SPITI (ปี 3) Dhankar ที่ไม่เคยมา
อันที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่เรานั้นยังไม่เคยไปและไปไม่ครบสักที แต่เมื่อพูดถึง Dhankar ที่นี่ดูมีความพิเศษนิด ๆ เพราะเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมไม่แพ้ที่อื่นและไปถึงยากสักหน่อยในกรณี ที่ไม่พึ่งพารถรับจ้างหรือเช่ามอเตอร์ไซค์ขับขึ้นไป ก็ต้องใช้ความพยายามออกแรงเดินขึ้นไปเอง
ไม่ว่าเราจะบอกเล่าให้ใครต่อใครฟัง ถึงการเคยมาเยือนหุบเขาสปิติ หากคู่สนทนายังไม่เคยเดินทาง หรือไม่ได้มีแผนจะเข้ามาสักหน เราก็ต้องปูเรื่องถึงลักษณะภูมิประเทศ อากาศ และวัฒนธรรม ที่ดูต่าง ไปจากความเป็นอินเดียให้เข้าใจเสียก่อนถึงจะร่ายต่อได้ แต่หากเป็นผู้ที่เคยแวะมาเยือนแล้ว คำถาม ที่เราเจอก็หนีไม่พ้นประโยคที่ว่านี้เสมอ ๆ ... เธอเคยไปที่ Dhankar มาหรือยัง?

ออกจาก Kaza
เที่ยวรถในรอบเจ็ดโมงครึ่ง มักจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มารุมล้อมตรงหน้าช่องจำหน่ายตั๋วกันล่วงหน้า ก่อนรถออก ครึ่งชั่วโมง การเข้าแถวที่ไม่เป็นแถว กับศึกชิงที่นั่งที่ต้องใช้พละกำลังอย่างรวดเร็วแบบนั้น เราสู้ไม่ไหวจริง ๆ เนื่องจากรอบนี้เป็นเส้นทางที่วิ่งระยะยาวจาก Kaza – Reckong Peo จึงทำมีผู้มารอบคิวจับจองกันค่อนข้างมาก ก็เพื่อให้ได้หมายเลขที่นั่ง กว่าจะถึงคิวของเราที่ได้มายืนตรงหน้าช่องจำหน่ายตั๋ว แต่พนักงานแจ้งว่าหมดเวลา ให้ขึ้นไปหาที่นั่งว่าง ๆ เอาจากเบาะหลังสุดได้เลย
เช้านี้เราออกเดินทางจากที่พักเลทไปหน่อย ก็เลยทำเวลาไม่ทัน ถึงแม้ว่าจะมีรถรอบอื่นที่จะวิ่งไปยังเส้นทาง เดียวกับที่หมายก็ตาม เราอยากเดินทางตั้งแต่เช้าจะได้ไม่ต้องขึ้นเขาช่วงที่แดดส่องเปรี้ยง ๆ ตอนบ่ายยังไงล่ะ โชคยังดีที่เบาะหลังยังคงเหลือที่อยู่ ก่อนเดินขึ้นไปจองพื้นที่ดังกล่าวนั่น เห็นชายโปรตุเกสที่เคยเจอในหมู่บ้าน Lalung ก็มายืนรอรถเช่นเดียวกับเรา รอบนี้แต่งตัวซะรัดกุมเชียว แถมยังหอบหิ้วเป้ใบโตเพื่อเตรียมเดินทางย้าย ออกจากเมืองนี้ ส่วนสาวหน้าคุ้นตรงท้ายรถนั่นก็ไม่ใช่คนอื่นไกล หยาง กำลังยื่นส่งกระเป๋าลากใบใหญ่ตัวเอง ฝากให้เด็กรถเอาขึ้นไปผูกไว้บนหลัง เลยเข้าไปถามเรื่องตั๋วที่นั่งบนรถกับเธอ "ไม่มีเหมือนกัน นี่ขนาดมารอตั้งแต่เช้าแล้วนะ"
