Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ ๓๔ สิ้นรัชกาล

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๓๔ สิ้นรัชกาล

พ.สมานคุรุกรรม

หลวงสรศักดิ์เห็นท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายนิ่งอยู่ดังนั้น ก็จับดาบขึ้นกวัดแกว่ง แล้วร้องคุกคามสำทับไปว่า

“ คนทั้งหลายนี้ไฉนจึงนิ่งอยู่เล่า จะเข้าด้วยเราหรือหาไม่ก็ว่ามา ถ้าผู้ใดไม่เข้าด้วยเรา เราก็จะฟันเสียบัดนี้ “

ท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายเห็นดั่งนั้น ก็ยิ่งสะดุ้งตกใจกลัวความตายยิ่งนัก ต่างคนต่างถวายบังคมพร้อมกัน แล้วกราบทูลว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอเข้าด้วยพระองค์ และจะขอเป็นข้าราชการอยู่ในใต้ละอองธุลีพระบาทสืบไป “

หลวงสรศักดิ์ เห็นขุนนางทั้งปวงอยู่ในอำนาจสิ้นแล้ว ก็ไปถวายบังคมพระเพทราชาผู้เป็นบิดา แลรับพระราชโองการ แล้วมอบเวนสมบัติถวายแก่พระเพทราชานั้น ท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย ก็รับพระบัณฑูรแก่หลวงสรศักดิ์ แลเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ ที่มหาอุปราช หลวง สรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการที่มหาอุปราช ก็ใช้ให้ทหารไปอาราธนาพระพุทธรูป คัมภีร์ปริยัติธรรม มาจาก เรือน แลให้ไปนิมนต์พระสงฆ์คามวาสีราชาคณะมาด้วยพร้อมกัน แล้วก็ถวายนมัสการพระรัตนไตรยาธิคุณสุนทรภาพ ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วให้ขุนนางทั้งนั้นกินน้ำพิพัฒน์สัตยา ถวายสาบานตามโบราณราชประเพณี เสร็จทุกประการ

พระเพทราชาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ให้เจ้าพระยาสุรสงครามเป็นผู้รับสั่ง ให้ไปหาตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เข้ามา ถ้าสำเร็จราชการแล้วจะเลี้ยงให้ถึงขนาด ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการที่มหาอุปราช เมื่อให้ไปหาตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้น ก็กะเกณฑ์ทแกล้วทหารให้อยู่ประจำรักษาทุกป้อมทุกประตูทั้งปวงรอบพระราชวัง แลให้ปิดประตูเสียอย่าให้ผู้ใดเข้าออกแปลกปลอมได้ ให้ตรวจตราระวังระไวเป็นกวดขันทุกตำบล แล้วจัดแจงทแกล้วทหารให้ไปคอยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ถ้าเข้ามาแล้วให้ฆ่าเสีย

เจ้าพระยาสุรสงคราม ก็สั่งให้ทนายไปหาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ที่บ้าน แจ้งว่ามีพระราชโองการให้หา เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้แจ้งก็เข้าใจเหตุทั้งนั้น เมื่อถามว่าใครเป็นผู้รับสั่ง ทนายก็บอกว่าเจ้าพระยาสุรสงครามเป็นผู้รับรับสั่ง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์จึงว่า

“ เจ้าพระยาสุรสงครามให้หาเราไปบัดนี้ ประดุจเขียนด้วยมือแลจะลบด้วยเท้าเล่า ด้วยเจ้าพระยาสุรสงครามมีคุณูปการแก่เราเป็นอันมาก ได้ชุบย้อมมาแต่เดิมนั้น แลกลับจะมาทำลายคุณเสียดั่งนี้ ก็มิควรยิ่งนัก ถ้าเราเข้าไปบัดนี้ ดีร้ายจะมีภยันตรายเป็นมั่นคง “

ทนายก็เตือนว่าพระราชโองการให้หาเป็นการเร็ว เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็แต่งกายแล้วขึ้นเสลี่ยง มีขบวนแห่นำมาจนเข้าประตูพระราชวัง คนซึ่งคอยอยู่สองข้างประตูนั้น ก็เอาไม้พลองตีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ตกลงจากเสลี่ยง แล้วประหารจนสิ้นชีวิต ส่วนพวกขบวนที่มาด้วยนั้น ครั้นเห็นนายตายแล้วก็ตกใจกลัว ต่างคนต่างวิ่งหนีกระจัดพลัดพลายไปสิ้น

พระเพทราชาก็พาหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประชวรหนักอยู่ ณ พระที่นั่งสุธาสวรรย์ แลถวายบังคมแล้วกราบทูลถามพระอาการอันทรงพระประชวรนั้น แล้วก็กราบทูลแถลงกิจจานุกิจราชการทั้งปวง ซึ่งได้ว่ากล่าวบังคับบัญชานั้นเสร็จสิ้นทุกประการ แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

“ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตไซร้ ข้าพระพุทธเจ้าจะรักษาสมบัติไว้ถวายพระเจ้าลูกเธอ กรมพระราชวังหลัง “

สมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังพระเพทราชากราบทูลดังนั้น ก็เข้าพระทัยในกิริยาอันแห่งพระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ์ อันคิดการเป็นกบฏนั้น ก็ทรงพระพิโรธเป็นกำลัง ทรงจับเอาพระแสงดาบซึ่งวางอยู่ข้างที่ แล้วเสด็จลุกขึ้นยืนได้ด้วยสามารถ มีพระราชโองการตรัสว่า
“ ไอ้สองคนพ่อลูกนี้คิดการเป็นกบฏ “

แล้วพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปประหารชีวิตพระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ์ ก็มิอาจสามารถจะเสด็จพระราชดำเนินไปได้ ด้วยทรงพระประชวรหนักทุพลภาพอยู่แล้ว ทั้งพระกายก็สั่นจนเสด็จดำรงพระองค์มิได้ ก็ล้มลงในที่นั้น แลพระแสงดาบทรงก็ตกจากพระหัตถ์ แล้วมีพระราชดำรัสว่า

“ เทพเจ้าผู้บำรุงรักษาพระบวรพุทธศาสนา จงไว้ชีวิตอีกสักเจ็ดวัน จะขอดูหน้าอ้ายกบฏสองคนพ่อลูกนี้ให้จงได้ “

พระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ์ ก็กลับลงมาจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ แลเข้าใจว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน จะเสด็จสวรรคตในวันนั้นเป็นแท้อยู่แล้ว จึ่งแต่งคนสนิทให้เอาเรือเร็วลงไปยังกรุงเทพมหานคร แลให้ทูลอัญเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอภัยทศ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลังว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่แล้ว แลบัดนี้มีพระราชโองการให้อัญเชิญเสด็จขึ้นไปเฝ้า ณ เมืองลพบุรีเป็นการเร็ว ผู้รับรับสั่งก็เอาเรือเร็วรีบลงไปยังกรุงเทพมหานครในวันนั้น

ส่วนสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว จำเดิมแต่แต่เสด็จล้มลงเพลานั้น พระโรคก็กำเริบมากขึ้น จึ่งมีพระราชดำรัสให้หาบรรดาชาวที่ชาววัง ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมประมาณสิบห้าคน เข้ามาเฝ้าในมหาปราสาทที่นั่งสุธาสวรรย์ ที่เสด็จทรงประชวรอยู่นั้น แล้วจึ่งมีพระราชโองการตรัสว่า

“ บัดนี้ไอ้สองคนพ่อลูกมันคิดการเป็นกบฏ ฝ่ายเราก็ป่วยทุพลภาพหนักอยู่แล้ว เห็นชีวิตไม่ตลอดไปจนสามวัน แลซึ่งท่านทั้งหลายจะอยู่ในฆารวาสนั้น เห็นว่าไอ้กบฏสองพ่อลูกมันจะฆ่าเสียสิ้น อย่าอยู่เป็นคฤหัสถ์เลย จงบวชในพระบวรศาสนา เอาธงชัยพระอรหันต์เป็นที่พึ่งเถิด จะได้พ้นภัย “

แล้วดำรัสให้ไปเบิกเอาไตรจีวรในพระคลังศุภรัตน์มาพอครบตัวกัน แลมีพระราชโองการตรัสให้ไปอาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะ เข้ามาประมาณยี่สิบรูปในเพลานั้น แล้วดำรัสว่า

“ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จงนำเอาคนเหล่านี้ออกไปอุปสมบท บวชเป็นพระภิกขุในพระพุทธศาสนาด้วยเถิด “

จึ่งพระสงฆ์ราชาคณะทั้งหลาย ถวายพระพรว่า

“ ซึ่งอาตมาทั้งปวงจะนำเอาอุบาสกเหล่านี้ ออกไปอุปสมบท ณ พระอารามนั้น เห็นว่าผู้ซึ่งประจำรักษาประตูพระราชวังนั้น จะห้ามมิให้ออกไป “

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธแล้วโทมนัสในพระทัยเป็นกำลัง แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยทรงพระประชวรหนักเป็นอาสัญทิวงคตอยู่แล้ว จำเป็นจำอยู่ในบังคับพระเพทราชา จึ่งมีพระราชดำรัสว่า

“ ถ้ากระนั้นนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง ให้อุปสมบทคนเหล่านี้ในปราสาทของโยมนี้เถิด จะได้หรือมิได้ “

พระสงฆ์ราชาคณะทั้งหลายถวายพระพรว่า

“ ถ้าแลพระราชสมภารเจ้าทรงพระราชอุทิศพระมหาปราสาท ถวายเป็นพระวิสุงคามเสมาแก่พระสงฆ์แล้ว อาตมาภาพพระสงฆ์ทั้งปวง ควรจะให้อุปสมบทกันได้ “

