ศีล สมาธิ ปัญญาและการเจริญสติจากอาปานสติ 2014
ความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต ที่เราปรารถนากันนักกันหนาเรียกว่าสันติสุข ความสุขที่เกิดจากความสงบนั้น ต้องอาศัยการควบคุมจิตใจให้อยู่นิ่ง เหมือนกับที่เรามานั่งอยู่นี่ เราสามารถควบคุมร่างกายเราได้ ร่างกายเรานั้น ไม่ใช่เป็นของยากที่จะบังคับ สามารถให้นั่งนิ่งได้ ชั่วโมง สองชั่วโมงนี่ พอบังคับกันได้ แต่จิตใจนี่ ให้มันนิ่งได้แม้กระทั่งเพียงสองสามนาทีก็รู้สึกว่ายากเหลือเกิน ให้มันอยู่กับคำว่าพุทโธ พุทโธ ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ก็รู้สึกว่ามันแสนจะยาก ที่มันยากก็เพราะว่าเราขาดเหตุปัจจัย คือตัวที่จะควบคุมจิตใจนั่นเองตัวที่จะควบคุมจิตใจเราเรียกว่าสติ ความระลึกรู้ ความระลึกรู้หมายถึง ทำให้รู้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ รู้อยู่ว่าใจกำลังคิดอะไรอยู่ ถ้าเรานั่งอยู่ ก็ให้ใจรู้อยู่กับการนั่ง ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ที่เราเรียกว่าอานาปานสติ ถ้ารู้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็ถือว่าเรามีสติควบคุมใจ โดยใช้การกำหนดรู้ลมเป็นเครื่องควบคุมใจ อานาปานะ แปลว่าลมเข้าลมออก

(โอ้ธรรมบรรยายวันนี้วิเศษเหลือเกิน ตอนนี้ฉันเข้าใจแล้วว่า ทำไมความยึดมั่นจึงไม่ดี ยิ่งไปยึดมั่นก็ยิ่งเปนทุกข์มากเท่านั้น พอฉันออกจากห้องเจริญธรรม รองเท้าฉันหาย รองเท้าคู่ใหม่ราคาแพงของฉันเพิ่งซื้อใหม่วันนี้ แล้วฉันก็เริ่มร้องให้หวลหารองเท้าคู่ใหม่ของฉัน...ท่านโกเอ็นก้า)

(มืดที่สุดสว่างไสวที่สุดคือ นายพลอูทินอู อายุ86ปี อดีต ผบ ทบ รัฐบาลทหารเนวิน ถูกริบบำนาญ ถอดยศ และถูกหยามเกียรติ ติดคุก9ปี ถูกขังเดี่ยว เมื่อเขาเริ่มวิป้สนาตอนอายุ54 ปี ชีวิตก็เปลี่ยนไป ความโกรธและควาใเจ็บปวดก็หายไป ทำให้ท่านอายุยืนยาว)
สติแปลว่าการระลึกรู้ อานาปานสติคือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อันนี้ก็เป็นวิธีควบคุมจิตใจให้มันนิ่ง ถ้าจิตใจถูกควบคุมอยู่กับลมได้โดยสม่ำเสมอต่อเนื่องกัน จิตก็จะค่อยๆ สงบตัวลง ค่อยๆ นิ่ง ค่อยๆ นิ่ง และในที่สุดมันก็จะหยุดนิ่งไปเลย เมื่อหยุดนิ่งแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ เกิดขึ้นมาภายในจิตใจ ซึ่งเราไม่เคยสัมผัสมาก่อน เป็นความรู้สึกที่มันว่างเปล่า เวิ้งว้าง เบาอกเบาใจ เกิดความปิติ เกิดความสุข บางทีขนลุกซ่าขึ้นมาในขณะนั้น หรือน้ำตาอาจจะไหลออกมา เพราะเป็นความรู้สึกที่มันอัศจรรย์ใจ เป็นสิ่งที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต นี่คือความสุขที่เกิดจากความสงบ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า นัตถิสันติปรังสุขัง ไม่มีสุขไหนจะเท่ากับความสงบ สุขอื่นที่จะเหนือกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต ไม่มีในโลกนี้ ต่อให้มีเงินมีทองกี่ร้อยล้านกี่พันล้าน สามารถซื้อข้าวซื้อของ สร้างตึกสูงเป็นร้อยๆชั้น มีรถยนต์ราคาคันละสิบๆล้านก็ตาม ความสุขที่ได้จากสิ่งเหล่านั้นไม่เท่าธุลีเมื่อเปรียบเทียบกับความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

