bloggang.com mainmenu search

หนังสือ “ท่ามกลางประชาชน : เรื่องเล็ก ๆ ในรัชสมัยอันยิ่งใหญ่”
โดย วินทร์ เลียววารินทร์
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ก.พ. ๒๕๖๐
ISBN 978-616-7455-58-7
ปกอ่อน ราคา ๒๒๕ บาท






แต่ละปี ผมใช้เวลามากหรือน้อยแล้วแต่ความยาก ทำงานรูปรัชกาลที่ ๙
สำหรับวันที่ ๑๓ ตุลาคม และ ๕ ธันวาคม
เป็นช่วงเวลาส่วนตัวที่จดจ่อทำงานที่อยากทำ เต็มใจทำ
รูปล่าสุดนี้ประกอบด้วยรูปที่สเก็ตช์มาก่อนตอนทำเล่ม ท่ามกลางประชาชน กับรูปถ่ายที่เช่ามา ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกประกอบภาพ ใช้เวลานานเหมือนกัน
งานเหล่านี้ไม่ถือลิขสิทธิ์ใด ๆ สามารถนำไปใช้ได้เลย



มาร์ชราชวัลลภ







ไม่มีทางสายใดที่ทรงไปไม่ถึง
ไม่มีทุกข์ราษฎร์ใดที่ไม่ทรงดูแล
ไม่มีมุมใดที่ไม่ฝ่าไปทรงงาน
ไม่มีหยดน้ำตาใดที่ไม่ทรงไปซับแห้ง
นี่จึงเป็นแผ่นดินสีทอง
แผ่นดินของเรา ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖

วินทร์​ เลียววาริณ

๕ ธันวามหารำลึก
วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร
วันชาติ วันพ่อแห่งชาติ วันดินโลก World Soil Day
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้


ข้าพระพุททธเจ้า บล็อกเกอร์ไฮกุและครอบครัว





วันสำคัญของประเทศเวียนกลับมาอีกครั้ง เลือกหนังสือของ คุณวินทร์ เลียววาริณ มาอัพบล็อกฉลองวันพ่อ หนังสือชื่อ “ท่ามกลางประชาชน : เรื่องเล็ก ๆ ในรัชสมัยอันยิ่งใหญ่” เคยอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์บางองค์จากหนังสือมาอัพบล็อกไปหนนึงแล้ว ที่บล็อก นิทรรศการ “คิดถึงเหลือเกิน” อย่างที่เคยบอกว่าประทับใจหนังสือนี้มาก ๆ ตั้งใจว่าจะอัพลงบล็อกทั้งเล่ม เลยตั้งบล็อกหมวดใหม่ หลังไมค์ไปขออนุญาตคุณวินทร์และได้รับอนุญาตแล้ว ต้องขอบพระคุณมากนะคะ

คุณวินทร์แปะลิงค์ให้เข้าไปโหลดเนื้อหามาอ่านทั้งเล่มได้ แต่โหลดยังไงก็ไม่ได้ เลยต้องใช้วิธีสแกนรูปในหนังสือ ส่วนเนื้อเรื่อง เราอยากพิมพ์เองมากกว่า รู้สึกเหมือนได้ค่อย ๆ เสพความงดงามของภาษาของคุณวินทร์ ต้องขอบคุณคุณวินทร์มากนะคะที่ทำให้ซาบซึ้งประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตลอดเวลาที่อ่านถ้อยคำที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีสูงสุด


คลิกอ่านบทก่อนหน้านี้

บทเริ่มต้น
ภาคหนึ่ง รัชสมัยอันยิ่งใหญ่ (๑)
ภาคหนึ่ง รัชสมัยอันยิ่งใหญ่ (๒)
ภาคหนึ่ง รัชสมัยอันยิ่งใหญ่ (๓)
ภาคสอง เรื่องเล็ก ๆ ในรัชสมัยอันยิ่งใหญ่ (๑)











