|
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๔) การเขียนข่าว
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๔)
การเขียนข่าว
ในยุคปัจจุบันข่าวพาดหัวบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน มีการประดิษฐ์ถ้อยคำให้สั้น กระทัดรัด และมีความหมายเฉพาะ จนบางทีผู้อ่านก็เดาไม่ถูกว่าเป็นเรื่องอะไร ถ้าไม่เปิดดูเนื้อข่าว ซึ่งอาจจะเป็นกลวิธียั่วยุให้ผู้ที่ยืนดูอยู่ อยากจะซื้อไปอ่านเนื้อเรื่องข้างในก็ได้
การกระทำเช่นนี้มีมานาน ตั้งแต่เริ่มมีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ข้อความนั้น ๆ ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละยุค และสมัยที่นิยมกันในเวลานั้น เราเคยเห็นพาดหัวข่าวใน พ.ศ.๒๔๙๓ ดังนี้
ปลดสปัสซั่มสาวแล้วเข้ากรง
ถ้ายังเดาไม่ออกก็ลองดูหัวรองว่า
สองหนุ่มปวดสะดือจนตัวโก่ง หาทางใช้แบ๊งค์เก๊ปลดสปัสซั่มจนได้เรื่องคงจะพอเข้าใจได้บ้างถ้ารู้ว่า สปัสซั่ม หมายถึงอะไร เนื้อข่าวข้างในมีความว่า
เมื่อเวลาประมาณ ๒๐ น.ของวันที่ ๑๘ สิงหาคม นายจั๊ว(นามสมมุติ) ทำงานอยู่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งข้างวัดบพิตรพิมุข กับนายเซ้ง (นามสมมุติเหมือนกัน) ทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งแถวถนนเสือป่า ทั้งสองเป็นเพื่อนรักกัน และยังเป็นโสดทั้งคู่
ตามวันเวลาดังกล่าวแล้ว สองหนุ่มลูกจีนชวนกันออกมาเที่ยวเตร่แถวสะพานเหล็ก เพื่อเลือกหาสาวหน้าแฉล้มร่วมทางไปสวรรค์ แต่เมื่อนำธนบัตรใบละ ๑๐๐ จ่ายให้นางแม่เล้าเจ้าสำนัก ก็ต้องรับกลับคืน เพราะอาเฮียขายของชำที่ไปขอแลกเป็นใบย่อย บอกว่าเก๊
สองหนุ่มขัดใจเพียรไปแลกแห่งอื่นอีก ก็ไม่ได้ผลสมประสงค์ เพราะใบละร้อยอันจะเป็นค่าผ่านทางขึ้นสวรรค์นั้น เก๊จริง ๆ สองคนก็ตระเวนไปอีก จนถึงสำนักของนางเติม (นามสมมุติ) และเมื่อใบละร้อยนั้นแลกเปลี่ยนไม่ได้อีก นายนายเซ้งเกิดอาการเกร็งจนหน้าตึงเป๋ง จึงควักใบละสิบจ่ายให้ (ตามราคา) แล้วจูงมือนางสม (นามสมมุติทั้งนั้น) เข้าห้อง โดยเพื่อนอีกคนหนึ่งนั่งงุ่นง่านรอคอยอยู่ เพราะมีเศษเงินเพียงเท่านั้น
ฝ่ายอาเสี่ยที่ถูกแลกใบละร้อย ทำนองเทียวไล้เทียวขื่อของสองหนุ่ม เกิดอาการสงสัย จึงไปกระซิบตำรวจยามที่เคยเป็นขาประจำน้ำชากาแฟ เมื่อโปลิศรู้ความกระนั้นแล้ว จึงรุดหน้าไปยังสำนักนางเติม เพราะรู้ความว่าเจ้าของแบ๊งค์เก๊กำลังสำราญอยู่ที่นั่น
พอไปถึงก็เป็นเวลาที่นายเซ้งออกมายืนหอบฮักอยู่ จึงเข้าตรวจค้นฐานสงสัย และได้แบ๊งค์ปลอมใบละ๑๐๐ บาทในตัวนายเซ้งอีกใบหนึ่ง โปลิศจึงรวบตัวสองหนุ่มไปโรงพักสำราญราษฎร์
