Group Blog
 
All Blogs
 

นายกรัฐมนตรียามสงครามโลกครั้งที่สอง

นายกรัฐมนตรียามสงครามโลกครั้งที่ ๒

พ.สมานคุรุกรรม


เมื่อ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยไม่เกิดเรื่องยุ่งยากวุ่นวายในระหว่างคนไทยด้วยกันแล้ว ท่านก็ต้องคอยแก้ปัญหายุ่งยากระหว่างรัฐบาลไทย กับกองทัพญี่ปุ่นต่อไป ท่านเล่าว่า

เมื่อเสร็จจากเรื่องหลวงพิบูล ฯ แล้ว ผมก็ต้องคอยแก้ปัญหาระหว่างเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่น เหมือนถูกบังคับให้ขี่ม้าสองตัว คือเสรีไทยตัวหนึ่ง และญี่ปุ่นอีกตัวหนึ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่ มันลำบากจริง

คืนวันหนึ่งพวกเสรีไทยเอาฝรั่งคนหนึ่งที่ถูกกักกันในแคมป์ชนชาติศัตรูที่กรุงเทพ ฯ ส่งไปเมืองนอก จึงเกิดวิตกว่าถ้าตอนรุ่งเช้าพวกญี่ปุ่นไปตรวจพบว่าขาดจำนวนจะทำยังไง แต่บังเอิญพระสยามเทวาธิราชช่วยผมแท้ ๆ ในคืนวันนั้นเองพระสงฆ์ท่านนำฝรั่งที่หลบหนีจากค่ายกาญจนบุรี มาให้ผมคนหนึ่ง ผมก็ให้ผู้ควบคุมค่ายเอาไปยัดใส่แทน ผู้ควบคุมแย้งว่ามันเป็นคนละคนกันกับที่หายไปนี่ ผมก็บอกว่า เคยนึกบ้างไหมเวลาเราดูฝรั่งก็เห็นหน้ามันคล้าย ๆ กัน หรือเมื่อฝรั่งดูพวกเรา ก็เห็นคล้ายกันเหมือนกัน ยังไง ๆ พอเขาเรียกชื่อหมอนั่น ก็ให้หมอนี่ขาน “เยสเซ่อร์” ก็แล้วกัน เผอิญได้ผลจริง ๆ เรารอดตัวไป

ส่วนที่เขาหาว่าผมหักหลังญี่ปุ่น และบางคนก็ไปเขียนอะไรต่อมิอะไรกันนั้น ไม่เป็นความจริงหรอก เมื่อเขาตั้งเสรีไทยขึ้นนั้น ผมก็ทำความเข้าใจกับเขาแล้วว่า ผมจะต้องทำหน้าที่ของผม ในฐานะที่ร่วมรบกับญี่ปุ่น แต่ผมจะหลิ่วตาให้ข้างหนึ่งสำหรับเสรีไทย เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ตกลงไหม เมื่อเขายอมตกลงผมก็เลยขาดจากเสรีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา ผมไม่เคยเสียคำมั่นสัญญา ไม่เคยเสียสัตย์ เพราะเราต้องรักษาชื่อเสียงของชาติไทย และเกียรติของไทยผมรักษานัก เมื่อเราให้คำมั่นสัญญาแล้วเราต้องถือเด็ดขาด ผมไม่เคยหักหลัง แต่ผมต้องคอยแก้ปัญหาดังที่เล่าให้ฟัง

ขณะนั้นสงครามโลกด้านแปซิฟิคขับขันมากขึ้นแล้ว ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดญี่ปุ่นที่ไซ่ง่อน ดูจะมีความระแวงฝ่ายไทย ตามสี่แยกถนนสำคัญ ๆ ในพระนครหลายสาย มีป้อมมูลดินของญี่ปุ่นกับของไทยตั้งเผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างขอให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปตรวจดูว่า ความจริงสร้างขึ้นเพื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร

ญี่ปุ่นคงจะทราบความเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยเป็นอย่างดี นายฮาตาโนซึ่งเป็นล่ามของนายพลนากามูรานั้น ก็เป็นนักเรียนอัสสัมชัญ พูดไทยและอ่านหนังสือไทยได้อย่างคนไทยทั่ว ๆ ไป เมื่อมีเสรีไทยมาโดดร่มและถูกจับได้ ฝ่ายญี่ปุ่นก็มุ่งจะเอาตัวไปสอบสวนและปฏิบัติอย่างอื่นต่อไป แต่ฝ่ายไทยก็อ้างว่าเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่น เป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฉะนั้นจึงมีสิทธิเหนืออริราชศัตรูไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง ไทย หรือชาติใดก็ตาม

พันตรี ควง เล่าว่า อย่างสนามบินลับของเราก็เหมือนกัน พวกญี่ปุ่นมาประท้วงตั้งแต่เช้า เอาแผนที่ออกมากางให้ดู แล้วชี้ว่านี่สนามบินลับอยู่ทางเหนือ ความจริงท่านก็ทราบว่าเป็นสนามบินลับที่พวกเสรีไทยเขาทำขึ้น แต่ท่านบอกว่าไม่จริงกระมัง เขาก็ยืนยันว่าจริงซี เขาถ่ายรูปมาด้วย ท่านก็ว่าถ้ายังงั้นพรุ่งนี้ตั้งกรรมการผสมไปตรวจ แล้วก็ตกลงตั้งกรรมการผสมไทยญี่ปุ่นขึ้น

แล้วท่านก็วิ่งไปบอกหลวงประดิษฐ์ ฯ ว่า นี่.....อาจารย์ ต้องรีบจัดการปลูกพืชอะไรไว้นะ พรุ่งนี้กรรมการผสมจะไปตรวจ ถ้าเขาจับได้ผมไม่รู้ด้วยนะ ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ส่งวิทยุสั่งการให้ปลูกต้นกัญชา ต้นอะไร รดน้ำกันใหญ่ พวกกรรมการผสมไปดูก็เห็นมีพืชปลูกอยู่จริง ๆ เรื่องก็เลิกกันไป

เหตุนี้คงจะทำให้ จอมพล เคานต์เตราอุจิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ไซ่ง่อนระแวงไทยมากขึ้น จึงสั่งให้นายพลนากามูรา ผู้บัญชาการหน่วยงิประจำประเทศไทยขอกู้เงินเพื่อสร้างที่มั่นรับสัมพันธมิตร ความจริงญี่ปุ่นได้เตรียมแนวป้องกันไว้แล้ว คือที่มั่นตั้งแต่แนวภูเขาที่หินกอง จังหวัดสระบุรี เป้นระยะ ๆ ไปจนถึงจังหวัดนครนายก

เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นเสนอขอกู้เงินมานั้น ฝ่ายไทยได้ปรึกษาหารือกัน และกำหนดว่าจะตอบปฏิเสธฝ่ายญี่ปุ่นไป เรื่องเช่นนี้ควรจะต้องเป็นเรื่องลับที่สุด แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ นายพล นากามูราได้ระแคะระคายว่าฝ่ายไทยจะตอบปฏิเสธ จึงมาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ได้ทราบข่าวว่าฝ่ายไทยจะปฏิเสธเรื่องญี่ปุ่นขอกู้เงิน ถ้าเป็นจริงตามนั้นก็ขอบอกว่า ญี่ปุ่นจำจะต้องยึดครองประเทศไทย เพราะเป็นนโยบายและคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลเองไม่มีอำนาจขัดขืน ทั้ง ๆ ที่โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากจะยึดครองประเทศไทยเลย

อีกครั้งหนึ่งท่านเล่าถึงเรื่องที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาเครื่องบินมาทิ้งยาให้ไทย แต่แทนที่จะให้เอาไปทิ้งตามทุ่งนาก็ไม่เอา กลับให้เอามาโยนลงที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรานี่เก่ง แต่ไม่ได้คิดถึงท่านซึ่งเป็นนายก ฯ อกแทบพัง แล้วพวกเราก็วิ่งไปรับกันเสียด้วย จะรอให้เครื่องบินไปเสียก่อนแล้วจึงค่อยวิ่งไปตะครุบก็ไม่ได้

ท่านเล่าว่า พอตอนกลางคืนญี่ปุ่นก็เชิญผมไปกินข้าว เพราะตามธรรมดาพอมีเรื่องอะไรเขาก็เชิญผมกินข้าวทุกที เมื่อไปพบกับเขาหน้าผมก็ไม่สบายเพราะกำลังหนักใจว่าจะทำยังไงดี พอนายพลนากามูระเห็นผมก็ทักว่า เอ..ท่านนายกทำไมถึงหน้าตาไม่เสบยอย่างนี้

ผมก็บอกว่าพุธโธ่ ปวดศรีษะจะตายไป ส่วนเอกอัครราชทูตยามาโมโต ก็กระแหนะกระแหนว่า ทำไมท่านไม่กินยาที่เขาเอามาทิ้งให้เมื่อเช้านี้ล่ะ ผมก็ไหวทันตอบไปว่า ลองกินเข้าไปซี ถ้าฉันเกิดตายไปแล้วท่านจะเอานายกที่ไหนมาแทนเล่า พวกนั้นก้หัวเราะขบขัน เลยกินข้าวด้วยกัน แล้วเรื่องก็เลิกกันไปอีก

ทางฝ่ายขบวนการเสรีไทย ก็คงมีการตระเตรียมกันหลายด้าน ด้วยความมั่นใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะสนับสนุนการดำเนินการในไม่ช้านัก ฝ่ายตำรวจซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของ พล.ต.อ.หลวงอดุลย์ ฯก็ได้มีการเปลี่ยนจากพกอาวุธปืนสั้นมาถืออาวุธปืนเล็กยาวทั่วไป

ญี่ปุ่นได้สังเกตเห็นเรื่องนี้เหมือนกัน นายพลนากามูรา ทูตทหารบก ทูตทหารเรือ และบุคคลสำคัญฝ่ายสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น จึงขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อถามถึงเรื่องตำรวจเปลี่ยนมาถืออาวุธปืนเล็กยาว แทนที่ท่านจะอึกอักท่านกลับหัวร่อเอิ๊ก ๆ แล้วตอบว่า

“ แล้วกัน ท่านนายพล ผมจ่ายปืนพกให้ พวกตำรวจก็เอาไปขายเสียหมด แล้วก็บอกว่าปืนหาย ยินดีชดใช้ให้ตามราคาของทางราชการ ก็ปืนพกขณะนี้ราคาแพงมาก ผมจะเอามาจ่ายให้ที่ไหนไหว ปืนยาวนั้นขายยากกว่า ผมจึงสั่งให้จ่ายแต่ปืนยาว เรื่องมันเท่านั้นเอง “

เมื่อได้สนทนากันถึงเรื่องอื่นอีกเล็กน้อย ฝ่ายญี่ปุ่นก็ลากลับไป

ตามปกติแล้วนายกรัฐมนตรีควง ก็คงอยู่ที่บ้านของท่านหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ แถบนั้นมีหน่วยทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่โรงเรียนช่างกลปทุมวัน อีกหน่วยหนึ่งก็อยู่ที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เมื่อเหตุการณ์คับขันมากขึ้น ผู้บัญชาการกองพล ๑ ได้ขอร้องให้ท่านย้ายบ้าน เกรงว่า เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น ทหารไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางบางซื่อ จะมาให้ความคุ้มครองไม่ทัน และถ้านายกรัฐมนตรีถูกฝ่ายญี่ปุ่นจับตัวไป ก็จะเป็นเรื่องลำบากมาก ท่านจึงได้ยอมย้ายไปอยู่บ้านสวนอัมพวัน ใกล้เขตทหารขึ้น

ท่านเล่าว่า เมื่อพูดกันตามความจริงท่านก็ช่วยญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หักหลังเขาเลย เช่นปัญหาเรื่องการกู้เงิน ญี่ปุ่นกู้เราเรื่อย ๆ จนเราไม่มีสตางค์จะให้ รัฐมนตรีของเราบอกเขาว่าเราให้กู้ไม่ได้แล้ว ญี่ปุ่นก็ตั้งข้อสงสัยว่าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา ท่านจึงบอกรัฐมนตรีคลังให้เชิญฝ่ายญี่ปุ่นมาประชุมกับท่านที่ทำเนียบ

ครั้นถึงวันประชุมฝ่ายญี่ปุ่นก็มาพร้อมเพรียง รวมทั้งเอ็กซเปอร์ททางการคลังของเขาด้วย ฝ่ายเรานั้นท่านคิดอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเขามีความระแวงสงสัยไม่เชื่อใจเรา จะมัวโต้เถียงกันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร รังแต่จะเพิ่มความสงสัยมากขึ้น ท่านก็เอาตัวเลขการคลังของเราทั้งหมด ส่งให้ เอ็กซเปอร์ทของญี่ปุ่น แล้วบอกว่าวานท่านทำหน้าที่รัฐมนตรีคลังให้ฉันทีเถอะ ถ้าท่านเห็นว่าไอ้ตัวเลขอย่างนี้ ควรให้ญี่ปุ่นยืมได้เท่าไร ฉันจะเซ็นอนุมัติให้เดี๋ยวนี้แหละ แล้วท่านก็ชักปากกาออกมาเตรียมถือไว้

ท่านทำใจดีสู้เสือแท้ ๆ ทีเดียว พวกญี่ปุ่นปรึกษากันบ๊งเบ๊งอยู่พักหนึ่งก็ลุกขึ้นโค้ง บอกว่าให้ยืมไม่ได้หรอก เราก็เลิกประชุมกันเท่านั้นเอง

นี่แหละเมืองไทย เรารอดมาได้ ไม่ใช่ความสำคัญของผมเลย เพราะสยามเทวาธิราชแท้ ๆ เราทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เรามีใจเป็นธรรมก็ย่อมชนะ ผมอาจจะต้องลำบากในตอนต้น แต่ตอนปลายผลสุดท้ายก็ต้องชนะ

และนี่คือการทำงานระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวาน ของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีของไทย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๘ เท่านั้น.


