ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
Form-Based Codes นวัตกรรมการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองสำหรับมวลมนุษย์



Form-Based Codes นวัตกรรมการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองสำหรับมวลมนุษย์

บทความดีๆ ที่มีประโยชน์มากมาย ของ นักวิชาการผังเมือง อ.ฐาปนา บุณยประวิตรบน Facebook //www.facebook.com/SmartGrowthThailand ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่อง การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ซึ่งผมนำมาตั้งชื่อ Blog ผมอีกบล็อกหนึ่งครับ เพราะตั้งใจจะนำข้อคิดข้อเขียนของอาจารย์ทั้งจากใน Facebook ของอาจารย์และในเว็บไซต์ของอาจารย์ //asiamuseum.co.th/ มานำเสนอเท่าที่จะเป็นไปได้ความจริงหลายเรื่องที่อาจารย์เขียน โดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ หลาย Case Study ครับ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวที่ดีๆ เกี่ยวกับผังเมืองในอนาคตที่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมหาศาล และแน่นอนทีเดียวหลายอย่าง ก็สามารถประยุกต์มาใช้ในประเทศไทยได้แน่นอน

เข้าสู่บทความครับ

Form-Based Codes นวัตกรรมการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองสำหรับมวลมนุษย์

โดย ฐาปนา บุณยประวิตร

asiamuseums@hotmail.com/

//www.asiamuseum.co.th/




ตัวอย่างพื้นที่วางผังและออกแบบกายภาพจาก FBCs

ที่มา : Form-Based Code Institute


บทนำ

นานมาแล้วที่ประชาขนชาวไทยรอคอยการสร้างอนาคตที่สดใสจากบุคคลและทรัพยากรจากภายนอกเช่นเดียวกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นรอคอยเงินลงทุนพัฒนาพื้นที่จากการอุดหนุนของรัฐบาลกลาง และนานมาแล้วที่เราไม่เคยมองหาประโยชน์ที่แท้จริงซึ่งเกิดจากทรัพยากรที่ดินที่เรามีอยู่ในท้องถิ่น จากการศึกษาหลายๆครั้งได้แสดงให้เห็นว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีการใช้ที่ดินในเขตเมืองอย่างไม่ประหยัดไม่มีความคุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น เรามีกฎหมายหลายฉบับและระเบียบปฏิบัติเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตด้วยปัจจัยการขยายที่ดินในแนวราบ และมีกฏหมายพร้อมระเบียบปฏิบัติอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจด้วยการขยายที่ดินในแนวตั้งและไม่ส่งเสริมความหนาแน่นในพื้นที่เนื้อเมือง คล้ายกับว่า หากเศรษฐกิจและเมืองจะเติบโตได้ก็ต้องแผ่ขยายพื้นที่และขอบเขตการใช้ที่ดินออกไปจะด้วยการแผ่ขยายชุมชนใหม่หรือการสนับสนุนการจัดสรรที่ดินบ้านเดี่ยวในย่านชานเมืองก็ตาม ซึ่งการแผ่ขยายดังกล่าวไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านระบบการสัญจร ด้านภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ด้านคุณภาพชีวิต ด้านสภาวะแวดล้อม การรุกล้ำพื้นที่ผลิตอาหาร การรุกล้ำพื้นที่กักเก็บน้ำและการรุกล้ำพื้นที่ลุ่มสำรองน้ำหรือพื้นที่มีความงดงามตามธรรมชาติ

กลุ่มความคิดจากฟากฝั่งยุโรปอาจจะสอนให้เรารู้จักการผังเมืองเพียงแค่การปรับปรุงสภาพการใช้ที่ดินให้ได้สัดได้ส่วนแต่มิได้กล่าวในรายละเอียดการจัดการเชิงลึกการใช้ประโยชน์ที่ดินในระดับตารางเมตรเช่นเดียวกับForm-Based Codes (FBCs) จากฝั่งสหรัฐอเมริกาซึ่งได้นำทุกอนูของที่ดินคิดคำนวณหาคุณค่าและมูลค่าที่มวลมนุษย์สามารถใช้เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต FBCs น่าจะเป็นกฎหมายผังเมืองเพียงเจ้าเดียวที่ตั้งกระทงคำถามกับประชาชนและผู้บริหารเมืองว่า ต่อจากนี้ ในย่านและชุมชนใครคือผู้รับผิดชอบกำหนดอนาคต ผู้บริหารเมืองหรือประชาชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือผู้พัฒนาที่ดินหรือผู้ประกอบการกลุ่มทุนจากภายนอก แน่นอนที่สุด หากยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้กำหนดอนาคตการใช้ที่ดินที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษเราก็ควรใช้แนวคิดการวางผังเมืองแบบเดิมๆดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาที่ดินหรือนักลงทุนจากภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ แต่หากคิดว่าภาระดังกล่าวควรเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์พี่น้อง ญาติมิตรสมาชิกในชุมชนร่วมกับผู้บริหารเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ร่วมกันกำหนดอนาคตการใช้ประโยชน์ นั่นก็แสดงว่าย่านหรือชุมชนนั้นต้องการใช้แนวทางและกลยุทธ์จาก FBCs

