Group Blog All Blog
|
วินธัย ศรีสุรางค์ เขียน ดองครบปีพอดี ได้อ่านแล้ว ![]() ![]() วินธัย ศรีสุรางค์ เขียน สำนักพิมพ์พิมพ์คำ ในเครือสถาพรบุ๊คส์ 390 บาท 712 หน้า หลังปก จินตนิยายอันร้อยเรียงถ้อยอักษรสุดตราตรึงใจ ว่าด้วยตำนานความรักของรัชทายาทพลัดบัลลังก์ผู้ต้องมาอยู่ในฐานะชนธรรมดาสามัญ นาม วินธัย กับ เจ้าหญิงเกษรา มกุฏราชกุมารีแห่งปาลีรัฐ นับแต่น้อยราชาแห่งคันธาระฝากฝังโอรสที่เหลือเพียงองค์เดียวให้มหาราชแห่งปาลีรัฐเลี้ยงดู ก่อนถูกลอบปลงพระชนม์จนสิ้นวงศ์ วินธัยได้รับการสั่งสอนอบรมจากมหาราชครูผู้ปราดเปรื่องเป็นที่หนึ่งในแผ่นดิน ทว่า เมื่อเริ่มรับราชการ กลับต้องถูกเจ้าหญิงแก่นแก้ว เอาแต่พระทัยองค์หนึ่งจงใจกลั่นแกล้ง ในฐานะองครักษ์ ผู้เป็นเพื่อน เป็นครู และเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพระกุมารี กลับบังเกิดความรักลึกซึ้งเกินใจถ่ายถอน ข้ามความเหมาะสมแห่งฐานันดรทั้งปวง เขาผู้เปรียบดุจพญาอินทรีนกป่า จะหาญกล้านำตนขึ้นเคียงบัลลังก์แสงจันทร์อันทรงสิทธิ์ของปาลีรัฐได้หรือ และปีกที่แข็งแกร่งนี้จะป้องกันอันตรายให้แก่ราชธิดาดวงฤทัยของเขาได้หรือไม่ เกริ่นเอง เด็กชายคนหนึ่งสูญเสียพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ครอบครัวทั้งหมด ตลอดจนยศฐาบรรดาศักดิ์ ต้องพลัดถิ่นฐาน หนีร้อนมาพึ่งเย็นที่คันธาระ ณ ที่แห่งนี้ เขาได้ชื่อใหม่จากราชาแห่งคันธาระว่า วินธัย กาลเวลาผ่านไป เด็กชายตัวน้อย เติบโตเป็นชายหนุ่ม วินธัยได้รับการเลี้ยงดูจากอดีตราชครูแห่งปาลีรัฐ เขาถูกปลูกฝังให้เรียนรู้และใกล้ชิดศิลปวิทยาการทุกแขนง เชี่ยวชาญทั้งทางโลก และทางธรรม อดีตอันขมขื่นถูกฝังกลบ ความใฝ่ฝันของวินธัยมีแค่ได้รับใช้สนองพระบาท ตอบแทนบุญคุณขององค์เหนือหัว แต่แล้วเขาก็ต้องเบนความคิด เพราะเจ้าหญิงจอมซน พระราชธิดาสุดที่รักขององค์กษัตริย์กลับถูกใจ ออกปากขอตัวเขา วินธัยสังกัดหน่วยขององค์หญิงเกษรา นับแต่บัดนั้น คุยกันหลังอ่าน ความรู้สึกหลังอ่าน ถ้าให้เปรียบเทียบหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกับหญิงงามที่ใส่สร้อย มงกุฎ เข็มขัด ต่างหู ประดับอัญมณีเลอค่า แต่พอมอง เหมือนเครื่องสวมใส่ทั้งหลายต่างดึงความสนใจกันและกันเอง จะมองต่างหู สร้อยคอก็เด่น จะมองจี้ เพชรที่ประดับตัวเรือนก็กลบ จะมองความงามคนสวมก็มองไม่ชัด