Group Blog
 
All Blogs
 

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๔) ขนมครกที่ราชประสงค์

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๔)

ขนมครกที่ราชประสงค์

เมื่อเราได้อ่านเรื่องชุด เงาอดีต ตอน ขนมฮิโรชิมา ของเพื่อนนักเขียนหนุ่มน้อยของเรา ซึ่งพยายามผันตนเองจากการเขียนเรื่อง ตื่นเต้นหวาดเสียว สยองขวัญ หรือเพ้อฝันแบบ ที่คนดี ๆ คิดไม่ถึง มาเป็นเรื่องของอดีต เมื่อครั้งยังเยาว์วัย แล้วเราก็อยาก จะขัดคอว่า เราไม่ชอบกินขนม แต่บังเอิญหวนนึกถึงเรื่องของเรา กับขนมที่เคยกิน แล้วก็ได้ข้อคิดมาเล่าไว้นานแล้ว

โดยปกติเราไม่ชอบกินขนม แต่ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เราไปเยี่ยมคนไข้ผ่าตัดตา ที่โรงพยาบาลตำรวจ สี่แยกราชประสงค์ ในสมัยที่ยังไม่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองยุคปัจจุบัน แต่ยังเยี่ยมไม่ได้เพราะคนไข้อยู่ในห้องพักฟื้นหลังผ่าตัด

เราจึงไปอ่านหนังสือในสวนลุมพินีอยู่พักหนึ่ง ก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน จึงย้อนมาหาของกินที่ย่านสี่แยกราชประสงค์ ที่ยาวเหยียดไปจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เราซื้อขนมครกใส่กล่องโฟมหนึ่งกล่องแล้วก็หิ้วไปหาเครื่องดื่ม ซึ่งตั้งเป็นซุ้มอยู่ไม่ไกลนัก เขาขายน้ำชากาแฟ และเครื่องดื่มแช่เย็นทั้งขวดและกระป๋อง แทบจะทุกยี่ห้อ เราสั่งเบียร์กระป๋องหนึ่งและน้ำแข็งแห้งแก้วหนึ่ง นั่งลงบนม้ากลมหน้าซุ้ม เพื่อจัดการกับอาหารกลางวันมื้อนั้น

ทันใดสายตาก็เหลือบไปเห็นแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่ง เขียนตัวหนังสือด้วยปากกาลูกลื่น ลายมือสวยเป็นระเบียบเรียบร้อย ดีกว่านักเรียนในยุคปัจจุบันมาก ตัวอักษรโตพอที่คนสวมแว่นสายตาอย่างเราจะอ่านออกได้สบาย มันเป็นคำคมที่น่าสนใจมากสำหรับเรา

เมื่อเรากินขนมครกหมดไปครึ่งกล่อง และเบียร์พร่องไปครึ่งกระป๋องแล้ว เราจึงขออนุญาตเจ้าของซุ้มซึ่งเป็นหญิงสาว คัดลอกข้อความเหล่านั้น เพื่อจะเอามาเผยแพร่ในกระทู้ ของเรา ซึ่งเธอก็อนุญาตโดยไม่อิดเอื้อน

เราติดใจอยู่หลายบททีเดียว เช่น

*จงเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยังมีชีวิต ป่วยการคิดเซ่นไหว้เมื่อตายแล้ว

* ภัยธรรมชาติอาจหนีได้ กรรมที่ตนทำไว้นั้นหนียาก

* จงทำความถูกต้อง อย่าทำเพราะความถูกใจ

* คนหวังพึ่งโชคชะตา เป็นคนปัญญาอ่อน

* หวังได้ทรัพย์จากการพนัน เป็นคนเพ้อฝันอย่างสิ้นคิด

เราจดไปกินขนมครกและดื่มเบียร์ไปจนหมดสิ้นทั้งสามอย่าง จึงชำระเงินและลุกขึ้นเดินออกจากซุ้ม โดยไม่ลืมที่จะขอบคุณเจ้าของสาวน่ารักผู้นั้น และคิดในใจว่าคงจะได้มีโอกาสแวะเวียนมาอุดหนุนอีก แม้ราคาจะแพงกว่าร้านหน้าบ้านของเรา หลายเปอร์เซ็นต์ก็ตาม

ระหว่างที่เดินข้ามสะพานลอย กลับไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเยี่ยมคนไข้ซึ่งป่านนี้คงจะออกจากห้องพักฟื้นแล้ว ก็สวนกับชายชราผู้หนึ่ง ซึ่งมีหน้าตาและเครื่องแต่งกายเป็นคนชนบท ร้อยเปอร์เซ็นต์ แววตาของแกแห้งแล้งหม่นหมอง เหมือนกับที่เห็นทั่วไปในโรงพยาบาลเมื่อเช้านี้ แกบอกกับเราเบา ๆ ว่า

“ ลุง...........ขอตังกินข้าวหน่อยนะ “

ความจริงดูลักษณะทั่วไปแล้ว แกน่าจะมีอายุมากกว่าเราหลายปี แต่เอาเถอะถึงจะเรียกลุงก็ไม่ว่าอะไร เราเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงด้วยความเคยชิน แม้จะยังข้องใจคำคมข้อสุดท้ายที่คัดมาเมื่อกี้ว่า

* คนดีพอกินเหล้าลงท้อง ก็กลายเป็นคนเลว แต่ยังไม่เคยเห็นคนเลว กินเหล้าแล้วเป็นคนดีเลย

เราไม่อยากจะเชื่อแฮะ.