บทความสั้นฉบับนี้จะแสดงให้สาธารณะทราบว่า FBCs สามารถสร้างสรรค์เศรษฐกิจและความมั่งคั่งบนที่ดินที่เรามีอยู่ในเขตเนื้อเมืองเดิมได้ FBCs สามารถสร้างรูปทรงเมืองที่กระชับและใช้ที่ดินในเขตเนื้อเมืองให้ประชาชนประเทศ ภูมิภาคและโลกอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับประโยชน์สูงสุดและก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา ทั้งนี้เนื่องจากชุมชนน่าอยู่หรือชุมชนแห่งการเดิน (WalkableCommunity) ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในชุมชนที่กระจัดกระจาย (SprawlingCommunity) เช่นเดียวกับชุมชนสีเขียว(Green Community) หรือแม้แต่ชุมชนที่ยั่งยืน (SustainableCommunity) แต่ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ทุกที่ในชุมชนที่มีขอบเขต กระชับ มีศูนย์กลางหรือชุมชนที่ใช้เกณฑ์และนโยบายการปรับปรุงฟื้นฟูตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ซึ่งเป็นต้นทางของ FBCs ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของบทความจะได้ชี้ชัดลงไปว่า ประเทศเมือง ย่าน ชุมชน และประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินจะสามารถร่วมมือกันพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดมูลค่าและคุณค่าสูงสุด พร้อมทั้งสามารถมองอนาคตของพื้นที่ชุมชน ย่านเมือง และประเทศได้อย่างไร




ภาพตัวอย่างชุมชนที่กระชับของกรุงปารีสที่มีตั้งแต่อดีต

ที่มา : Urban Splatter

ความหมายและความเป็นมา

FBCs มีเป้าหมายสำคัญต้องการให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความคุ้มค่าและเกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณะ นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการเติบโตอย่างชาญฉลาดที่ใช้เพื่อการหยุดยั้งการกระจัดกระจายของเมือง(Urban Sprawl) ออกแบบปรับปรุงกายภาพให้เกิดความกระชับส่งเสริมให้ใช้พื้นที่เพื่อเป็นชุมชนแห่งการเดิน (Walkable Community) ชุมชนสุขภาวะ (Healhty Community) รวมทั้งการใช้ทรัพยากรที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด FBCs ก่อกำเนิดขึ้นจากสถาปนิกนักออกแบบชุมชนเมือง และนักผังเมืองที่ต้องการสร้างแนวทางที่เด่นชัดในการจัดการกายภาพย่านและชุมชนรวมทั้งสร้างยุทธศาสตร์การประโยชน์ที่ดินในอนาคตซึ่งได้บูรณาการปัจจัยการพัฒนาด้านต่างๆไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยการประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือข้อกำหนดร่วมกับผังเมืองรวมหรือข้อกำหนดรายละเอียดในผังเมืองเฉพาะ หรือเทศบัญญัติของเทศบาลระดับต่างๆ FBCs มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน แต่มีความชัดเจนตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 โดย Andres Duany และ ElizabethPlater-Zyberk สองสถาปนิกออกแบบชุมชนเมืองซึ่งได้นำเสนอแนวทางในการออกแบบฟื้นฟูThe Florida resort town of Seaside พร้อมการนำเสนอข้อกำหนดการใช้ที่ดินอย่างละเอียดพร้อมสร้างมาตรฐานทางกายภาพจำแนกกายภาพถึงระดับแปลงที่ดิน ซึ่งแนวทางการใช้ FBCs ในเมืองSeaside ได้เป็นแบบอย่างการวางผังและออกแบบกายภาพให้เมืองต่างๆเป็นต้นมา

