จักรยานปฏิวัติเมือง รวมเรื่องของทางจักรยานและการออกแบบเมือง

น้ำท่วมที่ฮุสตัน: ผลของการไม่เชื่อวิทยาศาสตร์แล้วปล่อยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำอะไรได้ตามใจฉัน



น้ำท่วมที่ฮุสตัน

: ผลของการไม่สนใจวิทยาศาสตร์ แล้วปล่อยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำอะไรได้ตามใจตนเอง

ตั้งแต่เมืองฮุสตันเริ่มเป็นเมืองเมื่อประมาณสองร้อยกว่าปีก่อน คนเมืองทั้งหลายมีความเชื่อว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นที่รวมของเชื้อโรคติดต่อต่าง ๆ และเป็นสถานที่เพาะเชื้อยุงและแมลงรบกวน แม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นสามารถช่วยชะลอน้ำและแบ่งเบาผลกระทบของน้ำท่วมเมืองได้  ผู้คนยังยืนยันที่จะทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้นด้วยการถมทับให้เป็นลานคอนกรีตและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ  ทำให้จากปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2553 ฮุสตันสูญเสียพื้นที่่ชุ่มน้ำไปมากกว่า 75% ของที่เคยมีอยู่




ภาพแรกนี้เป็นพื้นที่ของเมืองฮุสตัน ในปี พ.ศ. 2529 พื้นที่เมืองจะแทนด้วยสีฟ้า และสีม่วง และพื้นที่ชุ่มน้ำกับพืชพรรณต่าง ๆ แทนด้วยสีเขียว เมื่อเปรียบเทียบกับภาพที่สองที่เป็นเมืองฮุสตันในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำหายไปจำนวนมาก  ทำให้ผลของพายุฮาร์วี่ที่พัดกระหน่ำเมืองในวันนี้มีผลกระทบอย่างมหาศาลเนื่องจากไม่เหลือพื้นที่ชุ่มน้ำไว้รับมือกับอุทกภัยแต่อย่างใดเลย





ความหายนะที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนฮาร์วี่ เป็นตัวอย่างของผลกระทบจากการพัฒนาเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา เป็นเมืองที่ไม่มีกฎหมายกำหนดขอบเขตในการพัฒนาที่ชัดเจนจึงต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นความสูญเสียของสภาพแวดล้อมไปอย่างไม่มีโอกาสจะได้คืน

การสูญเสียพื้นที่รับน้ำของเมืองเพราะไม่มีกฎหมายผังเมืองควบคุมการพัฒนาในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ เกิดการก่อสร้่างอาคารในเขตที่ควรจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมือง  เช่น บ้านพักคนชราในย่าน Dickinson มีน้ำท่วมถึงเอว เพราะโครงการนี้สร้างในเขตน้ำท่วมที่กำหนดโดยหน่วยงานบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (สร้างได้อย่างไร)

ในพื้นที่เมืองมีผู้คนจำนวนน้อยที่จะมีประกันน้ำท่วม มีข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมที่ล้าสมัย บ้านพักอาศัยในเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วมจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสี่ของทั้งหมดที่จะมีประกันภัย  หน่วยงานการเคหะและหน่วยงานพัฒนาเมืองของอเมริกามีความพยายามจะแก้ปัญหาโดยการออกกฎหมายควบคุมและสร้างเกณฑ์ในการลดผลกระทบจากการพัฒนาที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม  มาตรการนี้ได้รับความเห็นขอบจากโอบาม่า ประธานาธิบดีคนเดิม  มาตรการดังกล่าวกำลังจะถูกยกเลิกโดยทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้ไม่เคยเชื่อในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการพัฒนาส่งผลต่อสภาพแวดล้อมเมือง


















อุปสรรคสำคัญในการรักษาสภาพแวดล้อมดั้งเดิมของเมืองเอาไว้คือ การที่กฎ ระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ ของเมือง ไม่สามารถควบคุมการพัฒนาได้อย่างจริงจัง อีกทั้งพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นภูเขา รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบแพร่กระจายในแบบอเมริกา ยิ่งเพิ่มผลกระทบของภัยพิบัติครั้งนี้มากยิ่งขึ้น  ปี พ.ศ. 2535-2553 พื้นที่ชุ่มน้ำประมาณ 2,500 เอเคอร์ สูญเสียไปจากเขตชนบทHaris  ทำให้สูญเสียความสามารถในการที่จะรองรับน้ำมากกว่า 15 พันล้านลิตรจากน้ำท่วม คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 600 ล้่านเหรียญ

แมรี่ เอ็ดเวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำดั้งเดิมที่มีอยู่ถูกเปลี่ยนให้เป็นทางเท้า ถนนเพื่อรองรับการเติบโตเพิ่มขึ้นของพื้นที่เมือง  ในปัจจุบันแม้เพียงฝนตกหนักทั่วไปก็จะมีน้ำจำนวนมากไหลจากถนนและทำให้เกิดน้ำท่วมได้

ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ชุ่ม่น้ำที่หายไป แต่ทุ่งหญ้า ที่ว่างอื่น ๆ ที่เป็นเหมือนฟองน้ำช่วยซิมซับน้ำท่วมที่ผ่านเข้ามาก็สูญหายไปด้วย เพราะพื้นที่พัฒนาที่มีอัตราสูงขึ้นทุกปี

คนยิ่งเยอะ :  ผู้ประสบภัยยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น
เมืองฮุสตันอยู่ในวังวนของความชั่วร้ายแห่งการพัฒนา ที่คนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับมากยิ่งขึ้น ที่ว่างถูกทำให้กลายเป็นลานคอนกรีตและอาคาร ทำให้เกิดน้ำผิวดินเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้นและส่งผลกระทบต่อเมืองมากยิ่งขึ้น

"เพราะพวกเราไม่เคยสนใจว่าสิ่งแวดล้อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มองว่าพวกเขาสามารถที่จะเปลี่ยนฮุสตันได้เพียงเวลาข้ามคืน(โดยไม่สนใจผลกระทบหลังจากนั้น)เพื่อแลกกับผลกำไรที่เขาควรจะได้  แต่สำหรับพวกเรา เราต้องการบ้านเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยอย่างมีความสุขของลูกหลานรุ่นต่อไป  ผลกระทบของพายุฮาร์วี่นี้เป็นเหมือนคำเตือนจากธรรมชาติที่เราต้องยอมรับในสิ่งที่เราได้ทำลงไป และเราควรจะคิดแก้ไขให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม"

หลักฐานของคำกล่าวนี้จะเห็นได้จากแผนที่ทั้งสองข้างล่างนี้ที่แสดงให้เห็นว่าฮุสตัน สูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำไปให้กับการพัฒนาอย่างไรบ้าง (พื้นที่ชุ่มน้ำคือบริเวณที่เป็นสีม่วง)






จากฮุสตันฝากคำเตือนมาถึงเมืองโคราช

กรณีของเมืองฮุสตัน แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในการพัฒนาของมนุษย์ที่เพียงแค่เห็นแก่ผลกำไรและประโยชน์ส่วนตน มากกว่าการคิดถึงผลกระทบในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป  เมืองโคราชบ้านผม เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ.​ 2553 ในครั้งนั้นเกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกพื้นที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป น้ำท่วมครั้งนั้นเป็นเพียงแค่ความทรงจำ คนโคราชยังคงสนุกกับการพัฒนาบนมโนพรางตาว่าฉันจะเป็นมหานครแห่งอีสาน เมืองแห่งห้างสรรพสินค้าใหญ่ เมืองแห่งการจับจ่ายใข้สอย  โดยที่คนโคราชหลงลืมไปว่าเมืองโคราชนั้นกำลังจะกลายเป็นลานคอนกรีตมากกว่าเมืองแห่งธรรมชาติแบบดั้งเดิม 

ลำตะคองที่กำลังโดนรุกล้ำ(โดยผู้มีอำนาจ) ธรรมชาติสองฝั่งลำตะคองกลายเป็นพื้นที่รกร้าง กลายเป็นเหมือนพื้นที่หลังบ้านที่ไม่มีใครสนใจว่าใครจะทำอะไรกับมันก็ปล่อยกันไปตามสะดวก   ทุ่งหัวทะเลที่เป็นแหล่งรับน้ำใหญ่ที่สุดของเมืองก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและอาคารมากมาย  ที่โล่ง พื้นที่รับน้ำทั้งหลายสูญหายไปอย่างรวดเร็ว เพียงเพราะอยากได้ห้างใหญ่ อยากได้บ้านจัดสรรเข้ามา 

จะน่าแปลกใจอะไรที่เมืองโคราช ฝนตกทีไรก็น้ำท่วม
เพราะผู้คนบ้านเมืองนี้ไม่เคยรู้สึกว่าเขาขาดที่ว่างและพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อรับภัยพิบัติ
เพราะผู้คนบ้านเมืองนี้เขามัวแต่ยินดีที่จะมีห้างใหญ่ มีถนนวงแหวน มีทางลอด อันเป็นสื่อลวงตาให้เขาคุยโม้ได้ว่าบ้านฉันพัฒนาแล้ว


เมื่อธรรมชาติเขาส่งแบบทดสอบเช่น ภัยพิบัติมาให้อีกรอบ
โคราช บ้านฉัน......จะสอบผ่านไหม?







































































 

Create Date : 30 สิงหาคม 2560   
Last Update : 30 สิงหาคม 2560 22:40:13 น.   
Counter : 2857 Pageviews.  