ใน พ.ศ.๒๔๘๘ ตอนปลายสงคราม ค่ำวันหนึ่งได้มีการเลี้ยงแบบกันเองระหว่างฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งจัดสองอาทิตย์ต่อครั้งตามปกติ วันนั้นมีการรับประทานอาหารที่บ้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ที่ถนนเพชรบุรี คืนนั้นนายกรัฐมนตรีควงได้แสดงสุนทรพจน์เป็นภาษาญี่ปุ่น คืออ่านจากตัวหนังสือไทย ที่เขียนออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วได้มีการล้อเลียนสัพยอกถึงเรื่องลูกระเบิดแบบใหม่ ที่สหรัฐทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา ว่ามีฤทธิ์เดชมากสองวันแล้วยังมีฝุ่นคลุ้งอยู่

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ออกมารับประทานกาแฟ บรั่นดี และคุยกันที่ห้องกลาง ขณะนั้นมีผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ๒-๓ นายรีบร้อนมาพบเอกอัครราชทูต และนายพลนากามูรา ซุบซิบอะไรกันอยู่ แล้วนายพลนากามูราก็รีบลากลับไปก่อนทั้ง ๆ ที่ยังรับประทานกาแฟไม่เสร็จ

ทางฝ่ายไทยก็ได้ข่าวจากขบวนการเสรีไทยว่าญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ วันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญนายพลนากามูรากับพวกผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นมาถามเพื่อยืนยัน แต่นายพลนากามูราตอบปฏิเสธ

เรื่องนี้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เล่าว่า หลวงประดิษฐ์ ฯ ฟังวิทยุแล้วก็เรียกผมไปหา บอกว่าควง...ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว เขาขอยอมแพ้โดยแจ้งผ่านทางรัสเซีย แล้วทูตญี่ปุ่นก็เชิญผมไปกินข้าว ผมแกล้งพูดสัพยอกทูตว่า ท่านทูตนา ผมนี่ตั้งต้นจับคนมามากแล้ว จับอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส แล้วก้จับพวกเยอรมัน อิตาลี ต่อไปผมเห็นจะต้องจับท่านเสียแล้ว เขาก็หัวเราะ ผมถามว่าจะยอมแพ้ใช่ไหม เขาตอบว่า โอ...ไม่ยอมหรอก ผมก็ว่าเอาเถอะถ้าท่านจะยอมแพ้ก็ขอความกรุณา อย่าเอาผมและเมืองไทยไปเกี่ยวข้องด้วย ท่านยอมไปคนเดียวก็แล้วกัน เขาก็บอกตกลง

ต่อมาไม่ถึงสองวัน นายทหารญี่ปุ่นก็แต่งตัวเต็มยศสวมถุงมือ มาเยี่ยมคำนับผม แล้วยื่นหนังสือให้บอกว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้แล้ว เราจะให้เขาช่วยอะไรบ้าง ผมก็ตอบว่าขอความกรุณาอย่าช่วยฉันเลย ปล่อยให้ฉันทำของฉันเองเถิด โปรดบอกแก่รัฐบาลของท่านตามนี้ด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นเขาก็ดี เขาบอกว่าท่านจะหาวิธีอย่างไร ญี่ปุ่นไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ขอให้เมืองไทยรอดเถอะ ผมก็ตอบขอบใจเขา

ทีนี้ผมจะหาทางออกอย่างไรเล่า ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ไปแล้ว แต่เมืองไทยยังรบอยู่คนเดียวถึง ๑๕ วัน จอมพล ป.ก็ประกาศสงครามกับเขาเสียด้วย ใคร ๆ ก็ยอมแพ้กันไปหมดแล้ว เหลือแต่เมืองไทยเท่านั้นที่ยังไม่ยอม ตกลงว่าผมนี่ดูเก่งกาจนัก รบคนเดียวอยู่ได้ตั้ง ๑๕ วัน

ผมให้หลวงประดิษฐ์ ฯ ช่วยร่างประกาศให้ผม แล้วผมก็ไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางสภาพอแว่วข่าวว่าเราจะประกาศว่า การทำสงครามของเราเป็นโมฆะก็เอะอะสงสัยกันใหญ่ ผมบอกว่านี่นิ่ง ๆ นะคุณ ประเดี๋ยวผมจะประกาศเอง แล้วผมก็เดินไปกระซิบกับบรรดาสมาชิกสภาว่า คราวนี้ถ้าพวกคุณไม่ยกมือให้พร้อมเพรียงกันละก็ตายนะคุณ ผมไม่รู้ด้วยนา ในที่สุดพวกนั้นก็ตกลง

พอผมประกาศว่าการทำสงครามเป็นโมฆะ สภาก็ลงมติเห็นชอบแหมยกมือกันพรึ่บหมด แล้วพวกนั้นก็สบายใจนึกว่าหมดธุระแล้ว แต่ไม่ใช่หมดนะ เราต้องฟังอังกฤษและอเมริกาเขาจะว่ายังไง ต่อมาอีกประมาณสามวัน อเมริกาก็ปล่อยข่าวออกมาว่าเห็นด้วย ไม่เอาธุระกับไทย ส่วนอังกฤษยังแบ่งรับแบ่งสู้ ผมก็รอดตัว ภายหลังหลอร์ดหลุยเมาท์แบทเตนโทรเลขมาถึงผม ให้จัดการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยทั้งหมด

ผมก็มาคิดว่าจะทำยังไงดี ถ้าให้ทหารไทยไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ก็จะเกิดเบ่งกันขึ้น แล้วก้อาจเกิดเรื่องใหญ่ ผมจึงเชิญนายพลนากามูรามาบอกว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรเขาสั่งมาอย่างนี้จะให้ฉันทำยังไง เพราะเราเป็นเพื่อนกัน นายพลนากามูราบอกว่าท่านไม่ต้องวิตกหรอก ฉันจะปลดอาวุธตัวเอง ท่านส่งทหารไปรับมอบอาวุธตามจำนวนก็แล้วกัน เรื่องก้เป็นอันเรียบร้อย

บัดนี้ผมได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นลงแล้ว และผมจะต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทางอังกฤษและอเมริกาบอกมาว่าไม่ต้องลาออกก้ได้ หลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ไม่ยอมให้ผมออก แต่ผมชี้แจงว่าไม่ได้หรอก ผมเป็นรัฐบาลชุดร่วมสงครามกับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วผมจะต้องไปด้วย จะอยู่ได้ยังไง เมื่อผมลาออกนั้น สมาชิกสภาทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามก็มาขอบใจผม ที่พาประเทศไทยรอดมาได้

ความจริงเขาไม่ควรจะขอบใจผม เขาควรจะขอบคุณพระสยามเทวาธิราชมากกว่า

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงแล้ว รัฐบาลของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ก็ได้ลาออกตามมารยาท หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาของชาติมาเป็นเวลาประมาณ ๑๓ เดือน เมื่อท่านแถลงยื่นใบลาในสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับการปรบมือจากสมาชิกทั้งสภา เป็นเกียรติยศอย่างสูง

นายทวี บุณยเกตุ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพียงไม่กี่วัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้มีบทบาทในเรื่องเสรีไทยสายอเมริกามาตั้งแต่ต้น ก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้เป็นคนไทยคนแรกที่ประกาศจากกรุงวอชิงตันว่า จะไม่ยอมฟังคำสั่งของรัฐบาลที่มีหอกปลายปืนจี้หลังอยู่ ซึ่งในขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังชนะสงครามทุกด้านในแปซิฟิค จึงนับว่าท่านเป็นผู้กล้าหาญอย่างยิ่ง และวิเคราะห์สถานะการณ์ในอนาคตได้อย่างถูกต้องที่สุด

ภายหลังจากที่ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นแล้ว พันตรี ควง อภัยวงศ์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ๓ ครั้ง ท่านได้เล่าไว้ว่า

การเมืองภายหลังสงครามก็มีเรื่องยุ่งเหยิงอยู่เรื่อย ๆ แต่ผมก็รอดมาทุกทีเพราะไม่ได้ไปมั่วสุมกับใคร ใครจะคิดอ่านกันอย่างไรก็ช่างเขา ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ขอเล่าย่อ ๆ ว่าเมื่อตอนที่เกิดรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น ผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง ครั้นเขามาเชิญผมเป็นนายก ก็ใช่ว่าผมจะไม่รู้ว่าเขาจะเอาผมไปเป็นนั่งร้านให้เขา แต่ผมก็จำเป็นต้องรับ

ก่อนจะรับเราได้ก็ได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่บ้านผมตั้งตีสองตีสาม มีหลายคนเห็นว่าไม่ควรรับ ผมก็ชี้แจงให้ฟังว่าถ้าเราไม่รับก็จะเกิดเรื่องใหญ่ เพราะฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ และฝ่ายหลวงพิบูล ฯ ต่างก็มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากด้วยกัน ถึงเขาจะเคยเป็นเพื่อนกัน แต่เมื่อเกิดเรื่องระหว่างลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์ เราก็จะพลอยลำบากไปด้วย เอาเถอะเราจะช่วยเข้าไปขวางกลางให้ก็แล้วกัน ตกลงพวกผู้ใหญ่ ๆ ก็เห็นด้วย กับผม เพราะฉะนั้นจึงว่าที่ผมรับเป็นนายกครั้งนั้น ไม่ใช่จะรับโดยไม่รู้ตัว ว่าเขาจะยืมมือเราเป็นการชั่วคราว ครั้นเขามาจี้ให้ผมออก ผมก็ถามว่าพวกคุณทำได้หรือ เมื่อเขาบอกว่าทำได้ก็ให้เขาทำกันไป

ขณะนั้นเป็น พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งเกิดการรัฐประหารโดยมี พลโท ผิน ชุณหวัณ เป็นหัวหน้า เมื่อเชิญท่าน ควง อภัยวงศ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงระยะสั้น ๆ แล้วก็มีคณะรัฐประหาร มาเชิญให้ลาออก เพื่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ท่านก็ยอมลาออกแต่โดยดี ท่านสรุปสุดท้ายไว้ในการปาฐกถา เรื่องชีวิตของข้าพเจ้า ณ หอประชุมคุรุสภา เมื่อ ๒๓ พศจิกายน ๒๕๐๖ ว่า

ในชีวิตของผมถือว่า ผมมาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน พระสงฆ์ท่านอุตส่าห์เล่าเรียนศีลธรรมก็เพื่อไปสู่นิพพาน แต่นักการเมืองนี่ก็มุ่งหมายจะมีอนุสาวรีย์ตามถนน เรื่องร่ำรวยหรือยากจนเพียงไหนไม่สำคัญอะไรเลย ผมได้เล่ากำพืดของผมให้ฟังแล้ว เรื่องความร่ำรวยนั้นผมก็เคยมาแล้ว และการที่มีคนมากราบไหว้ก็ผ่านมามาก เหมือนคนที่เคยกินเหล้าตั้งขวดมาแล้วยังไม่เมา ถ้ากินเพียงครึ่งขวดมันจะเมาที่ไหน คนที่มันเมานั้นก็เพราะไม่เคยกินต่างหาก กินเข้าไปหน่อยเดียวเลยเมา

ท่านอาจจะเห็นว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีแล้ว หรือเป็นอะไร ๆ แล้วนี่น่ะ บางคนจมไม่ลง แต่ผมจมลง เป็นนายกแล้วก็จมลง ผมเดินเปะปะไปที่ไหนต่อที่ไหนก็ได้ กินข้าวที่ไหนก็ได้ รถเมล์รถรางหรือรถอะไรก็ขึ้นได้ เพราะการได้ตำแหน่งมันเป็นเรื่องสวมหัวโขนเท่านั้น

ส่วนเกียรติของผมยังอยู่ แม้ว่าผมจะเดินเตะฝุ่นกลางถนนก็ตาม เพราะผมไม่ได้ไปเอาอะไรจากใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร ผมกลัวเสียชื่อวงศ์ตระกูลของผม ผมจึงทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และทำตามอุดมคติของผม

ผมขอเรียนตามตรงว่า เวลานี้ผมสบายจะหันหน้าไปหาประชาชน เขาก็ต้อนรับดี เราจะมีเงินสักกี่แสนกี่ล้านก็ซื้อจิตใจประชาชนไม่ได้ และเงินน่ะเรากินได้ไหม เพชรพลอยก็กินไม่ได้ จะกินได้ก็แต่เพียงอาหารมื้อละอิ่มเดียว บางคนยังกินอาหารไม่ได้ด้วยซ้ำ ได้แต่ผะงาบ ๆ อยู่

การที่ผมต้องเข้ามาพัวพันกับการเมือง ไม่ใช่ผมอยากเป็นนักการเมือง แต่เหตุการณ์มันดึงให้ผมเข้าไปเอง อย่างที่เล่ามาให้ฟังนี่แหละ ดึงกันไปดึงกันมา ผมเลยจมเข้าไปในการเมืองจนถอนตัวไม่ออก ครั้นจะถอนตัวก็จะถูกหาว่าหนี แต่ครั้นจะอยู่ก็ผะอืดผะอมเต็มประดา

บรรดาเพื่อน ๆ ของผมทุกคน หลวงพิบูล ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ดี ถึงแม้จะมีเรื่องขัดแย้งกันในทางการงาน ผมก็ไม่ได้คิดโกรธเคืองอะไรกับใคร ผมทำหน้าที่ของผมเท่านั้น เมื่อหมดหน้าที่แล้วก็แล้วกันไป ความเป็นเพื่อนกับหน้าที่ต้องแบ่งแยกกัน สิ่งใดที่ผมไม่เห็นด้วยผมก็บอกไปตามความเห็น ถ้าไม่เชื่อกันก็ไม่ใช่ความผิดของผม แต่ในทางส่วนตัวผมก็ยังถือว่าเราคงเป็นเพื่อนกันอยู่เสมอไป

ชีวิตของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีที่น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีงาม ในประวัติศาสตร์ชาติไทยคนหนึ่ง ได้มาถึงจุดสิ้นสุดลงเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๑๖.๓๐ น. สิริรวมอายุได้ ๖๕ ปี กับ ๑๐ เดือน

##########




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2559    
Last Update : 16 ธันวาคม 2559 15:10:23 น.
Counter : 4391 Pageviews.  

