bloggang.com mainmenu search
จิตรกรจีนผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพของคนจีนสมัยโบราณ ได้สั่งสอนนักเรียนเกี่ยวกับการวาดภาพต้นไผ่ด้วยวิธีการที่น่าประทับใจดังนี้

“ก่อนการวาดรูป พวกเราควรจะนึกไว้ก่อนว่าจะเคลื่อนลีลามืออย่างไร” การเคลื่อนไหวลีลามือในการวาดภาพ ก็เหมือนกับการเคลื่อนไหวมือในการประดิษฐ์ตัวอักษร คุณควรจะนั่งหรือยืนตัวตรง หากคุณต้องการวาดภาพบนกระดาษ พัด ที่มีขนาดไม่เกิน ๒ ตารางฟุต ด้วยท่าทางที่เหมาะสมคุณอาจจะนั่งก็ได้ สำหรับภาพวาดที่มีขนาดใหญ่คุณจะต้องยืนตรง โดยให้แขนและข้อมือออกจากโต๊ะ ความจริงแล้วคุณกำลังถือพู่กันอยู่

โต๊ะควรจะมีความสูง ๔/๑o ของความสูงของคนวาด และบนโต๊ะควรจะกว้างและเรียบ คลุมด้วยผ้าปูที่นอนเก่าๆหรือกระดาษหยาบที่ดูดซับได้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้หมึกเปื้อนทะลุพื้นผิวโต๊ะ นอกจากนี้กระดาษหยาบที่ปูไม่ควรจะยับหรือย่น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการวาดรูป ผู้ที่เริ่มฝึกหัดควรจะเรียนรู้การจับพู่กันให้ห้อยลงเสียก่อน และควรจะซื้อที่ใส่หมึก แท่งหมึก ที่แบ่งน้ำ และชามจีนอีกสักสองสามใบ สำหรับผสมหมึกและแต้มหมึก

นอกจากนั้นควรจะมีพู่กันขนตั้งแต่ชนิดนุ่มไปจนถึงขนแข็ง หรือว่าทั้งสองอย่างโดยมีขนาดแตกต่างกัน วางแท่งหมึกและพู่กันทางด้านขวาของโต๊ะในการวาดรูป ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองสามส่วน เมื่อวาดแต่ละส่วนเสร็จแล้วให้แขวนภาพ แล้วมองในระยะไกลว่าเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ หลังจากนั้นจึงวาดส่วนต่อไป ในกรณีที่มีเรื่องราวในภาพที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดวาดองค์ประกอบ และวาดลงรายละเอียดที่ต้องเสียเวลามาก “ใช้เวลาสิบวันในการวาดภูเขา และ ห้าวันในการวาดลำธาร” ซึ่งก็หมายความว่า จิตรกรควรจะวางแผนการวาดภาพในแต่ละส่วนเป็นอย่างดีจนกว่าภาพจะเสร็จ"










ความสำเร็จสูงสุดในการวาดภาพต้นไผ่ คือการเรียนรู้ที่จะใช้พู่กันจีนอย่างชำนาญ


ก่อนอื่น ต้องเรียนรู้ในการจับพู่กันจีนเพื่อการวาดภาพอย่างถูกต้อง ให้จับด้ามพู่กันให้แน่น โดยวางนิ้วหัวแม่มือของคุณไปทางด้านซ้ายของพู่กันจีน และนิ้วชี้และนิ้วกลางอยู่ทางด้านขวา การทำเช่นนี้ทำให้จับพู่กันได้มั่นคง นอกจากนี้ยังช่วยนิ้วก้อยและนิ้วนางช่วยในการประคองพู่กันด้วย การจับเช่นนี้ทำให้ด้ามพู่กันอยู่ในแนวตั้งกับกระดาษ ดูภาพประกอบ




เมื่อวาดภาพต้นไผ่เล็ก ๆ ผู้วาดอาจจะนั่งลงบนเก้าอี้และพักข้อมือลงบนโต๊ะเบา ๆ ท่านี้ยังเหมาะสมกับการวาดภาพที่เนี๊ยบและมีการใส่รายละเอียดมาก




ในการวาดภาพขนาดใหญ่หรือภาพที่มีเนื้อกว้าง ข้อมือและข้อศอกควรจะยกขึ้นเหนือโต๊ะ และการจับพู่กันควรจะอยู่ใกล้กับปลายด้ามพู่กัน ดังแสดงไว้ในภาพ

การวางข้อมือในลักษณะนี้ทำให้เคลื่อนไหวได้กว้างขึ้น และทำให้การเคลื่อนไหวของพู่กันแน่นอนขึ้น คือสามารถใช้พู่กันได้ในพื้นที่ ๆ กว้างที่สุดและสามารถใช้แรงได้มากที่สุดเช่นกัน

