ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
วิสัยทัศน์ “เทศบาลตำบลนาทวี จ.สงขลา” กับโอกาสพัฒนาตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด



บทความดีๆ ที่มีประโยชน์มากมายของ นักวิชาการผังเมือง อ.ฐาปนา บุณยประวิตร ซึ่งผมรู้จักผ่านทาง Facebook https://www.facebook.com/SmartGrowthThailand ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องการวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ซึ่งผมนำมาตั้งชื่อ Blog ผมอีกบล็อกหนึ่งครับ เพราะตั้งใจจะนำข้อคิด ข้อเขียนของอาจารย์ทั้งจากใน Facebookของอาจารย์ และในเว็บไซต์ของอาจารย์ //asiamuseum.co.th/ มานำเสนอเท่าที่จะเป็นไปได้ความจริงหลายเรื่องที่อาจารย์เขียน โดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ หลาย Case Study ครับ(เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวที่ดีๆ เกี่ยวกับผังเมืองในอนาคตที่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมหาศาล และแน่นอนทีเดียวหลายอย่างก็สามารถประยุกต์มาใช้ในประเทศไทยได้แน่นอน

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นของ นักวิชาการ 3 ท่าน ตามรายชื่อด้านล่างนี้ครับ

................................................................................

เข้าเรื่องบทความกันดีกว่าครับ....

บทความ : “เทศบาลตำบลนาทวี” จ.สงขลา กับโอกาสการพัฒนาตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด

โดย ฐาปนา บุณยประวิตร, กวินทราภู่ระหงษ์ และดาวเรือง มณีทอง

asiamuseums@hotmail,com/

//www.asiamuseums.co.th

หมายเหตุ : วิทยากร ทั้ง 3 ท่าน

-อ. ฐาปนา บุณยประวิตรนักวิชาการผังเมือง

-คุณกวินทราภู่ระหงษ์ นักภูมิสารสนเทศและนักผังเมือง

-คุณดาวเรือง มณีทอง สถาปนิกผังเมือง

บทนำ

เทศบาลตำบลนาทวีเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดด้วยปัจจัยการเปิดด่านการค้ากับประเทศมาเลเซียในพื้นที่บ้านประกอบและการเป็นประตูสู่ย่านพาณิชยกรรมการค้าและการลงทุนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลจากการพัฒนาดังกล่าวทำให้เมืองได้ขยายตัวออกทั่วทิศทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวกระจัดกระจายตามแนวถนน ซึ่งหากพิจารณาจากทุกบริบทแล้วเทศบาลฯ ไม่อาจหยุดยั้งการแผ่ขยายดังกล่าวได้ และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการสร้างแผนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีความสอดคล้องกับข้อจำกัดด้านกายภาพและสภาพแวดล้อมตลอดจนความต้องการยกระดับทางเศรษฐกิจของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นอีกทางเลือก บทความนี้จึงได้สรุปโอกาส ข้อจำกัดและแนวทางการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา ซึ่งหน่วยงานอื่นๆหรือสาธารณะสามารถนำเอาข้อคิดเห็นจากบทความนี้ไปใช้ในการปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆได้ต่อไป


ภาพผังข้อเสนอการใช้ประโยชน์ที่ดินและสภาพทั่วไปย่านการค้าตลาดราชพัสดุ


กลยุทธ์การเติบโตอย่างชาญฉลาดกับเทศบาลตำบลนาทวี

จากการคาดการณ์ไปถึง 20 ปีข้างหน้า หรือประมาณ พ.ศ. 2575 เทศบาลตำบลนาทวีจะมีประชากรประมาณ 8,940คน จากปัจจุบันจำนวน 6,963 คน(ประชากรจริงในปัจจุบันหากนับรวมประชากรแฝงแล้วน่าจะมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 30,000 คน คำนวณจากปริมาณการใช้สาธารณูปโภค) ซึ่งเทศบาลฯจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และวางแผนระบบการคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการอยู่อาศัยและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น ในการจัดทำแผนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลฯควรบูรณาการแนวคิดการพัฒนา สภาพการเอื้ออำนวยทางด้านกายภาพ สภาพภูมิประเทศ ตลอดจนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยควรกำหนดวิสัยทัศน์และบทบาทเมืองเป็น “เมืองพาณิชยกรรมขนาดกลางประตูสู่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้” และดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมตามแนวทางของ Transit OrientedDevelopment –TOD (ประยุกต์เฉพาะกรอบการพัฒนา)การกระชับศูนย์ชุมชนตามแนวทาง Sprawl Retrofit ที่ดำเนินการพร้อมๆกับการปรับปรุงรูปทรงเมืองตาม Form-Based Codes ซึ่งหากจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามแนวทางนี้เทศบาลฯ จะมีแผนและเครื่องมือที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพเพียงพอในการบริหารจัดการพื้นที่และนำเมืองไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตามทิศทางที่ถูกต้อง



นายศุภสัณห์หนูสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีกล่าวเปิดการประชุมประชาคมตามโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเทศบาลตำบลนาทวี

แนวทางการยกร่างแผนยุทธศาสตร์

จากการสำรวจศึกษาข้อมูลพื้นฐาน การทบทวนแผนงานโครงการและการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ทราบโอกาสและข้อจำกัดซึ่งเทศบาลฯ จำเป็นต้องบูรณาการ จำนวน 6 แนวทาง ประกอบด้วย

1) แนวคิดการวางผังเมือง โดยเลือกใช้การเติบโตอย่างชาญฉลาดเป็นแนวคิดหลักในการวางแผน ซึ่งเกณฑ์ที่เลือกใช้จำนวน 6เกณฑ์ ประกอบด้วย การใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน การส่งเสริมและการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ การเชื่อมต่อการสัญจรภายในและระหว่างย่านด้วยทางเดิน

การสร้างทางเลือกการเดินทางที่มีความหลากหลายและลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ การวางผังและออกแบบอาคารให้กระชับแบบเกาะกลุ่มกัน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน



ภาพผู้ร่วมประชุมประชาคมการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเทศบาลตำบลนาทวี


2) การตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาพบว่า ชุมชนเทศบาลตำบลนาทวีเป็นชุมชนพาณิชยกรรมบริการที่พึ่งพาระบบการผลิตและการตลาดสินค้ายางพาราและระบบการค้าสินค้าวัสดุก่อสร้างสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยพื้นที่พาณิชยกรรมบริการซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดในช่วง5 ปีที่ผ่านมาได้แก่ บริเวณสองข้างแนวถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 42)ทั้งช่วงนาทวี-หาดใหญ่และช่วงนาทวี-ปัตตานี และบริเวณสองข้างแนวถนนสายนาทวี-จะนะ(ทางหลวงหมายเลข 408) ซึ่งทั้งสองพื้นที่นี้ เทศบาลฯ ควรปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพ ด้วยการระบุเป็นแผนงานโครงการลงในแผนยุทธศาสตร์



ผู้ร่วมประชุมร่วมปฏิบัติการมีส่วนร่วมทางผังเมืองHand-On Public Workshop

3) การจัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากการสำรวจพบกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีการผสมผสานระดับสูงในย่านพาณิชยกรรมดั้งเดิม(ย่านตลาดราชพัสดุ) ได้แก่ การใช้ที่ดินสำหรับการค้าขาย การผลิตอาหาร การอยู่อาศัย และกิจกรรมทางสังคมในขณะที่ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ กล่าวคือมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะที่อ่อนไหวต่อภาวะน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลากซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากในการพัฒนาขณะที่พื้นที่บริเวณสองข้างแนวถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 42) แม้การใช้ประโยชน์จะเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเป็นแบบผสมผสานและสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้น แต่ก็พบข้อจำกัดการใช้ประโยชน์เนื่องจากการเติบโตแบบกระจัดกระจาย (UrbanSprawl) ไม่มีระเบียบ ขาดการวางแผนประเภทอาคารและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่เด่นชัด ทำให้ใช้ที่ดินได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังพบว่า ในย่านการค้าเกิดใหม่ยังขาดการวางผังระบบบริการชุมชนซึ่งเป็นบริการพื้นฐานที่มีความสมบูรณ์เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงเรียนอนุบาล สนามเด็กเล่น หรือสถานที่สาธารณะ ดังนั้น ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงควรสร้างข้อกำหนดและวางผังให้เกิดส่วนประกอบเมืองที่ครบถ้วนสมบูรณ์



ภาพอาคารเก่าใจกลางตลาดราชพัสดุเทศบาลตำบลนาทวี


4) ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทศบาลฯ ได้ลงทุนโครงข่ายระบบถนนสายหลัก สานรองและถนนซอยไว้อย่างสมบูรณ์ การให้บริการไฟฟ้า ประปาและโทรศัพท์มีประสิทธิภาพและให้บริการครอบคลุมเกือบทั่วทั้งบริเวณ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ยังขาดการลงทุนสถานีขนส่งและจัดการระบบการขนส่งมวลชน การจัดระบบการสัญจรภายในเมืองการเชื่อมต่อการสัญจรกับโครงข่ายระดับภาค ระบบการระบายน้ำฝน น้ำทิ้ง การจัดการระบบคูคลองทั้งภายในเขตเทศบาลและส่วนที่ต่อเนื่องกับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นๆตลอดจน ทางเดินและทางจักรยานที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ 



สภาพคลองนาทวีซึ่งถูกรุกล้ำจากอาคารสิ่งปลูกสร้าง


5) ตำแหน่งและบทบาทของเมืองในอนาคต เดิมชุมชนนาทวีมีบทบาทการให้บริการภาคพาณิชยกรรมเฉพาะประชาชนในพื้นที่ของเทศบาลและตำบลข้างเคียง แต่ปัจจุบันโครงข่ายคมนาคมได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเชื่อมต่อกับศูนย์เศรษฐกิจอื่นทั้งในระดับพื้นที่และระดับภาค ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บทบาทของเทศบาลฯ เปลี่ยนแปลงไป โดยชุมชนพาณิชยกรรมบริการได้แปรสภาพเป็นศูนย์รวมระบบการผลิตและการตลาดสินค้ายางพาราและการค้าสินค้าวัสดุก่อสร้างสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนบริการที่เกี่ยวเนื่องให้กับย่านและชุมชนอื่นๆในเขตจังหวัดสงขลาและในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ประกอบกับการเปิดด่านถาวรบริเวณบ้านประกอบที่ติดต่อค้าขายกับประเทศมาเลเซีย จึงทำให้เทศบาลฯกลายเป็นแหล่งรองรับและขนถ่ายสินค้า รวมทั้งการบริการ ตลอดจนการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ตอนล่าง ดังนั้น ตำแหน่งและบทบาทของเทศบาลฯในอนาคตจึงควรเป็นศูนย์พาณิชยกรรมที่ให้บริการทั้งการค้าและลงทุนที่มีตำแหน่งในระดับศูนย์พาณิชยกรรมขนาดกลาง มีอันดับรองจากศูนย์พาณิชยกรรมขนาดใหญ่ระดับภาคเช่นศูนย์พาณิชยกรรมเมืองหาดใหญ่ ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาควรเพิ่มโครงการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์พาณิชยกรรมที่มีอยู่ให้มีศักยภาพในการรองรับการพัฒนาและตอบสนองต่อบทบาทใหม่ของชุมชนเมืองนาทวีต่อไป

6) ความต้องการของท้องถิ่น จากการสำรวจข้อคิดเห็นจากประชาชน พบว่าส่วนใหญ่มีความต้องการบริการพื้นฐานจากเทศบาลฯที่มีความสมบูรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น



สภาพการค้าในย่านตลาดราชพัสดุ


บทสรุป

จะเห็นได้ว่า สภาพปัจจุบันชุมชนเทศบาลตำบลนาทวีประกอบด้วยโอกาสในการพัฒนาไปสู่เป้าหมายเป็นเมืองพาณิชยกรรมที่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีอุปสรรคปัญหาด้านต่างๆ ดังนั้น เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาที่มีความเหมาะสม เทศบาลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรกำหนดโครงสร้างเมืองและระบบชุมชนให้เป็นแบบกระชับในรูปของศูนย์พาณิชยกรรมชุมชน ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ จัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการนำแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาดเพื่อประยุกต์ใช้ในพื้นที่ซึ่งยังไม่เคยมีการวางผังมาก่อนอาจจะประสบกับหลายปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจของผู้ปฏิบัติและประชาชน ซึ่งเทศบาลฯ จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการสร้างความเข้าใจและเพิ่มการมีส่วนร่วมให้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นพลังสนับสนุนและผลักดันแผนงานสู่เป้าหมายที่ต้องการต่อไป



ท่านใดสนใจแนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage กับอาจารย์ได้ตามลิ้งก์ Facebookนี้ครับ https://www.facebook.com/SmartGrowthThailand

อ่านเนื้อเรื่อง “ย้อนหลัง”ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้ (เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลก เค้าไปถึงไหนกันแล้ว //www.oknation.net/blog/smartgrowth





Create Date : 14 กันยายน 2555
Last Update : 14 กันยายน 2555 16:18:52 น. 0 comments
Counter : 2952 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.