ระหว่างที่หยางยังต้องจัดการกับสัมภาระตัวเองอยู่ เราก็ขอแยกตัวขึ้นไปจับจองเบาะที่นั่ง รอบนี้ได้นั่ง ตรงริมหน้าต่างฝั่งขวามือพอให้ได้ดูวิวบ้าง ส่วนเบาะข้าง ๆ ยกให้เป็นที่ของหยางตามที่ฝากฝังเอาไว้
เพื่อนร่วมทาง เราจะเดินทางไปที่ Dhankar ส่วนหยางและชายชาวโปรตุเกส มีจุดหมายไปยังที่เดียวกันก็คือ Tabo ตอนที่นั่งอยู่บนรถด้วยกัน เราสะกิดบอกหยางคนตะวันตกที่นั่งตรงเบาะด้านหน้าโน่นอ่ะ เราเคยเจอเขาที่หมู่บ้าน Lalung (แต่ไม่ได้บอกถึงว่าไปล้อมวงจิบอารักพร้อมกับพนัก งานเดินรถฯ) ทางด้านหยางก็เล่าถึงชายโปรตุเกสคนนั้นว่าเธอเองเคยเจอเขามาก่อน
"ฉันเห็นเขานั่งรถประจำทางมาจากมะนาลี"
เนื่องด้วยวันนั้นหยางออกมารอรถที่กลางทางตรงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Gramphu (เป็นการขึ้นรถจากกลางทางหากว่าเดินทางออกมาจาก Leh ผ่าน Keylong) เลยถือว่า ได้เดินทางเข้าสู่หุบเขาสปิติมาพร้อมกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม พวกเรามีข้อสงสัยเกี่ยวกับนายโปรตุเกสเรื่องหนึ่ง ทำไมเขาถึงช่วงชิงตั๋วที่นั่งรถรอบนี้ได้อ่ะ? โคตรโปร สกิลเทพชัด ๆ
ถัดจากลำดับที่นั่งของหยาง เป็นชายหนุ่มชาวสปิติผู้ที่จะเดินทางไปยัง Tabo หมู่บ้านของเขา หยางจึงได้โอกาสถามถึงข้อมูลล่วงหน้าเอาไว้ เธอกะจะอยู่ที่นั่นสักสามวัน! ระหว่างที่รถเริ่มวิ่ง ฝ่าถนนเราก็หยิบเอาผ้าบัฟออกมาปิดจมูกเอาไว้ บางทีเราก็ใช้ผ้าที่ว่ามาปิดหน้าบังแดด คาดผม ไม่ก็เอามารัดข้อมือไว้ "เธอเองก็ควรพกผ้าแบบนี้พกติดไว้บ้างก็ดี" ชายหนุ่มคนนั้นแนะนำหยาง โดยเขาเองก็พกหน้ากากผ้ามาสวมป้องกัน ถนนแถบนี้มีฝุ่นเยอะมากจริง ๆ
พวกเราคุยกันแบบสัพเพเหระไปเรื่อย กระทั่งกระเป๋ารถฯ เดินมาเก็บค่าโดยสารสำหรับ Dhankar ที่นั่นไม่มีรถประจำทางวิ่งไปถึงโดยตรง เราจำเป็นที่จะต้องออกแรงเดินขึ้นไปยังด้านบนเอง เท่าที่ อ่านมาจุดลงรถที่ใกล้สุดคือบริเวณที่เรียกว่า Shichling มันจะอยู่ถัดเลยไปจากสะพาน Attargo ไปอีกระยะหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือ หน้าตาหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ว่านั่นมันเป็นยังไงกันนะ หยางเคยไปที่ Dhankar มาก่อนแล้ว เธอบอกว่าจำได้ว่าต้องลงรถตรงไหน ส่วนหนุ่มสปิติรายนั้นก็รับปากว่าจะบอกให้รู้หากเมื่อไปถึง..