Group Blog
 
All Blogs
 

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๕) บุญมีแต่กรรมบัง)

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๕)

บุญมีแต่กรรมบัง

เราเริ่มทำบุญและรักษาศีลวันอาทิตย์ มานานหลายสิบปีแล้ว ถ้าไม่เว้นเลย ก็จะได้ทำบุญปีละ ห้าสิบสองครั้ง รวมวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกปีละสี่วัน ก็รวมเป็น ห้าสิบหกครั้ง

เมื่อเริ่มแรกก็ไป วัดชลประทานรังสฤษฏ์เท่านั้น ต่อมาเห็นว่าระยะทางไกลมาก เราเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะลำไส้ ขับถ่ายไม่เป็นปกติ จึงเปลี่ยนมาเป็นสถานที่ไม่ไกลเท่าไรนัก คือ วัดปทุมวนาราม ตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ท่าพระจันทร์ วัดอินทรวิหาร เทเวศร์ มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย วัดระฆังโฆสิตาราม ตรงข้ามท่าช้างวังหลวง และ วัดใหม่พิเรนทร์ สี่แยกโพธิ์สามต้น ฝั่งธนบุรี

แต่ด้วยความเป็นจริงนั้น บางอาทิตย์ก็ไม่ได้ไปทำบุญอย่างที่ว่า เพราะเหตุขัดข้อง ประการต่าง ๆ อย่างที่สำนวนไทยของเราว่า บุญมีแต่กรรมบัง ไม่ต้องดูอื่นไกล ตัวเราเองก็เคยประสบมาบ่อยครั้ง ดังที่เคยได้เล่ามาแล้วว่า ตั้งใจจะทำทาน แต่ผู้นั้นไม่รับก็มี หรือเขาไม่ใช่คนขอทางก็มี

และสุดท้ายสังขารของตนเอง ก็เป็นเหตุให้เลิกขึ้นรถเมล์ ต้องขึ้นแต่แท็กซี่ แล้วก็เกิดอาการเสียดายเงิน จึงต้องรวบรวมเงินที่จะบริจาคทุกอาทิตย์ในรอบเดือน มาทำเพียงแห่งเดียว ครั้งเดียวอย่างเดี๋ยวนี้

แต่ก็ยังจำได้ถึงครั้งล่าสุด ว่ามีอุปสรรคขัดข้องอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะถนนสามเสนที่ทอดผ่านชุมชนซึ่งเราอาศัย มีรถเมล์แล่นผ่านทั้งหมดประมาณ ๑๐ สาย แต่ขณะที่เรายืนรออยู่หน้าป้ายเยื้องกับโรงพยาบาลวชิระ เป็นเวลานานกว่าสามสิบนาที มีรถเมล์วิ่งเข้ามาจอด ร่วมยี่สิบคัน ทั้งฟรีและไม่ฟรี ทั้งรถแอร์และรถธรรมดา ทั้งสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน และสีเหลืองส้ม ขาดแต่สายที่เราจะไปคือสาย ๑๖ หรือ ๕๐๕ เท่านั้น

ปลายทางที่เราจะไปนั้น สาย ๑๖ ก็ลงที่แยกปทุมวันหรือมาบุญครอง สาย ๕๐๕ ก็ลงที่แยกราชประสงค์หรือเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วจึงจะเดินไปยังวัดที่อยู่ตรงข้ามกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เราได้รู้จักวัดปทุมวนาราม ที่ถูกขนาบทั้งซ้ายขวา ด้วยศูนย์การค้าใหญ่โตมโหฬาร คือสยามพารากอน และเซนทรัลเวิลด์ วัดนี้ได้แบ่งอาณาเขตส่วนหนึ่ง เป็นสวนอันร่มรื่นไปด้วยต้นไม้สูงชะลุด และเบียดเสียดกันทำให้ใบไม้ด้านบนซ้อนประสานกัน จนแสงแดดแทบจะลอดผ่านลงมาไม่ได้ ที่น่าสนใจคือทั่วบริเวณมีลำโพงขยายเสียง ที่มีรูปแบบทนแดดทนฝน วางบนพื้นดินในระยะห่างกันพอสมควร และเปิดเสียงเบาพอได้ยินทั่วทุกจุดในสวนนั้น ดังนั้นใครจะทำกรรมวิธีอะไรบนศาลาใหญ่ข้างสวน เช่นเลี้ยงภัตตาหารเพล ฟังเทศน์ฟังธรรม คนที่นั่งบนเก้าอี้ยาวในสวนก็จะได้ยินและรับรู้ทุกประการ เมื่อไม่มีพิธีสงฆ์ เจ้าหน้าที่ก็จะเปิดเทปธรรมะแทน

สวนนี้มีชื่อว่าสวนป่าพระราชศรัทธา ตรงกลางสวนชิดไปทางด้านหนึ่ง เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปขนาดพระประธานในโบสถ์ และเรียงรายไปด้วยรูปปั้นเหมือนจริง ของพระภิกษุที่มีชื่อเสียงทั้งหลายนับสิบองค์ แถมด้วยรูปปั้นภาณยักษ์อีกสองตน และปัจจุบันนี้ก็มีรูปปั้นท่านท้าวจตุคามรามเทพ ที่จำลองมาจากเจดีย์บุโรพุทโธ จากประเทศอินโดนีเซียขนาดเท่าคนจริง เพิ่มขึ้นมาให้ผู้มีศรัทธา เคารพกราบไหว้อีกสามองค์ด้วย

