จักรยานปฏิวัติเมือง รวมเรื่องของทางจักรยานและการออกแบบเมือง

เพนาโลซ่า ชายผู้เกิดมาเพื่อฆ่ารถยนต์

เมื่อได้รู้จักประวัติและผลงานของเขานายเอนริเก้ เพนาโลซ่า คนนี้แล้ว คราวนี้เราลองมาเรียนรู้ถึงมุมมองและแนวความคิดในการพัฒนาเมืองของเขาบ้างนะครับ เพื่อที่ว่าเราจะได้เอาไว้เป็นแบบอย่างพัฒนาบ้านเราให้เจริญก้าวหน้าให้โลกเค้าได้รับรู้กันบ้าง ไม่ใช่มุ่งหน้ากันแต่ตั้งงบฝังท่อ ขุดถนน ถมคลอง ขยายถนน จนบ้านเมืองเราแทบจะกลายเป็นประเทศล้าหลังทางแนวคิดการพัฒนาเมืองอยู่รอมร่อแล้ว นครโบโกต้าก่อนที่นายคนนี้จะมาเป็นนายกเทศมนตรีนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความแออัด สกปรก เต็มไปด้วยการขายยาเสพติด ปล้น จี้ ประชากรไม่มีความปลอดภัย แต่เมื่อเขามาเป็นนายกเทศมนตรีนั้นเขาสามารถเปลี่ยนเมืองเขาได้อย่างไร เราต้องมาศึกษาแนวคิดของเขากันครับ





การบูรณาการทางสังคมและความเสมอภาค
เมื่อเป็นนายกเทศมนตรี เพนาโลซ่าให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเสมอภาคในการเข้าถึงผลของการพัฒนาเมืองมากที่สุด นั่นก็คือโครงการพัฒนาด้านต่างๆของเมืองนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในเมืองอย่างแท้จริง เพนาโลซ่า วางแผนและกำหนดนโยบายในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในเมืองใหม่โดยต้องให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของประชาชนทุกคนที่จะมีสิทธิ์รับบริการด้านสาธารณูปการจากเทศบาล การมีพื้นที่สาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต เพนาโลซ่าเชื่อว่า พื้นที่สาธารณะคือหนึ่งเดียวในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนในเมืองมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน ไม่เกี่ยวข้องว่าประชากรผู้นั้นจะมีฐานะอย่างไร(เรียกว่าจนหรือรวยก็ย่อมมีสิทธิ์ใช้พี้นที่สาธารณะด้วยกัน เท่าเทียมกัน) เพนาโลซ่าอธิบายว่า “ การมีพื้นที่สาธารณะคุณภาพสูงสำหรับคนเดินเท้าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยของเมือง” เมื่อมีพื้นที่สาธารณะมากขึ้นประชาชนจะเข้าใจถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน เกิดการบูรณาการทางสังคมมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้เกิดกลุ่มคนที่มีจิดสำนึกที่จะสร้างสังคมและชุมชนของตนให้เข้มแข็ง





วันปลอดรถ Car-Free Days
ในวันนี้เมืองทั้งเมือง(ที่มีประชากร 6.5 ล้านคน)จะไม่อนุญาตให้รถยนต์วิ่งบนพื้นที่ถนน ถนนจะถูกปิดเพื่อให้โอกาสกับประชากรคนอื่น(ที่ไม่มีปัญญามีรถยนต์)ได้มีสิทธิ์ใช้งานด้วย(แม้จะแค่วันเดียว) กลายเป็นถนนสำหรับประชาชนทุกคนที่จะมาเดิน ขี่จักรยาน พูดคุย สังสรรค์ นั่งเล่น เต้นแอโรบิค เล่นดนตรี สารพัดกิจกรรมนันทนาการที่ใครอยากจะทำอะไรก็สรรหามาทำไป (ไม่เหมือนบางเมืองในบางประเทศที่บอกว่าเป็นคาร์ฟรีเดย์ แล้วผู้ว่าราชการกับนายกเทศมนตรีก็ออกมาขี่จักรยานตั้งท่าถ่ายรูป พอได้เป็นผลงาน แล้วก็เลิกรากันไป ถนนก็ยังเป็นถนนสำหรับรถยนต์อยู่ต่อไป ประชาชนก็ไม่มีอนาคตที่จะได้เมืองดีๆเช่นโบโกต้านี้เลย) เพนาโลซ่า เป็นต้นคิดในการดำเนินกิจกรรมนี้ในปี 2001 โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้และประโยชน์ของการใช้การจราจรรูปแบบอื่นนอกเหนือจากรถยนต์ ส่งเสริมให้ประชาชนได้เดิน ขี่จักรยาน และที่สำคัญเขาต้องการต่อสู้กับค่านิยมที่ว่า “จักรยานคือพาหนะของคนจน” กิจกรรมนี้ได้รับความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เกิดการตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ให้มีรถยนต์บนถนนในเมืองโบโกต้าในช่วงเวลาเร่งด่วนระหว่างวัน ภายในปี 2015