“เงาของประเทศ” (Silhouette of a Country) ๒๕๕๙
จัดแสดงในนิทรรศการ ‘อัครศิลปินเหนือเกล้า’ โดยกระทรวงวัฒนธรรม
เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพทางศิลปะ
ณ หอศิลป์ราชดำเนิน ๑๔ ธ.ค. ๒๕๕๙ - ๒๗ ม.ค. ๒๕๖๐










“ความสุขของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข”

พระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒









พระราชา


เขาเรียกพระองค์ว่า ‘พระราชา’

มันเริ่มจากที่เขาไปขวางทางรถพระที่นั่งเพื่อร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ไล่ให้ออกไป แต่พระองค์ทรงเรียกเขาไปเข้าเฝ้าฯ

เขากราบทูลรายงานพระองค์ว่า ราษฎรที่นี่ลำบากยากเข็ญด้วยปัญหาสามเรื่อง

หนึ่งคือ ไม่มีมัสยิดเป็นศูยน์รวมใจ

หนึ่งคือ โจรร้ายมารบกวน ข่มขู่ชาวบ้านว่าไม่ใช่เจ้าของที่ดินทำกิน

อีกหนึ่งคือ พื้นดินปลูกอะไรไม่ขึ้น

รับสั่งว่า อีกสามวันจะเสด็จฯ กลับมาแก้ปัญหาของชาวบ้าน

ในหมู่บ้านนอกจากเขาแล้ว ไม่มีใครเชื่อว่าพระองค์จะเสด็จฯ กลับมาในสามวัน เพราะงานของพระองค์ล้นพระหัตถ์

ทว่า สามวันต่อมา พระองค์ก็เสด็จฯ​ กลับมา


เขาเรียกพระองค์ว่า ‘พระราชา’

พระราชากลับมาพร้อมแบบสร้างมัสยิดที่พระองค์ทรงออกแบบเอง ไม่นานแบบมัสยิดบนกระดาษก็ปรากฏเป็นความจริง

ปัญหาโจรผู้ร้ายมาข่มขู่ชาวบ้าน ได้รับพระราชทานที่ดินให้ชาวบ้านทุกคน คนละสองไร่สำหรับทำการเกษตร ไปชั่วลูกชั่วหลาน ห้ามซื้อขาย หลังจากโจรร้ายรู้ว่าพระราชาทรงแก้ปัญหานี้ด้วยพระองค์เอง ก็ไม่กลับมาก่อกวนอีก

ปัญหาพื้นดินที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น ตรัสว่าสัปปะรดทำให้หน้าดินเสีย ให้แก้ไขโดยพลิกหน้าดินใหม่แล้วปลูกหญ้าแฝก

เขาทำตาม หลังจากนั้นดินก็ดีขึ้น

มีแต่พระราชาจึงสามารถทรงทำเรื่องเหล่านี้ได้

เขาเรียกพระองค์ว่า ‘พระราชา’



ยูซูฟ บ้านห้วยทราย เพชรบุรี ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










“ยาพ่อหลวงนี้ดีแท้”


เขาทูลรายงานพระองค์ว่า “หมูที่ได้รับพระราชทานมานั้น ตอนนี้เป็นโรค สัตวแพททย์รักษาอย่างไรก็ไม่หาย”

เขาเป็นหัวหน้าชาวเขาเผ่าเย้า รับเสด็จฯ เมื่อพระองค์มาเยือนหมูบ้านแห่งนี้พร้อมกับพระราชทานหมูให้ชาวบ้านเลี้ยง ผ่านมาระยะหนึ่งหมูของเขาเป็นโรคจนผ่ายผอม

ตรัวถามว่าหมูเป็นโรคอะไร เขาทูลตอบว่าไม่รู้

สดับดังนั้น ในหลวงก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรหมู พบว่าหมูตัวนั้นป่วยเป็นโรคเรื้อน

พระองค์ตรัสถามเขาว่า มีน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใช่แล้วบ้างไหม

เขาตอบว่ามี

รับสั่งให้นำผ้าขี้ริ้วมา ทรงใช้ผ้าขี้ริ้วจุ่มในน้ำมันเครื่อง แล้วทรงให้เขานำไปทาตัวหมูที่เป็นโรคเรื้อน วันเว้นวันสักสิบครั้ง