เพราะแสงระยิบระยับจากเครื่องประดับสะท้อนเข้าตา ดีไหม ดี สวยไหม สวย แต่ไม่รู้ว่าจุดเด่นหรือจุดที่ต้องการให้คนจับจ้องคือตรงไหน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะมีส่วนที่โอชอบและรู้สึกติดขัดอยู่รวมกัน เริ่มที่จุดโออ่านแล้วติดขัดก่อน 1. เข้าใจยาก ภาษายากเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญค่ะ ส่วนใหญ่สามารถเดาได้จากบริบทหรือไม่ก็เชิงอรรถก็มีอธิบายไว้ให้แล้ว แต่ความงงของโอส่วนใหญ่มากจากการจัดเรียงประโยค การเลือกใช้หรือละคำเชื่อม และการตัดเปลี่ยนฉาก การจัดเรียงประโยค หลายครั้งคนเขียนใช้กลวิธีเอาหลังขึ้นก่อนหน้า ใช้ผลขึ้นก่อนเหตุ รูปแบบที่ไม่ปกติพอมารวมกับชั้นของภาษาที่บรรจงเลือกเลยทำให้เข้าใจยากค่ะ จากหน้า 15 เธอไม่เคยรู้ ว่าด้วยแสงตาของเธอเพียงเท่านั้น หากเมื่อยามเราพบกันเธอจะยืนเฉย สง่างามอย่างที่เคยเป็น สบตาหญิงอย่างเปิดเผยราวกับหญิงชายซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกันจะทำได้แล้ว ถึงแม้ขณะนั้นมงกุฎแห่งราชกุมารีของปาลีรัฐจะอยู่บนศีรษะของหญิง และเครื่องแบบนายทหารราชองครักษ์จะยังอยู่บนกายของเธอ หญิงก็คงจะต้องพ่ายแพ้แก่กำลังใจซึ่งดูเหมือนเกือบจะพ่ายแพ้มานับครั้งไม่ถ้วน ถวายความเคารพให้แก่เธอ โออ่านย่อหน้าบนไม่เข้าใจเลย เหมือนไม่สามารถประมวลผลแปลความหมายได้ทั้งที่อ่านออก พอมาค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ แยกชิ้นส่วนถึงมองเห็นรูปแบบของคนเขียน อ๋อ เขาเอาหลังขึ้นก่อนหน้าและเปลี่ยนคำเชื่อม จริงๆ ย่อหน้าบนหมายถึงอย่างนี้ค่ะ >>> ยามเราพบกันเธอจะยืนเฉย สง่างามอย่างที่เคยเป็น สบตาหญิงอย่างเปิดเผยราวกับหญิงชายซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกันจะทำได้แล้ว ถึงแม้ขณะนั้นมงกุฎแห่งราชกุมารีของปาลีรัฐจะอยู่บนศีรษะของหญิง และเครื่องแบบนายทหารราชองครักษ์จะยังอยู่บนกายของเธอ >>> เธอไม่เคยรู้ ว่าด้วยแสงตาของเธอเพียงเท่านี้ หญิงก็คงจะต้องพ่ายแพ้แก่กำลังใจซึ่งดูเหมือนเกือบจะพ่ายแพ้มานับครั้งไม่ถ้วน ถวายความเคารพให้แก่เธอ ถ้าประโยคยาว แล้วเป็นลักษณะซ้อนประโยค แนะนำให้ขึ้นย่อหน้าใหม่ไปเลย จะอ่านได้เข้าใจชัดเจนขึ้นค่ะ จากหน้า 555 "ทั้งที่สวมเสื้อผู้ใหญ่ขะมุกขะมอมปลอมมา ร้องไห้น้ำตายังไม่แห้งนั่งมาบนตักพ่อ" ประโยคบนเอาหลังขึ้นก่อนหน้าเช่นกัน