bloggang.com mainmenu search


ขอบคุณเพื่อน ๆ มากนะคะที่แวะมาแสดงความยินดีในบล๊อคที่แล้วเยอะแยะ ดีใจที่เราทำบล๊อคได้ถูกใจเพื่อนบล๊อกจนโหวตให้ได้ตำแหน่ง ประทับใจในสำหรับน้ำใจและมิตรภาพที่เพื่อนบล็อกมีให้มาตลอด ขอส่งยิ้มหวาน ๆ แทนคำขอบคุณจากใจค่า ทีนี้ก็มาอ่านภาคจบของบท "การเขียนตัวอักษรจีน" ในหนังสือกันต่อค่ะ







เมื่อพูดด้านการเขียนหนังสือก็อาจจะกล่าวนิดหนึ่ง เรื่องอุปกรณ์การเขียนภาพและเกณฑ์การเขียนตัวอักษร ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะในตัวของมันเอง เราเรียกว่า รัตนะทั้งสี่ในห้องหนังสือ อย่างแรก คือ พู่กัน มีขนาดต่าง ๆ ส่วนมากด้ามใช้ไม่ไผ่ ถ้าจะประดิษฐ์เป็นของศิลปะก็ใช้หิน ใช้หยก ส่วนที่สำคัญคือ ส่วนที่เป็นแปรง นิยมใช้ขนต่าง ๆ กันแล้วแต่ความสะดวก ขนาดต่าง ๆ กัน มีขนแกะ ขนสุนัขป่า พู่กันที่ราคาแพงเขียนได้ละเอียด ทำด้วยขนในหูสุนัขป่า ใช้ขนอะไรสุดแต่จะให้นุ่มให้แข็ง ปัจจุบันอาจใช้วััสดุสังเคราะห์ มีพู่กันสำหรับเขียนในขวด (นิทรรศการที่ด้านหน้าจะมีภาพที่เขียนจากข้างในของขวด) จะเป็นพู่กันที่เขามีอะไรดามให้มันงอ ๆ และเอาเข้าไปในขวดเขียนได้ พยายามลองแล้วแต่เขียนไม่สำเร็จ คงต้องใช้เวลาฝึกนานมาก










หมึก จะมีเป็นแท่ง ๆ เหยาะน้ำใส่ในแท่นฝนหมึก แล้วเอาแท่งนี้ฝนเข้า สมมติว่า อาจารย์ผู้ใหญ่จะเขียนหนังสือเขียนบทกวี ก็จะมีลูกศิษย์เป็นคนนั่งฝนหมึกให้ คนฝนหมึกจะได้รับถ่ายทอดความรู้ ฟังอะไรต่อมิอะไร และดูอากัปกริยาของอาจารย์ด้วย นี่เป็นการเรียนจากอาจารย์อีกแบบหนึ่ง นั่งฝนหมึกรับใช้อาจารย์ การผลิตหมึกก็เป็นศิลปะตั้งแต่เทคนิคในการใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น เขม่า และน้ำมันมาผสมปั้นเป็นก้อนเป็นรูปสวยงาม เป็นรูปดาบ ไวโอลินและปิดทองสวยงาม บางที่ก็เขียนเป็นบทกวี เป็นวิว มีหลายแบบ ปัจจุบันไม่ใช้อย่างนี้แล้ว ทุกคนชอบใช้หมึกใส่ขวดพลาสติกเป็นนำ้มาเทใส่แท่นฝนหมึก ไม่ต้องเสียเวลามานั่งฝนหมึก









กระดาษ ก็มีหลายลักษณะ ส่วนมากทำด้วยเยื่อของพืชต่าง ๆ ข้อสำคัญไม่ใช่กระดาษแบบที่เราใช้ เขาจะต้องใช้กระดาษที่พอเขียนผสมน้ำลงไปจะซึมนิดหน่อย เป็นศิลปะที่เราจะต้องกะให้ได้ว่าจะใส่น้ำเท่านี้ เราใช้ความหนักความเบาของมือแค่นี้จะให้ซึมแค่ไหน นี่ก็เป็นศิลปะทั้งในการวาดภาพและการเขียนตัวอักษร













