ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ที่มาที่ไป ของ”ตู้ไปรษณีย์ ที่สูงและใหญ่ที่สุดในโลก” อยู่ที่ไหน และ มีความเป็นมาอย่างไร ???



เครดิต อ.เจริญตันมหาพราน นักประวัติศาสตร์ชุมชน นักเขียน และช่างภาพ

 

ที่มาที่ไป ของ”ตู้ไปรษณีย์ที่สูงและใหญ่ที่สุดในโลก” อยู่ที่ไหน และมีความเป็นมาอย่างไร ???

 

เครดิต อ.เจริญตันมหาพราน นักประวัติศาสตร์ชุมชน นักเขียน และช่างภาพ ขอขอบคุณ มา ณที่นี้ครับ....

 

ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในโลกตู้แรก

 

ตู้ไปรษณีย์เป็นสิ่งบริการแก่ประชานชนอย่างหนึ่งสำหรับส่งข่าวสารไปมาระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด หรือฝากส่งข้ามประเทศก็ได้โดยมีกฎระเบียดต้องผนึกตราไปรษณียากรตามอัตราที่กำหนดไว้ก่อนที่จะเดินไปหยอดตู้ไปรษณีย์หรือฝาก ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ใกล้ที่สุด ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะนำไปรษณียภัณฑ์เหล่านั้นไปส่งยังผู้รับปลายทางด้วยเหตุนี้ ตู้ไปรษณีย์เปรียบเสมือนปัจจัยอย่างหนึ่งที่มนุษย์ต้องพึ่งพาและจะพบได้ตามขอบทางเท้าย่านชุมชนของถนนสายต่างๆ เรียงรายออกเป็นระยะๆ

 

แต่การสำรวจของสหภาพภาคไปรษณีย์สากลพบว่าตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในเขตท้องที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลาประเทศไทย

 

เบตง เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศใต้โดยทางรถยนต์ประมาณ ๑,๕๐๖ กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัดยะลา ๑๔๐กิโลเมตร ซึ่งในแต่ละปีจะมีชาวไทยและชาวมาเลเซียเดินทางผ่านแดนเข้าออกด้านเบตงเป็นจำนวนมาก

 

ในวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๑กรุงสยามกับอังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญา โอนรัฐกลันตัน ไทรบุรี ตรังกานู และเปอร์ริสให้แก่อังกฤษ รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตารางไมล์และพลเมืองกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๓ โดยในสนธิสัญญาได้กำหนดให้มีการโอนดินแดนดังกล่าวให้เสร็จภายใน ๓๐ วันนับหลังจากวันแลกเปลี่ยนสัตยาบัน

 





การเสียดินแดนแก่อังกฤษในครั้งนั้น ไทยยังต้องเสียดินแดนอีก ๔ตำบล คือ ตำบลบาโลม ตำบลโกรแน ตำบลอิตำ และตำบลแซะ หรือโกร๊ะของอำเภอยะรมไปด้วยเนื่องจากการปักปันเขตแดนมณฑลไทรบุรีให้อังกฤษ ในสัญญาได้ถือเอาสันเขาหรือทางน้ำเป็นเส้นเขตแดนซึ่งสันเขาหรือทางน้ำที่อ้างไว้ในสัญญาก็ล้วนเป็นสิ่งที่มิสเตอร์เบอร์คลี่พนักงานที่ดินของอังกฤษสำรวจไว้ล่วงหน้า โดยที่ไทยขาดความชำนาญในเรื่องการสำรวจและการทำแผนที่รู้แต่เพียงต้นเชือกกับปลายเชือกเท่านั้น

 

ส่วนจะคดเคี้ยววกวนกินดินแดนไทยไปเท่าไรไม่รู้เพราะระยะทางมันยาวนับร้อยนับพันกิโลเมตร ข้ามเขาลงห้วยผ่านไปในถิ่นทุรกันดารซึ่งเจ้าพนักงานไทยยังไม่เคยสำรวจผ่านเส้นทางเส้นนี้เลย พอถึงเวลาจริงไทยเลยหมดโอกาสโต้แย้งหรือคัดค้านใดๆทั้งสิ้น

 

ผลจากการปักเขตแดนซึ่งไทยต้องเสียพื้นที่ในอำเภอยะรมให้แก่อังกฤษไป ๔ ตำบลดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น ทำให้พระพิชิตบัญชาการนายอำเภอยะรมสมัยนั้นได้ย้ายสถานที่ตั้งอำเภอจากหมู่ที่ ๑ บ้านฮางุด ตำบลเบตงมาตั้งที่หมู่ที่ ๖ บ้านกำปงมัสยิด ในตำบลเดียวกัน

 

เนื่องจากท้องที่ยะรมอยู่ห่างความเจริญ การคมนาคมไม่สะดวกจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอระยม มาเป็น“ที่ว่าราชการอำเภอเบตง”และมีฐานะเทียบเท่ากับจังหวัดหนึ่งของไทย(แต่ใช้อยู่จนถึง พ.ศ.๒๔๗๖ก็ยกเลิก) โดยแบ่งเขตการปกครองใหม่เป็น ๔ ตำบล คือตำบลเบตง ตำบลยะรมตำบลอัยเยอร์เวง และตำบลตาเนาะแมเราะ

 

หากเปรียบแผ่นดินภาคใต้เป็นอาวุธเบตงก็ไม่ต่างกับใบหอกที่พุ่งปักเข้าไปในพื้นที่ของสหพันธรัฐมาเลเซียเพราะถูกล้อมรอบด้วยเขตแดนของมาเลเซียถึง ๓ ด้าน คือ

 

ทิศเหนือ จรดพื้นที่อำเภอธารโตจังหวัดยะลา

 

ทิศตะวันออก จรดอำเภอสุคิรินจังหวัดนราธิวาส และ อำเภอกริ๊ก รัฐเประ สหพันธรัฐมาเลเซีย

 

ทิศใต้ จรดกิ่งอำเภอโกร๊ะ และอำเภอกริ๊ก รัฐเประ สหพันธรัฐมาเลเซีย

 

ทิศตะวันตก จรดกิ่งอำเภอบาลิ่งรัฐเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

 



ภาพสถานที่ทำการไปรษณีย์อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อ 20 ปีก่อน (ภาพสะสม อ.เจริญ ตันมหาพราน)

 

สมัยนั้น เหตุการณ์บ้านเมืองทั่วไปสงบเรียบร้อยดี แต่เค้าแห่งความวุ่นวายก็เริ่มก่อตัวอย่างเงียบๆอยู่หลายปีโดยนายโลวเซ็กงี่ อดียนายสิบตำรวจลับแห่งมลายูเข้ามาปักหลักทำมาหากินอยู่อำเภอเบตงก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๐ดูจากภายนอกนายโลวเซ็กงี่เหมือนคนเรียบร้อย รักความสงบไม่มีท่าที่จะกลายเป็นหัวหน้าโจรจีนที่ปล้นเบตงที่เกรียวกราวสุดๆในประวัติศาสตร์ไทย

 

วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖ในท้องที่เบตงเกิดมีโจรจีนกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของนายโลวเซ็กงี่บุกเข้าปล้นสถานที่ราชกาลต่างๆแต่ก็ได้รับการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการหลายฝ่ายในที่สุดโจรจีนได้ล่าถอยจากไป

 

หนังสือ“อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.ต.หลวงเจริญตำรวจการ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๓” ได้มีข้อความเกี่ยวกับการปราบปรามโจรจีนภาคใต้ดังต่อไปนี้

 

“...ครั้นเวลา ๑๓.๐๐ น. พวกโจรจีนประมาณ ๕๐๐ คนได้แยกย้ายกันมาทิศทางต่างๆ มุ่งเข้ายึดสถานีตำรวจอำเภอเบตงพวกโจรจีนได้ประเดิมด้วยการระดมยิงเข้ามายังฝ่ายเราอย่างหูดับตับไหม้ทีเดียวข้าพเจ้ารีบตัดสินใจสั่งการให้ตำรวจเข้ายึดเสาปูนโรงพักขนาด ๒๔ นิ้วเป็นที่กำบังพร้อมกับสั่งให้ทำการยิงสกัดกั้นแบบถวายชีวิต คำว่า“ถอยหรือหลบหนี”ไม่ให้มีเป็นอันขาดได้มีการยิงต่อสู้กันอยู่ถึงสองชั่วโมงเต็มโจรจีนที่บุกเข้าถึงบันไดโรงพักถูกยิงตายคาที่ถึง ๓ ศพ ต่อหน้าต่อตาของข้าพเจ้าครั้นแล้วพวกโจรจีนก็ล่าถอยไปอย่างไม่เป็นขบวน ตำรวจฝ่ายเราทั้ง ๑๖ นาย ปลอดภัยเมื่อออกไปตรวจเหตุการณ์ข้างนอกโรงพัก ปรากฏว่าโจรจีนถูกยิงตายทั้งสิ้น รวม ๘๒ ศพ

 

สำหรับเรื่องนี้อำมาตย์ตรี พระทำนุประชากิจ ผู้ว่าราชการอำเภอเบตงได้มีหนังสือไปยังอำมาตย์ตรี หลวงสถิตย์โทรกล ผู้จัดการไปรษณีย์โทรเสขภาคใต้สงขลาดังมีข้อความต่อไปนี้

 

ที่ ๒/๕๕๖

 

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๖

 

เรียนอำมาตย์ตรี หลวงสถิตย์โทรกล ผู้จัดการไปรษณีย์โทรเลขภาคใต้ สงขลา

 