เป็นรูปแบบของการเขียนพิเศษของคนเขียน ซึ่งจริงๆ อาจ สามารถเป็นเอกลักษณ์ของงานนั้นๆ ได้นะคะ แต่โอไม่ค่อยชอบเพราะต้องอ่านซ้ำๆ ย้ำความ ถึงเข้าใจ ความหมายคือ ร้องไห้ทั้งที่สวมเสื้อผู้ใหญ่เปรอะเปื้อนนั่นแหละ >>> "ร้องไห้น้ำตายังไม่แห้งนั่งมาบนตักพ่อ ทั้งที่สวมเสื้อผู้ใหญ่ขะมุกขะมอมปลอมมา" การเลือกใช้คำ จากหน้า 22 ตัวเรือนยกพื้นสูงพอประมาณ ประกอบด้วยระเบียงไม้รายรอบ ตั้งกระถางไม้ดอกไม้ประดับอันชิงกันอวดช่อชูใบรับน้ำค้างและแสงแรกแห่งอรุณอย่างแช่มชื่น หลังคาเบื้องบนมุงด้วยตับหญ้าชนิดหนึ่งมัดเป็นฟ่อนหน้าทับซ้อนกันไปบรรจบยอดบนจั่วลาด คลุมด้วยข่ายเชือกอีกครั้งดูแน่นหนา เถาไม้ดอกหอมเลื้อยพาดพันตั้งแต่พื้นดินเลาะรัดระเบียงเกาะผนังขึ้นไปจนถึงหลังคา ย่อหน้าบนตัดคำหนึ่งออกไป โอว่าจะปังเลย คือคำนี้ค่ะ "อัน" เพราะทำให้เยิ่นเย้อ ประโยคสวยอยู่แล้ว ตัวเรือนยกพื้นสูงพอประมาณ ประกอบด้วยระเบียงไม้รายรอบ ตั้งกระถางไม้ดอกไม้ประดับ 2. ระวังสรรพนาม เธอ ใช้ได้ทั้งสรรพนามบุรุษที่ 1 (ตัวผู้คิดหรือผู้เล่าเรื่อง), 2 ผู้ที่สนทนาด้วย และ 3 ผู้ที่เอ่ยถึง เขา ใช้ได้ทั้งสรรพนามบุรุษที่ 1 และ 3 เพราะฉะนั้นเวลาใช้ต้องให้มีการเอ่ยถึงบุคคลนั้นไปอย่างชัดเจนแล้ว หลีกเลี่ยงการใช้เมื่อมีหลายบุคคลเข้าร่วมสถานการณ์ ไม่งั้นงงได้ง่ายมากค่ะ เธอไหน เธอคนพูด เธอคนที่คุยด้วย เธอคนที่เอ่ยถึง เขาไหน นั่นก็เขา นี่ก็เขา ใครกันที่หมายถึง จากหน้า 14 เหมือนเป็นบทบรรยายเรื่อยๆ พอมาเจอย่อหน้านี้ หญิงได้รับจดหมาย ในยามสาย ยามที่ใครๆ หาตัวเธอจนทั่วทั้งค่ายแล้วก็ไม่พบ ชะงักหนึ่งครั้ง สงสัยต่อไปหนึ่งหน้า แล้วต้องย้อนกลับมาอ่านใหม่ ชะงักหนึ่งครั้งจากการเปลี่ยนบทบรรยายบอกเล่าธรรมดามาเป็นบทพูด (ในใจ) ของตัวละคร "หญิง" สงสัยหนึ่งหน้า คือสงสัยว่า "เธอ" นั้นหมายถึงใคร ตัวหญิง หรือตัวเธอคนไหน ซึ่งครั้งแรกโอเข้าใจผิด คิดว่า "เธอ" นั้น หมายถึงตัวของ "หญิง" ซึ่งตรงนี้เป็นความไม่ชัดเจนของการเปลี่ยนฉาก ตัดจากบทธรรมดามาเป็นบทพูดในใจ คนเขียนอาจแก้ไขได้โดยเพิ่มอีกย่อหน้าสั้นๆ เกริ่นเพื่อบอกว่าบทบรรยายสิ้นสุดแล้วนะ ต่อไปเป็นบทพูดในใจนะ จะทำให้เรื่องลื่นไหลขึ้น ไม่เกิดช่องว่างของความไม่ต่อเนื่อง เช่น สมมติเพิ่มบรรทัดนี้แทรกเข้ามาก่อน >> ภาพของใครคนนั้นชัดเจนในห้วงคำนึง