Group Blog
 
All Blogs
 
เสรีไทยสายสื่อสาร


เรื่องเล่าจากอดีต

เสรีไทยสายสื่อสาร

พ.สมานคุรุกรรม

จากบันทึกของ พลเอก หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ กองทัพพายัพ ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นผู้นำในการติดต่อกับกองทัพจีน เพื่อร่วมมือกันขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น ได้ระบุไว้ว่าในคณะผู้ติดต่อระหว่าง กองพลที่ ๓ ของไทย กับ กองพลที่๙๓ ของจีน ที่ชายแดนด้านสหรัฐไทยเดิมนั้น มีนายทหารคนสนิทคือ ร้อยโท สมาน วีระไวทยะ. ผู้บังคับหมวดสื่อสาร กองทหารสื่อสารกองพลที่ ๓ ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง ในตำแหน่งนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการกองพล และเป็นผู้จดบันทึกการประชุมอีกด้วยทุกคราว

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นนายทหารสื่อสาร แล้ว แผนการที่จะติดต่อกับกองทัพจีนทางด้านกองทัพพายัพ ก็ต้องยุติลง พลตรี หลวงหาญสงคราม ได้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองพลอิสระที่ ๓๗ ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา และ ร้อยเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ได้ย้ายไปเป็น ผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร กองพลอิสระที่ ๓๗ ด้วยเช่นกัน

พันเอก สมาน วีระไวทยะ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานคราวนี้ ไว้ในหนังสือที่ระลึกงาน พระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงหาญสงคราม เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๑๒ ขยายความจากที่ได้เล่าไว้ในตอนก่อน ดังนี้

วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๖ กระผมได้รับคำสั่งจาก ผบ.พล.๓ (พล.ต.หลวงหาญสงคราม) ให้ไปพบเมื่อตอน ๒๑.๐๐ น. เพื่อไปรายงานตัว แล้วท่านพาเดินเข้าไปในที่พักของท่านและสั่งว่า

“ วันพรุ่งนี้ผมจะให้คุณถือหนังสือลับที่สุดของผม ไปให้ท่านแม่ทัพ พล.ท.จิระ วิชิตสงคราม ขอสั่งกำชับว่า หนังสือลับที่สุดฉบับนี้ มีค่าเท่ากับชีวิตของคุณ อย่าได้ปล่อยให้ตกไปถึงมือคนอื่นเป็นอันขาด นอกจากคุณจะตายเสียก่อน และห้ามขาดไม่ให้แพร่งพรายหรือพูดกับใครเลย ถ้าความลับนี้รู้ไปถึงหูบุคคลที่สาม คุณมีโทษสถานเดียวคือต้องถูกยิงเป้า.............”

ท่านเล่าว่าได้เดินทางจาก กองบัญชาการ พล.๓ บ้านปางฮุง เมืองเชียงตุง ลงไปเชียงราย ระยะทาง ๑๗๖ ก.ม. โดยร่วมมากับรถขนส่งของ กองร้อยปืนต่อสู้อากาศยาน ในความอำนวยการเดินทางของ ร.อ.แขม กุญชร การเดินทางทุลักทุเลเต็มที เพราะเป็นทางไหล่เขา ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูง อีกด้านหนึ่งจะต้องเป็นเหวลึกชัน และมีอุปสรรคคือมีดินและหินจากภูเขาพังทับทางอยู่เป็นแห่ง ๆ ต้องหยุดรถลงโกยดินลงเหวและปราบทางให้เรียบมาตลอดเวลา

ออกเดินทางตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น.เศษ ถึง ๑๑.๐๐ น.เศษ ได้ระยะทางเพียง ๖๐ ก.ม.เท่านั้น และเมื่อถึงตำบลท่าเจียว ก็ต้องโกยดินและหินอยู่เกือบชั่วโมง ขณะที่กำลังจะขึ้นรถออกเดินทางต่อ ภูเขาก็พังครืนลงมาทับตัวท่านกับนายสิบอีกคนหนึ่ง ตัวท่านถึงกับสลบไปครู่หนึ่ง เมื่อมีทหารช่วยขุดลากตัวขึ้นมา นายสิบผู้นั้นขาข้างขวาหัก แต่ตัวท่านไม่มีบาดแผลหรือกระดูกแตกหักเลย แต่ลุกไม่ขึ้นเพราะเจ็บปวดไปทั่วทั้งตัว แต่ท่านก็สามารถเดินทางต่อไป โดยนอนเอาศรีษะหนุนตัก ร.อ.แขม มาตลอดทาง จนถึงที่หมายสามารถเอาหนังสือลับที่สุดนั้น มอบให้แม่ทัพพายัพได้สำเร็จ และถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลเสนารักษ์ (โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าเดี๋ยวนี้) อยู่ประมาณสองเดือนเศษ จึงกลับไปปฏิบัติราชการสนามที่เชียงรายต่อ

วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ หลังอาหารเย็นแล้ว ผบ.พล.๓ ได้เรียก พ.ท.อาจ ณ บางช้าง (หลวงไกรนารายณ์ คืนบรรดาศักดิ์แล้ว) เสนาธิการ กองพลที่๓ .พ.ต.แสวง ทัพภะสุต เสนาธิการ กองพล ที่๔ และตัวท่านซึ่งจะเป็นตัวแทนกองทัพไทย ไปพบที่ชายป่า เพื่อซักซ้อมคำกล่าวที่จะเจรจากับผู้แทนกองทัพจีน

วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ ออกเดินทางโดยรถยนต์จากที่ตั้ง บก.พล.๓ บ.ปางฮุง ผ่านเมืองเชียงตุงเลยไปอีกประมาณ ๑๖ ก.ม. ต่อจากนั้นต้องเดินเท้าไต่เขาสูงขึ้นไป เรื่อย ๆ อีกประมาณ ๑๒ ก.ม.ก็ถึง บ้านปางยาว ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๔๐๐๐ ฟุต ต่อไปถึง บ้านปางฮก ซึ่งมองลงมาไปเห็นพื้นดิน เห็นแต่เมฆลอยอยู่ข้างล่าง แล้วก็ค่อย ๆ ลงมาจนถึง พื้นดิน ข้ามแม่น้ำหลวยที่ บ้านตาปิง ต่อจากนั้นก็ขึ้นปางกิ่ว กิ่วทราย เมื่อถึงยอดกิ่วทรายแล้ว ก็เดินทางตามไหล่เขาและสันเขา จนลงสู่เมืองมะ ถึงที่ตั้ง กองบังคับการ กองพันทหารราบที่ ๑๗ เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น.

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๐๕.๔๕ น. พ.ท.ประยูร สุคนธทรัพย์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๑๗ ได้พาพวกเราเดินทางไปยังแนวหน้าริมฝั่งแม่น้ำลำ กระผมได้รับคำสั่งให้ออกไปยืนแสดงตัวอยู่ที่ชายฝั่งน้ำแต่ผู้เดียวโดยปราศจากอาวุธ ส่วนฝั่งตรงข้ามซึ่งทหารจีนวางแนวประชันหน้ากันอยู่นั้น เต็มไปด้วยอาวุธร้ายแรงทุกชนิด สำหรับคนอื่น ๆ ต่างอยู่ในที่กำบังหลังต้นไม้ใหญ่ ต่อจากนั้น ผู้บังคับกองพันก็เคาะเกราะสามครั้ง ๆ ละสามที เป็นอาณัติสัญญาณ

กระผมยืนคอยอยู่ประมาณ ๒๐ นาที ก็ได้ยินเสียงเคาะเกราะทางฝั่งตรงข้ามตอบมา แล้วมีทหารจีนหนุ่ม ๆ คนหนึ่งโผล่จากพุ่มไม้ฝั่งตรงข้ามออกมา กระผมจึงกวักมือเรียก ทหารจีนคนนั้นก็ลงจากตลิ่งมาที่ชายน้ำ แล้วก็โผออกมา พอถึงกลางน้ำก็ถูกน้ำพัดจมหายไปกับตา กระผมตกใจมากจึงตะโกนบอก พ.ท.แสวง ทัพภะสุตว่า

“ ผู้การครับ อ้ายตี๋จมน้ำหายไปเสียแล้ว”

ขณะนั้นได้ยินเสียงข้างหลังของกระผม กระชากลูกเลื่อนปืนกลและปืนเล็กดังกร๊อกแกร๊ก ๆ อย่างชัดเจน ถ้ามีการยิงกันขึ้นตัวกระผมเองซึ่งยืนเป็นเป้านิ่งอยู่ระหว่างกลาง จะทำประการใด