เราไม่ได้มาทำบุญที่วัดนี้ตั้งสองสามปี ที่เขามีเรื่องยุ่ง ๆ กันอยู่ จึงอยากจะไปเยี่ยมสวนป่ากลางกรุงที่เคยสงบสงัด น่าศรัทธาอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่เรากำลังชะเง้อหารถโดยสาร อยู่ที่ศาลารถประจำทางนั้น นาฬิกาที่ข้างฝาของร้านนาฬิกา ที่ได้ชื่อว่ามีสาขามากที่สุดในประเทศไทย บอกว่าเราได้มายืนอยู่ที่หน้าร้านของเขาเป็นเวลานานถึงสี่สิบห้านาทีแล้ว เราหมดความอดทนที่จะรอ รถสายที่จะไปวัดปทุมวนารามแล้ว และเปลี่ยนใจที่จะไปทำบุญ ที่วัดอินทรวิหารซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด

เพราะท้องไส้ที่เป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ท้องผูกบ้างท้องเสียบ้าง สลับกันไปไม่เป็นจังหวะจะโคนนั้น ทำท่าจะเป็นปฏิปักษ์กับการเดินทางเสียแล้ว แต่คราวนี้กลับไม่มีรถเมล์ ที่ว่ามีเยอะแยะนั้น ผ่านมาเลยสักคันเดียว เพราะติดอยู่ที่ไฟแดง ตรงเชิงสะพานข้ามคลองสามเสนเป็นกระจุก

ตอนนี้เวลาดูมันช่างนานเสียเหลือเกิน เสียงโครกครากในท้องดูเหมือนจะดังออกมาให้ได้ยินถี่ขึ้น และลำไส้ใหญ่ก็พยายามจะขับไล่ของเสียให้พ้นไปจากกระเพาะ จนเราพิจารณาใหม่แล้วเห็นว่า ระยะทางจากป้ายรถเมล์ ถึงวัดอินทรวิหาร เทเวศม์ นั้น ยาวไกลกว่าระยะทางที่จะกลับไปเข้าบ้านมากมายนัก

เราจึงตัดสินใจว่าจะกลับบ้านก่อน เมื่อทำธุระอันหนักหนาสาหัสให้ลุล่วงไป แล้วค่อยออกมาเดินทางไปทำบุญใหม่ ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งกว่าเดิม คงจะดีกว่าเป็นแน่แท้

ขณะที่ค่อย ๆ ก้าวเท้าเดินอย่างระมัดระวัง เข้าไปในซอยหน้าบ้านนั้น เราก็รำพึงทำนองเดียวกับขงเบ้ง ตอนที่ต้อนสุมาอี้ไปจนมุมแล้ว กลับรอดไปได้ ที่ว่า

“……ธรรมดาคนทั้งปวง จะทำสิ่งใดย่อมสำเร็จด้วยความคิด แม้การไม่ตลอด ก็เพราะผู้นั้นมีกรรมอยู่…….”

เราเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ .

################

Create Date : 12 มีนาคม 2555
Last Update : 12 มีนาคม 2555 10:45:42 น. 2 comments
Counter : Pageviews. Add to





LIKE

โดย: deco_mom วันที่: 12 มีนาคม 2555 เวลา:14:59:35 น.




ขอบคุณที่ชอบครับ.

โดย: เจียวต้าย วันที่: 13 มีนาคม 2555 เวลา:10:55:22 น.





 

Create Date : 16 มีนาคม 2555    
Last Update : 16 มีนาคม 2555 8:48:35 น.
Counter : 1000 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๓) ที่ปรึกษาจำเป็น

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๓)

ที่ปรึกษาจำเป็น

มีคำกล่าวไว้ว่าในชีวิตของคนที่รับราชการนั้น จะต้องอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง คือ ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้อง ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้านาย และ ครู หรือ นักเรียน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง หรือทุกอย่างก็มี

เรานั้นเคยเป็นลูกจ้างใช้แรงงาน ก็ต้องเป็นลูกน้องที่มีเจ้านายมากมาย ต่อมาก็ไปเป็นพลทหารเกณฑ์ ซึ่งก็มีฐานะเหมือนเดิม ต่อมาได้เป็นครูฝึกทหารใหม่ จนเข้าสมัครเป็นนักเรียนนายสิบ ต่อมาจึงเป็นนายสิบและนายทหาร จนได้เป็นหัวหน้าแผนก ก็มีทั้งลูกน้อง และเจ้านายพร้อม ๆ กันตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปี

นอกจากนั้นเรายังเคยมีตำแหน่งที่ไม่ใช่ที่กล่าวมาข้างต้น คือเป็นที่ปรึกษา ซึ่งไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานในหน่วยงานใดใดที่ผ่านมาเลย ตำแหน่งนี้ใคร ๆ ก็ไม่ชอบเป็น เพราะไม่มีงานทำ แต่ตำแหน่งนี้ของเรา ไม่ยักว่างเหมือนที่เขาว่ากัน

สมัยที่ไปช่วยราชการ ในตำแหน่ง รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก ช่อง ๕ เป็นเวลาถึง ๑๔ ปีนั้น เป็นตั้งแต่ยศร้อยเอก จนถึง พันโท พอเป็น พันเอก ก้พ้นหน้าที่ เพื่อบรรจุคนใหม่ เลยได้เป็น ที่ปรึกษา ฝ่ายกำลังพล หัวหน้าฝ่ายเขาก็ไม่ได้ปรึกษา แต่ใช้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย คือให้ไปเข้าหลักสูตร คอมพิวเตอร์ แล้วกลับมาสอนลูกน้องในฝ่ายด้วย

ในขณะที่เป็นรองหัวหน้าฝ่าย ก็ได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการ คณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกวันสถาปนา ททบ.๕ ซึ่งตรงกับ ๒๕ มกราคม ของทุกปี และเป็นวันกองทัพบกด้วย จนปีสุดท้ายที่จะเกษียณอายุราชการ ก็ได้เป็นประธานคณะผู้จัดทำเสียเลย

แต่อีกหกปีต่อมา เขาก็มาเชิญไปเป็นที่ปรึกษาของคณะผู้จัดทำ แล้วมอบงานให้ เรียบเรียงประวัติของสถานี ค้นหาประวัติของอดีตผู้อำนวยการ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถานี เลยทีเดียว