ปีถัดมา ในหลวงเสด็จฯ มาที่หมู่บ้านอีกครั้ง เขาเดินนำทางพระองค์ไปทอดพระเนตรหมูตัวนั้น ตอนนี้ออกลูกมาหลายครอก

เขาบอกว่า “ยาพ่อหลวงนี้ดีแท้ เวลานี้ได้ลูกหลานเยอะแยะ”



ชาวเขาเผ่าเย้า ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










ไม่เป็นไร


ผู้ใหญ่ชาวเขากราบทูลชวนพระองค์ “ไปแอ่วบ้านเฮา”

เขาตามเสด็จฯ พระองค์ไปที่หมู่บ้านแห่งนั้น เสด็จฯ เข้าไปบ้านที่สร้างด้วยไม่ไผ่และมุงหญ้าแห้ง ผู้ใหญ่บ้านเอาที่นอนมาปูให้ประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยตะไลให้พระองค์ ถ้วยใบนั้นมีคราบดำจับแน่น เห็นชัดว่าไม่ค่อยจะได้ล้าง

เขารู้สึกเป็นห่วงพระองค์ในเรื่องสุขอนามัย จึงกระซิบทูลว่าควรแค่ทรงทำท่าเสวย

แต่ทรงดื่มกรึ๊บเดียวเกลี้ยง รับสั่งว่า “ไม่เป็นไร แอลกอฮอลเข้มข้น เชื้อโรคตายหมด”



หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










แทนบัตรประชาชน


นางเคยปักหมอนถวายในหลวง พระองค์ทรงประทานเหรียญนี้ให้

แขวนเหรียญนี้คล้องคอตลอดเวลา

ไม่มีบัตรประชาชน

ใช้เหรียญนี้แทนบัตรประชาชน



คุณยายปลัก ชาวม้ง ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










เปลืองเปล่า ๆ


เขาได้ยินนายกรัฐมนตรีคนนั้นทูลว่า “รัฐบาลจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และถาวรวัตถุใหญ่โตที่สุดในประเทศถวาย”

และพระองค์รับสั่งว่า “สิ้นเปลืองและไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างถนนกันรถติดดีกว่า”


เขาได้ยินนายกรัฐมนตรีคนที่สองทูลว่า “รัฐบาลจะสร้างหอคอยสูงข้างสะพานพระราม ๙ เฉลิมพระเกียรติ เป็นหอดูวิวและหอโทรคมนาคม”

และพระองค์รับสั่งว่า “เทคโนโลยีสมัยนี้ไม่ต้องสร้างหอโทรคมนาคมและเปลืองเงินเปล่า ๆ”


เขาได้ยินนายกรัฐมนตรีคนที่สามทูลว่า “รัฐบาลจะปรับปรุงพระราชวังไกลกังวลให้สะดวกสบายในการประทับนาน ๆ อีกทั้งปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหินให้ทันสมัย”

และพระองค์รับสั่งว่า “การปรับปรุงโรงพยาบาลเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ถ้ามีงบก็ควรทำ แต่การปรับปรุงวังไกลกังวลเป็นเพียงเรื่องสำราญ แต่นี้ก็พออยู่พอเพียงแล้ว”



ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










พระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ


เขาทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารใส่ซองขนาดใหญ่สีขาว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ในฐานะเลขาธิการ ครม. งานระดับนี้ต้องทำให้ถูกต้องและประณีตเรียบร้อยที่สุด แต่เขาแทบไม่เชื่อหูเมื่อพระองค์รับสั่งกับเขาว่า “ต่อไปหน้าซองไม่ต้องเขียนเลขที่หนังสือ จะได้หมุนเวียนกลับมาใช้หลายหน ไม่ต้องทิ้ง”

เพราะทรัพยากรเป็นสิ่งที่ต้องประหยัด

ทรงแนะนำอีกว่า เวลาร่างกฎหมาย โปรดให้ถวายปะหน้าสองแผ่น เผื่อว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหมึกซึมเลอะ จะได้ไม่ต้องรอถวายใหม่

