Group Blog
 
All Blogs
 

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๙) เรื่องของนักเขียนชรา

ผู้เฒ่าเล่าอดีต

เรื่องของนักเขียนชรา

เราเข้ามาเขียนเรื่องเล่าในเวปพันทิป เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ และต่อมาก็มีความรู้ที่จะสร้างบล็อก เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ แล้วเรื่องของเราก็มีเสนอใน หลายห้องไม่เว้นแต่ละวัน ไม่เคยที่จะขาดหายไป ทีละหลาย ๆ วันนอกจากครั้งหนึ่ง ที่ขอลาพักเพราะเริ่มป่วยเจ็บที่หัวไหล่ขวา ก็มีเพื่อนนักอ่านเข้ามาปลอบใจ ให้คำแนะนำ และเสนอว่า อย่าหยุดเขียนเลย ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น วันละหน้าครึ่งหน้าก็พอ ไม่ต้องหักโหม

เราก็เชื่อ แต่ตามวิสัยของคนชอบเขียน เห็นอะไรนิดอะไรหน่อย ก็เก็บเอามาเขียน เพราะถ้าไม่ได้เขียนแล้ว เราอาจจะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่าเจ็บหัวไหล่ อย่างเช่นโรคมะเร็ง ก็ได้ เราจึงยังเขียนต่อไปทุกวัน วันละนิดหน่อย สามเวลาหลังอาหารและก่อนนอนเท่านั้น จนได้ บันทึกของผู้เฒ่า และผู้เฒ่าเล่าอดีต เพิ่มขึ้น แล้วผลก็ปรากฏว่า ความเจ็บได้ลามจากหัวไหล่ ลงไปที่สะบักข้างขวา และรวมไปถึงซี่โครงแถบขวาทั้งแทบ แถมบางทียังมีการเจ็บหน้าอกอีกด้วย ไม่ทราบว่าปอด ตับ หัวใจ ม้าม หรือขอบกระด้ง จะพลอยเป็นไปด้วยหรือเปล่า

เพื่อที่จะบรรเทาหรือระงับอาการเหล่านั้น เราจึงงดเขียน เพียงแต่เข้ามาอ่านกระทู้ของเพื่อน และตอบบ้างสั้น ๆ เท่านั้น แต่พอหยุดได้แค่สองวัน ก็มีเพื่อนผู้หวังดี ส่งหลังไมค์เข้าไปเยี่ยม ทำให้กิเลสฟูขึ้นมาเป็นอันมาก

จึงตกลงใจว่า เอาละวะ อย่าหยุดอย่างเด็ดขาดเหมือนการเลิกบุหรี่เลย เอาเพียงว่า ค่อย ๆ ลดลงทีละน้อยจะดีกว่า แต่ถ้าลงเขียนวันเว้นวันก็คงจะไม่ได้พักสักเท่าไร เพราะเขียนวันนี้เพื่อไปลงวันพรุ่งนี้ ก็เคยทำมาแล้ว อย่ากระนั้นเลย เปลี่ยนจากคอลัมน์รายวัน เป็นคอลัมน์รายสัปดาห์ท่าจะดีขึ้น

คิดได้ดังนั้นแล้วก็เลือกว่าจะเขียนในวันไหน ให้จำได้แม่นหน่อย เพราะความหลงลืมได้เข้ามาครอบงำมากขึ้นทุกที อย่างที่กำหนดว่าจะใส่บาตรทุกเช้าวันอาทิตย์ เพราะคนที่เดินผ่านสวนอ้อยน้อยกว่าวันอื่น ๆ เมื่อเช้านี้ก็ยังลืมออกจากบ้านเกือบเจ็ดโมง ดีแต่ว่ายังทันได้ใส่ท่านองค์สุดท้ายพอดี

คิดไปคิดมาตกลงใจเอาวันเกิดดีกว่า พอถึงวันเกิดในรอบสัปดาห์ ก็หาเรื่องมาลงสักเรื่องหนึ่ง ระหว่างนั้นก็คิดและเขียนวันละบรรทัดสองบรรทัดก็พอจะได้พักมาก ๆ เพราะเรานั้นถ้าไม่เปิดคอมพ์ ก็นอน เท่านั้น ไม่สามารถจะเปิดกะลาออกไปท่องโลกได้เหมือนเดิมเสียแล้ว

แต่ความคิดนี้ก็ทำไปได้ไม่เท่าไร ก็รู้สึกว่าช้าเหลือเกิน เอาว่าหาเรื่องได้เมื่อไรก็เอามาวางเลยดีกว่า และที่เคยวางเช้ามืด ตั้งแต่ตีสี่ ตีห้า หรือหกโมงเช้า ก็อย่าไปคิดว่าจะแน่นอน เพราะเดี๋ยวตื่นดึกไป พอนอนต่อก็สว่างโร่ อะไรพันยังงี้ เอาแน่ไม่ได้เสียแล้ว

