บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
All Blogs
 

เริ่มต้นทำงานใหม่อย่างไรให้มีความสุข

เป็นสิ่งที่คนเปลี่ยนงานต้องการทุกคน เพราะ การจากงานที่เคยทำมา ไม่ว่าที่เก่ามันจะดี หรือไม่ดีอย่างไร ก็จะมีความรู้สึกที่บอกไม่ถูกกับที่ใหม่ เสมอๆ เวลาเข้าใกล้ที่จะออกจากงานเก่ามากเท่าไหร่ ยิ่งกังวลมากยิ่งขึ้น ... เขาจะรับเข้าทำงานจริงไม๊น๊อ.. ที่ทำงานใหม่จะดีอย่างเก่าหรือเปล่าน๊อ... ที่ทำงานเก่าจะด่าเราไล่หลังไม๊น๊อ.. สารพัดที่จะคิด คิดไป คิดมา คิดมาก อดหลับ อดนอน อีก.. ไปทำงานที่ใหม่ กลายเป็น หมีแพนด้า ไปเลย....

วิเคราะห์ สาเหตุ ของการคิดมากกันดีกว่า จะได้หาวิธีจัดการมัน


  • ส่วนใหญ่ ที่ใหม่ที่รับคนเข้าทำงาน จะไม่มีอะไรทำให้เรามั่นใจว่า เขารับเราเข้าทำงานจริง นอกจาก คำพูด ดังนั้น ความกังวลเรื่องงานใหม่จึงเกิดขึ้น ว่า เขารับเราเข้าทำงานจริงหรือเปล่า บางบริษัทฯ ก็จะให้เราเซ็นต์สัญญาต่างๆ เอาเอกสารนั่น นี่ มาให้หน่อย ก็ยังพอใจชื้นบ้าง แต่บางบริษัทฯ ก็เงียบ ไม่มีเอกสารอะไรที่แสดงว่า รับเข้าทำงาน เลย หากบริษัทฯที่ระบบแน่น หน่อย ก็จะมีเอกสาร นัดเข้าทำงาน และ มีเอกสารของทางบริษัทฯ บ่งบอกอย่างละเอียด ถึงหน้าที่การงาน ลักษณะงาน หัวหน้างาน และ สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งบริษัทฯ ที่จะทำอย่างนี้มีน้อยมากๆ มันจึงเป็นเรื่องของพนักงานที่เปลี่ยนการทำงาน ซึ่งก็กล้วว่าตัวเองจะเค้วง หากเขาไม่รับเราเข้าทำงานแล้ว เราจะทำอย่างไรหละ จะหางานใหม่ที่ไหนทำ ที่เก่าก็ลาออกมาแล้ว ... วิธีแก้ที่ดีที่สุด หากบริษัทฯใหม่ ไม่มีระบบการรับคน ที่เข้าใจคนสมัครงาน คุณก็ต้องแกล้งโง่ โทรไปสอบถามโน่น นี่ ว่า ต้องทำอะไรบ้าง กับฝ่ายบุคคล หรือ คนที่รับเข้าทำงาน เพื่อเป็นการ ยืนยันการรับเราเข้าทำงาน ก็จะทำให้สามารถเชื่อมั่นได้มากขึ้น อย่างน้อย ก็ทำความรู้จักกับเจ้านาย หรือ เพื่อนร่วมงานไว้ก่อนหากสามารถทำได้ ...


  • การจะไปบอกว่า ขอออกจากงาน ก็เป็นอะไรที่น้ำท่วมปาก บอกไม่ถูกว่า ความรู้สึกเป็นอย่างไร ต้องหาคำตอบ หาคำแก้ตัวกันยกใหญ่ บางคนก็กะว่าจะต่อว่าเจ้านายให้สะใจครั้งสุดท้าย หากเจ้านายพูดมาก ลักษณะนี้ หากเป็นเจ้านายที่ไม่ถูกกัน ก็ง่ายหน่อย แต่ถ้าเจ้านายที่มีพระคุณสิ.. ไม่รู้ว่าจะบอกเจ้านายออกไปได้อย่างไร นิสัยลึกๆซึ่งเป็นจุดที่ดีมากๆของคนไทย คือเป็นคนที่ต้องตอบแทนบุญคุณ ดังนั้น ความรู้สึก ผิดที่จะต้องจากที่ทำงานเก่า จึงรุมเร้าเข้ามาในความคิด ให้สำนึกในบุญคุณของว่าที่เจ้านายเก่า... อาการอย่างนี้มีขึ้นมาเมื่อใด ก็มักจะใจอ่อน ไม่กล้าที่จะบอก หรือหักหาญน้ำใจหัวหน้างาน ...


  • แต่มุมมองของหัวหน้างานที่สามารถกินใจลูกน้องได้ขนาดนี้ ก็มีสิ่งหนึ่งที่มีเหมือนๆกัน คือ ความต้องการให้ลูกน้องทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่จิตสำนึกของหัวหน้างาน ก็ยังค้านอยู่ว่า งานที่ตนรับผิดชอบ อาจเกิดสะดุด จะรับใคร จะหาใครมารับช่วงต่อ ซึ่งก็ทำให้การคุยกับคนที่มาขอลาออก ต้องใช้ความคิดอย่างหนักเช่นกัน ดังนั้น หากคุณมีเหตุ มีผล มีความสำเร็จในอนาคตเป็นเดิมพัน หรือ มีรายได้มากกว่าปัจจุบันที่ทางบริษัทฯเก่าไม่สามารถให้ได้ ก็บอกเจ้านายไปตรงๆ คิดว่า ความปราถนาดีของเจ้านาย จะเป็นตัวผลักให้คุณออกไปเสียด้วยซ้ำ แต่ก็มีบางเหตุการณ์ ที่เจ้านายจะขอให้อยู่ต่อ จะขึ้นเงินเดือนให้เท่าที่ใหม่ คุณทำงานที่นี่มานานย่อมรู้ระบบงาน รู้งาน ดีกว่าไปเริ่มจาก ศูนย์ ที่ที่ใหม่ ... มีการเสนอ และ คำคัดค้าน เยอะไปหมดกับการลาออกของเรา คุณต้องหนักแน่น และ ไม่โอนเอียงต่อคำพูด แต่จงใช้เหตุ และ ผล ให้มากๆเข้าไว้ ...

