ผังเมืองรวม เมืองนครราชสีมา
ธรรมชาติเมืองกับผังเมืองรวม
วันนี้ผมจะมาทำความเข้าใจในเรื่องผังเมืองรวม เมืองนครราชสีมา ให้ท่านทั้งหลายได้รู้จัก ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาฉบับที่กำลังจะออกมานี้ เป็นการปรับปรุงครั้งที่สาม โดยเงื่อนไขของการบังคับใช้ผังเมืองรวมนั้นจะมีอายุบังคับใช้ฉบับละ 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้วยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ เขาอนุโลมให้ใช้ฉบับเดิมต่อไปได้อีกครั้งละ 1 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง สรุปโดยง่ายๆก็คือผังเมืองรวมฉบับหนึ่งนั้นอายุการบังคับใช้ของมันคือ 7 ปี ถ้าภายในเวลานี้ไม่มีฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ ให้ถือว่าผังเมืองนั้นขาดอายุ(คือไม่มีกฎหมายตัวนี้บังคับใช้) ซึ่งนี่คือช่องทางหนึ่งของการที่จะทำอะไรที่ไม่เคยทำได้ตอนที่ผังเมืองตัวนี้บังคับอยู่ หลายๆเมืองก็เลยมีกรณีปล่อยให้มันหมดอายุไป เพื่อที่พรรคพวกฉันจะได้ทำอะไรได้เสียที เมื่อพรรคพวกฉันทำอะไร(ที่ไม่เคยทำได้เมื่อมีผังเมืองอยู่)เรียบร้อยแล้ว ค่อยทำให้มีผังเมืองฉบับใหม่ออกมาใช้อีกที....ที่บ้านเมืองล่มจมฉิบหาย ปัญหามีสาระพัด ไม่เกิดผลตามที่ผังเมืองวางไว้ก็เพราะผู้คนที่ข้ามความสนิทชิดเชื้อและการเสียประโยชน์ตนเองเพื่อส่วนรวมไม่ได้แบบนี้ล่ะครับ(คนพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้จนนะครับ)
แต่ถึงแม้ว่าผังเมืองจะขาดอายุก็ไม่ได้หมายความว่าบรรดาผู้เห็นประโยชน์ตนสำคัญกว่าบ้านเมืองจะทำอะไรได้ตามใจง่ายๆนะครับ เพราะว่ากฎหมายอื่นก็ยังคงทำงานอยู่ หรือแม้แต่กฎหมายผังเมืองเองก็เถอะแม้จะขาดอายุบังคับใช้ไปแล้ว แต่เจตนารมย์ของกฎหมายมันยังอยู่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหากอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการใดๆไปโดยอ้างว่าผังเมืองมันหมดอายุไปแล้ว ก็มีสิทธิ์โดนคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้นะครับเพราะถือว่ารู้เจตนารมย์ของกฎหมายอยู่แต่ยังอนุญาตให้เขาฝ่าฝืนด้วยข้ออ้างว่ามันหมดอายุ (แต่ที่ยังไม่มีคดีกันก็เพราะว่าผู้เสียประโยชน์คือประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้สิทธิ์ คนรู้เรื่องก็กลายเป็นคนที่ดูแลกฎหมายกับนายทุน สมประโยชน์กันดีก็เงียบๆกันไป ดังนั้นเวลาที่มีปัญหาในบ้านเมืองขอให้ทุกท่านเข้าใจตรงกันว่าควรจะต้องตำหนิผู้คนเหล่านี้ไม่ใช่ไปตำหนิว่าผังเมืองมันไม่ดี)
ฉบับที่กำลังจะประกาศใช้ในเวลาอีกไม่นานนี้ก็น่าจะหน้าตาประมาณภาพที่เห็นนี้นะครับ นี่เป็นแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา(ฉบับปรับปรุงครั้งที่3) สีต่างๆที่เห็นก็เป็นสัญลักษณ์แสดงให้ดูว่าแต่ละพื้นที่นั้นมีการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร ซึ่งบรรดาการควบคุมทั้งหลายนั้นก็เกิดมาจากการหาข้อมูลทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และกายภาพของเมืองนั้นๆมากำหนดเป็นนโยบายการใช้พื้นที่ของเมือง(ส่วนใหญ่ก็มักจะอ้างอิงกับกิจกรรมเดิมครับ)
สองภาพที่ผ่านมาคือสัญลักษณ์ในแผนที่และความหมายของสีในแผนที่ครับ ในเรื่องของสีนั้นจะมีสีที่สำคัญอยู่คือสีเหลืองที่หมายถึงที่พักอาศัยหนาแน่นน้อย สีส้มหมายถึงที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลาง และสีแดงคือที่พักอาศัยหนาแน่นสูงหรือย่านพาณิชยกรรม สีม่วงคือพื้นที่อุตสาหกรรม
เพื่อให้ท่านกัลยาณมิตรของผมเข้าใจและเห็นภาพว่าเหลือง ส้ม แดง มันเป็นอย่างไร ผมจึงขอนำเอาภาพตัวอย่างของพื้นที่สีนั้นๆมาให้ชมดังนี้ครับ
สีเหลืองที่เป็นที่พักอาศัยหนาแน่นน้อยนั้น จะควบคุมให้สร้างได้แต่เฉพาะบ้านเดี่ยวเป็นหลัก อาจจะมีประเภทอื่นปนมาอยู่บ้างแต่สัดส่วนไม่มากเท่าบ้านเดี่ยวนะครับ ดังนั้นเขาจึงถือเอาว่านี่คือการอยู่อาศัยแบบหนาแน่นน้อย
