ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
การวางผังเมืองของมหานครอื่น เค้าปฎิบัติได้เห็นผล มองเขา ย้อนมองไทยแลนด์ครับ...

บทความดีๆเกี่ยวกับการวางผังเมือง เรื่อง “แนวทางการวางผังเมืองและออกแบบพื้นที่นันทนาการริมน้ำ (Waterfront : Planning and Design Guideline)

”บนเว็บไซต์ที่ให้ download มาอ่านสำหรับบุคคลทั่วไปมานำเสนอ ตามลิ้งก์//asiamuseum.co.th/upload/forum/WaterfrontPlanningandDesignGuideline.pdfซึ่งเขียนโดย นักวิชาการผังเมือง อ.ฐาปนา บุณยประวิตร ซึ่งผมรู้จักผ่านทาง Facebook //www.facebook.com/profile.php?id=100001871354660 ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องการวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) ซึ่งผมนำมาตั้งชื่อ Blog ผมอีกบล็อกหนึ่งครับ เพราะตั้งใจจะนำข้อคิด ข้อเขียนของอาจารย์ทั้งจากใน Facebook ของอาจารย์ และในเว็บไซต์ของอาจารย์ //asiamuseum.co.th/ มานำเสนอเท่าที่จะเป็นไปได้ ความจริงหลายเรื่องที่อาจารย์เขียน โดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ หลาย Case Study ครับ (เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวที่ดีๆ เกี่ยวกับผังเมืองในอนาคต ที่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมหาศาล และแน่นอนทีเดียวหลายอย่าง ก็สามารถประยุกต์มาใช้ในประเทศไทยได้แน่นอน

แนวทางการวางผังเมืองและออกแบบพื้นที่นันทนาการริมน้ำ (Waterfront : Planning and Design Guideline)
โดย ฐาปนา บุณยประวิตร



คลองชองเก (Chongae Canal) สถานที่สาธารณะใจกลางเมือง (Public Spaces ) ของประเทสเกาหลีใต้ ดูตามคลิป

//www.seoulciety.com/index.php?topic=60.0


หน่วยงานโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า การออกแบบภูมิทัศน์พื้นที่นันทนาการริมน้ำ เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของภูมิสถาปนิก ซึ่งจะร่วมมือกับวิศวกรโยธา ในการคำนวณโครงสร้างทางวิศวกรรม ความเข้าใจเช่นนี้ หากหมายถึงโครงการออกแบบภูมิทัศน์โดยทั่วไปแล้วก็คงไม่ผิดอะไร แต่ในการออกแบบสถานที่นันทนาการริมน้ำขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า Waterfront หากที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนหรือตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแล้ว ลำพังสองกลุ่มวิชาชีพดังที่กล่าวข้างต้นอาจจะยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากสถานที่นันทนาการริมน้ำนั้น จัดเป็นสถานที่สาธารณะ (Public Space) ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่พิเศษ (The Great Place) ซึ่งมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องมากกว่าแหล่งนันทนาการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจโดยทั่วไป ความพิเศษที่กล่าวถึงได้แก่ ความสมดุลระหว่างปัจจัยทางธรรมชาติกับสิ่งก่อสร้างใหม่ ความสอดคล้องต้องกันของแหล่งกับบริบทชุมชน ความทันสมัยหรือความล้ำหน้าด้านแนวคิดออกแบบ หรทอการสนับสนุนให้พื้นที่ทั่วทั้งบริเวณเป็นสถานที่ที่งดงามเกิดความสมบูรณ์ในด้านกายภาพ ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้การออกแบบพื้นที่มีลักษณะบูรณาการที่ดี ผู้รับผิดชอบโครงการจึงควรมอบหมายให้นักผังเมือง (Urban Planner) และนักออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) เข้าร่วมในการออกแบบผัง ทั้งนี้เพื่อจะได้เชื่อมโยงองค์ประกอบด้านต่างๆ ให้แหล่งมีความสมบูรณ์ นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

