....OUR FAMILY'S JOURNEY....
อุบล ปากเซ วัดพู (สะบายดีจำปาสัก 1)


อุบลฯ พิบูลมังสาหาร
ช่องเม็ก ปากเซ วัดพู

(สะบายดีจำปาสัก 1)


อ่านตอนที่ 2 : คล๊กที่นี่





ก่อนเดินทาง

เราเคยไปเยี่ยมปากเซ หรือลาวใต้มาเมื่อปลายปี 2003 แต่คราวนั้นใช้เวลาสัมผัสกับที่นั่นเพียง 2 วันกับ 1 คืนซึ่งยังไม่ได้ยลแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญในแขวงนี้ในบางที่ เราจึงหวังเสมอว่าถ้ามีโอกาสคงหาทางไปเยี่ยมแขวงจำปาสัก ลาวใต้อีกซักครา

ตอนแรกคิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะไป ปาย หรือปากเซดี แต่มาคิดว่าถ้าไปปายช่วงนี้คงเจอนักท่องเที่ยวมหาศาลเป็นแน่ เลยตัดสินใจว่าจะไปรื้อฟื้นความหลังที่ปากเซดีกว่า ดูซิว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง หลังจากที่เราไม่ได้ไปที่นั่น 5 ปีแล้ว และอีกอย่างอยากไปเติมเต็มกับสถานที่บางแห่งที่เราไม่เคยไป..

การเตรียมการเริ่มจากชวนพรรคพวกที่เป็นขาลุยด้วยกันก่อน เมื่อได้ประชากรสี่คน ก็ถือว่ามีเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจแล้ว ก็เปิดเน็ทหาแหล่งรถเช่าแถวเมืองอุบล คนน่ารัก กันเลย เมื่อได้รถและราคากันเสร็จสรรพ ก็เตรียมเงินจะไปใช้จ่ายกันล่ะ เพราะทั้งหมดที่คิดและตัดสินใจ มันเกิดตอน 15 ธันว่าคม 2008 ซึ่งมีเวลาเหลือเพียงครึ่งเดือน

เราตัดสินใจใช้พาสปอร์ตที่เรามีกันอยู่แล้ว เลยไม่ต้องเตรียมอย่างอื่นมากมายนัก เพียงแต่ว่าวัน เวลา ที่เราจะเข้าลาว มันตรงกับวันหยุด เลยต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากตรงนี้ คือค่าทำงานในวันหยุดของเจ้าหน้าที่.... ส่วนเรื่องที่พัก เราสี่คนหวังไปตายเอาดาบหน้า เพราะตอน 15 ธันวา เช็คทางเน็ทแล้ว ปรากฏว่าพอมี เอาน่าวอล์คอิน ก็ วอล์คอินน่า.






น้ำตกคอนพะเพ็ง






1 มกราคม 2009

เวลา 0130 น. เราขับออกจากขอนแก่นหลังจากที่เราเค้าท์ดาวน์ (count down) และเริ่มศักราชใหม่เรียบร้อยแล้ว ที่ต้องออกเดินทางเร็วขนาดนั้นก็เพราะว่า ด่านรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่มากมาย หลายพันที่คงเป็นอุปสรรคเล็กน้อย เราจึงเผื่อเวลาไว้ เราไปถึงเมืองอุบล ณ ที่ที่เรานัดรถให้มารับหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏ ตอน 0610 น. พอดี ออกมายืดเส้นยืดสายรอรถได้ซักครึ่งชั่วโมง คุณตี๋ก็ขับรถตู้มารับเรา และพาเราเอารถไปจอดทิ้งไว้ที่บ้านแก ก่อนที่เราจะเดินทางสู่ช่องเม็กตอน 0730 น








สะพานข้ามแม่น้ำมูล พิบูลมังสาหาร






สิ่งแรกที่คุณผู้หญิงที่มากับเราอยากทำคือ หาก๋วยจั๊บน้ำใสเมืองอุบลฯทานในตอนเช้า ส่วนผมเองก็นึกถึงซาลาเปาตรงก่อนขึ้นสะพาน เมืองพิบูลฯ ก็เลยขอให้สาระถีเราแวะกันตรงนั้นก่อน หลังจากแวะทำธุระที่ห้องน้ำปั๊ม ปตท. เราก็เข้าสู่ร้านขายซาลาเปาที่ตั้งอยู่ริมสะพาน เราจัดการกักตุนสำหรับการเดินทางส่วนหนึ่ง ส่วนตัวผมเดินไปชมวิวแม่น้ำมูลบนสะพาน พร้อมกับถ่ายภาพมาฝากชาวบล๊อกแก๊งค์ด้วย.... น้ำมูลยามนี้ยังคงมีน้ำเกือบเต็มฝั่ง แม้จะย่างกรายเข้าสู่หน้าแล้งแล้วก็ตาม สีน้ำยังคงขุ่นเหลืองนิดๆ








แม่น้ำมูล







ที่จริงเมืองพิบูลมังสาหาร นอกจากจะมีซาลาเปาอร่อยที่นักท่องเที่ยวที่ผ่านมามักจะบอกกันต่อๆไปแล้ว ยังมีแก่งสะพือที่เรืองนามอีกต่างหาก หน้าที่น้ำลดเช่นช่วงสงกรานต์ที่นี่จะได้รับความนิยมมาก คนขับบอกเราว่าตอนนี้น้ำยังคงท่วมอยู่เลย เราเลยไม่ได้แวะ









นึ่งซาลาเปา






เตรียมเสบียงกรังที่เป็นซาลาเปาใส้ต่างๆของเมืองพิบูลฯเสร็จ ก็ถึงคิวหามื้อเช้าทาน แทนที่จะได้ก๋วยจั๊บน้ำไส แต่กลายเป็นก๋วยจั๊บญวนแทนที่ร้านแม่ราตรี ซึ่งต้องเข้าไปในซอยนิดหนึ่ง คนแถวนั้นรู้จักดี...

ปรุงแปลกๆ แต่ก็หมดชามจนได้ล่ะน่า...

ผู้ชายคนขายบอกเราว่า เส้นก๋วยเตี๋ยวแบบนั้นคนญวนเท่านั้นที่ทำเป็น.