ตามหนังสือของท่านที่ ๑๖๐๗ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๖เรื่องอนุญาตให้นายสงวน จิรจินดา นายไปรษณีย์ไปช่วยราชการอำเภอความแจ้งอยู่แล้วนั้น

 

บัดนี้ การงานทางอำเภอได้สิ้นสุดลงและได้อนุญาตให้ นายสงวนจิรจินดา กลับไปรับราชการตามหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคมศกนี้แล้วโดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าได้ทำบันทึกกิจการที่นายสงวน จิรจินดา ได้ปฏิบัติมาแล้ว

 

ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๗๖ซึ่งเป็นวันที่โจรจีนยกเข้ามาปล้นสถานีตำรวจอย่างรุนแรงร้ายกาจนั้นขณะที่กองโจรด้านตะวันตกกำลังแตกถอยนายสงวน จิรจินดา ได้วิ่งมาสถานีตำรวจจวนเจียนจะได้รับอัตรายจากกระสุนปืนของตำรวจเอง เมื่อมาถึงสถานีผู้บังคับกองตำรวจได้จ่ายปืนให้ นายสงวน จิรจินดา ได้ลงไปยึดมั่นที่หน้าสถานีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนที่รุกเข้ามาทางด้านตะวันออกต่อมาข้าพเจ้าได้ร้องสั่งลงไปจากบนสถานี นายสงวน จิรจินดา นำตำรวจ ๓ นายไปยึดที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อป้องกันรักษาและส่งโทรเลขแจ้งไปยังจังหวัดและกระทรวง

 



 

นายสงวน จิรจินดาผู้สร้างตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในโลก

 

นายสงวน จิรจินดาได้ยิงต่อสู้กับผู้ร้ายที่ยกเข้ามาที่ทำการไปรษณีย์เป็นเวลา ๓๐ นาทีในระหว่างต่อสู้ นายสงวน จิรจินดายังได้เขียนโทรเลขซึ่งต้องหยุดบ้างเขียนบ้างเป็นระยะส่งไปถึงเจ้าเมืองและเทศาฯเพื่อแจ้งเหตุการณ์และขอกำลังตำรวจโดยถูกต้องอีกด้วยเมื่อเขียนโทรเลขเสร็จยังได้นำตำรวจ ๓ นายนั้นรุกเข้าไปถึงตลาดเพื่อรับตัวบุรุษไปรษณีย์ให้ไปที่ทำการไปรษณีย์และรับตัวเสมียนไปรษณีย์ให้ไปส่งโทรเลขซึ่งในเวลานั้นยังมีสมัครพรรคพวกผู้ร้ายจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในโรงรถว่างห่างกันราว๒ เส้นเท่านั้น กับยังได้ระวังป้องกันอยู่กับเจ้าหน้าที่โทรเลขจนเสร็จ

 

แลในเย็นวันนั้นเองนายสงวน จิรจินดาได้ติดตามผู้บังคับกองตำรวจออกทำการตรวจค้นพวกผู้ร้ายในตลาดได้ทำหน้าที่ตำรวจอยู่ยามเป็นต้นจนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๗๖

 

ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าได้ยืมตัวนายสงวน จิรจินดา มาช่วยราชการทางอำเภอเพื่อเขียนโทรเลขโรมันไนส์และทำการติดต่อโต้ตอบกับทางต่างประเทศเรียบเรียงและแปลภาษาต่างๆที่เกี่ยวกับปล้นรายนี้เป็นเวลา ๑ เดือนเต็ม

 

อนึ่ง ในตอนเช้าวันที่ ๒๘ ตุลาคมก่อนที่จะเกิดการปล้นไม่กี่ชั่วโมง นายสงวน จิรจินดาได้เป็นธุระบอกผู้บังคับกองตำรวจให้ทราบเรื่องราษฎรแตกตื่นจะเกิดการปล้นเพื่อให้ผู้บังคับกองมาหาหรือกับข้าพเจ้ากับยังได้ให้ความรู้ในเรื่องการผิดสังเกตของนายโลวเซ็กงี่ผู้ร้ายตัวการสำคัญจนข้าพเจ้าสั่งให้จับตัวนายโลวเซ็กงี่หัวหน้าโจรรายนี้เป็นการตัดทอนกำลังของพวกโจรจีนลงได้เป็นอันมาก

 

การกระทำของนายสงวน จิรจินดาครั้งนี้นับว่าเป็นประโยชน์แก่ทางราชการทั้งฝ่ายกำลังและฝ่ายธุรการสมควรได้รับความชอบเป็นบำเหน็จ จึงขอท่านได้โปรดเสนอเพื่อพิจารณาเป็นลำดับต่อไป

 

โอกาสนี้ขอแสดงความนับถือมายังท่าน

 

อำมาตย์ตรี พระทำนุประชากิจ

 

ผู้ว่าราชการอำเภอเบตง

 

ประทับตราประจำตำแหน่งมาเป็นสำคัญ

 

ในเวลาต่อมานายสงวน จิรจินดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังสำเนาต่อไปนี้

 

ที่ ก.ท. ๑/๑๒

 

๒๖ เมษายน ๒๔๘๐

 

เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

จากอธิบดีไปรษณีย์โทรเลข ถึง นายสงวน จิรจินดา นายไปรษณีย์เบตง

 

ตามที่ท่านได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่านบ้านเมืองเข้าต่อสู้โจรจีนที่เบตงเพื่อป้องกันทรัพย์สมบัติของรัฐบาลและประชาชนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖๗ นั้นคณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฎสยามให้บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว จึงขอส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม๑ ดวง มาพร้อมกับหนังสือนี้

 

เมื่อการกระทำของท่านบังเกิดผลเป็นเกียรติยศทั้งแต่ตนเองตลอดถึงหมู่คณะเช่นนี้ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นหัวหน้ากรมรู้สึกปลาบปลื้มยินดีปีติเป็นอย่างยิ่งหวังว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้จะเป็นเครื่องส่งเสริมให้ท่านประกอบแต่คุณความดีอันจะนำเกียรติยศและชื่อเสียงมาสู่ตนและหมู่คณะในกาลต่อไปยิ่งๆขึ้น

 

ในที่สุด ข้าพเจ้าขออำนวยพรให้ท่านจงมีความเจริญด้วยจตุรพิตรคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เทอญ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

อริจกิจวิจารณ์

 

ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายการในประเทศ ลงนามแทน

 

ต่อมา นายสงวน จิรจินดา นายไปรษณีย์โทรเลขเบตงมีประสบการณ์จากเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เวลาบ้านเมืองมีเหตุวุ่นวายไม่สามารถที่จะติดต่อกับหน่วยงานอื่นๆได้ ดังนั้นครบเกษียณอายุราชการจึงได้ออกมาสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลและได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเบตงคนแรกและแลเห็นว่าท้องที่อำเภอเบตงอยู่ห่างไกลมาก ไม่สามารถติดต่อสื่อสารใดๆ ได้นอกจากทางจดหมายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอเบตงในด้านการติดต่อสื่อสารและในอดีตเคยเป็นนายไปรษณีย์โทรเลขจึงได้สร้างตู้ไปรษณีย์ขึ้น โดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็กรูปวงกลม ทรงกระบอก แยกเป็น ๒ส่วน คือ ส่วนฐานและส่วนตู้

 

ส่วนกลางที่เป็นฐาน วัดเส้นรอบวงได้ ๑๖๐ เซนติเมตรสูงจากพื้นดิน ๑๓๐ เซนติเมตร

 

ส่วนบนเป็นตัวตู้วัดเส้นรอบวงได้ ๑๔๐ เซนติเมตรความสูงของตัวตู้วัดได้ ๒๙๐ เซนติเมตรในขณะเดียวกันด้านบนของตู้ไปรษณีย์ได้บรรจุลำโพงไว้ข้างในและเจาะรูกลมๆไว้รอบๆสำหรับกระจายเสียงในยามเช้า เพื่อรายงานข่างสารทางราชการเวลาชาวบ้านไปจ่ายตลาดโดยตั้งอยู่ตรงสี่แยกหอนาฬิกา ดังนั้นหากจะนับจากฐานขึ้นไปถึงส่วนสูงของตู้ไปรษณีย์ ทั้งหมดวัดได้ ๔๒๐ เซนติเมตร

 

ปัจจุบัน ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตู้แรกใบนี้ยังสามารถใช้การได้อยู่

 

ข้อมูลจากหนังสือที่ระลึกงานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ

 

ครั้งที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๕๔๔หน้าที่ ๖๙-๗๑

 

 

 





 

Create Date : 04 มกราคม 2556    
Last Update : 7 มกราคม 2556 17:06:37 น.
Counter : 1943 Pageviews.  