จากการศึกษาตัวอย่างพื้นที่นันทนาการริมน้ำสำคัญๆของประเทศ เช่น พื้นที่ริมน้ำหาดกะหลิม หาดป่าตอง หาดราไวย์ หาดสุรินทร์ ฯลฯ ของจังหวัดภูเก็ต หรือหาดหน้าทอน หัวถนน ละไม และแม่น้ำของเกาะสมุย จะพบองค์ประกอบของกิจกรรมนันทนาการทางน้ำ และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย สำหรับบางพื้นที่ เช่น หาดป่าตอง หาดราไวย์ และอ่าวฉลอง หรือในบางพื้นที่ เช่น หาดหน้าทอน อำเภอเกาะสมุย จะพบว่าพื้นที่มีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจของชุมชนดั้งเดิม หรือกรณีหาดหัวถนน หาดแม่น้ำ และหาดละไมของอำเภอเกาะสมุย พบว่าปัจจุบันมีสภาพความเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองเป็นอย่างแยกไม่ออก ในบางพื้นที่ ได้ผสมผสานเป็นที่ตั้งของท่าเรือท่องเที่ยวและกลุ่มเรือสำราญ (Marina Area) ซึ่งกายภาพจะมีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ขณะที่หาดหน้าทอนของเกาะสมุย ได้มีสภาพเป็นศูนย์รวมของโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางน้ำหลักของพื้นที่

จะเห็นได้ว่า แม้แหล่งนันทนาการริมน้ำ จะมีหน้าที่ในการสนับสนุนภารกิจการบริการประชาชนในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อที่ตั้งมีความเชื่อมโยงหรือเป็นส่วนประกอบหลักของเมือง และองค์ประกอบสำคัญของระบบทางธรรมชาติแล้ว บทบาทและหน้าที่ของแหล่งจึงต้องเพิ่มขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ในการวางผังเมืองและออกแบบผู้รับผิดชอบ จึงจำเป็นจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยด้านต่างๆ ให้ครบถ้วน อีกทั้งยังต้องนำข้อมูลและผลการศึกษาที่ได้ มาประมวลผลและบูรณาการข้อมูล เพื่อใช้เป็นเกณฑ์และปัจจัยในการออกแบบ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการวางผัง และออกแบบกายภาพพื้นที่ริมน้ำ Project for Public Spaces หรือ PPS และการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ทั้งสิ้น 9 ประการ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1. การกำหนดให้บริเวณที่ออกแบบเป็นสถานที่สาธารณะ การวางผังเมืองและออกแบบพื้นที่พิเศษต้องใช้เกณฑ์การออกแบบสถานที่สาธารณะ (Public Spaces Principles) ซึ่งผู้ออกแบบ ต้องคำนึงถึง

1.1 ระบบการเชื่อมต่อที่ดีกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

1.2 ความพยายามที่จะใช้ประโยชน์สถานที่ให้เกิดความหลากหลาย

1.3 การออกแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ รวมทั้งสถานที่ต้องเป็นพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนในอนาคตได้

1.4 การออกแบบสถานที่ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพสำหรับผู้เยี่ยมเยือน

1.5 ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเชื่อมต่อระหว่างสถานที่ทีออกแบบใหม่กับชุมชนด้วยการเดิน ทางจักรยานและถนนที่มีคุณภาพ




การออกแบบแนวความคิดคลองชองเก (Chongae Canal) สถานที่สาธารณะใจกลางเมือง (Public Spaces ) ของประเทสเกาหลีใต้ จาก

http//www.asla.org/2009awards/091.html


2. ให้แน่ใจว่าสถานที่ที่ออกแบบปรับปรุงเป็นความต้องการของชุมชนหรือของสาธารณะอย่างแท้จริง การวางผังและออกแบบกายภาพใดๆก็ตาม หากไม่สามารถนำความต้องการของชุมชน หรือนำเอาความคาดหวังของชุมชนเข้ามาเป็นแนวทางในการออกแบบแล้ว สถานที่ดังกล่าวนั้นจะไม่ได้การยอมรับ และจะไม่มีการใช้ประโยชน์ให้มีความคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้



การออกแบบสถานที่นันทนาการริมน้ำของมหานครโตรอนโต เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้มีประโยชน์ใช้สอยดีขึ้นกว่าเดิมจาก ;


//www.asla.org/2009awards/518.html


3. การสร้างสรรค์งานลงบนพื้นที่และเนื้อหาดั้งเดิมของชุมชน ในการก่อสร้างหรือการปรับปรุงฟื้นฟูสถานที่สาธารณะ หากพื้นที่และเนื้อหาของโครงการถูกแยกออกไป ไม่เกี่ยวเนื่องกับกับชุมชนทั้งในด้านกายภาพ วิถีชีวิต และประวัติความเป็นมา จะทำให้โครงการนั้น ไม่ได้รับการตอบสนองจากชุมชน ในทางตรงกันข้าม หากมีการเริ่มต้นโครงการ ซึ่งได้นำเอาจิตวิญญาณหรือประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรายละเอียดของการวางผังและออกแบบแล้ว โครงการนี้จะเป็นเสมือนหนึ่งการได้เชื่อมโยงความผูกพันของผู้คนในชุมชนกับสถานที่ให้มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและเป็นเนื้อเดียวกัน