ส่วนวีนเกิดในสัปดาห์คือวันพฤหัสบดี หมอดูเขาเคยทำนายชะตาชีวิตตามวันเกิดของเรา ไว้ในหนังสือพิมพ์ นานมากแล้วมีความว่า

การงาน เป็นคนที่ชอบยกยอให้เกียรติ จึงมักชอบทำงานนั่งโต๊ะ หรือนั่งบริหารออกคำสั่ง มากกว่าจะออกไปตากแดดเป็นกรรมกร งานเกี่ยวกับกฎหมาย การปกครอง การแนะนำแนวทางกับผู้คนได้อย่างดี จึงมักเป็นคนที่มีสมอง เสธ. ได้อย่างดีเยี่ยม งานที่ทำต้องท้าทายและเติบโต แต่ถ้าเป็นงานที่ถูกจับยัดให้นั่งทำงานอย่างไร้ค่า หยากไย่แมงมุมขึ้นแล้วละก็ อย่าเสียใจ เพราะผู้ชายวันนี้ชอบทำงาน รักศักดิ์ศรีมากกว่าเงินตรา งานที่เด่นชัดและเหมาะสม เช่น วิศวะ แพทย์ สถาปัตย์ นักกฎหมาย หรืออยู่ในเครื่องแบบทหาร ก็ไปได้รุ่งเรืองเช่นกัน

รู้สึกว่าเป็นคนมีชตาชีวิตดีพอสมควร ก็ไม่ทราบว่าจะมีท่านใด ที่ทำนายปีเกิดคือปีมะแม เดือนห้า ไว้ว่าอย่างไรบ้าง จะดีหรือแย่กว่านี้ก็ไม่สามารถจะทราบได้

เพราะไม่เคยไปให้หมอดูพยากรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบใดเลย ในชีวิต.

################




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 8 พฤษภาคม 2555 17:21:46 น.
Counter : 2090 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๘) สังคมออนไลน์ที่มีคุณภาพ

ผู้เฒ่าเล่าอดีต

สังคมออนไลน์ ที่มีคุณภาพ

กาลครั้งหนึ่งเมื่อเราเพิ่งเป็นสมาชิกในอินเตอร์เนตมาได้เพียงปีกว่า ยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไร กับการเขียนการแปะกระทู้ในห้องต่าง ๆ ของ พันทิป ดอท.คอม.สักเท่าใด เพราะความสนใจของเราอยู่แต่ในการเขียนและอ่านเรื่อง ต่าง ๆ ในถนนนักเขียน ของห้องสมุด เท่านั้น

ว่าที่จริงเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียก ห้องสมุดว่า โต๊ะ เรานึกว่าเขาเรียกว่า ห้อง เช่น ห้องสมุด ห้องเฉลิมไทย ห้องลุมพินี ห้องศุภชลาศรัย ห้องสยามสแควร์ ห้องราชดำเนิน ห้องสินธร ห้องหว้ากอ เป็นต้น

และกลุ่มย่อยในหัวข้อใหญ่นั้น เราก็เรียกตามความเคยชินของเราเองว่า กลุ่มถนนนักเขียน กลุ่มประวัติศาสตร์ กลุ่มภาษาไทย กลุ่มการประพันธ์ เป็นต้น เล็กลงไปกว่านั้น เราก็เรียกว่าหมวด เช่น หมวดนิยาย หมวดเรื่องสั้น หมวดกวี หมวดความเรียง เป็นต้น

ถ้าท่านผู้อ่านช่างสังเกต จะเห็นความลักลั่นสับสนเหล่านี้ในข้อเขียนของเราเป็นประจำ แต่เราก็ไม่ได้ไปออกความเห็นที่ใดนอกจากในถนนนักเขียนเท่านั้น จนกระทั่งมีการเปิด กระทู้นอกเรื่อง เราจึงได้ออกไปนอกกลุ่มถนนนักเขียน แล้วก็เลยเที่ยวไปดูห้องอื่น ๆ เรื่อยเปื่อย เพราะอยากรู้ว่า เขาคุยกันว่าอย่างไรบ้าง ในหัวข้อที่กำหนดนั้น แต่ก็ไม่ได้ออกความเห็นเลยเพราะไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ

เช่นห้องจตุจักร ก็ดูเรื่องสุนัข แมว ต้นไม้ บ้าง นอกนั้นก็มีห้องเฉลิมไทย ก็ไม่ได้ดูหนังโรงเป็นปี ๆ กว่าจะซื้อ ซีดี มาดูก็ล้าสมัยไปแล้ว ห้องศุภชลาศรัย ก็เป็นเรื่องกีฬาสารพัดประเภท เราก็ไม่เคยรู้จัก และห้องลุมพินีเขาก็คุยกันในเรื่องที่เราไม่ได้สนใจ เป็นต้น

