"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
4 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 

Sarah Vaughan เพชรเม็ดงามแหงแจ๊สพิภพ



หนึ่งในราชินีแห่งแจ๊สพิภพนอกจากเอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์, บิลลี ฮอลิเดย์ (ซึ่งได้รู้จักกันไปแล้ว), ไดนาห์ วอชิงตัน อีกชื่อหนึ่งที่ก็ยังจะต้องมี ก็คือชื่อของซาราห์ วอห์นจารึกอยู่อย่างมิต้องสงสัย

ซาราห์ ลอยส์ วอห์น (Sarah Lois Vaughan) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ปี 1924 ที่เมืองนิวอาร์ก มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ พ่อและแม่ของเธอเป็นนักดนตรีทั้งคู่ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เธอจะมีสายเลือดศิลปินอยู่เต็มเปี่ยม พ่อของเธอ ซึ่งประกอบอาชีพหลักเป็นช่างไม้นั้นเล่นกีตาร์และร้องเพลงโฟล์กเป็นงานรอง ส่วนแม่ ซึ่งทำงานซักรีดก็เล่นเปียโนและเป็นนักร้องในวงประสานเสียงของโบสถ์เมาต์ ไซออน

ซาราห์เองก็ไม่น้อยหน้าบุพการี ณ ตอนอายุเจ็ดขวบ เธอก็ร้องเพลงอยู่ที่โบสถ์เดียวกันกับแม่ของเธอด้วย ต่อมาเมื่ออายุอานามได้สิบสอง เธอกลายมาเป็นนักออร์แกน รวมไปถึงร้องเพลงเดี่ยว ซาราห์ทิ้งการเรียนตั้งแต่ยังเยาว์ และดั้นด้นตามหาความฝัน เริ่มต้นด้วยการแข่งประกวดร้องเพลงเป็นอาชีพ เธอเข้าประกวดต่อเนื่องที่โรงมหรสพอะพอลโล จนกระทั่งได้รางวัลชนะเลิศมาครอบครองในปี 1942 ซึ่งนั่นถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการกรุยทางเข้าสู่ถนนสายดนตรี บิลลี เอ็กสตีน นักร้องนำประจำวงของเอิร์ล ไฮน์ส ออร์เคสตรา สังเกตเห็นแววจรัสแสงของซาราห์ และเขาก็ติดใจในพรสวรรค์ของเธอเข้าให้ จึงได้แนะนำเธอเข้ามาเป็นนักเปียโนลำดับที่สองของวง

บิลลีออกจากวงของเอิร์ล ไฮน์สในเวลาไม่ช้าไม่นานต่อมา เพื่อที่จะฟอร์มวงดนตรีของตัวเอง เขาฉกเอาซาราห์เข้าไปร่วมวงกับดิซซี กิลเลซปีและแฟ็ตส์ นาร์วาโรในตำแหน่งทรัมเป็ต, เด็กซ์เตอร์ กอร์ดอนและซันนี สติตต์ ตำแหน่งแซ็กโซโฟน, ออสการ์ เพ็ตติฟอร์ด ตำแหน่งเบส และอาร์ต แบล็กกีย์ มือกลอง คงจะสังเกตกันจากนามอันกระเดื่องของแต่ละคนในวงนี้ ซึ่งแต่ละคนก็เป็นรุ่นบุกเบิกแจ๊สสายบีบ็อปทั้งสิ้น ซาราห์เองก็พัฒนาขีดความสามารถของตัวเธอในเรื่องของฮาร์โมนีและเมโลดีของบีบ็อปเช่นกัน และก็เป็นวงดนตรีแบ็กอัพวงเดียวกันนี้เองที่เล่นให้กับเธอในผลงานบันทึกเสียงชุดแรกเมื่อปี 1944 กับสังกัดคอนติเนนตัล ซึ่งเธอต้องยอมรับค่าตัวเพียงยี่สิบดอลลาร์อย่างมิค่อยจะเต็มใจนัก ราวปี 1945 เธอได้เซ็นสัญญากับค่ายมิวสิกคราฟต์ อันถือเป็นสถานที่เริ่มต้นอาชีพนักร้องอัดแผ่นอย่างสวยงาม ด้วยเพลงอมตะอย่าง Lover Man และ East Of The Sun And West Of The Moon ไปจนถึงเพลงไม่คุ้นหูอย่าง Motherless Child เธอได้ผนวกการร้องในแบบบีบ็อปให้เข้ากับงานเพลงป็อปปูลาร์อย่างกลมกลืน