4. การร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานออกแบบ การเติบโตอย่างชาญฉลาด ให้ความสำคัญการริเริ่มและสร้างสรรค์โครงการที่เกิดขึ้นจากความพยายามร่วมกันของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนรายละเอียดในการออกแบบ การสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างและโดดเด่นของสถานที่พิเศษ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นจาการระดมความคิดเห็นของสมาชิกภายในชุมชน โดยพลังในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบร่วมกัน จะเป็นบ่อเกิดแห่งความภาคภูมิใจที่ทรงคุณค่า ซึ่งจะได้รับการกล่าวขวัญยาวนานต่อเนื่องหลายชั่วอายุคน



การร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานออกแบบ/ภาพระดมความเห็นของ City of Charlotte จาก;


//www.cornelius.org


5. การสร้างสรรค์โครงการให้เป็นสถานที่พิเศษใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย พื้นที่นันทนาการริมน้ำและสถานที่พิเศษริมทะเล ต้องมีคุณลักษณะการตอบสนองความต้องการได้มากกว่าที่โล่ง (Open Spaces) หรือสาวนสาธารณะ (Parks) โดยทั่วไปดังเช่นการเป็นศูนย์รวมและกระจายการเดินทาง การเป็นพื้นที่ที่ต่อขยายจากศูนย์กลางธุรกิจพาณิชยกรรม (Downtown) ท่าเรือท่องเที่ยว และท่าเรือสำราญ นอกจากนั้นยังต้องตอบสนองต่อกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของประชาชนหลากหลายสาขา ไม่ว่าการนันทนาการของผู้อยู่อาศัย การประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ การพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว กิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม คลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย



ภาพแนวคิดการออกแบบ Waterfront ด้านหน้าอาคาร Evergladesbay จาก ;


//www.thekleerteam.com/Confos/Everglades-on-the-Bay.htm


6. การเชื่อมต่อโครงการออกแบบปรับปรุงแหล่งนันทนาการริมน้ำ จะเป็นโครงการพัฒนาทางกายภาพ แต่อีกภารกิจหนึ่งที่ผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงก็คือ การเป็นสถานที่เชื่อมโยงกิจกรรมเด่นๆของชุมชนให้มีความสัมพันธ์กันในเชิงกายภาพ ดังเช่น การเชื่อมโยงที่มีคุณภาพระหว่างแหล่งนันทนาการกับหน่วยบริการชุมชน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจ และสถานีดับเพลิง เป็นต้น และให้กายภาพที่เชื่อมโยงนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนและผู้เยี่ยมเยือน ซึ่งได้แก่การเพิ่มพื้นที่พักผ่อนนันทนาการ การเพิ่มพื้นที่กีฬาทางน้ำและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวประเภทต่างๆ หรือแม้แต่การสร้างสรรค์โอกาสในด้านเศรษฐกิจแก่พื้นที่ เป็นต้น



7. การขยายโอกาสในการเข้าถึงสถานที่สาธารณะ ในการออกแบบโครงการนันทนาการริมน้ำ นอกจากผู้ออกแบบจะต้องคำนึงถึงการเพิ่มทางเลือกในการสัญจรและการเดินทางที่หลากหลายระหว่างแหล่งกับชุมชนและหน่วยบริการสำคัญของพื้นที่แล้ว พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ จะต้องมีบทบาทในการเป็นแหล่งดึงดูดที่ดีในด้านการเข้าถึงสถานที่อย่างมีคุณภาพของประชาชน และผู้เยี่ยมเยือน ทั้งนี้ ความสะดวกในการเข้าถึงแหล่ง เพื่อพบปะสังสรรค์หรือประกอบกิจกรรมนันทนาการร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสีย จะเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จประการหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่งนันทนาการริมน้ำ