แต่ห้องราชดำเนินที่คุยกันเรื่องการเมืองนั้น ให้ความรู้ที่ทันสมัยแก่เรามาก เราอ่านแล้วก็หูตากว้างขวางขึ้น แต่เราก็ไม่ออกความเห็นตามเคย เก็บเอาความรู้หลาย ๆ ด้านมาไตร่ตรอง ตามหลักกาลามสูตร แล้วก็เก็บเป็นข้อมูลส่วนตัว ไว้คอยดูการเปลี่ยนแปลงต่อไปตามกฎอนิจจัง

จนกระทั่งการเมืองร้อนแรงขึ้นตามลำดับ ในที่สุดก็มีการหยุดพัก และปรับปรุงวิธีวางกระทู้ใหม่ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ชอบวิธีการนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จำใจทนอยู่ในกติกานั้นอยูเป็นเวลาแรมปีมาแล้ว

ส่วนเราไปเจอ ห้องไร้สังกัด ที่มีคำขวัญว่า ไม่รู้จะเข้ากลุ่มไหน เชิญได้ที่นี่ หรืออะไรทำนองนี้

เราก็เลยได้พบว่าห้องนี้เป็นห้องที่เปิดกว้าง ให้สมาชิกคุยเรื่องอะไรก็ได้ ที่ไม่สามารถเข้ากับ เรื่องของห้องอื่น ๆ ที่เปิดอยู่ได้ แต่เราคุยไปคุยมาก็ดูเหมือนจะซ้ำกับห้องอื่น ๆ เหมือนกัน แต่บังเอิญเป็นเรื่องราวที่สมาชิกห้องนี้ไม่ค่อยจะรู้ และอยากรู้ จึงไม่ถูกไล่ออกไป เราจึงอยู่ในห้องไร้สังกัดนี้มาได้ตั้ง ๕ ปีแล้ว

มีเรื่องอะไรที่อยากจะเล่า ก็นำมาเล่า รู้สึกว่าจะได้นำเรื่องที่เราเขียนมาเล่าเสียจนหมดนับพันเรื่องแล้ว จึงเหลือแต่ บันทึกของผู้เฒ่า และ ผู้เฒ่าเล่าอดีต นี้เป็นอันดับสุดท้าย

แต่บังเอิญในห้องนี้ ไม่นิยมปกปิดตัวตนจริงของล็อกอิน ทั้งหญิงชาย ทั้งอายุ และหน้าที่การงาน จึงมีผู้ทราบกันอย่างเปิดเผยว่า เราเป็นทหารเก่า และแก่ เลยเกษียณอายุมาตั้งสองทศวรรษแล้ว เขาจึงช่วยกันยกให้เป็นปูเป็นตา ของห้องไปเลย และดูเหมือนว่าจะมีอายุมากเป็นอันดับต้น ๆ ของพันทิปเสียด้วย

เราจึงมีความสุข ในการคุยกับเพื่อนด้วยตัวหนังสือ ในยามที่หูกำลังเสื่อมลงอย่างทุกวันนี้ และคงจะได้คุยต่อไปจนกว่าดวงตาจะเสื่อมไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้

และอาจจะเป็นผู้เฒ่า อายุ ๙๐ ปีทียังเข้า อินเตอร์เนต อยู่ก็ได้ใครจะรู้.

############

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 26 เม.ย. 55 05:51:57
ถูกใจ : babeheart, แสนดีมณีจันทร์, XXLGiant, หนูภี ณ นางพิมพ์, ชัดเจนน้องนาง, jiwery, ข้าวสวยญี่ปุ่น, ป้าชื่อเห็ดโคน, tintila, เจ่กเตี่ยมอั้ง, พี่กี้ร์, kenkob, kenku, เต่าทอง 1 จุด, คนปลายด้ามขวาน, kwanchaiisra, MiniMaxMan, cullinon, กบชรา_เปิดกะลาเดินย่องท่องโลก, Red Fox, กิน ทาน เที่ยว, ป้าหนาสองนิ้ว, Jiu_Bond, ณ นานากัญจน์, พชรนุชิต, หน้าต่างไร้กลอน, vr1428, อิ่มสบายท้อง, อุ่นใจ, หญ้าหนวดแมว, rkoo, พ่อ@LLถุง, มังน้อย, snyggen, nanoae, บ้านหนองจันสอน, กล่องออมสิน, samranjai, ป้า...สวย, คุณชายไร้รัก, nabao, จอมดาบโซโล, migpai, OH! MY...กล้วย, Fat_cute, ชื่อใหม่หัวใจเดิม























 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 7 พฤษภาคม 2555 14:18:01 น.
Counter : 1151 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๗) วารสารของทหาร

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๗)