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตพระราชอุทิศถวายพระมหาปราสาททั้งสอง แลจังหวัดพระราชวังทั้งปวง เป็นวิสุงคามสีมาแก่สงฆ์เสร็จแล้ว มีพระราชดำรัสว่า

“ นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลาย กระทำซึ่งสังฆกรรมทั้งปวงเถิด “

จึ่งพระสงฆ์ราชาคณะทั้งหลายก็ให้อุปสมบทบวชบรรดาข้าหลวงเดิมทั้งปวง
เป็นภิกษุภาวะ ณ พระที่นั่งธัญญมหาปราสาทเสร็จแล้ว ก็ให้โอวาทโดยสมณกิจ แล้วพระสงฆ์ราชาคณะแลพระภิกษุบวชใหม่ทั้งหลาย ก็ถวายพระพรลากลับออกไปยังอาราม

ขณะนั้นบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ก็ไปมั่วสุมอยู่กับพระเพทราชา จะได้มีผู้ใดผู้หนึ่งนำพาในฝ่าละอองธุลีพระบาทนั้นหามิได้ ยังแต่พระปิย ผู้เป็นบุตรขุนไกรสิทธิศักดิ์ชาวบ้านแก่ง ที่ทรงพระกรุณาเอามาเลี้ยงไว้ในพระราชวังแต่ยังเยาว์ ให้มีนางนมพี่เลี้ยงประดุจหนึ่งลูกหลวง แลพระปิยนั้นมีพรรณสัณฐานต่ำเตี้ย ทรงพระกรุณาเรียกว่าไอ้เตี้ย แลพระปิยกอปรด้วยสวามิภักดิ์ นอนอยู่ปลายพระบาท คอยปรนนิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่งอยู่เพียงผู้เดียว

ครั้นรุ่งเพลาเช้าพระปิยลุกออกมาบ้วนปากล้างหน้า ณ ประตูกำแพงแก้ว หลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการที่มหาอุปราช จึ่งสั่งให้ขุนพิพิธรักษาชาวที่ ผลักพระปิยตกลงไปจากประตูกำแพงแก้ว แลพระปิยร้องขึ้นได้คำเดียวว่า ทูลกระหม่อมช่วยด้วย พอขาดคำลงคนทั้งหลายก็คุมเอาตัวพระปิยไปประหารชีวิตเสียในที่นั้น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังเสียงพระปิยร้องขึ้นมาดั่งนั้น ก็ตกพระทัยจึ่งดำรัสว่า ใครทำอะไรกับไอ้เตี้ยเล่า เมื่อทรงแจ้งเหตุแล้ว ก็ทรงอาลัยในพระปิยยิ่งนัก แลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคต ณ พระที่นั่งสุธาสวรรย์มหาปราสาทในเพลานั้น

ส่วนผู้ถือหนังสือรับสั่ง ซึ่งลงไปยังกรุงเทพมหานครนั้น ก็ไปกราบทูลเจ้าฟ้าอภัยทศเสร็จสิ้นทุกประการ แลเจ้าฟ้าอภัยทศมิทันทราบเรื่องราว สำคัญว่าจริง แลพี่เลี้ยงจึงกราบทูลว่า

“ อยู่แต่พระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ์ แลซึ่งเสด็จขึ้นไปครั้งนี้ จงระมัดระวังพระองค์ให้จงหนัก “

เจ้าฟ้าอภัยทศก็ทรงพยักเอา แล้วก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งขึ้นไปยังเมืองลพบุรี ครั้นไปถึงวัดพระพรหมตำบลปากน้ำโพสพ ก็เสด็จแวะเรือขึ้นไปหาพระพรหมครูครู่หนึ่งแล้วนมัสการลา เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งรีบไปยังเมืองลพบุรี ครั้นถึงก็ให้ประทับเรือพระที่นั่ง ณ ฉนวนประจำท่า

ขณะนั้นสมเด็จพระบรมราชบิดาเสด็จสวรรคตเสียก่อนแล้ว หลวงสรศักดิ์ก็ให้ข้าหลวงไปคุมเอาพระองค์เจ้าฟ้าอภัยทศ สำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ ที่ตำบลวัดทราก

แล พระบาทบรมนารถนารายณ์ราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จสวรรคตนั้นเป็น วันพฤหัสบดี เดือนห้า แรมสามค่ำ ปีจอ เสด็จดำรงราชอาณาจักรอยู่ได้ ยี่สิบเก้าพรรษา สิริพระชนม์ห้าสิบเอ็ดพรรษา

ความโดยพิสดารในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตั้งแต่ต้นแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ จนถึงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้นำมาเล่าต่อเนื่องกัน

ก็จบชุดสมุดไทยลงแต่เพียงนี้.

###########




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2558 16:50:11 น.
Counter : 1673 Pageviews.  

ตอนที่ ๓๓ เตรียมชิงราชบัลลังก์

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๓๓ เตรียมชิงราชบัลลังก์

พ.สมานคุรุกรรม

อยู่มาเพลาหนึ่ง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์สมุหนายกกราบทูลพระกรุณาว่า

“ เมืองพระพิษณุโลกเป็นหัวเมืองใหญ่กว่าฝ่ายเหนือ แลที่ทางซึ่งจะรับราชศัตรูเพื่อจะมีมานั้น เห็นมิสู้มั่นคง แลจะขอพระราชทานให้ก่อป้อมใหญ่ไว้สำหรับเมือง อนึ่งฝ่ายข้างปากใต้เล่า ขอให้ก่อป้อมใหญ่ไว้ ณ เมืองธนบุรี ทั้งสองฟากฝั่งน้ำ แลจะทำสายโซ่อันใหญ่ขึงขวางน้ำ ตลอดถึงกันทั้งสองฟาก สำหรับจะป้องกันอรินราชไพรีจะมีทางทะเล “

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเห็นชอบด้วยถ้อยคำ อันเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
กราบทูลนั้น แลทรงพระกรุณาดำรัสให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นแม่กองก่อป้อม ณ เมืองพระพิษณุโลก แลเมืองธนบุรีนั้น แล้วเสร็จทั้งสองตำบล

ครั้งนั้นพระบาทบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงพระราชดำเนิน
ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาททุกปีมิได้ขาด แลเสด็จประทับอยู่ ณ พระราชนิเวศธารเกษม ทรงพระกรุณาให้เล่นการมหรสพถวายพระพุทธบาท สมโภชสามวัน ตามโบราณราชประเพณี เสร็จแล้วก็เสด็จกลับมายังเมืองลพบุรี แลดำรัสให้ตกแต่งทุบปราบสถลมารค แต่พระพุทธบาทมาโดยท้ายภูนกยูง แลท่าศิลา เป็นทางหลวงตลอด ตราบเท่าเมืองลพบุรี แลให้ตกแต่งทาง ขุดทะเลชุบศรแลทางสระแก้ว แลทางท่าเรือตำบลพระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์ พระมณฑปพระพุทธบาท ที่ชำรุดปรักพังนั้นแล้วเสร็จ แลพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นศาสนูปถัมภก โดยเอนกนุปการ

อยู่มาวันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาส พระตำหนักตำบลสระแก้ว พร้อมด้วยมุขมนตรีทั้งหลายโดยเสด็จพระราชดำเนินที่นั้นเป็นอันมาก แลเมื่อเสด็จกลับเข้าในพระราชวัง พระองค์เสด็จทรงม้าพระที่นั่งบรมราชพาหนะมีพรรณอันแดง ประดับด้วยเครื่องราชูปโภคพร้อมเสร็จ แลเสด็จขับม้าพระที่นั่งเป็นบาทย่างสะเทิ้น มาถึงหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จึ่งเสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง มีพระราชโองการตรัสเรียกพระเพทราชาเข้ามา แล้วดำรัสว่า

“ ท่านจงมาขี่ม้าแดงพยศตัวนี้ ลองดูจะขี่ได้หรือไม่ “

พระเพทราชารับประราชโองการ กราบถวายบังคมแล้วก็เปลื้องผ้าส่านซึ่งเกี้ยวพุงนั้นออก ปูทับพระยี่ภู่บนอานม้า เพื่อเคารพในละอองธุลีพระบาท มิได้นั่งร่วมราชาอาสน์นั้น จึงขึ้นขี่ม้าพระที่นั่งขับย่างไป ฝ่ายตำรวจแห่หน้าหลังแลเจ้าพนักงานซึ่งถือเครื่องสูง แลกลองชนะแตรสังข์ทั้งหลาย ก็สำคัญว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน จึ่งประโคมแตรสังข์เภรีนี่สนั่นนฤนาท เคลื่อนขยาย พยุหยาตรา แลพระเพทราชาเห็นดังนั้นก็ตกใจ จึ่งลงเสียจากม้าพระที่นั่ง กราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทอดพระเนตรเห็นดั่งนั้น ก็ทรงพระสรวลดำรัสว่า คนทั้งหลายเหล่านี้มันสำคัญว่าเรา แล้วเสด็จกลับขึ้นทรงม้าพระที่นั่ง ไปยังพระราชวังนั้น

พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเสวยสวรรยาธิปัตติย ถวัลยราช ณ เมืองลพบุรี แลพระมหานครศรีอยุธยา เป็นมหาบรมสุขสนุกมั่งคั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลช้างพลม้าพลานิกรทวยหาญ ล้วนแกล้วกล้าสามารถ ปราศจากอริราชไพรีมิได้มีมาย่ำยีบีฑา ระอาพระเดช เดชานุภาพกฤษฎาธิการ แลพระองค์เสด็จผ่านภิภพสิริราชมไหศูรย์สันตติยวงศ์ ดำรงราชอาณาจักรโดยยุติธรรม โบราณราชบรมกษัตริย์สืบกันมา ฟ้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ธัญญาหารก็บริบูรณ์ทั่วชนบท พระเกียรติยศคือฉัตรแก้วกั้นเกศ ทุกประเทศธานีน้อยใหญ่ทั้งปวง ซึ่งเป็นขอบขันธเสมาก็ผาสุขสมบูรณ์ยิ่งนัก จวบกาลล่วงมาประมาณยี่สิบปี