วิถีอาข่า หนึ่งในวัฒนธรรมชาวเขานับแต่วันวาน บทความ โดย อ.เจริญ ตันมหาพราน

“บนฟ้ามีเมฆลอย บนดอยมีเมฆบังมีสาวงามชื่อดัง อยู่หลังแดนดงป่า....” บทเพลงมิดะที่ขับขานจากเสียงร้องเสนาะหูของคุณจรัลมโนเพ็ชร จากวันวานสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนป่าเขาลำเนาไพรทางภาคเหนือของประเทศไทยได้อย่างลึกซึ้งติดตรึงใจ มาแล้วเนิ่นนาน


วิถีอาข่าหนึ่งในวัฒนธรรมชาวเขานับแต่วันวาน บทความและภาพถ่ายสะสม โดย อ.เจริญ ตันมหาพราน

อาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากฐานวัฒนธรรมเช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าต่างๆมีถิ่นดั้งเดิมอาศัยอยู่ตามภูเขาแถบเหนือฟากฝั่งแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉานหรือไทยใหญ่และเป็นชาวเขาเผ่าใหญ่ที่สุดในบรรดาชาวเขาทั้งหลายอีกทั้งเป็นชาวเขาที่ยากจนที่สุด ดังนั้น ผู้คนทั่วไปนิยมเรียกชาวเขาเผ่านี้ว่า “อีก้อ” ซึ่งมีความหมายว่า ทานหรือเป็นชนเผ่าขี้ข้าเขาแต่ความเป็นจริงพวกเขาไม่ได้เป็นทาสของชนเผ่าใดและไม่เคยเป็นทาสด้วย

“อาข่า” แปลว่า “ผู้กล้า”หรือ “นักรบ” เพราะอุปนิสัยของชนเผ่านี้แต่ดั้งเดิมเป็นนักสู้มาก่อนดังในประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๓ โปรดฯ ให้กองทัพยกไปตีเชียงตุงปรากฏว่าในระหว่างเดินทัพได้รับความยุ่งยากมิใช่น้อยเนื่องจากถูกรบกวนโจมตีจากพวอาข่า ที่มีเพียงหน้าไม้ หอก และมีดเป็นอาวุธเท่านั้น




ต่อมากองทหารอังกฤษที่มีอาวุธทันสมัยเตรียมยกทัพไปตีแคว้นไทยใหญ่ ยังมิทันจะไปถึงจุดหมายปลายทางทหารกองหนึ่งได้หายสาบสูญไปในป่าอย่างไร้ร่องรอย ก็เกิดจากฝีมือของพวกอาข่านี่เองด้วยเหตุนี้ชนเผ่าอาข่าจำเป็นต้องอพยพกันอยู่บ่อยๆเพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทราบหลักแหล่งที่แน่ชัด เกรงว่าจะถูกบุกเข้าโจมตีนอกจากนี้ทรัพย์สินมีค่าของชนเผ่าอาข่าจะให้พวกผู้หญิงติดตัวว่าโดยประดับไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อพวกผู้ชายจะต่อสู้ข้าศึกได้เต็มที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ผู้ชายอาข่ามีรูปร่างใหญ่กว่าชาวเขาเผ่าอื่นๆ ดั้งจมูกโด่งตาใหญ่กว่าตาคนจีน ขากรรไกรใหญ่ คางยื่น ทั้งพูดภาษาจีน (ฮ่อ) ได้ดีด้วยประดับตกแต่งสิ่งมีค่าน้อยที่สุด อย่างดีแค่กระดุมเงินหรือเม็ดเดือยยกเว้นอาข่าที่รวยๆ เมื่อลงจากเขาไปซื้อของในเมืองจะใส่ตุ้มหูและสร้อยเพียง ๒-๓เส้น สำหรับอาภรณ์สวมใส่มีผ้าโพกศีรษะ เสื้อเปิดอก ชายยาวจนถึงบั้นเอวนุ่งกางเกงขาวยาวเหมือนกางเกงม่อฮ่อมของชาวเหนือล้วนแต่ย้อมสีน้ำเงินแก่อย่างธรรมดาทั้งสิ้น





ผู้หญิงอาข่าแต่งตัวจะติดรุ่มร่ามและพิถีพิถันมากกว่าพวกชาวเขาเผ่าอื่นๆคือ สวมกระโปรงสั้น แค่บั้นเอวคลุมตะโพกลงไปถึงเหนือเข่าเล็กน้อยกระโปรงนี้เย็บหยาบๆ ทำให้ถอดง่าย โดยใช้หูรูดผูกด้วยเชือก เวลาเดินกระโปรงจะเปิดพะเยิบพะยาบเสื้อสาวอาข่าจะเป็นแบบแขนยาว ผ่าอกไม่มี สวมสนับแข้งทำด้วยผ้าฝ้ายมัดด้วยเชือกเป็นสองเปลาะสนับแข้งนี้ทำง่ายๆ ไม่ตกแต่งหรือพิถีพิถันอะไรทำพอกันไม่ให้หญ้าคมๆหรือหนามบาดหน้าแข้งจนเลือดไหลเป็นใช้ได้บนศีรษะจะสวมหมวกที่ทำจากไม้ไผ่เป็นโครง ยอดกลมเหมือนหมวกของบาทหลวงนิกายคาธอลิคหุ้มด้วยผ้าฝ้ายสีน้ำเงินแก่ ตกแต่งด้วยแผ่นเงินชิ้นเล็กๆ ลูกเดือยแห้งและเปลือกหอยอย่างประณีต นอกจากนั้นทุกคนยังใส่ตุ้มหูทำจากเหรียญเงินข้างละหลายๆอัน ที่คอมีสร้อยทำจากลูกเดือยสีขาวๆ มากมายหลายเส้น มีตั้งแต่ ๔ เส้นจนถึง ๑๕เส้นตามแต่ความนิยมของแต่ละคน บางคนติดเลยไปจนถึงกระโปรงสั้นก็มี

หญิงที่มีสามีแล้วหรือเป็นแม่ม่ายจะสวมหมวกทรงสูงขึ้นไปขอบหมวกจะจรดลงมาถึงตอนบนของหน้าผาก ส่วนที่ยังเป็นสาวไม่มีสามีขอบหมวกจะจรดลงมาถึงคิ้วทั้งสอง รอบๆ ชายหมวก มีชายเหมือนมาลัย ตกแต่งด้วยแผ่นเงินกลมหรือลูกเดือยยาวลงมาปะบ่าแลดูสวยงาม




หนุ่มอาข่ามีหน้าที่ทำการเกษตร เช่นข้าวไร่ ข้าวโพดและฝิ่น ไร่นั้นทำกันบนไหล่เขาที่ลาดลงไปยังก้นเหวเบื้องล่างโดยจะโค่นต้นไม้และถางที่ให้โล่งเตียนรอบๆ หมู่บ้านซึ่งนอกจากจะใช้ปลูกพืชผลได้แล้ว ยังป้องกันไฟป่าได้อีกด้วยอาณาบริเวณที่ทำไร่จะไม่มีการขยายให้กว้างออกไปอีก เคยทำอยู่จำนวนเท่าใดก็เท่านั้นเผื่อปีไหนโชคไม่อำนวย ฝนน้อย เกิดความแห้งแล้ง จะไม่รู้สึกเดือดร้อน

ถ้าพวกอาข่ามีความจำเป็นต้องลงจากเขาเข้าไปในเมืองเพื่อซื้อหรือขายของจำเป็น พวกเขาจะไม่ไปคนเดียวหรือสองคนแต่จะลงไปเป็นหมู่ทีเดียว พอเข้าร้านไหนไปถนนไหนเขาจะตามกันเป็นหมู่คณะทั้งชายและหญิงไม่มีแยกกันพวกหนุ่มอาข่าจะมีถุงเชือกติดตัวอยู่เสมอ เพื่อเก็บสิ่งจำเป็นไว้ตลอด คือ กล้องยาและยาเส้น ส่วนพวกสาวอาข่าลำบากหน่อย เพราะต้องสะพายตะกร้าใบใหญ่ไว้ข้างหลังมีสายโยงมาพาดที่หน้าผาก พอบรรจุสิ่งของลงไปแล้วเวลาเดินต้องโน้มตัวไปข้างหน้าเสมอ ตะกร้าใบนี้บรรจุผักหรือของป่าอื่นๆที่จะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตรา เพื่อซื้อของจำเป็นไว้ใช้

เนื่องจากชนเผ่าอาข่าอาศัยอยู่บนดอยสูงมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี บ้านอาข่าไม่มีหน้าต่าง เพื่อป้องกันลมเย็นที่พัดเข้ามาจึงทำให้ภายในเรือนอาข่าทุกหลังค่อนข้างอับและมืดสลัวบ้านที่อยู่อาศัยสร้างด้วยไม้ไผ่ สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร มุงหลังคาด้วยหญ้าคาพื้นดินเบื้องล่างทำเป็นคอกหมูและคอกแพะ อาข่านิยมเลี้ยงหมู แพะวัวและควายเท่านั้น ส่วนม้ามีเลี้ยงกันแต่เฉพาะคนที่รวยๆบ้านอาข่าหลังหนึ่งมีห้องแค่ห้องเดียว ทุกคนในครอบครัวจะนอนรวมในบ้านหลังนี้พื้นห้องเป็นฟากทำจากไม้ไผ่ มีเสื่อหยาบๆ ปูอีกชั้นหนึ่งตรงไหนดีหน่อยก็เป็นที่หลับนอนของประมุขของบ้าน ส่วนพวกลูกๆไม่ว่าหญิงหรือชายจะนอนตรงไหน ขึ้นอยู่กับความพอใจทางด้านตะวันตกของบ้านมีประตูอีกประตูหนึ่งนอกเหนือจากประตูเข้าที่ใช้กันอยู่เป็นประจำประตูด้านตะวันตกนี้ถือว่าเป็นประตูผีของปู่ย่าตายาย