    หากคุณยอมอยู่เพื่อเงินเดือนเท่าที่ใหม่ ขอให้คุณรับรู้ไว้เลยว่า ในสายตาของเจ้านาย คุณได้เอาคุณค่าของคุณไปแลกเงินเดือนใหม่มาเสียแล้ว สิ่งหนึ่งที่หัวหน้างานทุกคนทำเหมือนกันคือ หาคนมารองรับงานของคุณ เปลี่ยนหน้าที่การงานของคุณ เผื่อการเรียกร้องครั้งที่ 2 ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือ หากเขาไม่สามารถทำได้ทัน เมื่อเขาโดนครั้งที่ 2 เขาก็จะไม่ยอมโดนครั้งที่ 3 แต่คนที่ลำบากก็จะตกมายังคนลาออกครับ ว่า ทำไมหัวหน้าไม่รั้งเอาไว้เหมือนที่ผ่านมา... น้ำตาอาจจะตกในเพราะ มีแต่คำขู่ แต่ไม่มีงานรองรับจริงๆ ครับ...



    ทำงานที่ใหม่จะทำอย่างไรหละ ถึงจะมีความสุข....

  • เรียนรู้งาน และ คิดว่ามีแต่สิ่งที่ท้าทาย เพื่อให้เรียนรู้

  • การทำงานในที่ใหม่นั้น ยังไงแล้ว ความรู้ความสามารถที่เคยผ่านงานมาก่อนนั้น มันเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยสนับสนุนการทำงานใหม่เท่านั้น คุณต้องไปเรียนรู้งานทั้งหมดใหม่ ของที่ใหม่อยู่ดี ดังนั้น การจะเรียนรุ้สิ่งใหม่ จาก สิ่งเก่า นั้น สิ่งหนึ่งที่ควรทำใจให้มากคือการมองว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถ อย่าได้เอางานที่เคยทำไปเปรียบเทียบกับงานใหม่ เพราะ หากมีคนไม่ชอบใจเรา อาจจะโดนย้อนมาได้ว่า งานที่เก่าดีอยู่แล้ว แล้วออกมาทำไม.. แต่คุณต้องทำใจว่า งานที่ใหม่ หรือ ที่เก่า นั้น เป็นระบบที่มีการสืบทอด และ ต่อเนื่องกันมา ไม่มีระบบไหนสมบูรณ์ และ ไม่มีระบบใด ที่จะแย่ไปเสียหมด คุณต้องมองหาจุดดี และ จุดเด่นของระบบใหม่ แล้ว ค่อยเสริม จุดด้อยของระบบใหม่ ด้วยประสบการณ์ ที่ผ่านมาว่า น่าจะปรับปรุง ณ จุดใดเพิ่มมากขึ้น แต่อย่าทำในทันที เพราะ ไม่ว่าคุณจะเก่งกาจเพียงใด คุณจะไม่สามารถรับรู้ระบบงานได้ในทันทีที่เห็น มันมีอะไรมากกว่าที่เห็นหรือเปล่า บางทีคุณอาจจะเสียโอกาสหากคุณพูดไปก่อน หรือ อาจจะทำให้คุณดูไม่ดี ในสายตาคนเก่าก็เป็นไปได้... ดังนั้น การเรียนรู้งานใหม่นั้น ต้องพิถีพิถันกับความรู้สึกของคนเก่าในที่ทำงานใหม่ด้วย รวมทั้ง ต้องคิดถึงหัวอกเขา หัวอกเราให้มาก ไม่ว่าจะคำแนะนำหรือ ความคิดเห็นใดๆ ไม่ควรกล่าวอ้างที่อื่น เพราะ เท่ากับประนามที่ใหม่ว่า ไม่ดี ที่อื่นดีกว่า เป็นต้น...

  • เรียนรู้เจ้านาย และ เพื่อนร่วมงาน

  • งานบางทีมันไม่ยากหรอก เพราะ ประสบการณ์ จะเป็นตัวผลักให้เราเข้าใจถึงงานใหม่ได้อย่างง่ายดาย แต่ เจ้านาย และ เพื่อนร่วมงานใหม่นี้สิ ที่จะยากต่อการทำความเข้าใจ ลักษณะของเพื่อนร่วมงานใหม่ รวมทั้งเจ้านายใหม่ เราต้องสังเกตุว่า เขาเป็นกลุ่มคนประเภทใด ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คนไหนที่จะเป็นเพื่อนกับเราได้ง่าย คนไหนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเรา คนไหนเขม่น เรา หรือ คนไหนไม่ชอบขี้หน้าเรา อันนี้ขึ้นอยู่กับการสังเกตุล้วนๆ การสังเกตุก็เพื่อให้คุณหาพรรคพวกเพื่อที่จะเข้ากลุ่มให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันตัวเองจากการกระทบกับกลุ่มคนมากที่สุด ไม่ได้ให้สร้างพรรคพวก แต่การเข้ากลุ่ม จะเป็นการแสดงออกว่า คุณเป็นคนในทีมงานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้มีการช่วยเหลือทางด้านการงานได้มากยิ่งขึ้น หากวัฒนธรรมองค์กร ไม่แบ่งแยกกลุ่มอย่างชัดเจน การหาเพื่อนที่สนิทสนมก่อน จะทำให้คุณได้รับการปกป้องจากสังคมภายในได้เร็วกว่าเช่นกัน แต่หากการเมืองรุนแรง คุณก็ต้องเอนลู่ลม ทิศทางลมที่คุณควรจะโอนเอียงตามก็ควรจะเป็นทิศทางเดียวกับ เจ้านาย และ เพื่อนร่วมงานกลุ่มใหญ่ เพื่อเข้าไปศึกษาว่า จริงๆแล้ว การเมืองเกิดจากอะไร อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเมือง หากคุณสามารถเป็นตัวสลายการเมืองเหล่านั้น หรือ ประสานการเมืองให้เป็นปึกแผ่นได้ จะเป็นการฝึกให้คุณเป็นผู้บริหารที่ดีในอนาคต

  • เรียนรู้องค์กร และ ปรับตัวเข้าหา

  • เมื่อเรียนรุ้งาน เรียนรู้เจ้านาย และเพื่อนร่วมงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเรียนรู้ก็คือองค์กรที่คุณอยู่ว่า มีลักษณะขององค์กรเป็นอย่างไร เกือบจะทันที การสังเกตุเจ้านายใหญ่ รวมทั้ง วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และ วิสัยทัศน์ ขององค์กร จะทำให้คุณเข้าใจองค์กรมากยิ่งขึ้น เข้าใจหัวหน้างานใหญ่ได้มากยิ่งขึ้นว่า ความต้องการของเจ้านายใหญ่นั้น มีเพื่ออะไร แล้วค่อยปรับตัวเข้าหา ทำงานของคุณให้เข้ากับเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ขององค์กรให้มากๆ ครับ จะทำให้คุณเดินไม่หลงทางมากนัก

    เมื่อคุณไม่ได้คิดมากก่อนที่จะทำงานที่ใหม่ ไม่กังวล และ มีแนวทางที่จะไปทำงานที่ใหม่ได้อย่างมีความสุขแล้ว ก็ขอให้ประสบความสำเร็จ กับหน้าที่การงานใหม่ ที่จะมาถึงนะครับ ยินดีด้วยกับทุกๆท่านครับ....




