พนักงานแต่ละคน มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลในการทำงานมากน้อยเพียงใด ก็จะทำให้เราสามารถ หาวิธีการที่จะเพิ่มศักยภาพของพนักงานแต่ละคนได้ถูกต้อง ตรงกับลักษณะของแต่ละคนได้ งานนี้เป็นงานที่สำคัญแต่รอเวลาในการทำได้ ซึ่งหากงานยังไม่สามารถทันต่อกำหนดการณ์ หรือ งานที่ทำในปัจจุบัน ยังไม่คงที่ ก็ยังรอได้ จนถึงมีเวลาเหลือพอที่จะดูแลงานคุณภาพมากขึ้น ค่อยนำกลับมาทำ ส่วนใหญ่ งานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน มักเป็นงานเกี่ยวกับคุณภาพ ที่ทำให้คุณภาพมากขึ้น

4. งานที่ไม่สำคัญ และ เป็นงานที่ไม่เร่งด่วน – งานเกี่ยวกับงานโดยทั่วๆไป อย่างเช่น การลงข้อมูลประจำวัน การป้อนข้อมุล หรือ การทำงานแบบ Routine ต่างๆ จริงๆเป็นงานที่สำคัญ แต่สำคัญไม่มาก สามารถกระจายงานเหล่านี้ให้กับพนักงานทั่วไป รับไปทำงานต่อได้ เพียงมีระบบงานที่ลงตัวเท่านั้น แต่งานลักษณะนี้ เป็นงานที่โปรดปราณของพนักงานเกือบทุกคน เพราะ เป็นงานที่ทำอย่างสบายๆ ไม่รีบร้อน หรือ ไม่ต้องคิดอะไรมากมายนัก ไม่ต้องรับผิดชอบมากนัก แต่เป็นงานที่ไม่สร้างผลงานอะไรให้กับผู้ลงมือทำเลย..


“การอบรมพนักงานใหม่ เป็นงานที่ไม่เห็นจะสำคัญตรงไหน หรือเร่งด่วนตรงไหนเลยนี่ครับ?” ผมถามอย่างไม่เข้าใจสิ่งที่พี่หญิงต้องการ...

“เธอคิดผิดแล้ว การอบรมพนักงานใหม่ เป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนเร่งด่วนหรือไม่นั้น ขึ้นกับเหตุการณ์... เธอลองคิดดูสิว่า หากให้งานกับพนักงานใหม่เลย เขาจะต้องลองผิด ลองถูกกี่ครั้ง กว่างานจะออกมาได้ดี แล้ว งานของเรานะ ต้องการคุณภาพที่ดี การไม่สอน ไม่อบรมพนักงานเลย แล้วหวังว่าเขาจะทำงานให้เราได้ดีเลย ใครจะทำได้... ยิ่งงานของเรา เป็นงานที่ต้องทำให้เสร็จตามกำหนดทั้งนั้น แล้ว เธอคิดว่าพนักงานใหม่จะทำเสร็จตามกำหนดได้เองหรือเปล่าหละ และถ้าไม่เสร็จ เราจะต้องโดนค่าปรับ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แล้ว เธอคิดว่า มันสำคัญไม๊.. มันเร่งด่วนไม๊...” พี่หญิงแนะให้คิด...แกมโมโหนิดๆ กับความไม่เข้าใจของผม...

“ครับ..” ผมตอบรับอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง จริงอย่างพี่หญิงว่า หากผมไม่สอนงานให้พนักงานใหม่เขาก็จะต้องเสียเวลาเรียนรู้งานเอง ทำให้บริษัทฯ เสียเวลาอย่างมาก ยิ่งงานที่พวกผมรับผิดชอบ ต้องใช้เวลาอย่างจำกัดในการทำงานด้วยแล้ว จะเป็นการทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ อีกทั้ง คุณภาพที่พนักงานใหม่ทำให้นั้น อาจจะไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้เกิดการยกเลิกสัญญาหรือ ถูกปรับเนื่องจากผิดสัญญาก็เป็นไปได้...

“แล้วการอบรมพนักงาน เป็นงานที่ควรทำ หรือ ต้องทำครับ?” ผมถามต่อเพื่อให้พี่อธิบายให้เข้าใจอีกสักหน่อย...