ช่วงอายุได้สักยี่สิบปี เธอก็ได้กลายมาเป็นบุคคลมีชื่อเสียงไปพร้อมๆ กับเพื่อนๆ ร่วมวง ซึ่งก็คือนักดนตรีเลือดใหม่สายบีบ็อปนั่นเอง คนรักของเธอคนหนึ่งเคยบอกเธอว่าเธอเป็นหนึ่งในหญิงแกร่งที่ก้าวเข้ามายืนอยู่ในโลกของเพศชายได้อย่างสวยสดงดงาม โดยมิพักต้องอาศัยแรงผลักดันจากเพื่อนร่วมวงให้กลายเป็นเพชรน้ำหนึ่งเยี่ยงนี้ ผลงานเพลง Lover ของเธอในปี 1945 ซึ่งเธอร่วมบรรเลงกับดิซซีและชาร์ลี พาร์เกอร์ นักแซ็กโซโฟน ยิ่งตอกย้ำความเป็นหนึ่งของเธอในวงการดนตรีแจ๊ส

ในปี 1947 ซาราห์ร่วมงานกับนักทรัมเป็ต จอร์จ เทร็ดเวล (George Treadwell) ซึ่งเธอได้พบกับเขาที่คาเฟ โซไซตี และเขาได้กลายมาเป็นผู้จัดการส่วนตัวของเธอทั้งเรื่องรักและเรื่องงาน ขณะที่เธอเองก็มีงานอัดเสียงและเดินสายแสดงสดชุกตลอดเวลาทศวรรษ ซาราห์อัดเสียงกับไมล์ส เดวิส ตำนานแจ๊สเมื่อปี 1960 แล้วก็ไปอัดเสียงให้กับโคลัมเบีย เร็คคอร์ดสถึงหกสิบเพลง ผลงานการร้องเพลงของเธอนั้นบ่งบอกถึงการผ่านการเคี่ยวกรำและฝึกทดลองมาอย่างโชกโชนด้วยเนื้อเสียงที่มีคุณภาพตามอย่างที่นักร้องชั้นดีพึงมี

ซาราห์เข้าร่วมวงกับเลสเตอร์ ยังในปี 1950 ณ คอนเสิร์ตที่ทาวน์ ฮอล ช่วงจังหวะนี้เองที่เธอตัดสินใจจะกระโดดออกจากการเล่นเป็นกลุ่ม เพื่อมาร้องเดี่ยวอย่างเต็มตัว ซึ่งก็เป็นเส้นทางที่เธอเดินทางต่อมาโดยตลอดหลังจากนั้นในฐานะนักร้องนำอิสระ ซาราห์เข้ามาอยู่ภายใต้สังกัดเมอร์คิวรี เร็คคอร์ดสในปี 1954 แล้วก็นำร่องลุยงานอัดเสียงจนกลายเป็นช่วงสองสามปีทองที่เธอมีผลงานออกมามากที่สุด ด้วยสัญญากับทางเมอร์คิวรีที่ไม่รัดตึงมากจนเกินไปนัก เปิดโอกาสให้เธอได้ทำงานถึงสองทางในเวลาเดียวกัน ทางแรกก็คือเป็นนักร้องทำเงินทำทองให้กับต้นสังกัด ส่วนอีกทางก็คือการเป็นนักร้องแจ๊สให้กับค่ายเพลงของน้องสาว นั่นก็คืออีมาร์ซี (ที่น่าจะคุ้นๆ กันดีสำหรับคอแจ๊ส)

“ด้านหนึ่งฉันก็ไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรอย่างที่ฉันต้องการทำ แต่ว่าอีกด้านหนึ่งเขาก็ให้ฉันทำอย่างที่อยากจะทำ” ซาราห์ว่าไว้อย่างนั้น