เกษราทอดถอนใจ หญิงได้รับจดหมาย ในยามสาย ยามที่ใครๆ หาตัวเธอจนทั่วทั้งค่ายแล้วก็ไม่พบ จากหน้า 326 พระกุมารีเกษราทรงว่ายน้ำแข็งเป็นที่รู้ทั่วไป สันทิฏฐ์นายเวรและหมู่คนที่โดยเสด็จถึงตกใจก็ยังหวังว่าทรงช่วยพระองค์เองได้ ไม่มีใครผิดข้อกำหนดที่ควร ไม่คิดถึงว่าทรงติดอยู๋ใต้กอบัวและหลังคาผ้าเสานุงนัง ก็แล้วเหตุไรต้องเป็นเขา ท่ามกลางหมู่สตรีนับสิบ นายทหารนับร้อย ไม่มีใครเลยสักคนเดียวที่จะเสียสติดเช่นนี้ เจ้าโง่เอ๋ยช่างไม่รู้เลยหรืออย่างไร ว่าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำให้เจ้าต้องฝ่าฝืนกฎระเบียบราชการไปแล้วกี่ครั้ง ทั้งที่ไม่เคยอยู๋ในวิสัยตนเลยตลอดหลายปีที่รับราชการมานั้นจะมีความสำคัญเพียงแค่ 'เจ้านาย' อย่างคนอื่นๆ ลักษณะเดิมค่ะ คืองง เขาไหน ใครคือเจ้าโง่ เหมือนบทรำพึงที่อยู่ๆ ก็โผล่มา แต่ไม่บอกว่าใคร ซึ่งต้องอ่านย้ำๆ หรืออ่านไปก่อนแล้วย้อนมา ไม่เข้าใจทันทีในครั้งแรกที่อ่าน สำหรับโอถือว่าตกในเรื่องการส่งสารให้ผู้รับสารเข้าใจชัด อาจลองเพิ่มชื่อเข้าไปก็ได้ บอกนะว่าเริ่มบทรำพึงด่าตัวเองของนายคนนี้แล้วนะ คนอ่านจะได้ อ๋อ โอเค ปรับตัวเข้าไปได้ ไม่งั้นเหมือนอยู่ๆ บทบรรยายก็ปรับว่าเข้าบทความคิด มันต่อไม่ติดค่ะ โอลองเพิ่มดูนะ เติมตรงไหนก็ได้ เลือกที่ใดที่หนึ่ง >>> พระกุมารีเกษราทรงว่ายน้ำแข็งเป็นที่รู้ทั่วไป สันทิฏฐ์นายเวรและหมู่คนที่โดยเสด็จถึงตกใจก็ยังหวังว่าทรงช่วยพระองค์เองได้ ไม่มีใครผิดข้อกำหนดที่ควร ไม่คิดถึงว่าทรงติดอยู๋ใต้กอบัวและหลังคาผ้าเสานุงนัง ก็แล้วเหตุไรต้องเป็นเขา (วินธัยคนนี้) ท่ามกลางหมู่สตรีนับสิบ นายทหารนับร้อย ไม่มีใครเลยสักคนเดียวที่จะเสียสติดเช่นนี้ เจ้าโง่(วินธัย)เอ๋ยช่างไม่รู้เลยหรืออย่างไร ว่าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำให้เจ้าต้องฝ่าฝืนกฎระเบียบราชการไปแล้วกี่ครั้ง ทั้งที่ไม่เคยอยู๋ในวิสัยตนเลยตลอดหลายปีที่รับราชการมานั้นจะมีความสสำคัญเพียงแค่ 'เจ้านาย' อย่างคนอื่นๆ 3. วรรคและย่อหน้าทำให้สับสน ถ้าประโยคต่อมาไม่เกี่ยวกับประโยคก่อนหน้า ขึ้นย่อหน้าใหม่เลยเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดค่ะ จากหน้า 241 เขาทูลเรื่องที่เกี่ยวกับนายบ่อนจากปากกร และสิ่งที่ตนสั่งมิตรเก่าเอาไว้ มิได้ทูลข้อสงสัยอันน่ากลัวที่เรียนท่านแม่ทัพแต่อย่างใด