"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
5 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

รวมมิตร ECM แจ๊ส

หลังจากฉบับที่แล้ว เราก็เกิดยังมีเวลาว่างที่จะมานั่งละเลียดกับดนตรีอยู่อีกพักใหญ่ๆ จากที่ไม่ได้เขียนแนะนำอัลบัมกันมานาน ฉบับนี้ขออนุญาตหักโหมแนะนำกันรวดเดียวสามอัลบัมเลยก็แล้วกัน น่าจะมีสักอัลบัมที่ถูกใจนักฟังแจ๊สไม่มากก็น้อย หากแต่แจ๊สทั้งสามอัลบัมนี้อาจจะไม่ใช่แจ๊สที่ฟังสบายๆ และมีความโรแมนติกเจือปนอยู่มากอย่างอัลบัมของ Walter Lang Trio ที่แนะนำกันไปในฉบับที่แล้ว แต่ขอรับรองว่าเป็นอาหารทางดนตรีที่มีคุณค่าน่าลิ้มลองเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะใช้เวลาซึมซับอยู่สักหน่อย แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณได้สัมผัสแล้วคุณจะต้องชอบแน่นอน!!



Paul Motian / I Have The Room Above Her

พอล โมเชียน มือกลองนามอุโฆษที่ได้ดิบได้ดีทั้งการเป็นไซด์แมนและการเป็นผู้นำวง ดูเหมือนว่าหลายๆ คนยังประทับใจฝีมือของพอลจากการเป็นสมาชิกวงแจ๊สสามชิ้นของบิล เอแวนส์ไม่น้อย รวมทั้งตัวเราเองก็ตาม แต่กับงานภายใต้ชื่อของพอล โมเชียน แบนด์แล้ว ต่างกันราวพลิกฝ่ามือก็ไม่ปาน

ผลงานของพอลในยุคแรกๆ นั้น เริ่มต้นกับอีซีเอ็ม และมีผลงานเด่นอย่าง Dance (1977) ด้วย หากแต่ก็ได้ไปร่วมงานกับสังกัดอย่างโซลโน้ตและคลอดงานดีอย่าง The Story Of Maryam (1983) ออกมาด้วย จากนั้นจึงไปอยู่ค่ายเจเอ็มที ซึ่งถือเป็นยุคที่เขามีผลงานชั้นดีออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ On Broadway Vol.1 & 2 (1988, 1989) หรือ Bill Evans:Tribute To The Great Post Bop-Pianist (1990) วินเทอร์แอนด์วินเทอร์เป็นอีกค่ายที่พอลสร้างผลงานระดับขึ้นหิ้งหลายชุด ไม่ว่าจะเป็น Sound Of Love (1998), 2000 + One (1999) หรือ Play Monk And Powell (1999) ส่วน I Have The Room above Her เป็นงานล่าสุดที่เขาออกกับต้นสังกัดบ้านเก่าที่หวนคืนกลับไปอีกครั้ง

การได้ไซด์แมนดีอย่างบิล ฟริเซล (กีตาร์) และ โจ โลวาโน (เทนเนอร์แซ็กโซโฟน) ทำให้งานชิ้นนี้โดดเด่นขึ้นมาอีกเยอะทีเดียว เพราะแค่ชื่อนักดนตรี ก็แทบจะซื้อโดยไม่ต้องฟังแล้ว ทริโอวงนี้ก็ได้เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อราวๆ ยี่สิบปีก่อนในอัลบัม It Should’ve Happened A Long Time Ago (1984) แต่ว่าการเป็นวงทริโอที่ไม่มีเครื่องดนตรีที่ใช้เสริมจังหวะอย่างเบส ก็อาจจะทำให้คนฟังต๊กกะใจ นึกว่าเป็นงานฟังยากไปก็เป็นได้ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปนัก หากได้ฟังเพลงแจ๊สและคุ้นชินกับการอิมโพรไวส์มาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประพันธ์ในสไตล์ของพอลเอง อย่างเพลง Osmosis Part III เพลงเปิดอัลบัม ซึ่งเนิบนาบและเน้นทางด้านการแสดงอารมณ์ของนักดนตรีในการอิมโพรไวส์ออกมาในเพลง ประกอบกับไลน์กีตาร์ของบิล ทำให้เรารู้สึกว่าของเหลวในร่างกายจะเกิดกระบวนการออสโมซิสอย่างชื่อเพลงเสียแล้ว