############

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 1 เม.ย. 55 09:37:40





 

Create Date : 15 เมษายน 2555    
Last Update : 15 เมษายน 2555 5:05:40 น.
Counter : 1216 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๓) รำลึกถึงนาย

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๓)

รำลึกถึงนาย

ในชีวิตรับราชการของเรา เป็นเวลากว่าสามสิบปี จนถึงเกษียณอายุนั้น เรามีผู้บังคับบัญชาในระดับเจ้ากรม ซึ่งเป็นหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสารถึง ๑๓ ท่าน แต่ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ๙ ท่าน ซึ่งทุกท่านก็ย่อมจะมีพระคุณต่อเรามากบ้างน้อยบ้าง และเรายังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ

ท่านแรก มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง เดิมท่านเป็นจเรทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๓ แล้วมาเปลี่ยนเป็นเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ และย้ายออกไปจากเหล่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ในขณะที่เราเพิ่งจะเป็นนักเรียนนายสิบได้ไม่นาน เวลาที่ฝึกอยู่กลางสนามฟุตบอล ก็ได้แต่เห็นท่านขี่จักรยานไปรอบ ๆ กรม ครั้งหนึ่งเราอยู่ในแถวฝึกช่วงเช้าตั้งแต่ตีห้า ถูกทำโทษให้วิ่งรอบสนามฟุตบอล จนถึงแปดนาฬิกา เคารพธงชาติ ผู้ฝึกสั่งให้แถวหยุด เจ้าหัวแถวไม่ได้ยินคงตั้งหน้าตั้งตาวิ่งเรื่อยไป ผู้ฝึกเลยปล่อยให้วิ่งจนกระทั่ง ท่านเจ้ากรมขี่จักรยานผ่านมา ทางหน้ากองบังคับการกรม จึงได้หยุดแล้วเดินไปโรงเลี้ยง แต่ยังไม่ทันที่จะจำหน้าได้ ท่านก็ย้ายไปเสียแล้ว แต่นักเรียนนายสิบก็ได้ไปตั้งแถว ในพิธีรับส่งหน้าที่กับเขาด้วย

ท่านเกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๐๓ ถึงแก่กรรม ๕ มีนาคม ๒๕๑๓ อายุประมาณ ๗๐ ปี

เจ้ากรมท่านที่สอง ท่านเป็นสมาชิกของคณะรัฐประหาร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นเจ้ากรมตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านก็คงไม่เห็นหน้าเราหรอก เพราะส่วนใหญ่ท่านจะไปทำงาน ทางกรมพละศึกษา สุดท้ายท่านดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพลังงานทหาร ยศ พลโท และพ้นจากตำแหน่งเจ้ากรมการทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๕๐๓

ท่านเกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๑๖ ถึงแก่กรรม ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘ อายุประมาณ ๗๒ ปี

ท่านที่สาม เป็นเจ้ากรม พ.ศ.๒๕๐๓ เราเป็นเพียงนายสิบปลายแถว ไม่มีวันจะได้ใกล้ชิดท่านสักครั้ง จนท่านเกษียณไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ แต่จำได้ว่าครั้งหนึ่งที่เราไปดูภาพยนตร์ ที่โรงภาพยนตร์ศรีเยาวราชเมื่อครั้งที่ยังรุ่งเรือง เราตีตั๋วชั้นต่ำสุดราคาเพียง ๔.๕๐ บาท ส่วนท่านดูชั้นถัดไปราคาแค่ ๖.๐๐ บาทเท่านั้น ทำให้เราเลื่อมใสว่าท่านเป็นผู้ที่รักสันโดษและสมถะจริง ๆ

ท่านเป็นผู้ริเริ่มกำหนดวันทหารสื่อสาร คือ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๖๗ ท่านถึงแก่กรรม ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ อายุประมาณ ๗๐ ปี

ท่านที่สี่คือ เป็นเจ้ากรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ ท่านดำรงตำแหน่งอยู่นานมาก จนเราได้ผ่านการสอบเลื่อนฐานะเป็นนายทหารสัญญาบัตร

เราได้เข้าใกล้ท่าน ก็ต่อเมื่อถึงเวลาพิจารณา เลื่อนบำเหน็จประจำปี ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้าง จะมีการประชุมลับเฉพาะหัวหน้าหน่วยขึ้นตรง และเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น เราซึ่งขณะนั้นได้เลื่อนเป็นนายทหารแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่คอยรับคำสั่งอยู่หน้าห้องประชุม แล้วแต่ว่าจะให้โทรศัพท์ไปเรียกใคร หรือติดต่อกับใคร นอกนั้นก็ต้องบริการเครื่องดื่ม โดยรับจากเจ้าหน้าที่ แล้วเอาไปส่งให้ทุกคนที่เข้าประชุม และคอยปิดเปิดห้องประชุม รับผิดชอบดูแลเอกสารการประชุม ที่วางอยู่บนโต๊ะไม่ให้รั่วไหลได้ แม้แต่ในตะกร้าทิ้งผงก็จะต้องตรวจดู และเก็บแผ่นกระดาษที่ใช้ลงคะแนนลับ ในเวลาพิจารณาแข่งขัน เอาไปทำลายเสีย กระดานดำที่ใช้บันทึกคะแนนหรือข้อความต่าง ๆ ต้องลบให้สะอาดไม่ให้มีร่องรอยเหลือพอที่จะอ่านได้

เวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน เราก็ต้องออกจากห้องเป็นคนสุดท้าย ปิดประตูล็อคกุญแจแล้วจึงเข้าไปในห้องอาหาร ซึ่งเป็นการจัดเลี้ยง และมีโต๊ะเก้าอี้พอดีกับผู้ร่วมประชุม เราจึงไม่มีที่นั่งแม้แต่ทางท้าย ๆ ท่านผู้ใหญ่ที่นั่งโต๊ะเดียวกับเจ้ากรม ก็มีเมตตาเรียกให้นั่งร่วมโต๊ะด้วย ซึ่งทำให้เรากินอะไรไม่ค่อยลง แต่ได้ประโยชน์เป็นอันมาก ที่ได้รับฟังความคิดเห็น และการปรึกษาราชการต่าง ๆ ในระหว่างที่ท่านผู้ใหญ่คุยกัน ทำให้ได้รู้เรื่องที่หลายคนไม่มีโอกาสได้รู้ อย่างมากมายตลอดเวลาหลายวัน ที่เปิดการประชุมนั้น และเป็นเวลาหลายปีที่เราต้องปฏิบัติหน้าที่นั้น เราจึงได้เก็บเอามาใช้ในการปฏิบัติงานต่อมา จนได้ผลอย่างที่ไม่มีหลักสูตรใดจะสอนได้เลย

สุดท้ายท่านได้เลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพบก ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ยศ พลโท เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๐ ถึงแก่กรรม ๓ เมษายน ๒๕๒๓ อายุประมาณ ๖๓ ปี

เมื่อเรามีอาวุโสสูงขึ้นจนถึงระดับนายพัน เราก็ได้พบกับเจ้ากรมท่านที่ห้า ท่านเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก อยู่นานที่สุดถึง ๑๒ ปี แต่มาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๕๑๙ ก็เกษียณอายุราชการ และพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์ พร้อมกันในปีนี้