 

Create Date : 21 กันยายน 2548    
Last Update : 21 กันยายน 2548 12:24:59 น.
Counter : 3070 Pageviews.  

ลูกน้องเกี่ยงงาน

มีคำถามหลังไมค์ให้ผม เพื่อนท่านนี้ไม่ได้บอกว่า เอาชื่อลงได้ไม๊ ผมก็เลยไม่ได้เอาชื่อมาลงนะครับ คำถามมีอยู่ว่า...
"มีลูกน้องอยู่คนนึง เกี่ยงงาน ไม่ค่อยยอมทำ ในขณะที่คนอื่นๆ ช่วยกันทำ รวมทั้งตัวหัวหน้างานด้วย จะมีวิธีจัดการอย่างไร กับคนนั้นคะ"

เรื่องลูกน้องเกี่ยงงานนั้น ผมคิดว่า เจอกันทุกที่ครับ ซึ่งส่วนใหญ่ ลูกน้องเกี่ยงงานมีปัจจัยต่างๆกันตามแต่สภาวะ แต่ส่วนใหญ่แล้ว องค์ประกอบที่จะทำให้ลูกน้องเกี่ยงงานมีอยู่ 4 องค์ประกอบหลักๆ คือ
1. ลูกน้องเกี่ยงงานอันเนื่องจาก ระบบงาน ไม่รัดกุมทำให้เกิดช่องว่าง ที่จะทำให้ลูกน้องเอาเปรียบบริษัทฯได้ อย่างเช่น บางบริษัทฯ มี Job Description (JD) ซึ่งได้เขียนเอาไว้อย่างรัดกุมว่า แต่ละคนต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง เมื่อให้งานใหม่ หน้าที่ใหม่กับ ลุกน้อง เขาจะเอาจุดอ่อนของ JD มาเป็นข้ออ้างว่า ไม่ใช่หน้าที่ๆเข้าจะทำ หรือ JD ไม่ได้ระบุไว้ว่าเขาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น
2. ลูกน้องเกี่ยงงานอันเนื่องจาก เจ้านายตามใจลูกน้องมากเกิน หรือ พอเขาบอกว่าเขาทำไม่ได้ ก็จะบอกว่า ไม่เป็นไรพี่ทำเอง จนเขารู้สึกว่า ไม่ทำก็ไม่เป็นไร เจ้านายรับทำอยุ่แล้ว
3. ลูกน้องเกี่ยงงานอันเนื่องจาก ความรู้สึกของลูกน้องเองว่า เขาได้รับเงินเดือนไม่คุ้มค่ากับงานที่เขาจะทำ เขาจะรับผิดชอบเฉพาะงานที่เขาได้รับมอบหมายให้ตั้งแต่แรกเท่านั้น ลูกน้องที่มีความรู้สึกอย่างนี้ น่ากลัว และ ต้องสร้างแรงกระตุ้นอย่างสูงเพื่อให้เขามีมุมมองในทางบวกกับงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนที่คิดเช่นนี้ จะอยู่ไม่รอดในสังคม
4. ลูกน้องเกี่ยงงาน อันเนื่องจากเหตุผลบางประการที่ไม่สามารถช่วยเหลืองานนอกเวลาทำงานได้ อย่างเช่น ติดเรียน ต้องไปทำงานพิเศษอื่นๆ เป็นต้น

ลูกน้องที่เกี่ยงงานไม่ว่าจะเกิดจากสภาพการณ์ใด ก็ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่หมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยปกติ เจ้านายส่วนใหญ่ จะใช้วิธีการ เปลี่ยนคนทำงานเลย ซึ่งนั่นก็ต้องทนกับสภาพการไม่ยอมทำงานของลูกน้องจนถึงขีดสุดเช่นกัน เจ้านายบางคนก็แช่ดองลูกน้องประเภทนี้เอาไว้ ทำให้สูญเสียทั้งเงินและเวลา บางคนพยายามที่จะเปลี่ยนทัศนคติของลูกน้องเหล่านี้แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะพบกับความล้มเหลว...

ผมก็เคยมีปัญหากับลูกน้องแบบนี้ ซึ่งการเกี่ยงงานของเขาส่วนใหญ่ จะเป็นการเกี่ยงงานใหม่ๆ เสียมากกว่า แต่งานที่เขารับผิดชอบอยู่จะดูแลอย่างดี สิ่งที่ผมทำตอนนั้น คือ การสร้างแรงจุงใจให้เขาทำงานเพิ่มมากขึ้น อธิบายว่า การทุ่มเทให้กับงานที่เพิ่มขึ้น เป็นจุดที่จะทำให้ผู้บริหารมองเขาในแง่ที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในช่วงเวลานั้น ผมยังไม่มีสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจ และ ยังเป็นผู้จัดการมือใหม่อยู่ ประกอบกับ ปีเกิดของเราไม่ถูกกันด้วย ไม่ว่าบอกเขาในรูปแบบใด เตือนเขาในรูปแบบใด เขาก็จะไม้เชื่อในสิ่งที่ผมพยายามทำให้เขา ผมเสียเวลาไป 2 ปี ที่ซื้อใจเขา ปรับเงินเดือนให้ตามปกติ พยายามหางานที่เขาชอบมาให้เขาทำ แต่แล้ว ทุกอย่างก็กลับมาเป็นเช่นเดิม คือ เขาจะไม่ยอมทำในสิ่งใหม่ๆ เพิ่ม ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ตาม ในเมื่อเขาพอใจในการทำงานเพียงเท่านี้ ก็ให้เขาทำไปตามเท่าที่เขารับผิดชอบ เงินเดือน ผลงาน ของเขาก็ขึ้นต่ำกว่าค่าอัตราเพิ่มของค่าครองชีพ ในขณะที่เพื่อนๆของเขา เริ่มก้าวหน้ามากขึ้น ได้รับการโปรโมทฯ ผมก็ได้โปรโมทฯ ขึ้น แต่เขากลับทำให้ตำแหน่ง และ หน้าที่เดิมๆ ซึ่งเคยให้หน้าที่รับผิดชอบเขาเพิ่มขึ้นในตอนหลังเพื่อจะได้โปรโมทฯ เขาขึ้นมาบ้าง แต่เขากลับบอกว่า "โปรโมทฯก่อนค่อยทำงานเพิ่ม ให้เงินแค่นี้ ก็ทำแค่นี้.." เป็นคำที่ผมไม่เคยคิดเลยว่า ลูกน้องในสังกัด จะมีการพูดอย่างนี้กับผม ทั้งๆที่ ผมทั้งสอน ทั้งวางแผนอนาคตของทุกคนให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ โดยการทำให้ดีที่สุดก่อนจะได้รับการไว้วางใจ และ แล้วใจของเขาเองก็ได้ทำร้ายตัวเขาเอง นี่เป็นบทเรียนอันเลวร้ายสำหรับเขา ที่เขาได้พบ เขาเริ่มจะสร้างให้ทีมงานเกิดความเอนเอียงไปตามทัศนคติทางลบของเขา ในมุมมองที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ทำให้ต้องตักเตือนพฤติกรรมกันบ่อยมากๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาสร้างให้เกิดความกดดันให้กับเขาเองทั้งสิ้น และ เมื่อเขากดดันมากๆ เขาก็ได้ลาออกไปทำงานที่ใหม่ แต่กลับไปทำในลักษณะที่ผมสอนเขาอยู่ในที่นี้ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แทนที่จะนับจาก 3 หรือ 5 ขึ้นไป และได้ข่าวว่า เขาก็ต้องลาออกอีก จากนิสัยของเขาเองที่ย้อนกลับมามองถึง ตัวเงินก่อนผลงาน แบบ "ให้เงินแค่นี้ ก็ทำแค่นี้" ซึ่งเป็นแนวคิดการทำงานในบริษัทฯ ที่ไม่ดีเอาเสียเลย...