แท่นฝนหมึก มักจะใช้เป็นหินเนื้อละเอียด นิยมแกะเป็นลวดลายที่สวยงามต่าง ๆ บางทีหินเอามาประดิษฐ์เป็นรูปร่าง แต่งนิดหน่อย เหมือนเป็นศิลปะของมันเองที่มีชื่อเสียงมากแหล่งหนึ่ง อยู่แถวเมืองกวางตุ้ง (กวางโจว)






นอกจากรัตนะทั้งสี่ ยังมีของประกอบอีก ที่สำคัญได้แก่ ตราประทับ คนจีนไม่นิยมเซ็นชื่อ มักใช้ตราประทับ ไม่ใช้หมึก stamp แบบปัจจุบัน แต่ใช้ชาดสีแดง ตัวตราเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ใช้หินหยกแกะตรา ตัวอักษรนิยมใช้จ้วนซู จะเห็นว่าภาพจิตรกรรมบางภาพมีตราประทับหลายตรา ไม่ใช่ว่าหลายคนเขียนภาพ แต่เจ้าของซึ่งมักจะเป็นจักรพรรดิจะประทับตราประจำพระองค์ แสดงว่าพอพระทัยภาพนี้มากจึงลงนามแสดงความเป็นเจ้าของไว้

การแกะตราก็เป็นศิลปะจีนอย่างหนึ่ง เป็นงานอดิเรกของนักปราชญ์หลายท่าน มีเรื่องเล่าในมหาวิทยาลัยปักกิ่งว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จีนอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมาก แต่ว่าในทางการศึกษา จีนไม่ยอมแพ้ จัดให้มีการเรียนการสอนให้ได้ถึงต้องย้ายออกไปนอกกรุงปักกิ่ง ต้องรวมกับมหาวิทยาลัยอื่นเป็น ๓ มหาวิทยาลัยอยู่ด้วยกัน ไม่มีเงินเดือนให้อาจารย์ แต่อาจารย์ก็ยังสอนนักศึกษาอยู่ จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งแกะตราขายหาเลี้ยงชีพ ให้ตัวเองมีกินมีอยู่ได้ เพื่อให้ได้สอนนักศึกษา นับว่าเป็นเรื่องจิตใจแห่งความเป็นครู

ในการเขียนภาพหรือเขียนตัวอักษรยังมีอุปกรณ์ประกอบ เช่น ภาขนะใส่น้ำ หินทับกระดาษ ที่แขวนพู่กัน กระบอกใส่พู่กัน






ภาพจิตรกรรมจีนมีความสัมพันธ์กับบทกวีมาก กวีสมัยราชวงศ์ถังกล่าวว่า ในบทกวีมีภาพ ในภาพมีบทกวี (ซือจงโหย่วฮว่า ฮว่าจงโหย่วซือ) สื่อความว่า ภาพจิตรกรรม คือบทกวีที่ปราศจากเสียง และบทกวีคือภาพเขียนทีปราศจากสี ในรูปเขียนบ่อยครั้งที่กวีเขียนบทกวีไว้ด้วย




บทกวีของตู้มู่ (ค.ศ. ๘o๓ - ๘๕๒) ชื่อ จี้หยังโจวหายชั่งพั่นกวน ("ส่งไปหยังโจวให้พั่นกวนซื่อหานชั่ว" พั่นกวน เป็นตำแหน่งขุนนางในหัวเมือง มีหน้าที่ช่วยงานเจ้าเมืองทั้งในด้านบริหารและตุลาการปน ๆ กัน) บทกวีนี้กล่าวถึงสะพานในทะเลสาบโซ่วซีหู มีใจความเป็นภาษาไทยว่า


เขาเขียวเห็นราง ๆ สายน้ำเห็นไกล ๆ
ที่เจียงหนานปลายชิวเทียน แมกไม้เหี่ยวเฉา
สะพานยี่สิบสี่่ ยามราตรีจันทร์กระจ่าง
สอนนางแก้วเป่าขลุ่ยอยู่หนใด

(เจียงหนานแสนงาม หน้า ๑๘๓)