DNAเมือง

เช่นเดียวกันกับมนุษย์ เมืองแต่ละเมืองล้วนมีรูปแบบของอาคารและที่ว่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของเมืองเอง ดังเช่นมนุษย์มีDNA เป็นอัตลักษณ์  อาจจะเรียกได้ว่าเมืองทุกเมืองล้วนมี “DNAของที่ว่าง” เป็นของตนเอง อันเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักออกแบบชุมชนและนักวิจัยด้านเมืองว่านั่นคือผังความสัมพันธ์ของที่ว่างและอาคารที่เรียกว่า Figure and Ground หรือภาษาไทยเรียกว่า ภาพและพื้น นั่นเอง โดยรูปร่างที่เป็นสีดำหรือสีทึบนั่นคืออาคาร ส่วนที่เป็นสีขาวนั่นคือที่ว่างของเมือง


“มันเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับพื้นที่ว่างโดยรอบอาคารว่ามีความคุณภาพดีมากน้อยแค่ไหน ทั้งในระดับกลุ่มอาคารและทั้งเมือง” Peter Griffith บรรณาธิการของ Cities Research Center แห่ง London School of Economics and Political Science กล่าว แผนที่ต่างๆที่ประกอบบทความเหล่านี้สร้างขึ้นโดยนักวิจัยเกี่ยวกับเมืองเพื่อวิเคราะห์การเติบโตของเมืองที่มีผลต่อความน่าอยู่อาศัยในพื้นที่เมือง โดยสร้างจากภาพถ่ายและข้อมูลอย่างเป็นทางการของเมือง




ภาพต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เมือง New York City เมือง Lima และเมือง Buenos Aires ล้วนมีรูปแบบเมืองที่เป็นลักษณะของเมืองตารางสี่เหลี่ยม ขณะที่เมืองLondon ดูมีที่ว่างในเมืองที่มากมาย  ในพื้นที่ของแต่ละเมืองจะมีสัณฐานของที่ว่างและอาคารที่แตกต่างกันออกไป เช่น Rio de Janeiro มีความหนาแน่นของพื้นที่ที่แตกต่างกันระหว่างพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานแบบวางแผนไว้ก่อนกับพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานแบบสะเปะสะปะตามมีตามเกิด



สิ่งที่สื่อออกมาจากแผนที่เหล่านี้ก็คือความหนาแน่นของพื้นที่แต่ละแห่งที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา หากมีการวางแผนที่ดี ความหนาแน่นของอาคารในพื้นที่ก็จะมีส่วนสร้างองค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมที่ดีทำให้เกิดผลผลิตของพื้นที่ได้ Griffiths อธิบายว่า “พื้นที่ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะของความเป็นกลุ่มก้อนจะช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจในระดับกลุ่มพื้นที่ ทักษะความชำนาญต่างๆของกลุ่มจะช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ด้านเศรษฐกิจใหม่ๆขึ้นมา” เขาอธิบายต่อว่า แต่หากความหนาแน่นที่มีอยู่นั้นเป็นความหนาแน่นที่ไม่สามารถจัดการได้หรือไม่ยั่งยืน “คุณต้องใส่ระบบขนส่งมวลชนที่ดีเข้าไปในพื้นที่ หาไม่แล้วจะเกิดมลภาวะและการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่”


Griffiths มองว่าเมืองก็เหมือนตลาดที่จะต้องมีความหลากหลายของผู้คนและการบริการด้านต่างๆที่ต้องมีอยู่คู่กัน “คุณต้องสร้างสรรค์โอกาสให้กับเวลาและพื้นที่ด้วยการใส่หลายสิ่งหลายอย่างเข้าไปในพื้นที่เดียวกันและหาทางสร้างความสัมพันธ์ระหว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว....นั่นแหละคืออะไรที่เมืองต้องทำ”










แปลและเรียบเรียงจาก 

//www.citylab.com/housing/2015/09/mapping-the-urban-fingerprints-of-cities/404923/?utm_source=SFFB




 

Create Date : 12 กันยายน 2558   
Last Update : 12 กันยายน 2558 9:40:50 น.   
Counter : 3309 Pageviews.  

จาการ์ตาจะเป็นเมืองจักรยาน

จาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย  เมืองที่ได้ชื่อว่ามีปัญหาการจราจรที่วิกฤติที่สุดเมืองหนึ่งของโลก  แต่สำหรับทุกวันอาทิตย์ในเวลาห้าชั่วโมงตั้งแต่เช้าจนถึงก่อนเย็น ถนนในเมืองนี้กลับถูกครอบครองด้วยจักรยานและพาหนะอื่นที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมไปถึงคนที่สนใจออกกำลังกายในหลายรูปแบบ  นี่คือโครงการวันปลอดรถที่จัดขึ้นในเมืองนี้ทุกวันอาทิตย์


เมืองที่มีประชากรถึง 10.2 ล้านคน แต่ตั้งแต่เช้าถึงเย็นของเมืองนี้กลับมีรถผ่านเข้าออกถึง 17.5 ล้านคัน 98%ของยานพาหนะเหล่านั้นเป็นรถยนต์ส่วนตัว มอเตอร์ไซด์หรือรถพ่วง ยานพาหนะเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาจราจรต่อเนื่องมาถึงปัญหาสภาพอากาศ ส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชากร รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณไปมากมายมหาศาลในความพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป


“ไม่มีใครอยากใช้จักรยานในเมืองนี้หรอก เพราะมันเสี่ยงต่ออันตรายจากระบบจราจรที่พลุกพล่านและสับสน” หัวหน้ากลุ่มกิจกรรมปั่นจักรยานไปทำงานของเมืองจาการ์ตาวัย 52กล่าว  เขาพยายามส่งเสริมให้คนใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงานมาตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบันมีกลุ่มเช่นนี้ในเมืองต่างๆเพิ่มขึ้นมากกว่า 130 กลุ่ม มีสมาชิกมากกว่า 5,000 คน


“ฉันฝันว่าวันนึง เมืองจาการ์ตาของฉันจะเป็นได้เหมือนเมืองโคเปนเฮเก้นของเดนมาร์ก ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้ ฉันไม่เคยจำกัดความฝันที่จะทำให้เมืองจาการ์ตาเป็นเมืองจักรยาน” กิจกรรมวันปลอดรถยนต์ในจาการ์ตาแม้ว่าจะได้รับความนิยม แต่ในความเป็นจริงแล้วโอกาสที่จะใช้จักรยานได้อย่างสะดวก ปลอดภัยในชีวิตประจำวันในเมืองนี้ก็แทบเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีองค์ประกอบใดที่จะสนับสนุนอีกทั้งในชั่วโมงวิกฤตินั้นการจราจรก็ติดขัดอย่างน่ากลัว


จาการ์ตา มีทางจักรยานอยู่ 3 เส้นทางแต่ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีพอที่จะใช้งานได้เนื่องจากมักถูกรุกล้ำด้วยการจอดมอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์ส่วนบุคคลอยู่ทั่วไป และหลายพื้นที่ก็ยังขาดการเชื่อมต่อการเดินทางที่ดีจากระบบขนส่งมวลชนของเมือง  ไม่มีระบบจักรยานสาธารณะ สถานที่ทำงานต่างๆไม่มีสวัสดิการที่อาบน้ำสำหรับพนักงาน(ที่ใช้จักรยาน) และไม่มีใครอยากใช้จักรยานฝ่าการเดินทางที่เต็มไปด้วยรถติดมหันต์ทั้งอุณหภูมิที่สูงกว่า 30 องศาเซลเซียส



ITDP (Institute for Transportation and Development Policy) ได้พยายามนำเสนอโครงการจักรยานสาธารณะโดยการจัดหาจักรยาน 2,000 คัน ในสถานีให้เช่าจักรยานทั้งสิ้นกว่า 100 สถานีทั่วทั้งเมือง ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 100 ล้านบาทที่จะลงทุนโดยเอกชนสำหรับระบบโครงข่ายบริการพื้นฐาน และอีก 100 ล้านบาทจากรัฐที่ต้องสนับสนุนในด้านการสร้างเส้นทางจักรยาน การประชาสัมพันธ์ การปรับปรุงทางแยกทางข้ามต่างๆ  อาดิวินาโต้ ผู้อำนวยการ ITDP กล่าวว่า “มันสำคัญมากที่จะต้องเปลี่ยนให้เกิดการเดินและขี่จักรยานในพื้นที่เมืองนี้ในอนาคต เพราะหากเราไม่แก้ปัญหาจราจรอะไรเลยในอีกไม่กี่ปีเมืองนี้จะกลายเป็นเมืองที่ไม่มีผลผลิตอะไรที่จะไปแข่งขันกับเมืองอื่นได้เลย”


ด้วยปริมาณการเพิ่มขึ้นของพาหนะบนถนนในอัตรา 12% ต่อปี นั่นคือมีมอเตอร์ไซด์เพิ่มขึ้น 4,000 คัน มีรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น 1,500 คัน ในทุกๆวัน จาการ์ตาได้พยายามในทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหา ทั้งการเพิ่มโครงการขนส่งมวลชน การใช้มาตรการควบคุมการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มข้น

ความหวังหนึ่งของชาวจักรยานในจาการ์ตาคือ เส้นทางจักรยานที่จะก่อสร้างพร้อมๆกับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของรัฐในปี 2019 ในระหว่างนี้ ก็เกิดมีนวตกรรมการแก้ปัญหาจราจรของเมืองโดยคนรุ่นใหม่ในการประชุม Jakarta Urban Challenge 2015 ผู้เข้ารอบสุดท้ายสองคนได้นำเสนอไอเดียการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ คือ 


โครงการ Cyclist Urban System ที่ต้องการสร้างศูนย์กลางการใช้จักรยานกระจายไปทั่วเมืองจาการ์ตา โดยศูนย์กลางเหล่านี้จะประกอบไปด้วยที่จอดจักรยาน ที่ซ่อมจักรยาน ที่อาบน้ำ ห้องแต่งตัว เรียกว่าเป็นจุดบริการผู้ใข้จักรยานได้อย่างครบวงจร  