วารสารของทหาร

หลังจากที่เกษียณอายุราชการ เมื่อ ตุลาคม ๒๕๓๕ แล้ว เราก็ยึดอาชัพเขียนหนังสือให้วารสารเป็นหลัก เพราะสมัยนี้เขาจะจ่ายค่าตอบแทนทุกเรื่อง มากน้อยแล้วแต่ฐานะของวารสารนั้น ๆ ก็มีเรื่องลงพิมพ์ในวารสารของทหารเหล่า ต่าง ๆ ในกองทัพบก และอื่น ๆ มากกว่าสิบราย เป็นจำนวน หลายร้อยตอน

ทั้งเรื่องสั้นชุดฉากชีวิต บันทึกของคนเดินเท้า ความหลังริมคลองเปรม พระอภัยมณีฉบับเร่งรัด บทกลอน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา สามก๊ก และนิยายอิงพงศาวดารจีน อีกหลายเรื่อง และได้พิมพ์รวมเล่มอีกหลายเล่ม

จนถึง พ.ศ.๒๕๔๘ ลูกชายแนะนำให้สมัครเข้าไปใช้บริการอินเตอร์เนต ที่เราไม่เคยสนใจ โดยจะออกเงินค่าสมาชิกให้ และทดลองเล่นดูสักปีหนึ่ง ไม่ชอบใจก็เลิกได้ และสมัครเป็นสมาชิก เวปบอร์ด พันทิป ดอท.คอม.เป็นแห่งแรก

คราวนี้เราก็สนใจที่เขามีกลุ่ม ถนนนักเขียน ของห้องสมุด ซึ่งเป็นที่สำหรับเอาเรื่องทุกประเภทมาวางเป็นกระทู้ ให้ผู้อื่นอ่านและวิพากษ์วิจารณ์ได้ตามสบายไม่มีข้อจำกัด เราก็เลยถือโอกาสเอาเรื่องทั้งหมด ที่เขียนมาตลอดเวลานั้น วางจนหมดสิ้น และเก็บไว้ในบล็อกที่ใช้ชื่อว่า “เจียวต้าย” เป็นจำนวนร่วมพันตอน

จนถึง พ.ศ.๒๕๕๑ อายุ ๗๗ ปี สังขารเสื่อมโทรมลง พิมพ์คอมพิวเตอร์แล้วเจ็บหัวไหล่และซี่โครงข้างขวา จึงหยุดเขียนเหลือแต่เรื่องที่เขียนไว้แล้วส่งไปให้วารสารอื่น ๆ จนบัดนี้ก็เลิกส่งเรื่องไปให้วารสารแล้ว จึงหวนรำลึกถึงอดีตในช่วงสุดท้าย ถึงผลงานที่ออกไปสู่โลกภายนอก บางเรื่อง

วารสารที่ติดต่อกันนานมากเล่มหนึ่ง ก็คือ นิตยสารทหารปืนใหญ่ ซึ่งได้เข้ามาร่วมงานเป็นครั้งแรก ในฉบับประจำเดือน มกราคม ๒๕๓๗ ด้วยเรื่องสามก๊กฉบับลิ่วล้อ ของ “เล่าเซี่ยงชุน” และได้ลงพิมพ์ติดต่อกันมาจนถึง ฉบับ มกราคม ๒๕๔๔ จึงได้เพิ่มเรื่องชุดฉากชีวิต ของ “เพทาย” พอมาถึงฉบับ มกราคม ๒๕๔๙ จึงมีเรื่องย้อนอดีต ของ พ.สมานคุรุกรรม

จนถึง พ.ศ.๒๕๕๐ การผลิตหนังสือขลุกขลัก และมีการปรับปรุงใหม่ ใน พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งเราก็ได้ส่งเรื่องชุดสุดท้าย มาร่วมด้วย ๖ ตอน ประมาณว่าเรื่องของเราทั้งหมด ที่ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารทหารปืนใหญ่ ในช่วงเวลา ๑๖ ปีที่ผ่านมา จะมีจำนวนมากกว่า ๖๐ ตอน

นิตยสารประจำเหล่าทหารปืนใหญ่ฉบับนี้ มีอายุพอ ๆ กับอายุของประชาธิปไตยแบบไทย และยังคงจะอยู่คู่กับเหล่าต่อไปอีกนานแสนนาน ไม่มีวันสิ้นสุด

อีกเหล่าหนึ่งก็คือ วารสารทหารม้าที่มีชื่อ “ฟ้าหม่น” ของศูนย์การทหารม้า จะมีกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดนั้น เราซึ่งเป็นทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ ไม่เคยได้ทราบ แต่เรื่องของเราได้ปรากฏในวารสารฉบับนี้ครั้งแรก คือเรื่อง สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ฉบับประจำ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ แล้วก็ได้ลงพิมพ์ติดต่อกันเกือบทุกเล่ม จนถึงฉบับประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๓๙ จึงหายไป