เมื่อขณะรับราชการอยู่ ก็ได้เป็นประธานรุ่น นักเรียนนายสิบเหล่าทหารสื่อสาร อยู่ ๑๔ ปี พอเกษียณอาหยุก็ขอลาออก มีเพื่อนเป็นพันเอกพิเศษรับช่วงต่อไปอีกสองคน แต่อยู่มาอีกสิบกว่าปีจะให้กลับเข้าไปเป็นอีก เราไม่รับ เขาเลยตั้งให้เป็น ประธานที่ปรึกษา แล้วก็ปรึกษาเสียทุกเรื่องเลยจนถึงบัดนี้

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการนั้น เราเป็นหัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ มีหน้าที่ในการผลิตนิตยสารทหารสื่อสารด้วย ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ มีหัวหน้ากองวิทยาการเป็นบรรณาธิการ เมื่อได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ก็เป็นตำแหน่งลอย ๆ แต่ให้ช่วยราชการที่กรมการทหารสื่อสาร ทางกรมก็สั่งให้เราไปช่วยราชการที่แผนกเดิม และให้เราเป็นที่ปรึกษาของบรรณาธิการ เราก็บอกกับหัวหน้าแผนกคนใหม่ ซึ่งเป็นลูกน้องเก่าของเรา ว่าเราจะเป็นที่ปรึกษาของผู้ช่วยบรรณาธิการดีกว่า มีอะไรจะให้ช่วยก็บอก

เธอซึ่งเป็นพันโทหญิงก็บอกให้เราเขียนเรื่องส่งอย่างเดียวก็พอ เพราะเธอเรียนรู้การผลิตนิตยสารฉบับนี้มาเท่ากับเราเหมือนกัน แล้วเธอก็จัดทำนิตยสารฉบับนี้ดูเหมือนจะดีกว่าที่เราทำเสียอีก ปัจจุบันนี้เธอได้เลื่อนยศเป็นพันเอก อัตราพันเอกพิเศษ ติดคอคฑาไขว้แล้ว ส่วนเราก็ยังเป็นนักเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับความหลังอยู่เหมือนเดิม

พอเราเกษียณออกมาได้ไม่กี่ปี ถึง พ.ศ.๒๕๓๙ เหล่าทหารสื่อสารก็มีอายุครบ ๗๒ ปี เพราะก่อกำเนิดขึ้นในกองทัพบกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ นิตยสารทหารสื่อสารก็จัดทำฉบับพิเศษในโอกาสนี้ ท่านเจ้ากรมขณะนั้นรู้จักคุ้นเคยกับเรามาก่อน ท่านจึงเชิญไปเป็นที่ปรึกษา ให้เขียนประวัติของเหล่าทหารสื่อสารจากเดิม เพิ่มเติมจนถึงปีนั้น และเป็นผู้ไปขอเรื่องของท่านอดีตเจ้ากรมการทหารสื่อสาร มาลงพิมพ์ ซึ่งเป็นงานเก่าของเรา จึงไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่ไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร หนังสือเล่มนี้ไม่มีชื่อคณะผู้จัดทำในท้ายเล่มอย่างเคย ก็เลยไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วย

ครั้นอยู่ต่อมาอีกหลายปี ท่านเจ้ากรมถัดมาจากครั้งก่อนสามท่าน เกิดสนใจพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร ที่เราได้วางมาตรฐานไว้เมื่อเป็นหัวหน้าแผนก หลังจากที่เก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ ท่านอยากจะปรับปรุงให้ทันสมัยน่าเข้าเยี่ยมชม มากกว่าที่เราได้ทำไว้แล้ว เจ้ากรมท่านนี้เคยเป็นหัวหน้าแผนกของเราเมื่อท่านยังมียศพันตรี ท่านจึงเรียกเราไปปรึกษาหารือ เราก็สนับสนุนให้ดำเนินการเพื่อเป็นเกียรติประวัติของท่านเอง ท่านจึงออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร และมีชื่อเราเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการด้วย

เมื่อเราไปเข้าประชุมครั้งแรก ท่านเลขานุการคณะกรรมการก็ขอปรึกษาเราทันที ท่านเอาแผนการปรับปรุงของท่านมากางให้เราดู และอธิบายรายละเอียดทุกขั้นตอนที่จะปรับปรุง และถามเราว่าจะเห็นเป็นอย่างไร เราก็ได้แต่ตอบว่า เหมาะสมแล้วเท่านั้นเอง ก็ไม่ต้องไปประชุมอีกเลย จนเขาปรับปรุงเสร็จ ก็ได้กรุณา เชิญเราไปเป็นเกียรติในงานวันทหารสื่อสาร ที่เป็นวันเปิดพิพิธภัณฑ์ ใหม่ เพื่อต้อนรับอดีตเจ้ากรมที่มาเยี่ยมชมด้วย

จากนั้นเราก็อยู่อย่างสบายใจ ไม่ต้องเป็นที่ปรึกษาเงาของใครมาหลายปี โดยเขียนเรื่องส่งให้นิตยสารทหารสื่อสาร ปีละเรื่องสองเรื่อง ส่วนกิจการในแวดวงการเขียนภายนอกนั้น ก็ดำเนินไปด้วยดีพอได้อาศัยมีค่าโซดาผสมเบียร์ ให้อายุยืนบ้างตามความสามารถเฉพาะตัว