“แล้วเธอเข้าใจ งานที่ควรทำ กับ งานที่ต้องทำอย่างไร?” พี่หญิงยังเสียงดุๆ เหมือนกับว่า ทำไมผมยังไม่เข้าใจสิ่งที่เธอกำลังจะบอกซักที...

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)





 

Create Date : 28 ธันวาคม 2547    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:20:04 น.
Counter : 1581 Pageviews.  

ตอนที่ 2 : “ไม่มีผลงานก็จะไล่ออก... เลยหรือ???”

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



“พี่.. ผมจะให้พนักงานใหม่ออกจากงาน เพราะเขาทำงานได้ไม่ได้เรื่องเลย พี่มีอะไรแนะนำผมบ้างหรือเปล่าครับ....”

วุธ เป็น ลูกน้องเก่าเคยทำงานกันมา เข้ามาปรึกษา ตอนกินเลี้ยงกับลูกค้าซึ่งเขาก็เป็นลูกค้าคนหนึ่ง ...


“เขาเพิ่งเข้ามาทำงานไม่ใช่หรือ..?” ผมพูดให้เขาคิดอีกสักนิดก่อน...

“2 เดือนกว่าแล้วครับ ตั้งแต่เขาเข้ามาทำงาน ผมยังไม่เห็นเขาทำงานคุ้มเงินเดือนเลย...” หน้าตาของวุธแสดงออกถึงความรู้สึกไม่ชื่นชอบนายคนนี้ และ ดูเหมือนย้ำเรื่องปัญหาที่วุธเคยน้อยใจเรื่องเงินเดือนเท่ากันอีกด้วย... แสดงว่าในใจเขาต้องคิดอะไรมากกว่านี้แน่

“ยังไม่ถึง 3 เดือนก็แสดงว่ายังไม่พ้นโปรฯ... จะให้ออกไม่ต้องไล่ออกหรอก แค่ ไม่ผ่านโปรฯ ก็ได้แล้ว แต่เราเอาอะไรมาตัดสินว่าเขาทำงานไม่เต็มที่ ไม่คุ้มเงินเดือน เวลาแค่นี้ ไม่มีผลงานก็จะไล่ออก เลยหรือ?” ผมอยากให้วุธย้อนคิดให้มากๆ เพื่อให้เขาลดอคติในใจออกก่อน

“ก็... ” วุธหยุดคิดเล็กน้อย ก่อนจะตอบว่า “ผมดูจากเขาทำงานไม่ทุ่มเทเหมือนผมแต่ก่อนเลย ทำงานตรงเวลามาก 5 โมงออกเลย...”

“ถ้าเข้าตรงเวลา ออกตรงเวลา พี่ว่าเขาก็ทำถูกต้องนะ... แล้วอะไรที่เขาไม่ทุ่มเทหละ...”

“พี่.. สมัยผมได้เงินเดือนเท่าเขานะ ผมทำงานทุกอย่างที่เจ้านายสั่ง ทำงานจนดึกจนดื่น รายงานต่างๆจะเสร็จให้เจ้านายก่อนทุกครั้ง แต่เขากลับทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ไปเรื่อยๆ...”
....

หัวหน้างานที่เพิ่งรับตำแหน่ง ส่วนใหญ่ มักจะตัดสินลูกน้องของตนโดยใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐาน ต้องทุ่มเท ต้องทำงานได้งานมากๆ ต้องอยู่ดึกๆ หรือ อะไรก็ตามที่หัวหน้างานใหม่เคยทำมาแล้วประสบความสำเร็จ ปัญหาของหัวหน้างานใหม่ส่วนใหญ่มาจากการยึดเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานมากเกินไป ขาดการสอนงาน และ การบอกกล่าวถึงสิ่งที่คาดหวังกับลูกน้อง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องบ่อยครั้ง


“แล้วเขาทำงานตามที่เราสั่งหรือเปล่าหละ..?” ผมถามเพราะดูเหมือนว่าวุธเริ่มจะแตกประเด็นไปเรื่อยๆ...

“ทำครับพี่.. แต่...” วุธเริ่มหาข้อกล่าวหากับพนักงานใหม่..

“พี่จำได้ว่า ตอนที่เราอยู่กับพี่หญิง พี่เขาพร่ำสอนเราเรื่องการให้โอกาส... ซึ่งพี่เขาก็ให้เราได้มีโอกาสเหล่านั้นมาด้วยไม่ใช่หรือ..”