คอมโพสิชันในเพลง Odd Man Out แสดงให้เห็นความเป็นมือกลองมืออาชีพที่เชี่ยวชาญกับเทคนิก ที่ฟังแล้วดูเหมือนกับว่าพอลจะมีมือสักสิบมือก็ไม่ปาน แต่อย่ากังวลว่ามันจะฟังแล้วหนวกหู เพราะไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน ด้วยเมโลดีหวานๆ จากฝีมือกีตาร์ของบิลผสมผสานกับฝีปากเป่าแซ็กฯ ของโจ ทำให้เพลงนี้ลงตัวอย่างช่วยไม่ได้เลยทีเดียว ส่วน I Have The Room Above Her สแตนดาร์ดแจ๊สจากการประพันธ์ของเจอร์โรม เคิร์นและออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ เป็นเพลงดังที่มาจากหนังเรื่อง Showboat การตีความแตกต่างจากหลายๆ เวอร์ชันที่เคยได้ยินมา พอลคุมจังหวะกลองไปเรื่อยๆ แต่แฝงสีสันอยู่ในที ไม่ใช่แค่โป๊ะ-ตึก โป๊ะ-ตึก-ตึกเหมือนกลองวงโยธวาทิตแน่นอน ลูกเล่นฉาบแฉของเขาแพรวพราวเห็นได้ชัดจากเพลงนี้ เคล้าคลอไปกับการเดินคอร์ดของบิล ส่วนเสียงแซ็กฯ ของโจก็กลายเป็นพระเอกของเพลงหวานๆ



Paul Motian / I Have The Room Above Her
Musicians :
Joe Lovano : Tenor Saxophone
Bill Frisell : Guitar
Paul Motian : Drums
*************************************



Tomasz Stanko Quartet / Suspended Night


โธมัส สแตนโก ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่ว่าบนเวทีสากลหรือแฟนเพลงแจ๊สยุโรปแล้วล่ะก็ ชื่อนี้ไม่ธรรมดา นักทรัมเป็ตวัย 63 คนนี้เริ่มต้นฟอร์มวงแจ๊สสี่ชิ้นของตัวเองเมื่อปี 1962 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นยูโรเปียน แจ๊สวงแรกๆ ที่ได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากออร์เน็ต โคลแมน เขาเคยเล่นกับคริสตอฟ โคเมดาด้วยในช่วงปี 1963-67 อีซีเอ็มเป็นบ้านที่เขาย้ายเข้ามาอยู่ในปี 1994 กับชุด Matka Joanna จากนั้นเขาทำอัลบัม Litania : The Music Of Krystof Komeda ซึ่งเป็นอัลบัมที่ปผระสบความสำเร็จอย่างมากไม่เฉพาะในเยอรมันเท่านั้น แมนเฟร็ด เอเคอร์ โปรดิวเซอร์ตาดีของอีซีเอ็ม (ซึ่งเป็นผู้ดูแลการผลิตทั้งสามอัลบัมที่เอามาแนะนำกันในฉบับนี้) ก็ได้บรรจงคัดเลือกทีมไซด์แมนอย่าง ดีโน ซาลุซซี, จอห์น เซอร์แมน, มิเชล มาร์กาสกี, แอนเดียส์ จอร์มินส์ และจอน คริสเตนเซน เอามาปลุกปั้นจนเกิดกันทุกรายในอัลบัม From The Green Hill (2000)

Suspended Night เป็นผลงานชุดที่หกภายใต้ชายคาอีซีเอ็ม โธมัสเคยกล่าวถึงงานดนตรีจากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ของเขาว่า เปรียบเสมือนวัยหนุ่มรุ่นกระทงที่ปั่นป่วนมาสู่ความสงบราบเรียบ จากอัดกันแหลกสู่ความละเมียดละไมแห่งการประพันธ์ ดูเหมือนว่าโธมัสจะไม่ได้ปิดบังเลยว่าตัวเขาเองได้รับอิทธิพลมาจากศิลปินอมตะอย่าง ไมล์ส เดวิส น้อยตัวโน้ตแต่กินใจแบบ Less is more. มีอยู่ในงานของโธมัสทั้งสิ้น บอกตามตรงว่าอัลบัมชุดนี้ทำให้เราได้เห็นฝีมือนักดนตรีโปลิชที่เก่งกาจอีกหลายๆ คนไม่ว่าจะเป็น มาร์ซิน วาสิลิวสกี (เปียโน), สลาวอเมียร์ เกอร์กีวิกซ์ (ดับเบิลเบส) และมิเชล มิสกีวิกซ์ (กลอง) (หากออกเสียงชื่อสกุลผิด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี่ – ผู้เขียน) และคงจะถือโอกาสนี้ติดตามผลงานของพวกเขาต่อเนื่องไปด้วย