ระหว่างนั้นก็ได้ไปโผล่ที่ กองพลทหารม้าที่ ๑ จ.เพชรบูรณ์ ด้วยเรื่อง ซ้องกั๋ง...ขุนโจรแห่งเขาเนียซัวเปาะ ตั้งแต่ฉบับประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๓๙ เช่นกัน วารสารเล่มนี้เป็นรายสามเดือน ก็มีเรื่องอิงพงศาวดารจีน ของ”เล่าเซี่ยงชุน” ลงพิมพ์ประจำอยู่จนถึง ฉบับประจำเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๒

“เล่าเซี่ยงชุน”ได้กลับมาเขียนเรื่องให้ วารสารฟ้าหม่นอีกรอบหนึ่งตั้งแต่ ฉบับประจำเดือน มีนาคม ๒๕๔๔ ด้วยเรื่อง “ทหารเสือแผ่นดินถัง “ และเรื่องอื่น ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียน ยุติการเขียนเรื่องใหม่ มีแต่เรื่องที่เขียนไว้แล้ว ทยอยส่ง นิตยสารทหารสื่อสาร นิตยสารทหารปืนใหญ่ และวารสารฟ้าหม่น ของทหารม้า เท่านั้น

ประมาณได้ว่า เรื่องอิงพงศาวดารจีนของ “เล่าเซี่ยงชุน” ซึ่งมีชีวิตจริงเป็นทหารสื่อสาร ได้ลงพิมพ์ในฟ้าหม่น ทั้งสองยุคไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตอน และ วารสารกองพลทหารม้าที่ ๑ อีกไม่น้อยกว่า ๕๐ ตอน รวมเวลาที่ได้เสนอผลงานให้ทหารม้าได้อ่านมาเป็นเวลาร่วม ๒๐ ปี

ทางด้านอินเตอร์เนต ก็ใช้วิธีสแกนเรื่องจากนิตยสารทหารสื่อสาร สมัยเก่าตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ เลือกเรื่องที่ยังพออ่านกันได้ในสมัยนี้ ทั้งเรื่องของท่านอื่นที่น่าสนใจ รวมทั้งนามปากกาต่าง ๆ ของตนเองด้วย มาวางแทนการเขียน เพื่อเป็นการถนอมสังขาร และเผยแพร่นิตยสารทหารสื่อสาร ให้บุคคลภายนอกได้สัมผัสด้วย ซึ่งถ้ามีอายุยืนยาวต่อไป ก็คงจะมีผู้รู้จักทหารสื่อสารดีขึ้น

งานนี้ก็เป็นที่ภูมิใจ ว่าเป็นการทดแทนพระคุณของเหล่าทหารสื่อสาร อีกทางหนึ่งด้วย และจะทำไปจนกว่าจะหมดแรง

###########



จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 22 เม.ย. 55 06:04:22





 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 3 พฤษภาคม 2555 11:50:03 น.
Counter : 1438 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๖) เรื่องของคำพูด

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๖)

เรื่องของคำพูด

วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ มีธุระ ที่ธนาคารทหารไทย สาขาศรีย่าน ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนนครชัยศรี ใกล้แยกร่วมจิต ซึ่งอยู่ห่างจากแยกสวนรื่นหลังบ้านเราที่สวนอ้อยไปเพียง เลยแยกไฟแดงเดียว เท่านั้น แต่ขณะที่ออกจากบ้านเป็นเวลาใกล้เที่ยง แดดจัดมาก ไม่อยากเดินให้เปลืองแรง จึงไปที่คิวรถมอร์เตอร์ไซค์ คันแรกที่มารับเป็นรถสูงกว่าปกตินิดหน่อย และมีเหล็กด้านท้ายให้เกาะโด่งขึ้นมา

เราเห็นแล้วก็นึกถึงว่าครั้งหนึ่งเคยขึ้นรถแบบนี้แล้ว พอยกขาจะคล่อมอาน ก็ไม่พ้นหน้าแข้งฟาดกับเหล็กจับที่โด่งขึ้นมานั้นจนเป็นแผลถลอก แต่ทำใจแข็งลองอีกที คือขึ้นไปยืนบนที่วางเท้าด้านซ้าย แล้วก็ตวัดขาขวาคล่อมอานหลังคนขับขี่ ผลก็คือตะคริวกินต้นขาปวดจี๊ดจนต้องร้องบอกพลขับให้แล่นเบา ๆ หน่อย แล้วก็ทนมาจนถึงที่หมาย คือที่ทำการไปรษณีย์ดุสิต ที่อยู่ไม่ไกลจากจุดหมายที่เราจะไปวันนี้ ขาลงที่หน้าไปรษณีย์ แกใจดีจอดให้ชิดทางเท้า ค่อยหย่อนตัวลงจากอานได้ง่ายหน่อย แต่ก็ไม่วายเป็นตะคริวอีกจนได้ จึงจำมาจนถึงวันนี้