ขณะนั้นเป็นปีจอ พระยาเศวตกุญชรบรมคเชนทรฉัตทันต์ ได้ป่วยลงถึงอนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัสอาลัย ในพระยาช้างเผือกนั้นเป็นอันมาก จำเดิมแต่นั้นมาก็มิได้สบายพระทัยเลย จนทรงพระประชวรลงในปีนั้น แลพระโรคนั้นก็หนักลง ทรงนั่งว่าราชการมิได้ลำบากพระทัยนัก จึ่งมีพระราชโองการตรัสเหนือเหล้าเหนือกระหม่อม โปรดให้พระเพทราชาว่าราชการแทนพระองค์ แลพระเพทราชาก็ไปว่าราชการแทนอยู่ที่ตึกพระเจ้าเหา พร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลายเป็นอันมาก แลให้มีตราไปทุกเมือง ให้เจ้าเมืองกรมการจัดแจงตรวจตราเลขหัวเมืองให้พร้อมไว้ แล้วให้ขัดด่านทางทุกตำบล เกลือกกิตติศัพท์ซึ่งทรงประชวรนั้นจะเลื่องลือไป หมู่อรินราชไพรีรู้แล้วก็จะกำเริบยกมาย่ำยีบีฑาในแว่นแคว้น แล้วให้ตรวจตราตระเวนรักษาด่านแดน ระวังการศึก แลพระเพทราชาว่าราชการาครั้งนั้น โดยสุจริตจะได้คิดสิ่งหนึ่งนั้นหามิได้

อยู่มาวันหนึ่งหลวงสรศักดิ์เข้าไปในพระราชวัง มิได้ไปฟังราชการ ณ ตึกพระเจ้าเหา แลไปนั่งอยู่ ณ ทิมดาบ เห็นสมิงพัตบะผู้เฒ่าก็เรียกให้เข้ามานั่งในที่นั้น แลสนทนาด้วยกิจอื่น ๆ เป็นอันมาก แล้วจึ่งถามสมิงพัตบะว่า

“ อย่างธรรมเนียมข้างรามัญประเทศ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรหนัก จะ ถึงกาลทิวงคต แลพระราชบุตรพระราขนัดดา วงศานุวงศ์แลเสนาบดี จะคิดเอาราชสมบัตินั้นจะทำอย่างไร “

สมิงพัตบะก็บอกว่า

“ อย่างธรรมเนียมข้างรามัญประเทศ ถ้าพระมหากษัตริย์ประชวรหนักจะสวรรคต แลผู้ใดคิดจะเอาราชสมบัตินั้น ก็เร่งจัดแจงตระเตรียมผู้คนเครื่องศัสตราวุธ ให้พร้อมไว้แต่ยังมิทันสวรรคต ครั้นเห็นจวนจะสวรรคตแล้ว ก็ยกจู่เข้าปล้นเอาราชสมบัติในเพลานั้น อย่าให้ทันคนอื่นรู้ จึ่งจะได้โดยสะดวก ถ้าแลผู้อื่นรู้การนี้แล้ว ก็จะมีความปรารถนาในราชสมบัติบ้าง แลจะตระเตรียมผู้คนรบพุ่งช่วงชิงกัน จะฆ่าฟันกันตายเป็นอันมาก แล้วก็จะไม่สมคะเนที่คิดไว้ แลจะได้เป็นอันยาก “

หลวงสรศักดิ์ได้ฟังถ้อยคำสมิงพัตบะบอกอุบายชี้แจงดั่งนั้น ก็มีความยินดีนักจึ่งว่า

“ บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก เห็นจะสิ้นพระชนมายุสวรรคาลัย ในสองสามวันนี้เป็นแน่แท้ แลตัวเราเป็นพระราชโอรส มีความปรารถนาในราชสมบัติ แลจะคิดอ่านเอาราชสมบัติ ท่านจะเข้าด้วยเราหรือหาไม่ “

สมิงพัตบะก็ตอบว่า

“ ถ้าท่านจะทำการจริงแล้ว ข้าพเจ้าก็จะช่วยคิดอ่านด้วย อย่าวิตกเลย “
หลวงสรศักดิ์เห็นสมิงพัตบะเข้าด้วยสุจริตจริงแล้ว จึ่งถามว่า คนของท่านมีอยู่มากน้อยเท่าใด สมิงพัตบะบอกว่ามีอยู่สามร้อยเศษ หลวงสรศักดิ์จึ่งว่า

“ ท่านจงตระเตรียมให้พร้อมไว้แต่ในสองสามวัน สรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธทั้งปวง แล้วจงซุ่มไว้อย่าให้ใคร ๆ รู้ “

สมิงพัตบะก็รับคำ แล้วไปจัดแจงผู้คนแลเครื่องศัสตราวุธไว้พร้อมเสร็จทุกประการ ครั้นเวลาค่ำประมาณยามเศษ หลวงสรศักดิ์ก็ขึ้นไปหาพระเพทราชา ณ จวนที่อยู่ ยกมือไหว้แล้วถามว่า

“ บัดนี้เจ้าคุณได้ว่าราชการอย่างไร “

พระเพทราชาก็บอกกิจอันว่าราชการนั้น ให้แจ้งสิ้นทุกประการ หลวงสรศักดิ์จึ่งถามว่า

“ เจ้าคุณว่าราชการบัดนี้ จะเอาราชสมบัติเอง หรือจะให้แก่ผู้ใด “

พระเพทราชาจึ่งบอกว่า

“ ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว บิดาก็จะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระราชวังหลัง “

หลวงสรศักดิ์ได้ฟังดั่งนั้น จึงว่า

“ ถ้าเจ้าคุณจะยอมให้แก่ผู้อื่นไซร้ ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าด้วย “

พระเพทราชาได้ฟังดังนั้น ก็เห็นว่าหลวงสรศักดิ์จะกระทำการใหญ่ จึงว่า

“ เจ้าจะคิดอ่านกระทำเป็นประการใด ๆ บิดาก็จะกระทำตามถ้อยคำทุกประการ “

หลวงสรศักดิ์จึงว่า

“ ผู้คนทแกล้วทหารที่ร่วมใจของเรา มีอยู่มากน้อยสักเท่าใด เจ้าคุณจงให้หาตัวมาให้สิ้น แลให้ตระเตรียมเครื่องศัสตรวุธให้พร้อมมือกัน แล้วให้ซุ่มอยู่ที่วัด แลบ้านทั้งหลาย แยกย้ายกันอยู่ อย่าให้การทั้งหลายเอิกเกริกเฟื่องฟุ้งไป แลเจ้าคุณจงจัดแจงการให้พร้อมไว้แต่ในสองสามวัน แล้วจึ่งส่งคนทั้งหลายไปยังสำนักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะคิดอ่านเอาราชสมบัติให้ได้ “

แลพระเพทราชาก็เห็นด้วยโดยความคิดทุกประการ หลวงสรศักดิ์ก็กราบลากลับไปบ้าน ส่วนพระเพทราชาก็จัดแจงตระเตรียมผู้คนแลเครื่องศัสตราวุธพร้อมเสร็จแล้ว ก็ส่งไปบ้านหลวงสรศักดิ์ แล้วก็ไปว่าราชการอยู่ ณ ตึกพระเจ้าเหา พร้อมด้วยท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย ประชุมกันอยู่ที่นั้น ทุกเพลาเช้าเย็นเป็นนิจกาลมิได้ขาด

ขณะนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ แลพระโรคนั้นก็กำเริบมากขึ้น จะเสวยพระกระยาหารก็ไม่ได้ เกือบใกล้จะสวรรคตอยู่แล้ว

แลหลวงสรศักดิ์ก็คิดการนั้น ด้วยหลวงทรงบาศกรมช้างขวาผู้หนึ่ง เป็นที่ไว้ใจได้ ครั้นเห็นพอจะทำการได้แล้ว จึงให้หาทแกล้วทหารทั้งหลาย แลรามัญพวกสมิงพัตบะมาพร้อมกันแล้ว จึง สั่งว่า

“ ท่านทั้งหลายจงชวนกันไปรับอาวุธแล้วจงแยกย้ายกันไปซุ่มอยู่ทางนั้น ๆ พร้อมกันแต่ในเพลาสามนาฬิกา แล้วจงทำอุบายซ่อนอาวุธเข้าไปในพระราชวังให้จงได้ อย่าให้นายประตูเขาสงสัย ถ้าเราเข้าไป ณ ตึกพระเจ้าเหาสักครู่หนึ่งแล้ว ท่านทั้งหลายจงรีบเข้าไปในที่นั้นให้พร้อมกัน แล้วจงเอาอาวุธพาดเข้าไปตามช่องประตูหน้าต่างตึกนั้น แลแวดล้อมเราอยู่โดยรอบ “

คนทั้งหลายรับคำแล้วก็ไปทำตามถ้อยคำหลวงสรศักดิ์ ทุกประการ ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ก็ใช้ทนาย ให้เข้าไปดูท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย ซึ่งประชุมกันอยู่ ณ ตึกพระเจ้าเหานั้น ว่ามาพร้อมกันแล้วหรือยังประการใด แลทหารก็เข้าไปยังตึกพระเจ้าเหา เห็นท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายมาพร้อมสิ้นแล้ว ยังไม่มาแต่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ผู้เดียว ก็กลับเอาเหตุนั้นมาแจ้งทุกประการ หลวงสรศักดิ์ได้แจ้งเหตุแล้วจึ่งว่า ทำไมแก่อ้ายฝรั่งนั้น มันไม่มาก็แล้วไปเถิด