เมื่อเอ่ยถึง พี่หญิง ซึ่งเป็นหัวหน้างานที่รับเราทั้ง 2 คนเข้าทำงานเป็นคนที่ให้โอกาสกับคนใหม่ไฟแรงเสมอๆ ก็จะนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆในอดีต สมัยที่ผมเริ่มเป็นผู้จัดการใหม่ๆ


“พี่อยากให้เธอให้โอกาสกับพนักงานใหม่ เหมือนพี่หญิงเคยให้โอกาสเธอ...” วุธเพิ่งจบตอนสมัคงงานกับพี่หญิง แต่พี่หญิงก็รับไว้ทั้งๆที่งานที่วุธทำ ควรจะรับพนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่า...

บริษัทฯใหญ่ๆ หรือ บริษัทฯส่วนใหญ่ มักจะรับพนักงานที่มีประสบการณ์ผ่านการทำงานมาแล้ว เพราะหวังว่า ประสบการณ์จากการทำงานที่อื่นมาแล้วนั้น จะช่วยให้งานสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ช่วยลดการสอนงานของบริษัทฯ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นปัญหามากกว่าการมาสอนงานด้วยตนเอง เพราะ ประสบการณ์แต่ละที่นั้น แตกต่างกัน อีกอย่าง หากไม่มีบริษัทฯใดเลย รับนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษามาใหม่ๆเข้าทำงาน เขาเหล่านั้นจะมีประสบการณ์ได้อย่างไร การสอนงานพนักงานใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษานั้น ดูเหมือนจะต้องเสียเวลา เสียเงินทอง มากกว่าก็จริงอยู่ แต่บริษัทฯ จะได้คนที่มีบุคคลิกและลักษณะการทำงานตามที่ต้องการ มากกว่า คนที่มีประสบการณ์ อีกอย่าง คนเปลี่ยนงานมีหลายลักษณะหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่า เขาเปลี่ยนงานมาอยู่กับเรานั้นมีสาเหตุที่แท้จริงเป็นเช่นใด? การสอบสัมภาษณ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้ได้หมดแน่นอน...


“พี่จำได้ว่า พี่หญิงสั่งให้พี่สอนงานเธอ ดูแล และให้คำแนะนำเธอแบบตัวต่อตัวเลยทีเดียว..”

“ผมจำได้ครับพี่..ไม่มีพี่หญิงกับพี่ก็ไม่มีผมในวันนี้...”

“รู้ไม๊ว่า ทำไม พี่หญิงต้องให้พี่ดูแลเธอเป็นพิเศษ..?” ผมถามโดยอยากทราบว่าเขาวิเคราะห์หาเหตุผลได้หรือยัง

“ก็เพราะพี่รู้เรื่องต่างๆดีกว่าคนอื่นไงครับ” วุธตอบอย่างมั่นใจ..

“พี่ว่าถ้าคนที่รู้เรื่องดีที่สุดน่าจะเป็นพี่หญิง นะ... แต่สาเหตุที่แท้จริง ที่พี่หญิงต้องการจากพี่ คือ พี่เขาต้องการฝึกให้พี่สอนงาน และ ดูแลพนักงานใหม่ให้เป็น ให้เข้าใจจิตใจพนักงานใหม่ ว่า เป็นอย่างไร และ สิ่งที่พี่หญิงต้องการจากเธอ คืออะไรรู้ไม๊...”

“ก็ให้ผมเรียนรู้งาน...จะได้สามารถทำงานให้ได้”

“มันมากกว่านั้น...”