ชนเผ่าอาข่าเชื่อว่า หากมีใครในครอบครัวสิ้นชีวิตลงวิญญาณของผู้ตายจะล่องลอยไปอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งทางทิศตะวันตก บางทีวิญญาณเหล่านั้นอาจนึกอยากมาเยี่ยมเยียนลูกหลานบ้างก็จะได้เข้าทางประตูผีแห่งนี้ประตูผีที่กล่าวมานี้คนในครอบครัวที่เป็นผู้ชายหรือบุคคลอื่นจะเข้าออกไม่ได้เลยผู้หญิงในครอบครัวผ่านได้ แต่ไม่บ่อยนัก นอกจากในกรณีพิเศษ เช่น เซ่นผี ซึ่งนานๆจะทำกันสักครั้งหนึ่ง

บนทางเดินนอกหมู่บ้านมีการทำประตูเรียกว่า “ล๊อคค๋อ”เป็นเครื่องหมาย ทำด้วยไม้ไผ่ลำยาว ด้านบนมีคานไม้เนื้อแข็งพาดอยู่ที่คานมีเศษผ้าชิ้นหนึ่งผูกไว้คนแปลกหน้าที่ไม่ได้รับอนุญาตจะเข้าไปในหมู่บ้านด้วยการผ่านประตูนี้ไม่ได้เด็ดขาดต้องคอยอยู่ข้างนอกจนกว่าคนในหมู่บ้านจะออกมาเห็นแต่อนุโลมให้ตะโกนเรียกคนออกมารับได้





ด้านวัฒนธรรมในการบรรเลงของชาวอาข่า มี “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดเดียวกับที่ใช้กันในประเทศลาวและประเทศไทยทางภาคอีสานทำจากไม้ซางอันเล็กๆ หลายๆ ลำรวมกัน มีที่เป่าอยู่ตรงกลาง ผู้ชายนิยมเป่าแคนยามค่ำคืนแก้เหงาขณะเดินทางไปหาหญิงที่ตนรัก นอกจากนั้นยังใช้เป่าในงานอะชิฉ่อหรือการเต้นรำแบบชาวเขา ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชนเผ่าโดยพวกผู้หญิงจะยืนหันหลังกันเป็นวงกลม เอาเท้าจรดติดกันข้างหนึ่งแล้วปรบมือทั้งสองให้เข้ากับจังหวะดนตรี ขณะเดียวกันก็กระโดดหมุนเป็นรูปวงกลม

ธรรมเนียมของชนเผ่าอาข่าไม่ว่าจะไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ไหนมักจะช่วยกันแผ้วถางที่ดินในบริเวณหมู่บ้านให้ราบเรียบอยู่เสมอและใจกลางหมู่บ้านจะทำเสาชิงช้า โดยใช้เถาวัลย์แทนเชือกไว้แห่งหนึ่งสำหรับโล้ชิงช้าประจำปี ซึ่งจะมีขึ้นราวเดือนสิงหาคมของทุกปี นอกจากนี้ยังมีลานดินโล่งเตียนอีกแห่งไว้สร้างม้านั่งยาวไม่มีพนักพิงอย่างง่ายๆ ยาวไปรอบๆ ลานคนพื้นราบเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ลานสาวกอด”อันเป็นสถานที่จัดไว้ให้พวกหนุ่มๆ สาวๆ จู๋จี๋กันส่วนพวกเด็กชายและเด็กหญิงจะใช้สถานที่แห่งนี้ นั่งร้องรำทำเพลงก็ได้

ถ้าหนุ่มอาข่าไปรักสาวอาข่าคนใดจะมีการนัดแนะฝ่ายหญิงไปจู๋จี๋ที่ลานสาวกอดจนถึงขั้นได้เสียกันในป่าสุดเขตในเวลากลางคืนเช้าวันรุ่งขึ้นฝ่ายหญิงจะบอกบิดามารดาของตนว่า ได้รักใคร่ได้เสียกับหนุ่มคนนั้นๆเมื่อคืนนี้แล้ว ฝ่ายชายก็จะบอกบิดามารดาของตนเช่นกัน บิดามารดาฝ่ายชายจะไปสู่ขอหรือตกลงกับบิดามารดาฝ่ายหญิงที่คอยท่าอยู่แล้วเมื่อยินยอมพอใจกันทั้งสองฝ่าย พิธีแต่งงานจะมีขึ้นในไม่ช้า




ก่อนจะเข้าพิธีแต่งงานหนุ่มอาข่าต้องสละมลทินในร่างกายออกเสียก่อน ด้วยการไปหลับนอนกับส่าข่อเฮ่อหญิงม่ายสามี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากชาวอาข่าให้เป็นผู้ทรงเกียรติบางหมู่บ้านอาจมีส่าข่าเฮ่อมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปโดยส่าข่าเฮ่อจะเป็นผู้แนะนำหรือสอนวิชาเพศศึกษาให้ แต่มีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่าห้ามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดติดใจในรสรักหรือร่วมหลับนอนเกินกว่าหนึ่งคืนขึ้นไป มิฉะนั้นส่าข่าเฮ่อ (ผู้เปิดบริสุทธิ์หนุ่มอาข่า)จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งเป็นสามัญชนจากนั้นจะหาคนใหม่มาทำหน้าที่แทน

พิธีแต่งงานของชนเผ่าอาข่า หน้าที่ของฝ่ายเจ้าบ่าวต้องฆ่าหมู ฆ่าไก่ ทำขนมและต้มสุราไว้เลี้ยงดูแขก เมื่อถึงวันแต่งงานฝ่ายชายจะรับตัวเจ้าสาวไปที่บ้านตนและเลี้ยงดูกันที่นั่น บางครั้งเจ้าบ่าวไม่จำเป็นต้องเป็นอาข่าด้วยกันอาจเป็นจีนฮ่อก็ได้ เพราะอาข่ากับจีนฮ่อเป็นเพื่อนบ้านข้างเคียงหมู่บ้านอาข่าแต่ละแห่ง จึงมีจีนฮ่อมาอาศัยอยู่ด้วยมากหลาย อาข่าเรียกจีนฮ่อว่า“โคเฉีย” แปลว่า แขกบ้าน หากสนิทกันมากจะเรียกว่า “โดน” ที่แปลว่า “พี่ชาย”

ในปีหนึ่งพวกอาข่าจะมีงานเลี้ยง ๑๒ ครั้งโดยมากเป็นการเลี้ยงผีทั่วไป แบ่งเป็นเลี้ยงผีบ้าน ๒ ครั้งโดยจะเลี้ยงกันทั่วหมู่บ้าน เมื่อใดที่มีการเลี้ยงผีผู้หญิงจะช่วยกันทำขนมจากข้าวไร่ที่ตนปลูกขึ้น ผู้ชายช่วยฆ่าหมูหรือแพะ

บ้านใดที่ได้เชิญหรือบอกกล่าวจากบ้านหนึ่งแล้วจะปฏิเสธไม่ได้เศษอาหารที่เหลือจากการเลี้ยงคราวหนึ่งๆ จะเอาเทลงในหม้อดินตรงมุมห้องซึ่งตรงนั้นเคยมีคนตายมาแล้ว แต่ถ้าบ้านใดยังไม่เคยมีคนตายเขาจะนำหม้อดินออกทางประตูผีด้านตะวันตก แล้วนำไปให้หมูกินเศษที่เหลือกินจากหมูรวมทั้งหม้อดินใบนั้นจะนำไปฝังในป่าทางทิศตะวันตกและไม่นำมาใช้อีก ถ้ามีการเลี้ยงครั้งต่อไปต้องหาหม้อใบใหม่

หากมีคนตายในหมู่บ้าน ข้าวที่ผู้ตายมีอยู่จะถูกนำมาทำขนมข้าวต้มเลี้ยงกันที่เหลือก็นำไปหมักไว้กลั่นเป็นเหล้า สัตว์เลี้ยง เช่น หมูแพะจะถูกฆ่ากินหมดไม่ให้เหลือ ถ้าผู้ตายมีควายไม่ว่ากี่ตัวก็ตามจะถูกฆ่าหมดเช่นกัน การฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น ควาย มีวิธีการแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาจะผูกควายไว้กลางลานหมู่บ้านอย่างแน่นหนาทุกตัวจากนั้นผู้ฆ่าจะถือมีดขึ้นขี่ม้าเข้าไปหาตัวที่อยู่ใกล้ที่สุดแล้วจ้วงแทงควายที่ชายโครงจนตาย ตัวอื่นๆ ก็จะถูกฆ่าด้วยวิธีอย่างเดียวกัน

พิธีงานศพของชนเผ่าอาข่ามีตั้งแต่ ๑-๗ วันถ้าผู้ตายอยู่คนเดียวเดี่ยวโดด ตายวันเดียวก็ฝังแต่หากสามียังมีชีวิตอยู่หรือมีบุตรชายอยู่จะจัดงานพิธีถึง ๗ วัน เมื่อกินข้าวเหล้า และอาหารหมดแล้ว พวกชายฉกรรจ์จะช่วยกันหาบศพไปฝังศพเหล่านี้จะนำไปฝังทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านไม่มีพิธีอะไรนอกจากขุดหลุมใหญ่ลึกประมาณเมตรเศษๆเมื่อหย่อนโลงศพลงไปแล้วก็ช่วยกันถม เกลี่ยดินกลบเสียให้เรียบ





สำหรับผู้ตายที่มีฐานะดีจะเชิญหมอผีมาทำพิธีเลือกทำเลที่ฝังศพ ด้วยวิธีโยนไข่เสี่ยงทายถ้าไข่ที่ถูกโยนขึ้นไปในอากาศ ตกลงที่ใดแล้วแตก สถานที่นั้นถือเป็นอัปมงคลแต่ถ้าโยนลงมาหล่นลงดินไม่แตก ให้ฝังลงที่ตรงนั้นในหลุมศพจะใส่ของใช้ของผู้ตายทุกชิ้นลงไปด้วย เพื่อให้ผู้ตายนำไปใช้ในเมืองผีในอดีตเงินทองของมีค่าทุกชิ้นต้องใส่ลงไปด้วยแต่ภายหลังเลิกเสียเพราะมีพวกเงี้ยวลอบมาขโมยขุดศพ เพื่อหวังเงินทองของผู้ตาย

วิถีของชาวอาข่าในปัจจุบันแตกต่างไปจากอดีตตามความเจริญที่แผ่เข้าไปในหมู่บ้านชาวเขา แต่วัฒนธรรมความเชื่อบางอย่างยังคงอยู่และแม้จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนคนเมืองอย่างชาวกรุงก็ล้วนหลงใหลมนต์เสน่ห์แบบเรียบง่ายในวิถีชาวเขาแบบดั้งเดิมยิ่งนัก




 

Create Date : 27 กันยายน 2555    
Last Update : 27 กันยายน 2555 6:52:50 น.
Counter : 1727 Pageviews.  