ครั้นเพลาสายแล้วสามนาฬิกา หลวงสรศักดิ์ก็แต่งกายอันจะให้มีอำนาจ เสร็จแล้วก็เข้าไปในพระราชวังแวดล้อมด้วยนายทหารร่วมใจสิบหกคน แลให้ทนายคนสนิทผู้หนึ่งถือดาบตามเข้าไปด้วย ครั้นเข้าไปถึงตึกพระเจ้าเหาแล้ว ก็นั่งใกล้พระเพทราชา ยกมือไหว้บิดาแล้วจึ่งว่าขึ้นท่ามกลาง ขุนนางทั้งปวงว่า

“ บัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักอยู่แล้ว ถ้าแลพระองค์เสด็จสวรรคตไซร้ ตัวเราเป็นพระราชโอรสจะเอาราชสมบัติ ท่านทั้งหลายจะเข้าด้วยเราหรือไม่ ให้เร่งบอกมา ถ้าผู้ใดไม่เข้าด้วยเรา เราก็จะประหารชีวิตผู้นั้นเสีย “

ขณะเมื่อหลวงสรศักดิ์ว่าขึ้นดังนั้น ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งหลายก็มาพร้อมกันสิ้น แล้วเอาอาวุธพาดเข้าไปตามช่องประตูหน้าต่างตึกนั้นโดยรอบ บ้างก็ถืออาวูธเข้าไปในตึกนั้นเป็นมาก ท้าวพระยาหลวงขุนหมื่นข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย ได้ฟังคำหลวงสรศักดิ์ว่าดังนั้น แล้วเห็นผู้คนถือ ศัสตราวุธเป็นอันมาก ก็ตกใจกลัวยิ่งนัก แลจะคิดอ่านประการใดก็ไม่ได้ ด้วยการนั้นจู่เอามิทันรู้ตัว กลัวความตายก็ต้องนิ่งอยู่มิรู้ที่จะโต้ตอบประการใด

#########




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2558 9:01:43 น.
Counter : 818 Pageviews.  

ตอนที่ ๓๒ ศัตรูพระศาสนา

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๓๑ ศัตรูพระศาสนา

พ.สมานคุรุกรรม

ส่วนหลวงสรศักดิ์ ครั้นเห็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ สึกเอาภิกษุสามเณรออกมาทำราชการเป็นอันมาก ให้ร้อนในพระพุทธศาสนาดั่งนั้น ก็เอาเหตุขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มิได้เอาโทษแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ แลมิได้ตรัสประการใด หลวงสรศักดิ์จึงคิดว่า ไอ้ฝรั่งคนนี้มันเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก จะกระทำผิดสักเท่าใด ก็ทรงพระกรุณามิได้เอาโทษ แลกูจะทำโทษมันเองสักครั้งหนึ่ง จึ่งเข้าไปคอยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ อยู่ที่เคยนั่งว่าราชการในพระราชวังนั้น

ครั้นเพลาเช้าเจ้าพระยาสมุหนายกฝรั่ง เข้าไปในพระราชวัง แล้วก็นั่งว่าราชการในที่นั้น หลวงสรศักดิ์เห็นได้ที ก็เข้าชกเอาปากเจ้าพระนาวิชเยนทร์ ฟันหักสองซี่ แล้วก็หนีออกไปยังบ้าน แลลงเรือเร็วรีบล่องลงไปยังกรุงเทพมหานคร

ส่วนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เมื่อหลวงสรศักดิ์ชกเอานั้นล้มลงอยู่ ครั้นได้สติแล้วก็ลุกขึ้นแลบ้วนฟันออกเสีย แล้วก็เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว มีโลหิตไหลออกจากปากพลางกราบทูลว่า

“ อาญาเป็นล้นเกล้า บัดนี้หลวงสรศักดิ์ชกเอาปากข้าพระพุทธเจ้า ฟันหักไปสองซี่ ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นสมปฤดีล้มสลบลงอยู่ ปิ้มประหนึ่งจะถึงแก่ชีวิต ข้าพระพุทธเจ้าได้ความเจ็บอายแก่ข้าราชการทั้งหลายป็นอันมาก ขอทรงพระกรุณาโปรดลงพระราชอาญาแก่หลวงสรศักดิ์จงหนัก แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งจะสิ้นความเจ็บอาย “

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธแก่หลวง สรศักดิ์ จึ่งดำรัสแก่เจ้าพระยาพิชเยนทร์ว่า

“ ท่านทะเลาะวิวาทกับมันหรือประการใด “

เจ้าพระยาวิชเยนทร์กราบทูลพระกรุณาว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ทะเลาะวิวาทถุ้งเถียงกับหลวงสรศักดิ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น หามิได้ “

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยิ่งทรงพระพิโรธนัก จึ่งดำรัสสั่งตำรวจให้ไปเอาตัวหลวงสรศักดิ์เข้ามา ขุนหมื่นตำรวจรับพระราชโองการแล้ว ก็รีบออกไปเอาตัวหลวงสรศักดิ์ที่บ้าน ครั้นไม่ได้ตัวก็กลับเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึ่งมีพระราชดำรัสให้ตำรวจทั้งหลายไปเที่ยวหาตัวหลวงสรศักดิ์มาให้ได้ แล้วมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่า ท่านจงยับยั้งอยู่ เราจะหาตัวมันให้ได้ก่อน

แลเจ้าพระยาวิชเยนทร์เข้ามาเฝ้าขณะใด ก็กราบทูลกล่าวโทษหลวงสรศักดิ์เพิ่มเติมขึ้นทุกครั้ง

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระวิจารณ์ในคดีนั้น แลทรงพระราชดำริระลึกถึงถ้อยคำ อันหลวงสรศักดิ์กราบทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาวิชเยนทร์แต่ครั้งก่อนนั้น ก็เห็นว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์กระทำผิดจริง จึ่งดำรัสว่า

“ ไอ้เดื่อมันเห็นโทษท่านทำผิด จึ่งชกให้ได้ทุกขเวทนา แลเราจะมีโขนโรงใหญ่ทำขวัญให้แก่ท่าน “

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็มิได้เต็มใจโดยพระราขดำรัสนั้น แลกราบทูลพระกรุณา ขอแต่ให้ทำโทษหลวงสรศักดิ์ถ่ายเดียว

ฝ่ายหลวงสรศักดิ์นั้นก็ไปเฝ้าเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน แลเป็นพระนมผู้ใหญ่ของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้น ถวายบังคมแล้วก็กราบทูลแถลงการอันเจ้าพระยาวิชเยนทร์กระทำให้ร้อนในพระพุทธศาสนาดั่งนั้น แลได้กราบทูลพระกรุณาแล้วก็มิได้เอาโทษ แลว่า

“ ข้าพเจ้ามีความโทมนัสถึงพระพุทธศาสนา อันเจ้าพระยาวิชเยนทร์จะทำให้พระพุทธศาสนาให้พินาศเสื่อมสูญดั่งนั้น จึ่งชกเอาปากเจ้าพระยาสมุหนายก แล้วก็หนีลงมา แลบัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ จะลงพระราชอาญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม อัญเชิญเสด็จขึ้นไปขอพระราชทานโทษ ข้าพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งเถิด “

เจ้าแม่ผู้เฒ่าได้ทรงฟังดั่งนั้นก็เห็นโทษ อันเจ้าพระยาวิชเยนทร์ทำผิด จึ่งเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งขึ้นไปยังเมืองลพบุรี แลเสด็จถึงฉนวนน้ำประจำท่า ก็พาหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปยังพระราชวัง แลให้ยับยั้งอยู่นอกลับแลก่อน แล้วก็เสด็จเข้าเฝ้าข้างใน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็กระทำปัจจุคมนาการ เชิญเสด็จให้สถิตร่วมราชอาสน์แลยกหัตถ์อัญชลีแล้ว ก็ดำรัสถามว่าพระมารดาขึ้นมามีธุระสิ่งใด จึ่งเจ้าแม่เฒ่ากราบทูลโดยเหตุทั้งปวงนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทราบเหตุดังนั้นแล้วก็มีพระราชโองการให้หาหลวงสรศักดิ์มาเฝ้า แล้วก็ตรัสบริภาษเป็นอันมาก แลเจ้าแม่ผู้เฒ่ากราบทูลขอพระราชทานโทษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้ แล้วตรัสบอกประพฤติเหตุทั้งปวง อันหลวงสรศักดิ์ทำกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้น ให้แก่เจ้าแม่ผู้เฒ่าฟังทราบสิ้นทุกประการ แล้วดำรัสให้ยับยั้งอยู่ ณ พระราชวังสองสามวัน แลทรงปฏิบัติด้วยความเคารพอันดี แล้วก็อัญเชิญเสด็จกลับลงไปยังกรุงเทพมหานคร

ในขณะนั้นท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย จำเดิมแต่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าราชการที่สมุหนายกนั้น ก็มิได้เต็มใจ จึ่งปรึกษากันว่าข้าราชการทั้งปวงที่มีสติปัญญาสัตย์ซื่อมั่นคง ควรที่จะเลี้ยงเป็นอัครมหาเสนาบดีได้นั้น ก็พอจะมีอยู่บ้างแลมิทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงขึ้น แลมาโปรดปราณีพระราชทานที่สมุหนายก ให้แก่ไอ้ฝรั่งลูกค้าต่างประเทศ อันมิได้ซื่อสัตย์คิดประทุษร้ายในละอองธุลีพระบาทอยู่ดั่งนี้ ก็มิบังควรยิ่งหนัก