ฟังแล้วก็น่าหมดห่วงเนาะ เดินทางไปได้สักระยะ จากรถที่แน่นไปด้วยผู้โดยสาร ก็เริ่มมีคนทยอยลงตามจุดต่าง ๆ พอพื้นมีที่ว่าง ตรงริมประตู หนุ่มสปิติขอย้ายตัวไปนั่งยังที่ดังกล่าว และมีกลุ่มสาวท้องถิ่นที่มีอายุเยอะแล้วก็เข้ามานั่ง แทนที่ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มหยิบหูฟังขึ้นมาเสียบกับโทรศัพท์เพื่อฟังเพลงคั่นเวลาระหว่างเดินทาง เมื่อรถวิ่งเลยผ่าน Attargo Bridge และวิ่งขนาบเส้นทางเข้าสู่หุบเขาพินโดยมีแม่น้ำกั้นระยะทางอันยาวไกล ที่ดูเหมือนจะไม่มีการสิ้นสุดตรงนั้น ทำให้เรานึกถึงเมื่อตอนที่เดินเข้าไปในวันก่อนได้ดีเลย...และเมื่อหลุดพ้น จากตรงนั้นไปจนผ่าน จุดรวมสายแม่น้ำพินและแม่น้ำสปิติ และ Lingti Valley ตามลำดับ ถัดไปไม่นานนักรถก็ ได้จอดลงที่จุดหนึ่งซึ่งมองไปก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเลยนอกเหนือไปจาก แนวดินสูง ๆ ที่ดูคล้ายกำแพงธรรมชาติ เราเห็นชาวต่างชาติสามรายลงจากรถพร้อมกับคนท้องถิ่น
ชักเริ่มเอะใจเล็ก ๆ หรือว่าที่นี่คือจุดลงรถสำหรับ Dhankar
การที่นั่งอยู่ริมในสุดของเบาะหลัง มันทำให้ลุกยืนได้ลำบากมาก ไหนจะเป้ใบโตที่ต้องยกออกมาจากที่วางเท้า หลังจากคนพวกนั้นลงไปกันแล้ว รถเริ่มออกตัววิ่งอย่างช้า ๆ นั่นจึงทำให้เราเริ่มตั้งสติหันไปถามหยาง เธอว่า ใช่ที่นี่หรือเปล่า? แต่หยางลังเลและมีทีท่าไม่แน่ใจ ส่วนชายหนุ่มสปิติยังคงนั่งฟังเพลงเงียบ ๆ อยู่เช่นเดิม สาวชาวบ้านสองรายที่นั่งอยู่ตรงกลาง พูดถึง Dhankar และพูดในภาษาท้องถิ่น หยางเองไม่ได้เข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่ดันทึกทึกแปลไปเองว่า ยังใช่มั้ย ยังต้องเลย ไปอีกใช่มั้ย? ยิ่งรถตีออกจากจุดตรงนั้นไป เนินดินที่ตั้งฉากเป็นปราการธรรมชาติก็เริ่ม เผยบางสิ่งที่บดบังเอาไว้เรื่อย ๆ ใช่เลย Dhankar Monastery ตั้งอยู่บนนั้นชัดเจนมาก!