เสรีไทยสายตำรวจ (๒)

เรื่องเล่าจากอดีต

เสรีไทยสายตำรวจ (๒)

พ.สมานคุรุกรรม

ร.ต.อ.ธานี สาทรกิจ รักษาการรองผู้บังคับการตำรวจสนาม รีบเดินทางไปพบแม่ทัพพายัพ แต่ท่านเข้ากรุงเทพ จึงต้องขึ้นเครื่องไปกรุงเทพในวันนั้น คราวนี้เป็นเครื่องบินขับไล่นาโกย่าของญี่ปุ่นชนิดเครื่องยนต์เดียว มีสองที่นั่ง แต่มีผู้โดยสารยัดเยียดไปอีกสามคน แต่ก็บินมาถึงดอนเมืองจนได้

ท่านเล่าว่ารุ่งขึ้นท่านก็ไปรายงานตัวต่ออธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ที่วังปารุสกวัน เล่าถึงสถานการณ์อันตึงเครียดอยู่ในขณะนี้ให้ทราบโดยละเอียด ท่านอธิบดีก็ปลอบใจว่า ไม่เป็นไรท่านจะติดต่อหน่วยเหนือของเขาโดยเร็วที่สุด แล้วท่านอธิบดีก็รับว่าจะช่วยดูแลครอบครัวทางกรุงเทพ ไม่ให้มีอันตรายได้ พร้อมกับมอบเงินราชการลับให้อีกสองพันบาท

สามสี่วันต่อมาท่านอธิบดีก็เรียก ร.ต.อ.ธานี ไปรับคำสั่งว่าได้ติดต่อกับกองบัญชาการใหญ่ที่กัลกัตตาแล้ว ทางโน้นรับว่าจะสั่งการไปที่มันดะเลย์ต่อไป และบอกชื่อหัวหน้าหน่วยทหารที่ยกมาล้อมเมืองเชียงตุงให้ทราบด้วย เพื่อติดต่อกันในคราวต่อไป แล้วร.ต.อ.ธานี ก็เดินทางกลับเชียงตุงโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดมาตินบอมเบอร์ และต่อรถยนต์ตามเส้นทางเดิม

ท่านได้เล่าต่อไปว่า เมื่อถึงเชียงตุงก็ได้ทราบว่าทหารของเราถูกโจมตีจากกองโจรอังกฤษหลายครั้ง และได้รับรายงานจากผู้บังคับหมวด ว่าเวลานี้ได้ติดต่อกับกองทหารอังกฤษที่มาตั้งทางหลังเขาด้านทิศตะวันตกของเชียงตุงได้แล้ว ท่านจึงรีบเขียนจดหมายชี้แจงรานละเอียด และความเดิมที่ได้พบปะกับนายทหารอังกฤษทางด้านทิศเหนือของเชียงตุงมาแล้ว พร้อมกับอธิบายเกี่ยวกับขบวนการใต้ดินของเราให้เขาทราบเป็นสังเขป และว่าขบวนการเสรีไทยได้ติดต่อกับหน่วยเหนือของเขาแล้ว ประมาณเจ็ดวันต่อมา ก้ได้รับจดหมายยืนยันจากนายทหารอังกฤษ พันโท แพลเนล ว่าได้รับทราบจากหน่วยเหนือแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อย ขอให้ติดต่อประสานงานกันต่อไป เพราะกำลังทหารของเขาขณะนี้ยังไม่พอที่จะเข้ายึดเชียงตุง ให้ตำรวจและทหารไทยรักษาสถานการณ์ภายในเมืองต่อไปจนกว่าจะถึงเวลา

ต่อจากนั้นก็มีเครื่องบินของสหประชาชาติมาทำการยิงและทิ้งระเบิดบริเวณรอบเมืองเชียงตุงทุกเช้าเย็น กองบังคับการตำรวจสนามตั้งอยู่กลางศูนย์การทิ้งระเบิด เราจึงต้องขุดรูกำบังเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน ถึงแม้จะรู้อยู่ว่าเขาพยายามจะละเว้นเราก็ตาม

เมื่อกองทหารอังกฤษเคลื่อนย้ายเข้ามามาก การส่งเสบียงอาหารทางบกก็ไม่ทั่วถึง จึงต้องส่งทางอากาศ เครื่องบินมาทิ้งร่มทีไรทหารญี่ปุ่นก็มาวุ่นวายทุกที ว่าเหตุใดไม่ช่วยกันปราบปรามข้าศึก สถานการณ์ยิ่งคับขันเข้าทุกวัน จึงต้องสร้างสถานการณ์ด้วยวิธีปะทะกับข้าศึกบ่อยครั้ง และเครื่องบินข้าศึกก็เข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดและยิงกราดทุกวัน จนต้องย้ายกองบังคับการมาไว้กับที่พักของ ร.ต.อ.ธานี

ส่วนกำลังกองพันทหารราบที่ ๕๒ ได้ไปตั้งอยู่อีกด้านหนึ่งเพื่อสะดวกกับการติดต่อกับกองทหารอังกฆษ และเป็นทางเดียวที่จะล่าถอยเมื่อถูกจู่โจม ทั้งเตรียมแผนการหนีทีไล่ไว้อย่างพร้อมมูล แต่จะหนีไปรอดหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การสู้รบนั้นไม่มีทางเอาชนะเขาได้ แต่ถึงคราวจำเป็นก็ต้องสู้กันยิบตา

ขณะนั้นเริ่มเข้าฤดูฝนเส้นทางคมนาคมชำรุดทรุดโทรมมาก สะพานขาดเป็นแห่ง ๆ กองทหารญี่ปุ่นก็ดุเหมือนถูกตัดทิ้งไว้เป็นตอน ๆ แต่เขาไม่เดือดร้อนเพราะมีเสบียงอาหารพร้อมพอกินกันเป็นเดือน ๆ แต่ทหารไทยหนึ่งกองพันเริ่มเดือดร้อน เพราะการลำเลียงขนส่งอาหารจากเชียงรายไม่สะดวก ทหารกำลังจะอดข้าว ร.ต.อ.ธานี เล่าว่า ท่านต้องไปติดต่อกับกองทัพด้วยตนเอง ทางกองทัพก็พยายามจัดรถบรรทุกส่งให้ แต่ไปไม่ถึงเชียงตุง เพราะทางขาด และข้าวเปียกฝนก็เน่าเสียหาย

ท่านจึงตัดสินใจขออนุมัติส่งกำลังบำรุงเอง โดยติดต่อกับรถบรรทุกของเอกชน ให้ช่วยบรรทุกข้าวสารไปส่งเชียงตุง เที่ยวละ ๑๐ กระสอบ เครื่องกระป่อง ๑๐ หีบ ฝ่ายเราจะจ่ายน้ำมันให้ ๒๐๐ ลิตร และเปิดโอกาสให้นำสินค้าต่าง ๆ ไปขายที่เชียงตุงได้โดยเสรี ถ้านำข้าวสารไปส่งไม่ถึงที่ ต้องคืนน้ำมันและข้าวสารให้แก่เรา ทางกองทัพอนุมัติให้ท่านดำเนินการได้ จึงมีผู้อาสาสมัครเที่ยวแรกเพียงสามคัน แต่ละคันบรรทุกข้าวสาร ๑๐ กระสอบ เครื่องกระป๋อง ๒๐ หีบ เกลือ ๒๐ กระสอบ ปลาทูเค็มซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นปลาทูทอง และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย คนประจำรถล้วนแต่เป็นคนแข็งแรงล่ำสัน คันหนึ่งไม่ต่ำกว่าหกคน มีเครื่องมือช่างครบครัน

เมื่อเจอทางชำรุดก็ทำทาง สะพานขาดก็ซ่อม สะพานทานน้ำหนักไม่ไหว ก็ลงแรงแบกหาม ตัวท่านเป็นแต่เพียงผู้อำนวยการไม่ได้ลงมือเอง ก็ยังเหนื่อยแทบแย่ แต่ทุกคนก็ทำงานแข่งกับเวลาด้วยความยินดี เพราะเมื่อถึงเชียงตุงแล้ว ราคาเกลือกระสอบละเกือบสองพันบาท ปลาทูเค็มตัวละสามบาท พวกเราทุกคนพากันรวยไปตาม ๆ กัน และทหารไทยทั้งกองพันก็ได้ข้าวสาร ๓๐ กระสอบ เครื่องกระป๋อง ๖๐ หีบ และเกลือกับปลาทูเค็ม พอกินไปได้เป็นเดือน

นับแต่นั้นมาทหารและตำรวจก็ไม่ขาดแคลนเสบียงอีกต่อไป เพราะมีรถอาสาขนส่งจนต้องจัดคิว ปัญหาเรื่องปากท้องหมดไป แต่หนักใจเรื่องศึกในบ้าน มีข่าวหลายกระแสว่าชาวบ้านจะปล้นฆ่าพวกเรา ตัวท่านเองเล่าว่ายิ่งใกล้อันตรายเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกเฉย ๆ เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงไปได้ ต้องทำใจดีสู้เสือไว้ก่อน จึงออกประกาศสั่งเก็บอาวุธปืนทุกชนิด ผู้ใดมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองต้องนำมามอบ มิฉะนั้นจะลงโทษสถานหนัก ไม่มีใครส่งมอบอาวุธปืนแต่อย่างใด ปืนกลับไหลเข้าไปสู่แหล่งของผู้ครองนครเดิมเป็นอันมาก ท่านสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกค้นตามบ้านราษฎรได้อาวุธปืนก็ยึดไว้ แล้วเอาตัวไปขังพอเข็ดหลาบแล้วก็ปล่อยตัวไป

วันดีคืนดีทหารญี่ปุ่นก็ซ้อมเข้ายึดกองบังคับการของเราอีก เมื่อเข้ามาถึงรั้วลวดหนามแล้วก็ถอยกลับไป พอชักบ่อยเข้าก็ต้องเตรียมต้อนรับกันบ้าง พอทหารญี่ปุ่นเข้ามาชิดรั้ว ท่านก็สั่งบรรจุและเตรียมยิงทันที ก็ถอยไป ตอนสายวันนั้นเขาส่งนายทหารติดต่อมาขอโทษ ว่าเขาไม่มีเจตนาอะไรนอกจากจะฝึกซ้อมเท่านั้น ท่านก็บอกว่าในฐานะที่เราเป็นมิตรกัน ญี่ปุ่นซ้อมเข้ายึด ฝ่ายเราก็ซ้อมตั้งรับเท่านั้น ไม่มีอะไร

แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ สงครามยุติลง ทหารญี่ปุ่นวางอาวุธอย่างราบคาบและเป็นระเบียบ แล้วก็ถอนตัวผ่านประเทศไทยกลับไปประเทศของเขา

ดังนั้นผู้รักษาการในตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจสนามสหรัฐไทยเดิม และรักษาการทุกตำแหน่งในขณะนั้น กับกองพันทหารราบที่ ๒๕ จึงเป็นหน่วยสุดท้ายที่ต้องรักษานครเชียงตุง ไว้ส่งมอบให้กับกองทหารอังกฤษผู้ชนะสงครามต่อไป

แต่กองทหารอังกฤษก็ยังไม่เคลื่อนเข้ามาสักที แม้จะส่งคนไปเชิญก็บอกว่าต้องรอคำสั่งก่อน รออยู่หลายวันชาวบ้านก็ฮึกเหิมใหญ่ ลอบฆ่าทหารไทยที่ตกค้างในเชียงตุงตายไปหลายคน กองทัพพายัพถูกยุบ ทหารบางเหล่าถูกปลดออกจากประจำการทันที ตั้งแต่ตัวยังเดินออกไปไม่พ้นสนามรบ มันเป็นสภาพที่น่าอนาถและสลดใจเสียนี่กระไร ทหารของชาติถูกสั่งปลดในสนาม พวกเขาต้องเดินทางกลับบ้านเดิมตามยถากรรม แต่ทุกคนก็เบื่อสงคราม และคิดถึงลูกเมียทางบ้าน หลังจากที่ได้สละชีพเพื่อชาติมาแล้ว มิเสียแรงที่เกิดมาเป็นลูกผู้ชาย ทหารบางคนไม่ได้กลับตัวคนเดียว บางคนแถมเอาภรรยาและลูกน้อยมาด้วย ช่วยกันหาบช่วยกันคอน ค่ำไหนนอนนั่นไม่หวั่นไหว

หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว ๗-๘ วัน พ.ท.แพลแนล จึงได้ยกกองทหารของเขาเข้าเชียงตุง มีนายทหารอังกฤษสองนาย นอกนั้นเป็นทหารพม่าและกูรข่าหนึ่งหมวดเท่านั้น พวกเจ้าผู้ครองนครพาราษฎรออกไปต้อนรับอย่างเอิกเกริก พอท่านนายพันถึงที่พัก ผู้รักษาราชการผู้กำกับการตำรวจสนามก็ไปเยี่ยมทันที ท่านเล่าว่าพ.ท.แพลแนลได้ให้การต้อนรับอย่างดี บอกว่ารู้จักแต่ชื่อเสียงกันมานานเพิ่งพบตัววันนี้ และนำของขวัญมามอบให้ เล่นเอาพวกเจ้าฟ้าทั้งหลายงงงันไปตาม ๆ กัน

