จักรยานปฏิวัติเมือง รวมเรื่องของทางจักรยานและการออกแบบเมือง

ทางจักรยานในประเทศเยอรมัน ตอนที่ 3 ภาครายละเอียด

ยังอยู่ที่ประเทศเยอรมันครับ ลองมาดูกันว่าเค้ามีการวางแผนอำนวยความสะดวกในการขี่จักรยานให้กับประชากรในเมืองเค้าอย่างไรกัน หลายท่านอาจจะคิดว่าทำไมชันต้องมารับรู้เรื่องอย่างนี้ด้วย มันเป็นหน้าที่ของพวกวิศวกรหรือไม่ก็นักผังเมืองที่จะออกแบบมันนี่นา นี่แหละครับถ้าท่านคิดแบบนี้บ้านเรามันถึงไม่มีทางจักรยานให้คนธรรมดากันสักที ประชาชนทั่วไปต้องมีความรู้เรื่องนี้กันให้กว้างขวางครับเพราะเราไม่มีนักการเมืองคุณภาพมากพอ จึงต้องอาศัยให้ประชาชนมีความรู้มากๆแล้วกดดันให้เกิดการพัฒนาอย่างที่ประชาชนต้องการ




ภาพนี้คือบริเวณที่เป็นทางร่วมทางแยกครับจะเห็นรางรถรางอยู่ทางด้านซ้ายของภาพนะครับ แล้วก็ถนนเส้นนี้เค้าจะมีเลนให้รถยนต์เลนเดียวจริงๆ ข้างๆก็เป็นทางจักรยาน เฉพาะบริเวณที่เป็นทางแยกที่ต้องหยุดรอสัญญาณไฟนั้นก็จะมีการกันพื้นที่ไว้ให้สำหรับจักรยานไว้หยุดอยู่ด้านหน้าของรถยนต์(อย่างนี้ถ้าทำที่บ้านเรามันต้องใช้งบประมาณอะไรเพิ่มจากที่ทำกันอยู่มั้ยครับ...ไม่เลยครับ..ต้องการเพียงแค่ความใส่ใจและความละเอียดอ่อนในการวางแผนเท่านั้นเอง)





เจ้ารถคันเล็กที่เราเห็นในภาพที่แล้วตอนนี้ผมเดินข้ามแยกมาอยู่ด้านหน้าของมันแล้วถ่ายภาพย้อนกลับไปครับ เพื่อจะให้เห็นรายละเอียดบนพื้นถนนครับ ที่เห็นเป็นเส้นประสีขาวบนถนนนั่นแหละครับคือเลนสำหรับจักรยานเวลาที่ได้สัญญาณในการข้ามถนนในแยกนี้ครับ ส่วนเส้นขาวทึบเส้นยาวๆสองเส้นทางดานซ้ายมือของเรานั่นคือทางข้ามของคนขี่จักรยานที่มาจากทางตรงครับ

ภาพนี้ผมยืนถ่ายภาพอยู่บนรางของรถรางครับ บ้านเรานั้นอาจจะไม่มีรถรางอย่างบ้านเค้าเรามีแต่ถนนกับรถยนต์ แต่ถ้าเราจะทำสัญลักษณ์สำหรับจักรยานอย่างเค้าบ้างจะเป็นไรไปครับ มันคงไม่เปลืองงบประมาณสักเท่าไร แล้วอย่างเถียงผมนะครับว่าทำแล้วก็ไม่มีคนใช้งาน เพราะถ้าไม่ทำเอาไว้แล้วชาติไหนคนจะนึกอยากออกมาใช้จักรยานล่ะครับ เราต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้จักรยานและคนเดินเท้าอย่างสุดโต่งเสียก่อนจึงจะได้เห็นคนเดินเท้าและขี่จักรยานมากขึ้น แต่ทุกวันนี้เสนอไอเดียให้ทำแบบนี้ทีไร ท่านผู้บริหารทั้งหลายก็มักจะตอบเป็นมาตรฐานเดียวกันว่า บ้านเรานั้นคนเดินกับขี่จักรยานมีน้อย ไม่จำเป็น....ไปโน่น