เป็นอย่างไรบ้าง กับสำนวนเขียนข่าวแบบโบราณ เพราะข่าวนี้ได้มาจากหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๙๓ แต่เพื่อความสมบูรณ์ของบันทึก จึงขอนำเนื้อความโปรยหัวข่าวมาสรุปในตอนท้ายนี้ด้วย เขาบรรเลงไว้ดังนี้
เจ้าหนุ่มรูปหล่อทั้งกำลังสดอดเปรี้ยวหวานมันเค็มมาหลายเวลา ก็เกิดอาการ เกร็งขนาดหนัก เพื่อระงับโรคปวดสะดือให้หายไปชั่วครั่งชั่วคราว จึงเตร่มาแสวงหาความสำราญด้วยนางโลมหน้าแฉล้ม แต่ขนบประเพณีแม่เล้านั้น มักจะถือเป็นหลักเกณฑ์ว่า ผิว์เจ้าหนุ่มหน้าใดจะเปิดประตูห้องสวรรค์ด้วยดรุณีใดแล้ว จะต้องจ่ายทรัพย์เป็นค่าล่วงหน้าก่อน ขืนปล่อยปละละเลยแล้วไซร้ หนุ่มมันเหยียบคั่นบรรไดสวรรค์แล้ว จะเล่นลูกไม้บิดพริ้ว เจ้าหนุ่มซึ่งกำลังเกร็งควักใบละร้อยเหมือนจะอวดว่า ฉันนี่แหละอาเสี่ย แต่เมื่อแม่เล้าเอาไปขอแลกเพื่อจ่ายทอนกันไปตามกฎหมาย จึงรู้ว่าแบ๊งค์นั้นรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ทำ หนุ่มมันก็รับคืน แต่อาการเกร็งไม่หายจึงต้องตระเวนไปแห่งอื่น เมื่อรู้ไปถึงตำรวจ จึงถูกลากไปนอนกรงขัง ฐานพยายามใช้แบ๊งค์เก๊
ข้อความนี้ ถ้านักข่าวที่สำเร็จด้านนิเทศก์ศาสตร์ ในสมัยปัจจุบันได้อ่าน จะเกิดความ รู้สึกอย่างไรหรือไม่ ก็ไม่ทราบ
แต่ผู้เฒ่าอ่านแล้วก็อยากจะชมผู้เขียนข่าว ที่มีความอุตสาหะวิริยะ พยายามเขียนข่าวที่สั้นนิดเดียวให้ยาวและละเอียดลออ ยังกะเป็นคนใดคนหนึ่ง ในกระบวนผู้ต้องหาทั้งสองนั่นเลยทีเดียว.
##########
Create Date : 17 กันยายน 2555 | | |
Last Update : 17 กันยายน 2555 6:18:00 น. |
Counter : 2063 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๓) คนหูตึง
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๓)
คนหูตึง
ถึงปี พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งเป็นปีที่เรามีอายุครบ ๘๐ ปี บริบูรณ์ เลยเกณฑ์ที่จะเป็นคนแก่มาแล้ว แต่เราก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม เว้นแต่อุปกรณ์ในการใช้ชีวิตได้เสื่อมลงหมดทุกอย่าง
คือตาก็มีอาการระคายเคือง เพราะมีขนตาแยงลูกตาเป็นประจำ ต้องไปหาหมอให้ช่วยถอนสองสามเดือนหนหนึ่ง ส่วนสายตานั้นกลับไปใช้แว่นตาสมัยที่เกษียณอายุใหม่ ๆ อ่านหนังสือได้ดีพอควร
ฟันก็ผุหมดทุกซี่ แต่จะค่อย ๆ ถอนออกไปเฉพาะที่มันโยก หรือมันโบ๋จนปวดประสาท ถ้ายังพอทนก็ใช้ไปก่อน จนเหลือไม่เกิน ๑๔ ซี่ และข้างบนข้างล่างไม่ตรงกัน จึงเคี้ยวอะไรไม่ขาด ต้องกินขนมปังปั่นกับนมเย็น เป็นมื้อเช้า โจ๊กซองใส่ไข่เองเป็นมื้อกลางวัน และข้าวต้มปลาหรือข้ามต้มซี่โครงหมู เป็นมื้อเย็น