เราเริ่มร้อนลนหนักขึ้น เมื่อตัวรถกำลังแล่นจากจุดดังกล่าวที่ว่าไปเรื่อย ๆ หยางยังคงเจรจากับป้า ๆ และแปลภาษาตามความเชื่อไปเรื่อยเปื่อยและ เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ไม่วางไว้ใจใครอีก
"หยุด! หยุด! หยุด!" เราตะโกนจากหลังรถจนสุดเสียง ถึงแม้ว่ากระเป๋ารถจะบอกว่ายังไม่ถึง Shichling ก็ตาม แต่เราต้องการลงจากรรถเดี๋ยวนี้ จากที่ Dhankar ที่ใกล้แค่เอื้อมเมื่อครู่ มันได้เลยเถิดมา ไกลมาก ๆ เรายกเป้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมจะลงไปจากรถ ทุกคนตรงเบาะ หลังช่วยขยับขาเอี้ยวตัวเพื่อให้มีช่องว่างในการเดินออก
สรุปรถจอดให้ลงบริเวณใกล้ ๆ กับปากทางขึ้น Dhankar ตรง Shichling ที่สร้างไว้สำหรับให้รถวิ่ง (จุดลัดสำหรับเดินขึ้นไปกับถนนที่ปูให้รถวิ่งจะอยู่ไกลกันมากทีเดียว) พอลงจากรถได้ รู้สึกโกรธ มากจริง ๆ ที่ต้องมาเสียเวลาตรงนี้ ไม่ได้มีโอกาสโบกมือลาเพื่อนร่วมทางตามที่ควรจะเป็น และ ภาพสุดท้ายที่เห็นก่อนรถจะแล่นหายออกไป หนุ่มสปิติท้ายรถคนนั้นชะโงกหน้าผ่านช่องหน้าต่าง พร้อมโบกมือให้ "แล้วเจอกันที่ Tabo มายเฟรนด์"
 ⭗ Shichling-Dhankar Rd. | บริเวณปากทางขึ้นสำหรับให้รถวิ่งขึ้น (เป็นมุมที่หันกลับไปถ่ายหลังจากเดินมาได้สักพัก)
ที่ตรงนี้ไม่มีทางลัด
8.40 น.
ทางขึ้น Dhankar ฝั่งนี้ เต็มไปด้วยรถนำเที่ยว กลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์ และที่แน่ ๆ คือไม่มีใครเขาเดินขึ้นมา ที่เส้นนี้เสียด้วยซ้ำ ฝ่าแดดแรง ๆ ช่วงสายของวัน เพื่อไต่ระดับทางขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ แถมผ้าบัฟก็หล่นหาย ไปไหนแล้วไม่รู้ ความหวังเดียวที่มีคือไปให้ถึงเป้าหมาย แล้วสั่งกาแฟมาดื่มให้หายเหนื่อยเถอะ! เมื่อผ่านพ้นเขตเนินสูงไป จนถึงพื้นที่ราบด้านบนที่มีบ้านเรือนและเขตเพาะปลูก ลัดฝ่าดง Sea buckthorn และกุหลาบป่า ผ่านคอกที่กั้นเลี้ยง dzo อยู่ 5-6 ตัว พวกมันกำลังวิ่งไปมาในคอกที่ว่าเหมือนกำลังพุ่งพล่าน จากเสียงลมหายใจดังฟึดฟัด ๆ จนกลัวว่าถ้าเดินเข้าไปใกล้กว่านี้มันคงวิ่งออกมาไล่ขวิดแน่นอน หลุดออกจากโซนนี้ไปได้ ที่ตั้งของ Dhankar Monastery ก็อยู่ไม่ไกลเกินสายตา เรามาโผล่ตรงฝั่งของวัดที่สร้างขึ้นใหม่ ก็เลยต้องเดินอ้อมไปยังโค้งข้างหน้าอีกรอบนึง เพราะมีแอ่งดินขนาดลึกกั้นขวางไว้ ที่เนินด้านล่างมีที่ตั้งของบ้านเรือนอีกด้วย ลักษณะ ภูมิประเทศด้านบนนี้ ดูแล้วก็ยากต่อการนำรถโดยสารขึ้นมาวิ่งด้านบนจริง ๆ แหละ
⭗ ความไกลห่างของเส้นถนนที่ยืนอยู่ กับที่ตั้งของหน้าผาจุดหมายของวันนี้