การสอนงานพนักงาน โดยปกติทั่วไปจะเป็นการสอนเพื่อให้ผู้เรียนนั้น ได้เข้าใจและทำตามระบบที่เคยมีมา หากเป็นการสอนเพื่อตนเองจะออกจากงานแล้ว ก็จะสอนเพื่อให้สามารถทำงานต่อได้เท่านั้น แต่หากการสอนงานพนักงานใหม่โดยเจ้านาย หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานนั้น นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้และวิธีในการทำงานแล้ว ยังมีการถ่ายทอด พฤติกรรม แนวความคิด รวมทั้ง การถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กร ให้กับพนักงานใหม่ด้วย เพราะผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดนั้น จะพยายามให้ผู้เรียนเข้าใจความเป็นไปของแต่ละขั้นตอน เข้าใจหัวหน้างาน เข้าใจระบบงาน เข้าใจสิ่งที่เจ้านายต้องการ สิ่งเหล่านั้น เมื่อสอดแทรกเข้าไปจะสามารถทำนายอนาคตของพนักงานที่เรียนงานได้เลยว่า เขาจะมีอนาคตเช่นใด ไม่ใช่เพียงคนรับการสอนที่สำคัญ ผู้ให้การฝึกสอนอบรมก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งเช่นกันที่จะปูพื้นฐานอนาคต และ ทัศนคติให้กับพนักงานใหม่ หากผู้ให้การฝึกอบรม มีทัศนคติที่ดีกับงาน ก็จะทำให้พนักงานที่ฝีกออกมามีทัศนคติที่ดีกับงาน ทุ่มเทให้กับงาน แต่หากผู้ให้การฝีกอบรมเพียงต้องการปัดงานให้พ้นตัวแล้ว งานก็จะได้การถ่ายทอดจริง แต่คนเรียนจะไม่ลึกซึ้งกับงานที่ได้รับ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะสามารถพลิกแพลงระบบงานได้ ก็ต้องใช้เวลานาน หากอยู่ไม่ทนก็จะต้องสอนคนใหม่ไปเรื่อยๆ ความรู้ที่ถ่ายทอดก็จะน้อยลงเรื่อยๆ.. นี่อาจจะทำให้องค์กรเกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาวได้เช่นกัน... เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก...


“อย่างนี้ผมก็ผิดเหมือนกันนะครับ ผมลืมคิดเรื่องพวกนี้ไปเลย มัวแต่ให้คนที่จะออกจากงานเป็นคนอบรมพนักงานคนนี้... ตัวผมไม่มีเวลาสอนเขา...”

“พี่ว่า พนักงานใหม่ทุกคน ก็ตั้งใจทำงาน เพียงแต่เขามีความรู้ความเข้าใจในงานมากน้อยเพียงใด การอบรมพนักงานใหม่นั้น สำคัญอย่างยิ่ง พอๆกับ การตรวจวัดคุณภาพและปริมาณของงานที่เขาทำ”

“แล้วอย่างนี้ พี่ว่าผมจะทำอย่างไรดีครับ...”

“ใช้เวลาที่เหลืออีกเดือนนึง ในการสอนงาน และ ปรับปรุงงานของเขา ให้เขาเข้าใจทุกอย่างที่เขาทำ ทุ่มเวลาให้เขามากกว่านี้ แล้วมาดูว่าเขาสามารถทำงานได้ดีขึ้น มีแนวโน้มเป็นพนักงานที่ดีสำหรับองค์กรหรือไม่อย่างไร แล้วค่อยมาตัดสินกันในช่วงโค้งสุดท้ายของการทดลองงาน ว่าจะอยู่หรือจะไปดีไม๊...”

“เอาอย่างนี้หรอพี่ แต่..” วุธทิ้งหางเสียง.. เหมือนกับว่ากำลังมีคำถามในใจ...

“พี่ว่าเธอเป็นห่วงเรื่องเวลาที่จะให้เขา ใช่ไม๊...”

“ใช่ครับพี่... ผมเป็นห่วงเรื่องนี้จริงๆ.. งานตอนนี้มันเยอะมาก และ ยุ่งมากๆ ด้วยสิครับ...”

“อันนี้มันขึ้นกับตัวเธอเองแล้ว ว่าจะจัดสรรเวลาในการทำงานกับการสอนงานอย่างไร”

“แล้วตอนที่พี่สอนงานผม พี่เจอปัญหาเรื่องการจัดเวลาการทำงานกับการสอนผมหรือเปล่าครับ...” เจ้าวุธมันย้อนถามผม ซึ่งผมกำลังต้อนให้วุธจนมุม แต่มันโยนกลับมาให้ผมตอบ.. ดูมันทำ...

“นั่นเป็นแบบทดสอบที่พี่หญิงให้พี่จัดการเรื่องเวลาของตนเอง... ตอนนั้นบอกตรงๆว่า เหนื่อย.. ไม่ค่อยอยากสอนสักเท่าไหร่” วุธมองหน้าผมเหมือนคาดคั้น..จะให้ผมบอกเรื่องการบริหารเวลาในตอนนั้นให้ได้...