แต่ผลงานคลาสสิกสุดฮิตของเธอก็เป็นผลงานที่ออกกับเมอร์คิวรีด้วย อาทิ Misty และ Tenderly ซึ่งก็เป็นเพลงประจำในทุกๆ การแสดงของเธอ อาจจะมีสองเพลงนี้ด้วยคือ Broken Hearted Melody ซึ่งฮิตมากกับเพลงฮิตน้อยอย่าง Passing Strangers ร้องคู่กับบิลลี เอ็กสตีน ทั้งสองคนนี้เป็นเพื่อนสนิทกันมาก และพวกเขาก็ได้ร่วมบันทึกเสียงด้วยกันต่อมาเป็นเวลายาวนาน

กับค่ายอีมาร์ซีนั้น เธอเลือกบันทึกเพลง ซึ่งกลายมาเป็นผลงานคุณภาพของเธอทั้งสิ้น ซาราห์อัดเสียงกับคลิฟฟอร์ด บราวน์, แคนนอนบอล แอ็ดเดอร์ลีย์ และวงของเคาน์ต เบซี ซึ่งมีเพลงอมตะอย่าง Lullaby Of Birdland และ Swingin’ Easy เธอโชว์เสียงร้องที่หาที่เปรียบมิได้ของเธอย่างเต็มที่ในเพลงสำคัญๆๆ อย่าง All Of Me ซึ่งคลิฟฟอร์ด, แคนนอนบอล และสมาชิกวงของเคาน์ตเล่นให้ด้วย ถือเป็นหนึ่งในผลงานที่น่าพึงพอใจที่สุดของเธอ หากคอแจ๊สท่านใดมีโอกาสทดลองฟัง คงจะตื่นตาตื่นใจกับการร้องสแกตของเธอไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน



ซาราห์เดินออกจากชายคาเมอร์คิวรีเมื่อช่วงใบไม้ผลิปี 1959 สัญญาของจอร์จ เทรดเวลได้ถูกยกเลิกไป ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่เขาได้กลายมาเป็นอดีตผู้จัดการและอดีตสามีของเธอแล้ว เธอเองก็ได้เรียนรู้แล้วว่าต่อไปนี้เธอควรจะจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของตัวเอง จอร์จเองถือเป็นผู้จัดการคนแรกๆ ที่เอารัดเอาเปรียบเธอจากสัญญาทาสอย่างที่ศิลปินคนอื่นๆ ถูกกระทำ

แต่ก็เป็นโชคดีของซาราห์ เธอได้เซ็นสัญญาใหม่กับรูเล็ต เรคคอร์ดส ซึ่งมอร์ริส เลวี เพื่อนของเธอเป็นเจ้าของ เหมือนกับการได้คืนรังไปพบกับเพื่อนๆ อย่างเคาน์ต, โจ วิลเลียมส์ และไดนาห์ วอชิงตัน เธอแต่งงานอีกครั้งกับซี.บี. แอ็ตกินส์ ที่มารับหน้าที่เป็นผู้จัดการของเธอด้วย แต่พวกเขาก็แยกทางกันเมื่อปี 1962 ด้วยท่ามกลางศึกชิงปารีส ลูกบุญธรรมของพวกเขาเอง และหนี้จำนวน 150,000 ดอลลาร์ เพื่อนๆ ของเธอพบว่า ห้วงเวลาที่เธอถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้ดีที่สุดนั้น ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่เธอทุกข์ใจอย่างสาหัสจากปัญหาส่วนตัวที่รุมเร้า

ผลงานโดดเด่นช่วงที่อยู่กับค่ายรูเล็ตต์นั้นก็คือการได้เล่นกับวงของเคาน์ต เบซี (ซึ่งไม่มีเคาน์ตแล้ว) ซึ่งเธอสร้างผลงานเยี่ยมยุทธอย่าง Lover Man, I Cried For You แล้วก็ Perdido ฉบับขึ้นสวรรค์เอาไว้ นั่นคือผลงานคลาสสิกของซาราห์ ซึ่งสำแดงอารมณ์และความปรารถนาผ่านมาทางเสียงร้องของเธออย่างแรงกล้า ผลงานชุด The Divine One เสนอเพลงที่มีความเป็นวงมากขึ้น เรียบเรียงและอำนวยวงโดยจิมมี โจนส์ มีเพลงอย่าง You Stepped Out Of A Dream และ Have You Met Miss Jones? รวมอยู่ด้วย อัลบัมนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่เรืองรองในอาชีพการเป็นนักร้องของเธอ หลังจากนั้นเธอก็กลายเป็นดาวเด่นต่อเนื่องมาตลอด