ท่านมีอายุยืนยาวมาก เมื่อท่านดำเนินการรวบรวมผลงาน ที่ท่านได้ทำไว้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ เราก็ได้ช่วยท่านในการตรวจปรู๊ฟ และจัดรูปเล่มด้วย

ท่านถึงแก่กรรม ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ อายุประมาณ ๙๔ ปี

ต่อมาท่านที่หก เป็นเจ้ากรม พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านเลื่อนจากตำแหน่ง ผู้ช่วยเจ้ากรม โดยไม่ได้เป็นรองเจ้ากรม และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกด้วย เราได้รับใช้ท่านด้วยการรวบรวม ระเบียบข้อบังคับที่ใช้กับกำลังพลของสถานี และปรับปรุงแก้ไขผังการจัดรวมทั้งอัตราเงินเดือน ของเจ้าหน้าที่ ททบ.ใหม่ ในฐานะ รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล ททบ.ด้วย

ท่านเกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๑ ถึงแก่กรรม ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๑ อายุประมาณ ๙๐ ปี

ต่อจากนั้นคือท่านที่เจ็ด เป็นเจ้ากรม พ.ศ.๒๕๒๐ ท่านดำรงตำแหน่งเสนาธิการกรมการทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๑ และเป็น รองเจ้ากรม พ.ศ.๒๕๑๙

ท่านรู้จักเราดีเพราะได้เรียกเข้าไปซักถาม รายละเอียดข้อเท็จจริงของเรื่องต่าง ๆ ที่กองกำลังพลเสนอผ่านท่าน แทนท่านหัวหน้ากอง ที่มีอาวุโสสูงกว่าท่าน เวลาท่านไปประชุมกับหน่วยอื่นของกองทัพบก ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเรา ท่านก็จะเอาเราติดไปเป็นเจ้าหน้าที่คอยถือแฟ้ม ระหว่างนั่งรถไปกลับ หรือบางทีก็รับประทานอาหารกลางวัน ท่านก็จะคุยเรื่องต่าง ๆ เหมือนกับว่าเราเป็นนายทหารคนสนิท ซึ่งทำให้เราได้ความรู้กว้างขวางออกไป เช่นเดียวกับท่านที่ได้เล่ามาตอนต้นแล้ว

ส่วนเจ้ากรมท่านที่สิบ เป็นเจ้ากรม พ.ศ.๒๕๒๙ ต่อจาก ท่านเคยเป็นอาจารย์ ในหลักสูตรต่าง ๆ มาก่อน ท่านจะชื่นชมกับผู้ที่เรียนเก่งสอบได้ที่ดี เมื่อครั้งที่เราเป็นนักเรียนของท่านนั้น ท่านเห็นเราเป็นพวกท้ายแถว ดีแต่ท่องตำรา ไม่มีความคิดอ่านอะไร ข้อสอบแบบอัตนัย ที่ให้แสดงความรู้ความคิดด้วยการบรรยาย ก็ทำไม่ค่อยได้ ดีแต่กาข้อสอบแบบปรนัย ซึ่งลิงมันก็ทำได้ ถ้ามันขีดถูก เราก็เจียมเนื้อเจียมตัว ผ่านมาได้สองสามหลักสูตร

เมื่อท่านเป็นเจ้ากรม ท่านก็เพ่งเล็งเราว่ามีอะไรดี คำสั่งย้ายจากหน่วยเก่า เข้าอัตราพันโทในหน่วยใหม่แล้ว นายก็ยังขอตัวช่วยราชการที่เดิมอีก ท่านจึงออกคำสั่งให้เราพ้นจากช่วยราชการมาอยู่หน่วยใหม่ ซึ่งไม่ค่อยมีงานทำ พอดีท่านดำริจะก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ ของท่านผู้สถาปนาเหล่าเมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อน ท่านเห็นเราไม่ค่อยมีงานทำ จึงให้เราเข้าไปทำงานในด้านธุรการของคณะกรรมการดำเนินการ และการติดต่อกับทายาท ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระอนุสาวรีย์ ตั้งแต่ต้นจนเป็นผลสำเร็จ ในระยะเวลา ๓ ปี ท่านจึงยอมรับว่า ถึงเราจะเรียนไม่เก่ง แต่ก็มีความสามารถในด้านอื่น ที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรใด ๆ เลย

น่าเสียดายที่ท่านเกษียณอายุราชการเพียงสามปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒ ยังไม่ทันจะได้พักผ่อนให้หายเหนื่อย จากการตรากตรำทำงานอย่างเคร่งเครียด และเคร่งครัด ก็ต้องถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจ โดยกระทันหัน เมื่อ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๕ อายุประมาณ ๖๓ ปี

แต่เราก็ได้มีโอกาสสนองคุณท่าน ด้วยการช่วยทำหนังสืออนุสรณ์ สำหรับแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง

อีกท่านหนึ่งคือท่านทีสิบสาม ท่านเคยเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงชองเรามาแล้ว เมื่อท่านเป็น หัวหน้ากองกำลังพล ท่านเป็นผู้ที่รักลูกน้องมาก สนับสนุนส่งเสริมทุกวิถีทาง ให้มีความเจริญก้าวหน้าในทางราชการ ท่านเป็นผู้ที่มีฐานะ ทางการเงินดีมาก และเป็นบุรุษเจ้าสำราญ ท่านจึงใช้เงินเพื่อบำรุงความสุขให้แก่หน่วย และผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าท่านจะย้ายไปอยู่หน่วยใดก็ตาม ลูกน้องทุกคนจะรักและเทิดทูน ในน้ำใจของท่านทั่วกัน

สำหรับเราที่พอจะจดจำได้ก็คือ เมื่อครั้งที่เราเป็นพันตรีอาวุโสอยู่ ๙ ปี ท่านได้หาตำแหน่งพันโทให้เราถึงสามครั้ง และทุกครั้งเราก็จำเป็นต้องปฏิเสธ เพราะไม่เหมาะกับความรู้ความสามารถของเราบ้าง ไม่เหมาะกับสถานะทางครอบครัวของเราบ้าง ข้อสำคัญก็คือ เราไม่สนใจที่จะเป็นใหญ่เป็นโตกว่านี้ เรามีความสุขกับงานที่ทำด้วยความชำนาญ ลูกน้องที่ให้ความนับถือ เพื่อนที่คุ้นเคยรู้ใจกันดี และผู้บังคับบัญชาที่ไว้วางใจ เราไม่อยากเปลี่ยนงาน เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน แม้จะเป็นการก้าวหน้ากว่าเดิมก็ตาม ซึ่งท่านก็พยายามเข้าใจเรา ทั้ง ๆ ที่ท่านอาจจะคิดว่าเราค่อนข้างจะโง่ไปหน่อยก็ได้