สองภาพนี้เป็นรายละเอียดบริเวณที่เป็นทางข้ามบนถนน จะเห็นทางม้าลายที่ชัดเจนสำหรับคนเดินเท้า และเลนจักรยานก็จะมีพื้นเป็นสีแดงแบ่งแยกให้เห็นอย่างชัดๆ เคยเห็นในเมืองใดของประเทศไทยบ้างหรือเปล่าครับ มันใช้เทคโนโลยีอะไรมากมายนักหนาหรือไง ทำไมเราถึงจะมีไม่ได้ คำตอบเดียวกับที่ทำไมประเทศเรายังล้าหลังอยู่ทุกวันนี้ก็คือเราไม่เคยมีวิสัยทัศน์ครับ ผมยังไม่เจอผู้บริหารเมืองคนไหนที่กล้าพูดกับผมว่าอยากได้แบบนี้ทำให้หน่อยได้มั้ยครับ(ผมจะออกแบบให้อย่างสุดหัวใจ) มีแต่บอกว่า บ้านเราทำไม่ได้หรอก คนไม่ขี่จักรยานกัน มันร้อนนนนน (ยอมแพ้เสียตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นอย่างนี้แล้วเมื่อไรชาติมันจะพัฒนาวะ)

เห็นถนนในภาพของเค้านั่นมันกว้างไม่เบาทีเดียว แต่ว่าบนถนนมีทั้งรถราง มีทั้งไบค์เลน มีทั้งรถยนต์ใช้งานร่วมกันครับ แต่ละยานพาหนะก็มีขอบเขตของตนเองอย่างชัดเจน ใครล้ำเขตคนอื่นก็คือการทำผิดกฎหมายจราจร ดังนั้นขับรถยนต์ในบ้านเมืองนี้แค่ขับอยู่ในเลนตัวเองก็ไปได้ตลอดแล้วครับ ตรงไหนเป็นทางแยกทางเลี้ยวที่ต้องมีการตัดสินใจว่าใครจะไปใครจะหยุด เค้าก็มีสัญญาณไฟควบคุมทุกยานพาหนะให้ไว้ในทุกจุด ควบคุมทุกรูปแบบการจราจรที่เกิดขึ้นบนถนนไม่ว่าจะเป็นคนข้ามถนนก็ต้องรอสัญญาณไฟของคนข้ามถนน รถจักรยานก็ต้องรอสัญญาณของรถจักรยาน เรียกว่าทางใครทางมัน ยกเว้นมีใครแหกกฎเท่านั้นแหละครับจึงจะเกิดอุบัติเหตุ

ลองดูในภาพสุดท้ายตรงบริเวณที่เป็นทางม้าลายกับทางเท้ามาเจอกันนะครับ จะเห็นว่าเค้าทำลาดทางเท้าให้มีระดับเท่ากันกับถนน เพื่อให้คนพิการที่ใช้รถเข็นข้ามถนนได้โดยไร้อุปสรรคครับ ทางลาดแบบนี้ ณ ปัจจุบันมีหลายเทศบาลที่มีความพยายามจะทำกันครับ แต่เท่าที่ผมเจอมาส่วนใหญ่ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่างก่อสร้างทำๆกันไปพอให้มันเป็นทางลาดโดยไม่มีความละเอียดอ่อนว่าความชันมันจะต้องประมาณเท่าไร ผลที่ออกมาก็คือทางลาดในหลายๆจุดมีความชันมหาศาลกลายเป็นบริเวณที่มีอันตรายสำหรับคนพิการมากกว่าจะมีความสะดวก....เศร้าอีกแล้วครับประเทศนี้




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2552   
Last Update : 1 พฤษภาคม 2552 21:55:02 น.   
Counter : 1529 Pageviews.  