การวาดภาพโดยการจับพู่กันไว้ในแนวดิ่งกับผิวกระดาษนี้ เรียกว่าการวาดโดยใช้จุดศูยน์กลางของพู่กัน และมักจะใช้ในการวาดภาพต้นไผ่ไม่ว่าจะถือพู่กันในมืออย่างไรก็ตาม

การควบคุมพู่กันมีขั้นตอนพื้นฐาน ๕ ระดับด้วยกัน

การวางลง
การลากพู่กันขึ้น
การยกขึ้น
การกด
การเปลี่ยนทิศทาง


การวางลง คือการใช้พู่กันวาดลงบนกระดาษตามที่ต้องการ ผู้วาดจะกำกับพู่กันเพื่อวาดตามความต้องการ จากซ้ายไปขวา จากบนมาล่าง และในทางกลับกันอื่น ๆ เขาอาจจะลากปลายพู่กันไปข้างหน้า เหมือนกับดึงเส้นเชือกหรือผลักมันราวกับผลักก้อนหิน

วิธีการใช้พู่กันที่แตกต่างกัน จะให้คุณภาพการวาดที่แตกต่างกันในการแสดงความเบา ความหนัก ความแน่น ความแม่นยำ ความกระด้าง ความสง่างาม และอื่น ๆ ทันทีที่วาดภาพเสร็จ พู่กันจะถูกยกขึ้นจากกระดาษ การยกพู่กันจะต้องทำอย่างประณีตและสะอาด บางครั้งต้องยกพู่กันเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ขณะที่ปลายพู่กันจะยังคงสัมผัสกระดาษอยู่ การทำเช่นนี้เป็นประโยชน์ในการวาดเส้นบาง ๆ อย่างรวดเร็ว ปลายพู่กันเมื่อถูกกดลงบนกระดาษ เส้นหมึกก็จะหนาและหนักมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างต่อไป คือจิตรกรจะเปลี่ยนทิศทางที่จะวาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของเส้นที่วาด ด้วยการควบคุมพู่กันดังกล่าว เส้นที่วาดอาจจะปรากฏออกมาในลักษณะที่ราบเรียบหรือขรุขระ และอาจแสดงความว่างเปล่าหรือเส้นหมึกที่ขาดไม่ต่อเนื่อง โดยใช้หมึกที่ปลายพู่กันจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากการวาดภาพโดยใช้จุดศูยน์กลางของพู่กันมาแล้ว ยังมีเทคนิคการใช้ปลายพู่กันและด้านข้างของพู่กัน และเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีว่า พู่กันได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีตเพื่อการใช้งาน เช่นขนซึ่งเป็นแกนของพู่กันมีความยาวมากกว่าที่อยู่โดยรอบ ดังนั้นในการใช้จุดกลางพู่กันให้เหมาะสมนั้น จะต้องจับพู่กันอย่างมั่นคงและตั้งตรง เพื่อให้แกนอยู่ตรงกลางในขณะที่ลงพู่กัน และมักใช้สำหรับการวาดโครงร่าง จุด และอื่น ๆ เมื่อใช้ด้านข้างของพู่กันด้ามพู่กันจะเอียงไปด้านหนึ่ง ตัวพู่กันและปลายพู่กันจะอยู่ด้านริมของด้ามพู่กัน เทคนิคการใช้ด้านข้างของพู่กัน ใช้สำหรับการป้าย การทำโทนสีเข้มไปถึงสีอ่อน







เนื่องจากเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการใช้พู่กันจีนของคุณ จึงขอทบทวนจุดต่าง ๆ ดังนี้


การใช้พู่กันวาดภาพอาจจะแบ่งออกเป็น “การวาดภาพโดยใช้จุดศูยน์กลางของพู่กัน” (การวาดภาพในแนวตั้ง) และ “การวาดโดยใช้ด้านข้างของพู่กัน” (การวาดภาพในแนวเอียง) ในการวาดโดยใช้จุดศูยน์กลางของพู่กันโดยทั่วไปมักจะใช้พู่กันชนิดขนแข็ง และพู่กันชนิดขนนุ่มสำหรับการวาดโดยใช้ด้านข้างของพู่กัน จะจับพู่กันในท่าซึ่งจิตรกรจีนเรียกว่า “พู่กันห้อย” เพื่อวาดโดยใช้ด้านข้างของพู่กันดังแสดงไว้ในภาพ




พูดกันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ในการวาดโดยใช้ด้านข้าง พู่กันควรจะเอียงทำมุม ๓o องศากับหน้ากระดาษ การใช้ด้านข้างของพู่กันสามารถทำให้การลงสีอ่อนได้รวดเร็วโดยใช้พู่กันขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการวาดด้วยพู่กันอีกหลายชนิดที่ควรจะทราบเช่นกัน