เพราะเวลาเป็นเรื่องที่ต้องประหยัด

ครั้งที่รัฐมนตรีใหม่ต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตรัสว่า ให้รีบมา จะได้รีบไปทำงาน ไม่ต้องห่วงว่าติดเสาร์อาทิตย์์

เพราะในประเทศไททย พระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ



ดร.วิษณุ เครืองาม ราษฎรในรัชกาลที่ ๙/i>










ปัญหาจริง


นางทำหนังสือถวายฎีกาว่า ชีวิตนางกำลังเดือดร้อนหนัก หลังสามีตาย ลูกชายคนเดียวบวขหน้าไฟให้พ่อแล้วไม่ยอมสึก ขอพระกรุณาสั่งให้ลูกชายสึกมาช่วยเลี้ยงแม่

ไม่นานกรมประชาสงเคราะห์ก็มาหานาง สอนอาชีพและจัดหาเครื่องมือทำมาหากินให้นาง

ส่วนลูกก็ให้อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป

เจ้าหน้าที่บอกนางว่า ทรงวิเคราะห์ว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่การบวชหรือสึก แต่คือนางยากจน ไม่มีความรู้ทำงานเลี้ยงชีพ

เมื่อนางมีเครื่องมือทำมาหากินดูแลตัวเองได้ ปัญหาของนางก็หายไปในบัดดล

ลูกของนางก็บวชต่อไปจนเป็นเจ้าอาวาส



ชาวบ้าน ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










คุณทองแดง


ข่าวในหลวงจะเสด็จฯ และทรงพาคุณทองแดงมารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ด้วยพระองค์เอง ทำให้เขาตื่นเต้นแกมประหลาดใจ เพราะงานแค่นี้ไม่จำเป็นที่พระองค์ต้องเสด็จฯ มาเอง

เขาเป็นนักศึกษาสัตวแพทย์ซึ่งร่วมอยู่ในหมู่คนที่รอรับเสด็จฯ เขานั่งรอนานจนค่ำ รู้สึกหิว แต่เห็นสีหน้าแต่ละคนตื่นเต้นและยิ้มแย้ม ความหิวก็จางหายไป

ในที่สุด นาทีที่เขารอคอยก็มาถึง ในหลวงทรงจูงคุณทองแดง พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รวมสามพระองค์ ประทับลิฟท์ขึ้นไปชั้นบน

ตามกำหนดการ คุณทองแดงจะเข้ารับการผ่าตัดและนอนค้างในโรงพยาบาล พระองค์จะเสด็จฯ มารับกลับในวันรุ่งขึ้น แต่ในนาทีสุดท้าย ทรงเปลี่ยนพระทัย ประทับเฝ้าคุณทองแดงตลอดคืน

ในห้วงจินตนาการที่ลึกที่สุด เขาก็ไม่เคยคิดว่าเป็นไปได้ที่ราชันพระองค์หนึ่งจะประทับในโรงพยาลบาลสัตว์ เฝ้าดูอาการสุนัขตัวหนึ่ง


การผ่าตัดผ่านไปโดยเรียบร้อยปลอดภัย ในเวลาแปดโมงเช้าวันรุ่งขึ้น ในหลวงทรงอุ้มคุณทองแดงลงมาด้วยพระองค์เอง เขาเพิ่งแลเห็นความรักความเมตตาของพระองค์ต่อสุนัขตัวนี้ว่ามากเพียงใด

หากทุกคนรักสัตว์ด้วยหัวใจเพียงครึ่งหนึ่งของพระองค์ท่าน โลกจะน่าอยู่ขึ้นเพียงใด

พระองค์ทรงอุ้มคุณทองแดงเข้าไปในรถยนต์พระที่นั่งอย่างระมัดระวัง ไม่นานรถก็จากไป

แล้วน้ำตาก็รื้นโดยไม่รู้ตัว



นิสิตสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










เรื่องของไฟ


เขาทำงานใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัว ช่วงหนึ่งพระองค์ทรงสูบพระโอสถซิการ์ เขาก็ดูแลเรื่องนี้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

วันหนึ่งพระองค์ทรงหยิบซิการ์ออกมา เขารีบจุดไฟถวาย กล่าวว่า

“ขอถวายพระเพลิง”

ราชันย์ทรงชะงักครู่เดียวก่อนทรงพระสรวล ตรัสว่า

“ยัง...ยังก่อน!”