⭗ ลัดผ่านดงไม้พุ่มและที่ตั้งของบ้านเรือนบริเวณส่วนท้ายหมู่บ้าน Dhankar แถบนี้จะใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูก ก็เลยดูเหมือนว่ามีอยู่แค่ไม่กี่หลังคาเรือนที่สร้างไว้ห่างไกลจากกัน
11 โมงเช้า มาหยุดที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่อยู่ตรงบริเวณทางขึ้นไปยังวัดเก่า เราสั่งอาหารและถามถึงเรื่อง ที่พักกับ โกดัม ผู้ดูแลสถานที่มีพื้นเพเป็นชาวดารัมศาลา เพิ่งมารับจ็อบงานนี้เมื่อหกเดือนก่อน พาไปไขกุญแจ เปิดห้องให้เลือกได้ตามใจชอบ เขาว่าเริ่มจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาพักสักเท่าไหร่ช่วงนี้ คนที่มากับรถรับจ้างหรือ ที่ขับมอเตอร์ไซค์เที่ยว มักจะแวะชมแค่วัดเก่าและป้อมปราการเก่าจากนั้นก็ไปที่อื่นกันต่อ มีน้อยคนที่จะมาพัก ค้างแรม ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ห้องนอนรวม 8 เตียง มีเพียงแค่เราคนเดียวในคืนนี้ที่ยึดครอง โกดัมบอกเตือนไว้อย่างนึงว่าช่วงสามทุ่ม อาจมีเสียงรบกวนเล็ก ๆ จากพวกลาที่มีคนเลี้ยงไว้แถวนี้ "มันชอบส่งเสียงร้องให้ได้ยินทุกคืน แถมตรงเวลาซะด้วย" ซึ่งเขาเองก็ตอบไม่ได้ว่าลาพวกนั้นจะพา กันแหกปากร้องไปเพื่ออะไร
วัดเก่าแก่ - ป้อมปราการและราชอาณาจักรเก่า บนความสูง 3,894 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล Old Dhankar Monastery วัดเก่าแก่ที่ถูกก่อตั้งมาอย่างยาวนานกว่าหนึ่งพันปี แม้ตัวอาคารจะมีการ บูรณะและซ่อมแซมแทนที่ของดั้งเดิมไปแล้ว แต่ความโดดเด่นนั้นอยู่ตรงที่ตำแหน่งการจัดวางเอาไว้บน หน้าผาสูง ๆ ที่มีทั้งตัววัดและป้อมปราการ (รวมไปถึงวังที่ประทับ) ชื่อของ Dhankar จึงมีความหมายว่า พระราชวังบนหน้าผา* จากแผ่นป้ายที่ลงประวัติเอาไว้ที่วัด ก็จะเห็นชื่อของผู้ปกครองคนแรกคือ King Nimakon ทั้งพระราชาและบุตร Dichok Gon คือผู้ที่ริเริ่มให้ดำเนินก่อร่างสร้างป้อม,วังที่ประทับ และ วัด ขึ้นพร้อมกัน โดยกำหนดให้ศูนย์รวมของอำนาจของการปกครองอยู่ที่ป้อมและกิจกรรมทางศาสนานั้น อยู่ที่วัด ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17 Dhankar ได้มีสถานะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในหุบเขาสปิติ
* จากข้อมูลทั่วไปที่เจอมา Dhankar ถูกแปลได้เป็นสองแบบคือ Palace on a cliff และ Fort on a cliff ทั้งนี้ เราเลือกใช้คำว่า Palace เพราะคุ้นกับคำนี้มากกว่า เมื่อเทียบเคียงจากภาษาลาดัก (ซึ่งมีรากเดียวกันกับสปิติคือ Bhoti) ก็เรียก พระราชวัง ว่า Khar เช่นกัน