8. การสร้างประโยชน์ที่สมดุลระหว่างสภาพแวดล้อมกับความต้องการของมนุษย์ แหล่งนันทนาการริมน้ำจะเป็นสะพานนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มากขึ้นระหว่างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติกับความต้องการในการพักผ่อนหย่อนใจของมนุษย์ ในรายละเอียดการออกแบบ นักผังเมืองและสถาปนิก จะเชื่อมต่อคุณค่าความงดงามของธรรมชาติกับการตอบสนองด้านความรู้สึกของมนุษย์ ให้ถักทอประสานเพื่อให้โครงการตอบสนองความต้องการของชุมชนและผู้เยี่ยมเยือนได้อย่างแท้จริง



9. การสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงแก่พื้นที่จากจุดเล็กไปหาจุดใหญ่ สถานที่พิเศษไม่ได้สร้างขึ้นได้ภายในวันเดียว ในการคิดค้นและก่อกำเนิดโครงการและกิจกรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเริ่มต้นจากความต้องการเล็กๆ นำไปสู่การขยายโอกาสขนานใหญ่ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ กระบวนการระดมความคิดเห็นในการพัฒนาเมือง (Placemaking) ได้บอกกับเราว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ดีของชุมชนไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องซับซ้อน ยิ่งใหญ่ หรือมีมูลค่าของโครงการที่สูงลิ่ว แต่การเริ่มต้นโครงการที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยการออกแบบ ให้สามารถใช้ทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ ให้มีคุณภาพ ตอบสนองได้ทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพของชุมชนโดยรวม



กล่าวโดยสรุป เพื่อให้การวางผังและออกแบบปรับปรุงพื้นที่นันทนาการริมน้ำประสบผลสำเร็จ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องใช้บุคลากรในสาขาวิชาชีพผังเมืองและออกแบบชุมชนเมืองเข้าไปร่วมสนับสนุนการดำเนินการของภูมสถาปนิก และวิศวกรโยธา และต้องมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ศึกษาข้อมูลรายละเอียดด้านสภาพแวดล้อมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการวางผังและออกแบบ นอกจากนั้น ผู้ออกแบบยังต้องบูรณาการทั้งความต้องการของชุมชน ความโดดเด่นของทรัพยากรที่มีอยู่ เนื้อหาและอัตลักษณ์ของชุมชน และความก้าวหน้าของการออกแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลการสร้างสรรค์งานบนพื้นที่ จะต้องส่งผลให้เกิดความงดงาม เป็นหน้าตาและสร้างความพึงพอใจและความภาคภูมิใจของชุมชน

เอกสารอ้างอิง

Project for Public Spaces. 2009. 9 Steps to creating a Great Waterfront (Online).

//www.pps.org/articles/stepstocreatingagreatwaterfront/.January 10, 2012

ท่านใดสนใจแนวความคิด Smart Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด) เข้าไป add friend กับอาจารย์ได้ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับhttps://www.facebook.com/SmartGrowthThailand


ข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆท่านจาก Facebook ผมขอคัดลอกมาเลยแล้วกันครับ เพราะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ครับ

หัตถีมรกต เชี่ยวชาญยุทธ (ชื่อบน FACEBOOK) ที่จริงมีแม่น้ำโปราณอยู่ข้างใต้ด้วยครับ

Thapana Bunyapravitra ผมเขียนเติมเข้าไปแล้วครับแต่ระบบมันมีปัญหาข้อความไม่ขึ้น จริงอย่างท่านว่าครับ ของเดิมเป็นคลอง ช่วงแรกรัฐฯ พยายามฟื้นฟูสภาพแต่ไม่ดีขึ้นเนื่องจากมีปัญหาท้ังการบุกรุก การเป็นที่ท้ิงขยะมูลฝอย นำเสีย ฯลฯ ดังน้ันในช่วงต่อมาเขาเลยนำมาทำทางด่วนคร่อมใช้เป็นถนน เมื่อนานวันเข้าก็เกิดปัญหามลพิษและทัศนอุจาคในเขตเมือง ประกอบกับกระแสการฟื้นฟูคลองหรือแม่นำให้เป็นเส้นทางสีเขียว (Greenway) ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐและแคนาดา (ประมาณช่วงปี ค.ศ.1998-ปัจจุบัน) รัฐฯ เลยศึกษาออกแบบปรับปรุงคลองชองเกเสียใหม่ โดยรื้อทางด่วนออกและก่อสร้างฟื้นฟูเป็นดังภาพที่เห็น โครงการนี้จึงได้รับคำชื่นชมในฐานะความกล้าหาญของรัฐในการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในเมืองให้เป็นแหล่งนันทนาการหรือ The Great Public Space ขนาดใหญ่ ซึ่งได้เปลี่ยนบทบาทของพื้นที่จากการเป็นแหล่งก่อมลพิษมาเป็น Green corridors ที่สร้างสรรค์ความงดงามและสร้างเศรษฐกิจที่สดใสแก่เมือง โครงการนี้ได้รับรางวัลจากหลายแหล่งครับ แต่ที่โด่งดังมากคือ รางวัลเกียรติยศจาก ASLA ในปี 2009 ท่านเข้าไปดูรายละเอียดได้ใน asla.org ครับ