เป็นประจำจะเข้าปีที่สามแล้ว นอกจากจะไปงานเลี้ยงรุ่นเดือนละสองครั้ง ที่จะได้เครื่องดื่มที่ไม่ต้องเคี้ยว พอชุ่มชื่นใจหน่อย
หูตึงมากประมาณเอาเองว่า การได้ยินลดลงกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เวลาคุยกันหรือดูทีวี ก็ได้ยินว่าเขาพูดแต่จับความไม่ได้ว่าเขาพูดเรื่องอะไร ไปให้หมอตรวจแล้วบอกว่าเป็นไปตามอายุขัย ถ้าต้องการให้ได้ยินชัดขึ้นก็ต้องใช้เครื่องช่วยฟัง ให้เข้าไปปรึกษากับบริษัทที่มาตั้งสาชาอยู่ในโรงพยาบาล
เจ้าหน้าที่หญิงของบริษัทก็ทดลอง สอบสมรรถภาพการได้ยินด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วก็จดบันทึกเป็น ตัวเลขต่าง ๆ แล้วก็บอกว่า หูข้างขวาเสื่อมมากกว่าหูข้างซ้าย ถ้าจะใส่เครื่องฟังควรจะใส่ข้างซ้าย เพื่อชะลอไว้ไม่ให้เสื่อมเร็ว สอบถามราคาเครื่องช่วยฟังก็ได้ความว่า มีตั้งแต่หลักหมื่นถึงแสน
เราก็มีเงินก้อนสุดท้ายอยู่แค่สามหมื่น อยากจะได้ไว้ใช้บ้าง เขาก็หยิบมาให้ดูสองเครื่อง ราคา สี่หมื่นกว่า กับสองหมื่นกว่า เราจึงต้องเลือกเอาอย่างราคาต่ำ เพราะมีเงินแค่นั้นเอง
เมื่อได้เครื่องมาเสียบหูฟังแล้ว ปรากฏว่าเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยินก็ดังขึ้นกว่าเดิม เท่า ๆ กันหมด ทั้งเสียงคนพูดและเสียงรอบตัว แต่เสียงพูดนั้นก็ต้องตั้งใจฟังเหมือนเดิม เทียบกับการฟังข่าวทีวี เดิมต้องเปิดเสียงถึงเลข ๗ จึงจะพอรู้เรื่อง ใส่เครื่องแล้วเปิดแค่เลข ๔ ก็ดังเท่ากัน คือยังต้องตะแคงหูฟังเหมือนเดิม
ไม่เหมือนที่คิดไว้ว่าใช้แล้วจะฟังเสียงพูดได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็เป็นความรู้ว่าอวัยวะของคนนั้นเสื่อมแล้ว ไม่มีอะไหล่มาเปลี่ยนเหมือนเครื่องยนต์ เครื่องโทรทัศน์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์
เมื่อได้คุยกับเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายสิบ ที่มีอายุอ่อนกว่านิดหน่อย ซึ่งก็หูตึงเหมือนกัน ก็พอจะคุยกันได้เพราะต้องตะโกนพอ ๆกัน และก็คอยดูปากกันให้แน่ใจว่าพูดเรื่องอะไร ก็ได้ความรู้ว่า เขาก็ซื้อเครื่องช่วยฟังมาใช้เหมือนกัน แต่เป็นโรงพยาบาลของทหาร จึงเสียเงินเพียงครึ่งเดียว ในราคาที่ใกล้เคียงกับของเรา แต่ก็มีค่าเท่าเดิมเหมือนกัน
เราก็เสริมว่า ถ้าจะให้ชัดเจนอย่างที่เราต้องการ ก็จะต้องใช้เครื่องที่มีราคาเป็นแสน เจ้าเพื่อนบอกว่า ไม่ใช่แสนเดียวแต่ราคาเครื่องละสามแสน ถ้าใส่ทั้งสองข้างก็หกแสน
เราก็เลยยอมรับสภาพคนหูตึงแต่โดยดี เพราะการไม่ได้ยินเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ก็น่าจะทำให้มีความสุขมากขึ้นก็ได้
พระท่านยังว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ..........ไม่มี.