ในที่สุดท่านได้เป็น เจ้ากรมการทหารสื่อสาร และหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสาร ซึ่ง ข้าราชการกองกำลังพล กรมการทหารสื่อสาร ทุกคนทุกรุ่นมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ท่านจะได้เลื่อนยศต่อไปตามลำดับจนถึง พลเอก ท่านก็ไม่เคยลืมลูกน้องของท่าน จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ และถึงแก่กรรมเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ อายุประมาณ ๗๓ ปี

ท่านเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสาร ทั้ง ๙ ท่านนี้ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเรา ตลอดระยะเวลาที่รับราชการ แม้ท่านจะได้จากเราไป ตามกฏเกณฑ์ของทางราชการ และอายุขัยแล้วก็ตาม เราก็ยังคงความเคารพนับถือไม่เสื่อมคลาย.

############

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 28 มี.ค. 55 08:53:22





 

Create Date : 14 เมษายน 2555    
Last Update : 14 เมษายน 2555 9:28:01 น.
Counter : 1201 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๒) คนมีเวร

คนมีเวร

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๒)

คนมีเวร

ในทางธรรมะนั้น มีพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร หรือ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราก็จำไม่ค่อยแม่นนัก แต่ในทางทหารจำได้แม่นว่า เวรย่อมระงับได้ด้วยการอยู่เวร เพราะทหารกับการอยู่เวรนั้น นับว่าเป็นของคู่กันเหมือนช้อนกับส้อม มาตั้งแต่โบราณกาล ใครที่แต่งเครื่องแบบทหารแล้วไม่เคยเข้าเวรยาม น่าจะเป็นทหารที่แปลกประหลาดมาก นอกจากทหารหญิงบางคนเท่านั้น

ส่วนตัวเราเองนั้นคุยได้ว่าผ่านมาแล้วทุกประเภท นับแต่เข้ามาอาศัยร่มไม้ชายคาอยู่ในกรมการทหารสื่อสาร ค่ายสะพานแดง ตอนแรกเป็นนักเรียนนายสิบก็เริ่มเป็นเวรโรงนอน ซึ่งมีหน้าที่เข้าเวรตั้งแต่เป่าแตรนอนสามทุ่ม ผลัดละ ๒ ชั่วโมง ไปจนถึงตีห้าเป่าแตรปลุก คอยตรวจตราดูแลเพื่อนนักเรียนให้เข้านอนโดยเรียบร้อย สวมเสื้อคอกลม นุ่งกางเกงขาสั้น มีผ้าห่มปิดหน้าอกทุกคน ไม่ว่าอากาศจะร้อนแค่ไหน จะมานอนเปลือยกาย หรือนุ่งผ้าขาวม้าตัวเดียวไม่ได้เด็ดขาด และต้องคอยดูแลให้ผู้ที่ขออนุญาตไปทำธุระส่วนตัวทั้งเบาและหนัก ให้กลับมานอนในเวลาอันสมควร ไม่ใช่แอบซุกเครื่องแต่งตัวแบบพลเรือนปีนรั้วออกไปเที่ยวข้างนอก หรือหนีกลับบ้านไปเลย

เวรอีกประเภทหนึ่งของนักเรียนนายสิบก็คือ เวรห้องอาวุธ มีหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าห้องเก็บอาวุธหัวโรง ซึ่งมีแต่ปืนเล็กยาวและดาบปลายปืนสำหรับฝึกเท่านั้น ไม่มีลูกกระสุน เวรแต่งเครื่องแบบปกติคือเสื้อคอกลมสีขาวตุ่น กางเกงขาสั้นสีกากี สวมรองเท้าไอ้โอ๊บหัวงอน คาดเข็มขัดหนังสีน้ำตาลห้อยดาบปลายปืนที่เอว และต้องยืนประจำอยู่ภายในวงกลม ที่เขียนเอาไว้บนพื้น ถ้าล้ำออกมานอกเส้น หรือยืนไม่เรียบร้อยในท่าตามระเบียบพัก หรือพูดคุยเล่นหยอกล้อกับเพื่อน เป็นต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน

เป็นต้นว่าวิดพื้นหรือดันพื้น กระโดดสลับเข่า เดินเป็ด คือเอามือเท้าเอวทั้งสองข้าง ย่อตัวลงครึ่งหนึ่ง แล้วก็เดินไปตามที่สั่ง หรือให้เดินช้าง คือเอามือจับข้อเท้าทั้งสองข้าง แล้วเดินไปเป็นวงกลม หรืออาจจะมีอย่างอื่นแล้วแต่ปัญญาของสิบเวร จะคิดให้มันแผลงออกไปได้อีก

จบจากการเรียนมาเป็นนายสิบแล้ว ก็ต้องไปเข้าเสมียนเวรประจำกองบัญชาการกรมการทหารสื่อสาร ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง พอเป็นสิบเอกแล้วก็เลื่อนเป็นผู้ช่วยนายทหารเวรกรม บังคับบัญชาเสมียนเวรและพลทหารที่เป็นพลแตรเดี่ยวอีกที

สมัยโน้นกองบัญชาการเก่า ด้านหน้ามีระเบียงยาวตลอด ตรงกลางตั้งโต๊ะสูงขนาดใหญ่ เหมือนบัลลังก์ของศาล เป็นที่นั่งของเวร คอยรับเอกสารจากภายนอก รับโทรศัพท์จากภายนอก แล้วก็ติดต่อทางโทรศัพท์ภายใน ตามคนที่จะต้องพูดโทรศัพท์ ในกองฝ่ายอำนวยการมารับสาย เพราะขณะนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ประจำแทบทุกโต๊ะ หรือมีโทรศัพท์ส่วนตัวพกพา เหมือนสมัยนี้