ก๋วยจั๊บ






เราออกเดินทางต่อไปที่ด่านช่องเม็ก ซึ่งคาดการณ์ว่าวันนี้ผู้คนคงเยอะน่าดู รถวิ่งเรียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอ จากนั้นรถก็วิ่งไปทางใต้เขื่อน มองออกไปทางขวามือจะเห็นตัวเขื่อนตั้งตระหง่านอยู่ในช่วงที่รถเราวิ่งข้ามสะพานจะขึ้นเขาสู่ด่านช่องเม็ก








ด่านช่องเม็ก






ด่านช่องเม็กวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเทียบกับวันที่เราเคยมาเมื่อปี 2003 ซึ่งตอนนั้น ทุกอย่างกำลังเร่งพัฒนารวมทั้งถนนด้วย แต่วันนี้ถนนหนทางได้ก่อสร้างแล้วเสร็จหมดแล้ว ยกเว้นตรงด่านที่รถผ่าน ยังคงเป็นหินคลุกปูหน้าอยู่ ส่วนตึกที่ทำการก็สร้างได้สวยงามมาก แต่ฝั่งเพื่อนบ้านเราแม้ถนนหนทางจะดีขึ้น ที่ทำการยังคงเป็นหลังเดิม และยังคิดค่าล่วงเวลาสำหรับการทำงานในวันหยุดเช่นเดิม มากไปกว่านั้นคือนักท่องเที่ยวที่เอารถเข้าไปเอง เช่นกลุ่มเราต้องจ่ายค่าหัวให้บริษัททัวร์ในลาวอีกต่างหาก ใครที่ไม่ยอมจ้างไกด์ลาว ก็จะโดนตรวจเอกสารไป-มาอยู่นั่นแหละ ไกด์บอกเราว่าต้องตรวจเอกสารและการประทับตราในการเข้าเมืองให้ดี ถ้าเขาไม่ได้ประทับ ขากลับจะโดนปรับ สี่พันบาทเชียวนา...









ร้านค้าปลอดภาษีฝั่งลาว






การผ่านแดน ณ จุดผ่านแดนถาวร

จุดผ่านแดนอนุญาตระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามความตกลง ในการข้ามแดนทั้ง 2 ประเทศ คือ ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กับด่านวังเต่า เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก

ด่านปากแซง กิ่ง อ.นาตาล กับด่านปากตะพาน เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน

ระเบียบการข้ามแดน ด่านพรมแดนช่องเม็ก และด่านปากแซง (ไทย-สปป.ลาว)
สำหรับนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ชายแดน จังหวัดอุบลราชธานี สามารถยื่นเรื่องขอทำ บัตรผ่านแดนชั่วคราว ได้ดังนี้

ยื่นเรื่องขอทำ บัตรผ่านแดนชั่วคราว ได้ ณ สถานที่ต่อไปนี้

ที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี (ฝ่ายความมั่นคง) ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี
หรือ ณ ที่ว่าการอำเภอสิรินธร
ด่านพรมแดนช่องเม็ก

เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลาราชการ ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ หากไม่พบเจ้าหน้าที่ ที่ศาลากลางจังหวัด ให้ติดต่อ คุณมงคลชัย พิพัฒน์สิริเมธี โทร. 01-7906254 หรือที่ ที่ว่าการอำเภอสิรินธร โทร. 045-366092
เอกสาร/หลักฐาน
รูปถ่ายขนาด 1 หรือ 2 นิ้ว จำนวน 3 รูป รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นดำ ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน

บัตรประชาชน (ไม่หมดอายุ) พร้อมสำเนา และรับรองสำเนา จำนวน 3 แผ่น ถ้าเป็นบัตรเหลือง ต้องแนบสำเนาบัตรเดิม หรือให้นายทะเบียนท้องที่รับรองรูปถ่ายในบัตรเหลือง

กรณีนำบุตรอายุต่ำกว่า 12 ขวบ ร่วมเดินทางไปด้วย ให้ใช้สูจิบัตรของบุตร พร้อมสำเนา และรับรองสำเนา 2 แผ่น

ค่าธรรมเนียม 30 บาท/เล่ม


หมายเหตุ
ยื่นเรื่องแล้ว สามารถรอรับหนังสือผ่านแดนชั่วคราวได้เลย
พำนักและท่องเที่ยวใน สปป.ลาว ได้ 3 วัน 2 คืน ในพื้นที่แขวงจำปาสักทั้งแขวง และแขวงสาละวัน (เฉพาะเมืองสาละวัน, คอนพะเพ็ง, วาปี, เซโดน, เลางาม และตุ้มลาน) ต้องเข้าและออกที่ด่านเดิมเท่านั้น (ด่านช่องเม็ก และด่านปากแซง) โดยยื่นหนังสือผ่านแดน, หนังสือผ่านแดนชั่วคราว ที่ด่าน ตม. ที่ประสงค์จะข้ามเลย

สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ชายแดน จ.อุบลราชธานี (อำเภอเขมราฐ, โพธิ์ไทร, โขงเจียม, สิรินธร, บุณฑริก, นาจะหลวย, ศรีเมืองใหม่ และน้ำยืน) สามารถยื่นเรื่องขอ หนังสือผ่านแดน ได้ที่ ที่ว่าการอำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่

หนังสือผ่านแดนนี้ จังหวัดอุบลราชธานี จะออกให้เฉพาะบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ที่มีภูมิลำเนา อยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
สำหรับหนังสือผ่านแดนที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 1 ปี ใช้หลักฐาน/เอกสาร และระเบียบการ เช่นเดียวกันกับหนังสือผ่านแดนชั่วคราว ยกเว้นจะมีค่าธรรมเนียม 200 บาท
ข้าราชการที่จะเดินทางผ่านแดน ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด


ระเบียบปฏิบัติ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ไปท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ เสียค่าธรรมเนียมผ่านแดนลาว คนละ 125 บาท
ติดต่อธุรกิจการค้า เสียค่าธรรมเนียมผ่านแดนลาว คนละ 220 บาท
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เสียค่าพาหนะที่พรมแดนไทย คันละ 500 บาท วันราชการไม่เสียค่าพาหนะและค่าล่วงเวลา

ค่าประกันภัยรถขณะที่ใช้อยู่ใน สปป.ลาว ประมาณคันละ 600-700 บาท
ค่าผ่านสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ข้ามแม่น้ำโขงจากเมืองเก่าโพนทอง เข้าสู่เมืองปากเซ ประมาณคันละ 20 บาท ต่อคัน

เมื่อเดินทางไปถึงเมืองปากเซ ให้นำเอกสารไปแจ้งเข้าเมืองที่แผนกจราจร และที่ทำการแขวงจำปาสัก เมื่อเดินทางกลับให้นำเอกสารชุดเดิม ไปแจ้งขออนุญาตออกนอกเมืองที่แผนกจราจร มิฉะนั้นต้องเสียค่าปรับ ตั้งแต่ 100-500 บาท

