ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ทิศทางในการพัฒนาองค์กรวิชาชีพการผังเมืองในอนาคต บทความ โดย อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง


บทความโดย อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง

สมาชิกสมาคมการผังเมืองไทย/ นักเรียนทุนพัฒนาบุคลากรสายวิชาการอาจารย์(ผู้สอน) ระดับปริญญาเอกประเภททุนสำหรับบุคคลภายนอกตามความต้องการของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อีเมลล์: pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk

การวางผังเมืองถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในศตวรรษที่21 เพราะการวางผังเมืองไม่เพียงแต่ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนทราบถึงทิศทางการพัฒนาเมืองและทิศทางการใช้ที่ดินในเมืองและพื้นที่อื่นๆที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ทว่าการวางผังเมืองยังส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถทราบทิศทางในการพัฒนากิจกรรมอื่นๆให้สอดคล้องหรือเอื้อประโยชน์ต่อการจัดทำบริการสาธารณะโดยภาครัฐและการประกอบกิจกรรมต่างๆของภาคเอกชน ตัวอย่างเช่นการจัดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอันถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่ง ที่ต้องอาศัยการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชนิดหรือประเภทขนส่งมวลชนที่รัฐต้องพัฒนาขึ้นสำหรับตอบสนองความต้องการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและพื้นที่โดยรอบเมืองการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเอกชน ที่ต้องพิจารณาการก่อสร้างหรือการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้สอดคล้องกับเกณฑ์การวางผังเมืองที่รัฐหรือท้องถิ่นได้กำหนดเอาไว้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจต้องอาศัยหลักการการวางผังเมืองเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ในการจัดพื้นที่สำหรับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในท้องถิ่น เป็นต้น





ภาพการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะ “การกระจัดกระจาย” ซึ่งผิดไปจากความมุ่งหมายของวิชาการผังเมือง

ที่มา: Architectural Newpaper

นอกจากนี้ การวางผังเมืองและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องยังถือเป็นวิชาชีพเฉพาะ(Profession) ที่มีการเรียน การสอนและการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในระดับอุดมศึกษาและในระดับองค์กรวิชาชีพเฉพาะผ่านการเรียนรู้ ศึกษาและวิเคราห์บริบทของเมือง (Urban contexts) นอกจากนี้ศาสตร์ด้านการผังเมืองยังจำต้องอาศัยสหวิทยาการด้านต่างๆ (Multi-disciplinaryapproach) เพื่อประกอบการเรียนรู้ศึกษาและวิเคราะห์บริบทของผังเมืองทำให้การศึกษาศาสตร์ด้านการวางผังเมืองและการพัฒนาเมืองได้รู้และสามารถนำความรู้ด้านการผังเมืองในเชิงลึกและเชียวชาญเช่นการนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาศึกษาปรากฎการณ์ของการพัฒนาชุมชนเมืองและการนำเอาหลักกฎหมายว่าด้วยการใช้ที่ดินมาประยุกต์ใช้กับกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองเป็นต้น




ที่มา: AmericanPlanning Association/AICP

ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาได้มีการก่อตั้งองค์กรวิชาชีพด้านการผังเมือง (Planning bodies) ที่มีบทบาทและภารกิจหลักในการรักษามาตรฐานวิชาชีพด้านการผังเมือง(Professional standard maintenance) และกำหนดกรอบการรับรองคุณวุฒิระดับวิชาชีพการผังเมืองในระดับต่างๆ(Planning course accreditation) ซึ่งองค์กรวิชาชีพด้านการผังเมืองต้องจัดบริการและกิจกรรมต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจหลักที่องค์กรวิชาชีพด้านการผังเมืองได้กำหนดเอาไว้อนึ่ง องค์กรวิชาชีพการผังเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เพียงจะมีหน้าที่และภารกิจตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นหากแต่องค์กรวิชาชีพการผังเมืองยังมีหน้าที่ในการจัดทำกฎแห่งการปฏิบัติวิชาชีพการผังเมือง(Code of Professional Conduct) เพื่อควบคุมและกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกของสถาบันสมาคมและองค์กรวิชาชีพผังเมืองได้ปฏิบัติตามทำให้การปฏิบัติงานการวางผังเมืองหรือประกอบกิจกรรมวางผังเมืองเป็นไปในแนวทางเดียวกันและสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาตินอกจากนี้กฎแห่งการปฏิบัติวิชาชีพการผังเมืองยังถือเป็นแนวทางให้นักการผังเมืองหรือผู้ประกอบวิชาชีพการวางผังเมืองได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้กรอบแห่งจริยธรรมวิชาชีพ(Planning Ethics) อันทำให้นักวางผังเมืองประกอบวิชาชีพของตนได้โดยที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมจรรยาบรรณและกฎหมายที่สังคมนักการผังเมืองและกฎหมายของบ้านเมืองได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้

สำหรับสมาคมการผังเมืองไทยที่พึ่งจัดตั้งขึ้นมานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีสำหรับการพัฒนาองค์กรวิชาชีพด้านการผังเมืองที่อาจเป็นศูนย์รวมของนักการผังเมืองและผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นๆที่มีความสนใจในกิจการการวางผังเมือง รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการวางผังเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทต่างๆ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆได้หันมาสนใจและพัฒนาวิชาชีพการวางผังเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในประเทศไทย

แม้ว่าสมาคมการผังเมืองไทยจะได้มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติงานของสมาคมการวางผังเมืองเพื่อพัฒนาวิชาชีพการผังเมืองในประเทศไทยนั้นจำต้องอาศัยการขับเคลื่อนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางผังเมืองรวมไปถึงการสนับสนุนของภาครัฐในการพัฒนาสมาคมการผังเมืองไทยให้กลายมาเป็นองค์กรวิชาชีพที่เข้มแข็งและสามารถกำกับดูแลตนเองต่อไปได้ในอนาคต

ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางสองช่วง (Paradigm) แห่งการพัฒนาสำหรับพัฒนาสมาคมการผังเมืองไทยไปสู่การเป็นองค์กรวิชาชีพการผังเมืองที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคตดังต่อไปนี้

ช่วงแรก สมาคมการผังเมืองไทยควรจัดกิจกรรมบูรณาการความรู้และให้ความรู้แก่นักการผังเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้ (Knowledge) แก่นักการผังเมืองและประชาชนทั่วไปให้มีความรู้ความเข้าใจในวิชาการการผังเมืองสหวิทยาการด้านผังเมืองและความรู้ทั่วไปด้านผังเมือง ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ให้สังคมประเภทต่างๆตัวอย่างเช่น การวิจัย การจัดทำข้อเสนอแนะด้านผังเมืองการสร้างเครือข่ายวิชาการการผังเมือง และการตีพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นอกจากนี้สมาคมการผังเมืองไทยยังควรกำหนดกิจกรรมต่างๆในการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิทางวิชาชีพการวางผังเมืองและกำหนดกลไกในการรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพการผังเมืองในประเทศไทยสำหรับเป็นเกณฑ์กลางให้สมาชิกสมาคมปฏิบัติตามกลไกหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่สมาคมได้วางเอาไว้ เช่นการกำหนดกลไกในการรักษามาตรฐานวิชาชีพการผังเมืองผ่านการประเมินความรู้ทางวิชาชีพการผังเมือง(Assessment of Professional Competence) การให้การศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพการผังเมืองอย่างต่อเนื่อง(Continuing Professional Development)และการออกมาตรฐานทางวิชาชีพเบื้องต้นในลักษณะที่เป็นหลักเกณฑ์ทางวิชาชีพ (SoftLaw) เพื่อให้สมาชิกสมาคมได้ปฏิบัติตาม เป็นต้น

ช่วงที่สอง เมื่อสมาคมการผังเมืองไทยได้มีการจัดกิจกรรมสนับสนุนหรือจัดกลไกรักษามาตรฐานวิชาชีพด้านการผังเมืองและสามารถกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับวิชาชีพการผังเมืองในระดับประเทศได้แล้ว สมาคมการผังเมืองไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับกิจกรรมการผังเมือง อาจผลักดันให้รัฐออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพการผังเมือง (Planning Licensing Law & Regulations) เพื่อก่อตั้งสภาวิชาชีพการผังเมืองโดยกฎหมายในอนาคตดังกล่าวให้อำนาจคณะกรรมการสภาวิชาชีพการผังเมืองที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผังเมืองและสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการการผังเมืองมากำกับดูแลและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพการผังเมืองไม่ให้กระทำการผิดแผกหรือฝ่าฝืนไปจากกฎหมายกำหนดมาตรฐานวิชาชีพการผังเมืองดังกล่าวนอกจากนี้ กฎหมายในอนาคตดังกล่าวยังอาจให้อำนาจแก่คณะกรรมการสภาวิชาชีพการผังเมืองหรืออนุกรรมการของสภาดังกล่าวในการสอบสวน สรุปข้อเท็จจริงพร้อมความเห็นเเละระดับของการลงโทษแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการผังเมืองที่ทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพการผังเมืองรวมไปถึงอำนาจในการออกคำสั่งอนุมัติ อนุญาต ยกเลิกและเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผังเมืองอันถือเป็นกลไกที่กำหนดให้สภาวิชาชีพการผังเมืองเป็นองค์กรวิชาชีพเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐ(specified government-approved professional agency)มาควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมวิชาชีพการผังเมืองที่รัฐได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้อนึ่ง ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการผังเมืองย่อมไม่สามารถประกอบวิชาชีพการผังเมืองได้หากฝ่าฝืนกฎหมายกำหนดมาตรฐานวิชาชีพการผังเมือง รัฐอาจกำหนดโทษทางอาญา เช่นจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำคุกและปรับเอาไว้ 




ที่มา : Urban LandInstitute

ในอนาคต ผู้เขียนคาดหวังว่าคณะผู้เชี่ยวชาญการผังเมืองนักวิชาการด้านผังเมืองผู้บริหารงานด้านกายภาพเมืองจากหน่วยงานส่วนกลางและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจกรรมการวางผังเมืองอื่นๆอาจช่วยกันผลักดันสมาคมการผังเมืองไทยให้มีความเข้มแข็งและมีบทบาทในการสร้างคุณูปการต่อวงการวิชาชีพการผังเมืองไทยผ่านการส่งเสริมกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้เขียนเสนอแนะมาในข้างต้น





Create Date : 03 ธันวาคม 2556
Last Update : 3 ธันวาคม 2556 20:35:04 น. 0 comments
Counter : 1370 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.