มหาดเล็ก ราษฎรในรัชกาลที่ ๙/i>










ราษฎรสำคัญกว่า


เขามีนัดกับคนไข้เวลาห้าโมงเย็น น้ำกำลังท่วมกรุงเทพฯ เขาไม่แน่ใจว่าคนไข้จะมาทันนัดหรือไม่

เมื่อถึงเวลานัด คนไข้ก็มาพบ คำถามแรกของคนไข้ผู้นี้คือ “จะต้องทำนานหรือไม่?”

เป็นคำถามทที่เขาไม่คิดว่าจะได้ยิน แต่เป็นคำถามที่ต้องมีเหตุผลแน่นอน เพราะคนไข้คือ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ห้

เขาทูลตอบว่า “ไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง”

“ถ้าเช่นนั้น เอาไว้ก่อน”

เขานึกมาได้ทันทีว่าน้ำกำลังท่วม ปัญหานั้นสำคัญกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องนี้ สีพระพักตร์บอกชัดว่า ทรงรู้ดีว่าราษฎรกำลังเดือดร้อน ถ้าน้ำท่วมลดลงแค่เซนติเมตรเดียว พระองค์จะสบายพระทัยขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องทูลทัดทาน ขอให้ทำพระทนต์ก่อน เพราะมิเพียงต้องทนเจ็บ ยังอาจกระทบถึงพระประสาท

รับสั่งว่า “เราทนได้ ราษฎรสำคัญกว่า”



ทันตแพทย์ ราษฎรในรัชกาลที่ ๙










จับพระหัตถ์


ตามกำหนด หลวงพ่อจะถวายเงิน ๗๒ ล้านบาทตามตัวเลขพระชนมายุของในหลวง

ตามกำหนด หลวงพ่อจะเข้าเฝ้าฯ ในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธียกมณฑปพระบรมสารีริกธาตุขี้นประดิษฐานบนบุษบกเหนืออุโบสถ

ก่อนวันงาน คนรอบตัวสอนหลวงพ่อวิธีใช้ราชาศัพท์ เพราะรู้กันดีว่าหลวงพ่อพูดสรรพนามว่า ‘กู-มึง’ มาตลอดชีวิต

“ต้องระวังนะ หลวงพ่อ”

หลวงพ่อตอบว่า “เออ! กูรู้น่ะว่าต้องพูดอะไร”

หลุดปาก “กู” อีกแล้ว

ทางที่ดีที่สุดก็คือ ไม่ต้องพูด!

ถึงเวลาเข้าเฝ้าฯ ทรงสนทนากับหลวงพ่อหลายเรื่อง หลวงพ่อทูลตอบเท่าที่จำเป็น

แล้วหลวงพ่อก็ทูลเกล้าฯ ถวายเงินให้พระองค์ แต่พระองค์กลับพระราชทานเงินคืนให้กับวัด เพื่อให้ใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ทรงทราบว่าพื้นที่นี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี การแก้ปัญหาของชาวบ้านสำคัญกว่า

ก่อนเสด็จฯ กลับ หลวงพ่อจับพระหัตถ์ของในหลวง

นึกในใจ ค่อนข้างกระด้างนะ...นี่เป็นมือคนทำงานหนักชัด ๆ!

แต่ก็ไม่ได้พูดออกมา



หลวงพ่อคูณ ราษฎรในรัชกาลที่ ๙




















พระบรมสาทิสลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก
หนังสือ “ท่ามกลางประชาชน : เรื่องเล็ก ๆ ในรัชสมัยอันยิ่งใหญ่”
เพจวินทร์ เลียววาริณ





บีจีจากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi ไลน์จากคุณญามี่