ทางจักรยานในประเทศเยอรมัน ตอนที่ 2

ถนนทุกสายของที่นี่มีการคำนึงถึงผู้ใช้ในทุกระดับตั้งแต่คนเดินเท้าไปจนกระทั่งถึงระบบขนส่งมวลชน มีสัญญาณไฟจราจรควบคุมทุกรูปแบบการเดินทาง คือคนเดินเท้าก็มีไฟเขียวไฟแดง(ซึ่งระบบไฟเขียวไฟแดงสำหรับคนเดินเท้านี้ประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองในต่างจังหวัดนั้นไม่ค่อยให้ความสนใจแต่อย่างใด) รวมไปถึงจักรยานด้วย นี่จึงเป็นการสร้างระบบให้คนทีเดินทางรู้จักที่จะเคารพสิทธิ์ของคนที่เดินทางร่วมกันบนถนนแต่ใช้รูปแบบยานพาหนะต่างกัน






ส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของระบบทางจักรยานที่นี่ก็คือระบบจักรยานตามสั่งครับ เรียกว่า call a bike เป็นจักรยานไฮเทคสีแดง รูปร่างเหมือนจักรยานทั่วไป แต่มีระบบต่างๆที่ดีกว่าเยอะแยะเป็นต้นว่าระบบขับเคลื่อนใช้แบบสายพานไม่ใช่โซ่ มีระบบควบคุมด้วยgprsแน่ๆ เพราะเห็นในคำแนะนำนั้นเค้าบอกว่าหากเราต้องการใช้จักรยานแบบนี้ก็โทรไปที่เบอร์โทรของบริษัทแล้วเค้าจะให้รหัสในการปลดล๊อคจักรยานอะไรประมาณนั้น เห็นจอดอยู่ในหลายจุดในเมืองนี้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นการบริการแบบอยากได้จักรยานขี่ก็ให้โทรไปที่ศูนย์ทางศูนย์เค้าก็จะมีข้อมูลว่ามีจักรยานคันไหนจอดอยู่ใกล้จุดที่เราอยู่มากที่สุด เค้าก็จะให้รหัสการเปิดล๊อคของจักรยานคันนั้นมา เราก็เอาไปเปิดใช้ (อันนี้เดาเอานะครับ)























ระบบแบบนี้ถ้าหากนำมาใช้บ้านเราท่าทางจะลำบากครับ เพราะดูแล้วน่าจะหลายตังค์เพราะมันค่อนข้างจะไฮเทคแล้วก็ใช้เทคโนโลยีที่เกินจำเป็นสำหรับบ้านเรา ข้อสำคัญที่เค้ามีระบบจักรยานตามสั่งเช่นนี้ได้ก็เพราะว่าในประเทศเยอรมันนั้น การวางผังเมือง การวางผังชุมชน เค้ามีการคำนึงถึงสวัสดิภาพของคนเดินเท้าและขี่จักรยานเป็นหลัก

ต่างกับบ้านเราลิบลับที่อะไรๆก็ต้องหาถนนกับที่จอดรถยนต์เอาไว้ก่อน วิธีคิดมันกลับหัวกลับหางกันครับ เค้าเป็นประเทศผลิตรถยนต์แต่เค้านิยมให้คนเดินกับขี่จักรยาน(เนื่องจากมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันแล้วว่าเป็นการเดินทางในเมืองที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและรบกวนมลภาวะน้อยที่สุด)

แต่ประเทศกสิกรรมอย่างเรากลับอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทุกประการ ทุกวิถีทางให้กับผู้ใช้รถส่วนตัว ทั้งที่คนที่มีความสามารถที่จะมีรถส่วนตัวได้ในเมืองนั้นมีไม่เกินยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของประชากร(แต่เป็นเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอำนาจในการวางระบบการจราจร).....สังเวชใจครับประเทศนี้




 

Create Date : 26 เมษายน 2552   
Last Update : 1 พฤษภาคม 2552 14:50:25 น.   
Counter : 1959 Pageviews.  