ด้านขวามือเป็นห้องประชุมใหญ่ ด้านซ้ายมือเป็นห้องทำงานของ เสนาธิการกรม ผู้ช่วยเจ้ากรม รองเจ้ากรม และเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เรียงกันไปจนสุด ห้องสุดท้ายของท่าน เจ้ากรมมีตู้เก็บธงชัยเฉลิมพล ของกองพันทหารสื่อสาร ต้องมีทหารถือปืนติดดาบเฝ้าหน้าห้อง ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเหมือนกัน

พลแตรเดี่ยวจะมีหน้าที่ เคาะระฆังแผ่นเหล็กที่แขวนอยู่ริมระเบียงบอกเวลาทุกชั่วโมง และเป่าแตรตามเวลา เริ่มตั้งแต่แตรปลุกลงฝึก รับประทานอาหารเช้า เคารพธงชาติ เข้าทำงาน รับประทานอาหารกลางวัน เลิกงาน รับประทานอาหารเย็น ชักธงชาติลง แตรสวดมนต์และเคารพเวลาทหารร้องเพลงสรรญเสริญพระบารมี สุดท้ายแตรนอน และถ้ามีเหตุฉุกเฉินเช่นไฟไหม้ ก็เป่าแตรเหตุสำคัญ ซึ่งไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้จะมีใครเป่าได้บ้าง

ผู้มีเวรทั้งสามคนนี้ จะต้องแบ่งเวลากันนอน ซึ่งมีเตียงสนามเล็ก ๆ กางเรียงไว้ริมระเบียง ส่วนเครื่องนอนต้องหอบหิ้วเอามาเอง ส่วนใหญ่ผู้ช่วยซึ่งอาวุโสสูงกว่าเพื่อนก็จะนอนก่อน แล้วเสมียนเวรก็นอน สุดท้ายพลแตรเดี่ยวก็ฟุบหลับอยู่บนโต๊ะ ใกล้กับโทรศัพท์โดยไม่มีใครปลุกใคร ยามหน้าห้องเจ้ากรมก็กอดปืนยืนหลับ ถ้านายทหารเวรซึ่งนอนที่กองรักษาการณ์ เดินมาตรวจเจอตอนดึก ก็อาจจะต้องลุกขึ้นวิ่งให้ตาสว่างกันบ้าง

เมื่อมีอาวุโสมากขึ้น หน้าที่เวรยามก็มีความรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับ ถ้าเป็นนายสิบอาวุโสเข้าผู้ช่วยผู้บังคับกองรักษาการณ์ ถ้าเป็นจ่านายสิบเข้าเวรผู้บังคับกองรักษาการณ์ ต้องประจำอยู่ที่กองรักษาการณ์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องดูแลพลทหารยาม ซึ่งสมัยนั้นมีผลัดละ ๖ คน คือยามช่องทาง ๑ ด้านถนนพระรามที่ ๕ ช่องทาง ๒ และช่องทางสโมสร ด้านถนนทหาร ช่องทาง ๓ ด้านตรอกวัดประชาระบือธรรม ยามประจำคลังอาวุธซึ่งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ และได้รื้อเพื่อขยายกองบัญชาการใหม่ไปแล้ว ยามประจำที่ควบคุม และยามประจำธงชัยเฉลิมพล รวม ๔ ผลัด ให้เปลี่ยนกันตามเวลา ผลัดละสองชั่วโมง

ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามนั้น เป็นผู้ที่มีกรรมจริง ๆ สมดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และจะต้องเป็นผู้รับกรรมนั้น อย่างจริงแท้แน่นอน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้เลย

ในตลอดชีวิตของการอยู่เวรของเรา แทบจะไม่เคยได้พบเห็นคำชมเชย สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามเลย อาจจะมีบ้างสัก ๒ - ๓ เรื่อง ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะได้รับแต่คำตำหนิ หรือคาดโทษ หรือถูกลงโทษอยู่บ่อยมาก

เมื่อสมัยที่เราปฏิบัติหน้าที่นายทหารเวรใหม่ ๆ ในตอนเช้าตรู่วันหนึ่งซึ่งเป็นเวลาก่อนเจ็ดนาฬิกา เราได้รับโทรศัพท์จากนายทหารคนสนิทของท่านเจ้ากรม เรียกให้เราไปพบที่บ้าน เราก็ดีใจว่าท่านจะเรียกไปใช้ให้ทำอะไร จึงรีบเดินจากหน้ากองบัญชาการเก่า ไปถึงหลังสโมสรอย่างเร่งรีบจนเหงื่อท่วมตัว เพราะเราขี่รถจักรยานสองล้อไม่เป็น เขามีไว้ให้เป็นพาหนะของนายทหารเวร เราก็เอาไปพิงไว้เฉย ๆ

เมื่อไปถึงบ้านท่านเจ้ากรม ยังไม่ทันจะย่างก้าวเข้าไปในเขตรั้วบ้าน ก็ได้ยินเสียงตะโกนออกมาว่า สายป่านนี้แล้วทำไมยังไม่ปิดไฟที่เสาไฟฟ้า มัวไปทำอะไรอยู่ คงจะไม่ใช่ประโยคอย่างนี้ทีเดียว แต่ก็ได้ความทำนองนี้แหละ เราตกใจยืนงงแทบจะลืมทำความเคารพ เพราะยังไม่เห็นตัวท่านเลย ต้องตั้งสติอยู่ชั่วอึดใจ จึงเห็นว่าท่านยืนอยู่บนระเบียงหน้าบ้าน ท่านคงเห็นเรายืนเฉยเป็นสากกระเบือ ก็เลยไล่ให้ไปจัดการเสีย

เราก็รีบทำความเคารพรับคำเสียงสนั่น แล้วก็หันหลังจ้ำกลับไปทางเก่า ให้พ้นหูพ้นตาท่านโดยเร็วที่สุด เดินไปจนถึงทางแยกช่องทาง ๒ แล้ว เราก็ยังนึกไม่ออกว่าเราจะปิดไฟฟ้าตามเสาในกรมทั้งหมดได้อย่างไร เพราะเราไม่รู้ว่าสวิทช์นั้นมันอยู่ที่ไหน เรารู้แต่เพียงว่าอีกสักสิบนาที ถ้าไฟฟ้ายังไม่ดับ เราคงจะดับแน่

ด้วยความรู้ที่ว่า กิจการสาธารณูปโภคของกรมการทหารสื่อสาร อยู่ในความดูแลของกองบริการ เราก็ตั้งใจจะไปถามที่กองร้อยโยธา ซึ่งรับผิดชอบในด้านนี้

