Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ ๒ ผลัดแผ่นดิน

พลิกพงศาวดาร ตอนที่ ๒

ผลัดแผ่นดิน

พ.สมานคุรุกรรม

สมเด็จพระยารามราชบุตรเสวยราชสมบัติต่อมาได้สิบสี่ปี ทรงพระพิโรธเจ้าพระยามหาเสนาบดี จะให้จับตัว แต่พระยามหาเสนาบดี หนีไปอยู่ที่เมืองปะทาคูจาม ไปเชิญสมเด็จพระอินทราชาซึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ให้มาชิงราชสมบัติ สมเด็จพระอินทราชาเห็นชอบด้วยแล้ว ก็จัดจัดแจงพลทหารเป็นอันมากยกออกจากเมืองสุวรรณบุรี มาถึงในเวลากลางคืน เข้าปล้นเอากรุงศรีอยุธยาได้

พระยามหาเสนาบดีจึงอัญเชิญ สมเด็จพระอินทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ.๑๙๔๔ สมเด็จพระอินทราชา จึงโปรดให้สมเด็จพระยาราม ไปครองราชย์สมบัติอยู่ ณ เมืองปะทาคูจาม และพระราชทานบำเหน็จแก่เจ้าพระยามหาเสนาบดี ด้วยบุตรีพระสนมองค์หนึ่ง เจียดทองคำคู่หนึ่ง พานทองคำคู่หนึ่ง กระบี่กั้นหยั่น เสลี่ยงงาแลเสลี่ยงกลีบบัว

อีกสองปีต่อมา จึงให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสามพระองค์คือ เจ้าอ้ายพระยาไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาไปครองเมืองแพรกศรีราช แลเจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท

ต่อมาอีก ๑๗ ปี ถึง พ.ศ.๑๙๖๑ สมเด็จพระอินทราชาเสด็จสวรรคต เจ้าอ้ายพระยา กับเจ้ายี่พระยา ยกเข้ามาชิงราชสมบัติแก่กัน เจ้าอ้ายพระยายกมาตั้งอยู่ตำบลป่ามะพร้าว ณ วัดพลับพลาชัย เจ้ายี่พระยามาตั้ง ณ วัดชัยภูมิ จะเข้าทางตลาดเจ้าพรหม ช้างต้นเข้ามาปะทะกันที่เชิงสะพานป่าถ่าน ทั้งสองพระองค์ทรงพระแสงของ้าว ต้องพระศอขาดพร้อมกันทั้งคู่

มุขมนตรีจึงออกไปเฝ้าเจ้าสามพระยา ทูลอาการซึ่งพระเชษฐาธิราช ขาดคอช้างทั้งสองพระองค์ แล้วเชิญเสด็จเข้ามาในพระนคร ครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า จึงมีพระราชดำรัสให้ขุดศพพระเจ้าพี่ยาทั้งสองไปถวายพระเพลิง สถานที่ถวายพระเพลิงนั้นให้สถาปนาเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดราชบูรณะ สถานที่ซึ่งทั้งสองพระองค์ชนช้างถึงทิวงคตนั้น ให้ก่อเจดีย์สององค์ไว้ที่เชิงสะพานป่าถ่าน

ในรัชกาลนี้ได้เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่อีก ใน พ.ศ.๑๙๗๓ ได้เชลยมาแสนเศษ แต่อีกสี่ปีต่อมาก็เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอได้รับราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๑๙๗๗ ทรงพระนามว่า พระบรมไตรโลกนาท ครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ถึง ๑๘ ปี

แล้วแผ่นดินก็ได้ผลัดเปลี่ยนต่อมาอีกสี่รัชกาลคือ

พ.ศ.๒๐๑๖ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

พ.ศ.๒๐๕๒ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร

พ.ศ.๒๐๕๖ สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร พระชนมายุ ๕ พรรษา เสวยราชสมบัติได้เพียง ๕ เดือน ก็ถูก พระไชยราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ คิดประทุษร้าย จับไปสำเร็จโทษเสีย แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแทน

พ.ศ.๒๐๖๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า ได้เสด็จยกพยุหยาตราทัพไปเมืองเชียงใหม่จากเดือนยี่ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ จนถึงเดือนสี่ขึ้นเก้าค่ำ จึงได้เมืองเชียงใหม่ แต่พักอยู่เพียง ๒๐ วัน ก็ยาตราทัพหลวงออกจากเมืองเชียงใหม่กลับพระนครศรีอยุธยา ยังม่ทันถึงก็ประชวร และเสด็จสวรรคตเสีย