กาลเวลาได้ล่วงมาจนถึง พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อเราได้รับหนังสือที่ระลึกวันทหารสื่อสาร หลัง ๒๗ พฤษภาคม ซึ่งมีเรื่องของเราลงพิมพ์อยู่ด้วยตามปกติ ก็พบสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นในหน้าแรก คือมีชื่อของเราปรากฏว่าเป็นที่ปรึกษา แทรกอยู่ในระหว่างชื่อของอดีตเจ้ากรม สิบกว่าท่าน เราขนลุกซู่ว่าเดี๋ยวนี้เขาเลื่อนชื่อของเราขึ้นไปเทียบเท่าอดีตเจ้ากรม ระดับ พลเอก แล้วหรือ แต่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าก็เป็นการพิมพ์ผิดและตรวจข้ามไปอย่างแน่นอน จึงยกหูโทรศัพท์ต่อเข้าไปหาผู้ช่วยของผู้ช่วยบรรณาธิการ ซึ่งเป็นนายทหารหญิงยศร้อยเอก ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการใหม่ ๆ ก็ได้ความว่าเป็นการผิดพลาดของเธอเอง ชื่อของเราควรจะอยู่ในกองบรรณาธิการ ได้กระโดดสูงข้ามไปตั้งหลายขั้นได้อย่างไรไม่ทราบ เราก็บอกว่าคุณเตรียมแก้ตัวกับเจ้านายไว้เถิด และขอให้โชคดี เรื่องที่ว่านั้นก็เงียบหายไป นอกจากมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี โทรศัพท์มาแสดงความยินดีที่เราได้เลื่อนฐานะสูงขึ้น ก็ต้องชี้แจงความจริงให้ฟังแล้วก็หัวเราะชอบใจกันไป

แต่อีก ๓-๔ เดือนต่อมา เราก็ได้รับหนังสือของทหารสื่อสาร ที่ออกใหม่อีกฉบับหนึ่ง คือ วารสารกรมการทหารสื่อสาร คราวนี้ก็ยังมีชื่อของเราปรากฏอยู่ในกลุ่มที่ปรึกษา ซึ่งเป็นอดีตเจ้ากรมเช่นเดิม แต่ต่อเป็นชื่อสุดท้าย แสดงว่ามีการตรวจพิสูจน์อักษรถูกต้องตามลำดับอาวุโสแล้ว รายชื่อเจ้ากรมทั้งสิบกว่าท่านนี้ มีทั้งยศ พลตรี พลโท และพลเอก แล้วเราจะไปต่อท้ายได้อย่างไร

เราจึงรีบต่อโทรศัพท์ได้ยังท่านนักเขียนชื่อดังของสื่อสาร ยศพันเอก(พิเศษ) ที่คุ้นเคยกันมานานขอให้ช่วยแจ้งผู้รับผิดชอบให้เอาชื่อของเราออกจากแถวของ ที่ปรึกษานั้นด้วย

เราไม่อยากเป็น ที่ปรึกษา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบ ชื่อของเราก็ยังคงห้อยท้ายอยู่ในกลุ่มของอดีตเจ้ากรม มาจนถึงบัดนี้

ซึ่งน่าจะเป็นทหารสื่อสารคนเดียวที่ได้รับเกียรติเช่นนี้.

#############

สวัสดีครับ

ได้ทราบเรื่องในอตีตของการจัดทำหนังสือในแวดวงทหาร แล้วยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจบทบาทของทหารในหลายๆหน้าที่ครับ

และเข้าใจถึงการปรากฎชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือนับว่าเป็นเกียรติยิ่งกว่าสิ่งใดครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 10 มีนาคม 2555 เวลา:9:36:00 น.

ลบ comment
ยินดีครับที่ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ ในสิ่งที่ยังไม่รู้ครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 10 มีนาคม 2555 เวลา:13:33:21 น.




 

Create Date : 15 มีนาคม 2555    
Last Update : 15 มีนาคม 2555 8:19:36 น.
Counter : 830 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒) โอกาสในการทำบุญ

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒)

โอกาสในการทำบุญ

เมื่อเช้าวันที่ ๑๖ ก.พ.๕๕ ออกจากบ้านจะไปเทเวศร์ เพื่อถอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปใช้หนี้อีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งได้ถอนเอาไปใช้รักษาตัว เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ป่วยกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กินยาอยู่ ๗ วันก็หายเป็นปกติดี แต่เดินไม่ได้ไกลก็เมื่อยมาก ลูกเขาบอกว่าให้เลิกขึ้นรถเมล์เสียที ไปไหนก็ขึ้นแท็กซี่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงว่าจะเกิดอุบัติเหตุขณะก้าวขึ้น หรือลงรถเมล์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ก็รับปากกับเขาว่าจะเชื่อฟัง แต่ทำใจได้ลำบากมาก สำหรับเราที่เคยขึ้นรถเมล์ใช้บัตรผู้เฒ่า แล้วกลับมาให้เสียค่าแท็กซี่ ซึ่งต่างกันราวฟ้ากับดิน

และวันนี้เดินมาจนเกือบจะถึงหน้าวชิรพยาบาลแล้ว จึงนึกขึ้นมาๆได้ว่าแท็กซี่หาเรียกแถว ๆ หน้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตก็ได้ ไม่ต้องเดินมาหน้าวชิรพยาบาล คิดแล้วก็เลี้ยวออกไปทางถนนราชวิถี ไม่ช้าก็ได้แท็กซี่เขียวเหลืองค่อนข้างเก่าเป็นพาหนะ

เมื่อถึงที่หมายคือธนาคารออมสินสาขาเทเวศร์ ก็เข้าไปเบิกเงินจากสมุดบัญชีสองเล่มตามจำนวนที่จะใช้หนี้ แล้วก็ได้เงินปีกหนึ่งยัดใส่กระเป่ากางเกง ออกมาจากธนาคาร มองไปทางฝั่งถนนตรงข้ามเห็นที่ทำการไปรษณีย์เทเวศร์ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ลืมหยิบซองหนังสือ ที่จะส่งพัสดุไปให้เป็นของขวัญวันเกิด แก่เพื่อนในอินเตอร์เนต

แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากเอาไว้วันหลังค่อยจัดการ จึงเดินย้อนกลับมาที่สะพานเทเวศร์นฤมิตร ตรงหัวมุมด้านเหนือเป็นที่ตั้งของธนาคารทหารไทย ที่เปิดใหม่เอี่ยม เข้าไปหยิบแบบฟอร์มมาจะเขียนฝากเงินทั้งหมด ใช้หนี้บัญชีที่ลูกเขาให้เงินไว้สำหรับเวลาไปหาหมอด้วยโรคฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาถามว่า จะฝากหรือถอนจะได้หยิบบัตรคิวให้ เราบอกว่าจะฝากแล้วก็ก้มหน้าจะเขียนใบฝาก เขาก็บอกว่าไม่ต้องเขียนแล้ว ไปบอกเจ้าหน้าที่ ประจำเคาน์เตอร์เลย จริงซีเขามีบริการแบบนี้ ตั้งนานแล้วลืมไปเสียได้

เสร็จธุระแล้วก็ออกมายืนริมถนน ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นตลาดเทวราชกุญชร คราวนี้นึกได้ว่าต้องข้ามไปซื้อแครอทสัก ๕-๖ หัว เอาไปต้มแล้วเข้าเครื่องปั่นกินกับขนมปังนมเย็นตามที่หมอสั่ง เพื่อรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรง ค่อยยังชั่วหน่อย เช้านี้ลืมมาสามอย่างแล้ว

เมื่อได้ของที่ต้องการแล้วก็ข้ามถนน กลับมาเรียกแท็กซี่ที่เดิม ไปมูลนิธิ ปอเต็กตึ๊ง ที่มูลนิธิแห่งนี้ได้มาบริจาคเงินทำบุญ เกี่ยวกับโลงศพและเครื่องประกอบ การเก็บศพเป็นประจำ หมุนเวียนกันไปกับวัดสามสี่วัดทุกสัปดาห์ แต่คราวนี้เสียค่าแท็กซี่แทนค่ารถเมล์ จึงตั้งใจจะรวบรวมเงินที่จะบริจาค เป็นเดือนละแห่งเดียว หมุนเวียนกันไปทุกเดือนตลอดปี เพื่อประหยัดค่าเดินทาง

เมื่อได้ใบรับเงินเรียบร้อยแล้ว ก็ออกมารอรถหน้าศาลเจ้าไต้ฮงกง เหลียวหาขอทานที่เคยให้เป็นประจำทุกคราว เจอเพียงคนเดียว คงมีอีกหลายคน แต่ขี้เกียจเดินไปหาทางที่พวกเขานั่งกันเป็นกลุ่มให้เมื่อยขา

เรื่องการทำทานนี้ บางทีก็เจอเยอะบางทีก็ไม่เจอเลย และบางทีเจอแล้วไม่ได้ทำก็มี ก็คงเหมือนกับการทำกิจกรรมเรื่องอื่น ๆ ซึ่งก็แล้วแต่โอกาสจะอำนวย อย่างที่เคยผ่าน ๆ มาแล้ว พอจะนึกขึ้นได้

ครั้งหนึ่งในซอยหมู่บ้านของเราเอง เด็กหญิงคนหนึ่ง คะเนอายุคงไม่เกินประถมต้น ๆ แต่งตัวสวยงาม บ้านคงจะอยู่แถวนั้น เธอเดินแทะขนมปังกรอบที่มีช็อคโกแลตหุ้มอยู่ อย่างเอร็ดอร่อย เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้เธอก็หยุดยืนรอ แล้วพูดด้วยเสียงน่ารักว่า

“ ตาขา…ขอตังหนูห้าบาท “

เราล้วงมือลงไปในกระเป๋ากางเกง ด้วยความเคยชิน แต่ด้วยความที่อยาก จะคุยกับเธอ จึงถามว่า

“ หนูจะเอาไปทำอะไรหรือ “

เราไม่ได้คิดว่าเธอจะเอาไปซื้อขนม เพราะมีอยู่ในมือแล้ว จึงอยากจะให้มากกว่าที่ขอนั้น แต่เธอกลับมองหน้าเราที่ช่างซักถามจู้จี้ เธอแกว่งตัวจนกระโปรงส่ายไปมา แล้วสะบัดหน้าเดินต่อไป แต่ไม่ก่อนที่จะพูดว่า

“ ฮึ…หนูไม่เอาก็ได้ “

อีกคราวหนึ่งที่โรงพยาบาลแถวพญาไท หญิงค่อนข้างสาวระดับกลางคนหนึ่ง มายืนอยู่ตรงหน้าในมือของเธอหอบหิ้วถุงพะรุงพะรัง

“ น้าขอเงินสักห้าสิบบาทซี่ “

เรานิ่งอึ้งอยู่ชั่วอึดใจว่าจะให้ หรือปฏิเสธ เพราะคิดว่ามากเกินไป แต่เธอรีบชี้แจงเมื่อเห็นเครื่องหมายคำถามในดวงตาของเรา

“ หนูมาตรวจโรค หมอสั่งให้เจาะเลือด เขาคิดเงินสองร้อย หนูมีไม่พอเพราะซื้อยาไปแล้ว จะกลับบ้านก็ไกล กว่าจะมาอีกเขาก็ปิดแล้ว “

เธอพูดพร้อมกับชูแผ่นกระดาษใบสั่ง และบัตรประจำตัวคนไข้ในมือขวา พร้อมกับแบมือซ้ายที่ถือถุงยาให้เห็นธนบัตรใบย่อยให้ดู เราจึงพร้อมที่จะให้ จึงหยิบกระเป๋าเงินออกมาเปิดดึงธนบัตรร้อยบาทออกมาส่งให้

“ หนูช่วยทอนให้ลุงห้าสิบบาทนะ “

เธอนิ่งคิดเหมือนกัน แล้วก็บอกว่า

“ น้าให้หนูทั้งหมดก็แล้วกัน จะได้เหลือเป็นค่ารถกลับบ้านด้วย “

เอ…การทำทานทีละร้อยบาทนี่ มันมิยิ่งมากเกินฐานะของเราไปใหญ่หรือ เราคิดแว่บเดียวแล้วก็ตัดสินใจบอกว่า