โครงการ The Squee Mobile App ที่เป็นการออกแบบแอพพลิเคชั่นที่ทำให้คนเดินเท้าและใช้จักรยานมีความสัมพันธ์กัน ผู้ใช้สามารถแจ้งเตือนคนเดินเท้าและผู้ใขัจักรยานอื่นให้ระมัดระวังในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

โครงการทั้งสองนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและเป็นความหวังในการที่จะแก้ปัญหาให้กับเมือง


ระหว่างที่รอความหวังนี้ จาการ์ตาก็ยังเป็นเมืองที่บริโภคการจราจรติดขัดและยังต้องมองหาทางเลือกที่จะเดินออกไปจากปัญหานี้ให้ได้
“คุณจะเห็นผู้คนมากมายออกมาใช้จักรยานในวันถนนปลอดรถยนต์หนึ่งวันต่ออาทิตย์ แต่คุณจะไม่มีทางเห็นพวกเขาใช้งานจักรยานเหล่านั้นในวันอื่นๆเลย เพราะรัฐบาลไม่เคยสร้างอะไรที่สนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการใช้งานจักรยานและการเดินเท้า” หนึ่งในกลุ่มผู้ส่งเสริมการใช้จักรยานของเมืองจาการ์ตากล่าว


แปล เรียบเรียงจาก

 //www.theguardian.com/cities/2015/sep/10/cycling-jakarta-dream-copenhagen-indonesia-bike




 

Create Date : 10 กันยายน 2558   
Last Update : 10 กันยายน 2558 23:26:09 น.   
Counter : 1900 Pageviews.  

เสียดายสีแดง

ทำไมไม่ชอบสีน้ำตาล

พื้นที่สีต่างๆในผังเมืองนั้นเป็นการกำหนดการควบคุมเป็นย่าน กิจกรรมอะไรที่เคยมีอยู่แล้วล้วนไม่ได้รับผลกระทบกับข้อกำหนดใหม่ที่จะออกมาควบคุม เช่น อาคารสูงกว่าข้อกำหนดใหม่ที่เป็นอาคารเดิม เขาก็ยังคงอยู่ของเขาได้ต่อไป แต่อาคารที่จะสร้างขึ้นมาใหม่จะต้องอยู่ใต้ข้อบังคับของผังเมืองนั้น หรือกิจการใดที่เคยมีอยู่ก็ยังมีอยู่ต่อไปแม้ว่ากิจการนั้นจะถูกห้ามในข้อกำหนดใหม่ในผังเมือง แต่เมื่อไรที่อาคารนั้นเลิกกิจการไป จะกลับมาทำกิจการเดิมที่ถูกห้ามไว้อีกไม่ได้

การผังเมืองเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะ เป็นเรื่องของการร่วมกันพัฒนาโดยมีค่าเฉลี่ยคือประโยชน์ของทุกคน(หมายความว่าบางคนต้องยอมเสียประโยชน์ที่ตนเองได้มากกว่าคนอื่นให้ลงมาอยู่ในค่าเฉลี่ยคือได้เท่าๆกัน)
โปรดอย่าได้นำเรื่องประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะกลุ่มมาเปรียบเทียบแล้วอ้างว่าไม่ให้ความเป็นธรรม(เช่น การมีที่ดินแปลงใหญ่ อยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของคนทั้งหมด แม้ที่ดินแปลงใหญ่นั้นจะทำอะไรได้มากกว่าที่ข้อกำหนดบังคับอยู่ แต่ก็ต้องยอมอยู่ใต้ข้อกำหนดเพราะหากปล่อยให้พัฒนาไปตามใจจะกลายเป็นการรุกล้ำประโยชน์ของคนที่เขามีที่แปลงเล็กกว่าควรจะได้รับ)




เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆในเขตคูเมืองที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงนั้น แต่ที่ดินในพื้นที่เป็นแปลงเล็กแปลงน้อยเมื่อจะสร้างตึกสูง(ตามข้อกำหนดผังเมืองสีแดงสร้างสูงได้ไม่จำกัด) ก็ต้องไปดูกฎหมายอาคารซึ่งจะควบคุมเรื่องระยะร่นและพื้นที่ว่าง(อาคารสูงกว่าสามชั้นต้องมีระยะร่นอย่างน้อยสามเมตรในบริเวณที่ทำช่องเปิด เป็นต้น) ปรากฎว่าสร้างสูงไม่ได้ หรือสร้างได้ก็ไม่เกินสามชั้น  ถ้าอยากสร้างสูงกว่านั้นจะทำอย่างไรก็ต้องรวบรวมที่ให้เป็นแปลงใหญ่ด้วยการกว้านซื้อเพิ่ม(ใครมีทุนมากก็ได้ไป) แล้วคนที่ไม่อยากย้ายออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่เดิมจะทำอย่างไร หากเพื่อนบ้านเขาขายที่ดินให้นายทุนใหญ่ไปหมดแล้ว โครงการสร้างอาคารสูงมาอยู่ข้างบ้าน ตนเองจะยังยืนยันอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร(ความเป็นส่วนตัวที่เคยมีหายไปหมดแล้ว)ก็ต้องขายที่ไปให้นายทุนเงินหนาเค้าสร้างตึกสูงแข่งกัน  