คราวนี้จึงขออภัยพลขับคันนั้น บอกว่าขอรถที่อานเตี้ย ๆ หน่อยเพราะขึ้นไม่ไหว โชเฟอร์ก็ใจดี บอกให้คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์แบบผู้หญิงมารับแทน เราก็ขอบคุณทั้งสองคน

วันนั้นเป็นวันอะไรไม่ทราบ คนแน่นเต็มธนาคาร ดูด้วยตาคะเนว่ามีคนรอคิวประมาณ ๓๐ ราย เราไม่อยากยืนรอ และเรื่องของเรามันจิ๊บจ๊อยเสียเหลือเกิน คือการเอาเงินปันผลอันน้อยนิด เข้าสมุดบัญชีออมทรัพท์ที่ใช้รับเงินบำนาญ ซึ่งทำเมื่อไรก็ได้ จึงลงบันไดมาซื้อเย็นตาโฟกลับไปกินที่บ้านดีกว่า

เราเดินกลับมาถึงคิวรถมอร์เตอร์ไซค์ ปากตรอกวัดแคสามเสน ซึ่งอยู่ใกล้กัน ก็เจอมอเตอร์ไซค์ก้นโด่งเข้าอีก จึงขอร้องเช่นเดียวกับขามาว่า ขอคันอื่นเถิดแล้วก็ชี้แจงความจำเป็นให้ทราบ โชเฟอร์ท่านหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นหัวหน้ากลุ่มก็ได้ตอบว่า

“โอ๊ย...ลุงไปคันนี้ไม่ได้ คันอื่นก็ไปไม่ได้เหมือนกันน่ะแหละ”

เราจึงต้องขอโทษ และขอบคุณในความมีน้ำใจของเขา แล้วก็ก้มหน้าก้มตาเดินเลาะทางเท้า ด้านที่มีร่มเงาของต้นไม้กลับบ้านอย่างไม่รีบร้อน แต่ก็เมื่อยน่องและบั้นเอวมากพอสมควร

เราหวนไปนึกถึง ข้อความเห็นของเพื่อนในพันทิปท่านหนึ่ง ที่ยกเอาพุทธพจน์เกี่ยวกับคำพูด มาวางหลายบรรทัด เราก็จำไม่ได้หมด แต่สรุปแล้วมีความว่า

“การพูดจานั้น แม้จะพูดความจริง แต่ถ้าพูดแล้วไม่มีประโยชน์ ก็อย่าพูดจะดีกว่า”

เราจึงนึกถึงคำพูดของโชเฟอร์มอร์เตอร์ไซค์คนหลัง ที่ฟังแล้วอยากจะบอกว่า คุณจะไม่อยู่จนแก่บ้างเลยหรือไง แต่จิตที่ฝึกแล้วทำให้พูดเพียงขอโทษและขอบคุณคำแนะนำนั้น

เราถือปฏิบัติมานานมากแล้ว ว่าจะต้องไปทำบุญที่วัดใดก็ได้ และหาโอกาสทำทานทุกวันอาทิตย์ และรักษาศีลห้า ตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น แม้จะไม่ได้ครบทุกสัปดาห์ แต่ก็มากกว่าปีละ ๔๐ ครั้ง เราเห็นว่า ศีลข้อสี่นั้น ปฏิบัติยากที่สุด เพราะท่านห้ามว่า

ไม่พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดเสียดสี และพูดเพ้อเจ้อ

เราต้องระวังเรื่องพูดเพ้อเจ้อ ด้วยการเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่พบหาเพื่อนฝูง แม้แต่ทางโทรศัพท์ เพราะคุยกับเพื่อนอดที่จะเพ้อเจ้อไม่ได้

แต่ท่านก็สอนต่อไปอีกว่า เมื่อจะพูด ต้องพูดความจริง พูดไพเราะอ่อนหวาน พูดสมานไมตรี และพูดให้มีประโยชน์

เราจำได้ติดใจ และพยายามทำตามเสมอ จนแม้กระทั่งเมื่อเข้ามาพูดหรือเขียน ในอินเตอร์เนต หรือเวปพันทิปนี้.

##########


จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 12 เม.ย. 55 05:36:13





 

Create Date : 18 เมษายน 2555    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2555 13:37:11 น.
Counter : 1416 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๕) วรรณกรรมลอกเลียน

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๕)

วรรณกรรมลอกเลียน

ในสมัยนี้นักเขียนมีมากมาย ยิ่งกว่าดอกเห็ด และงานเขียนไม่ว่าจะเป็นประเภมใด สามารถพิมพ์ออกมาขายได้คล่องกว่าสมัย สามสิบปีก่อน อย่างมากมาย โดยสำนักพิมพ์ที่เพิ่มขึ้น ตามปริมาณของนักเขียน

แต่ก็มีข่าวคราวของการลอกเลียน ดัดแปลง เรื่องของผู้อื่น เอามาเป็นของตนเอง มากขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งลอกบางตอน บางประโยค หรือทั้งเรื่องเลยก็มี