Kris Kiattisak Longlivetheking เป็นโครงการบูรณะฟื้นฟูคลองเดิมของเมือง (ซึ่งถูกครอบทับด้วยทางด่วน) โดยการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ภูมิสถาปนิกออกแบบให้คลองชั้นบนเป็นลำน้ำใสตื้นๆ สำหรับการสันทนาการ ส่วนคลองชั้นสอง ด้านล่างใช้เป็นระบบการระบายน้ำของเมือง...ฉลาดแยบยลมาก


Thapana Bunyapravitra เรามีพื้นที่คลองและแม่นำ้ซึ่งสามารถฟื้นฟูสภาพแบบเกาหลีหรือจะออกแบบดังเช่น โครงการพัฒนา greenway อื่นๆ ของต่างประเทศ หรือจะออกแบบขี้นโดยไม่เลียนแบบใครก็ได้ ในแง่การออกแบบผมยืนยันกับท่านได้ว่าไทยมีนักผังเมือง. นักออกแบบชุมชนเมืองและภูมิสถาปนิกที่มีความสามารถอยู่มาก แต่ปัญหาอยู่ตรงว่าผู้บริหารเมืองเขาสนใจจะทำหรือไม่ ผมยกตัวอย่างพื้นที่ชั้นในของ กทม.และพื้นที่ชั้นในของหลายๆ เมืองใหญ่ของไทย (สงขลา หาดใหญ่ เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ภูเก็ต ชลบุรี นครราชสีมา ฯลฯ) หากนำมาออกแบบ greenway เสียใหม่ ภาพลักษณ์ของเมืองจะเปลี่ยนไปครับ ประชาชน นักเรียน และนักท่องเที่ยวจะมีทางเลือกในการสัญจร และนันทนาการมากขึ้น คลองจะสวยไม่เป็น brownfield เหมือนตอนนี้

Alvin Apirak ของเรา เลือกทำคลองหลอด หรือ คลองผดุงฯ สักช่วง น่าจะดีนะครับ

Kris Kiattisak Longlivetheking เมื่อโครงการฟื้นฟูสำเร็จแล้ว ก็ยังต้องมีการจัดการให่้เกิดการใช้งาน และดูแลรักษาอย่างเหมาะสมด้วย ... ที่คลองนี้ ด้านข้างกำแพงเขื่อนของคลอง และตามใต้สะพานต่างๆ แทนที่จะปล่อยเป็นจุดอับ ที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม เขากลับเปลี่ยนเป็นโอกาส จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ จัดแสดงภาพและโบราณวัตถุ ตามแต่ประวัติศาสตร์และชุมชนว่าย่านเดิมริมคลองตรงบริเวณนั้นเขาประกอบอาชีพอะไรกันบ้าง ... รวมทั้งในยามแดดร่มลมตก ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เช่นการฉายแสง สี เสียง ตามกำแพงเขื่อนเป็นงานศิลปะต่างๆ หมุนเวียนกันไม่ ... ทำให้เด็กๆหนุ่มสาว มาใช้เป็นแหล่งนัดพบ คึกคัก ไม่เงียบสงัดจนกลายเป้นโอกาสของโจรและมิชฉาชีพ ... เยี่ยมมาก

ดูทุกความเห็นดีๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่เลยครับ

//www.facebook.com/photo.php?fbid=304758332909944&set=a.304758286243282.85046.100001273404825&type=1&theater
ท่านใดสนใจแนวความคิด Smart Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด) เข้าไป like fanpage friend กับอาจารย์ได้ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/pages/Smart-Growth-ASIA/355237181167341?sk=wall




Create Date : 22 มกราคม 2555
Last Update : 23 กันยายน 2555 22:23:56 น. 0 comments
Counter : 2641 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.