bloggang.com mainmenu search

Chinese NewyearC

ภาพจากปฏิทินบริษัท PTT Lubricants



วันปีใหม่จีน หาเรื่องจีน ๆ มาอัพบล็อกฉลองให้เข้ากับเทศกาล ตั้งใจจะอัพเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่แล้วแต่เขียนไม่ทัน เลื่อนมาอัพปีนี้ เป็นเรื่องของศิลปินจีนรุ่นใหม่ที่วาดภาพม้าได้มีพลังและงดงามมาก คือ ท่านสวีเปยหง นสพ.กรุงเทพธุรกิจลงเรื่องราวของท่านไว้เมื่อต้นปีที่แล้ว เข้าเวบไปดูอีกทีตอนจะเขียนบล็อก ปรากฏว่ารูปหายเกลี้ยง โชคดี copy เนื้อหากับเซฟรูปไว้ เสียดาย รูปมีแค่สองสามรูปเอง แต่งานนี้ป๋ากูช่วยได้ หารูปงาม ๆ เยอะเลย อย่างที่บอกว่าอัพบล็อกช้า เลยขออนุญาตท่านผู้เขียนแปลงสาส์นนิดนึง เปลี่ยนคำว่า "ปีนี้" เป็น "ปีที่แล้ว" ค่ะ



新正如意 新年发财 ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้
วันปีใหม่จีนนี้ขอให้เพื่อน ๆ มีความสุขมาก ๆ สุขภาพแข็งแรง
การงานราบรื่นและประสบความสำเร็จ เซ็งลี้ฮ้อ ๆ มีเงินใช้ไม่ขาดมือ
โชคดีตลอดปีและตลอดไป สุขสันต์วันตรุษจีนจ้า





บล็อกคุณปอนอาทิตย์นี้

ดอกดวงใจ



บล็อกเสพงานศิลป์ล่าสุด

เสพงานศิลป์ ๑๘๙
เสพงานศิลป์ ๑๙o









5

ภาพจาก dashuhua.com


ปีม้า กับ สวีเปยหง
ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม



ปีที่แล้วเป็นปีม้า เราจึงเห็นรูปม้ากันเยอะ แต่มีรูปม้าอยู่รูปหนึ่งที่สะดุดตาและใช้กันมาก เขียนด้วยพู่กันและวิธีเขียนภาพแบบจีน ลักษณะม้ากำยำ ขาม้ามีกล้ามเนื้อใหญ่แข็งแรง ท่วงท่าของม้าโจนทะยานด้วยพลังเต็มเปี่ยม ดังแสดงในรูปที่ ๑ ที่จริงแล้ว ผู้ที่คุ้นเคยกับเรื่องราวจีน ๆ จะพบรูปนี้บ่อย ๆ แต่น้อยคนนักจะทราบว่า ผู้เขียนรูปนี้คือจิตรกรชื่อดังในยุคจีนใหม่ซึ่งเชี่ยวชาญการเขียนรูปม้าโดยเฉพาะเหนือคนอื่นใด นามว่า “สวีเปยหง” ผู้เขียนเองคุ้นเคยกับภาษาจีนดี แต่ก็ไม่เคยรู้จักจิตรกรผู้นี้จนกระทั่งปีม้าปีที่แล้ว



6

ภาพจาก dixiao.org



สวีเปยหง (徐悲鸿) (“สวี” เป็นแซ่ ๆ หนึ่ง “เปย” แปลว่าเศร้า “หง” แปลว่าหงส์) เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๑๘๙๕ ในปีที่ราชวงศ์ชิงลงนามสัญญาชิโมโนเซกิยอมแพ้ญี่ปุ่น ในตำบลฉี่ถิงเฉียว อำเภออี๋ซิง มณฑลเจียงซู (江苏省宜兴县屺亭桥镇)