ที่มา :  //www.scgexperience.co.th/home-consult/dreamdriverblog/new-home/




แล้วพื้นที่เมืองเก่านั้นถนนเส้นใหญ่ กว้างสักแค่ไหนกันเชียว ทุกวันนี้ที่เป็นแค่อาคารธรรมดาดั้งเดิม รถก็ยังติดขัดกันมหาศาล ลองจินตนาการว่ามีคอนโดหรูร้อยยูนิตเกิดขึ้นกลางเมือง เวลาที่รถเข้า-ออก มันจะไปรบกวนคนอื่นที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นสักขนาดไหน  นักลงทุนที่สร้างคอนโดได้กำไรใส่บัญชีไปแล้วจะมาช่วยแก้ไขปัญหาจราจรให้เมืองหรือไม่? ผมเห็นแต่ได้กำไรแล้วก็หนีหายจ้อย ปล่อยให้เมืองเผชิญปัญหากันไป  

ลองไปถามคนเชียงใหม่ดูสิ......ว่าเขารู้สึกยินดีกับตึกสูงในเมืองกันสักแค่ไหน?






เมืองไม่ได้มีที่ดินเอาไว้เพื่อให้นักลงทุนพัฒนาเป็นสินค้าทำกำไรไปทุกแปลงหรอกนะครับ  มันต้องมีการเก็บรักษาเป็นพื้นที่ทรงคุณค่าทางความทรงจำบ้าง หรือเป็นพื้นที่ธรรมชาติเพื่อสร้างสมดุลให้เมือง(เพื่อไม่ต้องรับภัยพิบัติธรรมชาติมากเกินไป)  มิฉะนั้นคนโคราชก็จะสนุกสนานกับการสู้ภัยน้ำท่วมกันทุกปี...จะเอาอย่างนั้นใช่ไหม?

ดูอย่างสิงคโปร์เขามั่งปะไร ประเทศเล็กๆที่รู้จักใช้การผังเมืองเพื่อรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกว่าห้าล้านของเขาเอาไว้ ด้วยการแบ่งแยกพื้นที่ชัดเจนว่าตรงไหนคือพื้นที่อนุรักษ์ ตรงไหนคือพื้นที่พัฒนา ตรงไหนคือพื้นที่เพื่อการค้า การอยู่อาศัย ทั้งที่สิงคโปร์เองก็เป็นชนชาติหัวการค้าไม่เป็นรองใคร เขาก็ยังไม่เห็นจะเอาที่เสียทุกแปลงไปพัฒนาขายให้เมืองไร้สติเหมือนอย่างที่นายทุนโคราชหลายคนอยากให้เป็น

ชีวิตไม่ได้มีไว้เพื่อหาเงินอย่างเดียวหรอกครับ  ทำอะไรเพื่อเมือง เพื่อคนอื่นบ้างก็ได้







 

Create Date : 26 สิงหาคม 2558   
Last Update : 26 สิงหาคม 2558 21:43:23 น.   
Counter : 1824 Pageviews.  

ผังเมืองรวม เมืองนครราชสีมา


ธรรมชาติเมืองกับผังเมืองรวม

วันนี้ผมจะมาทำความเข้าใจในเรื่องผังเมืองรวม เมืองนครราชสีมา ให้ท่านทั้งหลายได้รู้จัก  ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาฉบับที่กำลังจะออกมานี้ เป็นการปรับปรุงครั้งที่สาม โดยเงื่อนไขของการบังคับใช้ผังเมืองรวมนั้นจะมีอายุบังคับใช้ฉบับละ 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้วยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ เขาอนุโลมให้ใช้ฉบับเดิมต่อไปได้อีกครั้งละ 1 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง  สรุปโดยง่ายๆก็คือผังเมืองรวมฉบับหนึ่งนั้นอายุการบังคับใช้ของมันคือ 7 ปี ถ้าภายในเวลานี้ไม่มีฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ ให้ถือว่าผังเมืองนั้นขาดอายุ(คือไม่มีกฎหมายตัวนี้บังคับใช้) ซึ่งนี่คือช่องทางหนึ่งของการที่จะทำอะไรที่ไม่เคยทำได้ตอนที่ผังเมืองตัวนี้บังคับอยู่  หลายๆเมืองก็เลยมีกรณีปล่อยให้มันหมดอายุไป เพื่อที่พรรคพวกฉันจะได้ทำอะไรได้เสียที เมื่อพรรคพวกฉันทำอะไร(ที่ไม่เคยทำได้เมื่อมีผังเมืองอยู่)เรียบร้อยแล้ว ค่อยทำให้มีผังเมืองฉบับใหม่ออกมาใช้อีกที....ที่บ้านเมืองล่มจมฉิบหาย ปัญหามีสาระพัด ไม่เกิดผลตามที่ผังเมืองวางไว้ก็เพราะผู้คนที่ข้ามความสนิทชิดเชื้อและการเสียประโยชน์ตนเองเพื่อส่วนรวมไม่ได้แบบนี้ล่ะครับ(คนพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้จนนะครับ)

