ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ไปกันบ่อย แต่ไม่ทราบว่า พอทราบเรื่องราว วัดพระธาตุหริภุญชัย กันหรือยัง?


บทความเรื่อง :วัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดย เจริญ ตันมหาพราน

บทความเรื่อง : วัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดย เจริญตันมหาพราน

วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไปทั้งยังเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้เกิดปีระกาแต่เดิมนั้นเป็นหนึ่งในแปดพระธาตุที่กษัตริย์ล้านนาทุกพระองค์จะต้องมาสักการะบูชาเมื่อได้ขึ้นครองราชย์โดยมีตำนานการก่อสร้างพระธาตุดังนี้

เมื่อครั้งพุทธกาลสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้นได้เล็งเห็นด้วยญาณว่ามีสถานที่แห่งหนึ่งเลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือในอนาคตจะมีพระธาตุอุบัติขึ้นผู้คนทั้งหลายจะพากันไปชุมนุมกันที่นั้นอันจะส่งผลให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองยาวนาน พระพุทธองค์จึงได้เสด็จมาพร้อมกับพระอานนท์พระโสณะและพระอุตระ

เมื่อเสด็จมาถึงชัยภูมิแห่งหนึ่งตรงบริเวณที่จะมีพระธาตุอุบัติขึ้นเพียงแค่พระศาสดาทรงมีพระประสงค์ประทับนั่งบนพื้นดินที่ราบเรียบก็มีศิลาก้อนหนึ่งโผล่ขึ้นมาเพื่อให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งและวางบาตร ในช่วงเวลาเดียวกันท้าวชมพูนาคราชโผล่ขึ้นมาจากใต้พิภพพญากาเผือกก็บินมาจากป่าหิมพานต์เข้ามาอุปัฏฐาก (รับใช้) พระพุทธเจ้าส่วนพรานป่าชาวลัวะผู้หนึ่งพอทราบว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาในละแวกนั้นจึงได้นำผลสมอมาถวายพระพุทธเจ้าได้เสวยสมอผลนั้นแล้ว เม็ดที่เหลือก็ทิ้งลงบนดินปรากฏเป็นสิ่งอัศจรรย์ขึ้นเม็ดสมอหมุนดังประทักษิณาวรรตพระศาสดา ๓ รอบ

ฝ่ายพระอานนท์ได้เห็นดั่งนั้น จึงทูลถามเหตุนิมิตจากพระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาทรงแย้มพระโอษฐ์ แล้วตรัสเป็นพุทธทำนายว่า ดูก่อนอานนท์พระพุทธเจ้าอุบัติมาแต่ละพระองค์ย่อมมีสุวรรณเจดีย์องค์ละหลังหลังจากเราตถาคตนิพพานไปแล้ว ในฐานะที่นี้จะมีพระนครหนึ่งชื่อว่า“นครหริภุญชัย” จักเป็นที่ตั้งแห่งสุวรรณเจดีย์บรรจุธาตุกระหม่อมอุรังคธาตุ ธาตุดูกนิ้วและธาตุย่อยจะมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ “เมื่อใดพรานป่าผู้ที่นำผลสมอมาถวายเราตถาคต อานิสงส์จะจุนเจือให้ไปจุติเป็นพระยาอาทิตยราชเสวยนครหริภุญชัยเมื่อนั้นธาตุตถาคตจะออกมาปรากฏตั้งอยู่ในฐานะที่นี้เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย โดยมีพระยาอาทิตยราชเป็นประธานสิ้นกาลอันช้านานแล”

เมื่อสิ้นพุทธพยากรณ์ของพระบรมศาสดาแล้ว พระอรหันต์สาวก ท้าวชมพูนาคราชและพญากาเผือกต่างพร้อมใจกันกราบทูลขอ“พระเกศาธาตุ”จากพระพุทธเจ้าองค์พระศาสดาใช้พระหัตถ์ขวาลูบพระเศียรได้“พระเกศาธาตุ”เส้นหนึ่งยื่นประทานให้ พระอรหันต์ ท้าวชมพูนาคราชพญากาเผือกได้ช่วยกันนำพระเกศธาตุเส้นนั้นใส่กระบอกไม้รวกบรรจุใส่โกศแก้วใหญ่ที่พระอินทร์เนรมิตให้แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำใต้ศิลาที่ประทับนั่งจากนั้นศิลาที่ประทับนั่งก็จมลงสู่ใต้พื้นดินดังเดิม

ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าและอรหันต์สาวกพากันกลับสู่เมืองพาราณสีไปท้าวชมพูนาคราชและพญากาเผือกที่ได้ยินพุทธทำนาย ต่างพากันปลื้มปีติยิ่งนักโดยท้าวชมพูนาคราชได้ขอให้เจ้าปู่เตโคและเจ้าปู่สุริโยบริวารแห่งท้าวเวสสุวรรณช่วยปกปักรักษาส่วนพญากาเผือกได้แต่งตั้งกาผู้เป็นหลานตัวหนึ่งพร้อมกับกาบริวารช่วยกันเฝ้ารักษาที่นั้นไว้เพื่อป้องกันมิให้คนหรือสัตว์มาสร้างความสกปรกได้

กาลเวลาล่วงมาถึง พ.ศ.๑๔๔๐ นครหริภุญชัยได้มีการเปลี่ยนเจ้าผู้ครองนครองค์แล้วองค์เล่าจนกระทั่งในสมัยพระยาอาทิตยราช กษัตริย์ลำดับที่ ๓๓ ขึ้นปกครองชาวเมืองหริภุญชัยโดยมีนางปทุมวดีเป็นพระมเหสีและเกิดศึกสงครามกับกรุงละโว้หลายครั้งแต่ด้วยพระบรมเดชานุภาพ ทำให้ศัตรูปราชัยทุกครั้งไป จึงได้ดำริสร้างปราสาทราชมณเฑียรไว้เป็นการเฉลิมพระเกียรติแล้วปลูกสร้างหอจัณฑาคารที่ลงพระบังคน(ถ่ายทุกข์หนักและเบา)ไว้ที่ใกล้ปราสาทนั้นโดยที่ไม่มีอำมาตย์ผู้ใดทราบความเป็นมาแต่ทุกครั้งที่พระยาอาทิตยราชเสด็จลงพระบังคนที่หอนั้นกาที่ทำหน้าที่เฝ้ารักษาพระธาตุไว้ มักบินมารบกวนเป็นที่น่ารำคาญอยู่เสมอเพื่อมิให้เสด็จไปใช้หอจัณฑาคารได้ จนพระยาอาทิตยราชทรงกริ้วและรำพึงว่า“กูจะใช้หอจัณฑาคารคราใด เหตุไฉนกาตัวนี้ต้องบินผ่านหน้ากูถึง ๒-๓ ครั้งมิให้กูไปใช้หอจัณฑาคารได้ ชะรอยจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะที่นี้เป็นแน่” พระยาอาทิตยราชมีรับสั่งให้อำมาตย์ราชบุรุษช่วยกันทำบ่วงคล้องจักตัวตัวนั้นให้ได้ฝ่ายไพร่พลได้พยายามใช้เครื่องดักต่างๆจับกาตัวนั้นอยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จจนเป็นที่ประหลาดพระทัยยิ่งนักจึงมีรับสั่งให้กระทำการบวงสรวงเทพยดาที่เฝ้ารักษาพระนครช่วยดลบันดาลให้จับกาตัวนั้นให้ได้ พอบรรดาเทพยดาอารักษ์ได้รับการบวงสรวงก็ดลบันดาลให้กาตัวนั้นถูกจับอย่างง่ายดาย

ครั้งแรกพระยาอาทิตยราชดำริจะสังหารกาตัวนั้นทันทีแต่ก็ยังคลางแคลงพระทัยอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ระงับการสังหารหาไว้ก่อนแล้วขังรอเวลาการตัดสินพระทัยอีกครั้งหนึ่ง ราตรีกาลนั้นขณะที่พระยาอาทิตยราชยังบรรทมอยู่ในที่สิริไสยาสน์เทพยดาที่รักษาพระธาตุของพระพุทธเจ้ามาเข้าสุบินนิมิตว่า“ถ้าพระองค์ใคร่ทรงทราบเหตุที่มีอยู่ใน”ฐานะ“ที่นี้ไซร้ให้พระองค์จงทรงนำทารกที่เกิดได้ ๗ วันมาไว้อยู่ใกล้กา ๗ วันแล้วนำออกมาไว้กับคน ๗ วัน สลับกันเช่นนี้นานประมาณ ๗ ปีแล้วให้พระองค์มีรับสั่งให้เด็กน้อยนั้นถามกาดู พระองค์ก็จะทรงทราบเหตุที่มีอยู่ใน“ฐานะ” ที่นี้อย่างแท้จริง”