ทางจักรยานในประเทศเยอรมัน ตอนที่ 1

มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับทางจักรยานของสองประเทศในกลุ่มยุโรป ที่ได้ชื่อว่าส่งเสริมด้านการขี่จักรยานอย่างเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ เยอรมันน่ะไม่เท่าไรแต่ว่าเนเธอร์แลนด์นี่เค้าคุยว่าเค้าเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้านการใช้จักรยานในพื้นที่เมือง แต่เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบการใช้จักรยานของสองประเทศนี้ ผมขอนำเสนอทางจักรยานของประเทศเยอรมันก่อนแล้วกันครับ





ประเทศกลุ่มยุโรปเค้ามีการประชุมกันเรื่องการใช้จักรยานเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วและเกิดพันธกิจร่วมกันเรื่องการพัฒนาเส้นทางจักรยานให้เป็นเครือข่ายต่อเนื่องกันทั้งกลุ่มยุโรป ใช้ชื่อโครงการว่า จักรยานเปลี่ยนโฉมหน้ายุโรป โดยให้แต่ละประเทศไปพัฒนาเส้นทางจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานในประเทศของตนในสองลักษณะคือเส้นทางจักรยานที่ใช้งานในท้องถิ่นกับเส้นทางที่เป็นเส้นทางจักรยานที่สามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายกับประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มยุโรปด้วยกัน เยอรมันก็เป็นประเทศที่รับข้อเสนอนี้ด้วย เส้นสีดำที่เห็นในแผนที่คือเส้นทางที่เป็นเส้นทางท้องถิ่นของเยอรมันเองส่วนเส้นสีเขียว(อาจจะเห็นไม่ชัดนักด้วยการย่อขนาดภาพที่เล็กเพื่อให้สามารถแสดงบนบล๊อกได้) นั่นคือเส้นทางที่เยอรมันจะพัฒนาให้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางจักรยานของประเทศอื่น




ด้วยการจัดการระบบขนส่งสาธารณะที่ดีทำให้ประเทศนี้เค้าไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องรถยนต์เหมือนบ้านเรา จากภาพนี้จะเห็นว่าบนถนนนั้นเป็นการเรียงหินไม่ใช่ผิวแอสฟัลท์เพราะเป็นถนนในย่านที่พักอาศัยอีกทั้งกลางถนนนั้นหากสังเกตให้ดีจะเห็นรางของรถรางแทรกอยู่ ในย่านนี้จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้เฉพาะคนเดินเท้า ขี่จักรยาน และรถรางเท่านั้น ส่วนรถยนต์หากเข้ามาก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวจะเที่ยวจอดสะเปะสะปะมิได้ เพราะไม่มีการอำนวยความสะดวกให้ ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้คนใช้การเดิน ขี่จักรยานและบริการรถราง เท่านั้น พื้นที่ของรถยนต์มีให้แต่ในเส้นขาวที่อยู่ริมที่จอดรถที่เห็นในภาพเท่านั้นเอง ซึ่งแนวคิดแบบนี้แตกต่างจากบ้านเราอย่างลิบลับเพราะบ้านเรานั้นขอให้ถนนมีพื้นที่เท่าไรฉันก็จะทำไว้ให้รถวิ่งกันให้หมด ไม่ต้องนึกถึงจักรยานหรือว่าคนเดินกันล่ะ