 

Create Date : 30 กันยายน 2551   
Last Update : 30 กันยายน 2551 21:34:51 น.   
Counter : 1282 Pageviews.  

เอนริเก้ เพนาโลซา ผู้สร้างจิตวิญญาณแห่งเมืองของคนไม่ใช่รถยนต์

วันนี้ขอแนะนำให้รู้จักกับชายท่านหนึ่งครับ ชื่อ เอนริเก้ เพนาโลซา (Enrique Penalosa) เป็นคนอเมริกันโคลัมเบียครับ เกิดที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เป็นทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักเขียน นักคิด เคยเป็นนายกเทศมนตรีนคร โบโกตา ประเทศโคลัมเบีย เมื่อปี ค.ศ. 1998 ถึง 2001 นายคนนี้มีดีอย่างไร ทำไมวงการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมถึงได้ยกย่องให้เขาเป็นผู้นำทางความคิดลองมาอ่านดูนะครับ



ปัจจุบัน เพนาโลซา เป็นนักวิจัยรับเชิญของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค กำลังทำวิจัยและเขียนหนังสือชื่อ a new urban-development model for the Third World ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง การจราจรและการขนส่งในพื้นที่เมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินและการเคหการสำหรับผู้มีรายได้น้อย การลดมลภาวะและสร้างพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง

เพนาโลซาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์จาก Duke University ระดับปริญญาโทและเอกด้านการจัดการสาธารณะจาก the Institut International D’Administration Publique and University of Parris II ในกรุงปารีส มีความสามารถในสองภาษาคืออังกฤษและฝรั่งเศส




ในช่วงที่รับตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีนครโบโกต้า (1998 – 2001) เขาพยายามที่จะสร้างระบบขนส่งมวลชน ประสานการใช้ประโยชน์ที่ดินและเคหการสำหรับผู้มีรายได้น้อย สร้างระบบการลดมลภาวะ และสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับเมืองที่มีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน ที่ในขณะนั้นไม่มีระบบรถไฟใต้ดินหรือขนส่งมวลชนอื่นที่มีคุณภาพ เขายังทำสงครามกับรถยนต์ที่สร้างปัญหาจราจรในภาวะชั่วโมงเร่งด่วนของวันด้วยการควบคุมการใช้รถยนต์อย่างเข้มงวดสามารถลดปัญหาติดขัดลงได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เขายังชักจูงใจให้สภาเมืองขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อควบคุมการใช้รถยนต์ส่วนตัว และนำงบประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้มาสร้างระบบรถบัสขนส่งมวลชน ที่ปัจจุบันให้บริการประชากรในเมืองโบโกต้า ประมาณ 500,000 คนต่อวัน


ผลงานในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครโบโกต้าของเอนริเก้ เพนาโลซา มีดังต่อไปนี้ :
- สร้างสถาบันปฏิรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง
- สร้างระบบระบบรถบัสขนส่งมวลชนแบบใหม่ ชื่อว่า TransMilenio
- เป็นหัวหอกในการฟื้นฟูบูรณะเมือง โดยการปรับปรุงลานสาธารณะของเมือง สวนสาธารณะในเมือง รวมถึงการนำพื้นที่เสื่อมโทรมในเมืองมาพัฒนาบูรณะใหม่ให้กลายเป็นเส้นทางและพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า
- สร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็กสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบมากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง โดยให้อยู่ในการจัดการด้วยตนเองของชุมชน
- จัดหาคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนเทศบาล 14,000 เครื่อง สร้างเป็นระบบเครือข่ายเกิดการเชื่อมต่อเป็นระบบห้องสมุดขนาดใหญ่ 3 แห่ง และขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง
- ปลูกต้นไม้มากกว่า 100,000 ต้น
- สร้างและปรับปรุงบูรณะเส้นทางเดินเท้าประมาณ 100 กิโลเมตร และ ทางจักรยาน ถนนคนเดิน รวมกันมากกว่า 300 กิโลเมตร รวมถึงสวนสาธารณะมากกว่า 1,200 สวน
- ริเริ่มโครงการ “วันปลอดรถ” (Car-Free-Day) ในปี 2000 ซึ่งจากโครงการนี้ทำให้ได้รับรางวัลสต๊อคโฮมส์ อวอร์ด และจากการริเริ่มโครงการนี้ทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญและมีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ในปี 2015 ถนนจะปลอดรถยนต์ในช่วงเวลา 6.00 น.ถึง 9.00 น.และ 16.30 น.ถึง 19.30 น. ซึ่งหมายความว่าในช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วนในกรุงโบโกต้าจะไม่มีรถยนต์วิ่งบนถนนเลย (คิดได้อย่างไรนี่ ช่างแตกต่างกับประเทศสยามเมืองยิ้มที่รู้จักแต่จะทำอย่างไรให้จอดรถได้ใกล้เป้าหมายที่สุด)

ไม่รู้ว่านี่เป็นผลงานหรือว่าคำคุยนะครับแต่เขาก็ได้ทำให้ปรากฏเป็นจริงแก่สายตาชาวโลกมาแล้ว ดูผลงานของเขาแล้วผมก็ให้นึกปลงครับ เอาผลงานของนายกเทศมนตรีทั้งหมดตั้งแต่ก่อตั้งเทศบาลนครนครราชสีมามารวมกัน ผมว่ายังไม่ได้ถึงครึ่งของอีตาคนนี้เลยครับ(อย่าเถียงครับว่าประชากรของเราน้อยกว่าจะทำเยอะอย่างเค้าได้อย่างไร เพราะมันไม่ได้อยู่ที่จำนวนประชากรว่ามีเท่าไร แต่มันอยู่ที่ว่าคุณทำให้ประชาชนได้มากเท่าไร)


ปัจจุบันนายคนนี้เค้ามีตำแหน่งเป็น Managing Director, Arthur D. Little Consulting, Colombian Office; President, Colombian Institute of Mortgage Banks (ICAV); Economic Secretary to the Colombian President; Dean of the Business Administration Faculty at Externado de Colombia University; Commercial and Administrative Vice-president of the Bogotá Water and Sewage Company. นอกจากนี้เขาก็ยังเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของโคลัมเบีย และสมาชิกสภานครโบโกต้า

เพนาโลซ่า ยังเดินทางไปในหลายเมืองในฐานะคณะทำงานของสถาบันนโยบายการขนส่งและการพัฒนาของธนาคารโลก ไปที่เมืองเม็กซิโกซิตี้, ปานามาซีตี้, ลิม่า, นิวเดลี, จาการ์ตา, กวางโจวและฮ่องกง ประเทศจีน และยอร์คยาการ์ตาและสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย มูลนิธิด้านการพลังงานเชิญให้เขาเป็นผู้บรรยายในการประชุมนานาชาตินายกเทศมนตรีทั่วโลกที่เมืองเชี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปบรรยายที่เมืองชิคาโก, คลิฟท์แลนด์, ฟิลาเดลเฟีย ซานฟรานซิสโก, นิวยอร์ค, โทรอนโต เมืองคาราคัสและบากิสเมโต ในประเทศเวเนซูเอลา เมืองบาเรนควิลา, คาตาเกนา, คาลี่ และเพสโต ในประเทศโคลัมเบีย เรียกว่าไปบรรยายมาทั่วโลกจากความสำเร็จในการพัฒนากรุงโบโกต้าของเขานี่แหละ