อารามสงฆ์แห่งนี้เป็นวัดพุทธวัชรยานนิกายเกลุกปะ พื้นที่ด้านในวัดส่วนที่เปิดให้เข้าชมไม่อนุญาต ให้ถ่ายรูป เท่าที่จำได้คือสัดส่วนของอาคารที่เป็นห้องประกอบพิธี ห้องที่มีพระประธาน และอื่น ๆ ล้วนแต่มีขนาดเล็ก โครงสร้างอาคารทรุดโทรมลงตามกาลเวลาเสี่ยงต่อการผุผัง และที่น่าเป็นห่วง ก็คือตำแหน่งที่ตั้งของวัด--ในปี 2006 World Monument Fund (กองทุนเพื่ออนุสรณ์สถานโลก)ได้ระบุ ให้ Dhankar Monastery เป็นหนึ่งในจำนวนร้อยสถานที่ที่ต้องเฝ้าระวังในระดับที่เป็นอันตราย
แม้จะมีการบูรณะไปแล้วแต่ก็ดูเหมือนยังขาดงบฯ อยู่อีกเยอะ สำหรับการเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ ไม่มีค่าเข้าชม แต่หากอยากบริจาคเพื่อการซ่อมแซมอาคารก็สามารถไปหย่อนเงินลงตู้ได้โดยตรง นอกเหนือจากนี้ ภายในวัดยังมีส่วนที่เป็นถ้ำสำหรับให้เข้าไปนั่งทำสมาธิห้องหนึ่ง แม้จะเล็กนิดเดียว แต่บรรยากาศเงียบเชียบมาก (ตรงถ้ำที่ว่าจะมีการสร้างห้องครอบเอาไว้) หากใครที่อยากใช้เวลานั่ง อยู่ข้างในนั้น จะเพื่อเสพซึมความเก่าแก่ของสถานที่หรือเพื่อสงบจิตสงบใจนานแค่ไหนก็ได้

⭗ หน้าประตูทางเข้า มีการแกะสลักลายไม้ที่ขอบประตูด้วย

⭗ จุดรอบนอกของวัด จะมีที่ให้เดินตามระเบียงที่อยู่เลียบหน้าผาสูง จะเห็นวิวของแม่น้ำสปิติและทางเข้าหุบเขาพิน (Pin Valley) ที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้าม ถ้าใครนึกภาพการเดินเท้าจากสะพาน Attargo เลาะเลียบไปเรื่อย ๆ จนเลี้ยว เข้าสู่หุบเขาพินตรงปากทางที่เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำพินและแม่น้ำสปิติจากเอนทรี่เก่าไม่ออก ก็อ้างอิงจากมุมภาพ ตรงนี้เลย
เดินขึ้นไปยังเนินด้านบนของที่ตั้งวัด ด้านในนั้นมีห้องเล็ก ๆ อยู่หนึ่งแห่ง น่าจะเป็นส่วนที่เรียกว่า Nakachang โดยสร้างไว้สำหรับเป็นที่ประดิษฐาน Medicine Buddha หรือในภาษาไทยก็คือ พระไภษัชยคุรุ เห็นครอบครัวชาวอินเดียเพิ่งเดินออกมาจากห้องที่ว่านั้น ระหว่างที่กำลังจะสวน ทางเข้าไปด้านใน และพวกเขาฝากวานให้เราปิดประตูหลังจากเข้าไปเยี่ยมชมเสร็จแล้วด้วย

⭗ ยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมฝั่งตรงข้าม ที่นี่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา 8 แห่ง เปรียบเหมือนกับกลีบดอกบัวต่างขนาด ๆ โอบล้อมรอบภูเขา Laghpal Tashi Choling Gonpa ซึ่งอยู่ตรงกลางและเป็นฐานที่ตั้งของหมู่บ้าน Dhankar โดยมีรายชื่อดังนี้ (อ้างอิงข้อมูล มาจากป้ายหน้าวัดเช่นเคย)
1. Sartot Gangri ทางทิศตะวันออก 2. Mane Gangri ทางทิศใต้ 3. Rewa Gangri ทางทิศตะวันตก 4. Balang Gangri ทางทิศเหนือ 5. Chookpo-Jo-Ferangri ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 6. Kitling Thang Gangri ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 7. Gyalpo Paldan Giri ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 8. Choopo Jocula Giri ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

⭗ มายืนตรงลานด้านบน จุดสูงสุดของวัดที่มีการสร้างอาคารหลังเล็กเอาไว้บนยอดเนิน

⭗ Dhankar Fort ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม บริเวณที่ขึ้นไปยังจุดชมวิวได้ก็คืออาคารหลังใหญ่(ตำแหน่งวังเก่า) ที่อยู่ถัดลงมาจากป้อม
ตรงส่วนที่เป็นป้อม (Dhankar Fort) จะอยู่อีกเนินเขาหนึ่ง ห่างไปจากวัดอีกไม่เท่าไหร่แต่ก็เดินเหนื่อย เอาเรื่องอาจเพราะออกแรงไปเยอะตั้งแต่มาถึงเมื่อเช้า หรือความสูงของพื้นที่ก็ไม่รู้ เดินไปเรื่อย ๆ อย่าง ไม่ได้รีบเร่งอะไร จุดนี้จะผ่านที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนที่ดูเป็นชุมชนกว่าบริเวณอื่น หากใครที่อยากเข้า พักแบบโฮมสเตย์ใกล้ ๆ กับวัดเก่า มีบ้านหลายหลังในแถบนี้ขึ้นป้ายบอกไว้หลายแห่งเลย
บางครั้งก็เดิน บางครั้งก็หยุดพัก การเดินเล่นบนพื้นที่สูงนั้นไม่ควรรีบร้อน นักท่องเที่ยวต่างชาติคนหนึ่งเพิ่งเดินกลับมาจากป้อม เขาคงเห็นเรานั่งพักอยู่ ก็หันพูดให้กำลังใจพร้อมยกกำปั้น "อีก 5 นาทีเท่านั้น!"

⭗ ที่ตั้งของบ้านเรือน บริเวณทางเดินไปยังป้อม

⭗ ภาพจากจุดชมวิวบริเวณตัวอาคารชั้นบนที่สร้างใกล้กับป้อมโบราณ จะเห็นว่าอยู่บนพื้นที่สูงกว่าตำแหน่งของวัด

⭗ สถานที่และจุดสังเกตบริเวณฝั่งวัดเก่า (เท่าที่พอจำได้)
1. ที่สถิตย์ของเทพยดาผู้ดูแลหมู่บ้าน 2. Dhankar Monastery ส่วนที่เป็นอุโบสถใหญ่ (ที่เรียกว่า Dukhang) จะฉาบทาสีแดงเอาไว้ 3. อาคารหลังเล็กที่สร้างไว้ด้านบนเนินสูงสุดของวัด 4. Dhankar Fort 5. ทางเดินลงเขาใกล้ ๆ กับตำแหน่งเจดีย์ขาว ที่พาเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ด้านล่าง (ทางลัดสำหรับการเดินเท้า) 6. ห้องน้ำสาธารณะ 7. ที่พัก
⭗ วัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ตัวอาคารทาเป็นสีเหลืองสด ซึ่งก็ยังคงใช้ชื่อเดิมคือ Dhankar Monastery ที่วัดใหม่มีพื้นที่แบ่ง ไว้ทำกิจการสร้างรายได้อย่างร้านอาหารและที่พัก (หยางเคยมาพักและแนะนำว่ามีกาแฟให้สั่ง) ถ้าอยากนั่งชมวิววัดเก่าหรือ ตื่นมาแล้วเห็นบรรยากาศฝั่งนี้ก็ให้เลือกไปอยู่ตรงฟากโน้น ส่วนรอยทางเห็นบนเนินเขาด้านหลังวัดใหม่ก็คือทางไปทะเลสาบ
ทะเลสาบ Dhankar
