bloggang.com mainmenu search


หมายตาหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่เห็นโฆษณาแล้ว เพิ่งจะหาซื้อได้ ยังอ่านไม่จบเล่มแต่พลิกๆดูแล้วชอบมากเลยค่ะ เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะจีนล้วน ๆ หนังสือแค่ร้อยกว่าหน้า แต่มีเรื่องราวครอบคลุมแทบจะทุกด้าน ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมและอีื่นๆอีกมากมาย โดยเฉพาะบทที่เอามาทำบล๊อค มีรายละเอียดเกี่ยวกับการเขียนอักษรจีนที่สมเด็จพระเทพฯทรงบรรยายไว้อย่างน่าสนใจมาก

มีโปสการ์ดรูปเดียวกับหน้าปกแถมมาให้ด้วย เห็นปกหนังสือทีแรกนึกว่าเป็นภาพวาดซะอีก แต่ข้อความด้านหลังโปสการ์ดบอกว่า เป็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน








การเขียนตัวอักษรจีน


ถ้าพูดถึงภาพจิตรกรรมแล้วจะต้องพูดถึงศิลปะที่ใกล้เคียงกันคือ การเขียนตัวอักษรจีน เป็นศิลปะที่คนจีนชื่นชมมาก และถือว่าเป็นศิลปะชั้นสูง การเขียนพู่กันจีนที่เรียกว่า ซูฝ่า นั้นฝรั่งเรียกว่า calligraphy ที่จริงแล้ว calligraphy หรือการเขียนตัวอักษรก็มีอยู่ในทุกประเทศ แต่ของจีนเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญมาก อาจเป็นเพราะจีนเขียนตัวหนังสือแบบที่ไม่ได้เป็นระบบอักขรวิธี ไม่ได้มีตัวสระ พยัญชนะ เหมือนภาษาไทย ภาษาอังกฤษมาประสมกัน แต่จะเขียนเป็นรูปแทนสิ่งที่กล่าวถึง เสร็จแล้วก็จะมีการผสมของเส้นต่าง ๆ เข้ามา ในรูปการเขียนภาษาจีนยากตรงที่ไม่สามารถสะกดคำได้ แต่ว่าต้องจำเป็นตัว ๆ การที่ภาษาจีนเขียนตัวอักษรเช่นนี้อยู่หลายพันปี พู่กันซึ่งเป็นเครื่องมือในการเขียนก็ไม่เหมือนเครื่องมืออย่างอื่น เขียนแล้วไม่แข็ง จะมีความอ่อนนุ่ม จะสัมพันธ์กับมือของเราที่จะกดหนักกดเบา มีความรู้สึกจากจิตใจ จากสมอง จนถึงที่มือ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นเรื่องของศิลปะมากกว่าการที่เราจะเขียนหนังสืออื่น ๆ ทั่วไป

เวลาฝึกต้องฝึกตั้งแต่ข้อศอก หัวไหล่ ฝึกกล้ามเนื้อ ข้อมือ วิธีฝึกก็มีต่าง ๆ นานา เช่น กำไข่ในอุ้งมือที่ถือพู่กัน เวลาเขียนมีเหรียญอยู่บนพู่กัน เขียนตัวอักษรต่าง ๆ ตั้งแต่ตัวอักษรกระดองเต่า เรียกว่า เจียกู่เหวิน สมัยราชวงศ์ชาง หลายพันปีมาแล้ว ก็ถือกันว่าเป็นราชวงศ์แรกของจีน เมืองหลวงอยู่ที่อานยาง มีตัวอักษรกระดองเต่าหรือกระดูกวัวที่ใช้ในการเสี่ยงทาย เขาเขียนตัวอักษรแล้วนำไปเผาไฟ และลายที่แตกออกมาไปอยู่ตรงไหนก็ทำนายออกมาต่าง ๆ นานา เรียกว่า กระดูกทำนาย หรือ oracle bone จะมีการเขียนอักษรจีนบนไม้ไผ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยราชวงศ์ฮั่น มีจารึกที่เขียนบนโลหะ จารึกบนแผ่นภาชนะสำริด เขียนบนกระกาษเขียนบนผ้าไหม บนหิน ปัจจุบันนิยมใช้คอมพิวเตอร์เขียนตัวอักษรจีน มีฟอนท์ต่าง ๆ


ตัวอักษรบนกระดองเต่าและกระดูกวัว


จารึกบนไม้ไผ่


จารึกบนโลหะ


ภาพนี้เป็นจารึก บทกวีของหลี่ไป๋ (ค.ศ. ๗o๑ - ๗๖๒) กวีเอกสมัยราชวงศ์ถัง






ภาพนี้ข้าพเจ้าวาดเองตามบทกวีที่เขียนในจารึก (slide ที่แล้ว) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางล่องเรือไปตามแม่น้ำแยงซีเกียง หรือ ฉางเจียง บริเวณนั้นมีโตรกเขา ๓ โตรก (ภาษาจีนเรียกว่า ซานเสีีย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Three Gorges) มีโครงการชลประทาน โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเมืองสมัยสามก๊กที่เรียกว่า ไป๋ตี้เฉิง หลี่ไป๋ กวีสมัยราชงศ์ถัง แต่งบทกวีกล่าวถืงเมืองนี้ คนจีนนิยมไม่วาดภาพก็เขียนลายมือส่งให้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่จีนจะเขียนลายมือมอบให้กัน เช่น ตรงหน้ามหาวิทยาลัยก็มักจะเชิญนักปราชญ์ซึ่งเป็นนักการเมืองใหญ่เขียนลายมือให้