รุ่งขึ้นจึงได้นัดพบปรึกษาว่าจะทำพิธีรับมอบดินแดนกันอย่างไร เจ้าผู้ครองนครเชียงตุง เสนอให้ทำพิธีชักธงไทยลงจากยอดเสา แล้วชักธงอังกฤษขึ้นไปแทน พร้อมกับกองเกียรติยศทำความเคารพธงชาติอังกฤษ ตัวท่านแย้งว่าเราไม่ได้ชักธงชาติไทยขึ้นที่เชียงตุงมาเป็นเวลาสามเดือนแล้ว เหตุใดจึงต้องมาทำพิธีลดธงชาติไทย เพราะถือว่าประเทศไทยไม่ได้แพ้สงคราม พวกเจ้าฟ้าทั้งหลายก็พากันสนับสนุนข้อเสนอนี้ ท่านนายพันเห็นใจจึงชี้ขาดว่าให้ทำพิธีชักธงชาติอังกฤษขึ้นสู่เสาหน้าศาลากลางเมืองเชียงตุงอย่างเดียว และขอร้องให้ตัวท่านเข้าร่วมพิธีด้วย

เมื่อถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.กองทหารอังกฤษก็ทำพิธีชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา กองเกียรติยศแสดงความเคารพ เมื่อธงชาติอังกฤษปลิวสะบัดบนยอดเสาแล้ว ท่านก็จับมืออำลา พ.ท.แพลแนล และนายทหารอังกฤษ และขึ้นรถเดินทางออกจากเมืองเชียงตุงทันที

การเดินทางครั้งนี้มีรถยนต์เพียงคันเดียว เพราะกำลังทหารตำรวจทั้งหมดได้เดินทางด้วยเท้าล่วงหน้าไปก่อนแล้ว รถคันนี้ มีผู้ร่วมทางคือ รักษาราชการกองบังคับการตำรวจสนาม ผู้บังคับกองพัน ทหาราบที่ ๒๕ และ ผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงตุง เท่านั้น

การเดินทางเที่ยวนี้ไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะเกิดอุบัติเหตุ รถพลิกคว่ำตรงทางโค้งบนเขาใกล้เมืองพยาก รถได้พลิกคว่ำกลิ้งลงไปในหุบเหวข้างทางประมาณสามสิบเมตร ผู้บังคับบัญชาทั้งสามนายบาดเจ็บ คนขับรถขาหัก และมีนายสิบตำรวจเสียชีวิตหนึ่งคน ซึ่งต้องทำการฌาปนกิจศพกันบนถนนนั้นเอง แล้วเก็บอัฐิห่อกลับมา

เมื่อมาถึงกรุงเทพแล้วท่านก็ได้ทราบว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องตกเป็นอาชญากรสงคราม พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ต้องพ้นหน้าที่ ตัวท่านเองถูกผู้บังคับบัญชาโดยตรงถามว่าหายหน้าไปไหนตั้งสองปี ไปทำหน้าที่อะไรในกองพลที่ ๓ ตัวท่านเองต้องตอบอย่างขอไปทีว่า ไปทำหน้าที่นายไปรษณีย์ของกองพลที่ ๓ ผู้บังคับบัญชายิ่งไม่พอใจ จึงสรุปว่าตัวท่านอยู่ในเกณฑ์ต้องถูกปลดออกจากราชการ

ท่านจึงไปรายงานตัวกับ พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อดีตอธิบดีกรมตำรวจ จึงได้รับหนังสือให้ไปหาอธิบดีตำรวจคนใหม่ และได้รับการบรรจุเป็นสารวัตรประจำแผนก ๒ (ต่างประเทศ) กองตำรวจสันติบาลเมื่อ ๔ ตุลาคม ๒๔๘๘ และได้รับราชการในกรมตำรวจต่อมา จนได้รับยศ พันตำรวจเอก

ภารกิจอันเป็นการปิดทองหลังพระของ พันตำรวจเอก ธานี สาทรกิจ จึงยุติลงแต่เพียงนี้.

###########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
W3449451
๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘

ภาคผนวก
พันตำรวจเอก ธานี สาทรกิจ เริ่มรับราชการเป็นพลตำรวจสมัคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐
เป็นร้อยตำรวจตรี พ.ศ.๒๔๘๔
เป็น ร้อยตำรวจโท พ.ศ.๒๔๘๖
เป็น ร้อยตำรวจเอก พ.ศ.๒๔๘๗
เป็น พันตำรวจตรี พ.ศ.๒๔๙๔
เป็น พันตำรวจโท พ.ศ.๒๔๙๗
เป็น พันตำรวจเอก พ.ศ.๒๕๐๔
เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๑๗
ถึงแก่กรรม ๘ มีนาคม ๒๕๑๘

ข้อมูลจาก
หนังสือเรื่อง เชียงตุงนครหลวงแห่งสหรัฐไทยใหญ่
โดย พันตำรวจเอก ธานี สาทรกิจ
พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๑ ในงานฌาปนกิจศพ นางกฤษณา สาทรกิจ
พิมพ์ครั้งหลัง เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจเอก ธานี สาทรกิจ
เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๘




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2559    
Last Update : 17 มิถุนายน 2559 16:17:59 น.
Counter : 857 Pageviews.  

เสรีไทยสายตำรวจ (๑)


เรื่องเล่าจากอดีต

เสรีไทยสายตำรวจ (๑)

พ.สมานคุรุกรรม

ในเรื่อง เสรีไทยสายพายัพ ที่ผ่านมาแล้วนั้น คณะของผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ ซึ่งไปเจรจาสันติภาพกับกองพล ๙๓ ของจีน มีล่ามภาษาจีนคนหนึ่ง ชื่อ ร้อยตำรวจโท ธานี สาทรกิจ ท่านได้เล่าเรื่องของท่านไว้ในเรื่อง เชียงตุง นครหลวงแห่งสหรัฐไทยใหญ่ ไว้ยาวมาก ซึ่ง คนเดินเท้า จะได้เก็บความมาเล่าไว้โดยย่นย่อในบันทึกนี้

ครั้งแรก ร.ต.ท.ธานี สาทรกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นล่ามภาษจีน ประจำกองบังคับการตำรวจสนาม สหรัฐไทยใหญ่ ณ นครเชียงตุง เมื่อ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๕ โดยเดินทางจากกรุงเทพไปจังหวัดลำปางด้วยรถไฟ และเดินทางไปจังหวัดเชียงรายโดยรถยนต์ และผ่านตำบลแม่สายไปจนถึงเมืองเลน จากนั้นต้องเดินทางโดยเกวียน ด้วยความยากลำบากมาก เพราะเป็นฤดูฝน จนถึงเชียงตุง ระยะทาง ๑๖๕ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๒๘ วัน ปฏิบัติราชการอยู่จนถึง ๑ ตุลาคม ๒๔๘๕ จึงกลับมารับราชการ เป็นรองสารวัตรแผนก ๒ (ต่างประเทศ) กองตำรวจสันติบาล ในกรุงเทพ

จนถึง พ.ศ.๒๔๘๗ ประมาณต้นปี ก็ได้รับคำสั่งจาก พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ให้ไปปฏิบัติราชการพิเศษที่ กองพลที่ ๓ กองทัพพายัพ ณ เมืองเชียงตุงอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้เดินทางโดยเครื่องบินรบปีกสองชั้นเครื่องยนต์เดียว มีสองที่นั่งคือนักบินกับพลปืนหลัง ร.ต.ท.ธานี ได้ขดตัวเข้าไปเบียดอยู่กับที่พักเท้าของพลปืนหลังนั่นเอง

เดินทางจากดอนเมือง เวลา ๐๗.๐๐ น. แวะโคกกระทียม จังหวัดพิษณูโลก จังหวัดลำปาง และถึงจังหวัดเชียงราย เวลา ๑๗.๐๐ น.พักรับประทานอาหารถึงเวลา ๑๘.๐๐ น. จึงออกเดินทางโดยรถยนต์ จากแม่สาย ตามถนนที่สร้างใหม่ ถึงเชียงตุงเวลา ๐๒.๐๐ ของวันใหม่ พักนอนจนรุ่งเช้า จึงออกเดินทางไปรายงานตัวกับ พลตรี หลวงหาญสงคราม ที่ตำบลปางฮุงเมื่อเวลา ๐๖.๐๐ น.

และได้ร่วมเดินทางไปกับคณะที่ติดต่อเจรจาสันติภาพกับกองพล ๙๓ ของจีนทุกครั้ง ตามที่ได้เล่ามาแล้วในตอนก่อน ๆ

ร.ต.ท.ธานี เล่าว่าท่านไม่สันทัดภาษาจีนกลาง ได้พูดเจรจาด้วยภาษากวางตุ้ง ฝ่ายล่ามของจีนพูดภาษาไหหลำ แต่ก็สามารถเจรจาเข้าใจกันได้ ท่านได้บรรยายไว้ว่า

ข้าพเจ้าต้องเดินทางเข้ากรุงเทพนอีกครั้งหนึ่งเพื่อรายงานผลการติดต่อ ให้ท่านอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ทราบ ทั้งนี้เพื่อขอรับนโยบายในการแลกเปลี่ยนข่าวสารการเมืองต่อไป ในระยะเวลาที่ข้าพเจ้าต้องทำหน้าที่ติดต่อกับกองทัพจีนอยู่นี้ ข้าพเจ้าต้องขึ้นเหนือล่องใต้อยู่เสมอ เพราะการรายงานข่าวไม่สามารถจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรได้

การเดินทางจากสุดหล้าฟ้าเขียว แดนต่อแดน แต่ละเที่ยวต้องลำบากตรากตรำอย่างแสนสาหัส ข้าพเจ้าเริ่มเป็นไข้มาเลเรียเมื่อเข้ารับหน้าที่ได้ไม่ถึงสองเดือน สมุดบันทึกได้บันทึกจำนวนครั้งที่ไข้จับ พอถึงครั้งที่ ๙๙ ข้าพเจ้าก็หมดอาลัยที่จะบันทึกมันต่อไป ตกลงฉีกสมุดบันทึกโปรยลงในลำน้ำหลวย ให้ลอยไปตามสายน้ำ

ร.ท.ธานี เล่าต่อไปว่า เมื่อฝ่ายเราตกลงทำสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน กับกองทหารจีนได้แล้ว ทางกองทีพพายัพก็มีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกำลังทหารส่วนใหญ่ ลงมาตั้งที่เชียงรายและลำปาง ทางเชียงตุงก็เคลื่อนย้ายทหารเข้าพักอาศัยในบ้านในเมือง ไม่ต้องนอนในป่าขุดสนามเพลาะพร้อมเช่นแต่ก่อน ทหารส่วนใหญ่จึงได้พักฟื้น และรอดพ้นภยันตรายจากไข้ป่า ที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิต

กองพลที่ ๓ ได้ถอยร่นเข้าใกล้เขตแดนไทย และห่างจากหน่วย กองพันทหารราบ ที่ ๑๗ ซึ่งเป็นหน่วยสุดท้ายที่อยู่กับท่านเพื่อติดต่อกับทหารจีน แต่กองทัพจีนก็ก็ถอนตัวออกห่างจากชายเขตแดนสหรัฐไทยใหญ่ไปทุกที ในเวลาเดียวกับที่กองทัพไทยถอยเข้าเขตแดนไทย กองทหารญี่ปุ่นก็เคลื่อนกำลังเข้ามาแทนในเชียงตุง

และในระยะต่อมาหน่วยเสรีไทยจากสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางผ่านคุนมิงเข้ามาทางด้านความรับผิดชอบของท่าน จึงได้รับเสรีไทยเหล่านั้นทางด้านอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย ไปจัดตั้งหน่วยใต้ดินขึ้นในหุบเขาแห่งหนึ่งที่อำเภองาวจังหวัดลำปาง ทำการติดต่อกับต่างประเทศ รับอาวุธที่ทันสมัยมาทำการฝึกฝนพลพรรคอย่างเป็นงานเป็นการ

ตอนนี้กองโจรของอังกฤษซึ่งอาศัยชาวเขาเป็นกำลัง และมีทหารพม่าอินเดียเข้าสมทบ นายทหารส่วนมากเป็นชนชาติอังกฤษ เข้ามารบกวนกองทหารของไทยและทหารญี่ปุ่นนับวันจะรุนแรงขึ้น หน่วยลาดตระเวนของเราถุกกองโจรของอังกฤษจู่โจม ฝ่ายเราไม่รู้ตัวต้องเสียชีวิตไปหลายคน และจับเป็นไปได้คนหนึ่ง ร.ต.ท.ธานีต้องพยายามหาทางติดต่อกับกองโจรอังกฤษ จนสามารถเดินทางไปพบกันได้

โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำทาง พา ร.ต.ท.ธานี เดินทางไปสองวันเต็มกว่าจะถึงที่นัดหมาย ริมลำธารแห่งหนึ่ง ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางตะวันออกแยงเหนือ ๓๐ กว่า ก.ม. การพบคงใช้สัญญาณตีเกราะเคาะไม้กันตามเคย ฝ่ายเราให้คนถือธงขาวออกไปปรากฏตัวริมลำธาร สักครู่เรามองเห็นมีทหารพม่าเดินนำและมีนายทหารอังกฤษสองนายแต่งเครื่องแบบทหารออสเตรเลียน สวมหมวกสักหลาดปีกใหญ่ และมีทหารพื้นเมืองตามหลังมาสามคน จากฝั่งตรงข้ามท่านจึงออกไปปรากฏตัว พวกเขาจึงเดินข้ามลำธารเพราะน้ำไม่ลึกมากนักมาหาเรา

การเจรจาเป็นไปด้วยสันถวไมตรีอันดียิ่ง ครั้งแรกเขาได้ขอร้องให้ทหารและตำรวจไทย ถอนตัวออกจากดินแดนสหรัฐไทยใหญ่เสียโดยสิ้นเชิง เพราะพวกเขาได้รับคำสั่งให้มาทำการยึดดินแดนเขตนี้คืน แต่เมื่อเขาเข้าใจถึงความจำเป็นที่เราไม่สามารถจะถอนทหารออกจากดินแดนนี้ได้ เขาก็ยอมตกลงว่าเราจะไม่สู้รบกันอีก มีอะไรก้ติดต่อประสานงานกัน เราจึงถือโอกาสขอตัวทหารไทยที่เขาจับตัวไปพร้อมด้วยอาวุธปืนกลเบาหนึ่งกระบอกคืน เขาแสดงความเสียใจว่าทหารผู้นั้นได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี่เจ็ดวันแล้ว เพราะบาดเจ็บสาหัสมาก โดยได้พยายามรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามรถแล้ว และได้ฝังศพเรียบร้อยแล้ว ขอส่งคืนแต่อาวุธที่ยึดไว้

