bloggang.com mainmenu search


มีคำ ๆ หนึ่งของจีนที่หมายถึงอุปกรณ์สำคัญสี่อย่างในการเขียนพู่กันจีนคือ (เหวินฝังซื่อเป่า) หมายถึง "สิ่งของวิเศษสี่อย่างที่ต้องมีอย่างครบครันในห้องสมุด" ได้แก่ พู่กัน หมึก กระดาษ และจานฝนหมึก ในสมัยก่อนคงมีแค่สี่อย่างเท่านั้น แต่ต่อมาก็มีมากขึ้นอย่างที่บอกไว้ในบล็อคที่แล้ว

๑. พู่กันจีน ในปีที่ ๕ ก่อนคริสตศักราชได้มีการประดิษฐ์พู่กันจีนสำหรับเขียนและการวาดภาพ ในสมัยราชวงศ์ฉิงได้มีการพัฒนารูปแบบของพู่กันจีนจนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน พู่กันจีนมีความละเอียดอ่อนและตอบสนองต่อความต้องการ เส้นและรอยพู่กันที่วาดลงไปนั้นสามารถเป็นไปตามความรู้สึกของจิตรกร โดยพื้นฐานแล้วพู่กันจีนมีอยู่ ๒ ชนิดคือพู่กันขนนิ่มและพู่กันขนแข็ง มีหลายขนาดใช้วาดเส้นที่มีความหนาไปจนถึงเส้นบาง

พู่กันมีส่วนประกอบ ๔ ส่วนคือ ด้ามพู่กัน โคนพู่กัน ตัวพู่กัน และปลายพู่กัน หากขนของพู่กันมีความยาวหนึ่งนิ้วครึ่ง โคนของพู่กันควรจะเข้าไปอยู่ในด้ามพู่กันหนึ่งนิ้ว และปล่อยให้ขนของพู่กันยาวออกมาครึ่งนิ้วเพื่อใช้ในการเขียน ปลายพู่กันจะแข็งแรงและใช้งานได้ยาวนาน



พู่กันชนิดขนนิ่มมี ๓ ชนิด
๑. พู่กันทิ (Tih brush) เป็นพู่กันขนาดใหญ่ มีขนพู่กันยาวกว่าสองนิ้ว (อ่านชื่อนี้แล้วงงว่าพู่กันสองแบบแต่ชื่อเดียวกันเลย คิดว่าพู่กันชนิดนี้คงมีทั้งแบบขนแข็งแล้วก็ขนอ่อนด้วย)
๒. พู่กันไป่หยุง (Bai-Yung brush) ทำด้วยขนพู่กันชนิดนุ่มผสมกับพู่กันแข็ง มีขนาดใหญ่ กลางและเล็ก
๓. พู่กันไป่เหวย (Bai-Wei brush) มักใช้สำหรับวาดเส้น

พู่กันชนิดขนแข็ง มี ๔ ชนิด
๑. พู่กันทิ (Tih brush) เป็นพู่กันขนาดใหญ่ ทำด้วยขนพู่กันชนิดแข็ง
๒. พู่กันกล้วยไม้และต้นไผ่ (Orchid-and-bamboo brush)
๓. พู่กันประดิษฐ์ตัวอักษรและวาดภาพ (Calligraphy and painting brush)
๔. พู่กันเหวยและพู่กันถั่วแดง (Wei brush and Red-bean brush) สำหรับใช้วาดเส้น

ก่อนใช้พู่กันให้นำไปแช่น้ำเย็นสะอาด วิธีที่ถูกคือแขวนไว้บนที่แขวนพู่กันแล้วหาถ้วยใส่น้ำมารองข้างใต้ ไม่ควรแช่พูกันในถ้วยจะทำให้ปลายพู่กันเสียได้ จากนั้นก็ใช้ผ้าซับพู่กันให้แห้งก่อนนำไปใช้ เมื่อใช้แล้วก็นำกลับไปแขวนบนที่แขวนหรือใส่ไว้แผ่นไม้ไผ่สานม้วนเก็บไว้

***พู่กันมีหลายขนาดและราคา บอกยากจริงๆว่าแบบไหนถึงดีที่สุด อยู่ที่ความชอบของคนเขียน ลักษณะของตัวอักษรที่เขียนออกมา มีพู่กันอยู่หลายด้ามแต่ที่ใช้อยู่ประจำซื้อที่ร้านนานมี เป็นขนาดเล็กหน่อย ราคาตอนที่ซื้อเมื่อหลายปีมาแล้วด้ามละ ๕๕ บาท ใช้ดี ปลายพู่กันจะไม่ค่อยบานเหมาะกับการเขียนตัวหนังสือบรรจงที่ชอบเขียน แต่ไม่ได้ไปร้านนี้นานแล้วเลยไม่แน่ใจว่ายังมีขายอยู่หรือเปล่า)