“ ไม่ได้หรอกมากเกินไป ลุงไม่ได้มีเงินมากมายอะไร “

เธอจึงลดมือลงแล้วบอกว่า

“ งั้นหนูไม่เอาก็ได้ ขอบคุณค่ะ น้าเก็บไว้ใช้เถอะ “

เราก็เลยไม่มีโอกาสได้ทำบุญ

อีกคราวหนึ่งที่ศาลเจ้าไต้ฮงกงนี่เอง เมื่อครั้งที่มูลนิธิปเต็กตึ๊งยังตั้งรวมอยู่ด้วยกัน หลังจากบริจาคเงินทำบุญแล้ว ก็จะเดินออกจากบริเวณ แต่ก่อนจะถึงประตูออกก็เห็นหญิงชราทั้งหน้าตาและการแต่งกาย นุ่งผ้าถุงสวมเสื้อแบบไทยแท้คนหนึ่ง นั่งยอง ๆ พนมมือหลับตาอยู่

เรารีบล้วงกระเป๋าเสื้อหยิบเหรียญบาทที่เหลือสองสามเหรียญ เดินรี่เข้าไปหา แต่หญิงชราผู้นั้นไม่ได้แบมือรับอย่างปกติ ก็พอดีมีหญิงกลางคนซึ่งขายนกปล่อย นั่งเก้าอี้อยู่ใกล้ ๆ ตะโกนมาด้วยเสียงกราดเกรี้ยวว่า

"เขาไหว้พระไม่ได้ขอเงิน"

ทั้งเราและหญิงชราผู้พนมมือ ตกใจเกือบพร้อม ๆ กัน เรารีบก้มตัวลงพนมมือไหว้และบอกขอประทานโทษครับ แล้วก็รีบจ้ำออกประตูไปทันที

ความนึกคิดต้องสะดุดหยุดลง เพราะมีรถแท็กซี่วิ่งปราดเข้ามาจอดเทียบตรงหน้า จึงก้าวขึ้นไปนั่ง และบอกทีหมายคือสี่แยกการเรือน ซึ่งย่อมไม่มีใครรู้จัก นอกจากจะบอกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

วันนี้จึงได้ทำกิจกรรม สำเร็จไปสามสี่อย่าง โดยใช้เงินค่ารถไปเกือบสองร้อยบาท ซึ่งถ้าขึ้นรถเมล์จะเสียเพียง ยี่สิบกว่าบาทเท่านั้น

อนิจจา อนิจจังสังขาราหนอ.

#############





Create Date : 06 มีนาคม 2555
Last Update : 6 มีนาคม 2555 16:24:57 น. 3 comments
Counter : 16 Pageviews. Add to





อัพเดทข่าวสารฟรีได้ที่นี่ //wap.chickyclub.net/icw/?i=news เพื่อนๆ เข้าทางมือถือนะจ๊ะ
โหลดบริการต่างๆ ทางมือถือ ถูกโคตรอ่ะ 5 บาท //wap.chickyclub.net/icw/?i=b3b เพื่อนๆ ลองเข้าไปดูนะ ของเค้าใช้ได้เรย

โดย: wee IP: 58.11.238.236 วันที่: 6 มีนาคม 2555 เวลา:17:13:04 น.





ความจริงท่านก็มีฐานะพอจะใช้บริการแท็กซี่ได้ ก็ขอให้ใช้บริการแท็กซี่จะดีกว่า เพราะการใช้บริการรถเมล์นั้นผู้มีอายุหรือคนชราจะอันตรายมากๆเวลาขึ้นหรือลงรถ ซ้ำยังไปเบียดเบียนผู้ท่ีมีฐานะยากจนและจำเป็นจะต้องรถเมล์ด้วย ใช้บริการแท็กซี่นั้นท่านยังจะได้ช่วยเหลือพขร.ท่ีเขาหาเช้ากินค่ำอีกด้วย

โดย: nanter58 IP: 115.87.149.162 วันที่: 6 มีนาคม 2555 เวลา:23:14:59 น.




ขอบคุณ คุณwee ที่แจ้งข่าวครับ.


ขอบคุณ คุณ: nanter58 ด้วยครับ
ผมก็เชื่อลูกที่ให้ขึ้นแท็กซี่แทนรถเมล์
วันนี้ก็ไปทำบุญ มาฆบูชา ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด ทำบุญสามคน ๘๐๐ บาท เสียค่าแท็กซี่ไปกลับ
เกือบ ๓๐๐ บาทครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 7 มีนาคม 2555 เวลา:14:01:41 น.





 

Create Date : 14 มีนาคม 2555    
Last Update : 14 มีนาคม 2555 6:34:15 น.
Counter : 1625 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑) เรื่องของคนอบากเขียน

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑)

เรื่องของคนอยากเขียน

คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องมีความอยาก อะไรต่ออะรในชีวิต ซึ่งพระท่านว่ามันเป็นกิเลสตัวหนึ่ง แต่ความอยากที่อยู่ในส่วนลึกของเรานั้น ก็คือเราอยากจะเป็นนักเขียน หรือที่สมัยโบราณเขาเรียกว่านักประพันธ์