แต่ถึงแม้ว่าผังเมืองจะขาดอายุก็ไม่ได้หมายความว่าบรรดาผู้เห็นประโยชน์ตนสำคัญกว่าบ้านเมืองจะทำอะไรได้ตามใจง่ายๆนะครับ เพราะว่ากฎหมายอื่นก็ยังคงทำงานอยู่ หรือแม้แต่กฎหมายผังเมืองเองก็เถอะแม้จะขาดอายุบังคับใช้ไปแล้ว แต่เจตนารมย์ของกฎหมายมันยังอยู่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหากอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการใดๆไปโดยอ้างว่าผังเมืองมันหมดอายุไปแล้ว ก็มีสิทธิ์โดนคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้นะครับเพราะถือว่ารู้เจตนารมย์ของกฎหมายอยู่แต่ยังอนุญาตให้เขาฝ่าฝืนด้วยข้ออ้างว่ามันหมดอายุ (แต่ที่ยังไม่มีคดีกันก็เพราะว่าผู้เสียประโยชน์คือประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้สิทธิ์ คนรู้เรื่องก็กลายเป็นคนที่ดูแลกฎหมายกับนายทุน สมประโยชน์กันดีก็เงียบๆกันไป ดังนั้นเวลาที่มีปัญหาในบ้านเมืองขอให้ทุกท่านเข้าใจตรงกันว่าควรจะต้องตำหนิผู้คนเหล่านี้ไม่ใช่ไปตำหนิว่าผังเมืองมันไม่ดี)



ฉบับที่กำลังจะประกาศใช้ในเวลาอีกไม่นานนี้ก็น่าจะหน้าตาประมาณภาพที่เห็นนี้นะครับ นี่เป็นแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา(ฉบับปรับปรุงครั้งที่3) สีต่างๆที่เห็นก็เป็นสัญลักษณ์แสดงให้ดูว่าแต่ละพื้นที่นั้นมีการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร ซึ่งบรรดาการควบคุมทั้งหลายนั้นก็เกิดมาจากการหาข้อมูลทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และกายภาพของเมืองนั้นๆมากำหนดเป็นนโยบายการใช้พื้นที่ของเมือง(ส่วนใหญ่ก็มักจะอ้างอิงกับกิจกรรมเดิมครับ)




สองภาพที่ผ่านมาคือสัญลักษณ์ในแผนที่และความหมายของสีในแผนที่ครับ  ในเรื่องของสีนั้นจะมีสีที่สำคัญอยู่คือสีเหลืองที่หมายถึงที่พักอาศัยหนาแน่นน้อย สีส้มหมายถึงที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลาง และสีแดงคือที่พักอาศัยหนาแน่นสูงหรือย่านพาณิชยกรรม  สีม่วงคือพื้นที่อุตสาหกรรม

เพื่อให้ท่านกัลยาณมิตรของผมเข้าใจและเห็นภาพว่าเหลือง ส้ม แดง มันเป็นอย่างไร ผมจึงขอนำเอาภาพตัวอย่างของพื้นที่สีนั้นๆมาให้ชมดังนี้ครับ



สีเหลืองที่เป็นที่พักอาศัยหนาแน่นน้อยนั้น จะควบคุมให้สร้างได้แต่เฉพาะบ้านเดี่ยวเป็นหลัก อาจจะมีประเภทอื่นปนมาอยู่บ้างแต่สัดส่วนไม่มากเท่าบ้านเดี่ยวนะครับ ดังนั้นเขาจึงถือเอาว่านี่คือการอยู่อาศัยแบบหนาแน่นน้อย




สีส้มคือหนาแน่นปานกลาง ก็คือสามารถสร้างพวกอาคารแถว อาคารพาณิชย์ บ้านแถว ได้ หรือบางส่วนอาจจะเป็นที่พักอาศัยรวมได้ด้วย ใครอยากจะสร้างบ้านเดี่ยวในพื้นที่นี้ก็ได้ไม่ว่ากัน แต่จะมาสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เนื่องจากถูกควบคุมด้วยความหนาแน่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่จึงถูกบังคับกลายๆว่าให้สร้างได้แต่ในพื้นที่สีแดงเท่านั้น