ย้อนกลับมายังปัจจุบัน ลูกน้องประเภทนี้ในทีมงานผมไม่มีอีกแล้ว หรือ อาจจะมีแต่ผมไม่เห็น ผมจัดรูปแบบการทำงานใหม่หมด ณ วันนี้ หากเกิดปัญหา ในลักษณะเดิม คือ หากลูกน้องเกี่ยงงาน ผมจะใช้วิธีการสั่งงานให้ทำ และ กำหนดวันเวลาส่งอย่างชัดเจน ซึ่ง วันเวลาส่ง หรือ วันเวลาที่เสร็จจะไม่บีบเขา แต่ให้เขาทำได้อย่างสบายๆ และ อธิบายให้เขารับทราบถึง หน้าที่พิเศษอื่นๆ ที่เขาต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครรับหน้าที่เพียงหน้าที่เดียวไปตลอดเวลาที่อยู่ทำงานกับผม และ ไม่มีใครที่จะอยู่ได้อย่างสบายๆ โดยไม่พัฒนาตนเองเพิ่ม ผมเริ่มลดบทบาทของ JD ลง แต่เพิ่มบทบาทของ ความทุ่มเทของแต่ละคนเพิ่มมากขึ้น ให้รางวัลในสิ่งที่พวกเขาทำมากกว่าเดิมมากขึ้น ให้ความสำคัญกับทีมงานมากขึ้น มีรางวัลของทีมงาน ใครไม่ทำก็ไม่ได้รับรางวัล ใครไม่ทำก็กลายเป็นแกะดำไป ซึ่งเมื่อเปลี่ยนองค์กรให้เป็นลักษณะนี้แล้ว จะทำให้เกิดการเกี่ยงงานน้อยลง แต่ส่วนใหญ่จะแย่งกันสร้างผลงานเสียมากกว่า...

ในกรณีของผู้ถามนั้น ผมคิดว่า เกิดจากการทำงานพิเศษ ที่นอกเหนือจากเวลาปกติ นอกเหนือจากงานปกติ ซึ่งเขาอาจจะอ้างถึง เวลากลับบ้าน เขามีความรับผิดชอบที่ไม่สามารถอยู่ดึกได้ แน่นอน ต้องถามถึงปัญหาของเขาก่อนว่า ทำไมเขาถึงไม่สามารถที่จะอยู่ดึก ทำงานมากกว่าเดิมได้ ซึ่งผมคิดว่า ต้องแยกเป็นกรณีๆ ไป หากเป็นงานพิเศษที่ต้องอยู่ดึกแต่เขาไม่สามารถอยู่ช่วยงานได้ ก็ต้องให้เขามาช่วยงานในช่วงเวลาธรรมดา ที่เขาอยู่ในช่วงเวลาทำงานให้มากขึ้น ผมคิดว่า ท่านผู้ถามมองเห็นจากวิธีการที่ผมอธิบายไว้ข้างต้นว่า ผมจัดการลุกน้องคนนี้อย่างไร ถ้าในช่วงเวลางานที่เขารับผิดชอบนั้น เขารับผิดชอบได้เต็มที่ เขาก็ได้ผลงานแค่มาตรฐาน แต่หากคนใด ทำงานมากกว่ามาตรฐาน เหนือกว่ามาตรฐาน ก็ต้องได้ผลดีตอบแทน ไม่ว่ารางวัล เงินเดือน ตำแหน่งหน้าทีการงาน ต้องยกย่องคนดี คนเก่ง ให้เขามีกำลังใจไว้เสมอครับ แต่หากไม่สามารถยอมรับได้ในเหตุผลของลูกน้อง หรือ ลูกน้องไม่มีเหตุผลมาสนับสนุนการไม่ยอมทำงานพิเศษต่างๆ ผมคิดว่า ต้องใช้ไม้แข็งแกมบังคับครับ และ มันยังมีวิธ๊การอีกมากมายที่จะใช้จัดการกับพนักงานเกี่ยงงาน เพียงแต่วิธีการใดที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และ พนักงานคนนั้นครับ...




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2548    
Last Update : 9 กันยายน 2548 22:20:29 น.
Counter : 8656 Pageviews.  

สร้างผลงานอย่างไร ให้มีผลงานตลอดเวลา...

คนเราทำงาน ก็ต้องการมีผลงาน ซึ่งผลงานจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับ การรับรู้ของเจ้านาย ลูกน้องบางคนไม่เคยได้สร้างผลงานอะไรเลย พอมีอะไรที่ทำพิเศษมากกว่าเดิมเล็กน้อย ก็ดูเหมือนว่า มันจะกลายมาเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาไป แต่บางคนงานได้ดีเยี่ยมตั้งแต่แรกเข้าทำงาน เจ้านายชื่นชมในช่วงแรกที่เข้า และเริ่มแผ่วลงจนดูเหมือนว่า ความทุ่มเทที่ให้ไปนั้น มันไม่มีผลงานเอาเสียเลย... แล้วทำอย่างไรเพื่อให้เจ้านาย รับรู้ว่าเรามีผลงานตลอดเวลา...

เริ่มตั้งแต่เข้าทำงานเลยละกัน...