แลถ้อยคำดังว่านี้ ก็ปรากฏมีเนือง ๆ จนทราบถึงพระกรรณ์สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบเหตุดั่งนั้นก็มีพระราชดำริจะแก้ความครหาแห่งข้าราชการทั้งปวง ด้วยทรงพระกรุณาเห็นแท้ว่า เจ้าพระยาวิชเยนทร์มีสติปัญญายิ่งกว่าข้าราชการทั้งสิ้น แล้วได้ของวิเศษต่าง ๆ ให้ทมิฬฝรั่งเศสประเทศ มาถวายเป็นอันมาก จึงโปรดให้เป็นอัครมหาเสนาบดีต่างพระเนตรพระกรรณ์ แลซึ่งจะประทุษร้ายนั้น ทรงพระกรุณาเสี่ยงเอาพระบารมี จะได้สดุ้งพระทัยนั้นหามิได้

ครั้นอยู่มาเพลาหนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ ท้องพระโรงหลวง พร้อมด้วยมุขมาตยเสนาบดี กวีราชปโรหิตาจารย์ เฝ้าอยู่เดียรดาษ มีพระราชดำริจะสำแดงสติปัญญาอันยิ่งแห่งเจ้าพระยาวิชเยนทร์ให้ปรากฏ จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งท้าวพระยาข้าราชการทั้งปวงว่า

“ ท่านทั้งหลายจงช่วยกันเอาปืนพระพิรุณขึ้นชั่งดู แลจะหนักสักกี่หาบ “

จึ่งท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย รับพระราชโองการแล้ว ก็ชวนกันออกมาคิดอ่านการอันจะชั่งปืนนั้น แลจะทำตราชูขั่งให้ใหญ่ เอาสายโซ่ผูกแขวนขึ้นบนไม้คันชั่งปักให้สูง แลจะเอาปืนขึ้นชั่งบนนั้น ก็เห็นตราชูชั่งแลสายโซ่อันผูกนั้น จะทานไว้มิได้ ด้วยพระพิรุณกระบอกนี้ใหญ่หลวงนัก แลคิดอ่านประการใดก็สิ้นสติปัญญา จึ่งเข้ามากราบทูลพระกรุณา โดยเหตุเหลือกำลังที่จะเอาขึ้นชั่งนั้นมิได้

สมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวช้างเผือก ได้ทรงฟังดังนั้น จึ่งแย้มพระโอษฐ์ดำรัสสั่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ว่า

“ ท่านจงออกไปชั่งปืนพระพิรุณให้รู้ว่าหนักสักเท่าใด “

เจ้าพระยาวิชเยนทร์รับพระราชโองการแล้ว จึ่งออกไปคิดการอันจะชั่งปืน แลให้เอาเรือนางเป็ดอันใหญ่หลายลำมาเทียบขนานกันที่ท่า แล้วก็ให้ลากปืนพระพิรุณลงไปในเรือนางเป็ด ที่ขนานนั้น แลเรือหนักจมลงไปเพียงใดก็ให้หมายไว้เพียงนั้น แล้วก็ให้ลากปืนขึ้นมาเสียจากเรือ จึ่งให้ขนเอาอิฐหักแลก้อนศิลามาชั่งให้ได้น้ำหนักเท่าใด ๆ แล้วก็ทิ้งลงไปในเรือ ตราบเท่าจนเรือจมลงไปถึงที่อันหมายไว้นั้น ก็รู้ว่าปืนพระพิรุณหนักเท่านั้น จึ่งเอาเหตุนั้นมากราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ

พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัสดำรัสสรรเสริญสติปัญญาเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ซึ่งเอาปืนขึ้นชั่งได้นั้นเป็นอันมาก แล้วก็มีพระราชโองการตรัสแก่ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า

“ เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์เขามีสติปัญญายิ่งกว่าท่านทั้งปวง ดังนี้หรือมิให้เราเลี้ยงเขาเป็นใหญ่กว่าท่านทั้งปวงเล่า “

แล้วก็ทรงพระกรุณาปูนบำเหน็จ พระราชทานเสลี่ยงงา ให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์ขี่ แล้วมีขบวนแห่หน้าสามร้อยสำหรับยศ แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเบาะสูงศอกหนึ่งขณะเมื่อเข้าเฝ้านั้น แลพระราชทานเครื่องอุปโภคเป็นอันมาก

จำเดิมแต่นั้นมาเจ้าพระยาวิขเยนทร์จะว่าราชการสิ่งอันใด ก็ยิ่งสิทธิ์ขาดขึ้น แล
คิดอ่านพิดทูลสิ่งใด ก็ว่ากล่าวพอพระทัยทุกประการ ท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย ก็ยำเกรงยิ่งนัก.

##########




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2558 8:55:48 น.
Counter : 1474 Pageviews.  

ตอนที่ ๓๑ พระราชบุตรเชลย

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๓๐ พระราชบุตรเชลย

พ.สมานคุรุกรรม

หลังจากพระราชการสงครามเมืองเหนือครั้งนั้นแล้ว จางวางกรมช้างนามพระเพทราชา เดิมเป็นชาวบ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี ผู้ชำนิชำนาญในศิลปศาสตร์คชบาลทำราชการแกล้วกล้า แลมีฝีมือในการสงครามได้กระทำความชอบไว้เป็นหลายหน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเมืองเชียงใหม่ ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ทรงครรภ์ขึ้นมา จึ่งพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่า

“ นางลาวคนนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงในพระราชวัง ก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง แลท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด “

พระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ปีต่อมาพระเพทราชาก็พานางลาวมีครรภ์นั้น ตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระชินราช พระชินสีห์ ณ เมืองพิษณุโลกด้วย ครั้นถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง พอครรภ์นางนั้นแก่ถ้วนทศมาศได้ฤกษ์ดี นางก็ประสูติบุตรชายกอรปด้วยสิริวรรณลักษณะเป็นอันดี บิดาให้นามบัญญัติชื่อเจ้าเดื่อ

ครั้นอยู่มาพอค่อยรู้ความแล้ว ก็สำคัญเอาพระเพทราชาว่าเป็นบิดา แลรักใคร่สนิทติดพันจนวัฒนาขึ้น ก็มีสติปัญญาแกล้วกล้าอาจหาญยิ่งนัก

พระเพทราชาก็นำเอานายเดื่อผู้บุตรเลี้ยงเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาภาพแก่นายเดื่อ มหาดเล็กนั้นเป็นอันมาก

มีพระราชดำริจะใคร่ให้เจ้าเดื่อรู้ตัวว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอ จึงทรงพระกรุณาดำรัสให้เจ้าพนักงานเอาพระฉายมาตั้ง ก็ทรงส่องพระฉายแล้วกวักพระหัตถ์ตรัสเรียกนายเดื่อเข้าไปใกล้พระองค์ แล้วก็ดำรัสว่า

“ เอ็งจงดูเงาในกระจกเถิด “

นายเดื่อมหาดเล็กนั้นก็คลานเข้าไปส่องพระฉายด้วยพระองค์ ก็เห็นเงาเหมือนดังนั้น จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า

“ เอ็งเห็นรูปเรากับรูปเอ็งนั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง “

นายเดื่อก็กราบทูลพระกรุณาว่า

“ รูปทั้งสองอันปรากฏอยู่ในพระฉายนั้น มีพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกัน “

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงเมตตาการุณภาพแก่นายเดื่อมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระราชบุตรนั้นยิ่งนัก ทรงพระกรุณาดำรัสพระราชทาน โอวาทานุสาสน์ แลใช้ในกิจราชการทั้งปวง แล้วพระราชทานเสื้อผ้าข้าวของเงินทองเป็นอันมาก

ส่วนนายเดื่อก็รู้ตัวว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอ โดยพระราชอุบายในวันส่องพระฉายนั้นแล้ว ก็บังเกิดทิฐิมานะขึ้นเป็นอันมาก ก็บริโภคโภชนาหารในพระสุพรรณภาชนะอันเหลือเสวยนั้น แลเอาพระภูษาทรง ซึ่งเจ้าพนักงานตากไว้นั้นมานุ่งห่ม ผู้ใดจะว่ากล่าวก็มิฟัง แต่ทำดั่งนั้นเป็นหลายครั้ง จึ่งเจ้าพนักงานทั้งหลายก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้นก็มิได้ถือ ดำรัสว่า

“ ไอ้เดื่อนี้มันบ้า ๆ อยู่ อย่าถือมันเลย มันชอบใจสิ่งของทั้งนั้นจึงนุ่งห่มบริโภค ตามทีมันเถิด “

จำเดิมแต่นั้นมา นายเดื่อจะปรารถนาเอาสิ่งใด ก็ถือเอาสิ่งนั้นทุกประการ แลจะได้มีผู้ว่ากล่าวนั้นหามิได้

ในครั้งนั้นช้างพลายซ่อมเชือกหนึ่ง เป็นช้างเพชรฆาตสำหรับฆ่าคนโทษถึงตายร้ายกาจยิ่งนัก ถ้าตกน้ำมันแล้ว ถึงหมอช้างผู้ใดที่ดีขับขี่เข้มแข็ง ก็มิอาจสามารถจะขี่ไปลงน้ำได้ แลผูกตรึงไว้ที่โรงนั้น