ขณะนั้นก็พลันเกิดเหตุบังเอิญขึ้นจริง ๆ คือริมตลิ่งตรงที่ผมกำลังยืนอยู่ ยุบฮวบลงไปทำให้กระผมซึ่งไม่ทันเตรียมตัว และไม่รู้ตัวล่วงหน้าพลัดตกลงไปในแม่น้ำ ซึ่งกำลังไหลเชี่ยวราวกับเทออกจากปากกระบอก แต่ยังพอมีสติดีอยู่ จึงคว้าต้นไม้ที่ทอดตัวลงไปบนลำน้ำหวังจะยึดเอาไว้ แต่ต้นไม้นั้นไม่สู้ใหญ่นักขนาดเท่าต้นแขน เมื่อถูกคนเหนี่ยวก็ชักจะโน้มลำต้นลงไปในน้ำ ประกอบกับแรงของกระแสน้ำด้วย จึงทำให้กิ่งก้านจมลงน้ำ พอถูกกระแสน้ำพัดแรงเข้า ก็เลยถอนรากโคนลอยตามกระแสน้ำไป ทำเอาตัวผมถูกกระแสน้ำพัดไปกับต้นไม้นั้นด้วย ชั่วพริบตาเดียวก็ปะทะเข้ากับเกาะใหญ่กลางลำน้ำ

พอยืนตั้งตัวได้ก็เห็นทหารจีนคนนั้น นอนแผ่อยู่ที่หาดทรายบนเกาะกลางน้ำ ผมจึงเดินเข้าไปหา ทหารจีนหนุ่มน้อยรับลุกขึ้นยืนคำนับ แต่จะพูดอะไรกันก็ไม่รู้เรื่องกระผมจึงล้วงเอาจดหมายนัดพบภาษาจีนที่เตรียมมา ซึ่งขณะนี้เปียกปอนหมด แต่เนื่องจากเขียนด้วยหมึกจีนจึงไม่ละลายน้ำ แล้วเปิดหมวกทหารจีนออก เอาจดหมายนั้นวางลงบนศีรษะของเขา และเอาหมวกครอบศีรษะไว้ตามเดิม ต่อจากนั้นเราก็เดินไปหาที่ลุยข้ามกลับมาฝั่งเราทั้งสองคน

พ.ท.แสวง ทัพภะสุต ลงมาพบกับทหารจีนนั้นที่ริมตลิ่งชายน้ำ พร้อมกับเอาบุหรี่ตราประตูชัยของโรงงานยาสูบไทย ให้ ๑ ซอง ทหารจีนหนุ่มดีใจมากคำนับแต้ กระผมจึงพาไปส่งตรงที่ลุยข้าม ซึ่งห่างไปทางตอนเหนือจากที่เรายืนอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร เรายืนรอจนเขาขึ้นตลิ่งฝั่งตรงข้ามด้านทหารจีนแล้ว เราจึงปีนตลิ่งกลับขึ้นมา

เรารอคอยคำตอบอยู่นานมาก จนต้องให้พลทหารชาวจีนของเรา เขียนจดหมายภาษาจีนอีกหนึ่งฉบับ ไปส่งให้ผู้บังคับบัญชาทหารจีนที่แนวหน้า แล้วก็รอต่อไปจนได้รับคำสั่งจาก ผบ.พล.๓ ว่า ถ้าเลยสิ้น ม.ค.๘๗ แล้ว ให้ทุกคนกลับด่วน ไม่ต้องคอยต่อไป

ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ เราจึงได้รับจดหมายตอบเป็นภาษาจีน จึงให้พลทหารตี๋ของเราอ่านและแปลให้เราฟัง มีความว่า

ทางฝ่ายจีนรู้สึกยินดีมาก และอยากพบผู้แทนฝ่ายไทย ขอนัดพบที่กองบังคับการฝ่ายทหารจีน ที่ตำบลเชียงล้อ ในวันที่ ๕ เดือน ๒ (กุมภาพันธ์) ปี ค.ศ.๑๙๔๔ (๒๔๘๗) เวลา ๑๒.๐๐ น. โดยจะให้พวกทหารมาคอยรับคณะผู้แทนฝ่ายไทย เพื่อความปลอดภัย