ปกติวิสัยแล้ว เวลาเข้าไปทำงานใหม่ๆ การแสดงผลงานเริ่มแรกควรจะมีบ้างครับ เพื่อสร้าง First Impression ให้เกิดขึ้น ให้การรับรู้ของเจ้านายนั้นเป็นไปในทางที่ดีก่อน และ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องศึกษาระบบงานที่จะต้องรับผิดชอบ ศึกษารายละเอียดตาม Job description แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องหาจุดให้ได้ว่า เขารับเราเข้ามาเพื่อทำอะไร แล้วเราสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด ช่วงเวลาการศึกษางานนั้น ไม่ต้องแสดงผลงานมากนัก แต่ให้จดบันทึกทุกอย่าง รวมทั้ง สิ่งที่อยากจะเพิ่ม หรือ แก้ไข เอาไว้ครับ เพื่อจะได้มาจัดตารางเวลาในการทำ ให้เสร็จเป็นอย่างๆ แต่ถ้าจำเป็น หรือ เร่งด่วนในงานไหน ค่อยเอาเรื่องนั้นขึ้นมาทำครับ อย่าทำเสร็จในทีเดียวเพราะจะทำให้ผลงานมันกระจุก ไม่กระจาย ก็ไม่รุ่ง

ช่วงเวลาศึกษางาน ไม่ต้องสร้างผลงานมากนัก แต่ถ้าเจ้านายเป็นแบบอวดรู้ ก็จะต้องใช้เขาให้เป็นประโยชน์ เข้าไปถามเขาเลยว่า พี่ๆ อย่างนี้เป็นอย่างไร อย่างนั้นเป็นอย่างไร พี่มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนั้น เรื่องนี้.. ขี้คร้าน เราไม่ต้องทำอะไรเลย เจ้านายจะมองเราทางด้านบวกเสียด้วยซ้ำ แต่อย่าถามปัญหา งี่เง้า นะครับ เพราะเจ้านายประเภทนี้ไม่ชอบ เขาชอบที่จะตอบปัญหาที่ไม่ค่อยมีคนจะถามนะครับ หรือ ปัญหาที่เขาคิดไม่ถึง อันนี้ยิ่งชอบมาก แต่อย่าถามปัญหาที่บอกว่าเขาผิด หรือ เขาคิดผิดหละ จะซวยเอา...

เมื่อผ่านช่วงเวลาศึกษางานแล้ว ก็เขียนผังการทำงาน ผังของแผนก ระบบการเชื่อมโยง แล้วค่อยสิ่งที่เรารวบรวมได้ มาดูว่า เราสามารถทำงานอะไรได้บ้าง นอกเหนือจาก Job Description แต่หากไม่มี JD ก็ต้องถามเจ้านายว่า ต้องกาให้เข้ามาดูแลเกี่ยวกับอะไร แล้วค่อยต่อยอดออกไปครับ และ ช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาของการทำผลงาน โดยเอาความคิดตั้งแต่แรกๆ ที่เข้าไปศึกษางาน ค่อยๆเอามาทำทีละอย่าง สองอย่าง ให้มันสอดคล้องและต่อเนื่องกันไป โดยจัดลำดับ ความสำคัญก่อนหลัง รวมทั้งความสัมพันธ์ว่า ต้องทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ก่อน ถึงจะสามารถทำสิ่งนั้นได้เป็นต้น อาจจะต้องกระจายความคิดออกมาเป็นแผนปฏิบัติ ให้ละเอียดขึ้น เพื่อจะได้จัดทำเป็นส่วนๆต่อไป

เวลาสร้างผลงานนั้น ต้องทำงานที่หาเงินเข้าบริษัทฯ สลับกับ การทำงานเพื่อคุณภาพของบริษัทฯ อย่าทำงานที่หาเงินเข้าบริษัทฯ เพียงอย่างเดียว หรือ ทำงานเพื่อคุณภาพของบริษัทฯ เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้หัวหน้างาน ชินกับสิ่งที่เขาได้รับ เขาจะมองว่า สิ่งที่คุณทำ เป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้ ไม่แปลกอะไร แต่หากคุณทำสลับกัน และ สร้างผลงานแบบเว้นช่วง และ จังหวะที่เหมาะสม ก็จะทำให้เขารู้สึกได้ ว่า คุณทำสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นสม่ำเสมอ มันอาจจะเหนือความคาดคิดของเขาด้วยซ้ำ

ถ้าคุณเก่งทางด้านสร้างผลงาน คุณอย่าสร้างให้ผลงานมีอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะความรู้สึกของเจ้านายนั้น การที่มีผลงานต่อเนื่องตลอดเวลา จะกลายเป็นงานที่คุณต้องทำไป ถ้าไม่ทำสิ คุณนั่นแหละที่ผิด ดังนั้น การมีทักษะในการเว้นช่วงของผลงานนั้น หรือ เว้นช่วงว่างให้เพื่อนๆ ที่กำลังทำผลงานอื่นๆ ได้เด่นขึ้นมาด้วย ก็เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการรับรู้ของเจ้านาย และ จะทำให้เจ้านายมีการรับรู้ผลงานได้ดีขึ้นครับ... มันเหมือนกับ การทานอาหารนะครับ ถ้าทาน ข้าวผัดทุกๆวัน แรกๆก็พอรับได้ครับ หลังๆ มันจะไม่อยากทาน ถ้าได้เปลี่ยนอาหารเป็นอย่างอื่นบ้าง เมื่อกลับมาทานข้าวผัด ก็จะทำให้รสชาติของข้าวผัด อร่อยขึ้น ทั้งๆ ที่ก็เป็นข้าวผัดรสชาดเดิมที่เขาเคยกิน นะครับ...

ในส่วนตัวผม ผมคิดว่า การสร้างผลงานแบบ คลื่นกระทบฝั่ง โดยให้ผลงานเป็นระลอกคลื่น ซัดฝั่งเป็นครั้งๆ บางทีก็คลื่นลูกเล็กๆ บางครั้งก็คลื่นลูกใหญ่ๆ สลับกันไป บางทีอาจจะมีคลื่น 2 ลูกเล็กๆ แต่ซ้อนๆ กันเข้าไป จะทำให้ความรู้สึกชินชานั้น มีน้อยลง แต่เจ้านายจะเพลิดเพลินกับการนั่งมองคลื่นกระทบฝั่งที่เข้ามาเป็นระยะ กว่าคุณและเขาจะรู้ตัวก็น่าจะปาเข้าไปสัก 4-5 ปีแล้วครับ...

กลยุทธ์คลื่นกระทบฝั่ง


ขอให้สนุกกับงานที่ทำ และ ก้าวหน้าในหน้าที่การงานกันทุกคนนะครับ...




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2548    
Last Update : 9 กันยายน 2548 22:22:02 น.
Counter : 3221 Pageviews.  