อยู่มาวันหนึ่งนายเดื่อรู้เหตุดังนั้นก็ไปยังโรงช้างพลายซ่อม แลจะขึ้นขี่พลายซ่อมเอาไปลงน้ำให้จงได้ หมอควาญทั้งหลายห้ามก็มิฟัง เข้าแก้เอาออกจากตะลุง แล้วก็ขึ้นขี่เอาไปลงน้ำได้โดยสะดวก ด้วยบุญญาเป็นมหัศจรรย์ แลอานุภาพสรรพเวทมนต์คาถาวิชาคุณ อันภาวนานั้นด้วยดี จะได้เป็นอันตรายนั้นหามิได้

พระหลวงขุนหมื่นกรมช้างทั้งหลายก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบเหตุดั่งนั้นก็ตกพระทัย จึ่งดำรัสให้กรมช้างทั้งหลายผูกช้างพังหลายเชือก พร้อมไปด้วยเชือกบาศเร่งรีบไปช่วยโดยเร็ว พอนายเดื่อเอาช้างพลายซ่อมไปลงน้ำ แล้วกลับขึ้นมาถึงโรงได้โดยปกติ แลผูกไว้ในโรงดังเก่า กรมช้างทั้งหลายก็กลับเอาเหตุมากราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ

พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทราบประพฤติเหตุอันนายเดื่อขี่ช้างพลายซ่อมได้ปราศจากอันตรายดังนั้น ก็ทรงปรีดาโสมนัส จึ่งดำรัสให้นายเดื่อมหาดเล็กเข้ามาเฝ้า แล้วก็มีพระราชโองการตรัสว่า

“ ตัวเอ็งขี่ช้างแกล้วกล้าเข้มแข็งนัก เอ็งจงเป็นหลวงสรศักดิ์ ไปช่วยราชการบิดาแห่งเอ็งในกรมช้างเถิด “

แต่นั้นมานายเดื่อก็เป็นหลวงสรศักดิ์ กระทำราชการสนองพระเดชพระคุณข้างกรมช้าง แลครั้งนั้นพระบาทบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังเมืองลพบุรีเนือง ๆ แลเสด็จไปประพาสตำบลสระแก้ว แล้วให้กระทำพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี แลเสด็จสำราญพระทัยอยู่ในที่นั้น แลทรงพระกรุณาดำรัสให้ทำคลองปากจั่นออกจากสระแก้ว ตรุศิลายาปูนเป็นอันดี แล้วให้ขุดคลองไขน้ำมาแต่ทะเลชุบศร ตราบเท่าถึงคลองปากจั่นสระแก้วนั้น แล้วให้ตั้งพระนิเวศไว้ที่นั้น แลเสด็จไปประพาสตำบลนั้นเนือง ๆ แล้วก็เสด็จกลับยังพระราชวัง แลเมืองลพบุรีก็สนุกสุขสำราญ เป็นพระบรมราชนิเวศสถานขึ้นในครั้งนั้น

จึ่งสมเด็จบรมบาทพระนารายณ์ราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพนักงาน จัดการก่อพระมหาปราสาทสองพระองค์ ครั้นเสร็จแล้วก็พระราชทานนามบัญญัติ ชื่อพระที่นั่งสุธาสวรรย์องค์หนึ่ง พระที่นั่งหิรัญมหาปราสาทองค์หนึ่ง แล้วทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร มหาธาตุ เจดีย์ แลกุฎีศาลา ในอารามทั้งหลายทั่วจังหวัดเมืองลพบุรีที่ชำรุดปรักนั้น ให้ถาวรขึ้นดังเก่าแล้วเสร็จ แลพระองค์เสด็จอยู่ ณ เมืองลพบุรีในเหมันตฤดู แลคิมหันตฤดู

แลเสด็จลงมาประทับอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร แต่เทศกาลวัสฤดู สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเสวยไอยสวรรยาธิปัติถวัลยราช ณ เมืองลพบุรี แลพระนครศรีอยุธยา เป็นสุขานุสุขยิ่งนัก

พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามเจ้าฟ้าน้อย ครั้นโสกันต์แล้วพระราชทานพระนามชื่อเจ้าฟ้าอภัยทศ แลทรงพระกรุณาโปรดให้อยู่ ณ ตำหนักวังหลัง

แลพระองค์มีพระราชบุตรีองค์หนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นกรมหลวงโยธาเทพ

แลซึ่งสมเด็จพระบรมภคินีนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นกรมหลวงโยธาทิพ แลเสด็จอยู่ ณ พระตำหนักตึกในพระราชวัง

ครั้งนั้นพระยาวิชเยนทร์ฝรั่งกระทำราชการดี มีความชอบมากขึ้น ทรงพระกรุราโปรดให้เลื่อนที่ขึ้นเป็นเจ้าพระยา แลให้บังคับราชการว่าที่สมุหนายก แลทรงพระกรุณาโปรดให้พระยารามเดโชออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช
ให้พระยารามขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมา คราวเดียวกันนั้น

ส่วนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ผู้ว่าราชการที่สมุหนายก ให้ก่อตึกสี่เหลี่ยมอันใหญ่ แลตึกเวียนมีกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นที่อยู่ แลตึกฝรั่งอื่นทั้งหลายเป็นอันมาก ที่ตำบลใกล้วัดปืน แลคิดอ่านกระทำการทั้งปวงต่าง ๆ ปรารถนาจะคิดเอาราชสมบัติ แลจะทำกลอุบายที่จะประทุษร้ายเป็นประการใด ๆ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระทัย แต่มิได้เอาโทษ ด้วยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เอาใจใส่ในกิจราชการทั้งปวงเป็นอันมาก แลสึกเอาภิกษุ สามเณร มากระทำราชการทั้งปวงครั้งนั้นก็มาก

ขณะนั้นสมเด็จพระบรมบพิตรพระนารายณ์เป็นเจ้า ทรงพระนามปรากฏว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมืองลพบุรี เหตุว่าพระองค์เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติ ณ เมืองลพบุรี แลทรงพระกรุณาให้ตกแต่งปฏิสังขรณ์ ป้อมค่ายหอรบ เชิงเทินปราการเมือง แลสระน้ำที่เสวย แลที่ชำรุดปรักพังนั้นเสร็จ แลพระองค์เสด็จสำราญพระราชหฤทัยในที่นั้น.

#############




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2558 19:12:08 น.
Counter : 340 Pageviews.  

ตอนที่ ๓๐ สงครามเมืองเหนือ

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๓๐ สงครามเมืองเหนือ

พ.สมานคุรุกรรม

ถึงปีฉลูหลังจากที่นายปานกลับจากการไปเจริญพระราชไมตรี ณ เมืองฝรั่งเศสได้ปีเดียว เจ้าพระยาโกษาธิบดี ผู้เป็นพี่ชายก็ป่วยลง ทรงพระกรุณาให้พระหลวงขุนหมื่นแพทย์ทั้งหลายไปพยาบาล แลโรคนั้นเป็นสมัยกาลแห่งชีวิตขัย ก็ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิอาจกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ ทรงพระอาลัยในเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก แลเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กคนนี้เป็นลูกพระนม แลได้รับพระราชทานนมร่วมเสวยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานฌาปนกิจตามอย่างเสนาบดี

เสร็จแล้วจึ่งมีพระราชโองการตรัสปรึกษาด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่คิดอ่านล่อลวงเป็นหลายครั้ง ยังมิหนำซ้ำกลับแข็งเมืองต่อรบอีกเล่า แลจะละพระยาแสนหลวงไว้นั้นมิได้ จำจะยกพยุหโยธาทหารไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ จะเห็นเป็นประการใด

ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ก็เห็นพร้อมโดยพระราชดำรินั้น สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำรัสให้จัดกองทัพพลฉกรรจ์สี่หมื่น ช้างเครื่องสองร้อย ม้าสี่ร้อย สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ ปืนใหญ่น้อย กระสุนดินประสิวให้พร้อมไว้ แลดำรัสให้หานายปานผู้น้องเจ้าพระยาโกษาธิบดีอันถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งรับอาสาออกไปได้ราชการ ณ เมืองฝรั่งเศสนั้น เข้ามาเฝ้าแล้วก็มีพรราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้นายปานเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แลทรงพระกรุณาดำรัสว่า

“ ขุนเหล็กพี่ท่านซึ่งถึงแก่มรณภาพนั้น ชำนิชำนาญในการอันเป็นแม่ทัพ แลบัดนี้เราจะให้ท่านเป็นที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี แลจะให้เป็นแม่ทัพแทนพี่ชาย ไปตีเมืองเชียงใหม่ยังจะได้หรือมิได้ “

เจ้าพระยาโกษาปานจึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอลองศึกดูก่อน แลจะขอรับพระราชทานพระราชอาญาสิทธิ์เหมือนพระโองการนั้น ถ้าแลเห็นจะทำสงครามได้แล้ว ก็จะขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ทูลเกล้าถวายให้จงได้ “

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ชอบพระทัยในถ้อยคำเจ้าพระยาโกษากราบทูลนั้น ทรงพระโสมนัสดำรัสสรรเสริญสติปัญญาเป็นอันมาก แลทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงดาบต้นอันทรงอยู่นั้น ให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เพื่อจะให้สิทธิ์ขาดพระราชอาญาสิทธิ์ แลโปรดพระราชทานให้รับพระโองการดั่งนั้น แล้วดำรัสอนุญาตว่า ท่านจงไปลองศึกดูตามความปรารถนาเถิด