1

ภาพจาก tieba.baidu.com



เปยหง (ซึ่งไม่ใช่ชื่อตั้งแต่เกิด) เกิดในครอบครัวผู้คงแก่เรียน บิดาเป็นจิตรกรผู้ที่พอมีชื่อเสียงในท้องถิ่น เป็นผู้สัตย์ซื่อ เมตตากรุณา สมถะไม่หวังลาภยศ เขาเริ่มเรียนหนังสือกับบิดาตั้งแต่อายุ ๖ ขวบและเริ่มหัดเขียนรูปตั้งแต่ ๙ ขวบ เขาขยันและเรียนรู้อย่างรวดเร็วจนสามารถช่วยบิดาระบายสีในรูปเขียนได้ เมื่ออายุ ๑๓ ขวบ บ้านของเขาประสบอุทกภัยทำให้ครอบครัวที่ลำบากอยู่แล้วยิ่งลำบากขึ้นไปอีก



2

ภาพจาก namoc.org





ภาพจาก xinhuanet.com



ในปี ๑๙๑๑ (ซุนยัดเซนโค่นล้มราชวงศ์ชิง) และเขาอายุ ๑๗ ปี บิดาบังคับให้เขาแต่งงานกับสาวชาวนาและให้กำเนิดบุตรในปีถัดมา เขาตั้งชื่อบุตรว่า 劫生 (เจี๋ยเซิง) แปลว่า “ผู้ปล้นเอาชีวิตไป” เขาเปลี่ยนชื่อของตนเป็น 悲鸿 เพื่อเป็นการคัดค้านด้วย ไม่นานหลังจากนั้น ทั้งภรรยาและบุตรก็เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ ชื่อสกุล 徐悲鸿 แฝงไปด้วยความเศร้าและอุดมคติที่มุ่งมั่นบรรลุเป้าหมาย แปลตามตัวว่า “หงส์อันเศร้าสร้อยค่อยๆ โผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า” เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ ๕๙ ปี ในยุคจีนสมัยใหม่ จิตรกรผู้มีชื่อเสียงในระดับเดียวกับสวีเปยหง มีอีก ๒ คนได้แก่ 任伯年 (เริ่นป๋อเหนียน) ซึ่งเสียชีวิตในปีที่สวีเปยหงเกิดพอดีด้วยอายุ ๕๖ ปี 傅抱石 (ฟู่เป้าสือ) เสียชีวิตเมื่ออายุ ๖๑ ปี



8

ภาพจาก ltsf.com





ภาพจาก xinhuanet.com



ในยุคนั้น เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจีน จึงเต็มไปด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มากมาย สวีเปยหงได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งให้ส่งรูปเขียนเข้าประกวด เขาจึงได้ส่งไปและได้รับรางวัลที่ ๒ แม้ว่ารางวัลดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตในวงการ แต่ก็ทำให้เขามีกำลังใจเป็นอย่างมากและเกิดความคาดหวังกับการเสาะแสวงหาโอกาสในเซี่ยงไฮ้



7

ภาพจาก artron.net



ปี ๑๙๑๒ เขาอายุ ๑๘ ปี สวีเปยหงออกจากบ้านไปเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งแรกโดยอยากจะหาสถานที่เรียนการเขียนภาพแบบตะวันตก แต่ก็หาไม่ได้ แม้จะไม่สมหวังแต่ก็ทำให้เขาเห็นโลกอันกว้างใหญ่ในอันที่จะท่องเตลิดต่อไป ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เขาพบโฆษณาโรงเรียนสอนการเขียนภาพแบบตะวันตกของ刘海粟 (หลิวไห่ซวี่) ในเซี่ยงไฮ้ จึงได้เดินทางไปเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งที่ ๒ เพื่อการนี้ แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากพบว่าโรงเรียนดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์แม้แต่อย่างเดียว และเดินทางกลับบ้าน