เราจึงเริ่มริเขียนหนังสือเมื่ออายุได้สิบหกปี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องสั้น ส่งไปให้สำนักงานหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ หลังจากที่ได้ลงตะกร้าไปพอสมควรแล้ว ก็ได้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรกที่ เมื่อ ตุลาคม ๒๔๙๑ ได้รับค่าเรื่อง ๒๐ บาท แล้วจากนั้นเราก็มีกำลังใจเขียนต่อไปอีกถึง ๑๐ ปี มีเรื่องที่ได้ลงพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์และวารสาร รายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ รายลอตเตอรี่ และรายวัน อีกหลายสิบเรื่อง แต่ก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า ไม่มีใครรู้จัก ถ้าได้ลงพิมพ์ก็อยู่ในระดับน้องใหม่ตลอดมา โดยเฉพาะค่าเรื่องนั้นได้รับมาเพียง ๔ ราย จากนิตยสารรัตนโกสินทร์ ไทสัปดาห์ เพื่อนบ้าน และ กะดึงทอง เท่านั้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เราได้รับความเมตตาจากบรรณาธิการ ผู้พิจารณาเรื่องของเรา หลายต่อหลายคน แต่บางท่านก็ว่า

...... ก่อนที่นักประพันธ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่ฝีมือของเขากำลังเป็นเงินเป็นทองอยู่เดี๋ยวนี้ เขาก็ได้ฝ่าฟันอุปสรรคมาแล้วอย่างโชกโชนคนละหลายปี นักเขียนหน้าใหม่ ๆ ไม่ควรจะมาตั้งข้อเรียกร้องกับบรรณาธิการนัก ควรทำตัวเยี่ยงผู้น้อยค่อยก้มประนมกร....

เราก็ได้ทำเช่นนั้นมาตลอดเวลา แม้จะไม่มีชื่อเสียง แต่เราก็ไม่เคยย่อท้อ แม้เมื่อรับราชการทหารแล้ว ว่างเมื่อไรเป็นต้องเขียน ไม่ว่าจะเป็นบทกลอน เรื่องขำขัน เรื่องสั้น สารคดี ส่งไปลงพิมพ์ในนิตยสารของหน่วย ตลอดเวลากว่าสามสิบปีที่รับราชการอยู่ ด้วยนามปากกาที่มากกว่าสิบชื่อ เป็นเวลากว่าสามสิบปี จรครบเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕

เมื่อเรามีเวลาว่าง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว เราก็ตั้งหน้าตั้งตาเขียนหนังสือเป็นการใหญ่ ส่งไปตามวารสารต่าง ๆ ทั้งในกองทัพบก และนอกกองทัพบก จนเพื่อนคนหนึ่งเกษียณอายุไล่ ๆ กันปรารภว่า ไอ้หมอนี่อยากดังตอนแก่

ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง เราชอบของเราอย่างนี้ เราไม่ได้อยากดังในตอนนี้เท่านั้น เราอยากดังมาตั้ง ๕๐ ปีแล้ว มันก็ไม่ดังสักที แต่เราก็อยู่ของเรามาได้ ถึงจะไม่ดังก็ไม่ได้ว่าอะไร

เมื่อทบทวนดูแล้วก็เกิดความรู้แจ้งแทงตลอดขึ้นมาว่า เหตุที่ไม่ดังนั้นก็เพราะ เรื่องที่เขียนไปทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องดีเด่นพอที่จะดังได้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้ดีกว่านั้น เพราะขาดปัจจัยหรือส่วนประกอบอีกมาก ก็เลยปลงได้ว่าอย่าคิดหวังต่อไปเลย ว่าจะได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง เอาเป็นว่าอยากเขียนก็เขียนไป ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น จึงทู่ซี้เขียนต่อมาจนถึงบัดนี้ โดยเขียนเพื่อสนองความอยากเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จนสามารถมีผลงานอยู่ในวารสารทั้งในและนอกกองทัพบก อีกมากมายหลายสิบฉบับ ตั้งแต่เริ่มเกษียณ

จนถึงปัจจุบันนี้ก็ค่อย ๆ หดหายลงไปเรื่อย ๆ ไม่ทราบว่าเพราะนโยบายเปลี่ยนไป หรือว่าเกี่ยวกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ยังดีที่เหลืออยู่อีก ๒ - ๓ ฉบับซึ่งได้ร่วมงานกันมานาน ยังไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงยังมีช่องทางพอที่จะระบาย ข้อเขียน ออกมาสู่เพื่อนทหารได้อย่างสม่ำเสมอ จนหมดสต็อคเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ อายุ ๗๗ ปี

เมื่อก่อนที่จะหยุดเขียน บังเอิญมีเรื่องได้ลงพิมพ์ในนิตยสารเก่าแก่ มีชื่อเสียงมากว่าสามสิบ ปี ท่านผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการบอกว่า ควรจะใช้ชื่อจริงเพราะในหนังสือของท่านนั้น มีบรรดา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอดีตเขียนอยู่เป็นจำนวนมาก เราก็ว่าถึงเราจะใช้นามปากกาหรือใช้ชื่อจริง คนอ่านก็ไม่รู้จักเท่ากัน ไม่เหมือนท่านผู้ใหญ่เหล่านั้น โดยเฉพาะท่านที่เป็นทหารบก

บางท่านก็จบจากโรงเรียนเท็ฆนิค บางท่านก็ผ่านโรงเรียนเตรียมนายร้อยป่าแดง บางท่านก็จบโรงเรียนนายร้อยจีน และบางท่านก็จบหลักสูตรนายร้อยสำรอง แม้จะมีท่านที่เป็นพลทหารเกณฑ์ ท่านก็จบปริญญาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนกระทั่งเป็นนายพลตำรวจ

ส่วนเราเป็นพลทหารเกณฑ์ธรรมดา แล้วไปเข้าโรงเรียนนายสิบออกมารับราชการ ไต่เต้าจากตำแหน่งต่ำสุดจนถึงสูงสุดได้อย่างไม่คาดฝัน โดยไม่มีปริญญาอะไรทั้งสิ้น นอกจาก สอบเทียบมัธยมหกธรรมดา แล้วไปหาประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างใช้แรงงาน ภารโรง และเสมียน อยู่ ๗ - ๘ ปี ก่อนเข้าเป็นทหาร เท่านั้นเอง