เพนาโลซ่า เขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลากหลายฉบับ และที่รู้จักกันทั่วไปได้แก่หนังสือสองเล่ม เล่มแรกคือ Capitalism: The Best Option and Democracy and Capitalism: Challenges of the Coming Century. และอีกเล่มที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับบทสัมภาษณ์ตัวเขาเองชื่อ Peñalosa and a City 2,600 meters closer to the stars. (ท่านที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีพื้นที่ใดๆในประเทศไทย หรือนักศึกษาทางด้านผังเมืองและออกแบบชุมชน ควรที่จะไปหามาอ่านนะครับ)






 

Create Date : 30 กันยายน 2551   
Last Update : 30 กันยายน 2551 20:40:00 น.   
Counter : 1799 Pageviews.  

แนวคิดของอเมริกาในการใช้จักรยานเป็นระบบขนส่งมวลชน

BTS TransGlide 2000™

วันนี้มีโครงการสุดยอดทางจักรยานมาเล่าให้ฟังครับ ชื่อโครงการก็อย่างที่ปรากฏนั่นแหละครับ เค้าคุยว่าโครงการของเค้านั้นเป็นโครงการขนส่งมวลชนแบบใหม่ที่ทันสมัย เร็วกว่างรถราง รถรางเดียว รถบัส ราคาถูก ก่อสร้างง่าย ประหยัด รักษาสภาพแวดล้อม เรียกว่าดีไปหมดละครับ สามารถขนคนหรือสิ่งของได้ด้วยความเร็ว 40 กม.ต่อชั่วโมง


ภาพแสดงบรรยากาศโดยรวมของเส้นทางจักรยานที่เค้าคิดไว้ครับ


Bicycle Transportation Systems, Inc. ได้นำเสนอโครงการขนส่งมวลชนโครงการนี้บนแนวคิดที่ว่าจะสร้างเมืองแห่งศิลปะ สนับสนุนการขี่จักรยาน การบำรุงรักษาเส้นทางทำได้ง่าย และทำให้ประชาชนในพื้นที่เมืองมีสุขภาพดี เจ้า TransGlide 2000™ Bicycle Transit System นี้จะเป็นโครงการขนส่งมวลชนที่ราคาถูกที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง


อันนี้แสดงรายละเอียดในเส้นทางว่าต้องมีการเข้าออกอย่างไร มีระบบการรูดการ์ดเพื่อผ่านเข้าออก มีสามล้อบริการในเส้นทาง

โครงการนี้มีรายละเอียดดังนี้ครับ เส้นทางทั้งหมดมีความกว้าง 25 ฟุต (7.63 ม.) แบ่งเป็นทางวิ่งของจักรยานสองข้างโดยตรงกลางเส้นทางมีความสูง 13 ฟุต (3.96 ม.) แล้วหลังคาจะลดระดับลงมาที่ผนังทั้งสองด้านที่ความสูง 10 ฟุต (3.04 ม.) ทางวิ่งทั้งสองทางนั้นมีความกว้างภายในด้านละ 12 ฟุต(3.65 ม.) ซึ่งมีความกว้างพอเพียงที่จักรยานจะวิ่งผ่านกันได้ ภายในเส้นทางนี้จะมีการปรับอากาศและกรองอากาศด้วย สามารถปรับอุณหภูมิได้ไม่ว่าจะต้องการสูงต่ำอย่างไร ประเด็นสำคัญคือมีการใช้แรงลมสำหรับเป็นแรงส่งให้ผู้ขี่จักรยานขี่จักรยานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม 90 เปอร์เซ็นต์หมายความว่าถ้าขี่จักรยานปกติใช้แรงในการปั่นไปได้ หนึ่งกิโลเมตร แต่ถ้าใช้แรงเท่ากันแต่ปั่นในเส้นทางนี้จะไปได้สิบกิโลเมตร (นี่คือเหตุผลว่าทำไมเค้าจึงบอกว่าของเค้านั้นเป็นระบบขนส่งที่เร็วมาก) มีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวอัตโนมัติ(เพื่อประหยัดแรงงานคนในการดูแลเส้นทาง)ผ่านการควบคุมจากศูนย์กลางโดยตลอดเส้นทางเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง


ภาพนี้แสดงทางขึ้น ลง ของเส้นทางเค้าครับ สังเกตว่าทำเป็นทางลาดทั้งหมด

ระบบทางจักรยานแบบนี้สามารถสร้างได้ในเส้นทางที่เป็นเส้นทางขนส่งเดิม (ไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทำให้มีความประหยัด) แล้วยังบอกต่ออีกว่ามีการออกแบบให้คนทั่วไปใช้จักรยานธรรมดาเข้ามาใช้เส้นทางเค้าได้ด้วยโดยจักรยานทั่วไปที่เข้ามาใช้ไม่ต้องปรับปรุงอะไรเลยก็จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นจากเดิม 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าอยากใช้จักรยานที่เค้ามีให้เช่าก็สามารถจอดจักรยานไว้ที่บริเวณที่จอดที่จัดไว้ให้แล้วเช่าจักรยานเข้ามาในเส้นทาง (เนื่องจากจักรยานเช่าทีเค้าทำไว้นั้นจะมีการออกแบบให้ขี่ได้สบายและใช้แรงน้อย) เรียกว่าแล้วแต่ความพอใจของใครว่างั้นเหอะ


นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิตจักรยานที่มีการออกแบบจักรยานที่เรียกว่าจักรยานแบบนั่งขับ(recumbent) สามารถขี่ได้ระยะทางไกลโดยไม่เมื่อย และทำความเร็วได้มากกว่าจักรยานแบบปกติซึ่งต่อไปก็สามารถที่จะประยุกต์ใช้ให้สามารถบรรทุกสิ่งของได้ จะทำให้โครงการนี้ยิ่งเป็นโครงการขนส่งที่สมบูรณ์ ประหยัด มีประสิทธิภาพด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีมา แล้วก็ตอนนี้บริษัทนี้ก็กำลังหาพันธมิตรที่จะมาเป็นผู้ร่วมกันก่อสร้างโครงการนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม


รูปร่างภายนอกแสดงให้ดูว่าสามารถก่อสร้างไว้บนระบบขนส่งเดิมได้อย่างไร


อันนี้สร้างบนระบบรถไฟ

ระบบขนส่งมวลชนแบบพอเพียงที่ผมคิดขึ้นมาก็ได้ไอเดียมาจากโครงการนี้ล่ะครับ แต่ว่าเราไม่ได้มีเทคโนโลยีสูงอย่างเค้าที่คิดระบบอัดอากาศให้เพิ่มความเร็วสำหรับผู้ขี่จักรยานได้ ผมก็เลยเปลี่ยนมาเป็นให้ใช้จักรยานไฟฟ้าในโครงการซึ่งจักรยานไฟฟ้านั้นสามารถทำความเร็วได้ถึงสี่สิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง และการชาร์ทไฟหนึ่งครั้งจะวิ่งได้ประมาณห้าสิบกิโลเมตร ซึ่งก็น่าจะพอเพียงที่จะใช้กับเส้นทางที่กำหนดไว้ แล้วบ้านเรานั้นสภาพอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมากมายเท่ากับบ้านเค้าที่ต้องใช้ระบบปรับอากาศให้ปรับอุณหภูมิได้ทั้งร้อนทั้งเย็น ของเรามีแต่ร้อน กะร้อนมากๆ ผมก็ออกแบบให้มีหลังคาคลุม ใช้ชายคาที่ยื่นยาวเพื่อกันแดด กันฝน แล้วก็สร้างราวกันตกที่โปร่ง เพื่อให้ลมพัดผ่านได้ตลอด อันจะทำให้ในเส้นทางของเราไม่ร้อน แล้วกีมีความสะดวกในการใช้งานไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เรียกว่ามีประสิทธิภาพพอกะเค้านั่นแหละ แต่ของเราราคาถูกกว่าเพราะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย ส่วนการติดกล้องวงจรปิดนั้นก็คงจะต้องมีการติดตั้งไว้ตลอดเส้นทาง เนื่องจากปัจจุบันราคาของระบบกล้องวงจรปิดก็ไม่ได้มากมายอะไร ผมว่าถ้าเรารีบสร้างของเราให้เสร็จก่อน บริษัทนี้อาจจะต้องบินจากอเมริกามาดูงานที่โคราชบ้านเราก็ได้นะครับ