ภาพจาก xinhuanet.com



ปี ๑๙๑๔ เขาอายุ ๒o ปี บิดาถึงแก่กรรม เขาจึงต้องแบกภาระครอบครัวโดยการรับงานสอนวิชาเขียนรูปในโรงเรียน ๓ แห่งในบริเวณใกล้เคียง วัน ๆ ต้องเดินทางเกือบ ๆ ร้อยกิโลเมตร ความตรากตรำเช่นนี้ทำให้เขารู้สึกชีวิตไร้ประโยชน์ ในฤดูใบไม้ผลิของปี ๑๙๑๕ เขาส่งรูปเขียนของเขาให้คนรู้จักในหมู่บ้านที่ไปอยู่มหาวิทยาลัยฝูตั้นในเซี่ยงไฮ้เพื่อฝากฝังให้กับอธิการบดีของที่นั่น รูปเขียนเป็นที่ชื่นชอบของอธิการมาก เขาจึงเดินทางไปเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งที่ ๓ เพื่อพบกับอธิการ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธด้วยเห็นว่าเขายังอายุน้อยเกินไป คำตอบนี้เปรียบเสมือนฟ้าฝ่ากลางฤดูแล้ง เพราะว่างานสอนก็ได้ลาออกแล้วและเงินทองที่มีทั้งหมดก็ใช้จนไม่เหลือแล้ว หลังจากนั้นเพื่อนของเขาได้แนะนำงานเขียนรูปประกอบหนังสือที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอีก เขาหมดอาลัยตายอยาก เดินไปที่แม่น้ำหวงผู่ของเซี่ยงไฮ้ อยากจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่เลิกล้มความตั้งใจและเดินกลับบ้านในที่สุด





ภาพจาก xinhuanet.com



ที่หมู่บ้านของเขานั่นเอง หมอที่รู้จักกันเห็นใจเขาจึงรวบรวมเงินก้อนหนึ่งให้เขากลับไปที่เซี่ยงไฮ้อีกเป็นครั้งที่ ๔ คราวนี้ได้รับการอุปการะจากคหบดีให้ไปพักและเขียนรูปที่บ่อนของเขาในเวลากลางวัน แต่อยู่ได้ไม่นาน ผู้อุปการะล้มละลาย เขาจึงต้องเร่ร่อนอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็พยายามวาดรูปม้าขึ้นรูปหนึ่งส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ภาพเขียนของพี่น้องตระกูลเกา ปรากฏว่าเกาเจี้ยนฟู่พอใจมากยกย่องเขาว่าเขียนรูปม้าได้ดีกว่าจิตรกรรูปม้าสมัยราชวงศ์ถังเสียอีก แต่ก็ไม่ได้รับการอุปการะอีก และเงินก็หมดจนต้องนำเสื้อผ้าไปจำนำ





ภาพจาก xinhuanet.com



ในที่สุดเขาสามารถสอบเข้าเรียนสาขาภาษาฝรั่งเศสของมหาวิทยาลัยฝู่ตั้นที่เซี่ยงไฮ้ในปี ๑๙๑๖ ในขณะที่เขาอายุ ๒๒ ปี โดยทำงานไปด้วยและฝึกเขียนภาพลายเส้นเองไปด้วย ปี ๑๙๑๗ ได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปกรรมที่ญี่ปุ่น แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ด้านจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปี ๑๙๑๙ ได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปกรรมแห่งชาติปารีสด้านภาพเขียนสีน้ำมันและลายเส้น ปี ๑๙๒๗ กลับประเทศได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เป็นลำดับ อาทิ หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม วิทยาลัยศิลปกรรมหนานกั๋วแห่งเซี่ยงไฮ้ ศาสตราจารย์ภาควิชาศิลปกรรมมหาวิทยาลัยนานกิง คณบดีวิทยาลัยศิลปกรรมมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตามลำดับ ตั้งแต่ปี ๑๙๓๓ เขาได้เปิดแสดงนิทรรศการจิตรกรรมจีนในฝรั่งเศส เบลเยียม อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี และ รัสเซีย ตั้งแต่เริ่มสงครามต่อต้านญี่ปุ่นเขาได้แสดงภาพเขียนในฮ่องกง สิงคโปร์ และ อินเดีย เพื่อระดมเงินต่อต้านญี่ปุ่น