อัลบัมนี้มีสองคอมโพสิชันหลักๆ คือ Song For Sarah และ Suspended Variations คอมโพสิชันหลังนั้นเปรียบได้กับผลงานคอนเซ็ปต์ อัลบัมหรือวาริเอชันแบบดนตรีคลาสสิกก็ว่าได้ ดังนั้น อาจจะต้องการการใส่ใจในการฟังอยู่สักเล็กน้อย แต่รับรองได้ว่าฟังไม่ยากแน่นอน หากว่าได้คุ้นเคยกับการฟังเพลงแจ๊สแบบโมเดิร์นสักหน่อย มั่นใจได้เลยว่ามันจะไม่เป็นอะวองต์ การ์ดที่คุณแตะไม่ลง Suspended Variations จะพาคุณด่ำดิ่งเข้าสู่ห้วงอวกาศยามค่ำคืน ซึ่งในแต่ละพาร์ตก็จะสื่อสารกับผู้ฟังในแบบที่โธมัสต้องการ โดยที่การเรียบเรียงชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นเป็นไปด้วยความเนิบนาบ หากแต่มีจังหวะจะโคน จาก I ไปจนถึง X ล้วนแล้วแต่เป็นการเรียงร้อยถ้อยอารมณ์จากความเรียบรื่น เข้าสู่ความสุขสรรค์ ท้ายสุดก็พากลับเข้าสู่ความสงบนิ่ง แล้วเมื่อรวบรวมทุกพาร์ตเข้าด้วย มันก็คือความงดงามแห่ง Suspended Night นี่เอง ทุกสิ่งทุกอย่างคือคอมโพสิชันที่งดงาม

เนื่องจากโธมัสเน้นชิ้นงานการประพันธ์มากกว่า เฉกเช่นเดียวกับไมล์สที่เน้นงานประพันธ์กว่าที่จะมาโซโลแปร๊ดๆ ด้วยตัวเองทั้งอัลบัม (ซึ่งหากมีแฟนเพลงท่านใดชื่นชอบอัลบัม Kind Of Blue เป็นทุนเดิมอยู่แล้วละก็ อัลบัมนี้จะเข้าไปสิงสถิตอยู่ในจิตใจของคุณอีกนานเลยทีเดียว) เราจึงจะได้ฟังนักดนตรีที่มีฝีมือเปียโนเยี่ยมยอดอย่างมาร์ซินในชิ้นงานเพลงของโธมัส ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้เล่นกับท่อนอิมโพรไวส์อย่างอิ่มอกอิ่มใจในหลายๆ ช่วง อย่าง IX เป็นอาทิ



Thomasz Stanko Quartet / Suspended Night
Musicians :

Tomasz Stanko : Trumpet
Marcin Wasilewski : Piano
Slawomir Kurkiewicz : Double Bass
Machal Miskiewicz : Drums
*************************************



Jacob Young / Evening Falls
นักกีตาร์ชาวเยอรมันมากฝีมือคนนี้อายุอานามเพียงแค่ 35 เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าฝีมือจะเกินอายุไปเสียแล้ว เจค็อบเล่นกีตาร์มาตั้งแต่ยังเด็ก โดยได้รับอิทธิพลจากพ่อชาวอเมริกันของเขาเอง เขาได้ร่ำเรียนวิชากีตาร์จากจิม ฮอล นักกีตาร์แจ๊สระดับปรมาจารย์ ดังจะสังเกตได้จากสำเนียงกีตาร์ที่หวานและอบอุ่นของเขา อันเป็นส่วนที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาจารย์คนสำคัญคนนี้ นอกจากจิมแล้ว จอห์น แอเบอร์ครอมบีก็ยังเป็นอาจารย์อีกคนของเขาด้วย ส่วนการประพันธ์ชิ้นงานดนตรี เขาได้รับการถ่ายทอดจาก ริชี เบแร็ค, บ็อบ เบลเดน และเคน แวร์เนอร์