ข้อปฏิบัติเมื่อเดินทางกลับมาถึงพรมแดนช่องเม็ก นำเอกสารผ่านแดนที่มีใบสลักหลังของแผนกจราจร และที่ทำการอำเภอ ยื่นให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร (ลาว) เพื่อขอคืนเอกสารการเดินทาง

นำเอกสารการเดินทาง มายื่นที่เจ้าหน้าที่พรมแดนช่องเม็ก และด่านศุลกากรไทย เพื่อตรวจสอบหลักฐานและจำนวนคน

นำเอกสารเดินทาง มายื่นต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง



ระเบียบการการนำยานพาหนะออกต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ด่านชายแดนช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี

ในการจะนำยานพาหนะออกนอกราชอาณาจักร กรุณาเตรียมเอกสาร พร้อมคำร้องขอนำยานพาหนะออกนอกราชอาณาจักร ยื่นเรื่องกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ดังนี้

กรณีเจ้าของรถเป็นบุคคลธรรมดาและไปเที่ยวเอง ยื่นคำร้องขอนำยานพาหนะออกไปต่างประเทศ ตามแบบกรมศุลกากร พร้อมหลักฐาน ดังนี้

สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (ตัวจริง)
สำเนาเอกสาร หน้าผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำนวน 3 ชุด
สำเนาหน้ารายการเสียภาษี จำนวน 3 ชุด
สำเนาบัตรประชาชนผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำนวน 3 ชุด

กรณีเจ้าของรถเป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่ได้ไปเที่ยวเอง ยื่นคำร้องขอนำยานพาหนะออกไปต่างประเทศ ตามแบบกรมศุลกากร พร้อมหลักฐาน ดังนี้

สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (ตัวจริง)
ใบมอบอำนาจตัวจริง ติดอากรแสตม์ 10 บาท
สำเนาใบมอบอำนาจ จำนวน 2 ชุด
สำเนาเอกสาร หน้าผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำนวน 3 ชุด
สำเนาหน้ารายการเสียภาษี จำนวน 3 ชุด
สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ จำนวน 3 ชุด
สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 3 ชุด

กรณีเจ้าของรถเป็นนิติบุคคล ยื่นคำร้องขอนำยานพาหนะออกต่างประเทศ พร้อมด้วย

สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (ตัวจริง)
ใบมอบอำนาจตัวจริง ติดอากรแสตม์ 10 บาท
สำเนาใบมอบอำนาจ จำนวน 2 ชุด
สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล จำนวน 3 ชุด
สำเนาเอกสาร หน้าผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำนวน 3 ชุด
สำเนาหน้ารายการเสียภาษี จำนวน 3 ชุด
สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ (ตามหนังสือรับรองนิติบุคคล) จำนวน 3 ชุด
สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 3 ชุด

หมายเหตุ
ยื่นคำร้องและนำรถไปตรวจสอบที่ด่านศุลกากรช่องเม็ก เวลา 08.00-18.00 น. ทุกวัน โดยไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ

เมื่อนำรถเข้าไป สปป.ลาว ต้องจ่ายค่าทำประกันภัย ค่านำรถเข้าลาว ฯลฯ ประมาณ 400 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ด่านพรมแดนช่องเม็ก โทร.045-485031
ด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร โทร.045-444013

ที่มา : //www.moc.go.th









ร้านสินค้าปลอดภาษีดาวเรือง ฝั่งวังเตา






ความจริงเช้าวันที่ 1 มกราคมที่เราไปคนเยอะมาก เราต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆดังนี้

- ค่านำรถเข้า 1000 บาท
- ค่าจ่ายให้บริษัททัวร์ลาวคนละ 400 บาท
- ประกันรถฝั่งลาว 1200 บาท
- ค่าไก๊ด์ลาว วันละ 500 บาท ( 3 วัน 1500 บาท)

กว่าจะเรียบร้อยได้ก็เกือบเที่ยงวัน ที่พักเรายังไม่ได้ติดต่อเลยต้องรีบเข้าปากเซ โดยฝากท้องไว้กับร้านอาหารซักที่แถวๆแม่น้ำโขง ระยะทางจากด่านช่องเม็กถึงเมืองปากเซ ก็ราวๆ 40 กม... วันนั้นเราได้ไกด์ชายหนุ่ม ชื่ออ๊อด เป็นคนสวรรณเขต (ภาคกลางลาว) กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปากเซ คณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 หรือปีสุดท้าย

อ๊อดบอกเราว่าการจัดการศึกษาในลาวแบ่งออกเป็น ชั้นประถม 1-5 มัธยม 1-6 และมหาวิทยาลัย 1-5 คือปี 1 จะเป็นชั้นเตรียมมหาวิทยาลัย คือเรียนทุกวิชา นอกจากนั้นยังมี วิทยาลัยการอาชีวะ วิทยาลัยสร้างครู ที่สอนถึงระดับ อนุปริญญา เป็นต้น





มารู้จักประเทศลาวหน่อยดีไหม

ประเทศลาว หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People's Democratic Republic) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพรมแดนติดจีนและพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก

ลาวแบ่งเขตรการปกครองออกเป็น 18 แขวง มีเมืองหลวงอยู่ที่นครเวียงจันท์ ติดกับจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาราชการ

ประชากร มีหลายเชื้อชาติ ประชากรนับถือศาสนาพุทธ และถือเป็นศาสนาประจำชาติตามระบอบใหม่ แบ่งประชากรเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

ลาวลุ่ม กลุ่มคนเชื้อชาติลาว ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาหลัก
ลาวเทิง เช่นชาวเผ่าบรู
ลาวสูง เช่นชาวเผ่าม้ง

ประเทศลาวมีประชากร 6,068,117 คน (ปี 2548) ประกอบด้วยลาวเทิง ลาวสูง และลาวลุ่ม แยกออกได้ประมาณ 68 ชนเผ่า...