เราเองนั้นก็เขียนหนังสือหากินมานาน และส่วนใหญ่ก็ลอกมาจากหนังสือโบราณแทบทั้งนั้น

อย่างเรื่องสามก๊กฉบับอะไรต่อมิอะไรทั้งหมด เรื่องขุนโจรแห่งเขาเนียซัวเปาะ เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ฯลฯ ก็ลอกมาจาก สามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เรื่องจุยฮือซ้องกั๋ง เรื่องเปาเล่งถูกงอั้น และเรื่องอื่น ๆ ที่มีผู้แปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทยไว้ ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น

เรื่องประเภทคุ้ยวรรณคดี ก็ลอกเอามาจาก พระอภัยมณี และ ขุนช้างขุนแผน อันโด่งดัง ของท่านสุนทรภู่ และนักกวีผู้ยิ่งใหญ่ของไทยเรามาแต่โบราณเหมือนกัน

เรื่องเกี่ยวกับประวัติของบุคคลที่น่าสนใจ ทั้งในด้านการทหารและการเมือง ในบันทึกของคนเดินเท้า ก็คัดลอกเอามาจากหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ ของท่านเจ้าของเรื่องบ้าง ของท่านผู้อื่นบ้าง เอามาปะติดปะต่อกันเข้า

เรื่องที่เป็นคดีอาชญากรรมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนปัจจุบัน ก็ลอกเอามาจากข่าวของหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนมาทั้งดุ้นเลย

แล้วยังมีบทกวีที่เด่น ๆ เป็นคติสอนใจ ก็ลอกเอามาแปะให้อ่านกัน เป็นแบบอย่างของการเขียนโคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ที่ดีมีคุณค่าน่ายึดถือ ทั้งคำและความเหล่านั้น

ดูเหมือนจะมีแต่เพียงเรื่องสั้นเท่านั้น ที่ส่วนใหญ่เขียนจากประสบการณ์ของตนเอง หรือของเพื่อน หรือของคนรู้จัก เอามาดัดแปลงให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งส่วนมากก็ไม่ใช่เรื่องสั้นที่ดีสักเท่าไร

โดยเฉพาะเรื่องสั้นหรรษา ที่มักจะเป็นมุกหรือไคลแม็กซ์ที่ซ้ำกันไปซ้ำกันมา ทั้งเรื่องไทย เรื่องฝรั่ง เรื่องจีน เรื่องแขก จนไม่สามารถจะบอกได้ว่า ใครลอกใครกันแน่

เราเคยอ่านเรื่องขำขันในหนังสือชื่อดังของต่างประเทศในภาษาไทย ฉบับ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ พบเรื่องหนึ่งมีเนื้อความว่า

ผู้กองต้องการใช้โทรศัพท์หยอดเหรียญ แต่ไม่มีเหรียญ พอดีเหลือบไปเห็นพลทหารกำลังก้มหน้าก้มตาถูพื้นอยู่ จึงตรงเข้าไปถามว่า
“ พลทหาร มีเหรียญหยอดโทรศัพท์บ้างไหม “

“ มีอยู่แล้วพรรคพวก “ พลทหารตอบ

ผู้กองจ้องหน้าเอาเรื่อง แล้วพูดว่า

“ ใครสอนให้พูดกับนายทหารแบบนี้ พูดใหม่ซิ พลทหารมีเหรียญหยอดโทรศัพท์ไหม “

“ ไม่มีครับ “ พลทหารตอบหนักแน่น.

และอีกเรื่องหนึ่ง มีความว่า

เพื่อนคนหนึ่งเปิดหนังสือพิมพ์ แล้วเห็นชื่อตัวเองปรากฏอยู่ในหน้าไว้อาลัยผู้ตาย จึงรีบโทรฯมาหาโทนี่ทันที

“ นายเห็นชื่อฉันในหน้าไว้อาลัยเช้านี้หรือเปล่า “

“ เห็นสิ “ โทนี่ตอบ “ ว่าแต่ว่า นายโทรฯมาจากนรกใช่ไหม “

ทั้งสองเรื่องนี้ผู้เขียนเป็นฝรั่งทั้งคู่ และมีภูมิลำเนาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งสองคน

เรารู้สึกว่าได้เคยอ่านเรื่องทั้งสองนี้ มาแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อน จึงลองค้นหาในหนังสือ เก่า ๆ ดู ก็พบว่าเป็นความจริง ทั้งสองเรื่อง คือ

จะเอาอะไรแน่

ว่าที่ร้อยตรีหมาด ๆ ในเครื่องแบบนายหนึ่ง กำลังยืนค้นหาเศษเหรียญในกระเป๋า อยู่หน้าตู้โทรศัพท์สาธารณะ ที่ป้ายรถเมล์ย่านสถานีรถ บ.ข.ส. อย่างขะมักเขม้น พอดีกับพลทหารในชุดฝึกคนหนึ่ง ก็เดินกรุบกรับมาถึง ผู้หมวดใหม่ของเราก็เลยกวักมือเรียก