ด้วยถนนที่เล็กแคบเช่นนี้ก็เพราะว่าเค้าต้องการอนุรักษ์ความเป็นย่านประวัติศาสตร์ของพื้นที่เอาไว้ อีกทั้งป้องกันการรุกลำ้ของอารยธรรมรถยนต์ในเมืองของเขา แต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัดเช่นนั้นการจะหาที่จอดรถก็เป็นเรื่องลำบาก จึงมีนโยบายให้จอดรถในลักษณะที่คร่อมไปบนทางเท้าได้ เนื่องจากเค้าทำถนนเดิมเล็กแคบแต่ทางเท้าเค้ากว้าง แม้ว่าจะมีรถยนต์จอดคร่อมทางเท้าอยู่่คนก็ยังเดินได้ไม่รู้สึกเป็นอุปสรรค เมื่อไรที่รถยนต์ออกไปแล้ว ก็ปรากฏให้เห็นแต่ทางเท้าไม่มีที่จอดรถให้ดูอุจาดตา เป็นแนวคิดที่น่าสนใจซึ่งก็สวนทางกับประเทศไทยที่รักของเราอีกเช่นเคย เพราะบรรดานักการเมืองสมองถั่วทั้งหลายท่านนิยมที่จะทุบทิ้งทางเท้าเพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถแต่อย่างเดียว โดยไม่เคยคำนึงถึงความรู้สึกเรื่องการเดินเท้าและบรรยากาศความสวยงามของเมืองแต่อย่างใด ซึ่งเหตุการณ์อย่างที่ว่านี้ปรากฏในเทศบาลต่างๆของประเทศไทยอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะที่อุบลราชธานีที่ประชาชนถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาปกป้องทางเท้าไม่ให้ถูกทุบทำลายเป็นถนน แต่ยังไม่เคยเห็นในเมืองอื่นๆ




 

Create Date : 05 เมษายน 2552   
Last Update : 5 เมษายน 2552 23:30:53 น.   
Counter : 2214 Pageviews.  

ขอแค่นี้ก่อน ทำให้ได้ไหมท่านผู้บริหารเมืองที่เคารพ

ผมมาลองคิดเล่นๆว่า ถ้าเราจะทำเมืองของเราให้มันได้สักหนึ่งในล้านของเมืองโบโกต้านี่จะเริ่มตรงไหนก่อน ทำอย่างไรจะให้คนหันมาใช้จักรยานกันบ้าง ในเมื่อถนนบ้านเราเต็มไปด้วยคนขับรถที่ไร้มารยาทและขาดความรับผิดชอบต่อคนอื่นและตัวเอง(บางคนยังโทรแล้วขับ บางคนขี่มอเตอร์ไซด์ไม่ใส่หมวกกันน๊อค)


สมมุติว่าถ้าเราดันทุรังที่จะขี่จักรยานออกมานอกบ้าน แล้วเราจะข้ามถนนยังไง มันคงลำบากลำบนพิกล แล้วจะเอาจักรยานไปจอดไว้ที่ไหน(ที่มันจะไม่หายไป) เอาเป็นว่าแค่เราทำให้คนใช้จักรยานมีความสะดวกมากขี้นด้วยการทำสิ่งอำนวยความสะดวกง่ายๆไว้ในเมืองกันจะดีมั้ยครับ สิ่งนั้นก็คือทางลาดสำหรับจักรยานครับท่าน ถ้าหากว่ามีติดไว้บนสะพานลอยทุกแห่งในพื้นที่เมือง คนขี่จักรยานก็จะได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย พอเป็นกำลังใจให้กล้าออกมาเผชิญกับเจ้าของเมืองอย่างรถยนต์ได้ ดีมั้ยครับ




เราทำทางลาดอย่างนี้แหละครับ ติดตั้งมันให้ทุกสะพานลอยในประเทศไทยเลย อย่าถามนะว่าจะมีคนใช้มันหรือไม่ เพราะนี่คือความเอื้ออาทรจากผู้บริหารเมืองเพื่อให้คนใช้จักรยาน เมื่อมีมันจึงจะมีคนใช้งาน อย่ามามัวอ้างว่าต้องมีคนอยากได้ก่อนถึงจะทำให้ (กลับไปอ่านแนวคิดของเพนาโลซ่าครับ)