จริงๆ แล้ว เจค็อบมีอัลบัมออกมาค่อนข้างเยอะพอสมควร โดย This Is You ชุดแรกนั้นออกมาตั้งแต่ปี 1999 อาจจะหาฟังยากสักหน่อย แต่ถ้าหาซื้อจากทางอินเตอร์เน็ตเป็นกิจวัตรแล้วละก็ อัลบัมนี้ก็ไม่ใช่ของหายากนัก มือกีตาร์หนุ่มคนนี้ออกอัลบัมอย่างสม่ำเสมอ ก็เรียกว่าเป็นนักดนตรีที่มีแฟนติดตามผลงานอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถหานายทุนมาสนับสนุนการทำงานได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน จนกระทั่งอัลบัมล่าสุดกับอีซีเอ็ม ซึ่งตัวเขาเองทำออกมาฐานะผู้นำวงกับดนตรีแจ๊สที่มีทั้งกลิ่นอายของคอนเทมโพรารี และอะวองต์การ์ดพอเป็นกระษัย

Evening Falls เปรียบเสมือนบทเพลงในยามฟ้าปิด ความอ่อนหวานและความหม่นหมองนั้น มีให้เราสัมผัสได้ในยามสนธยา สำเนียงกีตาร์ของเจค็อบในอัลบัมนี้มีอยู่สองแนวทางหลักๆ แบบหนึ่งเขาปรับเสียงอะคูสติกใสๆ ส่วนอีกแบบหนึ่งเขาปรับออกมาเป็นเสียงอ้วน นุ่ม ทุ้ม ซึ่งเพลง Sky งานประพันธ์ในอัลบัมนี้ที่อยากจะยกให้เป็นเพชรน้ำเอกในอัลบัมนี้เลยทีเดียว จริงอยู่ที่ว่ามันอาจจะฟังง่ายที่สุดในอัลบัมด้วยเสียงกีตาร์แบบอ้วน นุ่มก็เป็นได้ หากแต่ถ้านักดนตรีตั้งหน้าทำชิ้นงานออกมายากจนไม่สามารถสื่อสารกับผู้ฟังได้นั้น คงจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยกระมัง กีตาร์หวานนุ่มของเจค็อบคลอเคลียไปกับเสียงทรัมเป็ตของแม็ทเธียสอย่างเข้าขากันทีเดียว ทำให้เกิดจินตนาการไปถึงก้อนเมฆและดวงดาวที่อยู่เคียงฟ้ากันตลอดค่ำคืน

Presence of Descent เพลงนี้เป็นเพลงเดียวที่เจค็อบไม่ได้เขียนคนเดียว หากแต่ร่วมเขียนกับจอน คริสเตนเซน มือกลอง เพลงนี้ออกมาแบบอะวองต์การ์ดเล็กน้อย แต่เมโลดีหลักสวยงามไม่ใช่เล่นหากจะสังเกตช่วงขึ้นเพลง จากนั้นจึงต่อด้วยการล้อเล่นของเทนเนอร์แซ็กฯ กับทรัมเป็ต ที่หากฟังผ่านๆ แล้วอาจจะเห็นว่า “เฮ้ย มันเล่นวงเดียวเรอะเปล่าวะเนี่ย??” แต่จริงๆ แล้วเป็นคอมโพสิชันที่ถูกปรุงแต่งให้เล่นอย่างสอดคล้องกันทั้งลูกรับและลูกส่ง แล้วเจค็อบจึงมารับต่อในส่วนของกีตาร์ ส่วนจอนนั้นหายห่วงได้เลย เขาอิมโพรไวส์กลองชุดได้ตลอดเพลงเลยทีเดียว สำหรับเราแล้ว คงจะให้เพลงนี้เต็มสิบสำหรับบทเพลงที่ทำให้อิ่มเอิบไปด้วยการด้นสดเป็นแน่แท้



Jacob Young / Evening falls
Musicians :

Jacob Young : Guitar
Mathias Eick : Trumpet
Vidar Johansen : Bass Clarinet
Mats Eilertsen : Double Bass
Jon Christensen : Drums

คอมโพสิชันของศิลปินอีซีเอ็มนั้น แน่นอนว่าไม่หมูแบบให้เคี้ยวง่ายๆ สักเท่าไรนัก แต่ในความขมย่อมผสมความหวานที่แฝงเข้ามาแล้วปรุงให้เข้ากันอย่างกลมกล่อมในรูปแบบของรวมมิตรอีซีเอ็มที่ไม่ยากเกินไปต่อการย่อยสลาย









 

Create Date : 05 มีนาคม 2549
13 comments
Last Update : 21 มีนาคม 2549 14:21:08 น.
Counter : 1334 Pageviews.