“ นี่…เธอ มีเศษเหรียญบ้างไหม ขอฉันแลกโทรศัพท์บ้างสิ “

พลทหารผู้นั้นยิ้มให้ พลางล้วงประเป๋ากางเกง

“ คิดว่ามี รอเดี๋ยวนะครับ “

ร้อยตรีใหม่ผู้นั้นรู้สึกฉุนโกรธเป็นอันมาก ที่พลทหารได้พูดกับเขา ด้วยกิริยา สบาย ๆ ไม่แสดงความมีวินัยของทหาร จึงว่าต่อไปว่า

“ นี่…เธอ..เธอเป็นใคร และฉันเป็นใคร ให้มันรู้เสียบ้าง เอาใหม่…มีเศษเหรียญให้ฉันแลกบ้างหรือเปล่า “

พลทหารใหม่นายนั้นตกกะใจ รีบชักมือออกจากกระเป๋ากางเกง ชิดเท้าโดยแรงจนส้นเท้ากระทบกันดังโป๊ก พร้อมกับวันทยาหัตถ์อย่างเข้มแข็ง พลางตอบเสียงลั่นถนน จนได้ยินไปถึงใน บ.ข.ส.

“ ไม่มี….ครับ…..! “

เรื่องนี้ผู้เขียนชื่อ “พจนารถ” จากวารสารกองพลทหารม้าที่ ๑ ฉบับ กันยายน ๒๕๓๙ ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ

ถึงคราวจะซวย

กระทาชาย นายบุญส่ง ผู้ซึ่งเป็นนักนิยมหมอดูขนาดขึ้นสมองคนหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร ที่มีใครว่าไม่มีวันจะแตกเหมือนไซ่ง่อน พนมเปญ หรือเวียงจันทน์นี้ เขาได้รับการทำนายทายทัก จากอาจารย์โหราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงติดอันดับท็อปเท็นท่านหนึ่งว่า จะเจอเคราะห์หามยามร้ายขนาดหนัก อาจจะถึงชีวิตในวันในพรุ่ง จึงแอบเก็บเนื้อเก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้าน โดยไม่พยายามที่จะทำอะไร ให้เป็นการเสี่ยงอันตรายด้วยประการทั้งปวง และไม่ยอมพบหน้าค่าตากับผู้ใดทั้งสิ้น แม้แต่เจ้าหนี้ที่น่านับถือทุกคน ประมาณซักสี่ซ้าห้าวันหลังจากนั้น ในตอนเช้าตรู่เขาก็ได้พานพบข่าวหนังสือพิมพ์เช้า ฉบับที่ฮิตที่สุดในหมู่ผู้อ่านระดับชาวบ้าน ซึ่งออกวางขายตั้งแต่บ่ายเมื่อวาน ลงข่าวอย่างชัดเจนว่า ได้มีการฌาปนกิจศพตัวเขาเอง ที่วัดตรีทศเทพ เมื่อวานนี้ เวลา ๑๗.๐๐ น.

ด้วยความตื่นตระหนกในหัวอกหัวใจ เขาจึงได้ตาลีตาเหลือกหมุนโทรศัพท์ไปหา บำรุงศักดิ์ เพื่อนรักเพื่อนเกลอที่อยู่ไกลถึงเขาชะโงก เพื่อบอกเรื่องที่แสนจะประหลาดนี้ เป็นคนแรก

“ ไอ้ส่งน่ะเหรอ “ เสียงอ่อนระโหยโรยแรงกรอกมาตามสาย

“ ใช่….ตายเสียแล้วว่ะ อั๊วไปเผามาก๊ะมือเมื่อวานนี้เอง……อ้าว ตายห่ะ….นั่นแกเองน่ะรึ เป็นไงบ้างเพื่อน โทรมาจากสวรรค์หรือนรกล่ะเนี่ยะ…….”

เรื่องนี้ผู้เขียนใช้ชื่อ “ จอจาน “ จากนิตยสารทหารสื่อสาร กันยายน – ตุลาคม ๒๕๑๘

น่าแปลกอย่างยิ่ง ที่เรื่องทั้งสองมาซ้ำกันได้ โดยห่างกันถึง ๘ ปี กับ ๒๙ ปี ไม่น่าเชื่อว่าฝรั่งในสหรัฐอเมริกา ได้อ่านเรื่องนี้แล้วลอกเอาไปเขียน ลงในนิตยสารเป็นภาษาอังกฤษ แล้วกลับมาแปลเป็นไทยลงใน วารสารฉบับนี้

แล้วถ้าไม่ใช่อย่างนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร

#############

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 7 เม.ย. 55 05:38:27





 

Create Date : 17 เมษายน 2555    
Last Update : 17 เมษายน 2555 8:57:15 น.
Counter : 1053 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.