เวลาใช้งานก็ลากขึ้นไปแบบนี้ล่ะครับ ง่ายและสะดวก ไม่ต้องคิดอะไรมาก


อันนี้เป็นรูปแบบของต่างประเทศเค้า แต่ผมว่าคนไทยเราหัวคิดประดิษฐ์ดัดแปลงนั้นไม่เป็นรองใครในโลก อยู่แต่ว่าจะคิดทำหรือไม่เท่านั้น อย่ามองว่าการมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยานเป็นเรื่องเกินความจำเป็น มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับต่างหาก เพราะหากท่านผู้บริหารเมืองทั้งหลายมีเวลาหยุดคิดสักนิด(ระหว่างนั่งรอเปิดงานอะไรก็ได้) ท่านจะสำเหนียกได้ว่า มีคนจำนวนมหาศาลในเมืองของท่านที่สามารถจะซื้อจักรยานได้ แต่มีคนเพียงแค่ไม่กี่พันเท่านั้นที่สามารถจะซื้อรถยนต์ได้ แล้วท่านควรจะทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ใคร?



ทุกที่ที่มีบันได้ต้องมีการทำทางลาดแบบนี้ไปเกาะเอาไว้ เกินความสามารถที่จะทำได้มั้ยคร้าบบบบบ ท่านผู้บริหารครับ




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2551   
Last Update : 1 ตุลาคม 2551 23:02:33 น.   
Counter : 873 Pageviews.  

ทำไมนายกเทศมนตรีเมืองไหนก็ได้ในประเทศไทย ไม่คิดแบบนายคนนี้บ้าง (เพนาโลซ่า ภาคข้อคิด)

บางคำพูดของเพนาโลซ่า ชายผู้เปลี่ยนโฉมหน้าเมืองโบโกต้า

“ พื้นที่สาธารณะ(รวมถึงถนน)เป็นพื้นที่สำหรับการสันทนาการ ประกอบการค้า เล่นสนุก และแสดงความรักระหว่างกัน เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถตีราคาออกมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือคำนวณเป็นตัวเลขได้ เพราะมันคือจิตวิญญาณร่วมกันของเมือง เป็นทรัพย์สมบัติสำหรับทุกคนในเมือง”


“ระบบขนส่งในพื้นที่เมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องของความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ทางด้านเทคนิค ไม่ใช่เรื่องของระบบกลไกหรือวิศวกรรม แต่สิ่งที่สำคัญก็คือในกระบวนการตัดสินใจนั้น ต้องคำนึงถึงว่าใครควรจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการขนส่งนั้นๆ(ซื่งแน่นอนก็คือประชากรส่วนใหญ่ในเมืองที่อาจจะไม่เคยมีรถยนต์เป็นของตนเองเลย)”

“ในประเทศของผมนั้น(หมายถึงโคลัมเบียนะครับ ไม่ใช่ประเทศไรก็ไม่รู้ที่ทะเลาะกันเองอยู่ทุกวันนี้) เราเพิ่งจะได้เรียนรู้ว่า ทางเท้านั้นมีความสำคัญกับการเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่แค่สำหรับเดินอยู่ข้างถนน”

“พื้นที่สาธารณะสำหรับคนเดินเท้านั้นไม่ใช่สิ่งที่จะมาวัดเป็นตัวเงินหรืองบประมาณ (แบบว่าควรสร้างไม่ควรสร้าง สร้างแล้วจะมีคนใช้หรือเปล่า คุ้มกับงบประมาณที่เสียไปมั๊ย อย่างนักการเมืองน้ำเน่าบางคนชอบกล่าวอ้างเมื่อพูดถึงการพัฒนาทางเท้าในประเทศไทย) เช่นเดียวกับความรู้สึกในการดำรงชีวิตที่คุณไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าได้ มิตรภาพ ความงาม ความรัก ความศรัทธา มีมูลค่าเท่าไร? สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะอื่นๆสำหรับคนเดินเท้า เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของเมืองที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ”



“ในโลกของการสำนึกในสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน คุณภาพชีวิตของประชากร ในช่วงสองสามปีข้างหน้าต่อไปนี้ เมืองใหญ่ๆในกลุ่มประเทศโลกที่สาม(ประเทศยากจน บ้านเราก็อยู่ในกลุ่มนี้ครับอย่าเพ่อลำพองว่าเรากำลังพัฒนาไป)จะต้องคิดให้ต่างออกไป เมืองทุกเมืองต้องมีพื้นที่สำหรับเด็กๆและเยาวชนมากกว่ารถยนต์ กระดูกสันหลังของเมืองคือถนนสำหรับคนเดินเท้า ทางเท้าและสวนสาธารณะ โดยการสนับสนุนด้วยระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับพื้นที่เมือง”




สำหรับประชาชนที่เป็นผู้มีอันจะกินนั้น มีความสะดวกมากมายที่จะเดินทางไปพักผ่อนในบ้านริมชายหาด รีสอร์ทริมทะเลสาบ หรือบ้านพักบนภูเขา ในช่วงวันหยุดพักผ่อน หรือเดินตีกอล์ฟในสนามอันหรูหราในพื้นที่เมือง สวนสาธารณะในเมืองเป็นพื้นที่เดียวที่คนหลากหลายฐานะ ในเมืองจะได้มาพบเจอกัน


สำหรับคนจนแล้ว ทางเลือกเดียวที่จะพักผ่อนก็คือการเฝ้าติดตามละครน้ำเน่าจากโทรทัศน์ในช่วงที่มีเวลาว่างเท่านั้น(เพราะไม่มีพื้นที่พักผ่อนเช่นสวนสาธารณะในเมือง) ด้วยเหตุผลดังเช่นนี้ ทำไมเราไม่สร้างพื้นที่สาธารณะคุณภาพสูงสำหรับทุกคนที่เดินเท้า (ซึ่งก็คือทุกคนทุกฐานะในเมืองนั่นเอง) เพื่อคนทุกคนในเมืองจะได้มีสิทธิในการพักผ่อนในพื้นที่เมืองอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”


“ทำไมรัฐบาลกลางจึงส่งเสริมแต่การสร้างถนน ทำไมไม่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสวนสาธารณะ ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากสวนสาธารณะมากกว่าถนนเป็นไหนๆ” (เพราะไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่มีรถยนต์แต่ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปใช้สวนสาธารณะ)


“เรากล้ามั๊ย?ที่จะสร้างระบบขนส่งสำหรับประชาชนที่มีฐานะยากจนเข้าถึงได้โดยง่าย(เช่นระบบขนส่งมวลชนแบบพอเพียงของผม...อันนี้ผมเพิ่มให้ครับ) หรือจะคิดแต่จะแก้ปัญหารถติด การจราจรไม่สะดวก ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงเท่านั้น”

“พระเจ้าสร้างเราให้เป็นสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เช่นเดียวกับปลาที่ว่ายน้ำด้วยครีบ นกที่บินด้วยปีก กวางที่อยู่รอดด้วยการวิ่งอย่างรวดเร็ว พวกเราต้องการการเดิน ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดเยี่ยงสัตว์ แต่เพื่อความสุขในชีวิตต่างหาก”