เปรียบเทียบการวางผังแบบดั้งเดิมกับ Form-Based Codes

ในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน FBCs ได้แสดงให้เห็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน2 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้

การใช้ประโยชน์ที่ดินลักษณะแรก ได้แก่ การวางผังปล่อยให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปอย่างธรรมชาติหรือมีลักษณะทางกายภาพที่กระจัดกระจายซึ่งได้แก่ การวางผังกำหนดแยกประเภทอาคารและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ออกจากกัน ข้อกำหนดตราไว้เพื่อการบริหารจัดการในเชิงภาพรวม ไม่มีการออกข้อกำหนดกระชับอาคารและส่งเสริมการเกิดกลุ่มอาคาร แต่ได้ส่งเสริมการขยายตัวของอาคารในแนวราบ มีการกำหนดความสูงและไม่สนับสนุนให้เกิดความหนาแน่นในการใช้ที่ดินและอาคาร ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ด้วยปัจเจกชนซึ่งไม่สามารถทำนายหรือคาดการณ์อนาคตการใช้ประโยชน์พื้นที่และสภาพแวดล้อมได้แม้จะมีการออกข้อกำหนดขนาดมวลอาคารและประเภทอาคารก็ตามซึ่งการกำหนดดังกล่าวเป็นการบังคับใช้สำหรับปัจเจกชนหรือผู้ประกอบการในเชิงเดี่ยวไม่มีความสัมพันธ์กับบริบทและความต้องการของชุมชนหรือสาธารณะอย่างแท้จริง การเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนซึ่งมีการใช้ที่ดินภายในชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจากความเห็นร่วมของประชาชนและหน่วยงานระดับท้องถิ่นซึ่งก็หมายถึง ประชาชนในพื้นที่ไม่มีโอกาสรับทราบอนาคตการใช้ทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู แม้ประชาชนส่วนหนึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะต้องกลายเป็นผู้รับภาระทางสังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลจากการพัฒนา

การใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะที่ 2 มีรูปลักษณ์ตรงกันข้ามกับการใช้ที่ดินลักษณะแรกซึ่งได้แก่ การวางผังให้เกิดย่านและชุมชนที่กระชับ เป็นชุมชนที่สมบูรณ์ (Complete Community) เศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ที่ดินเติบโตตามแผนที่ทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันวางและคาดการณ์ไว้ มีการวางผังชุมชนให้มีขอบเขต แบ่งพื้นที่อนุญาตเพื่อการพัฒนาและเพื่อการอนุรักษ์ไว้อย่างชัดแจ้ง ภายในเนื้อเมืองได้กำหนดให้กระชับอาคารและส่งเสริมให้เกิดกลุ่มอาคาร ส่งเสริมให้เกิดความหนาแน่นและการขยายอาคารในแนวตั้งในระดับชั้นความสูงที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เป็นปัญหาด้านทัศนอุจาด กำหนดรูปลักษณ์และประเภทอาคาร จัดสรรที่ว่างไว้สำหรับการสร้างสถานที่สาธารณะ(Public Spaces) สถานที่บริการส่วนกลาง (CivicSpaces) สร้างระบบการเชื่อมต่อหลักภายในย่านและชุมชนด้วยทางเดินและทางจักรยาน วางแผนการใช้ระบบการขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆที่มีความเหมาะสมกับย่าน กำหนดรายละเอียดภูมิทัศน์เมือง ภูมิทัศน์ถนน มาตรฐานถนน และระบบนิเวศเมืองที่สามารถปกป้องและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติที่อันอาจเกิดขึ้นในอนาคตในการคาดการณ์การใช้ประโยชน์ที่ดินเริ่มต้นจากเจ้าของกรรมสิทธิที่ดิน ประชาชนในชุมชน หน่วยงานในท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการค้าและนักลงทุนที่มีความสนใจร่วมการพัฒนาพื้นที่ เมื่อได้ข้อสรุปแนวทางในการพัฒนาพื้นที่แล้ว หน่วยงานในท้องถิ่นมีหน้าที่ในการนำรายละเอียดด้านกายภาพและด้านต่างๆประกาศเป็นเทศบัญญัติหรือกฏหมายของท้องถิ่นเพื่อบังคับใช้เป็นแนวทางการพัฒนาในระยะยาว5 10 20 และ 50 ปีต่อไป