“ไปคุยกับพี่หญิง ก็โดนนั่งแช่เย็นในห้องพี่หญิงเกือบ 2 ชั่วโมง... ”

“พี่หญิง เทศน์ เรื่องอะไรหรือครับ....”

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)





 

Create Date : 28 ธันวาคม 2547    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:19:43 น.
Counter : 1662 Pageviews.  

ตอนที่ 1 : “พนักงานใหม่ได้เงินเดือนมากกว่า…”

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



ลูกน้องเก่ามาบ่นให้ฟัง
“ที่ทำงานผม รับพนักงานใหม่เข้ามา ได้เงินเดือนเท่ากับผมเลย...”
หลังจาก 2 ปีที่ไม่ได้เจอกัน ลูกน้องเก่ามาบ่นอย่างนี้ ก็ต้องคุยกันหน่อยแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น

“แล้วรู้ได้อย่างไรหละว่าเขาได้เงินเดือนเท่ากับคุณ ?”

“พี่ ก็พนักงานใหม่มาถามผมเรื่องเงินเดือน ผมก็เลยถามเขากลับก่อนเลยว่าเขาได้เท่าไร...”

“แล้วเขาบอกละสิ” ผมถามเพื่อให้เขาเล่าต่อ

“ครับ แถมมันบ่นว่าได้เงินน้อยกว่าที่ขอตั้ง 2000 แนะครับ ผมชักไม่แน่ใจแล้วว่าจะมีคนเงินเดือนมากกว่าผมด้วยหรือเปล่า...”
...
สิ้นคำพูดของลูกน้องเก่าผมถึงกับอึ้งอยู่เหมือนกันว่า หากเป็นลูกน้องในปัจจุบัน เกิดเรื่องลักษณะอย่างนี้ขึ้น และถ้าซ้ำร้ายผมไม่รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรด้วยแล้ว จะกลายเป็นลูกระเบิดที่รอวันระเบิดออกมาเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้สิ...

ในช่วงเวลานี้ นิสิตนักศึกษาจบการศึกษาใหม่ๆ เริ่มหางานกัน มองดูเงินเดือนที่เรียก กับ เงินเดือนของพนักงานเก่าที่ทำอยู่กับเรามาเป็นปีๆแล้ว โอ๊ย.. ทำไมเด็กใหม่ไม่มีประสบการณ์ ถึงเรียกเงินเยอะขนาดนี้กัน...จะรับเข้ามาทำงานในเงินเดือนเท่าหรือมากกว่าคนเก่า หากคนเก่ารู้ก็จะต้องเกิดความขัดแย้งเป็นแน่ จะต่อรองราคา คนเก่งๆก็ไม่ยอมมา หรือมาทำไปก่อนรอเรียกตัวจากบริษัทฯอื่นอีก... เป็นหัวหน้างานเขานี่มันก็ลำบากใจอย่างนี้


“แล้วคำตอบที่ได้นะพอใจ หรือ เสียใจหละ...” ผมกระเซ้าถึงความรู้สึกลูกน้องเก่าดู...

“ตอนนี้นะ ผมโกรธเจ้านายผมมากเลยว่าทำไมไม่ขึ้นเงินเดือนให้ผม..” ลูกน้องเก่าพูดออกมาแบบเอาจริงเอาจัง...

“ผมนะทำงานทุกอย่าง แบบสุดตัวเลยนะพี่ แต่กลับได้ค่าจ้างเท่ากับเด็กใหม่... ” ลูกน้องเก่าบ่งบอกสรรพคุณเสร็จสรรพ

คนเรา อะไรที่เป็นความลับก็เป็นสิ่งที่อยากรู้ และเรื่องที่ พนักงานทุกชั้นทุกระดับ อยากรู้มากที่สุดก็คือเรื่องเงินเดือนของคนอื่น เพราะ ส่วนใหญ่อยากรู้เพื่อเปรียบเทียบกับตัวของเราว่า เราได้เงินเดือนมาตรฐาน น้อยกว่า มากกว่า คนเข้าใหม่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป บริษัทฯ ใหญ่ๆ จึงได้จัดทำผังเงินเดือน ฐานเงินเดือน เพื่อเป็นมาตรฐานในการรับคน มีการปรับวุฒิ ปรับเงินกัน แต่ก็เป็นเพียงบริษัทฯ กลุ่มเล็กๆเท่านั้นที่มี แล้ว บริษัทฯส่วนใหญ่จะแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร

ผมมองหน้าลูกน้องเก่า อย่างเห็นอกเห็นใจ ปนกับอยากตำหนิไปพร้อมๆกัน..