.. สองข้างถนนไปสู่เมืองปากเซ ณ วันนี้เปลี่ยนไปมากทีเดียวบ้านเรือนที่นี่ถูกสร้างด้วยอิฐ ปูน แทนบ้านไม้เก่าๆที่เราเคยเห็นเมื่อครั้งปี 2003 ผู้คนดูจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น รถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์มีให้เห็นอยู่ทั่วไป สิ่งที่ตามคือปั๊มน้ำมัน ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย

ไกด์อ๊อดบอกเราว่า คนมีเงินที่นี่เขาจะสร้างบ้านด้วยอิฐ ปูน ซึ่งผิดกับที่เมืองไทย คนรวยมักจะสร้างบ้านด้วยไม้ เราก็เลยบอกอ๊อดว่า คนเราก็แบบนี้แหละสูงสุดกลับสู่สามัญ เมื่อก่อนเราอยู่กับธรรมชาติดีๆ เราก็ไปทำลายมันลง นานเข้าพอมันหมดไปจากเรา เราก็โหยหาที่จะได้มันมาอีก เมืองลาวที่ยังอุดมไปด้วยธรรมชาติ ป่าไม้ น้ำตก และวัฒนธรรม ก็ควรหวงแหนมันไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่มันจะหายไป ก่อนที่ทุกอย่างจะเป็นแบบเมืองไทย แม้จะหาไม้สร้างบ้านก็ยังหาแทบไม่ได้ จนต้องอาศัย อิฐ ปูนสร้างแทน...สุดท้ายก็ต้องทำลายภูเขาลงเป็นลูกๆอย่างทุกวันนี้








สะพานมิตรภาพ ลาว-ญี่ปุ่น สร้างเสร็จปี 2000







ก่อนเข้าสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุน เราเห็นทางแยกไปทางใต้ บอกระยะทางไว้ว่า 57 กม. ไปสิ้นสุดที่ปราสาทวัดพู ไกด์บอกเราว่าเขาพยามจะสร้างเส้นทางนี้ให้เสร็จทันการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ซึ่งจะมีขึ้นปลายปี 2009 โดยที่ปากเซก็เป็นเมืองหนึ่งที่ได้ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดแข่งขัน ร่วมกับเวียงจันท์ และสวรรณเขต

ใกล้เมืองปากเซเข้าไป เราจะเห็นภูเขาอยู่ด้านขวามือ มียอดลดหลั่นกันหลายสิบยอด สามยอดในจำนวนนั้นมีนิทานชาวบ้านเล่ากันต่อมาว่า..

"เมื่อก่อนดินแดนแถบนี้ มีหนุ่มสามคนเป็นเพื่อนรักกันมาก รักกันปานจะกลืนกินว่างั้นเถอะ ด้วยความรักที่มีต่อกันอย่างล้นเหลือ เขาสัญญากันว่า ในอนาคตถ้าใครมีลูกผู้ชาย ก็จะให้เป็นเพื่อนรักกัน ถ้าใครมีลูกเป็นหญิง ก็จะให้แต่งงานกัน...

อยู่ต่อมาทั้งสามก็มีลูกเป็นชาย 2 คน คือบาเจียง ที่อาศัยอยู่กับชนเผ่าแถวอุทยานบาเจียง อีกคนชื่อบาสัก อยู่ที่นครจำปาสัก ส่วนอีกคนชื่อมะโรง เป็นหญิงอยู่ที่ปากเซ....

ครั้นต่อมาได้วัยที่จะออกเรือน พ่อแม่จึงให้ทำการสู่ขอ เรืองของเรื่องมันไม่ง่ายอย่างงั้นสิ เพราะมันคือนิทานพื้นบ้าน มะโรงน่ะรักใคร่ชอบพออยู่กับบาเจียง แต่แม่เธออยากให้แต่งกับบาสักซึ่งร่ำรวย เรื่องชักจะไม่เป็นไปตามคาด แม่เลยออกอุบายว่าใครมาสู่ขอก่อนก็จะยกให้คนนั้น (แต่แอบไปบอกบาสักไว้แล้ว...)

ถึงวันก็แห่ขันหมากมาสู่ขอ แต่บาเจียงนั้นยากจน บอกว่าที่แม่ยายว่า ถ้าจะแต่งก้ได้ แต่ต้องไปรวบรวมเงินทองจากชนเผ่าแถบนั้นก่อน....เลยกลับไปที่เผ่าเตรียมทรัพย์สินเงินทอง

น้องมะโรงเห็นท่าไม่ได้การ สงสัยโดนแม่บังคับให้แต่งกับบาสักแน่ เพราะยังไงๆ บาสักก็พร้อม และมาสู่ขอก่อนแน่นอน เธอจึงตัดสินใจหนีไปอยู่ยอดเขาหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรียกว่ายอดเขามะโรง ส่วนบาสักเมื่อยกขันหมากมาถึงไม่เจอสาวเจ้า ก็เคียดแค้นเป็นล้นพ้น หาว่าบ้านนี้ไม่ทำตามสัญญา และเข้าใจว่าสาวมะโรงหนีไปกับบาเจียง เลยสาบแช่งไม่ให้ได้แต่งงานกัน

พอเดินทางกลับจำปาสักโดยทางเรือ เกิดพายุใหญ่มาเรือจม บาสักเสียชีวิต... บาเจียงเมื่อรวบรวมเงินได้ ก็มาสู่ขอ แต่ไม่เจอมะโรง เข้าใจผิดว่ามะโรงไม่รัก กลับถึงชนเผ่าเลยเสียใจมากจนอกแตกตาย....ทราบถึงน้องมะโรงพอรู้ว่าบาเจียงตาย ก็ตรอมใจตายตาม...จึงมีเขามะโรง บาเจียง และบาสัก (อยู่ที่จำปาสัก)" โรเมโอ และจูเลี๊ยตภาคสามเศร้าก็เป็นดังนี้แล




ก่อนขึ้นสะพานเราต้องจ่ายค่าผ่านทาง และการใช้สะพาน 10,000 กีป ซึ่งวันนั้นอัตราการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 242 กีปต่อ 1 บาท สะพานมิตรภาพ ลาว-ญี่ปุ่นได้สร้างเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ของลาวต่อจากสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคาย









โรงแรมแสงอรุณ






เราข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่มีความยาว 1300 เมตร เสร็จก็เลี้ยวขวาทันทีเพื่อติดต่อห้องพักที่โรงแรม แกรนด์จำปาสัก (Grand Champasak Hotel) สิ่งที่เราคาดไว้ตั้งแต่ตอนที่เห็นคนเข้ามามากมายที่ด่านช่องเม็กก็เกิดขึ้น คือวันที่ 1 มกราคม โรงแรมเต็ม แต่วันที่ 2 มกราคมพอว่าง เราเลยจองเอาไว้ก่อน คิดว่าถ้าเต็มหมด ก็นอนกันในรถล่ะ