#########
Create Date : 16 กันยายน 2555 | | |
Last Update : 16 กันยายน 2555 8:50:13 น. |
Counter : 1422 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๒) สังคอมออนไลน์ ที่มีคุณภาพ
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๒)
สังคมออนไลน์ ที่มีคุณภาพ
กาลครั้งหนึ่งเมื่อเราเพิ่งเป็นสมาชิกในอินเตอร์เนตมาได้เพียงปีกว่า ยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไร กับการเขียนการแปะกระทู้ในห้องต่าง ๆ ของ พันทิป ดอท.คอม.สักเท่าใด เพราะความสนใจของเราอยู่แต่ในการเขียนและอ่านเรื่อง ต่าง ๆ ในถนนนักเขียน ของห้องสมุด เท่านั้น
ว่าที่จริงเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียก ห้องสมุดว่า โต๊ะ เรานึกว่าเขาเรียกว่า ห้อง เช่น ห้องสมุด ห้องเฉลิมไทย ห้องลุมพินี ห้องศุภชลาศรัย ห้องสยามสแควร์ ห้องราชดำเนิน ห้องสินธร ห้องหว้ากอ เป็นต้น
และกลุ่มย่อยในหัวข้อใหญ่นั้น เราก็เรียกตาม ความเคยชินของเราเองว่า กลุ่มถนนนักเขียน กลุ่มประวัติศาสตร์ กลุ่มภาษาไทย กลุ่มการประพันธ์ เป็นต้น เล็กลงไปกว่านั้น เราก็เรียกว่าหมวด เช่น หมวดนิยาย หมวดเรื่องสั้น หมวดกวี หมวดความเรียง เป็นต้น
ถ้าท่านผู้อ่านช่างสังเกต จะเห็นความลักลั่นสับสนเหล่านี้ในข้อเขียนของเราเป็นประจำ แต่เราก็ไม่ได้ไปออกความเห็นที่ใดนอกจากในถนนนักเขียนเท่านั้น จนกระทั่งมีการเปิด กระทู้นอกเรื่อง เราจึงได้ออกไปนอกกลุ่มถนนนักเขียน แล้วก็เลยเที่ยวไปดูห้องอื่น ๆ เรื่อยเปื่อย เพราะอยากรู้ว่า เขาคุยกันว่าอย่างไรบ้าง ในหัวข้อที่กำหนดนั้น แต่ก็ไม่ได้ออกความเห็นเลยเพราะไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ
เช่นห้องจตุจักร ก็ดูเรื่องสุนัข แมว ต้นไม้ บ้าง นอกนั้นก็มีห้องเฉลิมไทย ก็ไม่ได้ดูหนังโรงเป็นปี ๆ กว่าจะซื้อ ซีดี มาดูก็ล้าสมัยไปแล้ว ห้องศุภชลาศรัย ก็เป็นเรื่องกีฬาสารพัดประเภท เราก็ไม่เคยรูจัก และห้องลุมพินีเขาก็คุยกันในเรื่องที่เราไม่ได้สนใจ เป็นต้น
แต่ห้องราชดำเนินที่คุยกันเรื่องการเมืองนั้น ให้ความรู้ที่ทันสมัยแก่เรามาก เราอ่านแล้วก็หูตากว้างขวางขึ้น แต่เราก็ไม่ออกความเห็นตามเคย เก็บเอาความรู้หลาย ๆ ด้านมาไตร่ตรอง ตามหลักกาลามสูตร แล้วก็เก็บเป็นข้อมูลส่วนตัว ไว้คอยดูการเปลี่ยนแปลงต่อไปตามกฎอนิจจัง
จนกระทั่งการเมืองร้อนแรงขึ้นตามลำดับ ในที่สุดก็มีการหยุดพัก และปรับปรุงวิธีวางกระทู้ใหม่ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ชอบวิธีการนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จำใจทนอยู่ในกติกานั้นอยูเป็นเวลาแรมปีมาแล้ว
ส่วนเราไปเจอ ห้องไร้สังกัด ที่มีคำขวัญว่า ไม่รู้จะเข้ากลุ่มไหน เชิญได้ที่นี่ หรืออะไรทำนองนี้
เราก็เลยได้พบว่าห้องนี้เป็นห้องที่เปิดกว้าง ให้สมาชิกคุยเรื่องอะไรก็ได้ ที่ไม่สามารถเข้ากับ เรื่องของห้องอื่น ๆ ที่เปิดอยู่ได้ แต่เราคุยไปคุยมาก็ดูเหมือนจะซ้ำกับห้องอื่น ๆ เหมือนกัน แต่บังเอิญเป็นเรื่องราวที่สมาชิกห้องนี้ไม่ค่อยจะรู้ และอยากรู้ จึงไม่ถูกไล่ออกไป เราจึงอยู่ในห้องไร้สังกัดนี้มาได้ตั้ง ๕ ปีแล้ว