กองโจรของอังกฤษบอกว่าเขาจะยึดเชียงตุงคืน เมื่อมีกำลังส่วนใหญ่พร้อม ท่านจึงแจ้งให้ทราบว่าขณะนี้ทหารญี่ปุ่นที่ยึดครองเมืองเชียงตุงอยู่นั้น มีกำลังไม่ต่ำกว่าหนึ่งกองพลใหญ่ มีอาวุธหนักคือปืนใหญ่สนามและอื่น ๆ อีกมากมาย เขาจึงต้องปฏิบัติการแบบกองโจรไปก่อน จนกว่ากำลังจะพร้อม

ในที่สุดกองพันทหารราบที่ ๑๗ ก็ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวจากชายแดนที่ติดกับเมืองมะและเมืองลา ร.ต.ท.ธานี จึงต้องเดินทางไปส่งคนนำสารไปแจ้งให้กองทัพจีนทราบว่า เรามีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์และการเมือง บังคับให้เราต้องถอนกำลังทหารด้านนี้กลับโดยด่วน จึงไม่สามารถจะตั้งหน่วยติดต่อประสานงานต่อไปได้ ขอเลิกการติดต่อทางจุดนี้ตั้งแต่บัดนี้ และขณะนี้รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายได้ติดต่อกันโดยตรงอยู่แล้ว

ในขณะเดียวกันกองบัญชาการตำรวจสนาม ก็ได้ถอนกำลังกลับจนหมดสิ้นแล้ว เพราะได้ข่าวว่ากองทัพอังกฤษยกพลข้ามแม่น้ำสาละวินมาแล้ว หน่วยลาดตระเวนของเราที่อยู่ข้างหน้าถูกฆ่าตายหมด อีก ๒๐ กว่า ก.ม.ก็จะถึงเมืองเชียงตุงแล้ว

ตัวท่านเองก็คิดว่าจะได้หมดภารกิจ เดินทางกลับกรุงเทพเสียที แต่กลับได้รับคำสั่งจากกองทัพพายัพ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ให้ไปรายงานตัวโดยด่วน เพื่อรับตำแหน่งผู้บังคับตำรวจสนาม ท่านเล่าว่า

ท่านแจ้งแก่เสนาธิการกองทัพพายัพว่า ตัวท่านมียศเพียงนายร้อยตำรวจเอกเท่านั้น จะไปทำหน้าที่เป็นผู้บังคับตำรวจสนามได้อย่างไร นายตำรวจสนามซึ่งมียศชั้นนายพลนายพันเยอะแยะไป ขอให้พิจารณาแต่งตั้งเขาเหล่านั้นเถิด แต่เสนาธิการกองทัพแจ้งว่ายศชั้นไม่สำคัญเท่าความสามารถและผลงาน ท่านเชื่อว่าทางกรมตำรวจคงไม่ขัดข้องในการแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้บังคับตำรวจสนาม และกรมตำรวจก็ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจสนามสหรัฐไทยเดิม และให้รีบเดินทางไปจัดตั้งกองบังคับการขึ้นใหม่ที่เชียงตุงโดยด่วน

ท่านจึงได้รวบรวมเจ้าหน้าที่จากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ได้ตัวสมุห์บัญชี นายแพทย์และพยาบาล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของกองบังคับการหลายคน รวมทั้งผู้บังคับกองเมืองเชียงตุง ขึ้นรถยนต์บรรทุกสองคัน ออกเดินทางจากเมืองเชียงรายมุ่งสู่เมืองเชียงตุง ระหว่างทางก็รวบรวมเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังเดินทางกลับจากหัวเมืองต่าง ๆ เอาตัวกลับไปเชียงตุง ได้กำลังไปทั้งหมดประมาณ ๖๐ กว่าคน เมื่อถึงเชียงตุงก็จัดตั้งกองบังคับการขึ้นใหม่ ข้าราชการฝ่ายพลเรือนก็ถอนตัวกลับจวนจะหมดแล้ว ต้องขอร้องพวกที่ยังไม่ได้กลับให้ยับยั้งไว้ก่อน จนตั้งหน่วยปกครองเมืองเชียงตุงได้สำเร็จ

ขณะนั้นฝ่ายพวกเจ้าฟ้าเชียงตุงก็ชักจะมีปฏิกิริยา ทำตัวออกห่าง ตัวเจ้าฟ้าเชียงตุงก็อพยพครอบครัวออกจากเมืองเชียงตุง ไปตั้งมั่นอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ห่างจากเมืองเชียงตุงประมาณ ๒๐ กว่า ก.ม. นัยว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม และระดมกำลังชาวบ้านในหมู่บ้านข้างเคียง เข้ามาฝึกอาวุธ มีการจัดวางกำลังรักษาตัวเองอยู่เลียบ ๆ คอยคิดที่จะตลบหลังเราอยู่เหมือนกัน

กองทัพพายัพก็ดำริมอบหมายการปกครองบ้านเมือง ให้ตำรวจสนามโดยสิ้นเชิง แต่กำลังตำรวจที่อยู่ในตัวเมืองเชียงตุงมีไม่ถึงสามสิบคน นอกนั้นต้องไปประจำปกครองท้องที่อำเภอ ต่าง ๆ ข้าศึกที่แท้นั้นไม่น่ากลัวเท่าชาวบ้านที่ไม่ซื่อต่อเราเท่านั้น นายเก่าเขากำลังจะกลับมามีอำนาจ พวกเขากำลังคิดจะตลบหลังเราอยู่ทุกคืนวัน ท่านจึงติดต่อกับกองทัพขอให้ทหารอยู่เป็นเพื่อนตายสักหนึ่งกองพัน ทางกองทัพจึงให้ กองพันทหารราบที่ ๒๕ อยู่รักษานครเชียงตุงร่วมกับตำรวจสนาม

ที่สำคัญคือท่านได้รับจดหมายจากฝ่ายอังกฤษว่า เขาขอเลิกข้อตกลงทั้งหมด เพราะเขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้เข้ายึดครองเมืองเชียงตุงให้ได้ ให้ทหารและตำรวจไทยรีบถอนตัวออกจากดินแดนของสหรัฐไทยเดิมโดยสิ้นเชิง ต่อไปนี้เราเป็นศัตรูซึ่งกันและกันแล้ว มันเป็นความจำเป็นที่เขาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเฉียบขาด ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

การที่เรากล้าถอนกำลังทหารส่วนใหญ่กลับ ให้เหลือเพียงกำลังส่วนน้อยไว้ให้ท่านรักษานครเชียงตุง ก้เพราะเราติดต่อและเข้าใจกันดีกับฝ่ายอังกฤษแล้ว เราคิดว่าไม่มีข้าศึกภายนอกที่จะคอยรบกวนเรา นอกจากข้าศึกภายในที่จะคอยปลดอาวุธเรา ในวินาทีใดวินาทีหนึ่งเท่านั้น

ร.ต.อ.ธานี สาทรกิจ รักษาการรองผู้บังคับการตำรวจสนาม กำลังเข้าตาจน ท่านเล่าว่าชีวิตของท่านชีวิตเดียวไม่เท่าไร แต่ชีวิตตำรวจในปกครอง และทหารเพื่อนร่วมตายอีกหนึ่งกองพันกำลังจะเป็นอันตราย ท่านจึงยอมเสี่ยงภัยตามผู้นำสาร กลับไปขอเจรจากับนายทหารอังกฤษอีกครั้ง แต่คราวนี้ได้พบกับนายทหารพม่าและทหารกูรข่าเท่านั้น

ท่านชี้แจงว่ารัฐบาลไทยไม่ต้องการดินแดนแห่งนี้ ที่เราถอนตัวไม่ได้เพราะเป็นนโยบายทางการเมือง เราพร้อมที่จะมอบดินแดนเหล่านี้ให้แก่กองทหารอังกฤษโดยทันที ตัวท่านมีอำนาจเต็มที่จะกระทำได้ เพราะได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และทางรัฐบาลได้ติดต่อกับรัญบาลอังกฤษโดยใกล้ชิดอยู่แล้ว ฝ่ายเขาก็ยืนยันตามเดิม เพราะเวลานี้มีหน่อยใหญ่ ๆเพิ่มเติมมามากมาย ตัวเขาเองไม่สามารถจะติดต่อหรือสั่งการได้ นอกจากจะได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการของเขาที่มันดะเลย์เท่านั้น

ท่านจึงรับว่าพร้อมที่จะเปิดทางให้กองทัพอังกฤษเข้ายึดครองเชียงตุง ถ้าหากเอาชนะกองทหารญี่ปุ่นได้ เราต้องเห็นใจเขาเพราะครั้งแรกเขามาเพียงหน่วยสองหน่วยเขาก็ตกลงกับเราได้ บัดนี้พวกเขาเข้ามาล้อมเกือบรอบเมืองเชียงตุงอยู่แล้ว ท่านจึงต้องกลับไปรายงานกองทัพพายัพ เพื่อตกลงใจต่อไป.

###########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
W3447843
๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2559    
Last Update : 17 มิถุนายน 2559 7:14:34 น.
Counter : 798 Pageviews.  

เสรีไทยสายสื่อสาร


เรื่องเล่าจากอดีต

เสรีไทยสายสื่อสาร

พ.สมานคุรุกรรม

จากบันทึกของ พลเอก หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ กองทัพพายัพ ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นผู้นำในการติดต่อกับกองทัพจีน เพื่อร่วมมือกันขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น ได้ระบุไว้ว่าในคณะผู้ติดต่อระหว่าง กองพลที่ ๓ ของไทย กับ กองพลที่๙๓ ของจีน ที่ชายแดนด้านสหรัฐไทยเดิมนั้น มีนายทหารคนสนิทคือ ร้อยโท สมาน วีระไวทยะ. ผู้บังคับหมวดสื่อสาร กองทหารสื่อสารกองพลที่ ๓ ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง ในตำแหน่งนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการกองพล และเป็นผู้จดบันทึกการประชุมอีกด้วยทุกคราว

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นนายทหารสื่อสาร แล้ว แผนการที่จะติดต่อกับกองทัพจีนทางด้านกองทัพพายัพ ก็ต้องยุติลง พลตรี หลวงหาญสงคราม ได้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองพลอิสระที่ ๓๗ ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา และ ร้อยเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ได้ย้ายไปเป็น ผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร กองพลอิสระที่ ๓๗ ด้วยเช่นกัน

พันเอก สมาน วีระไวทยะ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานคราวนี้ ไว้ในหนังสือที่ระลึกงาน พระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงหาญสงคราม เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๑๒ ขยายความจากที่ได้เล่าไว้ในตอนก่อน ดังนี้

วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๖ กระผมได้รับคำสั่งจาก ผบ.พล.๓ (พล.ต.หลวงหาญสงคราม) ให้ไปพบเมื่อตอน ๒๑.๐๐ น. เพื่อไปรายงานตัว แล้วท่านพาเดินเข้าไปในที่พักของท่านและสั่งว่า

“ วันพรุ่งนี้ผมจะให้คุณถือหนังสือลับที่สุดของผม ไปให้ท่านแม่ทัพ พล.ท.จิระ วิชิตสงคราม ขอสั่งกำชับว่า หนังสือลับที่สุดฉบับนี้ มีค่าเท่ากับชีวิตของคุณ อย่าได้ปล่อยให้ตกไปถึงมือคนอื่นเป็นอันขาด นอกจากคุณจะตายเสียก่อน และห้ามขาดไม่ให้แพร่งพรายหรือพูดกับใครเลย ถ้าความลับนี้รู้ไปถึงหูบุคคลที่สาม คุณมีโทษสถานเดียวคือต้องถูกยิงเป้า.............”