แห่งที่สามที่เราไปติดต่อคือโรงแรมแสงอรุณ หลังจากที่ไปอีกที่หนึ่งแล้วเขาบอกว่าเต็ม ไม่รวมที่อ๊อดโทรไปติดต่อ ณ ที่ต่างๆ.... ที่แสงอรุณเขาบอกว่ามี เราไม่ดูห้องกันเลยล่ะ เพราะราคาประมาณนั้นน่าจะพอพักได้

พอมีที่พักสิ่งที่ตามมาคือท้องเราเริ่มร้องแล้ว ตายล่ะนี่มันบ่ายโมงกว่าแล้วนี่ อ๊อดและคนขับพาเราไปที่เรือนแพในแม่น้ำโขงติดกับปากน้ำเซโดน








ร้านอาหารเรือนแพ






คำว่า "เซ" คนลาวตั้งแต่เมืองสวรรณเขตลงมาทางใต้ใช้เรียกแทนคำว่าแม่น้ำ ส่วนทางเหนือจะเรียกว่าแม่น้ำตรงๆ เพราะฉะนั้นคำว่า "เซโดน" ก็คือ "แม่น้ำโดน" นั่นเอง

เมืองปากเซ จึงเป็นชื่อเรียกของแม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน คือ เซโดน กับ แม่โขง จึงเรียกว่า "ปากเซ" หรือ "ปากแม่น้ำ" นั่นเอง เมืองปากเซเป็นเมืองใหม่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1905 เพื่อคานอำนาจกับเมืองจำปาสัก ซึ่งมีประวัติยาวนาน

ริมโขงและเซโดนทางการกำลังสร้างแนวฟุตบาทและที่พักผ่อนหย่อนใจให้ชาวเมือง เหมือนหลายๆที่ในเมืองไทย ปากเซตอนนี้พัฒนาไปมาก ผิดกับเมื่อปี 2003 ที่เรามา ถนนหลายสายติดตั้งไปจราจร เมื่อก่อนนั้นมีเพียงที่สะพานเหล็ก หรือสะพานวัดใจเท่านั้น ถนนสายนอกที่ลงจากสะพาน มีการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องขึ้นมากมายรวมทั้งโรงแรมแสงอรุณที่เราจะพักคืนนี้ด้วย ถนนสะอาดขึ้น อ๊อดบอกว่าอาจเป็นเพราะงานกีฬาแห่งชาติเพิ่งเสร็จไป และงานใหญ่อย่างกีฬาซีเกมส์กำลังจะตามมาด้วย








เบียร์ลาว







มื้อเที่ยงที่เต็มไปด้วยปลาแม่น้ำโขง ส่วนสตรีก็อยากลองส้มตำลาวดู ซึ่งก็ผิดหวัง เพราะคนละรสกับที่ภาคอีสานเรามีเลยทีเดียว พวกเราเห็นเมนูต้มยำปลาก็รีบสั่งเลย ปรากฏว่าเป็นต้มยำที่ใส่พริกแกงด้วย อันที่จริงถ้าจะทานต้มยำน้ำไสที่นัน ต้องบอกว่า "ต้มส้ม" อันนั้นล่ะใกล้เคียงที่สุด แต่ที่สุดของการมาเมืองลาว ก็ต้องเบียร์ลาวด้วยถึงจะครบสูตร ราคาเบียร์ลาวที่ปากเซไม่ได้แพงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้โรงงานเบียร์ลาวมาเปิดที่ปากเซอีกหนึ่งโรง ซึ่งตั้งอยู่ทางออกไปน้ำตกคอนพะเพ็ง ห่างจากปากเซไม่ไกลนัก.

เราทำเวลาในการทานมื้อเที่ยงได้ดีเป็นพิเศษก่อนที่จะเดินทางต่อไปปราสาทวัดพู เมืองจำปาสัก ซึ่งห่างออกไปทางใต้อีก ประมาณ 45 กม.








ถนนเข้าสู่ท่าข้ามแพไปวัดพู จะเห็นเขาเป็นรูปนมสาว






นครจำปาสัก
ดั้งเดิมเป็นเมืองของชาวจาม เรียกว่า "จำปานคร" มีกษัตริย์ปกครองมาหลายสมัย เคยตกเป็นอาณานิคมของสยามในบางช่วง และตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อไทยเสียดินแดนลาวฝั่งซ้ายทั้งหมดให้ฝรั่งเศส และต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ นครจำปาสักและหลวงพระบางให้ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2446

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2486 ไทยได้เรียกร้องเอาดินแดนจากฝรั่งเศสกลับคืนมา ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนบางส่วนที่อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับไทย คือ ส่วนหนึ่งของอาณาจักรหลวงพระบางกับนครจำปาสัก และมณฑลพระตะบอง แต่ 4 ปีให้หลัง ไทยจำเป็นต้องยกดินแดนส่วนที่ได้ กลับคืนให้กับฝรั่งเศสอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2489 โดยที่ฝรั่งเศสอ้างว่า ไทยแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะไทยยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านขึ้นบก โดยที่หากไทยไม่ยกดินแดนดังกล่าว ฝรั่งเศสจะไม่รับรองให้ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และเปิดศึกกับไทย ประเทศไทยจึงจำต้องยอมยกดินแดนที่ได้คืนมาให้กับฝรั่งเศส และให้ข้าราชการไทยทั้งหมดพร้อมกับประชาชนที่ต้องการ ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อ พศ. 2489 (ร.ศ. 165)









ชาวบ้านมาขายของ ขณะที่รถรอข้ามแพ






หวดสำหรับนึ่งข้าวเหนียว






เราข้ามแพที่บ้านม่วง แพข้ามเป็นการนำเรือสองสามลำมาประกบกัน ทำพื้นด้วยไม้เนื้อแข็งไว้บรรทุกรถ เราก็หวาดเสียวไม่น้อยออกมาด้านนอกเมื่อแพกำลังข้ามโขงซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที ค่าแพสำหรับรถ 70,000 กีปต่อคัน ไป-กลับ








แพเล็กสำหรับมอเตอร์ไซด์







พอขึ้นฝั่งก็จะเจอร้านขายของพวกการฝีมือ หรือโอท๊อปแบบบ้านเรา ส่วนมากจะเป็นพวกที่ทำจากไม้ พวกเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งตะกร้าด้วย

เราต้องเดินทางโดยรถยนต์ผ่านนครจำปาสักที่เก่าแก่ตามถนนที่มีเพียงสายเดียว อีก 6 กม. ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์วัดพูซึ่งต้องจ่ายอีกคนละ 30,000 กีป เพื่อเป็นค่าเข้าชมก่อนที่จะขึ้นไปชมตัวปราสาท ที่นีมีห้องน้ำสะอาดบริการภายในอาคารด้วย แต่ต้องจ่าย 5 บาท (นอกเหนือค่าชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจ่ายตอนจะเข้าตึก)