มีเรื่องอะไรที่อยากจะเล่า ก็นำมาเล่า รู้สึกว่าจะได้นำเรื่องที่เราเขียนมาเล่าเสียจนหมดนับพันเรื่องแล้ว จึงเหลือแต่ บันทึกของผู้เฒ่า และ ผู้เฒ่าเล่าอดีต นี้เป็นอันดับสุดท้าย
แต่บังเอิญในห้องนี้ ไม่นิยมปกปิดตัวตนจริงของล็อกอิน ทั้งหญิงชาย ทั้งอายุ และหน้าที่การงาน จึงมีผู้ทราบกันอย่างเปิดเผยว่า เราเป็นทหารเก่า และแก่ เลยเกษียณอายุมาตั้งสองทศวรรษแล้ว เขาจึงช่วยกันยกให้เป็นปูเป็นตา ของห้องไปเลย และดูเหมือนว่าจะมีอายุมากเป็นอันดับต้น ๆ ของพันทิปเสียด้วย
เราจึงมีความสุข ในการคุยกับเพื่อนด้วยตัวหนังสือ ในยามที่หูกำลังเสื่อมลงอย่างทุกวันนี้ และคงจะได้คุยต่อไปจนกว่าดวงตาจะเสื่อมไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้
และอาจจะเป็นผู้เฒ่า อายุ ๙๐ ปีทียังเข้า อินเตอร์เนต อยู่ก็ได้ใครจะรู้.
##########
Create Date : 15 กันยายน 2555 | | |
Last Update : 15 กันยายน 2555 11:34:47 น. |
Counter : 1754 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๑) เราสู้
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๑)
เราสู้ เมื่อ ๒๒ เม.ย.๕๕ หลังสงกรานต์ไปแล้วหลายวัน เพื่อนสมาชิกไนห้อง ไร้สังกัด ของเวปพันทิป ได้ชักชวนกันมาเยี่ยมผู้เฒ่า และได้ให้ขนมมาหลายชนิด หลายกล่อง หลายซอง แต่มีท่านหนึ่งให้หนังสือที่อยากได้มาก คือ หนังสือ อนุสรณ์ คึกฤทธิ์ ครูตลอดกาล ซึ่งจัดทำเพื่อเป็นที่ระลึกถึง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ครบรอบร้อยปี ขึ้นปีที่ ๑๐๑
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาแบ่งเป็นสี่ส่วน แต่ที่เราสนใจมากคือ ส่วนที่สอง เป็นการถ่ายทอดงานเสวนาเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นสาระสำคัญ ของหนังสือเล่มนี้ มีท่านผู้ร่วมเสวนา ๔ ท่านคือ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร อจ.ไพศาล พืชมงคล รศ.สายสุนีย์ สินธุเดชะ และ รศ. ดร.คุณหญิง วนิดา ดิถียนต์
เราได้นำข้อความของ อจ.ไพศาล พืชมงคล เรื่อง ผู้เปิดประตูเชื่อมความสัมพันธ์ ไทย-จีน มาวางในไร้สังกัด ให้เพื่อนสมาชิกได้อ่าน ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทยในยุคปัจจุบัน
มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า
................ในที่สุดสหรัฐอเมริกา พ่ายแพ้ในสงครามเวียตนาม สหรัฐออกไปจากเอเวียของเรา ในช่วงนั้นกองทัพเวียตนามหลายแสนคน พร้อมรถถังของเวียตนามมีสมรรถนะสูงกว่ารถถังของไทยหลายเท่า จำนวนหลายกองพันเผชิญหน้าอยู่ที่ชายแดนไทย ทหารเวียตนามสามแสนคน เชี่ยวชาญในการรบภายใตการบัญชาการของ นายพลเทียนวันคุง นำปฏิบัติการบัวบานยึดกัมพูชา ในเวลาไม่ถึง ๗ วัน แล้วประกาศว่า กรุงเทพ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น แต่คนไทยเรารักสนุกบอกว่า เวียตนามเข้ามาไม่ได้หรอก รถติดอยู่แถวปากน้ำซ.....................