 

Create Date : 24 กันยายน 2551   
Last Update : 24 กันยายน 2551 18:25:08 น.   
Counter : 1461 Pageviews.  

ทางจักรยานในหลอดแก้ว

มีแนวคิดของประเทศแคนาดา(www.velo-city.ca)มาให้ดูครับใครที่เห็นแนวคิดโครงการขนส่งมวลชนแบบพอเพียงของผมแล้วบอกว่าเพ้อฝันล่ะก็ อีกฟากโลกหนึ่งก็มีคนคิดแบบเดียวกับผมเช่นกัน แต่เค้าคิดไปไกลกว่าเพราะว่าเค้ามีเทคโนโลยีและทุนเยอะ แต่ก็ยังไม่วายถูกแขวะว่าไร้สาระ (บนโลกใบนี้ถ้าท่านทำอะไรเพื่อจักรยานแล้วล่ะก็ ผู้คนมักจะคิดว่าท่านสติไม่ดี แต่ถ้าหากท่านทำอะไรเพื่อให้รถยนต์เดินทางสะดวก ท่านจะได้รับคำชื่นชม ทั้งที่ในความจริงแล้วมันสะดวกจริงๆหรือเปล่าก็ไม่รู้) มาดูกันครับ


คุณคนนี้แกชื่อ คริส ฮาร์วิค ครับแกเป็นสถาปนิก มีแนวความคิดว่าจะทำเส้นทางจักรยานเป็นรูปหลอดแก้วพาดผ่านพื้นที่เมือง ในเส้นทางนี้ก็อนุญาตให้ยานพาหนะอะไรก็ได้ครับที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเข้ามาใช้เส้นทาง คือจะเป็นจักรยาน สเก็ตบอร์ด รถเข็น ฯลฯ โดยในหลอดแก้วนี้จะมีระบบอัดอากาศที่ทำให้มียานพาหนะที่เข้ามานั้นมีความเร็วเพิ่มขึ้นได้ถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ (ผมว่ามันเร็วไปนะ....น่ากลัวอุบัติเหตุ)





นี่แหละครับภาพจำลองเส้นทางในแนวคิดของคุณคริส ฮาร์วิค เค้าแหละ โครงสร้างทั้งหมดจะเป็นเหล็กกับกระจกครับ เค้าบอกว่าเส้นทางนี้สามารถเดินทางได้ในทุกฤดูกาล ไม่ต้องกลัวร้อน กลัวฝน กลัวหิมะ (เข้าใจว่าแกคงจะออกแบบให้เป็นระบบปรับอากาศประมาณนั้น) คุณคริส ฮาร์วิค เค้าพูดถึงเส้นทางจักรยานที่สร้างโดยรัฐบาลของเค้านั้นมันเป็นเส้นทางจักรยานแบบพื้นๆทั่วไป ไม่มีอะไรแปลกใหม่ น่าสนใจ แล้วก็ไม่จูงใจให้เกิดการใช้งาน ควรที่จะสร้างเส้นทางอย่างที่แกนำเสนอนี้เพื่อเป็นระบบขนส่งที่ท้าทายผู้คนให้เข้ามาใช้งาน สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมได้โดยรอบ น่าตื่นเต้น เร้าใจกว่าเส้นทางจักรยานทั่วๆไป ประมาณนั้น คริส ฮาร์วิค นำเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ปี 2004 โดยเสนอแนะให้สร้างเส้นทางแบบนี้ลอยอยู่เหนือแนวรางรถไฟ แนวคลองคูน้ำในเมือง พาดผ่านสวนสาธารณะและพื้นที่ในเมืองอื่น โดยความสูงของเส้นทางนี้ประมาณ 5 เมตรหรือสูงเท่ากับระยะปลอดภัยตามมาตรฐานการรถไฟและทางหลวงกำหนด โดยเส้นทางแรกที่ควรจะสร้างคือพาดผ่าน Gardiner ไปถึง Don Valley (คงเป็นชื่อย่านในเมืองของเค้าละครับ ผมเองก็ไม่เคยไปเหยียบแคนาดาสักครั้งเลย แปลแบบยกมาเลยก็แล้วกัน)