ร่มบ่อสร้าง หัตถกรรมท้องถิ่นอันลือชื่อ โดย อ.เจริญ ตันมหาพราน นักประวัติศาสตร์ชุมชน



ร่มบ่อสร้างหัตถกรรมท้องถิ่นอันลือชื่อ โดย อ.เจริญ ตันมหาพราน นักประวัติศาสตร์ชุมชน


ร่มบ่อสร้างเป็นสินค้าหัตถกรรมของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในอำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการทำร่มอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ชาวบ้านเกือบทุกคนของหมู่บ้านนี้มีฝีมือในการทำร่มให้สวยงามและคงทนเฉกเช่นที่บรรพชนได้ถ่ายทอดเอาไว้ โดยมีเรื่องราวความเป็นมาของการทำร่มบ่อสร้างดังนี้

เมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “พระอินถา”อาศัยอยู่ในสำนักวัดบ่อสร้าง ท่านได้เดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆจนครั้งหนึ่งท่านได้ธุดงค์ไปในประเทศพม่าได้มีชาวบ้านนำกลดมาถวายเพราะเห็นว่าท่านไม่มีกลด หลังจากที่ให้ศีลให้พรกับผู้นำมาถวายแล้วท่านก็ได้เอ่ยถามชาวพม่าผู้นั้นว่า กลดนี้เจ้าเป็นคนทำหรือเจ้าช่วยพาอาตมาไปดูซิว่ามีแหล่งทำอยู่ที่ใด หลังจากที่พระอินถาได้เดินทางไปที่หมู่บ้านทำกลดในพม่าท่านได้เห็นชาวบ้านทำร่มใช้กางกันแดดกันฝนได้ซ้ำยังเห็นว่าชาวบ้านทำร่มขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับเป็นร่มในพิธีงานทางศาสนาต่างๆ ด้วยแต่ร่มเหล่านี้ทำด้วยกระดาษสา ติดด้วยยางและทาน้ำมันเพื่อกันแดดและฝนท่านจึงได้ศึกษาถามเอาจากชาวบ้านถึงวิธีและขั้นตอนการทำร่ม





พอเดินทางกลับมาถึงวัดก็เลยชักชวนชาวบ้านช่วยกันหาอุปกรณ์และสอนวิธีการทำให้กับชาวบ้านในระยะแรกมีการทำขึ้นเพื่อใช้ก่อน ต่อมาจึงให้ชาวบ้านนำไปขายได้เงินเป็นจำนวนมากกระทั่งในระยะหลังเริ่มมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอสันกำแพงหันมาทำร่มกันมากขึ้นมีการดัดแปลงจากร่มกระดาษสามาเป็นร่มที่ทำจากผ้า ส่งขายกันในเมืองบางก็มีการเปิดร้านจำหน่ายเองจนชื่อเสียงของร่มบ้านบ่อสร้างเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

การทำร่มของบ้านบ่อสร้างมีวัฒนาการที่เจริญมากขึ้นเรื่อยๆจากอดีตชาวบ้านเคยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เรียนรู้การทำร่มอย่างง่ายๆส่วนหนึ่งเพื่อไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน และอีกส่วนหนึ่งทำเพื่อขายเป็นที่รู้กันว่าร่มที่ทำขึ้นจากบ้านบ่อสร้างมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนใครด้วยรูปลักษณ์สวยงามและการใช้วัสดุที่คงทนจึงทำให้ชื่อเสียงของร่มบ้านบ่อสร้างเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจนมีผู้เห็นความสำคัญนำมาพัฒนาวิธีการทำร่มให้ทันสมัยขึ้นจากงานฝีมือของท้องถิ่นมาสู่ระบบอุตสาหกรรมค้าขายอย่างเต็มตัว

เวลาที่เราเข้ามาเที่ยวชมการทำร่มของบ้านบ่อสร้างจะสังเกตได้ว่าแทบทุกบ้านของที่นี่มีการทำร่มและนำออกจำหน่ายจนชื่อเสียงของบ้านบ่อสร้างเป็นที่รู้จักมักคุ้นของนักท่องเที่ยวในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวชมการสาธิตทำร่มของศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มแห่งนี้เป็นจำนวนมากนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวิถีการทำร่มและพัดอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังสามารถที่จะทดลองทำร่มได้ด้วยตัวเอง

ที่ศูนย์อุตสาหกรรมการทำร่มบ้านบ่อสร้างมีการสาธิตการทำร่มทุกขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การทุบต้นสาเพื่อนำมาทำเป็นกระดาษสานักท่องเที่ยวสามารถทดลองทำกระดาษสาได้ ในส่วนของการทำร่มจะมีโรงกลึงหัวร่มโรงประกอบโครงร่ม และโรงหุ้มร่มอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน เมื่อเสร็จขั้นตอนต่างๆของการทำร่มแล้ว ก็จะนำร่มเหล่านั้นไปวาดรูปที่โรงวาดในโรงวาดรูปนี้จะมีบรรดาศิลปินผู้วาดรูปนั่งประจำตามโต๊ะสาธิต




วิธีการวาดรูปลงบนร่มและพัดโดยไม่มีการร่างลวดลายถือได้ว่าเป็นความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมกันมายาวนานโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจะสนใจวิธีการวาดรูปกันมากทีเดียวนักท่องเที่ยวบางคนถึงกับยอมลงทุนให้วาดรูปลงบนเสื้อที่ตนสวมใส่เลยก็มีโดยที่โรงวาดรูปจะมีแบบต่างๆให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้

ชาวบ้านที่มาทำร่มที่ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ้านบ่อสร้างหลายคนอาศัยความชำนาญที่ได้ทำมานานบางคนอยู่มาตั้งแต่เป็นเด็กหญิง จนปัจจุบันโตเป็นสาวเต็มตัวเลยก็มีเช่นเดียวกับลุงศรีมูล สาอ้าย ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการทำร่มมายาวนานถึง ๒๑ ปีลุงศรีมูลบอกว่า ตนเองเป็นชาวบ้านบ่อสร้างโดยกำเนิดยึดอาชีพการทำร่มต่อจากบิดาที่เป็นสล่าทำร่ม ก่อนที่จะมาทำร่มอยู่ที่ศูนย์อุตสาหกรรมการทำร่มแห่งนี้ได้เคยไปรับจ้างทำร่มอยู่ตามที่ต่างๆ ก่อนที่จะมาอยู่ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้คุณลุงยังบอกอีกว่าการทำร่มเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องอาศัยเวลาและความอดทนในการทำเป็นอย่างมากปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับอนาคตของการทำร่มเพราะมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการทำร่มดั่งเช่นบรรพชนในอดีตได้ถ่ายทอดไว้ให้

เมื่ออุตสาหกรรมการทำร่มของบ้านบ่อสร้างได้รับความนิยมและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวที่บ้านบ่อสร้างมากยิ่งขึ้นทางราชการจึงมีดำริจัดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๒๖





แม้ว่าทิศทางการทำร่มของบ้านบ่อสร้างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแต่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทำร่มทุกคนของบ้านบ่อสร้างแล้วพวกเขายังหวังที่จะเห็นอนาคตของร่มที่ทำจากบ้านบ่อสร้างแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นสัญลักษณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสันกำแพงต่อไป




 

Create Date : 21 กันยายน 2555    
Last Update : 21 กันยายน 2555 18:47:00 น.
Counter : 2057 Pageviews.  