เราดีใจจนบอกไม่ถูก สำหรับความสำเร็จและความสมหวังอย่างคาดไม่ถึงในครั้งนี้ ต่อจากนั้นก็ทำข่าวระหัสลับเฉพาะรายงาน ผบ.พล.๓ ที่เชียงตุง แล้วขออนุมัติรอต่อจนถึงวันนัด วันรุ่งขึ้นจึงได้รับข่าวจาก ผบ.พล.๓ เมื่อถอดระหัสสองชั้นแล้วได้ความว่า อนุญาตให้รอจนถึงวันนัดได้คือ ๕ ก.พ.๘๗ เสร็จแล้วให้รีบเดินทางกลับ บก.พล.๓ ด่วนที่สุด

เมื่อถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗ คณะของเรามี พ.อ.หลวงไกรนารายณ์ พ.ท.แสวง ทัพภะสุต และ ร.อ.สมาน วีระไวทยะ (กระผมเอง) ก็ออกเดินทางตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. ขี่ม้าไปประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงริมฝั่งแม่น้ำลำตรงท่าข้าม โดยมี ผบ.ร.พัน.๑๗ คอยอยู่ก่อน เมื่อเคาะเกราะเป็นอาณัติสัญญาณตามที่ตกลงกันไว้แล้วสักครู่ก็มองเห็นทหารจีน ๔-๕ คน แต่งเครื่องแบบพร้อม โผล่ออกมาจากแนวทิวไม้ฝั่งตรงข้าม ยืนอยู่ริมตลิ่ง กำลังคอยต้อนรับเราอยู่

เราข้ามไปและเดินเลียบริมตลิ่งไปประมาณ ๘๐๐ เมตร โดยมีนายสิบและ พลทหารจีนนำทาง ช่วยจูงม้าพวกเราไป และรับเอาหีบห่อของที่เรานำไปฝากให้แบกกันไปเอง แล้วก็ขึ้นฝั่งชั้นบนเดินต่อไปอีกราว ๕๐ เมตรก็ถึงปะรำพิธีที่สร้างขึ้นใหม่เอี่ยม สวยงามพอดูสะอาดสะอ้านดีมาก บริเวณปะรำมีทหารจีนถืออาวุธอเมริกันทุกชนิด เฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยอยู่ประมาณ ๒๐-๓๐ คน ดูคึกคักสง่าน่าเกรงขาม

ฝ่ายจีนมีนายพลลุยวีเอง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ พ.อ.เจียงโฮฮวง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒๒๗ พ.ท.เชียงกงห่าน ผู้บังคับการกรมทหารราบที่๑๑๗ พ.ต.โฮฮังเชา เสนาธิการกรมทหารราบที่๑๑๗ และนายบุญศรี รัตนตัน ล่ามของฝ่ายคณะผู้แทนจีน ให้การต้อนรับและให้เกียรติแก่คณะของเราอย่างสูง

พ.อ.หลวงไกรนารายณ์ หัวหน้าคณะฝ่ายไทย ได้กล่าวเป็นภาษาไทย ให้ล่ามจีนแปล ความว่า

ขอให้เขาเห็นใจเราด้วย ว่าที่เราจำต้องประกาศสงคราม เพราะถูกบีบบังคับจากญี่ปุ่นมหาอำนาจ เราไม่อาจขัดขืนได้เพราะเราเป็นประเทศเล็ก มีกำลังน้อยเหลือเกิน และเมื่อประกาศสงครามแล้ว ก็ถูกบังคับให้ออกมาทำการรบอีก ซึ่งความจริงเราไม่ต้องการจะมารบกับกองทัพจีนเลย และขอได้ช่วยชี้แจงกับฝ่ายอเมริกันและอังกฤษ ให้ทราบความจริงตามที่เราแจ้งให้ทราบนี้ด้วย

ผลของการเจรจาในวันนั้น ก็เป็นที่เรียบร้อย จนเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.เศษ ก็ได้มีการกินอาหารเย็นร่วมกัน และลากันเมื่อ ๑๙.๐๐ น. ท่านนายพลลุยและนายทหารขี่ม้ามาส่งจนถึงที่ลุยข้ามจึงจากกัน