ภาพสุดท้ายนี่เป็นทางขึ้นลงในบริเวณที่เป็นจุดเปลี่ยนการเดินทางครับ


นายอดัม กิมบอร์น ประธานสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานแห่งเมืองโตรอนโต กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “เป็นโครงการที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล มโหฬาร บานตะไท ไม่ใช่แค่ร้อยล้านเท่านั้น แต่น่าจะเป็นพันๆล้านดอลล่าร์เลยทีเดียว” คุณคริสแกก็สวนกลับเลยว่าแม้มันจะก่อสร้างด้วยราคาเป็นพันล้านอย่างไร มันก็ยังคุ้มค่าอยู่ดี เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับมลภาวะและการจราจรติดขัดปีละ 3.7 พันล้านดอลล่าร์ แล้วก็บอกต่อว่าถึงอย่างไรแนวคิดของแกนั้นก็ยังถูกกว่า ดีกว่าการสร้างทางด่วนสำหรับรถยนต์อยู่ดี

หากใครคิดที่จะหัวเราะในแนวคิดของคุณคริส ฮาร์วิคนี้ ว่าเพ้อฝัน หรือไร้สาระ ก็จงทราบไว้เลยว่าในปัจจุบันนั้นไม่ใช่แค่ประเทศแคนาดาเท่านั้นที่มีแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางจักรยานแบบหลุดโลกเช่นนี้ แต่ในประเทศญี่ปุ่น โคโรลาโด (biketran.com) ซิคาโกหรือลอนดอน ก็กำลังมีแนวคิดเช่นกัน แต่เป็นการสร้างอุโมงค์ใต้ดินสำหรับจักรยาน ในเมืองซิดนีย์ เคมบริดย์ หรือประเทศสวีเดน ผู้ใช้จักรยานก็มีพื้นที่ร่วมบนสะพานหรือทางเดินเท้า




 

Create Date : 16 กันยายน 2551   
Last Update : 16 กันยายน 2551 20:25:56 น.   
Counter : 1222 Pageviews.  

แนวคิดการพัฒนาเมืองโดยไม่พึงพารถยนต์

TRANSIT ORIENTED DEVELOPMENT



คือแนวทางการพัฒนาเมืองที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายกำลังให้ความสนใจในการสร้างชุมชนที่น่าอยู่ด้วยแนวคิด Transit Oriented Development หรือชื่อย่อคือ TOD ที่สร้างสรรค์จากแนวคิดพื้นฐานคือการสร้างชุมชนที่เดินได้สะดวก มีความกระชับแน่นเหมาะสมโดยรอบบริเวณขนส่งระบบรางที่สะดวก เป็นแนวคิดที่ทำให้เกิดการอยู่อาศัยในพื้นที่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพารถยนต์

แนวคิดนี้เป็นแนวทางหลักแนวทางหนึ่งในการพัฒนาที่จะแก้ปัญหาของการกระจายตัวของเมืองในยุคที่น้ำมันแพงมหาศาลและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายจนกลายเป็นปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน

องค์ประกอบที่มีผลทำให้แนวคิด TOD ได้รับความสนใจนำไปพัฒนาเมืองต่างๆ
- การเจริญเติบโตของเมืองต่างๆบนโลก ที่ทุกเมืองต่างมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นพร้อมๆกับปัญหาการจราจรโดยเฉพาะเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
- ความไม่สะดวกของพื้นที่ชานเมืองที่มีการเติบโตในลักษณะเกาะตามเส้นทางคมนาคม
- สภาพการใช้ชีวิตในพื้นที่เมืองที่ขาดความสงบสุขเนื่องจากการจราจรด้วยรถยนต์ ทำให้เกิดความต้องการวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพารถยนต์แต่มีความสะดวกสบายในพื้นที่เมือง
- ความต้องการพื้นที่สำหรับการเดิน การพักผ่อนในเมืองที่เพิ่มมากขึ้นตามความเจริญขึ้นของเมือง
- รูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนไปในชีวิตเมือง เริ่มมีครอบครัวในลักษณะครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น
- การสนับสนุนแนวทางการพัฒนาแบบนี้โดยรัฐบาลกลางที่เพิ่มมากขึ้น(เฉพาะในสหรัฐอเมริกา)
- การมีพันธมิตรระหว่างเมืองเพิ่มมากขึ้นที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามแนวทางของ TOD



“ปัญหาจราจรติดขัดที่เกิดขึ้นในทุกๆเมืองใหญ่ในโลก เกือบทุกเมืองประชาชนต้องเสียเวลาไปกับการจราจรบนท้องถนนอย่างน้อยสองชั่วโมงต่อวัน การแก้ปัญหาโดยการขยายพื้นที่ถนนหรือสร้างทางด่วนสำหรับรถยนต์กลายเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหาเหล่านี้ยิ่งซับซ้อนและยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น”

“Transit Oriented Development คือวิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงที่จะช่วยลดการจราจรที่ติดขัดและช่วยปกป้องสภาพแวดล้อมของเมือง เทคนิคหนึ่งของแนวทางการพัฒนาคือการสร้างเอกลักษณ์ของระบบขนส่งมวลชน แนวคิดการขยายถนนหรือสร้างทางด่วนนั้นกลายเป็นเรื่องล้าหลังและไร้สติสำหรับการพัฒนาเมืองไปแล้ว ในปัจจุบันนั้นเมืองต้องพัฒนาด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดีและมีเอกลักษณ์”
The Urban Land Institute (ULI)




ส่วนประกอบสำคัญในการออกแบบตามแนวคิด Transit Oriented
- ความสะดวกสบายของคนเดินเท้าต้องได้รับการพิจารณามาก่อนเป็นเบื้องแรก
- สถานีขนส่งระบบรางต้องเป็นจุดเด่นที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของบริเวณ
- ศูนย์กลางในระดับภาคต้องประกอบไปด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีทั้งร้านเช่า สำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสถานที่ราชการ ฯลฯ
- ต้องมีความหนาแน่สูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยพื้นที่ต่างๆโดยรอบต้องสามารถเดินทางเข้าถึงสถานีขนส่งระบบรางได้ภายในเวลาไม่เกินสิบนาที
- มีระบบขนส่งอื่นๆสนับสนุนระบบขนส่งระบบรางที่เป็นระบบหลัก เพื่อกระจายรัศมีการบริการให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมือง เช่น รถราง รถประจำทาง เป็นต้น
- ออกแบบให้สะดวกในการใช้จักรยาน เสก็ตบอร์ด หรือพาหนะอื่นๆที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ โดยสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักได้อย่างสมบูรณ์
- มีการจัดการ การควบคุมและลดพื้นที่จอดรถยนต์ในรัศมี การเดินทางด้วยเท้าในระยะเวลาสิบนาทีจากสถานีขนส่งหรือศูนย์กลางเมือง




 

Create Date : 16 กันยายน 2551   
Last Update : 16 กันยายน 2551 19:12:12 น.   
Counter : 2389 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

bicycleman
Location :
นครราชสีมา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




บุคคลหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร วันหนึ่งค้นพบว่าเรากำลังตกอยู่ในอิทธิพลของเจ้าเครื่องจักรบริโภคน้ำมันที่ชื่อว่ารถยนต์ จนหลงลืมทำลายเมืองและวิถีวัฒนธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้มัน ตั้งแต่นั้นก็มุ่งมั่นที่จะปฏิวัติเมืองด้วยจักรยาน จึงสร้างบล็อคนี้มาเพื่อหาแนวร่วม
[Add bicycleman's blog to your web]