เราเขียนเรื่องลงพิมพ์ในนิตยสารของหน่วย เป็นประจำตลอดเวลา ตั้งแต่เข้ารับราชการได้ใหม่ ๆ จนถึง พ.ศ.๒๕๑๘ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เข้าประจำในกองบรรณาธิการ ซึ่งมีหน้าที่คัดเลือกเรื่องที่จะนำลงพิมพ์ แทนผู้ช่วยบรรณาธิการ และส่งให้บรรณาธิการอนุมัติตามตำแหน่ง

ถึง พ.ศ.๒๕๒๔ เราได้ข้ามไปเข้าร่วมในคณะผู้จัดทำ หนังสือที่ระลึก สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในวันครบรอบการก่อตั้งทุกปี จนได้เลื่อนเป็นประธานคณะผู้จัดทำโดยไม่รู้ตัว ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ

หนังสือฉบับนี้มีคณะผู้ร่วมจัดทำเป็นพลเรือน มืออาชีพในการทำวารสาร จึงต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ออกนอกกรอบของนโยบายที่ผู้บริหารกำหนด ซึ่งย่อมไม่เป็นที่พอใจ ของผู้ที่รักวิชาชีพอิสระประเภทนี้ แต่เมื่อร่วมงานกันต่อมาหลายปี ก็สามารถออมชอมกันได้ดี คราวนี้เราก็มีเรื่องเกือบดังอีกเหมือนกัน

ตามประเพณีของหนังสือที่ระลึกวันสถาปนาของหน่วย จะต้องมีภาพผู้บริหาร และภาพกิจกรรมของหน่วย เมื่อปีที่แล้ว ลงพิมพ์เป็นประจำ มีอยู่ปีหนึ่งท่านผู้บริหารตำแหน่งหนึ่งมีการเปลี่ยนตัว เราตรวจพลาดไป เอาภาพท่านเดิมซึ่งมีผมบางลงพิมพ์ แทนท่านที่มาใหม่ ซึ่งมีผมดกแถมไว้หนวดอีกต่างหาก เพิ่งจะรู้ว่าผิดพลาดก็พิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อย ก่อนวันแจกจ่ายเพียงวันเดียว เราหมดปัญญาที่จะแก้ไข คิดว่าคราวนี้คงดับแน่

บังเอิญท่านผู้อำนวยการสถานี มาตรวจราชการตอนกลางคืน เราเข้าเวรควบคุม การออกอากาศอยู่ จึงเข้าไปสารภาพผิดกับท่าน ซึ่งท่านก็เห็นใจได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อ กับท่านผู้บริหารท่านใหม่เพื่อขอโทษ แต่ผู้บริหารท่านนั้น ซึ่งมีอาวุโสสูงกว่าผู้อำนวยการของเรา กลับบอกว่า ผิดก็แก้ใหม่เสียซิ

เรารับฟังแล้วถึงกับเข่าอ่อน เพราะเหลือเวลาอีกสามสิบหกชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็จำต้องบากหน้าไปขอให้ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์ ช่วยแก้ไขได้เรียบร้อยทันเวลา ที่จะต้องแจกจ่ายหนังสือ เพียงชั่วโมงเดียว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าแก้ไขที่ตรงไหน

เราจึงรอดมาเขียนหนังสือ ตามความอยากอยู่ได้ จนเลยเกษียณอายุถึงบัดนี้.

##############



Create Date : 02 มีนาคม 2555
Last Update : 2 มีนาคม 2555 8:41:12 น. 2 comments
Counter : 26 Pageviews. Add to





เจียวต้าย Literature Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 3 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


เรื่องของคนอยากเขียน
ก็เพราะมีคนอยากอ่านน่ะซีคะ

เขียนมาเกือบ ๗๐ ปีแล้วนะคะ
ตัวอักษรเรียงกัน
ถึงดวงจันทร์แล้วกระมังคะ ๑,๐๐๐ กว่าเรื่อง



โดย: nart (sirivinit ) วันที่: 2 มีนาคม 2555 เวลา:22:02:04 น.




เขียนมานานก็จริงครับ แต่สิ่งที่เขียนมีสาระน้อย
แค่อ่านกันได้เท่านั้น เวลานี้ก็เริ่มจะซ้ำซาก วนเวียนเหมือนอยู่ในอ่าง
แต่เป็นความรู้สึกที่จริงใจ
ขอบคุณที่กรุณาโหวตให้ แม้จะไม่มีทางได้สายสะพาย
ก็ขอบคุณครับ.

โดย: เจียวต้าย วันที่: 3 มีนาคม 2555 เวลา:5:18:36 น.





 

Create Date : 13 มีนาคม 2555    
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:12:59 น.
Counter : 844 Pageviews.  

คำปรารภ

คำปรารภ

เดิมบล็อกกลุ่มนี้ชื่อ เรื่องเด่นจากสะพานแดง
คือการนำเรื่องที่ลงพิมพ์ใน นิตยสารทหารสื่อสาร ตั้งแต่ยุค พ.ศ.๒๕๐๐ ที่พอจะอ่านได้ใน พ.ศ.๒๕๕๐ มาวางไว้ให้เพื่อนสมาชิกที่สนใจได้อ่าน

และเป็นการสแกนจากหน้าหนังสือนั้น โดยไม่ต้องพิมพ์ใหม่ เพราะไม่มีแรงแล้ว ได้นำไปวางในกระทู้ทุกวัน ก็มีผู้สนใจพอสมตวร

แต่เมื่อเอามาวางในบล็อกแล้ว รู้สึกว่าอ่านไมสะดวก จึงเปลี่ยนเป็น ผู้เฒ่าเล่าอดีต
เป็นเรื่องสัพเพเหระในอดีต ที่นึกขึ้นมาได้ในปัจจุยัน ก็เอามาบันทึกไว้อ่านทบทวน
ซึ่งอาจจะซ้ำกับเรื่องในกลึ่มอื่น ๆ บ้างก็ได้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ.




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 12 มีนาคม 2555 11:13:15 น.
Counter : 915 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.