ท่านเล่าว่าได้เดินทางจาก กองบัญชาการ พล.๓ บ้านปางฮุง เมืองเชียงตุง ลงไปเชียงราย ระยะทาง ๑๗๖ ก.ม. โดยร่วมมากับรถขนส่งของ กองร้อยปืนต่อสู้อากาศยาน ในความอำนวยการเดินทางของ ร.อ.แขม กุญชร การเดินทางทุลักทุเลเต็มที เพราะเป็นทางไหล่เขา ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูง อีกด้านหนึ่งจะต้องเป็นเหวลึกชัน และมีอุปสรรคคือมีดินและหินจากภูเขาพังทับทางอยู่เป็นแห่ง ๆ ต้องหยุดรถลงโกยดินลงเหวและปราบทางให้เรียบมาตลอดเวลา

ออกเดินทางตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น.เศษ ถึง ๑๑.๐๐ น.เศษ ได้ระยะทางเพียง ๖๐ ก.ม.เท่านั้น และเมื่อถึงตำบลท่าเจียว ก็ต้องโกยดินและหินอยู่เกือบชั่วโมง ขณะที่กำลังจะขึ้นรถออกเดินทางต่อ ภูเขาก็พังครืนลงมาทับตัวท่านกับนายสิบอีกคนหนึ่ง ตัวท่านถึงกับสลบไปครู่หนึ่ง เมื่อมีทหารช่วยขุดลากตัวขึ้นมา นายสิบผู้นั้นขาข้างขวาหัก แต่ตัวท่านไม่มีบาดแผลหรือกระดูกแตกหักเลย แต่ลุกไม่ขึ้นเพราะเจ็บปวดไปทั่วทั้งตัว แต่ท่านก็สามารถเดินทางต่อไป โดยนอนเอาศรีษะหนุนตัก ร.อ.แขม มาตลอดทาง จนถึงที่หมายสามารถเอาหนังสือลับที่สุดนั้น มอบให้แม่ทัพพายัพได้สำเร็จ และถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลเสนารักษ์ (โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าเดี๋ยวนี้) อยู่ประมาณสองเดือนเศษ จึงกลับไปปฏิบัติราชการสนามที่เชียงรายต่อ

วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ หลังอาหารเย็นแล้ว ผบ.พล.๓ ได้เรียก พ.ท.อาจ ณ บางช้าง (หลวงไกรนารายณ์ คืนบรรดาศักดิ์แล้ว) เสนาธิการ กองพลที่๓ .พ.ต.แสวง ทัพภะสุต เสนาธิการ กองพล ที่๔ และตัวท่านซึ่งจะเป็นตัวแทนกองทัพไทย ไปพบที่ชายป่า เพื่อซักซ้อมคำกล่าวที่จะเจรจากับผู้แทนกองทัพจีน

วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ ออกเดินทางโดยรถยนต์จากที่ตั้ง บก.พล.๓ บ.ปางฮุง ผ่านเมืองเชียงตุงเลยไปอีกประมาณ ๑๖ ก.ม. ต่อจากนั้นต้องเดินเท้าไต่เขาสูงขึ้นไป เรื่อย ๆ อีกประมาณ ๑๒ ก.ม.ก็ถึง บ้านปางยาว ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๔๐๐๐ ฟุต ต่อไปถึง บ้านปางฮก ซึ่งมองลงมาไปเห็นพื้นดิน เห็นแต่เมฆลอยอยู่ข้างล่าง แล้วก็ค่อย ๆ ลงมาจนถึง พื้นดิน ข้ามแม่น้ำหลวยที่ บ้านตาปิง ต่อจากนั้นก็ขึ้นปางกิ่ว กิ่วทราย เมื่อถึงยอดกิ่วทรายแล้ว ก็เดินทางตามไหล่เขาและสันเขา จนลงสู่เมืองมะ ถึงที่ตั้ง กองบังคับการ กองพันทหารราบที่ ๑๗ เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น.

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๐๕.๔๕ น. พ.ท.ประยูร สุคนธทรัพย์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๑๗ ได้พาพวกเราเดินทางไปยังแนวหน้าริมฝั่งแม่น้ำลำ กระผมได้รับคำสั่งให้ออกไปยืนแสดงตัวอยู่ที่ชายฝั่งน้ำแต่ผู้เดียวโดยปราศจากอาวุธ ส่วนฝั่งตรงข้ามซึ่งทหารจีนวางแนวประชันหน้ากันอยู่นั้น เต็มไปด้วยอาวุธร้ายแรงทุกชนิด สำหรับคนอื่น ๆ ต่างอยู่ในที่กำบังหลังต้นไม้ใหญ่ ต่อจากนั้น ผู้บังคับกองพันก็เคาะเกราะสามครั้ง ๆ ละสามที เป็นอาณัติสัญญาณ

กระผมยืนคอยอยู่ประมาณ ๒๐ นาที ก็ได้ยินเสียงเคาะเกราะทางฝั่งตรงข้ามตอบมา แล้วมีทหารจีนหนุ่ม ๆ คนหนึ่งโผล่จากพุ่มไม้ฝั่งตรงข้ามออกมา กระผมจึงกวักมือเรียก ทหารจีนคนนั้นก็ลงจากตลิ่งมาที่ชายน้ำ แล้วก็โผออกมา พอถึงกลางน้ำก็ถูกน้ำพัดจมหายไปกับตา กระผมตกใจมากจึงตะโกนบอก พ.ท.แสวง ทัพภะสุตว่า

“ ผู้การครับ อ้ายตี๋จมน้ำหายไปเสียแล้ว”

ขณะนั้นได้ยินเสียงข้างหลังของกระผม กระชากลูกเลื่อนปืนกลและปืนเล็กดังกร๊อกแกร๊ก ๆ อย่างชัดเจน ถ้ามีการยิงกันขึ้นตัวกระผมเองซึ่งยืนเป็นเป้านิ่งอยู่ระหว่างกลาง จะทำประการใด

ขณะนั้นก็พลันเกิดเหตุบังเอิญขึ้นจริง ๆ คือริมตลิ่งตรงที่ผมกำลังยืนอยู่ ยุบฮวบลงไปทำให้กระผมซึ่งไม่ทันเตรียมตัว และไม่รู้ตัวล่วงหน้าพลัดตกลงไปในแม่น้ำ ซึ่งกำลังไหลเชี่ยวราวกับเทออกจากปากกระบอก แต่ยังพอมีสติดีอยู่ จึงคว้าต้นไม้ที่ทอดตัวลงไปบนลำน้ำหวังจะยึดเอาไว้ แต่ต้นไม้นั้นไม่สู้ใหญ่นักขนาดเท่าต้นแขน เมื่อถูกคนเหนี่ยวก็ชักจะโน้มลำต้นลงไปในน้ำ ประกอบกับแรงของกระแสน้ำด้วย จึงทำให้กิ่งก้านจมลงน้ำ พอถูกกระแสน้ำพัดแรงเข้า ก็เลยถอนรากโคนลอยตามกระแสน้ำไป ทำเอาตัวผมถูกกระแสน้ำพัดไปกับต้นไม้นั้นด้วย ชั่วพริบตาเดียวก็ปะทะเข้ากับเกาะใหญ่กลางลำน้ำ

พอยืนตั้งตัวได้ก็เห็นทหารจีนคนนั้น นอนแผ่อยู่ที่หาดทรายบนเกาะกลางน้ำ ผมจึงเดินเข้าไปหา ทหารจีนหนุ่มน้อยรับลุกขึ้นยืนคำนับ แต่จะพูดอะไรกันก็ไม่รู้เรื่องกระผมจึงล้วงเอาจดหมายนัดพบภาษาจีนที่เตรียมมา ซึ่งขณะนี้เปียกปอนหมด แต่เนื่องจากเขียนด้วยหมึกจีนจึงไม่ละลายน้ำ แล้วเปิดหมวกทหารจีนออก เอาจดหมายนั้นวางลงบนศีรษะของเขา และเอาหมวกครอบศีรษะไว้ตามเดิม ต่อจากนั้นเราก็เดินไปหาที่ลุยข้ามกลับมาฝั่งเราทั้งสองคน

พ.ท.แสวง ทัพภะสุต ลงมาพบกับทหารจีนนั้นที่ริมตลิ่งชายน้ำ พร้อมกับเอาบุหรี่ตราประตูชัยของโรงงานยาสูบไทย ให้ ๑ ซอง ทหารจีนหนุ่มดีใจมากคำนับแต้ กระผมจึงพาไปส่งตรงที่ลุยข้าม ซึ่งห่างไปทางตอนเหนือจากที่เรายืนอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร เรายืนรอจนเขาขึ้นตลิ่งฝั่งตรงข้ามด้านทหารจีนแล้ว เราจึงปีนตลิ่งกลับขึ้นมา

เรารอคอยคำตอบอยู่นานมาก จนต้องให้พลทหารชาวจีนของเรา เขียนจดหมายภาษาจีนอีกหนึ่งฉบับ ไปส่งให้ผู้บังคับบัญชาทหารจีนที่แนวหน้า แล้วก็รอต่อไปจนได้รับคำสั่งจาก ผบ.พล.๓ ว่า ถ้าเลยสิ้น ม.ค.๘๗ แล้ว ให้ทุกคนกลับด่วน ไม่ต้องคอยต่อไป

ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ เราจึงได้รับจดหมายตอบเป็นภาษาจีน จึงให้พลทหารตี๋ของเราอ่านและแปลให้เราฟัง มีความว่า

ทางฝ่ายจีนรู้สึกยินดีมาก และอยากพบผู้แทนฝ่ายไทย ขอนัดพบที่กองบังคับการฝ่ายทหารจีน ที่ตำบลเชียงล้อ ในวันที่ ๕ เดือน ๒ (กุมภาพันธ์) ปี ค.ศ.๑๙๔๔ (๒๔๘๗) เวลา ๑๒.๐๐ น. โดยจะให้พวกทหารมาคอยรับคณะผู้แทนฝ่ายไทย เพื่อความปลอดภัย

เราดีใจจนบอกไม่ถูก สำหรับความสำเร็จและความสมหวังอย่างคาดไม่ถึงในครั้งนี้ ต่อจากนั้นก็ทำข่าวระหัสลับเฉพาะรายงาน ผบ.พล.๓ ที่เชียงตุง แล้วขออนุมัติรอต่อจนถึงวันนัด วันรุ่งขึ้นจึงได้รับข่าวจาก ผบ.พล.๓ เมื่อถอดระหัสสองชั้นแล้วได้ความว่า อนุญาตให้รอจนถึงวันนัดได้คือ ๕ ก.พ.๘๗ เสร็จแล้วให้รีบเดินทางกลับ บก.พล.๓ ด่วนที่สุด

เมื่อถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗ คณะของเรามี พ.อ.หลวงไกรนารายณ์ พ.ท.แสวง ทัพภะสุต และ ร.อ.สมาน วีระไวทยะ (กระผมเอง) ก็ออกเดินทางตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. ขี่ม้าไปประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงริมฝั่งแม่น้ำลำตรงท่าข้าม โดยมี ผบ.ร.พัน.๑๗ คอยอยู่ก่อน เมื่อเคาะเกราะเป็นอาณัติสัญญาณตามที่ตกลงกันไว้แล้วสักครู่ก็มองเห็นทหารจีน ๔-๕ คน แต่งเครื่องแบบพร้อม โผล่ออกมาจากแนวทิวไม้ฝั่งตรงข้าม ยืนอยู่ริมตลิ่ง กำลังคอยต้อนรับเราอยู่

เราข้ามไปและเดินเลียบริมตลิ่งไปประมาณ ๘๐๐ เมตร โดยมีนายสิบและ พลทหารจีนนำทาง ช่วยจูงม้าพวกเราไป และรับเอาหีบห่อของที่เรานำไปฝากให้แบกกันไปเอง แล้วก็ขึ้นฝั่งชั้นบนเดินต่อไปอีกราว ๕๐ เมตรก็ถึงปะรำพิธีที่สร้างขึ้นใหม่เอี่ยม สวยงามพอดูสะอาดสะอ้านดีมาก บริเวณปะรำมีทหารจีนถืออาวุธอเมริกันทุกชนิด เฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยอยู่ประมาณ ๒๐-๓๐ คน ดูคึกคักสง่าน่าเกรงขาม

ฝ่ายจีนมีนายพลลุยวีเอง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ พ.อ.เจียงโฮฮวง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒๒๗ พ.ท.เชียงกงห่าน ผู้บังคับการกรมทหารราบที่๑๑๗ พ.ต.โฮฮังเชา เสนาธิการกรมทหารราบที่๑๑๗ และนายบุญศรี รัตนตัน ล่ามของฝ่ายคณะผู้แทนจีน ให้การต้อนรับและให้เกียรติแก่คณะของเราอย่างสูง

พ.อ.หลวงไกรนารายณ์ หัวหน้าคณะฝ่ายไทย ได้กล่าวเป็นภาษาไทย ให้ล่ามจีนแปล ความว่า

ขอให้เขาเห็นใจเราด้วย ว่าที่เราจำต้องประกาศสงคราม เพราะถูกบีบบังคับจากญี่ปุ่นมหาอำนาจ เราไม่อาจขัดขืนได้เพราะเราเป็นประเทศเล็ก มีกำลังน้อยเหลือเกิน และเมื่อประกาศสงครามแล้ว ก็ถูกบังคับให้ออกมาทำการรบอีก ซึ่งความจริงเราไม่ต้องการจะมารบกับกองทัพจีนเลย และขอได้ช่วยชี้แจงกับฝ่ายอเมริกันและอังกฤษ ให้ทราบความจริงตามที่เราแจ้งให้ทราบนี้ด้วย

ผลของการเจรจาในวันนั้น ก็เป็นที่เรียบร้อย จนเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.เศษ ก็ได้มีการกินอาหารเย็นร่วมกัน และลากันเมื่อ ๑๙.๐๐ น. ท่านนายพลลุยและนายทหารขี่ม้ามาส่งจนถึงที่ลุยข้ามจึงจากกัน

ต่อจากนั้นก็มีการติดต่อพบปะส่งข่าวกันตลอดเวลา จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ทางฝ่ายจีนจึงขอนัดพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเรา ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ เพื่อเตรียมการก่อนไปประชุมที่จุงกิง คณะผู้แทนไทยในคราวนี้คือ พล.ต.พิชัย หาญสงคราม (หลวงหาญสงคราม คืนบรรดาศักดิ์แล้ว) ผบ.พล.๓ ในฐานะผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ท.เนตร เขมะโยธิน เป็นเสนาธิการกองทัพไทย พ.ท.แสวง ทัพภะสุต เป็นเป็นเสนาธิการทหารด้านเชียงตุง พ.ต.กระจ่าง ผลเพิ่ม เป็นฝ่ายเสนาธิการทหารด้านเชียงตุง ร.อ.สมาน วีระไวทยะ เป็นนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการ และเลขานุการของคณะผู้แทนไทย ร.ต.ท.ธานี สาทรกิจ ทำหน้าที่ล่ามภาษาจีนของคณะผู้แทนไทย

การเดินทางคงเป็นไปด้วยความยากลำบากทุรกันดารเช่นเคย คณะได้ไปเข้าที่พักบ้านเชียงฟ้า เมืองลา เมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน และเดินทางออกจากที่พัก ไปเข้าประชุมกับคณะผู้แทนฝ่ายจีนซึ่งมีผู้แทน จอมพลเจียงไคเช็ค เป็นหัวหน้า ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ประชุมที่เมืองเชียงล้อ ตั้งแต่เวลา ๑๒.๑๕ น. ถึง ๑๘.๓๐ น. ที่ประชุมได้ตกลงกันในเรื่องการร่วมมือกันหลายสิบข้อ

แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ แล้ว แผนการที่จะติดต่อกับกองทัพจีนทางด้านกองทัพพายัพ ก็ต้องยุติลง

พลตรี หลวงหาญสงคราม ได้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองพลอิสระที่ ๓๗ ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา และ ร้อยเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ได้ย้ายไปเป็น ผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร กองพลอิสระที่ ๓๗ ด้วยเช่นกัน

พันเอก สมาน วีระไวทยะ ได้เล่าต่อไปว่า

เมื่อกระผมได้ไปรายงานตัว กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓๗ แล้ว กระผมก็ได้รับคำสั่งจากท่าน พลตรี หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพล(อิสระ) ๓๗ ว่า

“…….ให้ไปปฏิบัติงานร่วมกับพวกเสรีไทยที่มาจากอังกฤษและอเมริการในกรุงเทพฯ โดยให้ไปรายงานตัวกับ พันโท ขุนสุรพลพิเชษฐ ผู้อำนวยการสื่อสารที่กรุงเทพ แล้วเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง…”

กระผมได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ก็ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการสื่อสาร ให้เข้าปฏิบัติงานประจำอยู่กับหน่วยสื่อสารพิเศษ ของกองบัญชาการพิเศษ(ใต้ดิน) ในฐานะเป็นนายทหารฝ่ายการข่าวสื่อสาร และนายทหารฝ่ายรหัส

กระผมได้ไปทำงานอยู่กับหน่วยงานพิเศษเรียกว่า กองบัญชาการผสมไทย-อังกฤษ และ ไทย-อเมริกัน (FORCES 136 & MISSION 207) ซึ่งหน่วยงาน ๑๓๖ (SEAC COMMAND) นี้ตั้งอยู่ที่บ้านถนนศรีอยุธยา แต่หน่วยงาน ๒๐๗ ตั้งอยู่ที่ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒)

และหน่วยงานของกระผมนี้เรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานลับจริง ๆ คือเป็นทั้งสถานีวิทยุลับที่ใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุชนิดที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งกระผมเองเป็นนายทหารสื่อสาร ยังไม่เคยเห็นมีใช้ที่ไหนแม้ในกองทัพญี่ปุ่น เครื่องวิทยุก็มีมากมายหลายชนิด ทั้งใช้ไฟฟ้า ใช้เครื่องทำไฟชนิดน้ำมันเบนซินและไอน้ำ นอกนั้นยังมีการปกปิดการทดลองเครื่อง ทั้งออกอากาศและไม่ออกอากาศ

สำนักงานตั้งอยู่ที่บ้าน พลตรี หม่อมหลวง จวง เสนีวงศ์ กลางสวนลึกในตรอก เล็ก ๆ ของซอยองครักษ์ (บางกระบือ) ภายในบ้านที่ใช้เป็นสำนักงานและสถานีลับนี้ มีอาวุธทุกชนิด ล้วนแต่เป็นของใหม่ซึ่งคนไทย-ทหารไทยยังไม่เคยใช้ทั้งนั้น เช่น ปืนคาร์ไบน์ ปืนกลมือเสตนท์ เอมทรี ฯลฯ และอื่น ๆ เตรียมสู้ตาย ภายในบ้านก็ดัดแปลงเป็นที่ต่อต้าน ต่อสู้ และที่หลบภัยอย่างมั่นคง ประกอบกับมีรั้วสังกะสีสูงมาก ซึ่งไม่มีผู้ใดอาจปีนเข้าไปได้ รอบบ้านก็เป็นบริเวณสวนกว้างขวาง เต็มไปด้วยท้องร่องและมูลดิน กว้างใหญ่เกินกว่าที่ใครจะกระโดดข้ามได้ เมื่อประกอบกับการดัดแปลงทำเป็นมูลดินป้องกันกระสุนไว้ตามขอบรั้วโดยรอบแล้ว ก็เป็นป้อมที่แข็งแรงเราดี ๆ นี่เอง ยิ่งกว่านั้นภายในรั้วสังกะสียังขึงสายไปแรงสูงไว้ด้วย

กระผมได้ชื่อระหัสว่า “ ดริลล์ (DRILL) “ ซึ่งจะแปลเป็นไทยได้หลายอย่าง แต่เขาให้เข้าใจว่าเป็นชื่อผ้าชนิดหนึ่ง เพราะสายงานของกระผมนั้นมีชื่อสถานีเป็นผ้าบ้าง แพรบ้าง สักหลาดบ้าง ทั้งนั้น ทำงานติดต่อกับ กัลกัตตา ซีลอน (ลังกา) ฟิลิปินส์ และอื่น ๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในประเทศไทย พม่า ญวน ลาว สิงคโปร์ มลายู อินโดนีเซีย บอเนียว ฯลฯ ทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง และติดต่อกับสถานีวิทยุลับในทุกจังหวัดของประเทศไทย ติดต่อเรื่องการรับส่งอาวุธ และสิ่งของจากหน่วยบัญชาการอเมริกันทั้งหมด เครื่องบิน เรือดำน้ำ ทิ้งร่ม ฯลฯ แม้กระทั่งการมาทิ้งยาที่ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งกระผมลืมจดวันที่เดือนเอาไว้

กระผมทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ก็ย้ายหน่วยไปปฏิบัติงานประจำ อยู่กับกองพลที่ ๓๗ (อิสระ) นครราชสีมา (โคราช ในค่ายสุระนารีปัจจุบัน) โดยตั้งสถานีวิทยุลับที่บ้านพักเดิมของกระผม (บ้านพักนายทหารสื่อสาร) ทำงานในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด

นอกจากการรับส่งข่าวลับแล้ว ยังต้องคอยรับของที่ส่งจากทางอากาศ และรับนายทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย และคานาเดียน นิวซีแลนด์ ที่มากระโดดร่มลงในพื้นที่ของกองพล ๓๗ ซึ่งมีมากด้วยกัน ทั้งที่โคราช ชัยภูมิ ขอนแก่น และที่อื่น ๆ

ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามราบคาบแล้ว ท่าน พลเอก หลวงหาญสงคราม (ขณะนั้นเป็น พลตรี) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ กองอำนวยการสันติภาพ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่ตึกขาวข้างสนามเสือป่า ตรงข้ามวัดเบญจมบพิตร ตอนนั้นกระผมย้ายเข้ามาสังกัดอยู่ในกรมจเรทหารบก และต่อมาได้ไปทำหน้าที่นายทหารติดต่อ ประจำกองทหารอังกฤษในประเทศไทย

แล้ว พันเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ถูกส่งไปทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานนายทหารติดต่อ จังหวัดนครปฐม ภายใต้ความอำนวยการของ พลโท หลวงหาญสงคราม อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวนอกขบวนการเสรีไทยแล้ว

ท่านได้รับราชการต่อมาจนได้เลื่อนยศเป็น พันเอก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็น พลตรี พ.ศ.๒๕๑๓ เป็น พลโท พ.ศ.๒๕๑๙ และเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐

ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบ เมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม๒๕๒๘

##########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๒๘ เมษายน ๒๕๔๘

นิตยสารทหารสื่อสาร
พฤษภาคม ๒๕๕๐

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุดพันทิป
๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2559    
Last Update : 16 มิถุนายน 2559 7:21:32 น.
Counter : 2472 Pageviews.  

เสรีไทยสายพายัพ


เรื่องเล่าจากอดีต

เสรีไทยสายพายัพ

พ.สมานคุรุกรรม

ในต่วยตูนนิตยสารที่มีระดับนี้ ได้มีเรื่องราวของเสรีไทย ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลายด้านหลายแง่หลายมุมมาแล้ว คราวนี้เป็นพฤติกรรมของทหารในกองทัพพายัพ ของกองทัพบกไทยเอง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเสรีไทยได้หรือไม่นั้น น่าจะให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา ด้วยวิจารณญาณของของท่านเอง

เมื่อสงครามได้ลุกลามมาถึงประเทศไทย โดยกองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และปัตตานี ซึ่งต่อมาได้ตกลงเป็นมหามิตรกันนั้น ตัวผมเองยังมีอายุประมาณสิบขวบ และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น ผมก็มีอายุเพียงสิบสี่ปี มีโอกาสเพียงได้เห็นการเดินสวนสนามของเหล่าเสรีไทย ผ่านถนนราชดำเนิน และได้เห็นครูของผมคนหนึ่งเดินอยู่ในแถวนั้นด้วย ท่านคือ ครูแปลง คำเมือง แห่งโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส

ในคราวนั้นได้มีทหารของกองทัพไทย เข้าร่วมเดินสวนสนาม ด้วยเครื่องแบบอันเก่าแก่ และอาวุธปืนเล็กยาว แบบ ๖๖ ที่ล้าสมัย กว่าอาวุธประจำกายของสมาชิกเสรีไทยเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทหารไทยนั้นยังมีเกียรติ ในฐานะเป็นทหารของชาติอยู่เช่นเดิม

อาจจะเป็นด้วยการแสดงออก ของกองทัพไทยที่จำเป็นต้องร่วมเป็นมหามิตร กับกองทัพญี่ปุ่นด้วยความจำเป็นบังคับ และได้พยายามที่จะปลดแอกอันนั้น อย่างเต็มความสามารถ ก็เป็นได้

เมื่อเหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาหลายสิบปี จึงมีผู้เปิดเผยถึงการดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น จากขบวนการต่าง ๆ ทั้งนอกประเทศและในประเทศ เป็นลำดับมา ซึ่งเรื่องที่จะนำมาเล่านี้ จึงไม่ใช่พฤติกรรมของผมเอง แต่เป็นวีรกรรมของนายทหารไทยท่านหนึ่ง ที่ได้บันทึกไว้ด้วยตนเอง ท่านผู้นั้นคือ พลเอก หลวงหาญสงคราม (พิชัย สุวรรณไศละ)

ในสงครามอินโดจีนท่านมียศเป็นพันโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลพายัพ สังกัดกองทัพบูรพา ซึ่งมี พันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ และเพื่อนสนิทของท่านคือ พันโท หลวงบูรณสงคราม เป็นเสนาธิการกองทัพ ได้เข้าร่วมรบทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถยึดแคว้นหลวงพระบางได้ทั้งหมด เมื่อกรณีพิพาทยุติลง ประเทศไทยได้รับดินแดนส่วนนี้คืนมา จึงได้ตั้งเป็นจังหวัดล้านช้าง โดยแบ่งออกเป็น ๒ อำเภอ คือ อำเภออดุลเดชจรัส และ อำเภอหาญสงคราม เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านด้วย

ในสงครามมหาเอเซียบูรพา ขณะที่ท่านดำรงยศเป็น พันเอก ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ สังกัดกองทัพพายัพ ซึ่งมี พลโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) เป็นแม่ทัพ และ พันเอก จอน บูรณสงคราม เป็นรองเสนาธิการกองทัพ ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปในสหรัฐไทยใหญ่ หรือรัฐฉานเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๕ สามารถยึดเมืองเชียงตุงได้เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ และคืบหน้าไปจนถึงแม่น้ำหลวย

ท่านได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๕ และได้เป็นผู้บัญชาการ กองพลที่ ๓ ส่วนสหรัฐไทยใหญ่นั้น ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหรัฐไทยเดิม เมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๘๖

ประมาณปลายเดือน มกราคม ๒๔๘๗ พลโท จิระ วิชิตสงคราม แม่ทัพพายัพ คนใหม่ ได้สั่งให้ท่านกับ พันเอกหลวงเกรียงเดชพิชัย ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ ไปพบที่เมืองพยาค และสั่งการให้ส่งเชลยทหารจีนไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ของจีน ซึ่งตั้งประจันหน้ากันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ เพื่อความสัมพันธไมตรี ยุติการรบโดยไม่เป็นศัตรูกันต่อไป เพราะจีนกับไทยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน การที่ประเทศไทยจะต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็เนื่องด้วยสถาณการณ์บังคับ เราจะส่งผู้แทนของเราไปพบกับผู้บัญชาการทหารจีน เพื่อปรับความเข้าใจและเพื่อผูกมิตรกันต่อไป

ท่านจึงกลับมาจัดการ ให้หาธงขาวเขียนภาพจับมือไขว้ ให้ ร้อยตำรวจโท ธานี สุนทรกิจ ซึ่งเป็นล่าม เขียนหนังสือเป็นภาษาจีน มีใจความตามที่กล่าวข้างต้น และจัดจ่านายสิบหนึ่งนาย กับพลทหารจีนที่เป็นเชลยสามนาย กับเสบียงอาหารพอกินได้สองวัน เดินทางไปยังเมืองมะ พร้อมด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ นายทหารคนสนิท และหน่วยคุ้มกัน เพื่อสมทบกับ พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบ ที่ยึดเมืองมะ และรักษาชายแดนแม่น้ำลำ ให้ร่วมเดินทางไปยังเมืองลา และส่งชุดเชลยศึกผู้ติดต่อ ให้ลุยข้ามน้ำไปยังฝั่งเขตแดนจีน และให้ผู้บังคับกองพันทหารราบ จัดหมู่รับข่าวไว้ที่ชายฝั่งแม่น้ำลำ แล้วคณะของท่านก็เดินทางกลับ

ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ ก็ได้รับข่าวตอบจากผู้บัญชาการกองพล ๙๓ ของจีนว่า ได้รับหนังสือและยินดีที่จะพบปะ กับผู้แทนทหารไทย ให้รีบส่งไปจะคอยรับที่เมือง เชียงล้อ ริมฝั่งแม่น้ำลำ ท่านจึงจัดเจ้าหน้าที่ทหารไทยส่งไปเป็นครั้งแรก คณะนี้ประกอบด้วย พันเอก หลวงไกรนารายณ์ เสนาธิการกองพลที่ ๓ เป็นหัวหน้าคณะกับฝ่ายเสนาธิการอีก ๒ คนคือ พันโท แสวง ทัพภะสุต พันตรี กระจ่าง ผลเพิ่ม และร้อยโท สมาน วีระไวทยะ นายทหารคนสนิท สุดท้ายคือร้อยตำรวจโท ธานี สาทรกิจ ล่ามภาษาจีน เดินทางไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓

ต่อมาท่านได้รับรายงานจากหัวหน้าคณะว่า

ทางผู้บัญชาทหารจีนได้จัดการต้อนรับเป็นอย่างดี ก่อนข้ามแม่น้ำลำได้จัดการปลดอาวุธของเราเอง เมื่อขี่ม้าลุยน้ำเข้าไปยังฝั่งเขตแดนจีน ซึ่งฝ่ายทหารจีนได้เตรียมตั้งอาวุธ ปืนกลป้องกัน เมื่อข้ามฝั่งไปแล้วมีทหารจีนมาจูงม้าไปยังที่พักซึ่งได้เตรียมเอาไว้ พอหยุดพักหายเหนื่อยก็เริ่มทำการประชุม ฝ่ายเราได้เสนอตามหัวข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว ฝ่ายทางทหารจีนก็แสดงความพอใจหยุดรบ และเป็นมิตรกันต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงจะส่งข่าวให้ทราบทุก ๑๕ วัน กับจะนัดพบกันเมื่อใดจะบอกล่วงหน้าให้ทราบภายใน ๗ วัน

เมื่อประชุมเสร็จก็พอดีรับประทานอาหารกลางวัน ทางฝ่ายจีนเป็นผู้จัด มีอาหารหลายอย่างเช่นเดียวกับภัตตาคารแถวเยาวราช แต่ไม่มีสุราและบุหรี่ เพราะขาดแคลน ระหว่าง รับประทานอาหารก็มีการสนทนา เกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศ เพื่อให้ทางฝ่ายจีนเห็นใจ พอรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ได้ขอปืนไรเฟิลสำหรับไว้ยิงสัตว์ ๑ กระบอก ผ้าลายสองสีกากีแกมเขียวสำหรับตัดเสื้อกางเกง ๑ พับ รองเท้าหุ้มข้อสีดำตามเบอร์ที่กำหนด ๕ คู่ และยาควินนินสำหรับแก้ไข้เป็นจำนวนพอสมควร และสุรากับบุหรี่ ในคณะที่ประชุมเป็นจำนวนพอสมควร เมื่อได้ร่ำลากันแล้ว ฝ่ายเราก็ได้ข้ามแม่น้ำกลับมายังที่พัก

เมื่อท่านได้รับรายงานละเอียดจากผู้แทนคณะนี้แล้ว ก็รีบส่งไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดทันที ต่อมาในขณะที่ท่านอยู่ที่กองบัญชาการ กองพลที่ ๓ ณ วัดปางฮุง พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์ ก็ได้ส่งหนังสือที่ พันโทหม่อมหลวง ขาบ กุญชร ส่งผ่านทหารจีนข้ามแม่น้ำมา มีความว่า ได้เข้ามาในประเทศจีน และพยายามมาที่ชายแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศพม่า เพื่อต้องการพบกับทหารไทย ให้รีบจัดนายทหารไปทำการติดต่อ

ท่านจึงได้ส่งหนังสือฉบับนี้ ไปให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วนัดพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ และจัดชุดผู้แทนทหารไทย โดยมี พันเอก หลวงเดชปฎิยุทธ รองผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ เป็นหัวหน้าคณะไปกับนายทหารที่เคยไปชุดที่แล้ว ไปที่เมืองเชียงล้อ เมื่อปลายเดือน กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ พันเอกหลวงเดชปฎิยุทธ ได้กลับมารายงานว่า

ได้มอบสิ่งของที่ทางฝ่ายทหารจีนต้องการ กับส่งข่าวคราวในประเทศ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น ให้กับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ เขาแสดงความดีใจและขอบคุณผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ส่วนเรื่อง พันโทหม่อมหลวง ขาบ ฯ นั้น ได้มาที่เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงล้อ แต่ทหารจีนไม่ยอมให้พบกับทหารไทย และได้กลับไปแล้ว

ซึ่งท่านก็ได้รายงานไปทางกองบัญชาการทหารสูงสุดเพื่อทราบ ต่อมาประมาณกลางเดือนมีนาคม ๒๔๘๗ ท่านได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้จัดคณะนายทหารซึ่งมีผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ คือตัวท่านเองเป็นผู้แทนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และให้ พันเอก เนตร เขมะโยธิน เป็นเสนาธิการ ไปประชุมกับผู้แทนกองทัพจีน ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญเกี่ยวกับการวางแผน เพื่อขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย และให้นัดหมายวันและตำบลที่จะนัดพบ ให้เป็นการแน่นอน ท่านจึงให้ล่ามเขียนหนังสือนัดพบ ไปยังผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ทันที และได้รับตอบมาว่าให้ไปพบกันที่เดิม ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๗

ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๗ พันเอก เนตร เขมะโยธินได้เดินทางมาถึง กองบัญชาการกองพลที่ ๓ และได้แจ้งคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้ทราบ แล้วก็เตรียมหัวข้อที่จะเจรจากับผู้แทนกองทัพจีนต่อไป

คณะผู้แทนทหารไทย ที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานพิเศษและสำคัญอย่างยิ่งคราวนี้ ซึ่งนอกจากหัวหน้าคณะและเสนาธิการแล้ว ก็มีพันโทกระจ่าง ผลเพิ่ม พันโท แสวง ทัพภะสุต ร้อยโท สมาน วีระไวทยะ และ ร้อยตำรวจโท ธานี สาทรกิจ ได้ออกเดินทางจากกองบัญชาการ กองพลที่ ๓ เมื่อเช้าวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๗ จากวัดปางฮุง เมืองเชียงตุง ผ่านหนองกัง เมืองมะ ตรงไปยังเมืองลา พักค้างหนึ่งคืน เช้าวันที่ ๒ เมษายน จึงเดินทางต่อไปถึงชายป่าริมแม่น้ำลำ และข้ามลำน้ำไปถึงที่รับรองและประชุมของจีน ซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก ภายในกว้างประมาณ ๖ x ๘ เมตร สร้างเป็นโต๊ะและมีม้านั่งหันหน้าเข้าหากัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมีความร่มเย็นสบาย

เมื่อคณะของเราได้พบปะผู้แทนทหารจีน ซึ่งมี พลตรี ลิววิเอ็ง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ เป็นหัวหน้าในฐานะผู้แทน จอมพล เจียงไคเช็ค กับเสนาธิการคือ พันตรี ลีเต้ฉ่าย กับ พันตรี โฮ้วซองเซา ฝ่ายเสนาธิการ และนายบุญศรี รัตนตัน ลูกจีนที่เคยอยู่ในเมืองไทย ทำหน้าที่ล่ามภาษาไทยของฝ่ายจีน ได้ทำการเคารพกันเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเราก็ได้มอบของฝากให้แก่ผู้แทนฝ่ายจีน ซึ่งเขาดีใจและขอบคุณผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเราเป็นอย่างดี

การประชุมได้กระทำกันเป็นสองตอน คือตอนเช้าพอเที่ยงวันก็หยุดรับประทานอาหาร เสร็จแล้วเริ่มประชุมต่อไปจนเกือบพลบค่ำในวันนั้น ฝ่ายจีนได้จัดอาหารเช่นที่กล่าวแล้ว ในการประชุมครั้งแรก ส่วนฝ่ายเราได้จัดสุราและบุหรี่ มาทำการเลี้ยงดูตามที่ได้ตกลงกันไว้ นับว่าเป็นการต้อนรับและเลี้ยงดู คณะของเราอย่างดียิ่ง

ผลของการประชุมเมื่อสรุปแล้วคงได้ความว่า ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความเข้าใจกันในเรื่องต่าง ๆ และตกลงในหลักการที่จะไม่เป็นศัตรูต่อกัน พลตรี ลิววิเอ็งได้ให้คำมั่นแก่เราว่า จะนำข้อความทั้งหมดที่เราเจรจากันนี้ รายงานตรงไปยังจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อดำเนินงานทางด้านการเมือง และแผนการณ์ทางทหารร่วมมือกันต่อไป โดยขอกำลังทางอากาศช่วยกำลังทางพื้นดิน ส่วนทางพื้นดินนั้นมีกำลังเพียงพอแล้ว กับขอร้องให้ทางฝ่ายจีนนำเรื่องนี้ ติดต่อกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้ทราบด้วย

เมื่อการประชุมและการเลี้ยงเสร็จสิ้นลงแล้ว คณะของเราก็อำลากลับ โดยพลตรีลิววิเอ็งกับคณะได้มาส่งจนถึงริมฝั่งแม่น้ำลำ ในคืนวันนั้นเอง

หลังจากนั้นประมาณปลายเดือน เมษายน ๒๔๘๗ ท่านก็ได้รับหนังสือจากผู้แทนทหารจีน ขอให้ฝ่ายไทยเตรียมจัดคณะผู้แทน ทางฝ่ายการเมืองและการทหาร เพื่อเดินทางไปประชุมวางแผนการณ์กับจอมพลเจียงไคเช็ค ที่นครจุงกิง โดยทางฝ่ายจีนจะจัดเครื่องบินมารับ ที่สนามบินเชียงรุ้งในมณฑลยูนนาน ส่วนการเดินทางบกจากเมืองเชียงล้อ ไปเมืองเชียงรุ้งนั้น ทางฝ่ายจีนจะจัดขบวนม้ามาคอยรับไป โดยให้ทั้งหมดปลอมเป็นทหารจีน เพื่อมิให้ทหารของเขาเกิดสงสัย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กำหนดตัวผู้แทนไว้ดังนี้

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าคณะ
พลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้แทนฝ่ายการเมือง
พลตรีหลวงหาญสงคราม กับ พันเอก เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้แทนฝ่ายทหาร
และ พันโท เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสป๊อยต์ เป็นนายทหารติดต่อกับกองทัพจีนที่นครจุงกิง

ทั้งนี้ให้เตรียมตัวไว้ให้พร้อม เมื่อทางกองทัพจีนกำหนดวันไปเมื่อใด ให้สามารถปฏิบัติการได้ทันที ในระหว่างรอคอยนั้น การปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีน ได้สงบเงียบไป แต่มีบางครั้งเมื่อทหารญี่ปุ่นได้ส่งหน่วยทหารไปตรวจแนวหน้า ทางด้านเมืองยาง และเมืองเชียงล้อ ก็ต้องเล่นละครตบตาญี่ปุ่นว่า ฝ่ายเรากับฝ่ายจีนยังมีการสู้รบกันอยู่

แต่เหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตกลงใจเสนอใบลาออก เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ เนื่องจากรัฐบาลแพ้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการรับรองพระราชกำหนดบางฉบับ และนายควง อภัยวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติที่จะไม่ให้ทหารต้องเกิดรบกันเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเสียสละลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และลาออกจากทางทหารทุกตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่บริหารงานของประเทศต่อไป และรัฐบาลใหม่ได้แต่งตั้งให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน กับได้เลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร สูงสุด และแต่งตั้งแม่ทัพใหญ่คือ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กับรองแม่ทัพใหญ่คือ พลโท หลวงสินาดโยธารักษ์

แผนการที่จะส่งคณะผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนทางการทหาร ไปเจรจากับ พันธมิตร ที่นครจุงกิงจึงเป็นอันยุติลง และทางฝ่าย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้ดำเนินการต่อไปในด้านอื่น

สำหรับตัว พลตรี หลวงหาญสงคราม ซึ่งเป็นผู้บันทึกเรื่องนี้ ได้ย้ายไปเป็นเสนา ธิการกองทัพพายัพ ซึ่งขณะนั้น พลโท พระวิชัยยุทธเดชาคณี เป็นแม่ทัพ และกองบัญชาการกองทัพพายัพ ได้ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ริมแม่น้ำกก จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการป้องกันหน่วยทหารของกองทัพทุกหน่วย ไม่ให้ถูกกองทัพญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง ปลดอาวุธได้เป็นอันขาด จนถึงวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๘ จึงได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำกรมเสนาธิการทหาร อันเป็นที่ตั้งปกติ เมื่อได้รายงานตัวต่อท่านรองแม่ทัพใหญ่แล้ว ท่านจะให้ไปดำรงตำแหน่งพลาธิการทหารเป็นอัตราพลโท แทน พลตรี หลวงบูรณสงคราม ซึ่งเป็นเพื่อนกัน จึงขอให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น ถึงแม้จะมีอัตราต่ำกว่าก็ยินดี

พลตรี หลวงหาญสงคราม จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓ และ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓๗ ซึ่งมีหน้าที่วางแผนและอำนวยการฝึก พลพรรคใต้ดินในภาค อีสาน กับช่วยเหลือและป้องกันเชลยศึกฮอลันดาและอินโดนีเซีย ที่สนามบินในจังหวัดอุบล ราชธานี กับป้องกันการปลดอาวุธของทหารญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินการอยู่จนถึง ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ยอมแพ้แก่กองทัพสัมพันธมิตร โดยไม่มีเงื่อนไข สงครามมหาเอเซียบูรพาจึงได้สิ้นสุดยุติลง โดยมิได้เสียเลือดเนื้อทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น

บันทึกของท่าน พลตรีหลวงหาญสงคราม ก็ได้จบลงเพียงเท่านี้ แต่ท่านยังได้รับราชการต่อมา จนได้รับพระราชทานยศเป็น พลเอก เมื่อ ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ตำแหน่งสุดท้าย เป็น รองจเรทหารทั่วไป ท่านเกษียณอายุราชการเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๑

##############

นิตยสารต่วยตูน
ธันวาคม ๒๕๔๖ ปักษ์แรก

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุด
๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2559    
Last Update : 15 มิถุนายน 2559 7:46:49 น.
Counter : 795 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.