การเก็บพู่กันจีนที่ถูกต้อง - วิธีที่ผิด





ไม่ไผ่สานไว้เก็บพู่กัน ถ้าหาซื้อไม่ได้ ก็ซื้อแผ่นไม้ไผ่ห่อซูชิแล้วมาร้อยเชือกเองก็ใช้ได้เหมือนกัน






๒. หมึกจีน ปัจจุบันมีทั้งแบบที่เป็นแท่งอัดและแบบน้ำหมึกผสมสำเร็จรูป แบบแท่งมี ๓ ชนิด ทำจากเขม่าน้ำตั้งอิ๋ว, เขม่ายางสน,เขม่าแล็คเกอร์ หมึกจีนที่ทำมาจากเขม่าน้ำมันตั้งอิ๋วมีคุณภาพดีที่สุดสำหรับวาดภาพ เนื่องจากมีความดำและเป็นประกาย หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์สำหรับงานศิลปะ เลือกชนิดที่เป็นผงละเอียดและผสมกาวเพียงเล็กน้อย มีสีดำสนิท หรือจะซื้อหมึกผสมสำเร็จรูปมาใช้ก็ได้

วิธีใช้หมึกแบบแท่ง ใส่น้ำสะอาดในหลุมบนจานฝนหมึกแล้วทาน้ำให้เปียกทั่วจาน จับแท่งหมึกในแนวดิ่งเพื่อให้ปลายแท่งหมึกอยู่ด้านบนหินที่ฝน หมุนแท่งหมึกไปรอบๆเป็นรูปวงกลม ใส่น้ำลงไปในจานรองหมึกเรื่อย ๆ จนได้น้ำหมึกเข้มข้นตามที่ต้องการ การฝนหมึกให้ได้สีที่สม่ำเสมอกัน ต้องใส่น้ำเพียงหนึ่งช้อนลงในจานหิน แล้วบดด้วยแท่งหมึกจนได้หมึกที่ข้นและเหนียวแล้ว จึงเติมน้ำลงไปอีกครึ่งช้อน ฝนหมึกอีกครั้งจะได้ความเข้มของหมึกที่พอดี ควรรักษาแท่งหมึกให้สะอาดอยู่เสมอ โดยการล้างน้ำและเก็บแท่งหมึกในที่มืดหรือเก็บไว้ในกล่องบรรจุแท่งหมึกเพื่อไม่ให้หมึกแตก และไม่ควรแช่น้ำทิ้งไว้หรือให้โดนน้ำ


หมึกจีนสำเร็จรูป - หมึกแท่ง





***หมึกสำเร็จรูปที่กล่องสีแดง ๆ ที่วางขายตามห้างก็ใช้ได้ แต่ถ้าเป็นอย่างดีก็ต้องของญี่ปุ่น ตอนแรก ๆ ก็จะใช้แต่แบบกล่องสีแดง เหล่าซือให้หมึกญี่ปุ่นมา ใช้แล้วติดใจ เวลาเขียนน้ำหมึกจะสม่ำเสมอแล้วก็เข้มข้นดี เสียดายไม่มีขายในเมืองไทย เคยฝากคนไปซื้อที่ญี่ปุ่นราคาก็ไม่แพงมาก จำราคาไม่ได้แม่น คิดว่าขวดนึงไม่น่าเกินสามร้อยค่ะ แปะให้ดูยี่ห้อด้วยเผื่อใครอยากจะซื้อมาใช้


วิธีใช้หมีกแท่ง - หมีกญี่ปุ่น






หนังสือเล่มนี้เป็นตัวหนังสือแบบบรรจง เหมาะสำหรับฝึกเขียน เพราะจะแยกให้เห็นโครงสร้างของตัวหนังสือที่มีลักษณะคล้ายกัน ชอบตัวเขียนแบบนี้ที่สุดค่ะ ในเล่มไม่ได้บอกว่าเป็นลายมือใคร แต่คิดว่าน่าจะใช่ลายมือของโอวหยางสุน เพราะลักษณะการเขียนจะเหมือนกันมาก















คัดลายมือตามตัวอย่าง เขียนแต่ตัวหนังสือที่อยู่ในตาราง



































เวบเกี่ยวกับอุปกรณ์การเขียนพู่กันจีน
Create Date :14 กรกฎาคม 2549 Last Update :27 พฤษภาคม 2564 13:54:43 น. Counter : Pageviews. Comments :39