ที่มา : Daniel G. Parolek, Form-Based Codes,2008

ส่วนประกอบของ Form-Based Codes

FBCs แบ่งแนวทางการออกแบบย่านและชุมชนออกเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย

1. กฎหมายและแผนการปฏิบัติ(A Regulating Plan) ได้แก่ ข้อบัญญัติระเบียบและข้อกำหนดทางกายภาพย่านซึ่งอาจจะกำหนดขึ้นตามระยะเวลาที่คาดการณ์ไว้

2. มาตรฐานสถานที่สาธารณะ(Public Spaces Standard) เหตุที่ต้องกำหนดรายละเอียดที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพของสถานที่สาธารณะขึ้นมาก่อนการวางผังและออกแบบรายละเอียดอื่นๆเนื่องจากต้องที่ตั้งของสถานที่สาธารณะเป็นอันดับแรกและให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมประชาชน มีความงดงามและมีรูปลักษณ์เป็นสถานที่พิเศษ (TheGreat Places) ของชุมชน

3. แผนการบริหารจัดการ(Administration Plan) ได้แก่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทางกายภาพ ทางสังคมและระบบการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปตามแผนงานที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียวางไว้

4. มาตรฐานการผังเมืองและรายละอียดทางกายภาพ (Glossary) ประกอบด้วย 4 มาตรฐานการออกแบบได้แก่

4.1 มาตรฐานแปลงที่ดิน (BlockStandard) ได้แก่รูปแบบและขนาดแปลงที่ดินในพื้นที่พัฒนาจำแนกเป็นรายชุมชนและรายแปลง

4.2 มาตรฐานรูปแบบอาคาร (Building Type Standard) ได้แก่ ประเภท การใช้ประโยชน์ความสูง ระยะถอยร่นจากแนวเขตสาธารณะ เป็นต้น

4.3 มาตรฐานด้านสถาปัตยกรรม ได้แก่ รูปทรงอาคาร รูปด้านหน้า ทัศนียภาพและรายละเอียดการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ ความงามและความสมดุลในการใช้อาคารและสภาวะแวดล้อม

4.4 มาตรฐานอาคารเขียว (Green Building Standard) ได้แก่ แนวทางการกำหนดคุณลักษณะอาคารตามเกณฑ์ของ LEEDเช่น การใช้ทรัพยากรอาคาร วัสดุพลังงาน การบำบัดและกำจัดของเสีย การรับแสง การระบายอากาศ เป็นต้น

4.5 มตรฐานภูมิทัศน์ (LandscapeStandard) ได้แก่ การกำหนดรายละเอียดด้านภูมิสถาปัตยกรรมสภาพแวดล้อมทั้งในบริเวณแปลงที่ดิน พื้นที่สาธารณะ ที่โล่ง พื้นที่สีเขียว ภูทัศน์ถนน ทางเดิน ทางจักรยาน ทางระบบขนส่งมวลชน ถนน ต้นไม้ใหญ่ ที่นั่งพัก เฟอร์นิเจอร์ถนน และระบบสาธารณูปโภคพร้อมระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม








ตัวอย่างการกำหนดประเภทอาคารและภาพด้านตัดแสดงสภาพแวดล้อมชุมชนเกาะสมุยตามแนวทางFBCs

ที่มา : บริษัท พิพิธภัณฑ์เอเซีย จำกัด

การนำ FBCs ลงสู่การปฏิบัติ

เพื่อให้ประเทศ เมือง ย่าน ชุมชน และประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินสามารถร่วมมือกันพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดมูลค่าและคุณค่าสูงสุด พร้อมทั้งสามารถมองอนาคตของพื้นที่ชุมชน ย่านเมืองได้ ดังนั้น ผู้บริหารเมืองจึงควรนำ FBCs บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ แผนการพัฒนาเมือง ผังเมืองรวม ผังพัฒนาพื้นที่ และแผนการพัฒนาประเภทต่างๆ ดังนี้

1. แผนการปรับปรุงย่านการใช้ประโยชน์ที่ดินและการปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์อาคาร(Complete Zoning and Development Code Updates)

2. ผังแม่บทและแผนการปรับปรุงฟื้นฟูย่านพาณิชยกรรม(Downtown Master Plan)

3. แผนการปรับปรุงฟื้นฟูกายภาพพื้นที่ตามแนวถนน(Corridor Revitalization Plans)