ขณะนั้นพระเจ้าลูกเธอพระองค์พี่คือ พระยอดฟ้า มีพระชนมายุเพียง ๑๑ พรรษา ผู้น้องคือ พระศรีศิลป์ พระชนม์ได้ ๕ พรรษา ส่วนพระเทียรราชาซึ่งเป็นพระราชวงศ์ของสมเด็จพระไชยราชา ทรงดำริว่าถ้าจะอยู่เป็นฆารวาส เห็นภัยจะบังเกิดมีเป็นมั่นคง ไม่เห็นสิ่งใดจะเป็นที่พึ่งได้ นอกจากพระพุทธศาสนาและผ้ากาสาวพัตร์ อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ จะเป็นที่พำนักให้พ้นอุปัทวอันตราย จึงได้เสด็จออกไปอุปสมบทเป้นพระภิกษุอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน

ฝ่ายสมณพราหมณาจารย์ มุขมนตรี กวีราช นักปราชย์ราชบัณฑิต โหรราชครู จึงประชุมพร้อมกัน แล้วก็เชิญพระยอดฟ้าเสด็จผ่านพิภพถวัลยราชสืบศรีสุริยวงศ์ โดยให้สมเด็จพระชนนี แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นผู้สำเร็จราชการ ช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดินสืบไป.

##########




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2554    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2554 12:30:14 น.
Counter : 659 Pageviews.  

ตอนที่ ๑ สี่แผ่นดินต้น

พลิกพงศาวดาร ตอนที่ ๑

สี่แผ่นดินต้น

พ.สมานคุรุกรรม

ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับของพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฯ บันทึกไว้ว่าพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์ของกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาฯ เมื่อขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว กรุงเทพทาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๙๓ นั้น มีพระชนมพระพรรษาได้สามสิบเจ็ดพรรษา ได้โปรดให้สร้างพระที่นั่งเป็นปราสาทขึ้นสามองค์ แล้วจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวร ขึ้นไปครองเมืองลพบุรี และโปรดให้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า หรือขุนหลวงพะงั่ว พระเชษฐาของพระอัครมเหสี ไปครองเมืองสุพรรณบุรี

ครั้งนั้นมีประเทศราชขึ้นอยู่ด้วย ๑๖ เมือง แต่กรุงกัมพูชาไม่ยอมขึ้นด้วย จึงให้เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร ให้ยกทัพไปปราบปรามเมืองกัมพูชา พระราเมศวรยกพลห้าพัน รอนแรมไปถึงยังไม่ทันได้ตั้งค่าย ก็ถูกพระยาอุปราชของกรุงกัมพูชา ยกมาตีทัพหน้าแตกร่นมาปะทะทัพหลวงแม่ทัพหน้าตายในที่รบ บรรดานายทัพนายกองทัพหลวงที่มีกำลังกล้าหาญ ก็ช่วยกันรบตีกองทัพเขมรแตกหนีไปแล้วพระราเมศวรจึงให้ตั้งค่ายมั่นลงในที่ห่างพระนคร ประมาณ ๒๐๐ เส้นเข้าปล้นพระนครอยู่เป็นหลายครั้ง ก็ตีหักเข้าไปมิได้ จึงมีใบบอกเข้ามากราบทูลสมเด็จพระราชบิดาขอกองทัพไปช่วย

เมื่อมีข่าวมาถึงพระนคร ก็มีพระบรมราชโองการ ให้อัญเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า จากเมืองสุพรรณบุรี ให้ยกทัพไปช่วย พระบรมราชาธิราชเจ้ายกทัพพลโยธาประมาณหมื่นหนึ่ง ไปถึงกรุงกัมพูชา ช่วยพระราเมศวรผู้เป็นหลาน รบได้ชัยชนะกวาดข้าว ถ่ายครัวชาวกัมพูชา และสิ่งของช้างม้าวัวควาย กลับมาพระนครเป็นอันมาก