ย้อนความทรงจำแห่งสายน้ำ...“สาละวิน” โดย เจริญ ตันมหาพราน พร้อมภาพถ่ายสะสม


ย้อนความทรงจำแห่งสายน้ำ...“สาละวิน” โดย เจริญตันมหาพราน พร้อมภาพถ่ายสะสม 

 


“สาละวิน” สายน้ำที่ไหลเป็นแนวเขตประเทศระหว่างไทยกับพม่าตรงบริเวณอำเภอแม่สะเรียงที่ซึ่งเป็นดินแดนของนักเดินทางหลายคนใฝ่ฝันที่จะหาโอกาสมาเยือนให้ได้แม้สักครั้งหนึ่งของชีวิตที่ซึ่งไอกรุ่นของอดีตแห่งตำนานการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยยังไม่จางหายย้อนขึ้นไปสู่เทือกเขาหิมาลัยในดินแดนธิเบต แผ่นดินที่ได้ชื่อว่าเป็น“หลังคาโลก” อันเป็นถิ่นกำเนิดของแม่น้ำใหญ่ ๖ สายอันได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำโขง แม่น้ำยั่งจือ แม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำสาละวิน

จากต้นกำเนิดบนเทือกเขาคุนหลุนด้านตะวันออกของประเทศธิเบตไหลลงทางใต้ผ่านทะเลสาบแอมโดโชนัก ผ่านเมืองเมนคอสซาแต็งไหลเลี้ยวเข้าไปในสาธารณรัฐประชาชนจีนทางตอนใต้ ผ่านเมืองยูนนานซึ่งชาวจีนเรียกชื่อของแม่น้ำนี้ว่า “นุเจียง” หรือ “นูเจียง” ส่วนคนแม่ฮ่องสอนจะเรียกว่า“แม่น้ำคง” ก่อนที่แม่น้ำสายนี้จะไหลลงสู่ประเทศพม่าเลียบชายแดนไทยทิศตะวันตกในเขตตำบลกองก๋อยตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง ไปสิ้นสุดชายแดนไทยที่สบเมยก่อนจะไหลลงสู่อ่าวมะตะบันในทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่งรวมการเดินทางของสายน้ำสาละวินตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากอ่าวเป็นระยะทางประมาณ ๓,๑๕๑ กิโลเมตร


แม่น้ำสาละวิน ณรอยต่อพรมแดนไทยพม่า แดนดินที่ใครหลายคนใฝ่ฝันเดินทางมาให้ถึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต


 

ทว่าสายน้ำแห่งนี้กลับมีเพียง ๑๒๖ กิโลเมตรเท่านั้นที่สาละวินทำหน้าที่แบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า คือตั้งแต่บ้านจอท่าจนถึงบ้านสบเมย การเดินทางเพื่อทวนสายน้ำสาละวินเริ่มต้นที่ท่าน้ำบริเวณบ้านแม่สามแลบซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนหมู่บ้านทั้งหลายริมฝั่งสาละวิน และด้วยเหตุที่เป็นหมู่บ้านที่อยู่สุดเขตแดนไทยจึงทำให้หมู่บ้านนี้มีกลุ่มชนจากหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่อย่างผสมกลมกลืนทั้งคนไต กะเหรี่ยง แขก(กะลา) และคนเมือง

บ้านแม่สามแลบแห่งนี้เป็นชุมชนเล็กๆ บ้านส่วนใหญ่เป็นลักษณะห้องแถวขนานไปกับถนนเกือบทุกห้องจะมุงด้วยหลังคาใบตองห้องที่อยู่ชิดถนนเปิดเป็นร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ด เครื่องมือจับปลา เสื้อผ้าร้านก๋วยเตี๋ยว หลายร้านมีลังสีส้มสีแดงขนาดใหญ่วางอยู่ลังเหล่านี้เป็นที่เก็บปลาที่ทยอยขึ้นมาจากเรือหางยาวซึ่งจับได้ในแม่น้ำสาละวินในอดีตบริเวณนี้เป็นจุดการค้าผ่านแดนที่คึกคักแต่ปัจจุบันซบเซาลงไปมากเนื่องจากปัญหาชายแดนสินค้าที่นำมาจำหน่ายที่นี่ส่วนมากเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของไทยและสินค้าพื้นเมืองจากพม่าเช่น ผลิตผลทางการเกษตร เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก

หาดทรายขาวนุ่มละเอียดริมฝั่งแม่น้ำสาละวินด้านหน้าทีทำการอุทยานแห่งชาติฯ เป็นจุดกางเต้นท์พักแรมที่โรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่ง

 


ริมฝั่งน้ำสาละวินในช่วงน้ำลงจะเต็มไปด้วยหาดทรายขาวนุ่มละเอียด นักท่องเที่ยวที่มาสาละวินนิยมนั่งเรือทวนสายน้ำขึ้นไปหาหาดทรายเหมาะๆกางเต็นท์พักแรมโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่บรรยากาศเป็นใจชักชวนให้หนุ่มสาวพากันออกเดินทางท่องเที่ยวการเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติสาละวินนักท่องเที่ยวจะต้องลงเรือที่ท่าแม่สามแลบโดยเรือเร็ว ทวนสายน้ำใช้เวลาประมาณ ๕๐นาที เจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจ กองร้อยทหารพราน ๓๖๐ บ้านแม่สามแลบบอกกับเราว่า การนั่งเรือไปยังอุทยานแห่งชาติสาละวินจะต้องเดินทางก่อนเวลา ๑๘.๐๐น. ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างทหารไทยกับพม่าถ้าหลังจากนั้นแล้วทางทหารพรานจะไม่รับรองความปลอดภัยดังนั้นหากใครที่ไม่สามารถลงเรือก่อนเวลา ๑๘.๐๐ น.ได้ก็จะต้องนอนค้างที่บ้านแม่สามแลบก่อน ๑ คืนแล้วจึงลงเรือได้ในวันรุ่งขึ้น

อุทยานแห่งชาติสาละวินเพิ่งได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อต้นปี ๒๕๓๗ บนพื้นกว่า ๔๖๘,๐๐๐ ไร่ เลียบฝั่งน้ำสาละวินในเขตอำเภอแม่สะเรียงและกิ่งอำเภอสบเมยเป็นขุนเขาและป่าไม้เบญจพรรณในช่วงหน้าหนาวจนถึงหน้าแล้งระดับน้ำในสาละวินจะลดลงสามารถมองเห็นหาดทรายขาวละเอียดทั้งสองฟากฝั่งสลับกับก้อนหินขนาดใหญ่โดยเฉพาะในหน้าหนาวสายหมอกจะปกคลุมทั่วทั้งลำน้ำ นอกจากนี้ป่าเบญจพรรณสองฝั่งน้ำจะเริ่มผลัดใบเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมส้มให้นักเดินทางได้ชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติส่วนในหน้าร้อนประมาณเดือนเมษายน หิมะบนภูเขาจะละลายไหลลงมาแม่น้ำจึงใสและเย็นกว่าปกติ หากจะกล่าวว่าผู้คนในดินแดนพม่า ไทใหญ่ ไทน้อยและจีนได้อาศัยกินและอาบใช้น้ำของหิมะที่ละลายจากเทือกหิมาลัยก็คงจะไม่ผิดนัก


ชุมชนห้องแถวเรือนไม้บ้านแม่สามแลบเปิดเป็นร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ดนานาชนิด


 

เรื่องราวของการทำไม้ในผืนป่าสาละวินยังคงบอกกล่าวเรื่องราวในดินแดนอันลี้ลับที่เสียงเลื่อยตัดไม้ดังระคนกับเสียงปืนย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ๕-๖ ปี ป่าสาละวินไม่เป็นที่รู้จักมากนักแม้ว่าป่าผืนนี้จะดิบทึบอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคมป่า ซึ่งเรียกว่า “อินโดเบอร์ม่า” ที่ยังปรากฏเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยพรรณพืชส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทือกเขาหิมาลัยมีพรรณไม้เขตหนาวหลายชนิดปรากฏอยู่รวมถึงสังคมพืชแถบอินโดมาลายากระจายขึ้นตามเทือกเขาตะนาวศรีรวมถึงไม้สักซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เด่นแห่งป่าสาละวิน

ก่อนหน้าที่จะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๒ บริษัทอีสเอเชียติกได้เข้ามาทำสัมปทานไม้หลังจากนั้นบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าก็ได้เข้ามารับช่วงสัมปทานต่อใน พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๗๖ปัจจุบันแม้ว่าการสัมปทานไม้ในป่าจะยุติไปเนิ่นนานแล้วแต่ดูเหมือนว่าการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวินยังไม่เคยยุติ..

รุ่งเช้าสายหมอกของวันในฤดูหนาวก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนแต่หัวรุ่งโรยตัวกระจายปกคลุมไปทั่วบริเวณ กระทั่งมองไม่เห็นส่วนยอดของเทือกเขาบรรยากาศที่หุ้มห่อรอบตัวกำลังสบาย ช่วยแต่งแต้มความสดชื่นของวันในยามเช้าได้เป็นอย่างดีหาดทรายขาวละเอียดด้านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติสาละวินถูกเนรมิตให้เป็นลานพักแรมที่สุดแสนจะโรแมนติกหนุ่มสาวหลายคู่พากันออกมารับไอหนาวและนั่งชมแสงดาวในราตรีที่ปราศจากเงาของพระจันทร์ชนิดที่เรียกว่าขณะที่ตากำลังมองดาวเท้าก็ยังเหยียบทราย


ความงดงามของทะเลหมอกเหนือขุนเขาและป่าไม้เบญจพรรณปกคลุมลงมาจนถึงลำน้ำสาละวิน


 

ผู้คนผ่านไปแล้วแต่ภูเขาและแม่น้ำยังคงอยู่เรื่องราวของการทำไม้และสงครามในดินแดนฝั่งตะวันตกของประเทศยังคงเป็นตำนานติดตรึงอยู่ในความทรงจำของนักเดินทางคนแล้วคนเล่าที่เข้ามาสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งแม่น้ำสาละวินการเดินทางของสายน้ำยังไม่สิ้นสุด ทว่าการเดินทางของคนมาถึงที่สิ้นสุดภาพสุดท้ายของอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาจึงนับเป็นความทรงจำสุดท้ายก่อนการจากลา"สาละวิน" ผมได้แต่หวังในใจว่าสักวันหนึ่งสันติภาพและความสงบสุขคงจะมาเยือนสาละวิน แต่จะอีกนานสักแค่ไหนไม่มีใครกล้าคิด (หมายเหตุ ภาพถ่ายเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๕)




 

Create Date : 12 กันยายน 2555    
Last Update : 12 กันยายน 2555 20:15:02 น.
Counter : 1659 Pageviews.  