“รู้ไม๊ว่าถ้าตอนนี้เธออยู่กับพี่ แล้วเธอจะเจออะไร...?”

“พี่ก็ด่าและให้ผมออกจากงาน เพราะผิดกฎบริษัทฯที่ตั้งไว้ใช่ไม๊ครับ... ผมไม่ได้คุยกับเจ้านายผมแบบพี่หรอก..”

“แล้วรู้ไม๊ว่าทำไมต้องตั้งกฎบริษัทฯไว้อย่างนั้น...???” พอเจอคำถามนี้เข้า หน้าตาลูกน้องเก่าทำท่างง เหมือนจะบอกว่า ผมมาปรึกษา มาบ่นให้พี่ฟัง เพื่อให้พี่เป็นพวกเดียวกับผมนะ แล้วไหงมาถามอย่างนี้...

“ก็ไม่อยากให้รู้เรื่องเงินเดือนกันมั๊งครับ..” ลูกน้องเก่าพูดอย่างคิดสำนึกเล็กน้อย..

“เห็นผลหรือยังหละว่า พอรู้เรื่องเงินเดือนคนอื่นแล้วผลเป็นเช่นใด..?” ผมสังเกตุเห็นหน้าลูกน้องเก่า หน้าตาคิดๆๆ เขาคงคิดว่า มาปรึกษาผิดคนเป็นแน่ ไม่เข้าข้างเราเลย...

“ผมรู้สึกไม่ดีเลยครับ ไม่อยากทำงาน ไม่อยากเจอหน้าเจ้านาย ไม่อยากคุยด้วยกับพนักงานใหม่...ผม...”

“นั่นแหละเป็นผลกรรมต่อเนื่องที่ได้จากการไปรับรู้เงินเดือนคนอื่น.. พอมาเปรียบเทียบกับตัวเองเข้า ก็จะทำให้เกิดน้อยเนื้อต่ำใจ งานการไม่เป็นอันทำ ผิดใจทั้งเจ้านาย และ เพื่อนร่วมงานเลยเห็นไม๊... แล้วบอกเงินเดือนเราให้พนักงานใหม่หรือเปล่า..?”

“เปล่าครับ ผมกลัวมันดูถูกครับ..” ดูแล้วลูกน้องเก่าก็ไว้ลายเหมือนกัน

ผลจากการไปรู้เรื่องเงินเดือน ที่เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมากของคนอื่น ทำให้พฤติกรรมของแต่ละคนเปลี่ยนไปจริงๆ ที่บริษัทฯผม จึงมีนโยบายห้ามบอกเงินเดือนซึ่งกันและกัน และหากทราบว่าใครบอกเงินเดือนกัน จะต้องถูกพิจารณา ไม่ว่าจะเก่งหรือทำงานมานานเท่าใด ก็ทำตามกฎหมาย จ่ายชดเชยให้ แต่ผลที่สะท้อนกลับมา ก็ไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น นานๆครั้งถึงเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น.. ได้ผลตามสมควร

ความต้องการที่แฝงในกฎ คือ การไม่ต้องการให้พนักงานเสียขวัญและกำลังใจในการทำงานโดยไม่จำเป็น ไม่ต้องการให้ไปเปรียบเทียบ ยังไงแล้วคนทำงานดี ก็ต้องได้รับผลดี คนเข้าใหม่ได้เงินเดือนเท่ากันก็อาจจะเพราะตำแหน่งเท่ากัน มุมมองตะวันตกนั้น มองว่า คนทำงานในตำแหน่งเดียวกัน เงินเดือนก็เท่ากัน เขามองที่ผลที่ได้จากการทำงาน ไม่ได้มาจากการอยู่มานาน...


เงินเดือน จะแปลผันตรงกับบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ ที่เกาะติดกับ ตำแหน่ง โดยมีเจตคติที่ดี และ การสื่อสารที่มีประสิทธภาพเป็นตัวคูณ

เงินเดือน ∞ (บทบาท + หน้าที่ + ความรับผิดชอบ ) * เจตคิตที่ดี * การสื่อสารที่มีประสิทธภาพ


ถ้าต้องการเงินเดือนมากกว่าคนอื่น ก็สามารถทำได้ ซึ่งในแนวความคิดผม จะมีสาเหตุหลักๆที่จะทำให้ได้เงินเดือนมากๆได้ การทำงานตามบทบาทที่ได้รับอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ เราต้องทำงานที่มากกว่าบทบาทที่ได้รับเพื่อแสดงให้เจ้านายเห็นถึงความสามารถ และ ต้องทำงานตามหน้าที่ๆรับผิดชอบ หรือ มากกว่าหน้าที่ๆตนเองรับผิดชอบในบางครั้ง โดยแสดงให้เจ้านายเห็นว่า เรามีความรู้ความสามารถมากกว่าที่เขาหวังไว้ คนที่ทำงานให้กับเจ้านายให้มากกว่าหน้าที่ ทุ่มเทและเอาใจใส่กับงาน มักเป็นคนที่ได้รับการไว้วางใจ แล้วทุกอย่างก็จะตามมา บางคนทุ่มเทจนทำงานทุกอย่างที่เจ้านายสามารถทำได้ แต่มิอคติต่องาน ต่อเจ้านาย ก็ไปได้ไม่ไกล หากความคิด ดี ทุกสิ่งที่ทำก็จะดีตามๆออกมา... แต่ถ้าคิดไม่ดี งานก็จะออกมาแบบลวกๆ ไม่ดีเช่นกัน...

คนบางคนทำงานได้ดีมากกว่าคนอื่น เยอะกว่าคนอื่น แต่ไม่สามารถสื่อสารให้เจ้านายได้รับรู้ว่า ตนทำงานได้มากน้อยเพียงใด ก็เป็นอันจบ.. เพราะไม่สามารถทำให้เจ้านายรับรู้ได้เลยว่า ผลงานที่ทำนั้นมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ไม่ได้ให้ประจบเจ้านาย แต่ให้พูดความจริงมากกว่า


“พี่... ผมจะลาออกแล้วไปหางานที่อื่นทำดีไม๊ครับ...” ลูกน้องเก่าโยนคำถามที่ทำให้ผมอึ้งอีกครั้ง...

“เฮ้ย... ใจเย็นๆ เรานะต้องเข้าใจนะว่า... ” แล้วผมก็สาธยายสูตรสำเร็จเพื่อให้ได้เงินเดือนมากขึ้นให้กับลูกน้องเก่าฟัง...
....
“อ้อ เขาเข้ามาตำแหน่งเท่ากับผมครับพี่ คิดว่าเป็นที่สาเหตุนี้ ไม่ได้แล้ว ผมว่าผมจะต้องทำงานให้มากกว่าที่เจ้านั่นทำ...”

เป็นคำพูดที่ผมอยากให้เขาบอกผมมากที่สุด เพราะเป็นการยืนยันว่า เขาจะทุ่มเทให้กับการทำงาน เหมือนเดิม...

หลังจากนั้น ประมาณ 2-3 เดือน ผมก็ได้ข่าวว่า ลูกน้องเก่าของผมคนนั้น ได้โปรโมทเป็นหัวหน้างาน ซึ่งทำงานได้ดีมาก เจอเจ้านายเขา ในงานเลี้ยงเขาก็ชมให้ผมฟังว่าทำงานได้ดีไว้ใจได้.. เขาชมต่อหน้าลูกน้องเก่าผมเลยทีเดียว แสดงว่าชื่นชมงานที่เขาทำจริงๆ...
และแล้วเจ้าลูกน้องเก่าผมก็โพล่งออกมาว่า...


“พี่... ตอนนี้พนักงานใหม่คนนั้นเป็นลูกน้องผมครับ.. แต่มันทำงานได้ไม่ได้เรื่องเลย ผมกะว่าจะไล่มันออกพี่คิดยังไงครับ....”

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)





 

Create Date : 28 ธันวาคม 2547    
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 13:19:19 น.
Counter : 2314 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.