และเรื่องนี้ได้สะกิดความทรงจำของผู้เฒ่าให้ระลึกถึง ชีวิตของตนเองในยุคนั้น ขึ้นมาได้อย่างแจ่มชัด ขณะนั้นเป็น พ.ศ.๒๕๑๗ เรามีอายุ ๔๐ ปีเศษ เป็นทหารสื่อสาร ยศ ร้อยเอก ที่ไม่เคยจับปืนเลย ทำงานด้วย ดินสอ ปากกา เครื่องพิมพ์ดีด มาตลอดเวลา
เมื่อไปรายงานตัวเข้ากองประจำการ อยู่ในระหว่างที่สงครามเกาหลี กำลังเจรจาสงบศึก อยากเป็นทหารราบจะได้อาสาสมัครไปสงคราม แต่ก็ไปสังกัดกองร้อยเล็กนิดเดียว ไม่ใช่ทหารหน่วยรบ มีหน้าที่เป็นลูกมือในงานโยธา ของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๑ เท่านั้น
ช่วงสุดท้ายของการฝึกแปดสัปดาห์ เกิดเป็นโรคไส้เลื่อนอักเสบ ต้องไปนอนให้หมอผ่าตัดที่โรงพยาบาลทหารบก พญาไท หรือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน ความจริงโรคนี้ ถ้าแจ้งเจ้าหน้าที่เกณฑ์ทหารก่อนเกณฑ์ จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเป็นทหารประจำการ แต่เราไม่รู้ ไม่มีใครบอก ก็เลยต้องผ่าตัดข้างขวา แผลยาวเกือบคืบ
หายดีแล้วจึงสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบ เหล่าทหารสื่อสาร สำเร็จออกมาด้วยคะแนน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ได้ติดยศสิบโท แทนที่จะได้ไปอยู่กองพันทหารสื่อสาร กลับได้เป็นเสมียนเขียนหนังสืออยู่ที่กองกำลังพล ต่อมาเขารบกับคอมมิวนิสต์ไทย ทางภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคใต้ กลับได้ไปช่วยราชการ เป็นพนักงานกล้องโทรทัศน์ ช่อง ๗ ขาวดำ สนามเป้า
เข็นกล้องถ่ายทีวีอยู่ตั้งแต่เป็นสิบเอก จนถึงร้อยโท เกิดเป็นไส้เลื่อนขึ้นมาอีกข้างหนึ่ง จนทนไม่ไหวต้องลาออกมา เป็นหัวหน้าเสมียนที่สะพานแดงอย่างเดียว จนเรียนหลักสูตรชั้นนายร้อยจบ ก็เข้าโรงพยาบาล รักษาโรคตับโต อันเนื่องมาจากการกินเหล้าไม่บันยะบันยัง ตั้งแต่อายุสิบหกปี กินยารักษาตัวอยู่หนึ่งปีเต็ม ๆ จึงหาย
ขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่าง ปลายสงครามเวียตนาม สหรัฐอเมริกาเข้าไปช่วยเวียตนามใต้ รบกับเวียตนามเหนือ แล้วอ้างสหประชาชาติ เรียกร้องให้บรรดาประเทศเสรีประชาธิปไตยเข้าไปร่วมด้วย ประเทศไทยก็ส่งทหารไปขนาดกรมผสม ที่เรียกว่า จงอางศึก จนขยายออกเป็น กองพลเสือดำ เราเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ จัดทหารสื่อสารให้กับกองพลอาสาสมัคร แต่ตนเองสมัครไม่ได้ เพราะยศชั้นยังไม่ถึงอัตรา อาจจะได้ไปรุ่นที่ ๕
แต่พอถึง พ.ศ.๒๕๑๘ ไทยเราเพิ่งส่งทหารไปเป็นผลัดที่ ๓ สหรัฐอเมริกาก็ถอนกำลังทหารออกจากเวียตนามใต้ ปล่อยให้เวียตนามเหนือกับเวียตกง รวมประเทศเวียตนาม เป็นหนึ่งเดียว ด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แล้วก็เข้าไปช่วยประเทศลาวกับกัมพูชาฝ่ายซ้าย รบกับฝ่ายขวา จนกระทั่ง ฝ่ายซ้ายได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด ขึ้นเป็นรัฐบาลทั้งสองประเทศ