สมเด็จพระรามาธิบดีเสวยรัชสมบัติได้ยี่สิบพระพรรษา ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๙๑๒ สมเด็จพระราเมศวรจึงเสด็จจากเมืองลพบุรี ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา อยู่ได้ปีเดียว สมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือขุนหลวงพะงั่วผู้เป็นพระเจ้าลุง ก็เสด็จมาจากเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระ ราเมศวรจึงอัญเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติแทน แล้วพระองค์ก็ถวายบังคมลา กลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม

สมเด็จพระบรมราชาธิราชขณะนั้นมีพระชนมายุได้หกสิบพรรษา เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ยกพลโยธาทัพใหญ่ ไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งแข็งเมืองอยู่เป็นเวลาหนึ่งปี ให้สงบราบคาบลง เมื่อทรงครองราชย์ได้สิบสามพรรษา ก็เสด็จสวรรคตลงใน พ.ศ.๑๙๒๕ พระเจ้าทองลั่นพระราชโอรสขึ้นเสวยราชย์ได้เพียงเจ็ดวัน สมเด็จพระราเมศวรก็เสด็จมาจากเมืองลพบุรี จับกุมเอาพระเจ้าทองลั่นไปพิฆาตเสียที่วัดโคกพระยา แล้วก็ปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบไป

อีกสองปีต่อมาสมเด็จพระราเมศวร ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และให้ตั้งค่ายหลวงใกล้คูเมือง ๑๕๐ เส้น ให้นายทัพนาย กองตั้งค่ายล้อม แล้วยิงปืนใหญ่ถูกกำแพงเมืองพังประมาณห้าวา พระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นยืนถือพัชนีอยู่บนเชิงเทิน ให้ทหารเอาหนังสือผูกลูกธนูยิงลงมา ในหนังสือนั้นว่า ขอพระราชทานให้งดสักเจ็ดวัน จะนำเครื่องพระราชบรรณาการออกไปจำเริญพระราชไมตรี

พระเจ้าอยู่หัวจึงปรึกษาด้วยมุขมนตรีว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้มีหนังสือออกมาดังนี้ ควรจะงดไว้หรือประการใด มุขมนตรีนายทัพนายกองปรึกษาว่า เกลือกพระเจ้าเชียงใหม่จะเตรียมการมิทัน จึงคิดอุบายมา จะขอพระราชทานให้ปล้นเอาเมืองจงได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ เขาไม่รบแล้วเราจะให้รบนั้นมิควร ถึงมาตรว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะมิได้คงอยู่ในสัตยานุสัตย์ก็ดี ใช่ว่าจะพ้นมือทหารเรานั้นเมื่อไรมี

ฝ่ายในเมืองเชียงใหม่นั้นก็ตีแตะบังที่กำแพงทลายแล้วนั้นให้ก่อขึ้น ครั้นถ้วนเจ็ดวันแล้วพระเจ้าเชียงใหม่มิได้แต่งเครื่องจำเริญพระราชไมตรีออกมา นายทัพนายกองข้าทหารร้องทุกข์ว่า ข้าวในกองทัพทะนานละสิบสลึงหาที่ซื้อมิได้ จะขอพระราชทานเร่งปล้น พระเจ้าอยู่หัวบัญชาตามนายทัพ ทรงพระกรุณาสั่งให้เลิกกองทัพ เสียด้านหนึ่งให้เร่งปล้น ณ วันจันทร์ เดือนสี่ ขึ้นสี่ค่ำ เพลาสามทุ่มสองบาท เดือนตก เจ้าพนักงานยิงปืนใหญ่น้อยระดมทั้งสามด้าน เอาบันไดหกพาดปีนขึ้นไป พระเจ้าเชียงใหม่ต้านทานมิได้ ก็พาครอบครัวอพยพหนีออก

เพลาสิบเอ็ดทุ่ม ทหารเข้าเมืองได้แต่ นักสร้างบุตรพระเจ้าเชียงใหม่องค์หนึ่งมาถวาย พระเจ้าอยู่หัวตรัสต่อนักสร้างว่า พระเจ้าเชียงใหม่บิดาท่านหาสัตย์มิได้ เราคิดว่าจะออกมาหาโดยสัตย์ เราจะให้ครองราชสมบัติ ตรัสดังนั้นแล้วก็ให้นักสร้างถวายสัตย์ พระเจ้าอยู่หัวก็ให้แบ่งไพร่พลเมืองไว้พอสมควร เหลือนั้นให้กวาดครัวอพยพหญิงชายลงมา ให้นักสร้างลงมาส่งเสด็จถึงเมืองสว่างคบุรี แล้วทรงพระกรุณาให้กลับขึ้นไปครองราชย์สมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่