 

ภาพของโทมัส สแตนโกนำมาจากเว็บไซต์ของเขา คอมโพสิชันสวยงามมาก

 

โดย: nunaggie 5 มีนาคม 2549 10:14:36 น.  

 

ป.ล.สำหรับมือใหม่หัดฟังอีซีเอ็ม “จะสังเกตเห็นได้ว่า อัลบัมแต่ละชุดของสังกัดอีซีเอ็มนั้น สร้างคอนเซ็ปต์ตรงอาร์ต ไดเร็กชันอย่างมีเอกลักษณ์ จนกระทั่งต้นสังกัดรุ่นน้องอย่าง Hathut หรือ Enja ต่างก็นำความคิดแบบนี้ไปปรับใช้กับค่ายเพลงของตัวเอง หากแต่ลักษณะการออกแบบแพ็กเกจกล่องสวม และงานอาร์ตเวิร์คสไตล์แอ็บสแตร็กต์ ที่เน้นการใช้จินตนาการของอีซีเอ็ม ก็ได้กลายเป็นตราสินค้าที่ไม่อาจจะแกะออกมาได้เสียแล้ว”

 

โดย: nunaggie 5 มีนาคม 2549 10:32:02 น.  

 

- ได้ฟัง Garden of Eden ของ Paul Motian หรือยังครับ เพิ่งได้ฟังมาไม่กี่วันนี้เอง

- Jacob Young ยังไม่เคยฟัง เข้าคิวไว้ก่อน

- วันนี้ไม่ทันได้ทัก ผมยืนอยู่กับ vodca ตอนที่คุณ nunaggie มารับบัตร

 

โดย: k_ktp 5 มีนาคม 2549 22:21:40 น.  

 

แฮ่ๆๆๆ จำ vodca ไม่ได้อ่ะค่ะ จำน้องเอ๋เล็กกับพี่เชิงได้ 2 คนเอง

 

โดย: nunaggie 6 มีนาคม 2549 9:39:56 น.  

 

ก็คนที่ส่งบัตรให้คุณ nunaggie ไงล่ะครับ

 

โดย: k_ktp 6 มีนาคม 2549 11:50:04 น.  

 

เอาไว้งานหน้าเจอกัน อย่าลืมทักนะคะ

 

โดย: nunaggie 8 มีนาคม 2549 14:15:34 น.  

 

งานแพ็ทไปมั้ยครับ จะได้คุยกัน

 

โดย: k_ktp 8 มีนาคม 2549 15:27:27 น.  

 

จริงด้วยค่า งานแพทไปป่าวคะ
จะได้คุยกัน งุงิ

 

โดย: vodca 9 มีนาคม 2549 13:05:38 น.  

 

พี่นุ่นสวัสดีคร้าบ ... ผมชอบรูปป้าเอลล่า กับลุงอาร์มสตรองในช่อง comment จังง่ะ ... ถูกใจสุดๆ

 

โดย: udomdog IP: 58.10.90.20 10 มีนาคม 2549 0:47:34 น.  

 

ขอบคุณจ้ะ ดมด็อก ของชอบของครอบครัวเลยนะ อิอิ

พี่ ktp และน้องพิ้งกี้ เราน่าจะได้ไปแหละค่ะ (ป่านนี้ยัง "น่าจะ" อีกนะ) รอเพื่อนอีกคนหนึ่งอยู่ ถ้าไปก็ซื้อบัตรหน้างานเลย

 

โดย: nunaggie 16 มีนาคม 2549 22:36:22 น.  

 

ไม่ต้องรออะไรแล้วครับ ไปดูด้วยกันก็ได้

 

โดย: k_ktp 17 มีนาคม 2549 9:02:21 น.  

 

ได้ไปดูคอนเสิร์ตหรือเปล่าครับ ตอนนั่งรอน้องพิ้งยังว่าจะโทรหาเลย

 

โดย: k_ktp 20 มีนาคม 2549 10:43:11 น.  

 

วันนั้นไม่ได้ไปค่ะพี่ ktp ไม่ค่อยสบายเท่าไหร่ เสียดายบัตรเหมือนกัน เพราะมีคนหามาให้ด้วย ป่อยยยยย

 

โดย: nunaggie 21 มีนาคม 2549 15:56:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.