ท่านเคยไปดู “พิธีทิ้งกระจาด” ที่วัดพนัญเชิง กันแล้วหรือยัง? บทความ โดย อ.เจริญ ตันมหาพราน



บทความ และภาพถ่ายสะสม โดย อ.เจริญ ตันมหาพราน นักประวัติศาสตร์ชุมชน และนักเขียน

อ้างอิง บทความ

Copy//อีกหนึ่งประเพณีการทำบุญของชาวไทยเชื้อสายจีนที่วัดพนัญเชิงอำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีการปรากฏร่องรอยของตำนานความเป็นมาสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมตามหลักพุทธศาสนามหายานหรือจีนนิกาย ไว้อย่างน่าสนใจ

หลังจากวันสารทจีนผ่านพ้นไปราว ๓วัน บรรดาชาวจีนจะมีงานเทศกาลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องปฏิบัติติดต่อกันยาวนานจนกว่าจะหมดเดือน๗ (จีน) แต่ละสถานที่นิยมจัดงานแห่งละ ๓-๗ วันโดยพิจารณาจากความเหมาะสมและความสะดวกเป็นสำคัญ วัตถุประสงค์ของงานนี้ คือการบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงกัน ผู้คนทั่วไปเรียกเทศกาลนี้ว่า “งานทิ้งกระจาดประจำปี”

พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวเปรียบเทียบการทิ้งกระจาดของจีนกับการชิงเปรตในประเพณีเดือนสิบของภาคใต้ไว้ดังนี้“เรื่องชิงเปรตนี้ดูไม่ผิดอะไรกับเรื่องทิ้งกระจาดของจีนที่เขากระทำในกลางเดือน ๗ ของเขา ซึ่งตรงกับเดือน ๙ ของไทย คือ เขาปลูกร้านยกพื้นสูงนำเอาขนมผลไม้เป็นกระจาดขึ้นไปไว้ข้างบน นอกจากนี้ยังมีของมีราคา เช่นเสื้อผ้าหุ้มคลุมบนเครื่องสานไม้ไผ่คล้ายตะกร้า เมื่อถึงเวลามีเจ้าหน้าที่ ๒-๓คนขึ้นไปประจำอยู่บนนั้น แล้วจับสิ่งของบนร้านโยนลงมาข้างล่างให้แย่งชิงกันเดิมเห็นจะโยนทิ้งลงมาทั้งกระจาด จึงได้เรียกชื่อว่าอย่างนั้น ส่วนเสื้อผ้าโดยส่วนมากเป็นผ้าขาวม้าเขาทิ้งลงมาทั้งตะกร้าที่เอาผ้าติดไว้ ผลไม้และขนมโดยมากเป็นขนมเข่งที่ทิ้งลงมานั้นมีแต่พวกเด็กๆ และผู้หญิงแย่งกันส่วนผู้ชายไม่ใคร่แย่งเพราะคอยแย่งเสื้อผ้าดีกว่าผลไม้และขนมที่ทิ้งลงมานั้นจะแย่งมาได้ก็เหลวแหลกบ้างเป็นธรรมดา แต่เสื้อผ้าที่ทิ้งลงมานี้แย่งกันจนขาดไม่มีชิ้นดีบางทีคนแย่งไม่ทันใจปีนร้านขึ้นไปแย่งกันบนนั้น เจ้าหน้าที่มีน้อยห้ามไม่ไหวคราวนี้ชุลมุนวุ่นวายกันใหญ่ถึงกับร้านทานน้ำหนักไม่ไหวพังลงมาก็เคยมีต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นทิ้งสลากสำหรับเสื้อผ้า ส่วนของอื่นยังคงทิ้งลงให้แย่งกันการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติส่วนการไหว้เจ้าชิดง่วยปั่วหรือสารทกลางปีของเขาเป็นการเซ่นผีปู่บ่าตายาย คือทำบุญให้แก่ญาติที่ตายไป”



หุ่นนักรบโบราณ “ไต่สื่อเอี๊ย” ทำด้วยกระดาษโครงร่างสานด้วยไม้ไผ่ แล้วระบายสีต่างๆให้สวยงาม สูงไม่ต่ำกว่า ๔-๕ เมตร


คตินิยมความเชื่อของคนไทยและคนจีนจะตรงกันอยู่อย่างคือ ในวันสารทของทุกปี ประตูยมโลกจะถูกเปิดออกเพื่อปลดปล่อยให้พวกผีทั้งหลายได้กลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องและรับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลานแต่ดวงวิญญาณเหล่านั้นจะมีอิสรภาพเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งพ้นจากนั้นจะถูกเรียกกลับคืนสู่แดนยมโลกดังเดิมเพื่อไปเสวยกรรมที่เคยสร้างไว้ระหว่างยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นในช่วงนี้ชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษกัน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแต่ยังมีดวงวิญญาณบางดวงที่มีกรรมหนัก จึงมิได้ถูกปลดปล่อย หรือมิฉะนั้นก็เป็นดวงวิญญาณที่อ่อนแออาจถูกผีที่มีพละกำลังแข็งแรงกว่ามายื้อแย่งของเซ่นไหว้ไปวิญญาณบางดวงก็มีความหิวโหย เพราะญาติพี่น้องในโลกมนุษย์ได้เสียชีวิตไปหมดแล้วบางทีอาจเสียชีวิตไปโดยที่ญาติพี่น้องไม่รู้ ผีจำพวกนี้คนจีนเรียกว่า”ฮอเฮียตี๋” จึงมักมาปรากฏกายให้เห็นในระหว่างช่วงเดือนนี้เพื่อขอให้แผ่ส่วนบุญกุศลไปให้

สัญลักษณ์ที่สังเกตได้ง่ายในงานทิ้งกระจาดนอกจากมีกระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้าที่ทำด้วยกระดาษกองโตเท่าภูเขาเพื่อรอเวลานำไปเผาอุทิศไปให้ผู้ล่วงลับแล้วนอกจากนี้ยังมีหุ่นขนาดยักษ์แต่งกายแบบนักรบโบราณ สวมเสื้อเกราะสีทองใบหน้าเขียวคล้ำ ใบหูสองข้างกาง จมูกโต ตาพองมีเขี้ยวโผล่ออกมานอกปากอยู่ปลายริมฝีปากทั้งสอง ขนคิ้วเป็นเปลวเพลิงกำลังโชติช่วงอีกทั้งยังมีเปลวไฟพวยพุ่งออกมาจากปากด้วย

หุ่นนักรบโบราณขนาดยักษ์นี้ทำด้วยกระดาษโครงร่างสานด้วยไม้ไผ่ แล้วระบายสีต่างๆให้สวยงาม โดยจะมีส่วนสูงไม่น้อยกว่า ๔-๕เมตร ถ้าเปรียบเทียบกับความสูงของคนทั่วไปแล้ว จะมีขนาดใหญ่กว่า ๓-๔ เท่าบางแห่งก็สร้างหุ่นเล็กๆ พอเป็นพิธี ชาวจีนต่างขนานนามหุ่นนักรบโบราณตนนี้ว่า “ไต่สื่อเอี๊ย”

การตั้งหุ่นนักรบไต้สื่อเอี้ยเพราะต้องการเป็นสิ่งสมมุติแทนองค์พระโพธิสัตว์ทะเลใต้หรือเจ้าแม่กวนอิมซึ่งตรงกับพระอวโลกิเตศวรของไทย มีหน้าที่คอยควบคุมบรรดาผีที่ออกจากยมโลกให้กระทำการอยู่ในขอบเขตอันควรเพื่อป้องกันดวงวิญญาณที่มาเที่ยวบนโลกมนุษย์เพลินจนลืมกลับสู่ยมโลก



หุ่นนักรบโบราณ “ไต่สื่อเอี๊ย” สื่อถึงพระโพธิสัตว์หรือเจ้าแม่กวนอิมซึ่งแปลงพระวรกายเป็นอสูรร้ายทำหน้าที่คอยควบคุมบรรดาผีที่ออกจากยมโลกและพากลับสู่ยมโลก

นอกจากนี้ยังมีหุ่นกระดาษขนาดเล็กอีกสองตัว

หุ่นตัวแรกมีลักษณะคล้ายผู้สูงอายุ มีหนวดเคราสีขาว ใบหน้าเกลี้ยงสวมเสื้อผ้ามิต่างจากตัวละครในงิ้วจีน ในมือถือไม้เท้าคอยพยุงกายซึ่งเป็นตัวแทนของพระภูมิเจ้าที่ พวกคนจีนเรียกกันว่า “แป๊ะกง”

หุ่นตัวที่สองหนุ่มกว่าแป๊ะกง สวมอาภรณ์ในชุดดำ สวมหมวกทรงกลมสูง ใบหน้าดำ แก้มแดงในมือถือแส้และโซ่ตรวน คอยควบคุมดวงวิญญาณทั้งหลาย มีชื่อเรียกกันว่า"เฮ็กบ่อเซี้ย" ซึ่งหมายถึง "ยมทูต"มีหน้าที่คุมบัญชีรายชื่อผู้ตายและนำทางไปจับกุมดวง วิญญาณกลับไปจากโลกมนุษย์