แต่ขาก็เดินไม่ทันใจเลย พอผ่านหน้าโรงพิมพ์ทหารสื่อสารเจอเพื่อน ซึ่งเป็นคนขยันมาทำงานแต่เช้าทุกวัน เขาทักทายก็เลยปรับทุกข์ให้เขาฟัง เขาก็หัวเราะบอกว่าสวิทช์อันนั้นมันอยู่ที่เสาไฟฟ้าหน้าโรงพิมพ์นี้เอง มีคัทเอาท์ตัวหนึ่งและมีป้ายแปะไว้ว่าเปิดเวลา ๑๘๓๐ ปิดเวลา ๐๗๐๐ หรืออะไรทำนองนี้แหละ จำไม่ได้แน่เพราะมันนานมาแล้ว ก็รีบยกคัทเอาท์ตัวนั้นขึ้น ไฟฟ้าตามเสารอบกรมมันก็ดับหมด

เราถอนใจด้วยความโล่งอก แล้วก็เลยลืมถามเพื่อนว่า มันมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร และเป็นหน้าที่ของใครที่จะเปิดและปิดคัทเอาท์ตัวนี้

แล้วทำไมเขาไม่มาปิดคัทเอาท์ตามเวลา จนเกือบทำให้นายทหารเวรต้องมารับกรรม โดยไม่รู้อิโหน่อิ เหน่ เสียแล้ว.

#################

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 25 มี.ค. 55 07:57:47





 

Create Date : 13 เมษายน 2555    
Last Update : 13 เมษายน 2555 8:41:24 น.
Counter : 1215 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๑) อดีตของสะพานแดง

อดีตของสะพานแดง

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๑)

อดีตของสะพานแดง

คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพตอนเหนือ คือเหนือสนามหลวงขึ้นไป จนถึงบางซื่อ ซึ่งเป็นอาณาเขตด้านเหนือสุดของจังหวัดพระนครหรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี คงจะรู้จัก คลองเปรมประชากร หรืออย่างน้อยก็คงได้ยินชื่อมาบ้าง ชื่อนี้มีมานานแล้วเพราะเป็นคลองดั้งเดิมของกรุงเทพ

เริ่มต้นแยกจากคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้างทำเนียบรัฐบาล ใกล้กับสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ พุ่งตรงไปทางทิศเหนือ ขนานกับถนนพระรามที่ ๕ ผ่านวัด เบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ไปเลียบสวนสัตว์ดุสิต หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า เขาดิน เลยโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยและสำนักงานเขตดุสิต ลอดสะพานเกษะโกมล ซึ่งมีบ้านของท่านผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายยุคสมัย เลยไปผ่านมณฑลทหารบกที่ ๑ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นมณฑลทหารบกที่ ๑๑ ติดกับกองพันทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ แล้วก็ตัดคลองบางกระบือถึง สะพานแดง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานบางซื่อไปแล้ว (ปัจจุบันเปลี่ยนกลับมาเป็นสะพานแดงอย่างเก่า) จากนั้นก็ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลียบถนน เตชะวนิชไปลอดสะพานสูงทะลุสามแยกที่จะเลี้ยวไป สถานีรถไฟบางซื่อทางขวา แยกคลองประปาทางซ้าย ตรงดิ่งจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ออกไปกลางทุ่ง ลิ่วไปผ่านรังสิต ปทุมธานี แต่ไปสิ้นสุดที่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยพายเรือไปตามลำคลองนี้ซักที

ตรงสะพาน ที่ถนนทหารจรดกับถนนประดิพัทธ์ จ่อด้วยถนนพระราม ที่ ๕ ชนกับถนนเตชะวนิช เป็นสี่แยกขึ้นมานี้ มีชื่อเรียกตามชื่อสะพานเก่าว่า สี่แยกสะพานแดง แม้ว่าชื่อสะพานจะเปลี่ยนเป็นสะพานบางซื่อไปตั้งนานแล้ว คนเก่าพื้นเพดั้งเดิมแถวนั้น ก็ยังคงเรียกสี่แยกนี้ว่า สี่แยกสะพานแดงอยู่อย่างเดิม ซึ่งทำให้เด็กรุ่นหลังงงงวยไปตาม ๆ กัน จนกระทั่งหลังปีการท่องเที่ยวไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ กรุงเทพมหานครได้จัดทำป้ายสีเขียวสูงเด่น สำหรับบอกชื่อเส้นทางและแยกที่สำคัญ จึงได้รื้อฟื้นชื่อสี่แยกสะพานแดงขึ้นมาใช้ใหม่ ทำให้ทหารสื่อสารชอบใจมาก เพราะเรามักจะเรียก กรมการทหารสื่อสาร อันเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ตรงนี้ว่า ค่ายสะพานแดง ติดปากชินหูกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้แต่กรมสรรพาวุธทหารบก กรมการขนส่งทหารบก และกรมช่างอากาศ ก็คงจะพอใจด้วยเช่นกัน เพราะทั้งหมดนี้ได้ร่วมมือกัน จัดการแข่งขันกีฬาประเพณีสี่สโมสร ซึ่งได้เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า กีฬาสี่มุมสะพานแดง มาตั้งแต่เริ่มแรกเหมือนกัน

ค่ายสะพานแดงที่ว่านี้ ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ เนื่องด้วยกรมยุทธนาธิการหรือกระทรวงกลาโหม ได้จัดตั้งโรงแสงสรรพาวุธขนาดใหญ่ขึ้น โดยได้จัดการซื้อที่ดินตำบลบางซื่อ ตั้งแต่ปากคลองบางซื่อด้านใต้ หลังวัดแก้วฟ้าจุฬามณีไปจนถึงทางรถไฟ เลี้ยวไปตามทางรถไฟ ถึงคลองบางกระบือฝั่งเหนือ จนออกแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ได้สร้างโรงงานผลิตสรรพาวุธเพียงส่วนเดียว ตั้งเป็นกรมช่างแสงทหารบก นอกนั้นก็ได้จัดตั้งกองพาหนะและทหารช่าง เพื่อสนับสนุนโรงงานสรรพาวุธ ทหารช่างที่ว่านั้น ก็คือ กรมทหารช่างที่ ๑ ต้นกำเนิดของทหารสื่อสารนี้เอง