4. แผนการปรับปรุงฟื้นฟูย่านและชุมชน(Neighborhood Revitalization Plans)

5. มาตรฐานสำหรับการจัดทำผังเฉพาะหรือผังพัฒนาพื้นที่(Specific Plan Development Standards)

6. รายละเอียดการปฏิบัติในแผนภาค (RegionalPlan Implementation)

7. รายละเอียดการปฏิบัติในผังเมืองรวมหรือผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่(Comprehensive Plan Implementation)

8. แผนการสงวนรักษาทรัพยากรด้านประวัติศาสตร์(Historic Resource Preservation Planning)

9. รายละเอียดการปฏิบัติในแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน(Transit Village Implementation)

10. แผนการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดิน (LandConservation Development Plans)

11. แผนการปรับปรุงฟื้นฟูย่านที่พักอาศัย(Greyfield Redevelopment)

12. แผนแม่บทการพัฒนาวิทยาเขต (CampusMaster Planning)

13. แผนการพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนรอบมหาวิทยาลัย(University/Community Interface Plans)

14. ข้อกำหนดและรูปแบบการจัดสรรที่ดิน (Subdivision Ordinances)

นอกจากนี้ยังสามารถนำ FBCs ไปใช้สำหรับเทียบเคียงค่ามาตรฐานในการวางผังพัฒนาเมืองอื่นๆที่ผู้บริหารเมืองต้องการกำหนดรายละเอียดทางกายภาพและเศรษฐกิจ เช่น การประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ การประมาณการฐานภาษีทางตรงและทางอ้อมที่ประชาชนและรัฐฯจะได้รับในช่วงระยะเวลาต่างๆ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภารกิจการบริหารจัดการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการคมนาคมและขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค หรือแม้แต่การใช้ในการจัดการทางกายภาพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่า FBCs มีศักยภาพระดับสูงในการวางผังและออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมืองและสามารถยกระดับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความคุ้มค่าประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมืองและประชาชนสามารถคาดการณ์โอกาสและความมั่งคั่งในการใช้ที่ดินในอนาคต ในขณะเดียวกัน พื้นที่ซึ่งใช้ FBCs จะได้รับการแปรเปลี่ยนจากสภาพไร้การวางแผน(Unplanned Area) เป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์(Complete Area) ด้วยกายภาพที่ได้รับการออกแบบซึ่งเกิดจากความต้องการและความเห็นร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบทความฉบับต่อไป จะได้นำผลประโยชน์ของ FBCsที่มีต่อการเพิ่มพูนมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อเมืองและประชาชนมาเสนอแต่ที่พลาดไม่ได้สำหรับผู้บริหารเมืองคือ ผลการวิจัยการใช้ FBCs ในต่างประเทศที่สามารถตอบคำถามการเพิ่มขึ้นของฐานภาษีและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่วัดได้ในระดับย่านหลังจากการนำFBCs บังคับใช้ร่วมกับกลยุทธ์ TOD ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่า แนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพของ FBCsสามารถสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาให้เกิดแก่มวลมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

ชมวีดีโอ 


เอกสารอ้างอิง

Daniel G. Parolek, AIA, Karen Parolek, Paul C. Crawford, FAICP, 2008,Form-Based Codes, A Guide for Planners,

Urban Designers, Municipalities, and Developers. New Jersey.John Wiley& Sons, Inc

Galina Tachieva, 2010, Sprawl Repair Manual, Island Press, Washington

ท่านใดสนใจแนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage กับอาจารย์ได้ตามลิ้งก์ Facebookนี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านเนื้อเรื่อง “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้(เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว //www.oknation.net/blog/smartgrowth 





Create Date : 30 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2555 11:06:54 น. 2 comments
Counter : 6389 Pageviews.

 
This video post is truly fantastic, the noise feature and the picture feature of this video post is truly amazing.
Ray Ban Wayfare //www.packageone.com/


โดย: Ray Ban Wayfare IP: 94.23.252.21 วันที่: 2 สิงหาคม 2557 เวลา:17:36:10 น.  

 
Thank you for the great job in opening my eyes. You expend so much energy that it should take you a week to recharge. Susan R.
Cheap Seattle Seahawks Jerseys //www.fdlgroup.co.uk/images/Cheap-Seattle-Seahawks-Jerseys.asp


โดย: Cheap Seattle Seahawks Jerseys IP: 218.251.113.57 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2557 เวลา:4:41:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.