ต่อมาพระยากัมพูชาก็ยกทัพเข้ามาทางเมืองชลบุรี กวาดต้อนเอาครัวไทยทั้งหญิงชายในเมืองชลบุรีและจันทบุรีไปกรุงกัมพูชา เป็นจำนวนประมาณหกพันเจ็ดพันคน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงจัดทัพให้พระยาไชยณรงค์เป็นทัพหน้าตามไปแก้มือ เมื่อถึงสะพานแยก ชาวกัมพูชาออกมาตีทัพหน้า ก็ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ทัพของกัมพูชาก็แตกฉานไป ทัพหลวงตามมาตั้งค่ายอยู่สามวัน ก็เข้าตีเอาเมืองกัมพูชาได้

พระยากัมพูชาก็ลงเรือหนี แต่โดนทหารไทยยิงปืนนกสับไปต้องหม้อดินเป็นเพลิงลุกขึ้นในเรือ ตัวพระยากัมพูชานั้นโดดน้ำหนีรอดไป จับได้แต่พระยาอุปราชผู้เป็นบุตร จึงให้พระยาไชยณรงค์คุมพลห้าพันอยู่รักษาเมืองกัมพูชา แล้วกวาดเอาพลเมืองช้างม้า สรรพศาสตราวุธเป็นอันมาก เสด็จคืนพระนครศรีอยุธยา

อยู่มาพระเจ้ากรุงญวน ซึ่งครองราชย์สมบัติอยู่ ณ เมืองตังเกี๋ย ให้ยกพลทหารมาทั้งทัพบกทัพเรือ จะรบเอาเมืองกัมพูชา พระยาไชยณรงค์ออกรบกับญวน สู้กันเป็นสามารถ ชาวเมืองกัมพูชาเห็นทหารญวนน้อย ก็พร้อมใจกันสู้รบ ครั้นเห็นทหารญวนมามากก็ไม่เต็มใจสู้รบ พระยาไชยณรงค์จึงมีหนังสือบอกเข้ามากราบบังคมทูล สมเด็จพระราเมศวรได้ทรงทราบแล้ว โปรดให้มีท้องตราตอบไปว่า ให้พระยาไชยณรงค์ กวาดอพยพพลเมืองแลทัพสรรภาระทั้งปวง กลับมากรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระราเมศวรเสวยราชสมบัติอยู่ได้หกปี ก็เสด็จสวรรคต สมเด็จพระยารามราชบุตร ก็รับราชสมบัติต่อ เมื่อ พ.ศ.๑๙๓๐

###########









 

Create Date : 29 ตุลาคม 2554    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2558 15:20:17 น.
Counter : 593 Pageviews.  

นิทานเรื่องพระเจ้าอู่ทอง

พลิกพงศาวดาร

นิทานเรื่องพระเจ้าอู่ทอง

พ.สมานคุรุกรรม

อันว่า “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งมีนามเดิมว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์มหินทรา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตาลสถิต สักกะทัตติวิษณุกรรมประสิทธิ์” นั้น ได้เริ่มพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนหก ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕

แต่ในพงศาวดารเรื่อง “จุลยุทธการวงศ์” ฉบับของ สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) อธิบดีสงฆ์องค์แรกของวัดพระเชตุพน ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้นิพนธ์ไว้เป็นภาษาบาลี ในรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี และต่อมา พระญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์) ได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อ ๙ เมษายน ๒๔๖๒ ในรัชกาลที่ ๖ มีเนื้อความโดยพิสดารว่า ก่อนที่จะมีกรุงศรีอยุธยาขึ้นในสยามประเทศนี้ กรุงเทพมหานครได้เกิดมีขึ้นแล้ว เมื่อ ๔๖๑ ปีก่อน