ต่อจากนั้นก็มีการติดต่อพบปะส่งข่าวกันตลอดเวลา จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ทางฝ่ายจีนจึงขอนัดพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเรา ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ เพื่อเตรียมการก่อนไปประชุมที่จุงกิง คณะผู้แทนไทยในคราวนี้คือ พล.ต.พิชัย หาญสงคราม (หลวงหาญสงคราม คืนบรรดาศักดิ์แล้ว) ผบ.พล.๓ ในฐานะผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ท.เนตร เขมะโยธิน เป็นเสนาธิการกองทัพไทย พ.ท.แสวง ทัพภะสุต เป็นเป็นเสนาธิการทหารด้านเชียงตุง พ.ต.กระจ่าง ผลเพิ่ม เป็นฝ่ายเสนาธิการทหารด้านเชียงตุง ร.อ.สมาน วีระไวทยะ เป็นนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการ และเลขานุการของคณะผู้แทนไทย ร.ต.ท.ธานี สาทรกิจ ทำหน้าที่ล่ามภาษาจีนของคณะผู้แทนไทย

การเดินทางคงเป็นไปด้วยความยากลำบากทุรกันดารเช่นเคย คณะได้ไปเข้าที่พักบ้านเชียงฟ้า เมืองลา เมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน และเดินทางออกจากที่พัก ไปเข้าประชุมกับคณะผู้แทนฝ่ายจีนซึ่งมีผู้แทน จอมพลเจียงไคเช็ค เป็นหัวหน้า ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ประชุมที่เมืองเชียงล้อ ตั้งแต่เวลา ๑๒.๑๕ น. ถึง ๑๘.๓๐ น. ที่ประชุมได้ตกลงกันในเรื่องการร่วมมือกันหลายสิบข้อ

แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ แล้ว แผนการที่จะติดต่อกับกองทัพจีนทางด้านกองทัพพายัพ ก็ต้องยุติลง

พลตรี หลวงหาญสงคราม ได้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองพลอิสระที่ ๓๗ ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา และ ร้อยเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ได้ย้ายไปเป็น ผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร กองพลอิสระที่ ๓๗ ด้วยเช่นกัน

พันเอก สมาน วีระไวทยะ ได้เล่าต่อไปว่า

เมื่อกระผมได้ไปรายงานตัว กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓๗ แล้ว กระผมก็ได้รับคำสั่งจากท่าน พลตรี หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพล(อิสระ) ๓๗ ว่า

“…….ให้ไปปฏิบัติงานร่วมกับพวกเสรีไทยที่มาจากอังกฤษและอเมริการในกรุงเทพฯ โดยให้ไปรายงานตัวกับ พันโท ขุนสุรพลพิเชษฐ ผู้อำนวยการสื่อสารที่กรุงเทพ แล้วเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง…”

กระผมได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ก็ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการสื่อสาร ให้เข้าปฏิบัติงานประจำอยู่กับหน่วยสื่อสารพิเศษ ของกองบัญชาการพิเศษ(ใต้ดิน) ในฐานะเป็นนายทหารฝ่ายการข่าวสื่อสาร และนายทหารฝ่ายรหัส

กระผมได้ไปทำงานอยู่กับหน่วยงานพิเศษเรียกว่า กองบัญชาการผสมไทย-อังกฤษ และ ไทย-อเมริกัน (FORCES 136 & MISSION 207) ซึ่งหน่วยงาน ๑๓๖ (SEAC COMMAND) นี้ตั้งอยู่ที่บ้านถนนศรีอยุธยา แต่หน่วยงาน ๒๐๗ ตั้งอยู่ที่ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒)

และหน่วยงานของกระผมนี้เรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานลับจริง ๆ คือเป็นทั้งสถานีวิทยุลับที่ใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุชนิดที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งกระผมเองเป็นนายทหารสื่อสาร ยังไม่เคยเห็นมีใช้ที่ไหนแม้ในกองทัพญี่ปุ่น เครื่องวิทยุก็มีมากมายหลายชนิด ทั้งใช้ไฟฟ้า ใช้เครื่องทำไฟชนิดน้ำมันเบนซินและไอน้ำ นอกนั้นยังมีการปกปิดการทดลองเครื่อง ทั้งออกอากาศและไม่ออกอากาศ