ที่ดินซึ่งกรมยุทธนาธิการได้ซื้อไว้ในครั้งกระนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง กรมอุตสาหกรรมทหาร กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรมสรรพาวุธทหารบก กรมช่างอากาศ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ กรมการขนส่งทหารบก กรมการทหารสื่อสาร กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ โรงเรียนทหารขนส่ง นั่นเอง

และคลองบางกระบือ ก็คือคูแคบ ๆ ที่ผ่านข้างวัดประชาระบือธรรม ซึ่งเดิมก็ชื่อวัดบางกระบือ ไปลอดโรงงานผลิตเบียร์โซดาตราสิงห์ ออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดจันทรสโมสร นั่นแหละ

ทั้งหมดนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของค่ายสะพานแดง ริมฝั่งคลองเปรมประชากร ก่อนที่เราจะเกิด กว่าที่เราจะมาเกี่ยวข้องจนมีความหลังกับสื่อสารสะพานแดงนั้น ก็เป็นเวลาประมาณ พ.ศ.๒๔๙๗ แต่ก่อนหน้านั้น เราก็ได้มาวนเวียนอยู่แถว ๆ เขตทหารที่ตำบลบางซื่อตั้งเกือบสิบปี

เราเข้ามาเป็นลูกจ้างใช้แรงงานของ แผนกที่ ๓ กรมพาหนะทหารบก เยื้องวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ แล้วได้เลื่อนเป็นข้าราชการวิสามัญ กรมเดิมแต่เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการขนส่งทหารบก เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๙๑ ตรงมุมสี่แยกสะพานแดง จนถึง พ.ศ.๒๔๙๗ ปลายปี หลังจากเป็นพลทหารเกณฑ์ ปีที่ ๒ แล้วจึงได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเหล่าทหารสื่อสาร และจบการศึกษาได้ติดยศ สิบโท เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ และได้รับราชการอยู่ที่ค่ายสะพานแดงที่เดียว เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี

กรมการทหารสื่อสาร ที่เรียกว่าค่ายสะพานแดงนี้ กองทัพยกเคยมีนโยบายที่จะให้ย้ายไปอยู่ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก และได้ยกกำลังส่วนล่วงหน้าไปอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ แต่อยู่ที่นั่นมากว่าสิบปี ก็เปลี่ยนนโยบายให้ไปอยู่ที่ อำเภอ กระทุมแบน จังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มย้ายหน่วยแรกจาก เขาชะโงก ไปอยู่ก่อน โดยยกพื้นที่ให้ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เข้าไปตั้งแทน แล้วก็ย้าย กองพันทหารสื่อสาร จากพิ้นที่ใกล้สวนลุมพินี ตามไปโดยให้โรงเรียนเตรียมทหาร เข้าไปอยู่แทน

กองพันทหารสื่อสารสารนี้ ในปัจจุบันได้ขยายเป็น กรมทหารสื่อสารที่ ๑ และมีกองพันทหารสื่อสารที่ ๑๐๑ และ ๑๐๒ เป็นหน่วยกำลังรบ ต่อมาก็ย้ายกองผลิตสิ่งอุปกรณ็สายสื่อสาร จากสะพานแดงไปอยู่ด้วย และขอพระราชทานนามว่า ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒

แต่กรมการทหารสื่อสาร ก็ยังคงตั้งอยู่ที่สะพานแดงตามเดิม จนแน่ใจว่ากองทัพบกเลิกคิดจะย้ายแล้ว จึงสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พำระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประดิษฐานไว้เป็นการถาวร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐

ปัจจุบันนี้ เหล่าทหารสื่อสารก็ได้อาศัยอยู่ที่ค่ายสะพานแดงนี้ มาเป็นเวลาค่อนศตวรรษแล้ว และจะคงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีกองทัพบก คู่กับประเทศไทยตลอดไป.

############



จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 20 มี.ค. 55 07:52:41




 

Create Date : 12 เมษายน 2555    
Last Update : 12 เมษายน 2555 12:09:05 น.
Counter : 2774 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๐) คนรักมนุษย์

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๐)

คนรักมนุษย์

วันนั้นเราตื่นแต่เช้า และออกจากบ้านทั้ง ๆ ที่ยังไม่สว่างดี เพราะเป็นวันอาทิตย์ ที่ตั้งใจจะใส่บาตร และสมาทานศีลห้า ตามที่ได้กำหนดไว้กับตนเอง และพยายามทำมาหลายปีแล้ว ถนนภายในหมู่บ้านมีผู้คนที่ต้องการจะใส่บาตร เดินกันขวักไขว่พอสมควร ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่วันพระ

เราแวะร้านขายข้าวมันไก่ ซื้อใส่ถุงหิ้วไปกล่องหนึ่ง และเข้าร้านเซเว่นซื้อขนมเค้กกับนมกล่อง เป็นของหวาน แล้วก็เดินย้อนกลับเข้ามาคอยพระภิกษุอยู่แถวซอย ๑ มองเข้าไปเห็นมีพระสงฆ์อยู่รูปเดียว มีชาวบ้านล้อมรอบใส่บาตร เราจึงหันไปดูทางปากซอย ก็เห็นมีพระสงฆ์เดินเข้ามาอีกรูปหนึ่ง เมื่อท่านเข้ามาใกล้จึงเห็นว่า เบื้องหลังของท่านมีชายหนุ่มแต่งตัวสกปรก หน้าตาหนวดเครารุงรัง เดินแซงพระขึ้นมายกมือไหว้เรา แต่เราบอกว่า เดี๋ยวใส่บาตรก่อน แล้วก็ยกถุงอาหารคาวหวานขึ้นกล่าวคำถวาย แล้วก็วางถุงอาหารลงในบาตร ท่านก็ให้พรเบา ๆ จบแล้วเราก็สาธุรับพร เมื่อท่านเดินหลีกไปแล้ว เราจึงหันไปหาชายหนุ่มคนนั้น ควักธนบัตรใบละ ๒๐ บาทส่งให้ เขาก็รับไปโดยไม่ได้ขอบคุณเช่นเคย