สินค้าจากชาวบ้าน





ปราสาทวัดพู (มรดกโลก)

พระเจ้าชัยวรมันได้สร้างปราสาทวัดพู จำปาสัก พ.ศ. 893-943 เพื่อถวายพระศิวะ ปราสาทวัดพูในศิลาจารึกเรียกว่า "ลึงคปรวตา" ภูเขาอันเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ตามพงศาวดารของส่วยกล่าวว่า "อยู่ใกล้นครหลวง มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า ลิงกิยโปโป (ลิงกภาวตา) ที่ยอดภูเขามีปราสาทหลังหนึ่ง มีทหารหนึ่งพันคนรักษาประจำอยู่ ปราสาทหลังนี้ สร้างให้แก่เทพเจ้าองค์หนึ่งโดยมีการฆ่าคนเป็นเครื่องบูชายันต์ทุกๆ ปี พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จไปในปราสาททำพิธีบูชายันต์ด้วยพระองค์เองในเวลากลางคืน

ปราสาทวัดพู เป็นโบราณสถานในศาสนาฮินดู-พรามหณ์ ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 10 (เคยเป็นวัดด้วย ดังนั้น จึงมีงานประเพณีนมัสการวัดพูทุกๆ ปี ประมาณวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งจะตรงกับงานนมัสการพระธาตุพนม








ปราสาทด้านขวา






ในงานเดือนสามจะมีการแข่งเรือที่สระ (บาราย) มีมหรสพ และการชนไก่ด้วย แต่วันและเวลากำหนดไม่แน่นอน นักท่องเที่ยวต้องประมาณและติดตามข่าวกันเอง








คุณยายขายชุดไหว้พระ






ลักษณะของปราสาทวัดพู จะสร้างอยู่เชิงเขาลิงบรรพต ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู-พรามหณ์ ที่ว่าเทพศิวะจะต้องประทับอยู่บนเขาพระสุเมรุ








พานบายศรี






ชั้นนอกสุด เป็นบารายหรือสระน้ำขนาดใหญ่ 3 สระ เมื่อใครจะมานมัสการพระศิวะต้องผ่านก่อน ซึ่งบารายนี้ อาจเปรียบเทียบได้กับทะเลสีทันดอนที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุก็ได้ ในปัจจุบัน คงเหลือให้เห็นอยู่ 2 สระเท่านั้น








ต้นตาลคู่ตรงทางเดิน






ศาลา เดิมเป็นโคปุระรูปสี่เหลี่ยมโล่ง ไม่มีประตู สร้างใกล้กับบาราย สันนิษฐานว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินมานมัสการพระศิวะ จะต้องเข้ามาโดยใช้เรือ แล้วมาขึ้นที่อาคารนี้ ในปัจจุบัน ถูกรื้อลงมาแล้วสร้างอารสมัยใหม่ขึ้นทับของเดิม เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตลาว ที่ทรงพระราชดำเนินมานมัสการวัดพูเมื่อ พ.ศ. 2508


โรงท้าว โรงนาง หรือหอเปลื้อง เป็นอาคารลักษณะเหมือนตัวยู โดยมีทางเข้าด้านหลัง 1 ด้าน และทางออก 2 ด้านทางหน้า มีอาคารอีกหลังสร้างบังด้านหน้าเป็นรูปตัวไอ โดยมีทางเข้า เข้าด้านหน้า 1 ด้าน และทงออก 2 ด้าน ทางหลังทางออกจะตรงกันกับอาคารด้านหลังรูปตัวยูพอดี อาคารทั้งสองจะเหมือนกัน








ทางขึ้นวัดพู






เทวสถาน อาคารของเทวสถานนั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีทางเข้าสามประตูด้านหน้า และอีกสองประตูด้านข้างซ้ายและขวา สองข้างอาคารเทวสถานซึ่งตามแผนผังจริงๆ จะเป็นหอคัมภีร์หรือห้องสมุด แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 1 หลังซึ่งอู่ทางด้านซ้ายมือ ซึ่งในครั้งนี้ บริเวณปราสาทวัดพูนี้ เป็นวัดในพุทธศาสนานั้น ทางวัดได้รื้อหอพระคัมภีร์ทางด้านขวาลง และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่

ศิวลึงค์ในเทวสถานได้ถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้านล่าง คงเหลือองพระประธานขนาดใหญ่อยู่ด้านใน ส่วนทับหลังด้านประขวามือ (ขึ้นบันไดไปหันหน้าเข้าหาเทวสถาน) จะค่อนข้างสมบูรณ์มาก








อาคารเทวสถาน






อาคารเทวสถานนี้ มีลวดลายของทับหลังที่สวยงาม และเด่นชัดทุกด้าน โดยที่ยังคงสวยงามมากแห่งหนึ่งในแถบนี้ ภายในอาคาร ได้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้เคารพสัการะเมื่อครั้งยังเป็นวัด







บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์





บ่อน้ำเที่ยง หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีน้ำตลอดทั้งปี ในสมัยก่อนจะต่อท่อเอาน้ำนี้มาใช้รดบนศิวลึงค์








ตรีมูรติ





รูปตรีมูรติ ซึ่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดู-พรามหณ์ ที่แบ่งแยกให้เห็นว่า ในศิวลึงค์นั้นประกอบไปด้วยเทพ 3 องค์นี้ คือ พระพรหมผู้สร้าง พระนารายณ์ผู้รักษา และพระศิวะผู้ทำลาย







แท่นบูชายันต์






หินสกัดรูปจระเข้และคน เกี่ยวข้องกับการบูชายันต์ ไกด์เราเล่าว่าเมื่อมีการบูชายันต์ด้วยหญิงสาวพรมจรรย์ หลังจากเสร็จพิธีจะหามผ่านบันไดสวรรค์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ แล้วนำศพไปเผา ถ้าควันไฟขึ้นตรง จะบ่งบอกว่าสาวนั้นบริสุทธิผุดผ่อง แต่ช่วงหลังเขาบูชายันต์ด้วยจรเข้แทน เราถามเหมือนกันว่าเพราะอะไร ไกด์อ๊อดบอกเราว่า เพราะจรเข้ามีหัวใจคล้ายคน (ไม่รู้แฮะ)









เสารูปศิวลึงค์





ตรงทางเดินจะมีเสาศิวลึงค์ตั้งเรียงเป็นแถว จนเกือบถึงบาราย หินที่ปูมทางเดินทุกก้อนก็ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกหมดแล้ว.