สำนักงานตั้งอยู่ที่บ้าน พลตรี หม่อมหลวง จวง เสนีวงศ์ กลางสวนลึกในตรอก เล็ก ๆ ของซอยองครักษ์ (บางกระบือ) ภายในบ้านที่ใช้เป็นสำนักงานและสถานีลับนี้ มีอาวุธทุกชนิด ล้วนแต่เป็นของใหม่ซึ่งคนไทย-ทหารไทยยังไม่เคยใช้ทั้งนั้น เช่น ปืนคาร์ไบน์ ปืนกลมือเสตนท์ เอมทรี ฯลฯ และอื่น ๆ เตรียมสู้ตาย ภายในบ้านก็ดัดแปลงเป็นที่ต่อต้าน ต่อสู้ และที่หลบภัยอย่างมั่นคง ประกอบกับมีรั้วสังกะสีสูงมาก ซึ่งไม่มีผู้ใดอาจปีนเข้าไปได้ รอบบ้านก็เป็นบริเวณสวนกว้างขวาง เต็มไปด้วยท้องร่องและมูลดิน กว้างใหญ่เกินกว่าที่ใครจะกระโดดข้ามได้ เมื่อประกอบกับการดัดแปลงทำเป็นมูลดินป้องกันกระสุนไว้ตามขอบรั้วโดยรอบแล้ว ก็เป็นป้อมที่แข็งแรงเราดี ๆ นี่เอง ยิ่งกว่านั้นภายในรั้วสังกะสียังขึงสายไปแรงสูงไว้ด้วย

กระผมได้ชื่อระหัสว่า “ ดริลล์ (DRILL) “ ซึ่งจะแปลเป็นไทยได้หลายอย่าง แต่เขาให้เข้าใจว่าเป็นชื่อผ้าชนิดหนึ่ง เพราะสายงานของกระผมนั้นมีชื่อสถานีเป็นผ้าบ้าง แพรบ้าง สักหลาดบ้าง ทั้งนั้น ทำงานติดต่อกับ กัลกัตตา ซีลอน (ลังกา) ฟิลิปินส์ และอื่น ๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในประเทศไทย พม่า ญวน ลาว สิงคโปร์ มลายู อินโดนีเซีย บอเนียว ฯลฯ ทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง และติดต่อกับสถานีวิทยุลับในทุกจังหวัดของประเทศไทย ติดต่อเรื่องการรับส่งอาวุธ และสิ่งของจากหน่วยบัญชาการอเมริกันทั้งหมด เครื่องบิน เรือดำน้ำ ทิ้งร่ม ฯลฯ แม้กระทั่งการมาทิ้งยาที่ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งกระผมลืมจดวันที่เดือนเอาไว้

กระผมทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ก็ย้ายหน่วยไปปฏิบัติงานประจำ อยู่กับกองพลที่ ๓๗ (อิสระ) นครราชสีมา (โคราช ในค่ายสุระนารีปัจจุบัน) โดยตั้งสถานีวิทยุลับที่บ้านพักเดิมของกระผม (บ้านพักนายทหารสื่อสาร) ทำงานในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด

นอกจากการรับส่งข่าวลับแล้ว ยังต้องคอยรับของที่ส่งจากทางอากาศ และรับนายทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย และคานาเดียน นิวซีแลนด์ ที่มากระโดดร่มลงในพื้นที่ของกองพล ๓๗ ซึ่งมีมากด้วยกัน ทั้งที่โคราช ชัยภูมิ ขอนแก่น และที่อื่น ๆ

ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามราบคาบแล้ว ท่าน พลเอก หลวงหาญสงคราม (ขณะนั้นเป็น พลตรี) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ กองอำนวยการสันติภาพ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่ตึกขาวข้างสนามเสือป่า ตรงข้ามวัดเบญจมบพิตร ตอนนั้นกระผมย้ายเข้ามาสังกัดอยู่ในกรมจเรทหารบก และต่อมาได้ไปทำหน้าที่นายทหารติดต่อ ประจำกองทหารอังกฤษในประเทศไทย

แล้ว พันเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ถูกส่งไปทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานนายทหารติดต่อ จังหวัดนครปฐม ภายใต้ความอำนวยการของ พลโท หลวงหาญสงคราม อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวนอกขบวนการเสรีไทยแล้ว

ท่านได้รับราชการต่อมาจนได้เลื่อนยศเป็น พันเอก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็น พลตรี พ.ศ.๒๕๑๓ เป็น พลโท พ.ศ.๒๕๑๙ และเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐

ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบ เมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม๒๕๒๘

##########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๒๘ เมษายน ๒๕๔๘

นิตยสารทหารสื่อสาร
พฤษภาคม ๒๕๕๐

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุดพันทิป
๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒


Create Date : 16 มิถุนายน 2559
Last Update : 16 มิถุนายน 2559 7:21:32 น. 0 comments
Counter : 2471 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.