ควรตั้งกลยุทธ์เช่นไร เมื่อคนในบริษัท ไม่ปรับปรุงตัวตามสภาพการเปลี่ยนแปลง

ควรตั้งกลยุทธ์เช่นไร เมื่อคนในบริษัท ไม่ปรับปรุงตัวตามสภาพการเปลี่ยนแปลง


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)




ในสภาพตลาดทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งในแง่การตลาด และบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่คนในองค์กร ยิ่งเฉื่อยฉามากขึ้นเรื่อยๆ มากจนน่าผิดหวัง

ผู้บริหารระดับสูง ก็ต้องการที่จะให้มีการปรับตัวให้ตามกระแสให้ทัน

การปรับกลยุทธ์เพื่อดึงคนในองค์กรขึ้นมาให้ทันตลาด โดยไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะปรับตัวหรือไม่ หรือปรับกลยุทธ์องค์กรให้ตามกระแสตลาด โดยไม่คำนึงถึงคนในองค์กรดี

ดังนั้นมุมมองการปรับกลยุทธ์ คงต้องมีหลากหลายกลยุทธ์ให้เลือกใช้เช่น

เชือดไก่ให้ลิงดู ก็น่าจะเชือดเฉพาะไก่ที่นิสัยไม่ดี ไม่ให้ไข่ ไม่ให้เนื้อ เพื่อให้ลิงที่นิสัยไม่ดีปรับตัวครับ จะได้ไม่เสียสิ่งดีๆไป แต่ถ้าจะเชือดไก่ที่มีโอกาสที่จะดีได้ แต่มันเองยังไม่รู้วิธีที่จะทำให้ตัวมันเองนั้นดีได้อย่างไร เจ้านายก็ไม่ได้ให้แนวทางที่เป็นหลักการณ์ที่สามารถใช้ปรับปรุงตัวมันเองได้ ก็จะเชือดเสียแล้ว เพื่อให้ลิงดู หากลงมือเรียกพนักงานเข้ามาให้พิจารณาตัวเอง ผมว่า มันอาจจะด่วนสรุปเกินไป ซึ่งจะทำให้ พนักงานทั้งหมดที่ทำงานในองค์กรเกิดความหวาดระแวง และ ระส่ำระสาย มากกว่า หากเขาทำไม่ดีก็ให้ออกก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่หากเขาปรับตัวไม่ทัน อันนี้อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุนะครับ ลองให้โอกาสเขา แนะนำเขา ก่อนดีไม๊ครับ.. โปรดพิจารณาด้วย....

ผมขอแจงสาเหตุที่ทำให้พนักงานทำงานกันน้อยลง เท่าที่ผมจะนึกได้ ผมคิดว่ามันน่าจะมีสาเหตุจากสิ่งเหล่านี้ครับ ลองพิจารณาสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นกลางแล้วลองหาวิธีแก้ไขไปเป็นเรื่องๆละกันครับว่าตรงบ้างหรือเปล่า

พนักงาน
1. พนักงานบางคนมีความคุ้นเคยกับการทำงานมาก จนมีลักษณะหลับตาทำก็ทำได้ หรือ เรียกอีกอย่างว่า งานมันจำเจ ดังนั้น เมื่องานมาก็ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และมีเวลาว่างมากขึ้น ก็เลยทำให้พนักงานเริ่มช้าลง เพราะไม่ต้องรีบเร่งอะไร ไม่ต้องแข่งกับอะไร... บางคนเคยมีผลงาน แต่ปัจจุบันก็เฉื่อยไปก็เห็นบ่อยๆครับ

2. พนักงานบางคน ทำงานให้เท่าที่เงินที่จ้างเขามา ซึ่งให้เงินมากก็ทำมาก ให้เงินน้อยก็ทำน้อย แต่ความรู้สึกของพนักงานกลุ่มนี้ ก็จะคิดว่า องค์กรให้เงินน้อยอยู่เสมอดังนั้น เขาก็จะทำงานน้อยตามเงิน ซึ่งบางคนมีความสามารถแต่ทำงานให้บริษัทฯ นิดหน่อยพอหอมปากหอมคอก็มี

3. พนักงานบางคน กลัวความผิด ดังนั้น การทำงานก็จะเป็นเพียงทำงานตามสั่งของหัวหน้าอย่างเดียว ก็จะทำให้เขาไม่มีความผิด หรือบางครั้งถึงกับ ใช้หลักว่า "ไม่ทำก็ไม่ผิด" ดังนั้น ไม่ทำก็ไม่มีผลงาน ก็จะทำให้พนักงานท่านนั้นดูเฉื่อยแฉะ เหมือนกัน

4. พนักงานบางคน คิดว่าตนเองไม่สำคัญ ก็จะทำงานเฉพาะสิ่งเล็กๆน้อยๆ หรือ เท่าที่รับผิดชอบ โดยไม่คิด ไม่ทำอะไรเพิ่มเพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถในการทำเรื่องใหม่ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าไปเทียบกับพนักงานคนอื่น หรือ บริษัทฯอื่นๆ ที่พยายามคิดพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น ก็เท่ากับว่า พนักงานคนนี้กำลังถอยหลังห่างออกไปเรื่อยๆ

5. พนักงานบางคน มองไม่เห็นเป้าหมายการทำงานของตนเอง คิดว่าทำไปก็เท่านั้น ไม่มีประโยชน์ เมื่อความคิดของเขาเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้งานเดินเท่าที่มีมาเท่านั้น

6. พนักงานบางคน มีมนุษยสัมพันธ์ดี ก็จะสื่อสารกับคนอื่นๆมากมาย มากจนเกินควรจนใช้เวลาทำงานในการติดต่อสื่อสารอย่างไร้คุณค่าในงาน แต่ได้ใจเพื่อนๆ เพื่อนๆที่ทำงานชื่นชอบทุกคน แต่จะทำให้งานออกมาไม่ได้ปริมาณ และ คุณภาพที่ต้องการ


หัวหน้างาน
1. หัวหน้างานบางท่าน เป็นหัวหน้างานที่ทำได้เพียงทำตามคำสั่ง ก็จะทำเฉพาะเท่าที่รับคำสั่งมาเท่านั้น ไม่ได้หาวิธีที่จะทำงานได้ดีขึ้นแต่อย่างใด คิดถึงสภาพพนักงานที่มีเจ้านายทำตามคำสั่งสิ แล้วลูกน้องจะเป็นลักษณะใดได้บ้าง...