เรื่องเดิมมีอยู่ว่า เมื่อประมาณ จุลศักราช ๖๘๑ ได้มีชายทุคตะเข็ญใจผู้หนึ่งร่างกายน่าเกลียด ด้วยเป็นปุ่มปมไปทั่วทั้งตัว อาศัยทำไร่ปลูกพริกมะเขือถั่วงาขายเลี้ยงชีวิต อยู่ ณ ที่ดอนบนเกาะร้างห่างจากพระนครไตรตรึงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองกำแพงเพชร ชั่วเวลาเดินทางหนึ่งวัน

วันหนึ่งพระราชธิดาของพระเจ้าเชียงราย ผู้ครองกรุงไตรตรึงษ์นั้น ให้บ่าวไพร่เที่ยวหาซื้อผลมะเขือมาเสวย บ่าวก็หาซื้อในตลาดไม่ได้ จึงเที่ยวหาไปตามเรือกสวนนอกเมือง จนถึงไร่ของชายแสนปมผู้นี้ เห็นมีผลมะเขือใหญ่งามดี จึงซื้อไปถวายพระราชธิดา

บังเอิญมะเขือต้นนั้นปลูกอยู่ใกล้เรือนที่พักอาศัย ของบุรุษผู้อัปลักษ์นั้น ซึ่งเจ้าของได้ถ่ายมูตรดอยู่เป็นประจำทุกวัน เมื่อพระราชธิดาเสวยมะเขือนั้นแล้วก็ทรงครรภ์ขึ้น บรรดาพระประยูรญาติทั้งปวงก็ไต่ถามด้วยความสงสัย แต่ปรากฏว่าพระธิดาไม่เคยได้เกี่ยวข้องกับบุรุษผู้ใดเลย พระญาติพระวงศ์ทั้งหลายก็เชื่อในความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์สุจริต ของพระราชธิดา จึงเมตตาช่วยรักษาครรภ์ของพระราชธิดา จนบรรจบครบถ้วนทศมาส ก็ได้ประสูติพระราชบุตรอันมีพระรูปโฉมงดงาม เช่นเดียวกับพระมารดา

ต่อมาเมื่อพระราชบุตรมีชันษาได้ปีเศษ พระอัยกาก็ป่าวประเกาศให้บุรุษทั้งปวงในพระนครเข้ามาเฝ้าพระกุมาร โดยให้ถือขนมหรือผลไม้มาด้วย แล้วพระองค์ก็ทรงอธิษฐานว่า บุรุษผู้ใดเป็นบิดาของพระราชกุมารนี้ จงให้พระกุมาร รับผลไม่หรือขนมจากบุรุษนั้น แต่พระกุมารก็ทรงประทับยืนนิ่งอยู่ ไม่ยอมรับผลไม้และขนมของบุรุษผู้มาเฝ้าทุกคน

สมเด็จพระอัยกาจึงดำรัสถามอำมาตย์ว่า บรรดาบุรุษในนครไตรตรึงษ์นั้น หมดสิ้นเพียงเท่านี้หรือ อำมาตย์ก็กราบทูลว่ายังมีเหลืออยู่อีกคนหนึ่ง ทำไร่อยู่บนเกาะนอกเมือง พระองค์ก็มีคสั่งให้เสนา ไปพาบุรุษผู้นั้นมาเฝ้า บุรุษผู้มีร่างกายเป็นปมนั้น ก็ถือข้าวเย็นมาเพียงก้อนเดียว เมื่อถวายบังคมแล้วก็เฝ้าอยู่ในที่ควร เมื่อพระกุมารทอดพระเนตรเห็น ก็ถลาแล่นเข้าไปกอดคอบุรุษผู้นั้นโดยความปิติโสมนัส และรับก้อนข้าวเย็นนั้นมาเสวยโดยมิได้รังเกียจ

สมเด็จพระอัยกาก็ละอายพระทัย จึงโปรดพระราชทานพระราชธิดากับพระกุมาร ให้กับบุรุษผู้นั้น แล้วก็ให้บุคคลทั้งสามลงแพลอยน้ำไป แพนั้นก็ลอยไปถึงเกาะที่อยู่อาศัยของบุรุษผู้นั้น ทั้งหมดจึงขึ้นไปยังที่อยู่อาศัย พระราชธิดาก็ปฏิบัติหน้าที่ภริยาของบุรุษผู้เป็ยสามี ด้วยความจงรักภัคดี แม้จะทรงรำพึงถึงความแปลกประหลาดว่า บรรดาหญิงทั้งปวงเขาได้สามีก่อน แล้วจึงได้มีบุตรต่อภายหลัง ส่วนตนเองได้บุตรเสียก่อน แล้วจึงได้สามีต่อภายหลัง น่าจะเป็นกาลกินีผิดหญิงทั้งปวง ถ้าบุตรได้บิดาที่มีทรัพย์ ตนเองก็จะพลอยได้ความสุขกับบุตรด้วย แต่นี่บุตรมีบิดาที่ยากจนไร้ทรัพย์อัปภาค ตนจึงพลอยได้รับความทุกข์ยากลำบากด้วย คงจะเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน จึงต้องอยู่กับสามีไปตามยถากรรม

