ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
สิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนอย่างเราควรได้รับจากนโยบายสาธารณะ : กายภาพเมืองที่ดี แบบเค้า มีมั้ย? หรือจะสไตล์แบบไทยๆ ยังไงก็ได้

บทความเรื่อง : กายภาพเมืองที่ดี :สิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากนโยบายสาธารณะ

โดยฐาปนา บุณยประวิตร

asiamuseums@hotmail.com/

//www.asiamuseum.co.th

บทความดีๆ ที่มีประโยชน์มากมาย ของ นักวิชาการผังเมืองอ.ฐาปนา บุณยประวิตร ซึ่งผมรู้จักผ่านทาง Facebook//www.facebook.com/pages/Smart-Growth-ASIA/355237181167341?sk=wall ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องการวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ซึ่งผมนำมาตั้งชื่อ Blog ผมอีกบล็อกหนึ่งครับเพราะตั้งใจจะนำข้อคิด ข้อเขียนของอาจารย์ทั้งจากใน Facebook ของอาจารย์ และในเว็บไซต์ของอาจารย์ //asiamuseum.co.th/ มานำเสนอเท่าที่จะเป็นไปได้ ความจริงหลายเรื่องที่อาจารย์เขียนโดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ หลาย CaseStudy ครับ (เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวที่ดีๆเกี่ยวกับผังเมืองในอนาคต ที่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมหาศาลและแน่นอนทีเดียวหลายอย่าง ก็สามารถประยุกต์มาใช้ในประเทศไทยได้แน่นอน……

..................................................................................................

บทความเรื่อง : กายภาพเมืองที่ดี: สิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากนโยบายสาธารณะ

โดย ฐาปนาบุณยประวิตร

บทนำ

ช่วงสองสัปดาห์นี้ สมาชิก Smart Growth ASIA (SGA) 2ท่านได้ขอให้ผมวิเคราะห์ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เข้าใจว่าหนึ่งในนั้นทราบว่าผมได้เคยทำวิจัยเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมาก่อน ผมได้ตอบปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ผังเมืองรวมตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518ไม่ได้มีเป้าหมายในการกำหนดแนวทางการจัดทำนโยบายสาธารณะเช่นเดียวกับต่างประเทศ และหลายๆบทบัญญัติไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นจากแนวคิดหรือทฤษฎีการพัฒนาเมือง อีกทั้งยังระบุสาระสำคัญไว้ไม่ครบถ้วน ดังเช่น ที่มาของผัง หรือประเภทของผังที่จำเป็นต้องใช้ นอกจากนี้ยังขาดผังที่เป็นสาระสำคัญ เช่น ผังการพัฒนาเศรษฐกิจ ผังการพัฒนาที่อยู่อาศัย ผังการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง และผังการอนุรักษ์พื้นที่การเกษตร แหล่งอาหาร และทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่ปรึกษาขาดเครื่องมือในการกำหนดรายละเอียดด้านยุทธศาสตร์ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาเมืองที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง ถึงแม้ผมจะวิพากษ์ก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบสนองความต้องการสมาชิก SGA วันนี้ผมจึงนำเรื่องสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนโยบายการพัฒนากายภาพเมืองที่ดีมาทดแทน



ภาพแสดงความคาดหวังของประชาชนในการได้รับสิ่งที่ดีจากกายภาพเมืองซึ่งมาจากนโยบายสาธารณะ

ที่มา : Project for Public Spaces


ระดับของนโยบายสาธารณะ

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นโยบายสาธารณะของหลายๆประเทศได้ลงลึกไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดผลประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับจาก "กายภาพที่ดีของเมือง" คำว่ากายภายภาพเมืองที่ดีมีความสำคัญแบ่งได้เป็นสองระดับ แต่เดิมเราเข้าใจว่ารัฐมีหน้าที่ในการลงทุนจัดหาสาธารณูปโภคข้ันพื้นฐานให้กับประชาชน(จัดเป็นนโยบายระดับแรก) ซึ่งปัจจุบันรัฐก็จัดให้แล้วตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน ทางด่วน ทางยกระดับ ทางด่วนพิเศษหรือแม้แต่ระบบการขนส่งมวลชน ฯลฯ แต่เมื่อนำเอาอีกสองนโยบายซึ่งอยู่ในระดับที่สองเทียบเคียงก็ปรากฎว่าสิ่งที่รัฐจัดให้น้ันอาจไม่เพียงพอ หรืออาจไม่เหมาะสมหรืออาจอาจเป็นนโยบายที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้างพื้นฐาน (ด้าน built environment และด้าน natural environment) ของประเทศ นโยบายระดับที่สอง ที่นำมาใช้มีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่องได้แก่ "ความสามารถในการเอื้อมถึงหรือเข้าถึงบริการของประชาชน" และเรื่องที่สอง "การลงทุนด้านกายภาพหรือสาธารณูปโภคที่ไม่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่ายของประชาชนท้ังในระยะสั้นและระยะยาว" สองนโยบายนี้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของนโยบายสาธารณะ



ภาพแสดงกายภาพเมืองที่ประชาชนไม่ต้องการ
ที่มา: Transportationfor America

ความสามารถในการเอื้อมถึงบริการ

หากพิจารณาจากนโยบายแรก ความสามารถในการเอื้อมถึงหรือเข้าถึงบริการ ดังตัวอย่างสวนสาธารณะดังเช่นกรณี Central Park ในนิวยอร์คซึ่งประชาชนกำลังเรียกร้องขอคืนพื้นที่ถนนจากรถยนต์อยู่ในขณะนี้ มีคำถามว่า ประชาชนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเอื้อมถึงและเข้าถึงสวนสาธารณะหรือไม่อย่างไร คำว่า “หรือไม่” หมายถึงทุกชุมชนควรมีสวนสาธารณะระดับชุมชน(community park) หรือไม่ สองคำว่า “อย่างไร” นั้นหมายถึง สวนสาธาธารณะดังกล่าวต้องตั้งอยู่ในระยะการเดินถึงหรือขี่จักรยานถึงของประชาชนภายในชุมชนหรือไม่ หรือต้องขับรถยนต์ไปอีก 10-20 กม.เพื่อเข้าถึงสวนสาธารณะ ซึ่งหากลักษณะทางกายภาพจริงสวนสาธารณะตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนหรือไกลเกินกว่าระยะการใช้จักรยาน(กรณีเป็นชุมชนเป้าหมายของสวนสาธารณะนั้น) Smart Growth จะเรียกสวนสาธารณะดังกล่าวว่ามีที่ตั้งอยู่ไกล“เกินการเอื้อมถึง” และจะถือว่ารัฐฯไม่ได้จัดการให้มีสวนธารณะตามที่ระบุไว้ในนโยบายสาธารณะ จากตัวอย่างข้างต้น ท่านอาจเลือกหน่วยบริการอื่นๆที่เป็นหน่วยบริการพื้นฐานของชุมชนแทนสวนสาธารณะ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือศูนย์บริการสาธารณสุข โรงเรียน ตลาดสด วัด สนามกีฬา ฯลฯ



ภาพ Central Park ใจกลางมหานครนิวยอร์คซึ่งถูกประชาชนเรียกร้องขอคืนพื้นที่ถนนจากรถยนต์

ที่มา : Project for Public Space



“The Case for a Car-FreeCentral Park” (A 2004 Flashback)

ตัวอย่างสวนสาธารณะดังเช่นกรณีCentral Park ในนิวยอร์คซึ่งประชาชนออกมาเรียกร้องขอคืนพื้นที่ถนนจากรถยนต์

ขอขอบคุณภาพจากวีดีโอตามลิ้งก์ใช้ในการประกอบบทความ //www.streetfilms.org/the-case-for-a-car-free-central-park-a-2004-flashback/




“The Case for a Car-FreeCentral Park” (A 2004 Flashback)

ประชาชนชาวนิวยอร์คอยากได้คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี

ขอขอบคุณภาพจากวีดีโอตามลิ้งก์ใช้ในการประกอบบทความ //www.streetfilms.org/the-case-for-a-car-free-central-park-a-2004-flashback/


นโยบายการลงทุนด้านกายภาพ

นโยบายที่สอง การลงทุนด้านกายภาพหรือสาธารณูปโภคที่ไม่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและค่าใช้จ่ายของประชาชนท้ังในระยะสั้นและระยะยาว คำนี้ขอให้ท่านพิจารณาจากทุกรายงานของ SGA ที่นำลงก่อนหน้านี้ซึ่งได้กล่าวถึงความผิดพลาดในการวางผังโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ท่านจะมองเห็นว่าการลงทุนระบบโครงข่ายถนน ทางด่วน หรือทางด่วนพิเศษอย่างมโหฬารในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาหรือสร้างปัญหาให้กับเมืองและประชาชน จากตัวอย่างแรก ท่านที่อ่านบทความเรื่องค่าดัชนี H+T Affordable Housing คงจะจำเกณฑ์ของดัชนีที่ระบุว่า ประชาชนจะสูญเสียโอกาสการซื้อหาที่อยู่อาศัยหากประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางกับค่าใช้จ่ายของที่อยู่อาศัยรวมกันมากกว่าร้อยละ45 เมื่อเทียบจากรายได้สุทธิ ซึ่งข้อมูลจากรายงานของ Center for Neighborhood Technology หรือCNT ระบุว่าปัจจุบันผลรวมดัชนี H+T คนอเมริกันมีค่ามากกว่าร้อยละ60 อันเป็นผลจากนโยบายการวางผังที่อยู่อาศัยให้กระจายออกไปยังชานเมืองในอดีตทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และการไม่ได้ส่งเสริมความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยในเขตชั้นในของเมืองอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการวางแผนและการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดนั้นได้ทำให้เกิดการลงทุนด้านกายภาพที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่ายของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว



สหรัฐต้องสูญเสียเวลาปีละ4.8พันล้านชั่วโมงจากการติดขัดคับคั่งของการจราจรซึ่งมาจากนโยบายสาธารณะที่ผิดพลาด