เจ้าพระยาโกษาจึ่งรับพระราชทานพระแสงดาบแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาออกมายังศาลาลูกขุนใน จึ่งสั่งมหาดไทยกลาโหม ให้แจกพระราชกำหนดข้าทูลละอองทุลีพระบาททั้งหลาย ฝ่ายทหาร พลเรือน กะเกณฑ์พลสามพัน ให้ยกไปตั้งค่ายตำบลที่ใกล้พะเนียดโดยกว้างสามเส้น โดยยาวสามเส้นสิบวา แลให้ตัดไม้ไผ่มาตั้งค่ายเอาปลายปักลงให้สิ้น ขุดมูลดินเป็นสนามเพลาะ ปักขวากหนามตามธรรมเนียมพร้อมเสร็จ ให้สำเรจแต่วันพรุ่งรุ่งแล้วสามนาฬิกา ถ้าแลเราไปเลียบค่าย หน้าที่ผู้ใดไม่สำเร็จในเพลานั้น ก็จะลงโทษแก่ผู้นั้นถึงสิ้นชีวิต

เจ้าพระยาจักรี กลาโหม แลท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลาย ได้แจ้งพระราชกำหนดดังนั้น ก็สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก ต่างคนต่างเร่งกะเกณฑ์กันทุกหมู่ทุกกรมในวันนั้น ได้พลมาสามพันแล้วก็ให้ไปตัดไม้ไผ่อันจะมาทำเป็นเสาค่ายนั้นคนละสองท่อน แล้วก็ยกขึ้นไปยังที่ใกล้พะเนียด แบ่งปันหน้าที่กันตั้งค่ายแต่ในเพลากลางคืนวันนั้นทุกหมู่ทุกกรม แลปักเสาเอาปลายลงดินเอาต้นขึ้นสิ้น ชิดกันเป็นถ่องแถวแต่เบื้องบน เบื้องล่างนั้นห่างกันไปเป็นอันมาก แลกระทำการทั้งปวง พอรุ่งก็สำเร็จ

ในขณะนั้นขุนหมื่นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่ง เห็นเชิงค่ายทั้งหลายห่างกันนักจึ่งปักกลับเอาต้นลงดิน แทรกเข้าเสาหนึ่งในระหว่างอันห่างนั้น แล้วว่าแต่ก่อนเขาทำมาดังนี้ แลซึ่งเอาปลายปัก ลงดินนี้ มิเคยเห็นทำมาแต่ก่อน

จึ่งเจ้าพระยาโกษาก็สั่งแก่เจ้าพนักงานทั้งหลาย ให้ตระเตรียมราชพาหนะแลเครื่องขัตติยราชาบริโภคทั้งปวง ไว้รับโดยทางชลมารค สถลมารค พร้อมเสร็จแล้ว ครั้นรุ่งเช้าแล้วเพลาสามนาฬิกา เจ้าพระยาโกษาธิบดี ก็ลงสู่เรือพระที่นั่ง นพรัตนพิมานกาญจนอลงกต มหานาวาเวไชยันต์ อันอำไพไปด้วยเศวตฉัตรพัดโบกจามร บังพระสุริเยนทร์บังแซกแซงสลอนสลับ สรรพด้วยอภิรุมชุมสายพรายพรรณ กลดกลิ้งกันชิงมาศดาษดา ดูมโหฬารเลิศพันลึกอธึกด้วยเรือกัน แลเรือท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายรายเรียงขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพร้อมเสร็จ ก็เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จพระราขดำเนินนั้น

ครั้นได้ศุภฤกษ์ก็ให้ลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ ดุริยางคดนตรีสนั่นกาหลกึกก้องกลองชนะ โครมครื้นเพียงพื้นนทีธารจะทำลาย ให้ขยายพยุหยาตราคลาเคลื่อนเลื่อนตามขบวน แห่แหนแน่นไปโดยชลมารค ตราบเท่าถึงที่ประทับตำบลเพนียด

เจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง สถิตยังพลับพลาอันเป็นที่ราชาอาสน์เดียรดาษด้วยท้าวพระยาทั้งปวง แวดล้อมโดยซ้ายขวาหน้าหลัง แล้วก็ขึ้นขี่ช้างพระที่นั่ง บรมราชคชาธารสารตัวประเสริฐ เพริดพร้อมด้วยเครื่องสูงแลธงฉานธงชัย ดูไสวไพโรจน์ด้วยท้าวพระยาเสนาบดี พริยโยธาหารแห่เป็นขนัด โดยขบวนบรมราชพยุหยาตราสถลมารค เลียบค่ายไป
จึ่งเห็นไม้เสาลำหนึ่งปักเอาต้นลงดิน ก็ให้หาตัวเจ้าหน้าที่นั้นเข้ามาแล้วจึ่งถามว่า ท่านกระทำดั่งนี้จริงหรือ เจ้าหน้าที่กราบเรียนว่าจริง เจ้าพระยาโกษาจึ่งว่า

“ ตัวท่านละเมิดมิได้ทำตามพระราชโองการแห่งเรา โทษท่านถึงตาย “

แล้วก็ให้ประหารชีวิตเสีย แลให้ตัดเอาศรีษะเสียบไว้ที่ปลายไม้เสาค่ายลำนั้น แล้วก็คืนลงสู่เรือพระที่นั่งกลับเข้ามายังพระราชวัง

เจ้าพระยาโกษาทำครั้งนั้นเพื่อให้คนทั้งหลายเข็ดขาม คร้ามอำนาจอาญาสิทธิ์ขาด ในราชการงานสงครามครั้งนั้น ครั้นมาถึงพระราชวังก็ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถวายพระราชโองการอาญาสิทธิ์ และพระแสงดาบคืนเสีย แล้วก็กราบทูลแถลงการทั้งปวงซึ่งไปลองศึกนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ แล้วบังคมทูลพระกรุณาขออาสาไปตีเอาเมืองเชียงใหม่มาทูลถวาย

จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังดั่งนั้น ก็ทรงโสมนัสดำรัสสรรเสริญเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก แล้วก็มีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพหลวง แลให้พระยาวิชิตภักดีเป็นยกกระบัตร พระยาสุรินทรภักดีเป็นเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชเปแนกองหน้า พระยาสุรสงครามเป็นกองหลัง ถือพลช้างม้าพลานิกรเดินเท้าทั้งหลาย ยกขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงใหม่

ครั้นถึงอธิกมาศศุภปักษ์ดิถี ได้มหาสวัสดิพิชัยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาธิบดีแล้วท้าวพระยานายทัพทั้งหลาย ก็กราบถวายบังคมลายกกองทัพบกเรือไปจากกรุงเทพมหานคร โดยลำดับฃลมารคสถลมารค ไปพร้อมทัพ ณ เมืองเถิน แล้วก็ให้ตรวจจัดกองทัพแยกกันออกเป็นหมวดเป็นกอง ตามพิชัยสงครามพร้อมเสร็จ ยกพยุหโยธาทหารขึ้นไปโดยวิถีสถลมารคตราบเท่าถึงเมืองนคร แลหยุดยั้งตั้งค่ายมั่นอยู่ใกล้เมืองนั้น

ชาวเมืองนครได้รบพุ่งป้องกันต้านทานอยู่สามวัน กองทัพไทยก็ได้เมืองนคร แลได้ช้างม้าเครื่องศัตรวุธ แลลาวเชลยเป็นอันมาก ก็ยกตีบ้านน้อยบ้านใหญ่ตามระยะทางขึ้นไป ตีตำบลใดก็ได้ตำบลนั้น ด้วยอำนาจอาญาสิทธิ์เจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพหลวง จะว่าราชการสิ่งใดในงานสงครามทั้งปวง ก็สำเร็จเด็ดขาดด้วยอำนาจนั้นทุกประการ

กองทัพของเจ้าพระโกษาธิบดีก็ยกไปถึงเมืองลำพูน พลลาวชาวเมืองต้านทานอยู่ได้เจ็ดวัน ก็เสียเมือง กองทัพไทยก็รุกไล่ไปจนถึงเมืองเชียงใหม่ และเข้าล้อมเมืองไว้ เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ให้ท้าวพระยาเสนาลาว ยกกองทัพออกตีทัพไทยที่ล้อมอยู่นั้นเป็นหลายครั้ง แต่ก็แตกฉานพ่ายไปทุกครั้ง ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาแม่ทัพ ครั้นเห็นการพอจะหักเอาเมืองได้แล้ว ก็แต่งหนังสือบอกการอันได้รบพุ่งทั้งปวง เห็นพอจะเอาชัยชำนะได้แล้ว ให้ม้าเร็วยี่สิบสามม้า ถือลงไปกราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานคร

จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบเหตุดั่งนั้นก็ทรงปราโมทย์ยิ่งนัก แลดำรัสให้ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลาย ตรวจจัดกองทัพพลฉกรรจ์หกหมื่น ช้างเครื่องห้าร้อย ม้าเครื่องห้าร้อย สรระด้วยเครื่องศัสตราวุธ แลเสบียงอาหารให้พร้อมเสร็จ แล้วเสด็จไปงานพระราชการสงคราม ณ เมืองเชียงใหม่ ทางชลมารคโดยกองทัพเรือ แลให้กองทัพบกแยกไปคอยรับเสด็จที่เมืองเถิน แล้วทรงช้างพระที่นั่งพังกินรวิหค พยุหยาตราโยธาหาญไปโดยสถลมารควิถีถึงเมืองลำพูน แล้วให้มีตราตอบขึ้นไปยังกองทัพสมเด็จเจ้าพระยาว่า ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินยกมาช่วย กองทัพที่ล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น ให้ล้อมมั่นไว้อย่าเพิ่งหักเอาเมืองก่อน แลให้คอยท่าทัพหลวง กว่าจะเสด็จขึ้นไปถึง

ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ก็ให้ตั้งค่ายหลวงแลพลับพลาที่ประทับไว้คอยรับเสด็จ จึ่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือก ก็เสด็จยกพยุหยาตราโยธาทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ แลเสด็จประทับอยู่ ณ ค่ายอันกองทัพทำไว้รับเสด็จนั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดีแลท้ายพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็เข้าเฝ้า กราบทูลข้อราชการทั้งปวงให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดำรัสให้พระโหราหาฤกษ์ แล้วมีพระราชกำหนดให้จัดช้างม้า พลาพลเดินเท้า แลทหารคนดีมีวิชาทั้งหลาย ให้พร้อมไว้แต่ในห้าวัน แลกระทำบันไดน้อยใหญ่กว่าพันอันสำหรับจะป่ายปีนปล้นเมือง แลช้างทั้งหลายนั้นก็ให้ทำเกือกหนัง เสื้อหนัง หน้าร่าห์หนัง ใส่ครบทุกตัว แลพลโยธาหาญนั้นก็ให้ตกแต่งกายใส่หมวกแลเสื้อแลรองเท้าล้วนทำด้วยหนังทั้งสิ้น เพื่อกันความร้อนจากกรวดทรายคั่วและน้ำมันยางเคี่ยว ที่ข้าศึกจะใช้ซัดราดเทลงมาจากเชิงเทิน ถ้วนทุกคน

เมื่อได้ดิถีฤกษ์จึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด้จมาหยุดยืนพระคชาธาร มีพระราชโองการตรัสให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลาย ขับพลทหารเอาบันไดน้อยใหญ่พาดกำแพงเมือง ป่ายปีนขึ้นไป แลให้วางปืนใหญ่ระดมยิงเข้าไปตามเชิงเทินเมืองนั้น ทุกป้อมพร้อม ๆ กัน ชาวเมืองสุดที่จะต้านทานได้ก็แตกพ่าย ทหารไทยก็เข้าเมืองเชียงใหม่ได้ในเพลารุ่งขึ้นวันนั้น แล้วก็ไล่จับพระยาแสนหลวงเจ้าเมือง แลบุตรภรรยาญาติวงศ์ได้สิ้น แลได้ตัวท้าวพระยาลาวเสนาบดีทั้งหลาย แลครอบครัวชาวเมือง ช้างม้าเครื่องศัสตราวุธ ปืนใหญ่ปืนน้อย แลสิ่งของต่าง ๆ เป็นอันมาก แล้วก็คุมครอบครัวส่งออกไปยังค่ายหลวงสิ้น

เจ้าพระยาโกษาธิบดีก็จัดสรรบุตรีเจ้าเมือง แลบุตรีท้าวพระยาเสนาลาวทั้งหลายที่มีสรีระรูปอันงามนั้นเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ทรงเลือกบุตรีเจ้าเมืองไว้เป็นพระสนม แลซึ่งบุตรีแสนท้าวพระยาลาวทั้งหลายนั้น ก็ทรงแจกพระราชทานให้แก่ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงทั่วกัน
แลเสด็จประทับยับยั้งอยู่ประมาณสิบห้าวันกว่าหัวเมืองจะสงบ แลหัวเมืองทั้งหลายซึ่งขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่เป็นปกติแล้ว จึ่งเลิกทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทางสวรรคโลก แลประทับแรมอยู่อยู่ ณ เมืองสุโขทัยสิบห้าวัน แลดำรัสให้กองทัพท้าวพระยาหัวเมืองปากใต้ทั้งหลายสองหมื่นเศษ คุมเอาช้างม้าพลาพลเดินเท้าอันป่วยเจ็บทุพลภาพ แลครอบครัวชาวเชลยทั้งหลายอันตีได้นั้น แยกไปลงทางท่าเรือเมืองกำแพงเพชร

แล้วก้เสด็จกรีธาพลาพลทัพหลวงจากเมืองสุโขทัย มาโดบลำดับมารควิถี ถึงเมืองพิษณุโลก แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอารามวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ถวายนมัสการพระพุทธปฏิมา แล้วกระทำมหาสักการบูชา แล้วเล่นการมหรสพสมโภชสามวัน แลเสด็จยับนั้งอยู่เมืองพิษณุโลกเจ็ดวัน จึ่งดำรัสให้กองทัพยกแยกลงไป แล้วเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองพิษณุโลก มาโดยชลมารคด้วยพระฃลวิมาน พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาหาญ แห่แหนเป็นขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลัง เสด็จถึงกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา

เมื่อเสด็จขึ้นสู่พระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานรางวัลแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายเป็นอันมาก ตามลำดับฐานาศักดิ์

จำเดิมแต่นั้นมาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพ แห่งพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ลือชาปรากฏไปทั่วทิศานุทิศ กรุงเทพมหานครครั้งนั้นก็เกษมสุขสมบูรณ์ยิ่งนัก.

############

ความคิดเห็นที่ 1
เสริมหน่อยนะครับ เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในความคลาดเคลื่อนในพงศาวดารครับ เพราะสงครามเชียงใหม่ในพงศาวดารเกิดในจุลศักราช ๑๐๒๓(พ.ศ.๒๒๐๔) ก็ยังใกล้เคียงกับพงศาวดารพม่าที่ว่าเสียเมืองเชียงใหม่เมื่อ จุลศักราช ๑๐๒๔(พ.ศ.๒๒๐๕) แต่เหตุการไปฝรั่งเศสในพงศาวดารไม่มีระบุปีเลยเอามาจับวางไว้ก่อนหน้าเหตุการณ์ตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตามหลักฐานร่วมสมัยแล้ว คณะทูตของออกพระวิสุทสุนธร(ปาน)ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุทธยาเมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ แล้วกลับเข้ามาใน พ.ศ.๒๒๓๐ ครับ

ส่วนเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก)ตามหลักฐานร่วมสมัย ถึงแก่กรรมใน พ.ศ.๒๒๒๖ ก่อนโกษาปานเดินทางไปฝรั่งเศส

ผู้ที่ทำศึกไปตีเมืองเชียงใหม่ต้องเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) แต่พงศาวดารก็เอาโกษาปานมารับบทแทน และยังเขียนให้ดูมีเกียรติยศมากมายเช่น "ให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เพื่อจะให้สิทธิ์ขาดพระราชอาญาสิทธิ์ แลโปรดพระราชทานให้รับพระโองการดั่งนั้น"

คือให้คำสั่งของโกษาปานเป็น 'พระราชโองการ'

หรือการเดินทางด้วยเรือพระที่นั่งและใช้เครื่องสูงเสมอพระเจ้าอยู่หัว
"เจ้าพระยาโกษาธิบดี ก็ลงสู่เรือพระที่นั่ง นพรัตนพิมานกาญจนอลงกต มหานาวาเวไชยันต์ อันอำไพไปด้วยเศวตฉัตรพัดโบกจามร บังพระสุริเยนทร์บังแซกแซงสลอนสลับ สรรพด้วยอภิรุมชุมสายพรายพรรณ กลดกลิ้งกันชิงมาศดาษดา ดูมโหฬารเลิศพันลึกอธึกด้วยเรือกัน แลเรือท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายรายเรียงขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพร้อมเสร็จ ก็เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จพระราขดำเนินนั้น"

ซึ่งไม่เคยมีขุนนางคนไหนจะกล้าตีเสมอพระเจ้าอยู่หัวครับ ต่อให้ได้รับอาญาสิทธิ์จากพระเจ้าอยู่หัวให้มีสิทธิขาดในการบัญชาการ ก็คงไม่มีการใช้เครื่องสูงเสมอพระเจ้าอยู่หัว หรือใช้ 'พระราชโองการ' เป็นแน่ครับ เรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นการเสริมแต่งขึ้นเพื่อยกยอเกียรติของโกษาปานซึ่งเป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีครับ


แล้วก็อิงตามหลักฐานร่วมสมัย ตำแหน่ง 'โกษาธิบดี' หรือ 'พระคลัง' ของออกพระวิสุทธสุนธร(ปาน)น่าจะได้มาในช่วงที่พระเพทราชายึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ได้แล้วครับ เพราะในสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.๒๒๓๐ ที่ตราตอนโกษาปานกลับอยุทธยามาแล้ว ตำแหน่งโกษาธิบดีเป็นของออกญาพระเสด็จครับ เพราะในสนธิสัญญาเขียนไว้ว่า 'ออกญาพระเสดจสุเรนทราธิบดีศรีสุปราชพิริยพาหุ ผูว่าราชการณทืโกษาธิบดี'

อิงจากหลักฐานของนายพลเดส์ฟาร์ฌส์ระบุว่า ในช่วงรัฐประการออกพระเพทราชาเป็นคนตั้งออกพระวิสุทสุนธรให้เป็น 'Barcalon(พระคลัง)' แต่ตอนนี้น่าจะยังเป็นแค่ 'พระยา' เพราะอิงตามหลักฐานของพันตรีโบช็องป์ระบุว่าเมื่อพระเพทราชาครองราชย์จึงตั้งโกษาปานเป็น 'Grand Barcalon' ซึ่งก็น่าจะเป็นตำแหน่ง 'เจ้าพระยาพระคลัง' นั่นเองครับ โดยโกษาปานจะลงบรรดาศักดิ์และทินนามเวลาเขียนจดหมายว่า 'เจ้าพระญาศรีธรรมราช' ครับ

ศรีสรรเพชญ์
22 นาทีที่แล้ว
เจียวต้าย ถูกใจ

ความคิดเห็นที่ 2
ขอบคุณเช่นเคยครับ พลิก พงศาวดารฉบับนี้เเรียบเรียง ในสมัยกรุงรัตนโกสิทร์

โดย สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนครับ.

เจียวต้าย
1 นาทีที่แล้ว




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2558 19:00:44 น.
Counter : 1028 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.