ต้นจำปาที่ปลูกริมทางขึ้น






ตรงบันไดหินที่ขึ้นไปสู่เทวสถานนั้น จะปลูกต้นจำปา (ลั่นทม) ไว้เต็มสองข้าทาง เห็นบอกว่าอายุมากแล้ว นักท่องเที่ยวจะใช้ต้นจำปานี้เป็นฉากแอ๊คชั่นถ่ยภาพกัน








ที่เลี้ยงวัวของพระศิวะ






ซ้ายมือตรงทางเดิน กำลังปรับปรุงอยู่คือ คอกวัวของพระเจ้า ซึ่งตามความเชื่อของฮินดู วัวคือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นที่อยู่จึงค่อนข้างดี












บริเวณปราสาทวัดพู ถ่ายจากด้านข้างเทวสถานจะเห็นสิ่งปลูกสร้างวางเป็นรูปเลขาคณิตอย่างน่าอัศจรรย์ สถาปัตยกรรมสมัยนั้นได้สร้างความตะลึงงันให้งานวิศวกรรมร่วมสมัยเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการเจาะรูก้อนหินขนาดยักษ์แล้วยกไปเรียงทับซ้อนกัน จนเป็นอาคารที่สมบูรณืแบบ...








ไกด์สาวลาว






เราอำลาวัดพูตอนเกือบๆจะห้าโมงเย็นแล้ว อาทิตย์ที่เริ่มลับเหลี่ยมเขาทำให้ที่นั่นมืดเร็วขึ้น อากาศเย็นเริ่มเข้ามาแทนที่ นักท่องเที่ยวทะยอยออกจากบริเวณลานจอดรถเกือบหมดแล้ว ที่นี่ถ้าอยู่เกินหกโมงเย็น ทางการจะปิดประตูหน้าพิพิธภัณฑ์ รถต้องออ้อมไปออกด้านหลังแทน

เราผ่านนครจำปาสักอันเก่าแก่ แต่มีถนนเพียงสายเดียว เห็นบ้านหลังใหญ่ทรงโคโลเนียลสไตล์ ก็ถามไกด์ว่า ใครเอ่ยช่างร่ำรวยเสียจริง อ๊อดบอกเราว่า หลังที่ทาสีหน้าต่างเขียวนั้นเป็นของน้องชายเจ้าบุญอุ้ม ส่วนอีกหลังทาสีเหลือง เป็นของเจ้าบุญอุ้ม (ผู้สร้างวังจำปาสักแต่ไม่ได้อยู่.. Champasak Palace)

บ้านเรือนผู้คนสร้างริมฝั่งแม่โขง ดูคล้ายๆแถวมุกดาหาร และนครพนม ความเป็นอยู่ยังเรียบง่ายเหมือนในอดีต แต่การที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ไม่นานคงทำให้ที่นี่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อถนนที่สร้างใหม่เสร็จ..

เราข้ามแพที่แม่น้ำโขงตอน 1730 น ท้องฟ้าเกือบมืดสนิท มีเพียงสีทองรำไรทอทาบทิวเขา ส่วนกลางแม่น้ำโขงเห็นเป็นสีฟ้าออกไปทางดำ... แพข้ามฟากจะรอนักท่องเที่ยวแค่ 1900 น. เท่านั้น ถ้าช้ากว่านั้นก็ต้องเหมาลำข้ามกันล่ะ

คืนนั้นเรากลับมาพักที่โรงแรมแสงอรุณ เมืองปากเซ และหลับไหลเป็นตายเพราะความเหนื่อยล้า นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่ได้นอนกันทั้งคืนในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่...สะบายดีจำปาสักตอนแรกจึงขอจบไว้เพียงแค่นี้ก่อนครับ.

สะบายดี.



______จบตอนที่1______








Create Date : 07 มกราคม 2552
Last Update : 14 สิงหาคม 2555 21:53:11 น. 20 comments
Counter : 7490 Pageviews.

 
อยากไปด้วย ไม่เคยไปแถบนี้เลยค่ะ เคยแต่ไปลาวเหนือ


โดย: บุปผามาลา วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:15:41:12 น.  

 
ขอบคุณบุปผามาลาครับ ที่แวะมาเป็นคนแรก......
ทางใต้นี่ ธรรมชาติสวยงามมาก อากาศก็ดีครับ.


โดย: wicsir วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:16:25:09 น.  

 
โอ๊วววว อยากไป ๆ ๆ มาก ๆ ค่ะ อยากไปเที่ยวมานานมาก ๆ แล้วค่ะ แต่ไม่มีโอกาสสักที.....

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ และภาพสวย ๆ ค่ะ....

.... ทึ่งและอึ้งกับซึ้งซาลาเปาสุด ๆค่ะ... เกิดมาเพิ่งเคยพบเคยเห็นค่ะ....

เห็นปุ๊บ น้ำตาไหลพราก ๆ ๆ ๆ .... เลยค่ะ.... แบบว่ามันซึ้งมาก ๆ ๆ ๆ ...

น่าสงสารเตาจัง... อิอิ ... นี่เวลาเค้าหยิบซาลาเปาจากซึ้งล่าง ๆ นี่... คงยกกันทุลักทุเลน่าดูชมนะคะ.... อิอิ


โดย: largeface วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:16:48:34 น.  

 
ตามมาเที่ยวด้วยค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:17:45:57 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

ตามมาเที่ยวลาวด้วยคน

อยากไป แต่ยังไม่มีโอกาสเลยครับ

บรรยากาศสงบน่าอยู่ดีจัง


โดย: chalawanman วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:18:07:37 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ครับ Largeface.......

สวัสดีปีใหม่อีกรอบครับคุณตุ๊ก......

สวัสดีปีใหม่ครับ Chalawanman...

ขอบคุณที่เข้ามาทักทาย
เชิญตามไปเที่ยวลาวใต้ด้วยกันครับ..
สงบ... สวย... ธรรมชาติงาม และน่าอยู่มากๆครับ


โดย: wicsir วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:18:53:58 น.  

 
เข้ามาบ้านนี้นอกจากได้ดูรูปสวยๆแล้ว ยังได้ข้อมูลอีกเพียบเลยค่ะ

ว่าแต่ก๋วยจั๊บญวนที่เคยทานหน้าตาไม่เห็นเหมือนในภาพนี้เลยค่ะ ดูดูไปคล้ายต้มยำเหมือนกันนะ ว่ามั๊ยคะ


โดย: nLatte วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:20:12:19 น.  