สีส้มคือหนาแน่นปานกลาง ก็คือสามารถสร้างพวกอาคารแถว อาคารพาณิชย์ บ้านแถว ได้ หรือบางส่วนอาจจะเป็นที่พักอาศัยรวมได้ด้วย ใครอยากจะสร้างบ้านเดี่ยวในพื้นที่นี้ก็ได้ไม่ว่ากัน แต่จะมาสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เนื่องจากถูกควบคุมด้วยความหนาแน่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่จึงถูกบังคับกลายๆว่าให้สร้างได้แต่ในพื้นที่สีแดงเท่านั้น
สีแดงคือย่านการค้า หรือบริเวณที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง ซึ่งก็คืออาคารที่มีความสูงมากกว่าพวกสีส้ม และเหลือง อาจจะเป็นอาคารสำนักงาน อาคารขนาดใหญ่ ทั้งนี้การก่อสร้างต้องดูกฎหมายควบคุมอาคารในรายละเอียดอีกทีว่าต้องมีระยะร่น หรือการเว้นพื้นที่ว่างประมาณไหน
เมื่อท่านได้เห็นภาพตัวอย่างของความหนาแน่นตามประเภทของสีในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักการของผังเมืองรวมนี้แล้ว ก็คงจะพอทำให้ท่านจินตนาการได้ชัดเจนพอสมควรนะครับว่า สีแดงๆที่เห็นในผังเมืองรวมนั้นจะเกิดอาคารอะไร แบบไหน ต่อไปในอนาคต
แต่สิ่งที่ผมอยากให้ทุกท่านได้ตระหนักก็คือภาพรายละเอียดที่อยู่ในผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาภาพนี้ ท่านจะเห็นว่าพื้นที่สองข้างลำตะคองช่วงที่พาดผ่านเมืองนั้น มันเป็นสีแดงกับสีส้มเป็นส่วนใหญ่ และสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปสำหรับผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้ก็คือ ระยะร่นที่ควบคุมตลอดแนวสองฝั่งลำตะคองที่เคยบังคับเอาไว้ว่า ระยะ 50 เมตรจากฝั่งลำตะคองนั้น สามารถสร้างได้เฉพาะบ้านพักอาศัยเท่านั้น (ระยะ 6 เมตรจากฝั่งลำตะคองห้ามสร้างอาคารทุกชนิด) มันถูกเปลี่ยนตัวเลขให้กลายเป็น 15 เมตรเสียแล้ว อย่างนี้ท่านทั้งหลายคงพอจะนึกภาพได้กระมังว่าลำตะคองสมบัติสาธารณะของชาวโคราชทั้งหมดนั้น กำลังถูกคุกคามจากอะไร
หลายท่านอาจจะนึกภาพไม่ออก ผมก็เลยนำเสนอภาพธรรมชาติการไหลของน้ำในพื้นที่เมืองนครราชสีมาให้ท่านดูอีกครั้ง น้ำจะไหลจากด้านมทส.มาเข้าสู่เมือง การที่เคยมีอ่างเถกิงพลก็ช่วยลดภาระการไหลมาสู่เมืองได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อหมดอ่างเถกิงพล น้ำที่เคยหยุดอยู่มันก็เลยไหลเป็นปริมาณมากขึ้น มันไหลไปหาลำตะคองช่วงที่พาดผ่านเมืองมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์หรือก่อนหน้าโน้นมาแล้ว จากนั้นเขาก็พากันไปต่อจนถึงพิมาย ชุมพวง ไปออกสู่ลำน้ำใหญ่ต่อไป แต่มาถึงทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจธรรมชาติ ตั้งถิ่นฐานกันหนาแน่นขึ้น พื้นที่รับน้ำก็หมดไป ตัดถนนกันสนุนสนานก็ไม่ดูทางไหลของน้ำ ถนนก็กลายเป็นเขื่อนกักน้ำไว้ให้มันยกตัวสูงขึ้น(แต่ยังคงไหลหาที่ต่ำต่อไป) กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมทั้งเมืองอย่างที่เห็น
ลองเอาภาพทิศทางการไหลของน้ำ ไปเปรียบเทียบกับการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาดูเอาเถิดครับพี่น้องทั้งหลาย หากสติท่านไม่เลอะเลือนเกินไป ท่านก็คงพอจะอนุมานได้ว่า ปัญหาน้ำท่วมกับเมืองโคราชนั้น มันไม่มีทางที่จะลดลงไปได้เลย มีแต่จะเพิ่มความวิกฤติมากขึ้นตามวันเวลาเท่านั้น
ถ้าเรายังไม่หันมาทำความเข้าใจธรรมชาติของเมือง และการใช้มาตรการด้านการผังเมืองบังคับใช้อย่างเข้มข้นโดยไม่ปล่อยปละละเลยกับความเห็นประโยชน์เฉพาะตัวอย่างที่ผ่านๆมา.......ยากครับแต่ทำได้
Create Date : 11 สิงหาคม 2558 |
Last Update : 11 สิงหาคม 2558 22:08:27 น. |
|
21 comments
|
Counter : 18274 Pageviews. |
|
|
|
ควรจะใช้มาตราบังคับอย่างเข้มงวดมากขึ้น