ข้าพเจ้าลองเขียนภาพบรรยายเรื่องตามที่พรรณนาในบทกวีของหลี่ไป๋ กวีพูดถึงว่า ตอนรุ่งอรุณออกจากเมืองไป๋ตี้ ในท่ามกลางเมฆหลากสี ล่องเรือพันลี้กลับถืงเมืองเจียงหลิง ใช้เวลาวันเดียว และสองฟากฝั่งมีลิงร้องเสียงไม่สิ้น เรือน้อยเคลื่อนคล้อยไปตามหมื่นช่องผา

สมัยนี้ตอนที่ไปไม่เห็นมีลิงสักตัว เขาบอกว่าที่ซานเสียไม่มีลิง เพราะว่าเจริญแล้วลิงหนีหมด วันดีคืนดีที่เสี่ยวซานเสีย หรือโตรกเขาเล็กก็อาจจะพอเห็นลิง เพราะยังไม่พลุกพล่าน ที่ไป๋ตี้เฉิงมีแผ่นหินที่จารึกลายมือท่านโจวเอินไหลเขียนบทกวีบทนี้

ภาพที่ข้าพเจ้าวาดตามบทกวีนี้ "เจ่าฟาไป๋ตี้เฉิง-ออกจากเมืองไป๋ตี้ยามรุ่งอรุณ" ต่อมาเพื่อน อ.บ.๔๑ ตั้งชื่อภาพให้ว่า ""กวีคืนถิ่น"







อักษรจีนมีหลากแบบหลายสมััยที่เขียนบนกระดองเต่าเรียกว่า เจี๋ยกู่เหวิน

ส่วน จินเหวิน เป็นอักษรที่เขียนในโลหะ จิน แปลว่า ทอง คนจีนเขาเรียกอะไรที่เป็นโลหะว่า จิน ทั้งนั้น จินถง คือ ทองแดง

จ้วนซู อักษรที่เน้นความสวยงามแบบที่เขียนบนตรา

ลี่ซู อักษรเวลาเขียนเรื่องที่เป็นราชการ

ไข่ซู เป็นลายมือมาตรฐานธรรมดาเรียกว่า ตัวบรรจง เวลาเขียนไข่ซู เขียนง่ายหน่อย





พวกมีศิลปะคนที่เขียนลายมือสวย ๆ จะเขียนสิงซู
เป็นลายมือหวัดแกมบรรจง








ที่ว่ายากเป็นที่นับถือกันสุดยอดต้องเขียน เฉ่าซู คำว่า เฉ่า มีหลายความหมาย แปลว่า หญ้า รีบร้อน เร่งด่วน ลวก ๆ เราจะแปลว่าลายมือไก่เขี่ยก็ไม่ใช่ เขียนเป็นศิลปะเรียกว่า ตัวหวัด ลายมือแบบนี้ ท่านประธานเหมาเจ๋อตุงชอบเขียน





รายละเอียดหนังสือ
ศิลปะจีน ปาฐกถาพระราชนิพนธ์
ในสมเด็จพระเทพรันตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕o จำนวน ๑oooo เล่ม
สำนักพิมพ์ นานมบุคส์พับลิเคชั่นส์
ISBN 978-974-8327-22-8
ปกอ่อน จำนวน ๑๖๖ หน้า ราคา ๑๙๕ บาท






ไปค้นตัวอักษรแบบหวัดที่เคยหัดเขียนไว้มาโชว์ เขียนตามต้นฉบับที่เป็นอักษรคู่​ (ตุ้ยเหลียน) แต่เทีียบกับอักษรที่สมเด็จพระเทพฯท่านทรงบอกไว้ ดูแล้ว น่าจะเป็นแบบตัวหวัดแกมบรรจงมากกว่าเนาะ














ส่วนอันนี้เป็นตัวอักษรที่เขียนแล้วได้ลงในวารสารของ O.C.A
เสียดายที่ไม่ได้ประทับชื่อเพราะตอนนั้นยังไม่มีตราประทับ


ต้นฉบับ





ปีที่แล้วเพื่อน ๆช่วยกันโหวตให้ติดกลุ่มบล๊อคศิลปะก็เป็นปลื้มจะแย่แล้ว มาปีนี้ได้เข้าวินด้วย แถมได้รางวัลในสาขาที่ชอบอีกตะหาก ต้องขอบคุณสำหรับทุกคะแนนที่โหวตให้ และเพื่อนบล๊อคทุกท่านที่แวะมาแสดงความยินดีนะคะ


บีจีจากเวบ chaparralgrafix.com
ไลน์จากคุณขุนพลน้อยโค่วจง
ภาพในกล่องเม้นท์จากเวบ forum.pfw.in.th


Free TextEditor


Create Date :11 มกราคม 2552 Last Update :7 ธันวาคม 2552 11:52:56 น. Counter : Pageviews. Comments :77