พอพระทัย "พอพระทัย" ประโยคหลังนี้เป็นคำที่วินธัยสังเกตอาการของเจ้าหญิง ไม่ได้เกี่ยวกับวินธัยพอหรือไม่พอใจใคร ขึ้นบรรทัดใหม่ไปเลยสะดวกสุด บางคนก็ใช้รูปแบบตัวเอน เพื่อแยกนะว่าประโยคหลังกับหน้าเป็นคนละส่วนกัน หน้าคือข้อเท็จจริง หลังคือข้อคิดเห็น >>> เขาทูลเรื่องที่เกี่ยวกับนายบ่อนจากปากกร และสิ่งที่ตนสั่งมิตรเก่าเอาไว้ มิได้ทูลข้อสงสัยอันน่ากลัวที่เรียนท่านแม่ทัพแต่อย่างใด พอพระทัย จากหน้า 362 ธรรมดา เยาวนารีที่ไม่เคยมีรัก ได้รับเปรียบเปรยเทียบถามถึงเรื่องนี้ขึ้นก็มักขวยอาย หาคำตอบมิใคร่ถูก แต่ท่าทางกระทบใจในบางที เหม่อลอยบางขณะ หรือว่าไม่ตื่นเต้นประหม่า มีแต่แววหวานเศร้า เข้าใจเปรียบเปรยจนเกินอายุอย่างนี้น่ะหรือ...คนไม่เคยมีรัก? ประโยคบน สับสนอีกแล้ว ด้วยคำที่ใช้ "หรือว่า" ไม่ใช่คำปกติที่มักใช้ขึ้นต้นประโยค เวลาอ่านเลยไม่รู้จะเว้นตรงไหน ใจความหลักอยู่ที่ใด แนะนำอย่างเดิม ขึ้นย่อใหม่เถิด จะเกิดผล ในที่นี้มีสองความที่ต้องการเอ่ยถึง คือ หนึ่ง ปกติผู้หญิงถ้าไม่เคยรักใคร ถูกแซวถูกถามก็มักเขิน และ สอง ผู้หญิงท่าทางไม่ตื่นเต้น รู้จักเปรียบเปรยความรักนี่น่ะหรือจะไม่เคยรักใคร ลอง >>> ธรรมดา เยาวนารีที่ไม่เคยมีรัก ได้รับเปรียบเปรยเทียบถามถึงเรื่องนี้ขึ้นก็มักขวยอาย หาคำตอบมิใคร่ถูก แต่ท่าทางกระทบใจในบางที เหม่อลอยบางขณะ หรือว่าไม่ตื่นเต้นประหม่า มีแต่แววหวานเศร้า เข้าใจเปรียบเปรยจนเกินอายุอย่างนี้น่ะหรือ...คนไม่เคยมีรัก? 4. จับประเด็นยาก จากหน้า 393 "นึกจะไปก็ไปนึกจะมาก็มา เห็นที่ที่เราอยู่เป็นอะไร ลานสวนสนามเรอะ" ทรงโวยคับห้อง "เกษรา..." ท่านป้าสูดถ้ำยาดม "หม่อมฉันทูลขอพระราชทานอภัยแล้วอย่างไรเพคะ!" เสียงพระนมอัสสิริไม่ลดละ วินธัยได้แต่เข้ามานั่งลงฟังที่มุมห้อง เผื่อว่าจะทรงนึกได้แล้วพอได้ทอดพระเนตรเห็นเขาก็คงพอ ทรงห่วงว่าเขาจะหนีออกนอกวังหรืออย่างไร "ก็เรื่องด่วนนี้หม่อมฉันเห็นว่าสำคัญ" "สำคัญตรงไหน ใครๆ เขาจะไปไหนมาไหนกันวันละร้อยหนไม่จำเป็นและไม่ต้องการ... เราไม่ต้องการให้คอยมาเสนอหน้าขออนุญาตไปทุกคน" ทอดพระเนตรมาทางเขาพอดี "ยกเว้นคนที่สั่งก็พอแล้ว!" "ไม่ได้นะเพคะ ข้าหลวงใกล้ชิดพระองค์จะปล่อยออกไปโน่นนี่ตามใจไม่ได้ เที่ยวเอาเรื่องส่วนพระองค์ไปแพร่" สองคนนี้เถียงกันงงนะคะ ตอนแรกองค์หญิงโวยที่คนออกไปไหนไม่บอกกล่าว (ประเด็นนี้เข้าใจว่าหมายถึงวินธัยคนเดียว) พระนมแก้ตัวแทน มาอยู่ๆ เถียงกันใหม่เป็นพระนมโวยวายว่ามีคนไปไหนไม่ขออนุญาตองค์หญิง องค์หญิงก็เถียงกลับว่าทำไมเรื่องแค่นี้ต้องมาขออนุญาตด้วย สรุปเถียงประเด็นเดียวกัน แต่อยู่ๆ ก็สลับฝ่ายเถียงแบบงงๆ เข้าใจว่าคนเขียนต้องการสื่อถึงสองเรื่อง คือ 1. วินธัยหายไม่บอกกล่าว 2. ข้าหลวงฝ่ายในไปไหนไม่บอกกล่าว แต่พอใช้ฝ่ายเดียวกันมาสลับบทบาทเลยดูแปลกๆ ถ้าไม่ลองเปลี่ยนบทพูดก็ต้องหาวิธีโยงจากเรื่องวินธัยมาเข้าเรื่องข้าหลวงให้ได้ อาจจะให้พระนมเข้าเรื่องก็ได้ เช่น ทีเรื่ององครักษ์องค์หญิงเดือดร้อน แต่ข้าหลวงไม่เห็นเดือดเนื้อร้อนใจเลย ทำนองนั้น ข้างบนเรื่องภาษาซึ่งจริงๆ เป็นวิธีที่คนเขียนสามารถเลือกใช้ได้หลากหลายมากๆ ไม่มีข้อถูกผิดแบบสำคัญ สิ่งที่โอเสนอ ไม่ต้องเชื่อทั้งหมดนะคะ ขืนเชื่อหมดวิถีของตัวคนเขียนก็จะไม่ใช่ของคนเขียนแล้ว แต่จะกลายเป็นของโอแทน เอาเป็น รับรู้ รับฟัง แต่อย่าลืมเขย่า กรองหลายๆ ชั้น แยกน้ำคั้นออก แล้วค่อยเอาไปปรับใช้ เช่น เห็นว่าคนอ่านอย่างโอคนหนึ่ง งงประเด็นนี้นะ คราวหลังก็อาจระมัดระวังบ้าง ฉุกคิดเล็กน้อย แต่อย่าเอามาเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ถ้ามั่นใจว่าฉันทำแบบนี้เพราะฉันมีเหตุผลของฉัน ก็ลุยเลย กลับเข้าเนื้อเรื่อง โอชอบต้น กลาง ค่อน แต่รู้สึกว่าช่วงปลายค่อนข้างเนือย อาจเพราะโอคาดหวังท้ายอลังการด้วยแหละนะ รู้สึกการโยงประเด็นช่วงต้นกับท้ายไม่ค่อยเข้าเนื้อกันด้วย ไม่ว่ายูงทองหรือสีตลา น่าจะเพราะทั้งยูงทองและสีตลาที่ควรจะเป็นแกนหลักยังไม่เด่นพอ เปิดตัวบทแรกยังไม่ปัง ถ้าโอมีแค่บทแรกอยู่ในมือ แล้วต้องเลือกว่าอยากอ่านต่อหรือไม่ โอจะไม่อ่านต่อค่ะ เพราะงง ไม่ได้งงแบบชวนอยากรู้ต่อ แต่เป็นแบบชวนสงสัยว่าตอนต่อไปจะสับสนกว่านี้อีกไหม ไม่รู้สึกถูกดึงดูดค่ะ ลักษณะของเรื่องนี้ โอว่าเล่าเรื่องตามลำดับจะเห็นภาพชัดแล้วรู้สึกต่อเนื่องติดลมมากกว่า เล่าถึงพระนางบ้าง นางเอก เจ้าหญิงเกษรา ชื่อเต็มจำไม่ได้ น้องน้อย เด็กแก่นเซี้ยว ชอบเล่นซน ถูกตามใจตั้งแต่เล็กเลยหุนหัน ไม่กลัวใคร เอาแต่ใจตัวเอง แต่ไม่ลืมเอาใจใส่ผู้อื่น คำจำกัดความ เด็กแผลง ใจดี ถ้าเป็นคนรัก คงเอ็นดู ถ้าเป็นพ่อแม่ คงอยากเอาหัวโขกผนังวันละสามครั้งหลังอาหาร พระเอก วินธัย