ต่อมาไม่นาน พระราชธิดาสงสารบุตรที่กินแต่ข้าวไม่มีกับ จึงบอกกับสามีให้ไปหากุ้งปลามาทำอาหารให้กินบ้าง บุรุษผู้สามีก็เอาแหไปทอดในห้วยบนเกาะนั้น แต่ก็ไม่ติดกุ้งปลามาทำอาหารเลยแม้แต่ตัวเดียว ได้แต่เศษผงสีเหลืองเหมือนขมิ้นจึงทิ้งเสีย แล้วกลับมาเล่าความให้ภริยาฟัง พระราชธิดาก็สงสัยจึงให้สามีไปเก็บเอามาให้ดู ถ้าเป็นขมิ้นก็จะเอาไว้ทาตัวบุตร สามีก็นำตะกร้าไปขนขมิ้นที่ไหลตามน้ำนั้น เอามาให้ภริยาดู ก็ปรากฏว่าเป็นทองคำบุรุษนั้นจึงได้ขนทองคำเหล่านั้น เอามาเก็บไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมาก

ด้วยบุญญานุภาพของบุคคลทั้งสาม ท้าวสักกเทวราช จึงแปลงกายให้เป็นวานรน้อยนำกลองทิย์มาให้บุรุษผู้มีกายเป็นปมนั้น แล้วว่าถ้าปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองวิเศษนั้น บุรุษแสนปมก็อธิษฐานขอให้ร่างกายของตน หมดจดงดงามเช่นบุรุษทั้งหลาย แล้วก็ตีกลองวิเศษขึ้น ปุ่มปมต่าง ๆ ทั่วร่างกายก็มลายหายไปสิ้น ภริยาก็มีความปิติโสมนัสยิ่ง จึงตามช่างมาหลอมทองคำแล้วทำเป็นอู่ ให้บุตรนอนในอู่ทองนั้น และตั้งชื่อบุตรว่า “เจ้าอู่ทอง”

จากนั้นก็ตีกลองทิพย์เนรมิตเกาะที่อาศัยให้กลายเป็นเมือง จนมีมหาชนมาอยู่ด้วยเป็นอันมาก จึงตั้งตนเป็นปฐมกษัตริย์ ปกครองราชธานีนั้น ทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน เสวยราชสมบัติปกครองเมืองอันให้ชื่อว่า เทพมหานคร ตั้งแต่จุลศักราช ๖๘๓ เป็นต้นมา

อยู่มาไม่นานนัก พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ก็โปรดให้บรรทุกทองและเงินเป็นอันมาก ลงเรือลำใหญ่ ถ่อไปถึงพระนครไตรตรึงษ์ แล้วทั้งสามพระองค์ก็เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าเชียงรายซึ่งครองนครไตรตรึงษ์ ผู้เป็นพระสัสสุรราช และบรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย ซึ่งต่างก็ชื่นชมโสมนัสปิติยินดี จึงจัดให้มรการสมโภชรับขวัญเป็นเวลาเจ็ดวัน แล้วทั้งสามพระองค์ก็กลับมาครองกรุงเทพมหานครต่อไป ด้วยความสุขสำราญพระราชหฤทัย ปราศจากปรปักษ์ปัจจามิตร ทรงบำเพ็ญแต่พระราชกุศลอยู่เป็นเนืองนิตย์ จนถึงประมาณจุลศักราช ๗๐๖ จึงสิ้นพระชนมายุลง และกลองทิพย์นั้นก็ได้อันตรธานไป