2. หัวหน้างานที่มีความกลัวขึ้นสมอง ไม่กล้าทำสิ่งใดๆ ซึ่งบางคนกลัวความผิดพลาด บางคนกลัวว่าจะข้ามหน้าข้ามตาเพื่อนๆ บางคนกลัวที่จะเด่น บางคนไม่กล้าตัดสินใจ บางคนไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งความกลัวและไม่กล้า ก็ทำให้ลดความกระตือรือล้นในการทำงานมากมาย ลูกน้องที่มีความคิดดีๆก็จะโดนกีดกันความคิดเหล่านั้นไป องค์กรก็จะเริ่มช้าลงๆ

3. หัวหน้างานที่มีความชอบ หรือ ลักษณะนิสัย ขาดๆ เกินๆ อย่างเช่น ชอบใช้อำนาจเกินไป ชอบนั่งแต่เก้าอี้ ชอบงานสบายๆ ชอบนั่งอยู่บนหอคอย คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่น ชอบสนุกสนานเฮฮา ชอบคุยกับสาวๆเป็นพิเศษ ลักษณะต่างๆนั้น มีมากไป หรือ น้อยไป ก็จะทำให้การควบคุมงานลดน้อยลงเท่านั้น ยิ่งมีมาก ยิ่งลดมาก


ระบบงาน
1. ไม่มีการแข่งขันในระบบงาน ทั้งแข่งขันกับตัวเอง และ การแข่งขันกับผู้อื่น เมื่อไม่มีระบบของการแข่งขัน ก็จะทำให้คนเราไม่กระตือรือล้น นานๆเข้าก็เป็นการสร้างความเฉื่อยฉาให้กับองค์กรไป

2. ระบบงานเป็นระบบที่ต้องทำให้เสร็จเท่านั้นก็เพียงพอ ก็จะสร้างนิสัยการทำงานให้เสร็จเท่านั้น และ การควบคุมการทำงานให้เสร็จตามกำหนดเท่านั้น ก็พอ ถ้างานเยอะก็ดีไป แต่ถ้างานน้อยลง ก็จะเกิดเวลาว่างเยอะ ก็เป็นการเพาะบ่มความเฉื่อยเช่นกัน

3. ระบบมีการจ้างงานให้มาทำเฉพาะเรื่องในแต่ละบุคคล มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะในแต่ละคน ซึ่งทำให้งานมีน้อย คนมีเยอะ ซึ่งหากงานที่รับผิดชอบนั้นยังไม่เข้ามา ก็ส่งผลให้พนักงานมีเวลาว่างค่อนข้างมาก ระบบนี้มีทั้งจุดดีและจุดเสีย แต่หาทางจำกัดจุดเสียหรือยังเท่านั้น...


ผู้บริหารระดับสูง และ เจ้าของกิจการ
1. "ผู้บริหารระดับสูง ก็ต้องการที่จะให้มีการปรับตัวให้ตามกระแสให้ทัน" แต่ยังไม่มีวิธีการ หรือ การดำเนินการใดๆในการจัดการ ทำให้ได้แต่คิด แต่ยังไม่มีแนวทางในการทำสิ่งใดเลย ในความคิดของผม ผู้บริหารระดับสูง จะไม่รวมเจ้าของกิจการ ดังนั้น ต้องย้อนกลับมาดูว่า ปกติเขาเหล่านั้น มีแนวการจัดการในเรื่องต่างๆอย่างไร

2. ผู้บริหารระดับสูง เข้าใจหลักการทำงานทั้งหมดโดยรวม แต่ไม่ได้เจาะลึกในรายละเอียด

3. เจ้าของกิจการมุ่งเน้นไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปหรือไม่ เช่น เน้นเรื่องการตลาด จนทำให้ต้องทุ่มเวลา ให้กับการตลาดมากๆ ก็จะทำให้ หัวหน้างานระดับสูง มีมุมมองทางด้านการตลาดมาก เพราะต้องทำตามความต้องการของเจ้าของกิจการ ดังนั้น กลุ่มอื่นๆ ก็เลยเฉี่อยลง และ ยิ่งมองในมุมด้านนอกมากๆ ก็จะรู้เห็นสิ่งที่คนอื่นเปลี่ยนแปลงไปที่ดูเหมือนดีกว่าในบริษัทฯตน ก็เลยอยากให้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาองค์กร

4. เจ้าของกิจการอาจอยู่ในสังคมที่เห็นว่า บุคคลากรบริษัทฯอื่นมีความสามารถกันทั้งนั้น แล้วนำเอาสิ่งที่พบเห็นไปเปรียบเทียบกับบุคคลากรในบริษัทฯ ทำให้มีความรู้สึกว่า บุคคลากรในบริษัทฯ มีประสิทธิภาพไม่ได้ดั่งใจ ไม่ดีเท่าคนอื่นๆที่พบเห็น

5. เจ้าของกิจการยังไม่รู้จักพนักงานของตนเองดีพอ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าพนักงานของตนนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่


"ใช้วิสัยทัศน์ มาปรับเปลี่ยนทุกแนว ทุกส่วน ให้ได้ระดับที่พอๆกัน โดยการเปรียบเทียบ ตรวจวัด ระหว่างเรากับองค์กรหรือบุคคลอื่น หรือ เปรียบเทียบตัวเราในอดีตกับปัจจุบันที่เปลี่นแปลงไป แต่ปรับเปลี่ยนอย่างละมุนละม่อมและหนักแน่น ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ"

1. สร้างเป้าหมาย วิสัยทัศน์ ของบริษัทฯให้เป็นรูปธรรม หากต้องการให้องค์กรเป็นอย่างไร ก็ต้องมีเป้าหมายว่าจะเป็นอย่างไร ในเวลาเท่าใดก่อนเลยครับ

2. หาแผนการทำงานให้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อจะได้วางรากฐานว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ตามต้องการ รบในกระดาษให้ชนะก่อนออกรบจริง ครับ

3. สื่อสารเป้าหมายและวิสัยทัศน์ ต่างๆให้พนักงานรับรู้ อย่างจริงจัง และต้องรับทราบทุกคน แจกแจงเป้าหมาย และ สื่อสารบ่อยๆ ว่า การทำให้เป้าหมายมีผลอย่างไรกับพนักงาน มีผลอย่างไรกับรายได้ที่เขาจะได้รับ แต่ไม่ต้องสื่อหรอกครับว่า บริษัทฯจะได้อะไร เพราะพนักงานส่วนใหญ่ ต้องการที่จะทราบว่าเขาจะได้อะไรมากกว่าบริษัทฯได้อะไรครับ

4. มุ่งเน้นการปรับปรุงทุกๆส่วนอย่างจริงจัง ตั้งคนที่มีความคิดสร้างสรร มนุษยสัมพันธ์ดี ยึดมั่นในหลักธุรกิจ และ เป้าหมายของบริษัทฯ เป็นคนดำเนินการสืบต่ออย่าได้หยุด