องครักษ์ที่เจ้าหญิงเกษราไปบังคับเอามาเป็นของตัวเอง นิสัยใจเย็น รักสงบ รอบคอบ รับผิดชอบ ความคิดความอ่านลึกซึ้ง สายตากว้างไกล ไม่เคยโกรธเกลียดใคร ดีไปหมด ข้อเสียเธอคืออะไรช่วยบอกที คำจำกัดความ อีกนิดก็จะบวชละ ถ้าเป็นคนรัก คงรักสุดหัวใจ พร้อมหวาดหวั่นว่าเธอจะทิ้งฉันไปใต้ร่มกาสาวพัสตร์หรือไม่ ถ้าเป็นพ่อแม่ ดั่งแก้วตาดวงใจ บ่นไปเยอะ คิดว่าโอไม่ชอบล่ะสิ ฮ่าๆ จริงๆ เรื่องนี้ชอบนะคะ เข้าประเด็นส่วนที่ชอบเลย 1. หลายเรื่องของคนเขียนมักจะถูกโยงเข้าหาพระธรรมคำสอน แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องนี้ด้วย ซึ่งทำได้ดี กลมกลืนเข้ากับเนื้อเรื่อง และคนอ่านก็ได้รับสารครบถ้วน ไม่โดดออกมาหรือรู้สึกถูกยัดเยียดป้อน ส่วนนี้โอชอบมาก 2. ภาษา ติดเรื่องภาษา ก็ชมเรื่องภาษา ไม่ง่ายที่จะเขียนเรื่องหนึ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างจากเรื่องอื่นใด นอกจากความชอบก็ต้องค้นคว้า ทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องด้วย ของยากมักมีคุณค่า 3. บทสนทนาเป็นธรรมชาติ ในข้อจำกัดความต่างชั้นนั้นๆ นายทหารชั้นเดียวกันคุยกัน ชั้นผู้น้อยคุยกับชั้นผู้ใหญ่ คุยกับลูกชาวบ้าน คุยกับผู้มียศ จะแตกต่างชัดเจนทุกระดับ แต่เป็นธรรมชาติ 4. มีหลายรสชาติ ชอบรสขำมากพิเศษ เป็นสายบันเทิงค่ะ เจ้าชายอร้อยคนนั้นดิฉันปลื้ม ฮ่าๆ ช่วงท้ายรสนี้หายไปหน่อย แต่ก็โอเค รับได้เพราะเนื้อหาอาจไม่เอื้อให้ไปทางนั้น ท้ายแล้ว สงสัยนิดหน่อยค่ะ ไม่แน่ใจว่ามีเอ่ยถึงไปแล้วแต่โอไม่เข้าใจหรือเปล่านะ พระนนทิเสนเป็นใครคะ ตอนแรกโอเข้าใจว่าเกี่ยวกับคันธาระ หรือเป็นคนที่รู้จักวินธัยสมัยก่อน แต่เหมือนไม่เอ่ยถึงอีกเลย 5 - หักความเข้าใจยาก 1 + ค่าความยาก 0.5 = 4.5 ถ้าถามว่าขาดอะไร คิดว่าขาดความคมค่ะ แบบอ่านแล้วสะดุ้ง บาดเป็นแผลซิบๆ แต่โดยรวมชอบนะ ตามธรรมเนียมโอเอง ยกประโยคเด่นๆ ที่โอชอบมาให้ค่ะ . . . ประโยคนี้ อ่านแล้วเขินมากมาย "กริ้วแล้ว...กริ้วง่ายดายอย่างน่าอัศจรรย์เสียจริง...ทรงบอกสิพระเจ้าค่ะว่าต้องการให้ข้าพระบาททำสิ่งใดถวายให้คลายขัดพระทัย" . . . เป็นย่อหน้าที่โอชอบมากที่สุดในเล่มเลย ไม่ต้องมาก แต่อ่านแล้วรู้สึกปัง! ภาพ สี เสียง กลิ่น มาเต็ม มีสัมผัสในด้วยนะ มะนาว...บิดเกร็ง...บิดเบี้ยว ระย้าหล่นราย กลิ่นแปลก...