ภาพจาก xinhuanet.com



เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นแล้ว สวีเปยหงดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ นายกสมาคมผู้ทำงานจิตรกรรมแห่งประเทศจีนและประธานสถาบันจิตรกรรมแห่งชาติ เป็นต้น อันแสดงถึงความยกย่องของผู้คนในวงการต่อฝีมือและการสั่งสมประสบการณ์ทางศิลปกรรมอันสูงส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกฝนวิธีการศิลปกรรมแบบตะวันตกจนเชี่ยวชาญและนำมาหลอมรวมกับภาพเขียนแบบจีน จนมีลักษณะพิเศษโดดเด่นอย่างยิ่ง





"ม้าเผ่น"
ภาพจาก xinhuanet.com



รูปที่ ๑ มีชื่อว่า “ม้าเผ่น” เป็นรูปม้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาเป็นรูปแรก เขียนในปี ๑๙๔๑ ในช่วงของสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่นครั้งสำคัญที่ฉางซา ซึ่งญี่ปุ่นพยายามโหมกำลังเพื่อยึดเมืองฉางซาเพื่อควบคุมเส้นทางคมนาคมระหว่างเหนือใต้ของจีนและเผด็จศึกให้ได้ก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ใจของสวีเปยหงร้อนรนต่อสถานการณ์วิกฤตของแผ่นดินแม่ ใช้สีดำที่เต็มอิ่มเขียนเส้นเค้าโครงของหัว คอ หน้าอก และ ขาของม้าที่กำยำแข็งแรง แล้วใช้พู่กันแห้งปัดเป็นผมและหางม้าที่ปลิวและตวัดอย่างแข็งแรง ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงการให้กำลังใจต่อเพื่อนร่วมชาติในการต่อสู้อริราชศัตรูด้วยความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว



4A

"ฝูงม้าเผ่น"
ภาพจาก artworki.com



รูปที่ ๒ มีชื่อว่า “ฝูงม้าเผ่น” เขียนในปี ๑๙๔๒ เป็นอีกรูปหนึ่งที่แสดงถึงวิธีการเขียนรูปม้าอันแสดงถึงพลังที่ต้องการสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชาติ ซึ่งเป็นวิธีการที่แตกต่างจากรูปม้าสมัยแรกเริ่มของเขาที่ดูค่อนข้างเป็นอารมณ์ฝันเฟื่องลังเลและเปล่าเปลี่ยวแบบกวี




“จิ่วฟางเกา”
ภาพจาก bbs.voc.com.cn



รูปที่ ๓ มีชื่อว่า “จิ่วฟางเกา” (九方皋) ซึ่งเป็นชื่อคนในสมัยโบราณที่มีความสามารถในการดูลักษณะม้าที่มีฝีมือสุดยอดและเป็นตัวละครเอกในนิยายโบราณของจีน จิ่วฟางเกาดูม้าไม่สนใจดูสี หรือเพศม้า แต่สนใจดูอาการและคุณลักษณะม้า สวีเปยหงเขียนรูปจิ่วฟางเกาเปรียบม้าในปี ๑๙๓๑ ขณะแสดงภาพเขียนที่เบลเยียม เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ชาวจีนในยุคสงครามกลางเมืองและการสร้างชาติให้หันมาสนใจในคุณลักษณะของบุคลากร ม้าสีดำในรูป “จิ่วฟางเกา” เป็นม้าเพียงตัวเดียวในบรรดาม้าที่สวีเปยหงเขียนโดยที่มีสายบังเหียนบังคับม้าอยู่ด้วย อันเป็นการชี้ให้เห็นถึงม้าที่นำมาใช้งานได้ดีจริง ๆ