สีแดงคือย่านการค้า หรือบริเวณที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง ซึ่งก็คืออาคารที่มีความสูงมากกว่าพวกสีส้ม และเหลือง อาจจะเป็นอาคารสำนักงาน อาคารขนาดใหญ่ ทั้งนี้การก่อสร้างต้องดูกฎหมายควบคุมอาคารในรายละเอียดอีกทีว่าต้องมีระยะร่น หรือการเว้นพื้นที่ว่างประมาณไหน

เมื่อท่านได้เห็นภาพตัวอย่างของความหนาแน่นตามประเภทของสีในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักการของผังเมืองรวมนี้แล้ว ก็คงจะพอทำให้ท่านจินตนาการได้ชัดเจนพอสมควรนะครับว่า สีแดงๆที่เห็นในผังเมืองรวมนั้นจะเกิดอาคารอะไร แบบไหน ต่อไปในอนาคต



แต่สิ่งที่ผมอยากให้ทุกท่านได้ตระหนักก็คือภาพรายละเอียดที่อยู่ในผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาภาพนี้ ท่านจะเห็นว่าพื้นที่สองข้างลำตะคองช่วงที่พาดผ่านเมืองนั้น มันเป็นสีแดงกับสีส้มเป็นส่วนใหญ่  และสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปสำหรับผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้ก็คือ ระยะร่นที่ควบคุมตลอดแนวสองฝั่งลำตะคองที่เคยบังคับเอาไว้ว่า ระยะ 50 เมตรจากฝั่งลำตะคองนั้น สามารถสร้างได้เฉพาะบ้านพักอาศัยเท่านั้น (ระยะ 6 เมตรจากฝั่งลำตะคองห้ามสร้างอาคารทุกชนิด) มันถูกเปลี่ยนตัวเลขให้กลายเป็น 15 เมตรเสียแล้ว  อย่างนี้ท่านทั้งหลายคงพอจะนึกภาพได้กระมังว่าลำตะคองสมบัติสาธารณะของชาวโคราชทั้งหมดนั้น กำลังถูกคุกคามจากอะไร







หลายท่านอาจจะนึกภาพไม่ออก ผมก็เลยนำเสนอภาพธรรมชาติการไหลของน้ำในพื้นที่เมืองนครราชสีมาให้ท่านดูอีกครั้ง  น้ำจะไหลจากด้านมทส.มาเข้าสู่เมือง การที่เคยมีอ่างเถกิงพลก็ช่วยลดภาระการไหลมาสู่เมืองได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อหมดอ่างเถกิงพล น้ำที่เคยหยุดอยู่มันก็เลยไหลเป็นปริมาณมากขึ้น มันไหลไปหาลำตะคองช่วงที่พาดผ่านเมืองมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์หรือก่อนหน้าโน้นมาแล้ว  จากนั้นเขาก็พากันไปต่อจนถึงพิมาย ชุมพวง ไปออกสู่ลำน้ำใหญ่ต่อไป  แต่มาถึงทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจธรรมชาติ ตั้งถิ่นฐานกันหนาแน่นขึ้น พื้นที่รับน้ำก็หมดไป ตัดถนนกันสนุนสนานก็ไม่ดูทางไหลของน้ำ ถนนก็กลายเป็นเขื่อนกักน้ำไว้ให้มันยกตัวสูงขึ้น(แต่ยังคงไหลหาที่ต่ำต่อไป) กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมทั้งเมืองอย่างที่เห็น

ลองเอาภาพทิศทางการไหลของน้ำ ไปเปรียบเทียบกับการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาดูเอาเถิดครับพี่น้องทั้งหลาย  หากสติท่านไม่เลอะเลือนเกินไป ท่านก็คงพอจะอนุมานได้ว่า ปัญหาน้ำท่วมกับเมืองโคราชนั้น มันไม่มีทางที่จะลดลงไปได้เลย มีแต่จะเพิ่มความวิกฤติมากขึ้นตามวันเวลาเท่านั้น

ถ้าเรายังไม่หันมาทำความเข้าใจธรรมชาติของเมือง และการใช้มาตรการด้านการผังเมืองบังคับใช้อย่างเข้มข้นโดยไม่ปล่อยปละละเลยกับความเห็นประโยชน์เฉพาะตัวอย่างที่ผ่านๆมา.......ยากครับแต่ทำได้




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2558   
Last Update : 11 สิงหาคม 2558 22:08:27 น.   
Counter : 18271 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

bicycleman
Location :
นครราชสีมา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




บุคคลหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร วันหนึ่งค้นพบว่าเรากำลังตกอยู่ในอิทธิพลของเจ้าเครื่องจักรบริโภคน้ำมันที่ชื่อว่ารถยนต์ จนหลงลืมทำลายเมืองและวิถีวัฒนธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้มัน ตั้งแต่นั้นก็มุ่งมั่นที่จะปฏิวัติเมืองด้วยจักรยาน จึงสร้างบล็อคนี้มาเพื่อหาแนวร่วม
[Add bicycleman's blog to your web]