อาณาบริเวณที่ตั้งหุ่นกระดาษเหล่านี้ถูกสมมติให้เป็นอาณาเขตแห่งผีไม่มีญาติไม่ว่าผู้ใดจะอธิษฐานจิตและถวายของใดไปให้กับผู้ตายย่อมตกทอดไปถึงยังผู้ตายที่ยมโลกอย่างครบถ้วนเพราะมีท้าวยมราชและไต้สื่อเอี้ยคอยดูแลให้



บริเวณที่ตั้งหุ่นกระดาษถูกสมมติให้เป็นอาณาเขตแห่งผีไม่มีญาติเพื่อให้คนได้อธิษฐานจิตถวายของ เช่น กองกระดาษเงินกระดาษทองที่จะอุทิศให้กับผู้ตายที่อยู่ในยมโลก

บางท่านอาจเกิดมีความสงสัยว่าเพราะเหตุใดองค์พระโพธิสัตว์จึงต้องจำแลงกายเป็นยักษ์ด้วยซึ่งตำนานได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เมื่อพระโพธิสัตว์ได้รับเทวบัญชาจากองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ให้นำสาส์นของผู้เป็นใหญ่แห่งเทพไปอ่านให้บรรดาดวงวิญญาณในนรกภูมิฟังให้ทราบถึงเวลาที่ถูกปลดปล่อยให้มาอยู่บนเมืองมนุษย์ อีกทั้งคอยควบคุมดูแลดวงวิญญาณเหล่านี้มิให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้มนุษย์เดือดร้อนแต่การที่จะไปปรากฏกายในร่างของพระโพธิสัตว์ที่ทรงเปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัยเมตตาแล้วบรรดาดวงวิญญาณคงหาเกรงกลัวไม่ จึงจำเป็นต้องแปลงพระวรกายเป็นอสูรร้ายมีใบหน้าที่เหี้ยมเกรียม ร่างสูง ดังที่เห็นเป็นร่างหุ่นไต้สื่อเอี้ย”

สำหรับทางด้านของพุทธประวัติก็มีส่วนที่มาของงานทิ้งกระจาดนี้เช่นกันจึงขอนำมาเปรียบเทียบเป็นการประดับความรู้ไว้สักนิด



ร้านยกพื้นสูง เดิมสร้างจากไม้แต่เมื่อคนแย่งปีนกันขึ้นไปรับของบริจาค ทำให้พังลงมาบ่อยครั้ง จึงได้รับการก่อสร้างให้มีความแข็งแรงโดยจะนำของบริจาคใส่กระจาดขึ้นไปไว้ข้างบน แล้วโยนลงมาข้างล่างให้แก่ผู้ยากไร้

ในสมัยพุทธกาลขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธารามอารามที่พระญาติสร้างถวายพระพุทธเจ้า อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์วันหนึ่งขณะที่บรรดาพระพุทธสาวกได้นั่งห้อมล้อมพระศาสดาเพื่อคอยสดับฟังพระธรรมเทศนาโดยมีพระอานนท์เพียงรูปเดียวที่เร้นกายไปอยู่ในที่สงัดเงียบ เพื่อนั่งบำเพ็ญสมาธิครั้นเวลาดึกพระอานนท์ได้แลไปเห็นอสุรกายตนหนึ่ง มีเปลวเพลิงพุ่งออกมาจากปากลำคอเล็กเท่ารูเข็ม ผมบนศีรษะรุงรัง ร่างกายซูบผอมเหี่ยวแห้ง มีแค่หนังหุ้มกระดูกอีกทั้งยังมีเขี้ยวงอกออกมาจากปาก ดูน่าสะพรึงกลัวยิ่งนักอสุรกายตนนั้นได้มายืนอยู่ที่ตรงเบื้องหน้าพระอานนท์พร้อมกับพนมมือบอกแก่พระอานนท์ว่า “อีกสามราตรี ท่านอานนท์ก็จะถึงแก่กาลมรณภาพแล้ว และจะต้องไปอยู่ในหมู่อสุรกายดังเช่นตัวของข้าพเจ้าเวลานี้”

เวลานั้นพระอานนท์ยังมิได้สำเร็จพระอรหันต์เมื่อได้ฟังอสุรกายตนนั้นบอกพระผู้เป็นเจ้ายังมีความเกรงกลัวต่อมรณภัยที่จะมีมาถึงจึงได้ถามอสุรกายตนนั้นถึงวิธีแก้ไข จนได้รับคำแนะนำว่า "ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอยากจะพ้นจากกองทุกข์นั้นไซร้ ควรกระทำพิธีพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาและบริจาคทานให้แก่บรรดายาจกเข็ญใจที่อดยากแล้วแผ่ผลบุญกุศลไปให้พวกอสุรกายทั้งหลาย ท่านก็จะได้มีอายุยืนยาวส่วนอสุรกายทั้งปวงจะได้พึ่งกุศลผลบุญที่ท่านอุทิศให้อาจจะพ้นจากกองทุกข์ไปสู่แดนสุคติได้โดยพลัน”



พระสงฆ์จีนนิกายกำลังประกอบพิธีสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้ผีไร้ญาติที่มาร่วมรับส่วนบุญในงานทิ้งกระจาด

พระอานนท์ได้ฟังอสุรกายตนนั้นชี้แจงดังกล่าวจึงได้นำความทั้งปวงไปกราบทูลต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างครบถ้วนทุกกระบวนความพร้อมกับขอให้พระพุทธองค์ได้ช่วยเหลือแนะนำพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพุทธวจนะแก่พระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ เธออย่าได้มีความวิตกหวาดกลัวเลย เราตถาคตจะชี้ทางให้เธอจงบริจาคทานให้แก่พวกพราหมณ์ยากจนมากที่เมืองกบิลพัสดุ์นี้แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่พวกอสุรกายให้พ้นจากทุกข์ดังกล่าว แต่การที่จะบริจาคทานให้ทั่วถึงนั้นกระทำได้ยากมากเพราะพวกอสุรกายได้สร้างกรรมไว้มาก จึงไม่สามารถจะบริโภคได้ต้องตั้งพิธีประชุมอริยสงฆ์เจ้าทั้งหลายมาเจริญพระคาถาที่ชื่อว่า"ถึกยือล่าย" ด้วยอำนาจของพระคาถานี้อาจทำบุญได้ทั่วถึงในหมู่อสุรกายทั้งหลายได้ ส่วนอานนท์ก็จะได้มีอายุยืน”

เมื่อพระอานนท์เถระเจ้าได้สดับฟังพระพุทธวาจาแล้วพระผู้เป็นเจ้าจึงได้จัดหาเครื่องสักการะบูชาและเครื่องอุปโภคบริโภคเมื่อพร้อมแล้วพระผู้เป็นเจ้าก็ตั้งพิธีสันนิบาตพุทธจักร ณ ที่อันควรกระทำการสักการะบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้าโดยมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานในการนี้หลังจากพระอานนท์เถระเจ้าบริจาคทานและอุทิศส่วนกุศลไปให้หมู่อสุรกายในครั้งนั้นจึงบันดาลให้หมู่อสุรกายทั้งหลายได้รับผลทานครั้งนี้อย่างทั่วถึง แล้วไปสู่สุคติ



ผู้คนที่หลั่งไหลมาร่วมทำบุญที่วัดพนัญเชิงในงานประเพณีทิ้งกระจาด

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้มีพุทธวจนะแก่พระอานนท์ว่า"ดูกรอานนท์ เธอจงรู้เถิดว่า เราตถาคตจะแสดงให้ทราบ เมื่ออดีตกาลล่วงมาแล้วครั้งนั้นเราตถาคตเกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์สำนักพระโพธิสัตว์ทรงนามว่า"กวางตือต่ายโบ๊ด๊าก" (พระอวโลกิเตศวร) ได้เคยทำพิธีบริจาคทานแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง และอสุรกายที่มาบอกแก่พระอานนท์นั้นก็คือ "เหญี่ยมโข๊ว"หรือองค์พระโพธิสัตว์แบ่งภาคมาปรากฏนั่นเองปรารถนาจะโปรดทั้งมนุษย์และสัตว์ทั่วไปด้วยพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตาอุเบกขา ส่วนที่ได้แบ่งภาคมาบอกแก่พระอานนท์นั้นมีจุดประสงค์จะให้พระอานนท์เป็นต้นแห่งการบริจาคทานในกาลต่อๆ มา”


การเผาหุ่นนักรบโบราณไต้สื่อเอี้ยพร้อมกับกองกระดาษเงินกระดาษทองให้เป็นเถ้าถ่านเพื่ออุทิศบุญกุศลส่งไปให้ผีไร้ญาติที่ปรโลก

แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรตชิงเปรตของไทยเพียงบางส่วนกล่าวคือ การตั้งเปรต-ชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต)ทั้งที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วยส่วนการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่ญาติเท่านั้นและสิ้นสุดลงด้วยการเผาหุ่นนักรบโบราณไต้สื่อเอี้ยพร้อมกับกองกระดาษเงินกระดาษทองให้เป็นเถ้าถ่าน เพื่ออุทิศส่งไปให้ยังปรโลก




 

Create Date : 07 กันยายน 2555    
Last Update : 7 กันยายน 2555 21:53:02 น.
Counter : 2847 Pageviews.  

1  2  

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.