ภาพจาก xinhuanet.com



ในปี ๑๙๑๙ สวีเปยหงแต่งงานอีกครั้งหนึ่งกับเจียงปี้เหวยและพากันไปเรียนต่อที่ปารีส ทั้งสองมีบุตรสาวหนึ่งคนชื่อ สวีจิ้งเฝ่ย (徐静斐) เนื่องจากมารดาเป็นคนอารมณ์ร้าย บุตรสาวจึงไม่ได้รับความอบอุ่นจากความอ่อนโยนของแม่ อีกทั้งยังมีความทรงจำของการทะเลาะกันอย่างไม่เลิกราตลอดเวลาของบิดามารดา สวีเปยหงป่วยหนักในปี ๑๙๔๔ ด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอักเสบ ผู้ที่นั่งเฝ้าไข้อยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลาคือ เหลียวจิ้งเหวิน (廖静文) สาวน้อยเจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่อายุน้อยกว่าเขา ๒๘ ปี ในที่สุดเขาก็หย่ากับภรรยาคนที่สองอย่างเป็นทางการในปี ๑๙๔๕ และแต่งงานกับเหลียวจิ้งเหวิน ในปี ๑๙๔๖ โดยที่มีอายุมากกว่าลูกสาวสวีจิ้งเฝ่ยเพียง ๖ ปี แต่ลูกสาวก็สนิทสนมและอยู่ด้วยกันกับภรรยาคนใหม่ของบิดาได้เป็นอย่างดี



9

สวีเป่ยหง และ เหลียวจิ้งเหวิน
ภาพจาก kaiwind.com




13

เหลียวจิ้งเหวิน
ภาพจาก xinhuanet.com และ chinaqw.com



ปี ๑๙๕๓ สวีเปยหงเสียชีวิต เหลียวจิ้งเหวินได้รวบรวมผลงานของสวีเปยหงกว่า ๑,๒oo ชิ้น ภาพเขียนโบราณตั้งแต่ราชวงศ์ถังกว่า ๑,ooo ชิ้น หนังสือที่มีคุณค่าต่าง ๆ ศิลาจารึก และ เอกสารล้ำค่ากว่าหนึ่งหมื่นชิ้น มอบให้เป็นสมบัติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้ง ๆ ที่ภาพเขียนจำนวนมากของสวีเปยหงได้เขียนระบุให้เป็นของจิ้งเหวินโดยเฉพาะ แต่เหลียวจิ้งเหวินกลับเห็นว่า ความทุ่มเทของสวีเปยหงล้วนแล้วแต่มุ่งมั่นด้วยความรักที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น จึงไม่ควรเก็บของพวกนี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เหลียวจิ้งเหวินมีบุตรชายกับบุตรสาวกับสวีเปยหงอย่างละหนึ่งคน





ภาพจาก xinhuanet.com



ปี ๑๙๕๓ รัฐบาลเปิดให้บ้านของสวีเปยหงใกล้กับสถานีรถไฟปักกิ่งเป็นอนุสรณ์สถานและสถานที่แสดงผลงานของสวีเปยหง ต่อมาได้ย้ายไปที่ชิงเจียโข่วเนื่องจากการขยายสถานีรถไฟปักกิ่ง เหลียวจิ้งเหวินก็ยังคงเป็นผู้ดูแลรักษาและซ่อมแซมผลงานที่แสดงทั้งหมดของสวีเปยหง ปัจจุบันอายุ ๘o ปี



3

ภาพจาก sina.com.cn



คลิปชีวประวัติของท่านสวีเปย





ภาพและข้อมูลจากเวบ
bangkokbiznews.com
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๓ มี.ค. ๒๕๕๗




Chinese NewyearB

ภาพจากปฏิทินบริษัท MAKRO




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ




บีจีและไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor


Create Date :19 กุมภาพันธ์ 2558 Last Update :24 มกราคม 2563 22:13:41 น. Counter : 6361 Pageviews. Comments :61