ปลายจาง พื้นดินร่วนซุยเต็มด้วยวัชพืชชนิดต่างๆ ปะปนกับหลักไม้ ป้ายหินหรือแม้แต่เจดีย์อิฐอันเล็กๆ บ้างก็ปรักหักพังเป็นเพียงกองเศษขยะ บ้างก็ยังสวยงามเพิ่งทำใหม่ ต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นในระยะห่างๆ แผ่กิ่งก้าน มะนาวผีลำต้นบิดเกร็งเหมือนกล้ามเนื้อบิดเบี้ยวแห้งเกราะออกลูกเล็กระย้าหล่นราย สายลมดึกพัดเบาๆ ในความเงียบสนิทคล้ายอวลกลิ่นแปลกๆ ปลายจาง . . . ฟัง เอ๊ย อ่านแล้วสะดุดกึ้ก จิ้มใจฉึกๆ ทีเดียว อย่าเอาแต่ตัดพ้อต่อว่านะคะ สาวๆ "ฟังพี่ก่อนเถิด ลดใจร้อนลงหน่อย พี่เปรียบเจ้าปรามาสเสียเมื่อไร เพียงแต่คิดหาเหตุผลเข้าข้างตนไว้หนุนน้ำใจยามจากบ้านต่างหาก ให้พอมีความชุ่มชื้นเข้มแข็งบ้าง ว่าตลอดเวลาจงรักภักดีและคิดว่าได้รับพระเมตตาในพระธิดา ตลอดเวลาผูกพันเจ้ามาเหมือนน้องในไส้ จะจากไกลคงได้นำใจอาลัยอวยพร แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นพี่เองหลงผิดทึกทักเอาฝ่ายเดียวว่าเขาเมตตาอารีเราหรือ ยามจากจึงได้เย็นชากว่าน้ำแข็งบนขุนเขา ออกปากจะไปก็ไล่ส่งเลย... ช่วยบอกหน่อยซิว่าที่เคืองขุ่นออกนอกหน้าใส่พี่นี้เพราะรักกันดีใช่ไหม" . . . ชอบค่ะ ใครชอบเจ้าหญิงเจ้าชาย ภาษาสวยๆ ร้อยกรอง กาพย์กลอนฉันท์ ก็มาอ่านเทอญ มี e-book ด้วยค่ะ
อันนี้เป็นตอนพิเศษ
คุณอ้อม เรื่องนี้ช่วงต้นจะรู้สึกว่ายากแทบทุกคนเลยค่ะ หนึ่งก็คำที่ไม่คุ้น สองคือลักษณะการเรียงประโยค สามคือไม่ได้ลำดับเริ่มตามช่วงเวลาที่เกิด แต่อ่านไปจะค่อยๆ ปรับตัวได้ และเข้าใจเรื่องมากขึ้น พล็อตเข้าใจไม่ยากค่ะ เสน่ห์จะมีมาตามรายละเอียดย่อยๆ
![]() โดย: ออโอ
![]() |
โอเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้ทุกแนว เสาะแสวงหาเรื่องสนุกๆ แนวใหม่ๆ ตลอด หลายเรื่องไม่มั่นใจก็ค้นหารีวิว ถ้าชอบถ้าใช่ก็ลอง ลองแล้วชอบแล้วประทับใจก็อยากบอกต่อ บางครั้ง อ่านครั้งแรกรู้สึกอย่างนี้ อยากเก็บไว้เพื่อเป็นเรื่องราว บันทึกไว้กันลืม กลับมาย้อนอ่านก็จะได้รู้ว่า ครั้งหนึ่งที่เราเคยอ่าน เรารู้สึกอย่างนี้ เวลาผ่านไป เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง ก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น "ขอให้ทุกคนสนุกกับการอ่าน" รู้สึกดีที่โลกนี้มีหนังสือ-โอ
Friends Blog |
เจ้าชาย เจ้าหญิง ภาษางามตามท้องเรื่อง
แต่หนา....มาก....อ่านตั้งนานกว่าจะจบ 55