“การวาดเป็นจังหวะ” พู่กันจะเคลื่อนไปเหมือนกับการแตะ เช่น การวาดจุด

“การวาดอย่างรวดเร็ว” พู่กันจะเคลื่อนไหวลากลงบนหน้ากระดาษอย่างรวดเร็ว

“การวาดแบบลาก” ปลายของพู่กันเคลื่อนนำไปก่อน และส่วนที่เหลือตามไปด้านหลัง ภาพต่อไปนี้แสดงการลงพู่กันด้วยเทคนิคต่าง ๆ









ในการวาดภาพต้นไผ่ให้จำกฎเหล่านี้ไว้คือ แกนด้านข้างของพู่กันจีนมีความเชื่อมโยงกันภายใน ทำให้คุณมีเครื่องมือทางศิลปะที่มีความยืดหยุ่น

เมื่อคุณซื้อพู่กันจีนอันใหม่ คุณจะพบว่าขนของพู่กันมีปลอกสวมป้องกันอยู่ ให้เอาปลอกทิ้งไป และอย่าพยายามหาปลอกมาทดแทนเพราะมันจะทำลายขนของพู่กัน

ในการเตรียมพู่กันเพื่อการวาดรูป ให้ล้างพู่กันด้วยน้ำเย็นแล้วกดพู่กันลงเบา ๆ แล้วพลิกพู่กันพื่อให้ขนแยกออกจากกัน ต่อจากนั้นให้กลิ้งขนพู่กันไปด้านข้างเพื่อกำจัดน้ำส่วนเกินออก ตอนนี้ก็พร้อมที่จะจุ่มลงในหมึกแล้ว

ให้ใส่หมึกเล็กน้อยลงในจานสีตื้น ๆ พร้อมกับพู่กันและเติมน้ำลงไปจำนวนเล็กน้อย คนให้เข้ากันและคุณจะได้หมึกโทนสีเทา ยิ่งเติมน้ำมากขึ้นเท่าใดสีเทาของหมึกก็จะอ่อนลงเท่านั้น กลิ้งพู่กันไปที่ด้านข้างของขวดหมึกเพื่อกำจัดหมึกส่วนเกินออกไป และห้ามจุ่มหมึกโดยใช้ปลายพู่กันทิ่มหรือกระแทกแรง ๆ บนจานสี เพราะจะเป็นการทำลายขนของพู่กัน ทำให้ปลายขนพู่กันแตก จำไว้ว่าพู่กันเป็นหนึ่งใน “ทรัพย์สมบัติสี่อย่างในห้องเรียน”

ในการใช้พู่กันอย่างชำนาญนั้น คุณจะต้องเข้าใจความสามารถของมัน รวมทั้งธรรมชาติและความดูดซึมของกระดาษด้วย สิ่งเหล่านี้เป็น “จุดที่ดี” ของการวาดภาพในการวาดภาพในการจัดการกับงานศิลปะของคุณ วัสดุได้เป็นธรรมชาติอย่างที่สองรองจากตัวคุณ และเมื่อควบคุมพู่กันได้แล้วนั้น คุณจะสามารถวาดภาพได้อย่างสบายใจ และทำให้คุณมีความชำนาญในศิลปะการวาดภาพอย่างมีอิสระในอารมณ์ นักเขียนภาพผู้ยิ่งใหญ่ของจีนโบราณได้กล่าวไว้ว่า “ในการที่จะเป็นจิตรกรที่ดี ผู้นั้นจะต้องเป็นนายของพู่กัน ไม่ใช่เป็นทาสของพู่กัน”




ข้อความในบล๊อคนี้นำมาจากหนังสือ "เส้นสายพู่กันจีน"
เรียบเรียงโดย ณัฐพัฒน์
พิมพ์ที่ สนพ.วาดศิลป์พับลิชชิ่ง
บริษัทธนบรรณจัดจำหน่าย
ราคา ๑๑o บาท








นึกได้ว่าเคยซื้อหนังสือภาพวาดของจีนไว้เล่มนึงเลยไปค้นดู ในเล่มมีรูปเกี่ยวกับไผ่ส่วนใหญ่ หน้าแรกๆมีรูปบอกวิธีวาดพร้อมคำบรรยาย เขียนตัวแบบหวัดเลยอ่านไม่ออกว่าเขียนอะไรมั่ง มีทั้งหมดแปดรูป สแกนมาให้ดู ไว้บล๊อคหน้าจะให้ดูรูปสวยๆในเล่มค่ะ

หน้าปก




























บีจีจากเวบ chaparralgrafix.com
ไลน์จากคุณขุนพลน้อยโค่วจง


Free TextEditor


Create Date :07 สิงหาคม 2551 Last Update :1 มีนาคม 2555 19:42:30 น. Counter : Pageviews. Comments :45