เจ้าอู่ทองก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระเจ้ากรุงเทพมหานครต่อไปอีกหกปี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระนครขึ้นใหม่ จึงให้ราชบุรุษเสนามหาอำมาตย์ คุมไพร่พลออกไปแสวงหาทำเล ที่มีปลาเทโพชุกชุม จะได้สร้างพระนครในที่นั้น

บรรดาเสนามหาอำมาตย์ทั้งหลายก็แยกย้ายกันท่องเที่ยวไปทั่วทุกสารทิศจนถึงทิศพายัพ จึงพบท้องถิ่นที่ต้องการอยู่ใกล้หนองโสน ซึ่งเดิมเป็นปากอ่าวจะออกทะเลมาแต่โบราณ จึงมีปลามากมายหลายพันธุ์ รวมทั้งปลาเทโพด้วย ก็กลับมากราบทูลพระเจ้าอู่ทองให้ทรงทราบ

พระเจ้ากรุงเทพมหานครจึงโปรดให้สร้างพระนครขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อ วันศุกร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนห้า ปีขาล โทศก จุลศักราช ๗๑๒ เวลาเช้า สามนาฬิกา กับเก้าบาท ใช้เวลาสร้างอยู่หนึ่งปี จึงสำเร็จเรียบร้อยทุกประการ

และสถานที่นั้น เดิมเป็นที่อยู่ของสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีชื่อ “อุธยา” ภรรยาชื่อ “ศรีอายุ”จึงพระราชทานนามพระนครใหม่นี้ว่า “ศรีอยุธยา”

และพระเจ้าอู่ทองก็ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสุนทร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ ตั้งแต่บัดนั้น ทรงอยู่ในราชสมบัติทั้งสิ้น ๒๐ ปี จนถึงจุลศักราช ๗๒๕ปีระกา เอกศก จึงเสด็จสวรรคต

ต่อจากนั้นได้มีพระมหากษัตริย์สืบสายไปอีกสามสิบสองรัชกาล จนถึงวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ จึงเสียเมืองแก่ข้าศึก สิ้นสุดยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยาราชธานีลงแต่เพียงนั้น.

###########




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2554    
Last Update : 28 ตุลาคม 2554 20:51:19 น.
Counter : 2494 Pageviews.  

บทนำ

พลิกพงศาวดาร

บทนำ

พ.สมานคุรุกรรม


เมื่อกล่าวถึงภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่สมัยเริ่มแรก จนมาสิ้นสุดลงเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วงปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๕๐ อันเป็นเวลาเนิ่นนานร่วมหกสิบปี จำเป็นต้องบอกว่า ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพยนตร์ที่ดีและเด่นที่สุดของประเทศไทย และไม่แน่ว่าในอนาคตต่อไป จะมีภาพยนตร์ที่ดีเด่นทุกประการเช่นนี้อีกหรือไม่

เรื่องแรกนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.๒๐๓๔ – ๒๐๘๖ และเรื่องหลังเป็นเหตุการณ์ต่อจากนั้นมา จนถึงประมาณ พ.ศ.๒๑๔๘

ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องประเภทตำนาน หรือนิยายอิงพงศาวดาร ซึ่งได้มีการแต่งเติมเสริมต่อในรายละเอียดออกไปอีกมากมาย จึงจะเป็นบทภาพยนตร์ที่มีความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจได้ เช่นเดียวกับเรื่องราวย้อยยุคทั้งหลาย ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แม้จะรักษาความจริงทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างดีที่สุดก็ตาม

ผู้เรียบเรียง พลิกพงศาวดาร นี้ จึงได้ยกเอาพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ได้แต่งไว้ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และ ซึ่งเดิมได้แต่งไว้เป็นภาษาบาลี และ พระญาณวิจิตร (สิทธิ โลจนานนท์) ได้แปลเป็นภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗ เป็นต้นฉบับ มาเล่าต่อจากตอนที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๑๔๘ ไปจนถึงสิ้น รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๒๓๑

และฉบับที่นำมาเรียบเรียงนี้ คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พิมพ์โดยเสด็จ พระราชกุศล ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวิสุทธาธิบดี (สง่า ปภสฺสรมหาเถร ป.ธ.๘) ณ วัดเทพ ศิรินทราวาส เมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๕ ซึ่งได้นำลงพิมพ์ในนิตยสาร โล่เงิน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ – ๒๕๔๓ มาแล้ว.

################




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2554    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2558 15:18:19 น.
Counter : 519 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.