 
พี่ค่ะขอลิงค์ไปไว้ในสเปซนะจ๊ะ อิอิ เขียนซะละเอียด ขยันจริง ๆ เปิ้ลจะไปเที่ยวที่ไหน ก็จะต้องมาแวะที่ Blog นี้แหละ 555..ไปลาววันนั้นไปคอนพะเพ็งที่เดียวค่ะ ว่าง ๆ จะแวะมาใหม่นะค่ะ วันนี้หมดเวลา 555


โดย: Pleja IP: 114.128.121.81 วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:20:35:36 น.  

 
หวัดดีครับ nLatte เข้าไปคุยให้ฟังเรื่องก๋วยจั๊บแล้วนะครับที่บ้าน.

หวัดดีครับเปิ้ล.... ด้วยความยินดีครับ เพราะอยากรีวิวให้ละเอียด ถึงต้องไปครั้งที่สองไง ถ้าคั้งที่ 3 น่าจะไปลึกกว่านั้น เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปครับ.

ขอบคุณทั้งสองท่านที่แวะเข้ามาทักทายนะครับ.....


โดย: wicsir วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:21:26:29 น.  

 
เข้ามาดูตอนที่หนึ่ง รูปสวยมาก เล่าเรื่องละเอียดจริงๆเลยครับ


โดย: Innocent IP: 96.255.16.241 วันที่: 9 มกราคม 2552 เวลา:6:11:51 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ครับ Innocent ... อย่าลืมติดตามอ่านตอนต่อไปนะครับ


โดย: wicsir วันที่: 9 มกราคม 2552 เวลา:6:59:58 น.  

 
มารำลึกอุบลและลาวใต้ค่ะ

ไปมานานจนเลือน ๆ เกือบหมดแล้วค่ะ

ที่จำได้แม่น ..น่าจะเป็น "ดวงจำปา" ค่ะ

เป็นเพลงที่ฟังแล้วน้ำตาซึมทุกที

(เนียนเป็นก๊วนดวงจำปาไปกับเขาด้วย)



โดย: ป้าทุยบ้านทุ่ง วันที่: 13 มกราคม 2552 เวลา:19:22:38 น.  

 
ขอบคุณป้าทุยที่แวะมาทักทายครับ....ชอบคำตอบของ J.P. Morgan มาก...5555


โดย: wicsir วันที่: 13 มกราคม 2552 เวลา:21:55:39 น.  

 
ตามมาเที่ยวจำปาสักด้วยคนนะคะ
สวัสดีปีใหม่ย้อนหลังด้วยค่ะ
พอดีเพิ่งได้เข้าบล๊อกน่ะคะ..แฮะๆๆ


โดย: toonii (ซากุระสีชมพู ) วันที่: 24 มกราคม 2552 เวลา:16:45:57 น.  

 
ขอบคุณซากุระสีชมพู ที่แวะมาเที่ยวด้วยกันนะครับ


โดย: wicsir วันที่: 24 มกราคม 2552 เวลา:20:12:39 น.  

 
ละเอียดยิบเลย เข้ามาดูรูปกับอ่านบรรยายใต้รูป กับอ่านเนื้อเรื่องหลัก ๆ ส่วนรายละเอียดจะเก็บเป็นคู่มือไว้มีโอกาสย้อนรอยคุณwicsir บ้าง
เป็นบล๊อคข้อมูลที่เยี่ยมยอดมากบล๊อคนึงเลย


โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 27 ธันวาคม 2552 เวลา:11:45:25 น.  

 
ขอบคุณ น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา ที่เข้ามาอ่านครับ
ยินดีที่ได้ทำสิ่งที่ชาวบล๊อกแก๊งค์ชอบ..

มีความสุขตลอดปีใหม่ 2553 นะครับ


โดย: wicsir วันที่: 28 ธันวาคม 2552 เวลา:16:29:06 น.  

 
สวยมากกกก มาก อยากไปเที่ยวบ้าง


โดย: สวยมาก IP: 202.28.50.101 วันที่: 8 มิถุนายน 2554 เวลา:20:04:33 น.  

 
ตามมาเก็บข้อมูลค่ะ เดือนหน้าจะไปเหมือนกันค่ะ ยังหารถ และที่พักไม่ได้เลย 555 รีวิวละเอียดดีค่ะ


โดย: nuch9981 วันที่: 22 เมษายน 2555 เวลา:12:08:51 น.  

 
ไปเที่ยวกันเยอะๆน่ะค่ะ อากาศร้อนหน่อยแต่ก็สวยไปอีกแบบ
มีของขายแปลกๆตามฤดูกาล ลองไปดูน่ะค่ะ

ขอให้สนุกกับการเที่ยว เดินทางปลอดภัยทุกคนจ๊ะ

สาว ช่องเม็ก คิดฮอดบ้านเด้


โดย: คนช่องเม็ก IP: 223.206.194.48 วันที่: 16 สิงหาคม 2555 เวลา:11:36:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

wicsir
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 75 คน [?]











...... ชอบเดินทาง ชอบท่องเที่ยว และชอบถ่ายภาพ แม้ฝีมือจะไม่ให้ แต่ใจก็รัก เพราะได้ทำแล้วมีความสุข แถมยังมี bloggang ได้ให้โอกาสนำสิ่งเหล่านั้นมาแสดงด้วย ยิ่งทำให้หัวใจพองโต .......


อยากจะบอกว่า

@ ดีใจที่ได้แบ่งปันความสุขเล็กๆน้อยๆ กับเพื่อนๆในบล็อกแก๊ง ตลอดจนคุณๆที่ผ่านเข้ามาอ่าน.... แม้ภาพถ่ายจะไม่สวยนัก แต่กว่าจะได้มาก็แสนยากลำบาก จึงขอสงวนสิทธิไว้เป็นการส่วนตัว

@ ภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของบล๊อก ถ้ามีความประสงค์จะใช้ภาพเพื่อการใด กรุณาติดต่อเจ้าของบล็อกด้วย เพราะจะได้พิจารณาเป็นเรื่องๆไปครับ.

@ ขอบคุณเพื่อนๆสมาชิกที่คอยให้กำลังใจกันเสมอมา และขอบคุณทุกท่านที่ผ่านเข้ามาอ่าน หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าท่านคงแวะเข้ามาอีก...


ด้วยจริงใจ
นาย wicsir.




Rec. 11.06.08
New Comments
Group Blog
 
 
มกราคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
7 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add wicsir's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.