คราวนี้ประเทศในโลก ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ โดยมีอเมริกาเป็นหัวหน้าใหญ่ ก็คาดว่าคอมมิวนิสสต์เวียตนาม จะสามรถเข้าครอบครอง ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ให้เป็นคอมมิวนิสต์ได้ทั้งหมดในเวลาไม่นานนัก
เราซึ่งเป็นทหารมาร่วมสามสิบปี จึงรู้สึกได้ว่าประเทศไทยของเรา คงจะต้องพบกับศึกสงครามอีกแล้ว เพราะตามข่าวว่าทหารเวียตนามหลายแสน กับรถถังอีกหลายกองพัน มาจ่ออยู่ที่ชายแดนเขมร และประกาศว่า ถ้าเริ่มรุกในตอนเช้ามืด แบบญี่ปุ่นในสงครามเอเชียบูรพา เขาจะได้มากินข้าวเที่ยงที่สนามหลวงแน่
ขณะนั้นเราซึ่งหายป่วยจากโรคตับโต จึงบอกกับคุณหมอซึ่งมียศร้อยเอก ที่ดูแลรักษามาตลอดปีว่า เรามีโรคประจำตัวอยู่อีกโรคหนึ่ง คือไส้เลื่อน หมอช่วยจัดการให้ด้วย หมอจึงทำใบส่งตัวจาก แผนกทางเดินอาหาร ไปให้หมดศัลยกรรมดำเนินการผ่าตัดทันที
ความตั้งใจที่จะรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร ต่อสู้ป้องกันประเทศชาติจากศัตรู ได้เข้ามาใกล้จะถึงตัวแล้ว ถ้าจะเข้าสนามรบก็ควรจะคล่องตัวสักหน่อย ไม่ใช่วิ่งไปได้ ๓-๔ ก้าวก็ลงนอนปวดไข่ร้องโอดโอยเสียแล้ว เวลานั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงหาวิธีแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ด้วยการเปิดสัมพันธไมตรีกับ จีนคอมมิวนิสต์ ที่กำลังจะแตกคอกับ สหภาพโซเวียตรัสเซีย พี่เบิ้มในยุโรป และเป็นผลสำเร็จ ดังที่ท่านได้เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์ เล่มที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น
จนต่อมาอีกสามรัฐบาล กองทัพไทยจึงส่งผู้แทนไปเจรจาขอความช่วยเหลือด้านการทหารจาก จีนแดง จนเกิดสงครามสั่งสอน ที่ทำให้เวียตนามต้องถอนทหารจากด้านเขมร ไปป้องกันตนเองทางทิศเหนือ ซึ่งทำให้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ มาจนถึงทุกวันนี้
แล้วเราก็คงเป็นทหารถือปากกา ต่อมาจนเกษียณอายุ ทั้ง ๆ ที่ซ้อมร้องเพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ ไว้จนคล่องปาก ขึ้นใจเป็นอย่างดีแล้ว เนื้อเพลงที่ว่านั้น มีคำร้อง ดังนี้
บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้ เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว.
แม้เวลาจะล่วงมาจนประเทศที่เคยเป็นศัตรู ได้กลับมาเป็นมิตร ค้าขายแข่งขันกันอยู่ถึงบัดนี้ เราก็ยังจำเพลงนี้ได้อย่างขึ้นใจ
ขอกราบแทบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ปกเกล้า ปกกระหม่อม ให้คนไทยได้รอดพ้นภัยพิบัติในครั้งนั้นมาได้ อย่างไม่น่าเชื่อเลย.
###############
Create Date : 25 มิถุนายน 2555 | | |
Last Update : 25 มิถุนายน 2555 6:25:54 น. |
Counter : 2293 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|