ที่มา : Crown Centric, 2012


ตัวอย่างที่สอง กรณีศึกษาประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น การศึกษาพบว่าไทยได้ลงทุนระบบรางก่อนประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่เอาจริงเอาจังและได้หันมาลงทุนโครงข่ายถนนหลายช่องจราจรและทางด่วนอย่างมากตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1เป็นต้นมา ผังเมืองไม่มีมาตรการเพียงพอในการยับยั้งการแผ่กระจายของที่อยู่อาศัยออกไปยังย่านชานเมือง จึงทำให้ประชาชนต้องใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองมากกว่าร้อยละ90 ส่วนการสัญจรระหว่างเมืองและภาคประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนเพียงแค่ร้อยละ 12 เนื่องจากรัฐไม่ได้ลงทุนระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพไว้รองรับ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการสัญจรด้วยรถยนต์ซึ่งเกิดจากถูกระบบกายภาพโครงสร้างพื้นฐานบังคับ กล่าวกันว่าเศรษฐกิจเกือบทั้งระบบจะได้รับความกระทบกระเทือนทันทีหากราคาน้ำมันเกิดการผันผวน กรณีเดียวกันนี้หากเทียบจากประสบการณ์พัฒนาของประเทศญี่ปุ่น แม้จะพัฒนาโครงข่ายการสัญจรด้วยระบบการขนส่งมวลชนช้ากว่าประเทศไทย แต่ประเทศญี่ปุ่นได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ระบบการเดินทางจากย่านชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่ถูกออกแบบให้เข้าถึงด้วยระบบรถไฟฟ้ารางเบา ส่วนการสัญจรระหว่างภาคได้ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อด้วยระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะเห็นได้ว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาน้ำมันเช่นเดียวกับประเทศไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนในหัวเมืองใหญ่จัดอยู่ในอันดับ 4 ไม่ใช่อันดับสองเช่นเดียวกับประเทศไทย



ภาพทางจักรยานที่ปลอดภัยซึ่งเกิดจากนโยบายสาธารณะ

ที่มา : San Francisco Bicycle Coalotion


สรุป

หากนำนโยบายทั้งสองเทียบเคียงกับนโยบายสาธารณะของไทย จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยกำหนดนโยบายการพัฒนากายภาพเมืองไว้เพียงแค่ระดับแรก และเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่นำประชาชนไปผูกติดกับการใช้พลังงานและการลงทุนกายภาพพื้นฐานซึ่งบังคับให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการสัญจรเป็นหลัก ซึ่งก็คือการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชนนั่นเอง และคงไม่ผิดนักที่จะใช้คำว่า ผลกระทบต่างๆที่เกิดจากเดินทางของประชาชนล้วนเกิดจากการวางแผนและกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดทำให้เกิดการลงทุนด้านกายภาพที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่ายของประชาชนท้ังในระยะสั้นและระยะยาว จึงน่าจะถึงเวลาที่เราต้องออกมาพูดกันดังๆว่า นโยบายสาธารณะที่กำหนดขึ้นนั้น มีความถูกต้องเหมาะสมกับสภาพปัจจบันหรือไม่อย่างไร ดังนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มลงมือฟื้นฟูชุมชน ย่าน และเมือง ก็ขอให้หันไปฟื้นฟูกฎหมายและนโยบายสาธารณะของประเทศเสียก่อน ป้องกันไว้เพื่อไม่ให้สิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับต้องสูญเสียไปจากการกำหนดนโยบายชั้นเดียวที่บกพร้องดังเช่นในอดีต

ชมวีดีโอครับ //www.streetfilms.org/the-case-for-a-car-free-central-park-a-2004-flashback/

เอกสารอ้างอิง

The Center for Neighborhood Technology,Housing+Transportastion Affordability Index, Available from://htaindex.cnt.org/, April 16 2012

Reconnecting America:Blogosphere, Japan Transit’s Real Estate Listings. Available from://www.reconnectingamerica.org/news-center/the-other-side-of-the-tracks/2010/blogosphere-japan-s-transit-real-estate-listings/,April 30 2012.

Crown Centric, Can you help us solve the world’s trafficcongestion?, Available from:

//crowdcentric.net/2011/05/can-you-help-us-solve-the-worlds-traffic-congestion/,April 30 2012

ท่านใดสนใจแนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด) เข้าไป กด like fanpage กับอาจารย์ได้ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/pages/Smart-Growth-ASIA/355237181167341?sk=wall  



อ่านเนื้อเรื่อง “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้(เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลก เค้าไปถึงไหนกันแล้ว ส่วน ผังเมืองบ้านเรา (เงียบเชียบ)ไม่ทราบว่ามีพัฒนาการเหมือน ผังเมือง ประเทศอื่นๆ หรือเปล่า//www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin&group=2




Create Date : 02 พฤษภาคม 2555
Last Update : 2 พฤษภาคม 2555 7:57:48 น. 1 comments
Counter : 1712 Pageviews.

 


โดย: papisong วันที่: 2 พฤษภาคม 2555 เวลา:8:43:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.