“เมืองสมัยใหม่นั้นเราต้องการสังคมที่เคารพความเสมอภาคของมนุษย์ ด้วยความต้องการนี้ คุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ารายได้(หมายถึงว่าถ้าเราอยู่ในเมืองที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ว่าจะมีรายได้น้อยก็ไม่เป็นไร) ดังนั้นการอยู่อาศัยในเมืองจึงควรที่จะมีอิสรภาพจากเครื่องยนต์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“เราคงไม่สามารถกลับไปมีความเป็นอยู่ดังเช่นในอดีต(สมัยที่มีคนอยู่ในเมืองจำนวนน้อย)ได้อีกแล้ว แต่ผมเชื่อว่าการที่ทำให้เมืองมีการเดินเท้าได้สะดวก ด้วยถนนสำหรับคนและสวนสาธารณะ จะทำให้เราสร้างการอยู่อาศัยที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าสังคมของรถยนต์”



“ผมจินตนาการ เมืองในเขตร้อนนั้นควรจะมีถนนสำหรับคนเดินเท้าอย่างพลุกพล่าน ภายใต้ร่มเงาของพรรณไม้เขตร้อน นี่ต่างหากคือแก่นแท้ของชีวิตในเมืองของเรา”


“เราไม่ได้สร้างเมืองเพื่อการธุรกิจหรือรถยนต์ แต่เราสร้างเมืองเพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชนในเมือง แทนที่จะสร้างทางด่วนหรือถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เราเลือกที่จะควบคุมการเข้าถึงของรถยนต์ เราส่งเสริมให้เกิดทางเดินเท้าที่มีคุณภาพ มีถนนสำหรับคนเดิน สวนสาธารณะ ทางจักรยาน ห้องสมุด เรากำจัดป้ายโฆษณามากกว่าหนึ่งพันป้าย และเปลี่ยนเป็นต้นไม้ ความพยายามที่ดำเนินการทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพียงจุดหมายเดียวเท่านั้น คือ....ความสุข”


“เราสร้างสัญลักษณ์แห่งความเคารพนับถือในความเสมอภาคและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เพียงแค่ทางเท้าและทางจักรยานเท่านั้น มอเตอร์ไซด์ รถยนต์ที่จอดบนทางเท้าคือสัญลักษณ์ของความไม่มีคุณภาพและไม่เคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น “


“สี่สิบปีที่ผ่านมา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมการเคารพในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่ไม่เคยอธิบายให้กระจ่างเลยว่าสิ่งแวดล้อมสร้างความสุขให้กับเด็กๆได้อย่างไร”

“แปดสิบปีที่ผ่านมาเราสร้างเมืองสำหรับรถยนต์มากกว่าเมืองสำหรับผู้คน ถ้าหากเด็กๆมีพื้นที่สาธารณะพอๆกับที่รถยนต์มี ทุกเมืองในประเทศนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์”




ฟังแล้วแต่ละข้อความนี่ช่างตรงใจผมจริงๆ อยากให้โคลนนิ่งอีตาคนนี้มาไว้ในเมืองไทยสักยี่สิบสามสิบคนจริงๆ ว่าแต่ว่า คนที่มีความคิดดีๆเช่นนี้ ถ้าลงสนามเลือกตั้งบ้านเราจะมีโอกาสได้เป็นนายกเทศมนตรีกะเค้าหรือเปล่า คิดแล้วก็เศร้าใจ แต่ไม่สิ้นหวังครับ วันข้างหน้าผมจะหาเรื่องของนายคนนี้มาเล่าให้ฟังอีกนะครับ




 

Create Date : 30 กันยายน 2551   
Last Update : 30 กันยายน 2551 22:59:06 น.   
Counter : 1562 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

bicycleman
Location :
นครราชสีมา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




บุคคลหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร วันหนึ่งค้นพบว่าเรากำลังตกอยู่ในอิทธิพลของเจ้าเครื่องจักรบริโภคน้ำมันที่ชื่อว่ารถยนต์ จนหลงลืมทำลายเมืองและวิถีวัฒนธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้มัน ตั้งแต่นั้นก็มุ่งมั่นที่จะปฏิวัติเมืองด้วยจักรยาน จึงสร้างบล็อคนี้มาเพื่อหาแนวร่วม
[Add bicycleman's blog to your web]