5. ชี้จุดที่ต้องปรับปรุงให้พนักงานที่เกี่ยวข้อง ให้เห็น งานแรกๆ อาจจะต้องแนะนำถึงรายละเอียดในการทำ หรือ อาจจะต้องทำเป็นตัวอย่างให้พนักงาน เพื่อจะได้เอาตัวอย่างนั้นเป็นพื้นฐาน เพื่อลองสร้างสรรงานออกมาสักงานก่อน เพื่อสร้างให้เขามั่นใจในการทำ จากนั้น พวกเขาก็จะสามารถทำและสร้างได้เอง

6. จัดประชุมในแต่ละส่วนบ่อยขึ้น การประชุมทำให้เสียเวลาในการทำงานหลักก็จริง แต่การประชุมที่ดี จะทำให้ความคิดของกลุ่มดีขึ้น เป็นทีมงานมากขึ้น คุณภาพจะดีขึ้น สามารถสร้างมุมมองการแก้ปัญหาได้หลากหลาย และได้หัดใช้ความคิดกันมากขึ้นด้วย

7. หากงานที่สามารถตรวจวัดได้ ก็เอาระบบการตรวจวัดขึ้นมา เช่น KPI แล้วทำเป็นเป้าหมายการทำงานในแต่ละเดือน แต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละวัน ก็ขึ้นกับงานแต่ละงานครับ

8. ชี้แจงถึงการทำให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ว่า พนักงานจะได้รับอะไร หัวหน้างานจะได้รับอะไร แต่ถ้าไม่ได้แต่ละคนก็จะได้รับผลกระทบอะไร อย่าขู่แต่ชี้แจงให้เห็นถึงความจริงครับ

9. ค่อยๆปรับเปลี่ยนความคิดของทุกๆคน แต่เริ่มจาก ผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป ไล่ลงมาจนถึงพนักงาน ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประสานกันเข้าใจกันให้มากขึ้น

10. จัดกิจกรรมร่วม หรือ จัดอบรมสัมนา แต่ต้องให้หัวหน้างาน ผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งเจ้าของกิจการมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อละลายความห่างระหว่างชนชั้นลง

11. สร้างให้หัวหน้างานขึ้นมา มีแนวความคิดเชิงกลยุทธ์ อาจจะจ้างบริษัทฯใดก็ได้ให้มาทำการอบรม หรือ หากมีคนเก่งในบริษัทฯทางด้านนี้ ก็ให้มาอบรมให้กับบริษัทฯ ก็ได้ เพื่อให้หัวหน้างานขึ้นไปมีแนวทางในการคิดในเชิงต่างๆ เพื่อใช้แก้ปัญหาและปรับปรุงกิจการต่อไป

12. สื่อสารให้ทุกคนรับทราบถึงผลงานที่ดีขี้นสม่ำเสมอ มีการเปรียบเทียบกับอดีตที่เราไม่ทำการปรับปรุง เพื่อให้ทุกคนเห็นผลงานที่ร่วมกันทำ

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)





 

Create Date : 04 สิงหาคม 2548    
Last Update : 31 สิงหาคม 2551 14:41:55 น.
Counter : 2282 Pageviews.  

"ถ้าผู้บริหารต่อว่าเรามาในหลายเรื่อง เราควรสื่อสารให้ลูกน้องรับทราบหรือไม่ และในลักษณะใด"

"ถ้าผู้บริหารต่อว่าเรามาในหลายเรื่อง เราควรสื่อสารให้ลูกน้องรับทราบหรือไม่ และในลักษณะใด"


โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)




ถ้าในลักษณะนี้ ผมต้องวืเคราะห์ก่อนครับว่า การต่อว่าในแต่ละเรื่องนั้น เป็นการต่อว่าที่ต้องการเป้าหมายอะไร อะไรที่เราและทีมงานทำให้เขาต่อว่า

เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุได้แล้ว ก็ต้องหาแนวทางป้องกันในอนาคตไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยจัดหาวิธีการต่างๆเข้ามาเพื่อทำให้ระบบสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำพลาดนั้นให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน


การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือ การทำให้ระบบสมบูรณ์ขึ้น ส่วนใหญ่ผมจะชี้แจงข้อด้อยของการทำงานที่ทำให้เจ้านายต่อว่า จากนั้น แสดงตัวอย่างการแก้ปัญหา หรือ ให้พวกเขาช่วยกันระดมความคิดในการแก้ปัญหา โดยมีแนวความคิดของเราเข้าไปเสริมให้ตรงทาง แล้ว กำหนดให้ทุกคน เดินทางไปตามแผน โดยผมมีหน้าที่ คอยดูแลแผนการแก้ปัญหาว่าเดินตรงหรือไม่ หากเอียงไปก็เข้าไปดูแลบ้างเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาอีก

การบอกให้ลูกน้องรับทราบ เป็นศิลปะที่ไม่ใช่ว่า เจ้านายต่อว่าอะไรเรามา ก็ต่อว่าลูกน้องเลย เราต้องวิเคราะห์ให้เห็นแจ้งก่อนว่า สาเหตุมาจากอะไร จะได้จัดการได้ถูกต้อง และ สื่อให้ลูกน้องได้ถูกต้อง ไม่เองเอียงไปตามความโกรธที่เกิดจากการต่อว่าของเจ้านาย และ ไม่เข้าข้างเจ้านายจนเกินไป บางครั้งที่ทีมงานผมโดนตำหนิจากอารมณ์เจ้านาย ผมก็ไม่เคยให้ทีมงานรับรู้สักคน แล้วผมก็ทิ้งมันไปกับอดีต และไม่หันไปมองมันอีกเลย เพราะ มันเป็นสิ่งที่ไร้ค่า แต่ทำให้เราเสียเวลา...

แต่หากถูกตำหนิเรื่องลูกน้องเฉื่อย ผมก็ต้องวิเคราะห์ตามที่ผมให้ข้อคิดเห็นตามข้างบนก่อนว่า เป็นอย่างไร ก่อนที่จะวางแผนทำอะไรลงไป แต่อาจจะโชคดีของผมที่ไม่เคยโดนอย่างนี้ มีแต่โดนแซวว่า "ระวังน้องๆตายคางานกัน.." ซึ่งลูกน้องผมนั้น เป็นคนประเภท 8 ชัวโมงงานของลูกน้อง พวกเขาจะทำเนื้องานได้ 7.5 ชั่วโมง ซึ่งทำงานมากกว่า 90% ของเวลาที่ใช้ไป บางคนได้ประมาณ 9-10 ชั่วโมงงาน เกิน 100% ของค่าเฉลี่ยปกติเสียอีก... แต่พวกเขาก็ทำงานอย่างสนุกสนาน กำลังทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเขากันอย่างเมามันส์ เห็นแล้วสงสารในบางครั้งเหมือนกันนะครับ...




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2548    
Last Update : 31 สิงหาคม 2551 14:43:45 น.
Counter : 1634 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.