ในปี 1963 เธอเดินออกจากสังกัดรูเล็ตต์ ย้อนกลับเข้าชายคาเมอร์คิวรีอีกครั้ง ซึ่งก็ยังเป็นที่ที่ให้สิทธิแก่เธอในการทำงานกับอีมาร์ซีเช่นเดิม คู่หูคนสำคัญอย่างควินซีย์ โจนส์ได้พัฒนาและวางภาพรวมในการทำงานของพวกเขา กลายมาเป็นผลงานเด่นอย่าง Sassy Swings The Tivoli, Vaughan And Voices และที่ถือยอดเยี่ยมที่สุด You’re Mine You นอกจากนั้นเธอยังร้องเพลงละตินอีกจำนวนหนึ่ง โดยนำมาเรียบเรียงเสียใหม่ ซึ่งภายหลังดนตรีละตินก็กลายเป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบมากในที่สุด สัญญาของเธอในการทำวงบิ๊กแบนด์กับเมอร์คิวรีหมดลงในปี 1967 จากนั้นเมื่อซาราห์กลับมาเข้าห้องอัดอีกครั้งในยุคทศวรรษที่ 70 คุณภาพคับแก้วของเธอกลับยิ่งมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะมองในแง่เสียงที่ยิ่งใหญ่ ร่องเสียงที่กว้างขึ้น และเทคนิคในการร้องก็แกร่งขึ้นอีกประการหนึ่งด้วยเช่นกัน



ซาราห์หยุดพักไปอีกห้าปี แล้วกลับเข้าห้องอัดอีกครั้งในปี 1971 คราวนี้กับนอร์แมน แกรนซ์ในสังกัดปาโบล ซึ่งก็ได้ทำงานออกมาค่อนข้างหลากหลายรูปแบบในช่วงยุค 70 เธอหยิบเพลงของดุ๊ก เอลลิงตันมาทำได้สองชุด แบ็กอัพโดยออสการ์ ปีเตอร์สัน อีกทั้งยังทำอัลบัมในแนวอะโฟร ละตินและบราซิลเลียนอีกด้วยนอกเหนือไปจากอัลบัมบันทึกการแสดงสดที่ญี่ปุ่นอีกสองชุด

ซาราห์เป็นนักร้องเสียงระฆังทองที่สามารถถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา เธอผนวกมันเข้าหากันอย่างกลมกลืน เธอสามารถเล่นกับเสียงร้องของตัวเองอย่างชาญฉลาด เสมือนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งก็ไม่ปาน

สุขภาพของซาราห์ย่ำแย่ลงในช่วงทศวรรษที่ 80 แต่เธอก็ยังสามารถบันทึกเสียงอัลบัมเพลงของพี่น้องเกิร์ชวินออกมาได้ในปี 1982 เพลง The Man I Love คว้ารางวัลแกรมมีมาให้เธอได้เชยชม ซาราห์สิ้นลมหายใจ ณ บ้านพักของเธอที่ฮิดเดน ฮิลส์ แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 1990 แฟนเพลงของเธอทั่วทุกมุมโลกต่างร่วมไว้อาลัยการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเธอ เพราะมันหมายถึงโลกใบนี้ได้สูญเสียเพชรเม็ดงามแห่งแจ๊สพิภพไปแล้วอย่างถาวร แต่ผลงานเพลงของเธอยังคงเป็นสิ่งที่นักฟังเพลงแจ๊สต้องสรรหามาฟังในทุกยุคทุกสมัย และน่ายินดีอีกเช่นกันที่ถึงแม้วันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน หากแต่ผลงานของซาราห์ยังคงหาฟังได้อย่างง่ายดายและอิ่มอกอิ่มใจในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป








 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2549
2 comments
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2549 20:53:57 น.
Counter : 2048 Pageviews.

 

มะเคยรู้จักเลยอ่ะค่ะ เพลงแนวนี้

ขอบคุณที่แวะไปทักทายนะคะ

 

โดย: varissaporn327 5 พฤศจิกายน 2549 6:59:25 น.  

 

แวะมาอ่านครับ เสียงของเธอนุ่มจริงๆ

 

โดย: Johann sebastian Bach 25 พฤศจิกายน 2549 14:58:50 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.