ครั้นพระยาอาทิตยราชทรงตื่นจากบรรทมจึงมีรับสั่งให้จัดหาทารกเกิดใหม่มากระทำตามคำเล่าของเทพยดาบรรดาอำมาตย์ราชบุรุษรับสนองพระบรมราชโองการ นำความนี้ไปปฏิบัติตามทุกประการกาลเวลาผ่านไปครบ ๗ ปี ทารกน้อยเจริญเติบโตขึ้นก็รู้ภาษากาพระยาอาทิตย์ราชมีรับสั่งให้เด็กน้อยถามกาดูเรื่องราวครั้งหนหลังที่สร้างความขุ่นเคืองพระทัยกาผู้เฝ้ารักษาพระธาตุได้ยินเด็กน้อยถามก็ได้อธิบายว่า“อันสถานที่พระองค์ได้ทรงสร้างหอจัณฑาคารนั้น เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระเกศธาตุอุรังคธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตกาลพญากาเผือกผู้เป็นอัยกาของข้าพเจ้านี้ ได้สั่งให้อยู่เฝ้ารักษาสถานที่นี้คอยป้องกันมิให้ผู้คนและสัตว์มาทำสกปรก พระองค์ไม่ทราบว่าเป็นที่มงคลจะมาลงพระบังคนกระทำให้ไม่สะอาด ตัวข้าจึงต้องทำการขัดขวางทุกครั้งไป” พระยาอาทิตยราชได้สดับคำทั้งหมด ก็ทรงมีพระหฤทัยโสมนัสยิ่งนัก จึงตรัสว่า“หากเป็นเช่นนั้น เจ้าจงไปเชิญพญากาเผือกมาเถิด”

กาตัวนั้นได้บินไปสู่ป่าหิมพานต์เพื่อพาพญากาเผือกผู้เป็นปู่มาเฝ้าพระยาอาทิตยราช โดยแจ้งแก่พญากาเผือกว่า“พระยาอาทิตยราชให้ข้ามาเชิญปู่ไป ณ บัดนี้” ต่อจากนั้นกาหนุ่มสองตัวก็คาบท่อนไม้ตัวละข้างให้พญากาเผือกจับเกาะตรงกลางท่อนไม้นั้น มีกา ๕๐๐ ตัวเป็นบริวารบินนำไปเบื้องหน้าตามหลัง ๕๐๐ ตัว ข้างขวา ๕๐๐ ตัว ข้างซ้าย ๕๐๐ ตัว เบื้องบน ๕๐๐ ตัว เบื้องต่ำ ๕๐๐ตัวพากันบินมาสู่ปราสาทพระยาอาทิตยราช ณ นครหริภุญชัยในวันนั้น

พระยาอาทิตยราชทรงให้พระยากาเผือกจับอยู่ที่อาสนะทองคำกระทำสักการะพญากาเผือกแล้ว เลี้ยงข้าวน้ำโภชนาหารแก่หมู่กาอันเป็นบริวารเสร็จแล้วให้เด็กน้อยถามพญากาเผือก พญากาเผือกได้เล่าถึงเหตุการณ์หนหลังให้ทรงทราบทุกประการและแสดงธรรมแก่พระยาอาทิตยราช เมื่อพระยาอาทิตยราชทรงสดับฟังถ้อยคำทั้งมวลแล้วพระหฤทัยบังเกิดชื่นชมยินดีนักโปรดให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายรื้อปราสาทราชมณเฑียรของพระองค์ออกไปเสียจากที่นั้นชำระมลทินนำดินที่ไม่ดีไปทิ้งที่นอกพระนคร แล้วนำดินที่ดีมาถมสถานที่บริเวณนั้นกระทำเป็นปริมณฑลรอบกว้าง ๓๐ วาโปรยด้วยทรายและข้าวตอกดอกไม้ให้หนาได้หนึ่งศอก ประดับประดาด้วยสุคนธชาติ ของหอมประดับโคมไฟล้อมรอบทั้งสี่ด้านจักแต่งเมืองหริภุญชัยให้งดงามเหมือนดั่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ต่อมาพระยาอาทิตยราชได้ประกาศให้ชาวเมืองทราบทั่วกันทำให้ทุกคนตื่นเต้นเป็นการใหญ่ ต่างปรารถนามาร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุทั้งสิ้นทุกคนเตรียมดอกไม้ธูปเทียนมาอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อตระเตรียมทุกอย่างครบถ้วนชาวหริภุญชัยต่างคุกเข่าลง ยกมือตั้งไว้เหนือกระหม่อมน้อมนมัสการ โดยมีพระยาอาทิตยราชเป็นประธานนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระปริตรมงคลอันเป็นที่ชอบใจแก่เทพยดา เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและมหาสมัยสูตร เป็นต้นพระยาอาทิตยราชร่วมกับพญากาเผือก ได้ช่วยกันอ้อนวอนอาราธนาขอให้ “พระธาตุของพระพุทธเจ้า” ได้โปรดเสด็จออกมาปรากฏให้เห็น