สมาธิก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธรรมเบื้องต้นเท่านั้นเอง ยังมีความสุขที่เหนือกว่าสมาธิอีก คือสุขที่เกิดจากปัญญา สุขที่เกิดจากการหลุดพ้นวิมุตติ อันนี้เป็นขั้นตอนของการปฏิบัติที่เราต้องไต่ขึ้นไป จากสุขที่เราได้รับจากการให้ทาน สู่ความสุขที่เกิดจากการรักษาศีล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สู่ความสุขของสมาธิ ขณะที่จิตสงบตัวอยู่นั้น จิตจะไม่มีอาการดิ้น จิต จะไม่หนีไปไหนโดยที่เราไม่ต้องบังคับ คือหลังจากที่เรากำหนดลมหายใจและจิตค่อยๆ สงบเข้าไป จนกระทั่งจิตเข้าไปรวมตัวลง เราเรียกว่าจิตรวมลงเป็นสมาธิ พอรวมตัวลงเป็นสมาธิแล้ว ในขณะนั้นเราไม่ต้องไปกำหนดสติ เราไม่ต้องไปกำหนดลมอีกต่อไป ขณะนั้นเราก็ปล่อยวางลมไป ลมก็หายไป จิตรวมอยู่เฉยๆ ตั้งนิ่งอยู่ในขณะนั้น ถ้าเป็นนักโทษ นักโทษตอนนั้นก็ไม่วิ่งหนีแล้ว นักโทษเหนื่อยวิ่งไม่ไหวก็นั่งอยู่เฉยๆ ตำรวจผู้ที่จะต้องคอยตามจับนักโทษก็ไม่ต้องคอยมานั่งเฝ้า 

เพราะฉะนั้นขณะที่จิตเข้าสู่สมาธิ จึงเป็นขณะที่มีความสบาย ไม่มีความเครียด จากการที่ต้องคอยควบคุมจิตใจ เหมือนกับขณะที่เรากำลังเจริญอานาปานสติ ขณะที่เราเจริญอานาปานสติ จะเกิดความรู้สึกการต่อสู้กัน ระหว่างการมีสติกับการเผลอสติ เวลามีสติก็รู้อยู่กับลม เวลาเผลอสติ ก็ไปคิดอยู่กับเรื่องราวต่างๆ นานา คิดเรื่องโน้นบ้าง คิดเรื่องนี้บ้าง พอได้สติ ก็ดึงกลับมาหาลม ช่วงนั้นมันเป็นเหมือนกับการชักคะเย่อกัน เกิดความตึงเครียดระหว่างการต่อสู้กันสองฝ่าย ฝ่ายที่พยามจะดึงจิตไว้ กับฝ่ายที่พยามจะฉุดจิตให้ไปตามอารมณ์ต่างๆ แต่ถ้าฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าเป็นฝ่ายสติ คือฝ่ายธรรมะ ถ้าสามารถรั้งจิตไว้ให้อยู่ได้ กระทั่งฝ่ายที่จะฉุดจิตให้ไปตามกระแสอารมณ์ต่างๆนั้น หมดกำลังลง จิตก็จะรวมตัวลง พอรวมตัวลงปั๊บ ก็เหมือนกับทีมสองทีมที่ชักคะเย่อกัน พอทีมหนึ่งยอมแพ้ ไม่มีกำลังที่จะต้านทานแล้ว ฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าก็ไม่ต้องออกกำลังอีกแล้ว พอเขาปล่อย ความตึงเครียดมันก็หมดไป จิตเวลาเข้าสู่สมาธิก็เป็นในลักษณะนั้น มันหมดความตึงเครียดไม่ต้องมาคอยควบคุมจิตอีกต่อไป ไม่ต้องตั้งสติแล้วในขณะนั้น คือขณะนั้นสติมีแล้วโดยอัตโนมัติ มันรู้อยู่กับจิต ตัวสติกับจิตตอนนั้นมันรวมกันเป็นหนึ่ง ที่เราเรียกว่าจิตรวม หรือสักแต่ว่ารู้ จิตรู้อยู่ตามลำพังของตัวเอง รู้อยู่ว่าขณะนี้จิตไม่คิดไม่ปรุง จิตไม่คิดอยากจะไปโน่นมานี่ จิตสงบอยู่ จิตอยู่เฉยๆ อันนี้แหละเป็นความอัศจรรย์ใจเป็นความสุขที่ผู้ใดเมื่อได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้แล้ว จะยินดีที่จะสละความสุขต่างๆ ที่เคยมีมาก่อน เคยมีความสุขอยู่กับการอยู่บ้านใหญ่โต อยู่ในพระราชวัง มีบริษัทบริวาร มีข้าวของเงินทองต่างๆ ที่จับจ่ายใช้สอยเหลือเฟือ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายกับจิตดวงนั้นอีกต่อไป จิตดวงนั้นจะพยายามแสวงหาแต่ที่สงบ ที่วิเวก ที่สงัด พยายามหลบหลีกคน เมื่อก่อนนี้เป็นคนที่ชอบสังคม เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นคนเบื่อสังคม ไม่อยากจะพูดคุย ไม่อยากจะเจอใคร เพราะเสียเวลา พูดไปมันก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่เหมือนกับหลบไปอยู่ตามลำพังที่ไหนเงียบๆ นั่งกำหนดจิต นั่งดูลมหายใจเข้าออก ไม่ให้จิตไปคิด ไปปรุง แล้วจิตก็รวมลงเป็นสมาธิ อันนั้นแหละเป็นความสุขที่แท้จริง...กัณฑ์ที่ ๑ พรรษา ๒๕๔๐ (กำลังใจ ๑) “กามสุขเป็นทุกข์” พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





Create Date : 08 ธันวาคม 2557
Last Update : 8 ธันวาคม 2557 11:25:01 น.
Counter : 1079 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

surya21
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 50 คน [?]



New Comments
ธันวาคม 2557

 
3
4
5
7
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
21
22
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog