ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ถึงเวลากันแล้วหรือยัง ที่บ้านเรา จะมีการวางผังและออกแบบเมืองสู่ความยั่งยืนตามหลักเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด



บทความดีๆ ที่มีประโยชน์มากมาย ของ นักวิชาการผังเมือง อ.ฐาปนาบุณยประวิตร ซึ่งผมรู้จักผ่านทาง Facebookhttps://www.facebook.com/SmartGrowthThailand ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องการวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ซึ่งผมนำมาตั้งชื่อ Blog ผมอีกบล็อกหนึ่งครับ เพราะตั้งใจจะนำข้อคิด ข้อเขียนของอาจารย์ทั้งจากใน Facebookของอาจารย์ และในเว็บไซต์ของอาจารย์ //asiamuseum.co.th/ มานำเสนอเท่าที่จะเป็นไปได้ความจริงหลายเรื่องที่อาจารย์เขียน โดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ หลาย Case Study ครับ(เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวที่ดีๆ เกี่ยวกับผังเมืองในอนาคตที่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมหาศาล และแน่นอนทีเดียวหลายอย่างก็สามารถประยุกต์มาใช้ในประเทศไทยได้แน่นอน

………………………………………………………………………………..

วันนี้เนื้อหา จะตรงประเด็นกับชื่อบล็อกและน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากมายเกี่ยวกับเรื่องผังเมืองไทย ถ้านำมาวิเคราะห์ประยุกต์ดีๆ...เข้าเนื้อหาของ อ.ฐาปนา กันเลยครับ..

การวางผังและออกแบบเมืองสู่ความยั่งยืนตามเกณฑ์หลักการเติบโตอย่างชาญฉลาด

โดย ฐาปนา บุณยประวิตร asiamuseums@hotmail.com/

//www.asiamuseum.co.th/

//www.facebook.com/smartgrowththailand/

บทนำ

การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) มีแนวทางอย่างเด่นชัดในการวางผังและออกแบบเมืองเพื่อสร้างกายภาพเป็นเครื่องกระตุ้นและจูงใจให้เกิดกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ก่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระดับภาค เมือง และชุมชน ทั้งนี้ ด้วยการดำเนินการตามเกณฑ์หลัก (CorePrinciples) ที่ยกร่างโดยสมาคมการวางแผนอเมริกัน (TheAmerican Planning Association-APA) ซึ่งทุกเมืองในโลกสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองแผนการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง และแผนปฏิบัติการระดับต่างๆ ได้

ภาพย่านพาณิชยกรรมเมืองดีทรอยท์ที่รอการฟื้นฟูสภาพ

ที่มา : The Atlantic Cities

เป้าหมายของเกณฑ์หลักการเติบโตอย่างชาญฉลาดมุ่งไปยังการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างทางกายภาพให้สนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผสมผสานการส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับรายได้มีโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงแหล่งงานที่เหมาะสมกับศักยภาพตามความสามารถ และเข้าถึงแหล่งนันทนาการที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ด้วยการใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องจูงใจให้เกิดปรับปรุงฟื้นฟูมากกว่าการบังคับใช้ด้วยระเบียบข้อกำหนด การเติบโตอย่างชาญฉลาดได้สนับสนุนให้เกิดทางเลือกและโอกาสในการส่งเสริมประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการพัฒนาที่ดินการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ซึ่งรัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้ว ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะต้องไม่รุกล้ำพื้นที่การเกษตร ที่โล่งระบบทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตชนบท นอกจากนี้การเติบโตอย่างชาญฉลาดยังสนับสนุนให้ประชาชนใช้แนวทางการอยู่อาศัย การทำงาน และการนันทนาการตามศักยภาพของเศรษฐกิจที่แท้จริงมีความอิสระ และมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่จะมีขึ้นในอนาคต

ภาพการใช้สถานที่สาธารณะใจกลางเมืองซีแอตเติล

ที่มา: The Atlantic Cities

เกณฑ์หลักการเติบโตอย่างชาญฉลาด

สมาคมการวางแผนอเมริกันได้จัดทำเกณฑ์หลักการเติบโตอย่างชาญฉลาดจำนวน16 ข้อ แบ่งเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย นโยบายการปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพ จำนวน 5ข้อ นโยบายการฟื้นฟูและกระตุ้นทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ข้อ นโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร จำนวน 3 ข้อ และนโยบายการมีส่วนร่วมและการบริหารจัดการจำนวน 4 ข้อ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

นโยบายการฟื้นฟูทางกายภาพ

กายภาพเมืองที่ต้องวางผังและออกแบบฟื้นฟูได้แก่การใช้ประโยชน์ที่ดิน การส่งเสริมความหนาแน่น การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยการฟื้นฟูระบบการสัญจรและการคมนาคมขนส่ง รายละเอียดประกอบด้วย

ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน

ส่งเสริมการใช้ที่ดินแบบผสมผสานในระดับอาคาร บล็อกที่ดินและย่าน สามารถประเมินประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ด้วยดัชนีหรือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดความหนาแน่นด้วยอาคารแนวตั้งในพื้นที่ที่มีการลงทุนสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้วเพื่อประหยัดและความคุ้มค่าในการใช้ที่ดิน

สภาพการผสมผสานอาคารแนวตั้งระดับต่างๆเมืองซีแอตเติล

ที่มา : The Atlantic Cities

ผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินและทางเลือกที่อยู่อาศัย

กระตุ้นกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ผสมผสานสนับสนุนและส่งเสริมให้แต่ละกิจกรรมมีความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจซึ่งกันและกันเช่น การผสมผสานกิจกรรมพาณิชยกรรมการพักอาศัย สังคม วัฒนธรรม และนันทนาการ รวมทั้งสร้างทางเลือกที่อยู่อาศัยและอาคารพักอาศัยเช่น อาคารชุดเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ หรือ อาคารพักอาศัยหลายระดับราคา เป็นต้น

สร้างศูนย์กลางชุมชนและย่านที่ผสมผสาน มุ่งเน้นการออกแบบตาม Human scale

วางผังและออกแบบกายภาพศูนย์ชุมชนและย่านให้ผสมผสานทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความกระชับ กำหนดมาตรการลดการกระจัดกระจายของที่พักอาศัยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ธรรมชาติกายภาพที่ออกแบบต้องมีขนาดเหมาะสมตามลักษณะการใช้งานจริง นอกจากนั้นชุมชนยังต้องมีแนวขอบหรือมีขอบเขตพื้นที่อนุญาตให้พัฒนาอย่างชัดเจน

สร้างทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่มีความหลากหลาย

วางผังและออกแบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งและระบบการสัญจรให้มีความสัมพันธ์และเชื่อมต่อกันทางกายภาพระบบมีความหลากหลาย ประชาชนมีทางเลือกการเดินทางโดยใช้กิจกรรมทางกาย (Physical Activities) เช่น ทางเดิน ทางจักรยาน และระบบการขนส่งมวลชน รวมทั้งการขนส่งสีเขียวเป็นทางเลือกในการสัญจร ระบบโครงข่ายที่สร้างขึ้นต้องมีความสมดุลกับขนาดย่านหรือชุมชนหรือลักษณะการเดินทางหรือตามความจำเป็นในการเดินทางหรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจจริง

ภาพสถานีขนส่งรถไฟฟ้ารางเบาและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน

ที่มา : Reconnecting America

ชุมชนและเมืองที่พึงปรารถนา

ในการวางผังและออกแบบเมืองให้น่าอยู่และยั่งยืนการเติบโตอย่างชาญฉลาดได้กำหนดให้สงวนรักษาพื้นที่การเกษตร (Agriculture Land) สร้างแนวขอบสีเขียวรอบเขตชุมชน สร้างพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ปรับปรุงฟื้นฟูและออกแบบเส้นทางสีเขียว(Greenway) ที่โล่ง (Open Space) ให้เป็นพื้นที่ถาวรและสงวนรักษาให้มีความอุดมความสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

นโยบายการฟื้นฟูและกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

การเติบโตอย่างชาญฉลาดใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดความเห็นร่วมจากประชาชนในการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองและใช้ดัชนีทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จจากการพัฒนา ดังนั้นทุกโครงการที่ดำเนินการจะต้องคำนึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางใดทางหนึ่งที่ประชาชนสามารถมองเห็นและรับรู้ได้นโยบายการฟื้นฟูและกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

ภาพการรณรงค์ให้ปรับปรุงกายภาพสถานที่สาธารณะของPPS

ที่มา: Project for Public Space

สร้างและส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สร้างนวัตกรรมทางผังเมืองให้เกิดความสดใสทางเศรษฐกิจการสร้างงาน การจ้างงาน และการสร้างมูลค่าทรัพย์สินนวัตกรรมผังเมืองที่มักนำมาใช้ได้แก่ การส่งเสริมความหนาแน่นในย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองและการผสมผสานที่พักอาศัยหลายระดับราคาในย่านพาณิชยกรรมการสร้างและพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development) การปรับปรุงฟื้นฟูกายภาพถนนให้เป็นแบบสมบูรณ์ (Complete Streets) เป็นต้น

ส่งเสริมความมีชีวิตชีวาใจกลางชุมชน

การวางผังและออกแบบกายภาพใจกลางย่านพาณิชกรรมผสมผสานที่พักอาศัยให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างกายภาพทางเดินขนาดใหญ่(Pedestrian Mall) และพลาซ่าด้านหน้าอาคารสำคัญ เช่น อาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศูนย์การค้าร้านค้าปลีก ฯลฯ พร้อมด้วยการส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เช่นกิจกรรมการจำหน่ายอาหารท้องถิ่น (Local Food) เทศกาลสินค้าเกษตรหรือเทศกาลประเภทต่างๆ ที่จัดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี

สร้างความสดใสให้เกิดกับเมืองเล็กและพื้นที่ชนบท

สร้างเอกลักษณ์เฉพาะทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่โดดเด่นให้แก่เมืองขนาดเล็กและชนบทด้วยการวางผังและออกแบบกายภาพสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีความโดดเด่นสร้างกายภาพให้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆโดยการเสริมศักยภาพฐานทรัพยากรที่ท้องถิ่นมีอยู่ให้เป็นอัตลักษณ์ที่มีความเด่นชัด

ภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการรณรงค์ตามโครงการPro Walk Pro Bike Pro Place

ที่มา: Project for Public Space

สนับสนุนการลงทุนในเขตเมืองการพัฒนาที่กระชับและการอนุรักษ์ที่ดิน

ท้องถิ่น หน่วยงานส่วนภูมิภาคและหน่วยงานจากส่วนกลางควรกำหนดแผนงาน โครงการให้สนับสนุนการลงทุนในเขตเมืองหรือภายในพื้นที่เมืองหยุดหรือลดการลงทุนในพื้นที่พัฒนาใหม่ซึ่งไม่มีความต่อเนื่องกับเนื้อเมืองเดิมสนับสนุนการพัฒนาที่กระชับทั้งกายภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งสอดคล้องกับการอนุรักษ์ที่ดินซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์

นโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร

ทรัพยากรที่เมืองต้องวางผังและออกแบบฟื้นฟูได้แก่ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ ทรัพยากรทั้งสองอาจจะอยู่ในสภาพที่ต้องสงวนรักษา ปรับปรุงหรือฟื้นฟูสภาพ ซึ่งเมืองต้องคัดสรรเครื่องมือและกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหานโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร มีดังนี้

อนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรม

การเติบโตอย่างชาญฉลาดได้กำหนดความสำคัญในการวางผังปกป้องพื้นที่ธรรมชาติเช่น พื้นที่ป่าเขาต้นน้ำลำธาร ทางน้ำ พรุ ป่าชายเลน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติพื้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ พื้นที่งดงามตามธรรมชาติและพื้นที่ทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการแผ่ขยายของชุมชนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

สงวนรักษาและส่งเสริมความสำนึกรักพื้นที่

การวางผังปรับปรุงฟื้นฟูใจกลางชุมชนที่ตั้งของอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม หรือที่ตั้งของสถานที่มีความสำคัญกับประวัติความเป็นมาของชุมชนวงเวียน ทางแยก ลานหน้าอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารพื้นถิ่น พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวและพื้นที่แสดงเอกลักษณ์ชุมชนถือเป็นความสำคัญอันดับแรกที่เมืองต้องวางแผนสงวนรักษาเพื่อมอบให้เป็นทรัพยากรของชุนชน

มุมมองระดับภาคในการยกระดับทางเศรษฐกิจและนิเวศ

ใช้มุมมองระดับภาคที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของโครงสร้างพื้นฐานทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยในการวางแผนยกระดับกายภาพและเศรษฐกิจเมืองความมั่นคงด้านอาหาร และความยั่งยืนของระบบนิเวศ

นโยบายการมีส่วนร่วมและการบริหารจัดการ

ทุกแผนการพัฒนาจะสำเร็จได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเห็นร่วมและการสนับสนุนจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังนั้น ในการวางผังปรับปรุงฟื้นฟูเมืองสู่ความยั่งยืน การเติบโตอย่างชาญฉลาดจึงได้กำหนดให้นักผังเมืองและผู้บริหารเมืองใช้ทุกกลยุทธ์ในการถ่ายทอดความรู้ และสื่อสารกับประชาชน รวมทั้งนำข้อสรุปเข้าผสมผสานกับเกณฑ์หลัก นโยบายการมีส่วนร่วมและการบริหารจัดการประกอบด้วย

ภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานInternational Public MarketsConference ครั้งที่ 8 ของ PPS แสดงกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสงวนรักษาแหล่งอาหารและระบบการกระจายอาหารท้องถิ่น

ที่มา : Project for Public Space

เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

การเติบโตอย่างชาญฉลาดเสนอให้ใช้ Placemaking ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มและให้นำทุกความเห็นที่ได้รับบรรจุเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวางผังและออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมือง ตลอดจนนำมาใช้ในการวางแผนทุกขั้นตอนของการดำเนินการ

ผสมผสานองค์ความรู้ต่างสาขาให้เกิดความสมบูรณ์

การเติบโตอย่างชาญฉลาดกำหนดให้นำองค์ความรู้จากแต่ละสาขาประยุกต์ใช้ และให้บูรณาการองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อนำมาเป็นกรอบการปฏิบัติ ซึ่งหากแนวทางใดเมื่อประยุกต์ใช้แล้วบังเกิดผลในเชิงบวกและได้รับการยอมรับจากประชาชน หรือเมื่อได้เทียบเคียงการปฏิบัติกับสถาบันอื่นๆแล้ว มีความโดดเด่น ก็ให้ถือว่าองค์ความรู้และวิธีการดังกล่าวเป็น “วิธีปฏิบัติที่ดี”ในการวางแผนพัฒนาเมืองซึ่งควรได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

ส่งเสริมความหลากหลายในกระบวนการวางแผนและข้อกำหนด

สร้างแผนงาน ผังการฟื้นฟูทางกายภาพ แผนปฏิบัติการ และข้อกำหนดให้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับการปรับปรุงแก้ไขตามโอกาสการพัฒนาใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ การระดมองค์ความรู้และประสบการณ์จากทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะก่อให้เกิดการสนับสนุนการปฏิบัติจากผู้ที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป

บูรณการทุกความเห็นในการพัฒนาตามการเติบโตอย่างชาญฉลาด

รับเอาข้อคิดเห็นและประสบการณ์จากทุกสถาบันทางสังคมสถาบันการศึกษา รัฐบาล หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และปัจเจกชน นำมาบูรณาการให้เกิดแนวทางที่เป็นความเห็นร่วมของทุกคนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของการเติบโตอย่างชาญฉลาดหรือSmart Growth

สรุป

จะเห็นได้ว่า เกณฑ์หลักทั้ง 4 กลุ่มหรือ 16นโยบายการวางผังและการออกแบบเมืองของการเติบโตอย่างชาญฉลาดได้รวบรวมทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเครื่องขับเคลื่อนการพัฒนาไว้ในนโยบายแม้ทุกกลุ่มเกณฑ์หลักจะมีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติผู้ประยุกต์ใช้จำเป็นจะต้องศึกษาสถานะของชุมชนให้ถ่องแท้และจัดลำดับการใช้แต่ละกลุ่มเกณฑ์หลักให้มีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอว่าการเติบโตอย่างชาญฉลาดใช้นโยบายทางกายภาพเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการฟื้นฟูทางกายภาพและให้ลักษณะทางกายภาพเป็นเครื่องกระตุ้นปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งผลจากกระบวนการดังกล่าวจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนชุมชน และเมือง ดังนั้น ในการนำแต่ละเกณฑ์หลักไปใช้ ควรจะต้องเริ่มต้นที่การปรับปรุงกายภาพชุมชนเป็นเบื้องแรกและการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต่อไป

ชมวีดีโอครับ...ตามลิ้งก์ 


เอกสารอ้างอิง

The American Planning Association, Policy Guide on Smart Growth, Available

from: //www.planning.org/policy/guides/adopted/smartgrowth.htm.July, 23, 2012


ท่านใดสนใจแนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage กับอาจารย์ได้ตามลิ้งก์ Facebookนี้ครับ https://www.facebook.com/SmartGrowthThailand

อ่านเนื้อเรื่อง “ย้อนหลัง”ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้ (เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลก เค้าไปถึงไหนกันแล้ว //www.oknation.net/blog/smartgrowth

 




Create Date : 24 กรกฎาคม 2555
Last Update : 25 กรกฎาคม 2555 0:01:22 น. 1 comments
Counter : 2245 Pageviews.

 
ถึงเวลากันแล้วหรือยัง ที่บ้านเรา จะมีการวางผังและออกแบบเมืองสู่ความยั่งยืนตามหลักเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด replica bags
replica bags //www.itbag-china.com


โดย: replica bags IP: 192.99.14.34 วันที่: 6 มีนาคม 2557 เวลา:14:12:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.