ประธานเหมาเจ๋อตุงได้เขียนตัวอักษรจีนบทกวีนี้บนแผ่นหิน ประดับไว้ที่ตำหนักว่อซุนไถ ในทะเลสาบโซ่วซีหู เมืองหยางโจว มณฑลเจ้อเจียง









ส่วนบทนี้เป็นบทกวีของหลี่ไป๋ ที่ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ท่านเขียนมอบให้เป็นการส่วนตัว นับว่าเป็นความภาคภูมิใจ เพราะท่านประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินท่องบทกวีสมัยราชวงศ์ถังได้เป็นร้อย ๆ บท และท่านก็ว่าเรียนมาเป็นวิศวกรแต่ก็ต้องเห็นคุณค่าของบทกวี ท่องได้ก็จะซึมเข้าไปในจิตใจ ท่านว่า ข้าพเจ้าเรียนอักษรศาสตร์มา แต่คงท่องสู้ท่านไม่ได้ พอไปส่งท่านที่ที่พักตอนไปภูเก็ต ท่านก็เรียกเข้าไปที่ห้อง ไหนมาท่องกลอนให้ฟังซิ ไม่ต้องท่องกลอนจีน ท่องกลอนไทยให้ฟัง พอท่องท่านก็พอใจ บอกว่ายังท่องกลอนได้ พอจะกลับท่านมอบลายมือของท่านเอาไว้ให้ เป็นบทกวีของหลี่ไป๋ กล่าวถึงว่าสุราอย่างดี สุราที่ปรุงด้วยหัวพืชสมุนไพรอย่างหนึ่ง คนไทยแปลว่า ทิวลิป รินสุราสีอำพันใส่ชามหยก ชมว่าเจ้าของบ้านฉลาดมาก สามารถทำให้แขกมึนเมาได้ คือ มอมเหล้าจนแขกมึน ไม่รู้ว่าที่นี่เป็นบ้านตนหรือบ้านคนอื่น อันนี้เป็นคำชม หมายความว่า ดูแลดี ไม่ใช่มามอมด้วยสุราอย่างเดียว พูดว่ามอมเมาของเราไม่ดี แต่ในที่นี้เป็น sense ที่ดี พูดถึงว่าสามารถที่จะดูแลแขกจนกระทั่งแขกมีความรู้สึกว่า เหมือนอยู่บ้านตัวเอง นับเป็นคำพูดที่ลึกซึ้ง


รายละเอียดหนังสือ
ศิลปะจีน ปาฐกถาพระราชนิพนธ์
ในสมเด็จพระเทพรันตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕o จำนวน ๑oooo เล่ม
สำนักพิมพ์ นานมบุคส์พับลิเคชั่นส์
ISBN 978-974-8327-22-8
ปกอ่อน ราคา ๑๙๕ บาท







เขียนอักษรจีนแบบหวัดมาให้ดูค่ะ เขียนตามลายมือของท่านหวางซีจือ หนึ่งในสี่สุดยอดนักเขียนพู่กันของจีน งวดนี้ใช้กระดาษญี่ปุ่นที่เพิ่งซื้ิอมาลองเขียนดู ปรากฏว่าเขียนแล้วกระดาษย่น ต้องเอาไปรีด พอสแกนออกมาแล้วสีไม่ขาวอย่างกระดาษของจีน ลองปรับพื้นให้ขาวขึ้้น สีตัวหนังสือก็จางลงเลยปรับให้ขาวแต่พองาม กระดาษออกมากลายเป็นสีเงินๆ สวยดีเหมือนกัน


เขียนตัวอักษรตามหนังสือเล่มนี้แหละ
เป็นลายมือแบบหวัดทั้งเล่มเลย



จีจี้บอกวิธีขยายภาพให้ ทำได้สำมะเร็จ ถ้าอยากดูตัวหนังสือแบบใกล้ ๆ ก็คลิกที่รูปได้เลย ขอบคุณจี้ที่ช่วยนะจ๊ะ

















บีจีจากเวบ chaparralgrafix.com
ภาพในกล่องเม้นท์จากเวบ forum.pfw.in.th

ไลน์จากคุณขุนพลน้อยโคว่จง

Free TextEditor


Create Date :18 มกราคม 2552 Last Update :1 มีนาคม 2555 17:47:26 น. Counter : Pageviews. Comments :70