ความจริงเราไม่ได้เป็นลูกหนี้ ที่จะต้องส่งดอกเบี้ยเงินกู้ให้เขา เหมือนแม่ค้าหลายคนในซอย ที่ต้องส่งดอกเบี้ยให้แขก ที่ขี่มอร์เตอร์ไซค์มารับทุกวัน ชายคนนี้เป็นเพียงบุคคลจรจัดคนหนึ่ง ที่พ่อของเขาเคยอาศัยอยู่ในสวนอ้อย ในฐานะคนจรจัดเหมือนกัน พ่อของเขาอาศัยนอนตามเพิงขายของ ที่เจ้าของเลิกขายในตอนกลางคืน เช้าขึ้นก็ช่วยเข็นรถขนข้าวแกงมาให้แม่ค้าจัดแผงลอย แล้วก็ช่วยล้างชามในตอนกลางวัน พออาศัยได้กินและได้เงินบ้างเล็กน้อย เขากับลูกชายวัยที่ควรจะอยู่ในโรงเรียน ก็อาศัยอยู่ที่สวนอ้อยในสภาพนั้น จนกระทั่งเจ็บป่วย และถึงแกความตายไปอย่างอนาถา ที่โรงพยาบาลฝั่งตรงข้าม กรรมการหมู่บ้านต้องบอกบุญชาวบ้าน ช่วยกันบริจาคเงินทำศพของเขา ที่วัดทางบางกระบือ หลังจากนั้นลูกชายวัยรุ่นของเขาที่เรียกกันว่าไอ้เต่า ก็หายไป

จนโตเป็นหนุ่มเต็มตัวเขาจึงกลับมาเดิน แถวสวนอ้อยเที่ยวแบมือขอเงินชาวบ้าน ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะเขาไม่ค่อยมีสัมมาคารวะ ไม่ค่อยชอบยกมือไหว้ใคร นอกจากเราซึ่งต้องสอนให้เขายกมือไหว้จึงจะให้เงิน เจ้าเต่าไม่ได้มาทุกวันเดี๋ยวก็หายไปเป็นอาทิตย์ เดี๋ยวก็หายไปเป็นเดือน บางคราวก็หัวเกรียนเหมือนถูกกล้อนเรา บางทีก็หนวดเครารุงรัง แต่เสื้อผ้าที่สวมใส่นั้นไม่เคยมีความสะอาดเลย

เรารู้ว่าเขาไม่ใช่คนดี อย่างที่พระท่านเทศน์ว่าควรจะทำบุญด้วย แต่เราเห็นว่า เขาก็ต้องกินข้าวเพื่อรักษาชีวิต ไม่ว่าจะดีหรือเลวอย่างไร เราก็ยังมีส่วนช่วยมนุษย์คนหนึ่ง ให้มีชีวิตอยู่ได้ ในโลกอันแร้นแค้นนี้ โดยไม่หวังว่าจะได้บุญได้คุณอะไรตอบแทนเลย

เราเคยทำทานแบบนี้มาก่อนที่จะถึงเจ้าเต่า เธอเป็นเพื่อนของเรามาตั้งแต่เด็ก ขณะที่เรามาอยู่สวนอ้อยอายุสิบขวบ เธอแก่กว่าเราห้าปี เราคบหากันมาด้วยความสนิทสนมอย่างพี่น้อง จนโตและแก่เฒ่าไปด้วยกัน เราพาตัวเองรอดจากความยากลำบาก ในการครองชีพ จนประสบความสำเร็จในบั้นปลาย แต่พี่คนนี้ผิดพลาดกับชีวิต ตลอดเวลาที่ผ่านมา เดี๋ยวก็หายหน้าไป เดี๋ยวก็กลับมาสวนอ้อย และชีวิตมีแต่แย่ลง ๆ จนสุดท้าย ก็ไม่มีญาติพี่น้องดูแลช่วยเหลือ ปล่อยให้เธอเป็นคนอนาถา แถมยังกลายเป็นคนกึ่งพิการ เดินหลังงองุ้มเมื่อถึงวัย ๘๕ ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นก็กลับมาอยู่ในสวนอ้อยอาศัยนอนหน้าธนาคารเขาก็ไล่ ต้องไปนอนที่ศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทาง และช่วยงานการของชาวบ้านเลี้ยงชีวิต เช่นเดียวกับพ่อเจ้าเต่า

เธอเคยบอกเราว่า อย่าทิ้งพี่นะเพราะพี่ไม่มีใครแล้ว เราก็รับปากว่าเราจะไม่ทอดทิ้งแกอย่างเด็ดขาด ด้วยความรักที่เคยมีต่อกันมาแต่เด็ก เราให้เงินแกไว้ซื้อข้าวกินครั้งละ ๒๐ บาท เป็นเวลาติดต่อกันหลายปี จนกระทั่งวันหนึ่งก็หายไป อีกหลายวันต่อมาจึงทราบว่า เทศกิจได้พาตัวแกขึ้นรถไปสถานสงเคราะห์ที่ไหนก็ไม่ทราบ เราก็เสียดายที่ไม่ได้ทราบข่าวนี้ทันท่วงที จึงไม่มีโอกาสได้ช่วยเหลือแกเท่าที่ควร และเสียใจอยู่จนทุกวันนี้

เราก็รู้ว่าการทำบุญกับผู้ที่มีศีล ย่อมได้บุญมากกว่า ทำบุญกับผู้ไม่มีศีล หรือผู้ที่ประพฤติชั่ว แต่เราเห็นว่าถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยเหมือนกัน เราทำบุญทำทานเท่าที่สามารถจะทำได้ จะได้บุญหรือไม่ได้ จะได้มากหรือน้อย หรือไม่ได้เลย ก็ไม่ทราบ

บางคนที่ได้ดูได้ฟังข่างขอทานผัวเมีย ทะเลาะกันจนขึ้นโรงพัก เพราะแบ่งเงินไม่เท่ากัน หรือข่าวขอทานใจบุญถวายเงินบำรุงวัด หรือที่มีข่าวว่าขอทานบางคนมีรายได้เดือนหนึ่ง มากกว่าข้าราชการระดับสูง แล้วก็เลยเลิกการทำทานเสีย

แต่เราคิดว่าการที่เราได้ช่วยสะสมเงินให้เขา เพียงครั้งละเล็กน้อย ไม่เกินราคาค่าโดยสารรถเมล์ จนเขาเป็นคนร่ำรวยกว่าเราได้ เราก็ควรจะภูมิในมากกว่า

ก็เรารักมนุษย์และสัตว์ร่วมโลก ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่นา.

#################




 

Create Date : 28 มีนาคม 2555    
Last Update : 28 มีนาคม 2555 8:43:14 น.
Counter : 1120 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.