ในขณะนั้นธาตุของพระพุทธเจ้าก็พาทั้งโกศออกมาพ้นแผ่นดินแล้วเหาะขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศสูงประมาณช่วงต้นกาลเปล่งฉัพพรรณรังสีแผ่กระจายไปทั่วนครหริภุญชัย พระยาอาทิตยราช พญากาเผือกชาวหริภุญชัยทั้งมวลได้เห็นดังนั้น ก็มีใจอิ่มเอิบชื่นชมโสมนัสกระทำการสักการบูชาและเปล่งเสียงสาธุการ ธาตุของพระพุทธเจ้าได้ลอยอยู่ในอากาศนานถึง๗ วัน ค่อยเสด็จลงประดิษฐานบนแผ่นดินเหมือนเดิมพระยาอาทิตยราชมีรับสั่งให้คนขุดเอาโกศธาตุและธาตุพระพุทธเจ้ายิ่งขุดลึกลงไปเท่าใด ธาตุและโกศพระธาตุก็เลื่อนไหลลงไปเท่านั้นพระองค์จึงทรงทำการสักการบูชาขออาราธนา ฉับพลันนั้นพระธาตุก็พาทั้งโกศผุดโผล่ออกจากในดินขึ้นมาสูงได้๓ ศอก เปล่งฉัพพรรณรังสีสุกสว่างไปทั่วเมืองเสมอดั่งสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่และทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ฉันนั้น

พระยาอาทิตยราชมีพระทัยโสมนัสยิ่งนักจึงให้บรรเลงดุริยางค์สมโภชพระธาตุพระพุทธเจ้าตลอด ๗ วัน ๗ คืนอีกทั้งทรงสั่งให้หาช่างทองคำมาทำโกศทองคำลูกหนึ่ง มีน้ำหนัก ๓,๐๐๐ คำ(บาท) สูง ๓ ศอก ประดับด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการครอบโกศพระธาตุพระพุทธเจ้าที่พระอินทร์นำเอาลงในครั้งกระโน้นส่วนช่างทั้งหลายได้สร้างปราสาทหลังหนึ่ง มี ๔ เสา มีโขง(ประตูโค้ง)ทั้ง ๔ ด้านสูง ๑๒ ศอก ปราสาทหลังนี้ก่อด้วยอิฐดิน อิฐเงิน อิฐทองคำ แต่ละก้อนมีน้ำหนัก ๑,๕๐๐ วิจิตรด้วยรัตนะ ๗ ประการ สร้างครอบโกศทองคำอีกชั้นหนึ่งแล้วพระองค์ก็ทรงกระทำการสักการบูชาและถวายทานเป็นอันมากได้ทรงถวายทานทาสไว้ปฏิบัติพระธาตุจำนวน ๔ ครัวเรือน พญากาเผือกก็แนะนำให้พระยาอาทิตยราชดำรงอยู่ในศีล๕ และอุโบสถแล้วก็อำลากลับคืนสู่ป่าหิมพานต์ อันเป็นที่อยู่แห่งตนในวันนั้นแล

นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระบรมธาตุหริภุญชัยกลายเป็นปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดลำพูนที่เก่าแก่ที่สุดเพราะสร้างมานานถึง ๑,๐๙๗ ปี แม้จะสร้างในสมัยพระยาอาทิตยราชแต่ก็มีการเสริมสร้างต่อๆ กันมาทั้งองค์พระเจดีย์และถาวรวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระเจดีย์ตลอดมาตามลำดับเมื่อถึงวันวิสาขะบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (ตรงกับเดือน ๖ในภาคกลาง) อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวลำพูนจะจัดงานสมโภชพระธาตุขึ้นทุกปีโดยเรียกงานนี้ว่า “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจ้า ๘ เป็ง” นับว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดลำพูน

น้ำที่นำมาสรงพระธาตุฯ เป็นน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาร่วมรวมกับน้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูนโดยน้ำทิพย์นี้ตักมาจากบ่อลึกบนภูเขาสูง บ่อนี้ไม่มีใครทราบจะลึกสักเท่าใดเพราะหยั่งไม่ถึง เหตุที่ชาวลำพูนเชื่อกันว่าเป็นน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากมีกฎข้อห้ามว่า ผู้ที่เป็นสตรีเพศห้ามเข้าใกล้ผู้ใดฝ่าฝืนน้ำจะกลายเป็นน้ำเน่ามีหนอนขึ้นทันทีจนกว่าจะนิมนต์พระภิกษุขึ้นไปสวดชัยมงคลคาถา น้ำทิพย์ก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิมนอกจากนั้นมีน้ำสุคันธ์ (น้ำหอม) ของประชาชนที่ศรัทธาพากันหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศโดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีระกา โบราณจารย์ถือว่าพระธาตุหริภุญชัยเป็นที่บรรจุดวงของเขาดังนั้นคนที่เกิดปีระกาควรหาโอกาสมากราบนมัสการพระธาตุหริภุญชัยให้จงได้จะบังเกิดเป็นสิริมงคลแก่ตนเองอย่างยิ่งใหญ่

คำไหว้พระธาตุหริภุญชัย อะหัง วันทามิ สุวัณณะเจติยัง หริภุญชัยฏฐัง วรโมลีธารัง อุรัฏฐิ เสฏฐัง สหอังคุลิฏฐ กจจายเนนานิตปัตตะปูรัง สีเสนะ มัยหัง ปณมามิธาตุอะหัง วันทามิ สัพพทา สิริสา นะมามิฯ ของทำบุญประจำปีเกิด คนเกิดปีระกา(ไก่)สร้างเว็จจะกุฎี เป็นทาน ผู้ว่าฯ ลำพูนอัญเชิญนํ้าพระราชทาน สรงพระบรมธาตุหริภุญชัยนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนอัญเชิญน้ำสรงพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมพระราชปัญญาโมลี รักษาการเจ้าคณะจังหวัดลำพูนและเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย ประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีเปิดงานสรงน้ำพระบรมธาตุฯ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดจนประชาชนและนักท่องเที่ยวมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น

ทั้งนี้ การจัดพิธีสรงน้ำ พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย เป็นการสักการะพระบรมธาตุซึ่งเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ โบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวลำพูนเพราะประชาชนชาวจังหวัดลำพูนถือว่าเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นเสาหลักเมืองเมื่อทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย จึงเท่ากับได้ทำบุญเสาหลักเมืองลำพูนพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยถือเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งของจังหวัดลำพูนเป็นจอมเจดีย์องค์หนึ่งในจำนวนแปดแห่งของประเทศไทย

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่เป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดลำพูน และจังหวัดใกล้เคียง ประเพณีนี้ยึดถือและปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปีสำหรับประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือหรือที่ชาวเหนือเรียกว่าวันแปดเป็ง (ราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ของภาคกลาง) หรือวันวิสาขบูชา จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๙ ค่ำ เป็นต้นไป ในส่วนของทางวัดจะมีการเตรียมงานและกิจกรรมที่จัดขึ้นถึง๗ วัน ๗ คืน ได้แก่ การแข่งขันตีกลองหลวง การแข่งขันกลองบูชาการประกวดฟ้อนพื้นเมือง การประกวดจัดโต๊ะหมู่บูชา โคมวิสาขะซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ พ.ค.-๕ มิ.ย.๒๕๕๕




Create Date : 16 สิงหาคม 2555
Last Update : 18 สิงหาคม 2555 9:22:27 น. 1 comments
Counter : 972 Pageviews.

 
ดีมากค่ะ ชอบค่ะ


โดย: รักติบูล IP: 118.174.110.106 วันที่: 18 สิงหาคม 2555 เวลา:17:28:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.