อันที่จริงโกดัมแนะนำให้เราไปถึงตอนเช้า ๆ สักก่อนเก้าโมงแสงกำลังสวย แต่เราไม่มีเวลาขนาดนั้น หลังจากเข้าชมวัดเก่าและป้อม เป็นที่เรียบร้อยก็เหลือ แค่ส่วนที่เป็นทะเลสาบที่อยู่นอกแผนและเพิ่งรู้ว่ามันมีสถานที่อย่างว่าใน Dhankar โดยจุดที่ว่านั้นตั้งอยู่ห่างจากนี้ไปเพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตร แต่ก็มีความลาดชันอยู่ ไม่น้อย โดยที่ด้านบนทะเลสาบตั้งอยู่บนความสูง 4,140 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
การเดินทางด้วยเท้าบนพื้นที่ราบสูง ให้บอกระยะทางเป็นเวลา จะเข้าใจง่ายกว่ามาตราวัด ก็เลยได้คำแนะนำมาแบบนี้
"ขาไปชั่วโมงครึ่ง ส่วนขากลับครึ่งชั่วโมง"
เราเริ่มต้นออกเดินไปทางฝั่งที่ตั้งของวัดใหม่ ตรงที่เป็นอาคารสีเหลือง ๆ จะมีรอยทางให้ เดินไปบนเนินเขาถัดจากนั้น จากปากทางขึ้นที่เป็นจุดเริ่มต้น มีนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย กลุ่มหนึ่งเพิ่งกลับมาจากบริเวณนั้นพอดี ชายหนุ่มชาวอินเดียอีกกลุ่มกำลังลังเลที่จะขึ้นไป พวกเขาเลยได้โอกาสถามกับคนที่ไปมาแล้วว่าทะเลสาบที่ว่านั้นใหญ่โตมากมั้ย "เล็กนิดเดียว ช่วงนี้น้ำค่อนข้างน้อยนะ"
พอได้คำตอบแบบนี้กลับมา พวกเขามีทีท่าผิดหวังและพากันหันหลังกลับ "เฮ้ แต่บรรยากาศบนนั้นดีมากเลยนะ" เสียงการการโต้ตอบระหว่างกลุ่มคนที่เคยไปกับกลุ่มคนที่ล้มเลิกนี่ แอบชวนให้คิดหนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน พอเห็นพวกนั้นเปลี่ยนใจไม่ขึ้นไปจริง ๆ
ในช่วงเวลาบ่ายสองกว่าแบบนี้ ไม่มีใครคนอื่นนอกเหนือจากเราแล้วที่กำลังเดินอยู่ ช่วงเนินเขามันเป็นพื้นที่โล่ง ๆ มีดอกไม้ป่า พุ่มไม้เล็ก ๆ แบบกุหลาบป่าให้เห็นบ้าง สลับไปกับกระจุกหญ้า มีลูกศรวาดไว้เป็นสัญลักษณ์บอกทางให้เห็นบนหินเป็นระยะ จุดที่เดินยากหน่อย เป็นช่วงทางโค้งที่ต้องเลี้ยวอ้อมเขาด้านบนมุมสูงและจังหวะการ เดินข้ามร่องที่เป็นรอยต่อ ถึงจะฟังดูลำบากนิด ๆ กับการเดินเท้าไปทะเลสาบ แต่มัน ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ เลยนะ ที่ได้มีโอกาสออกแรงเดินทางไกลในพื้นที่ราบสูงใน ขณะที่ร่างกายยังมีเรี่ยวแรงแบบนี้ ถึงมันจะไม่ใช่เส้นทางที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก แบบที่ ต้องมีผู้คนต้องมาจดจำก็เถอะ

⭗ ป้ายหน้าที่ตั้งไว้หน้าทางเดินเข้าไปยังทะเลสาบ ที่อยู่ไกลถัดไปจากเจดีย์องค์ขาวอีกไม่ไกล

⭗ มาถึงจุดที่เรียกว่าทะเลสาบแล้ว แถมยังมีลามายืนเล็มหญ้ากันอยู่บนเนินเขาสามตัว

⭗ ครอปจากภาพเดิมเพื่อโชว์ว่ามีลาจริง ๆ นะ (เลนส์กล้องซูมไม่ได้)
หนึ่งชั่วโมงครึ่ง เราได้เจอกับป้ายด้านหน้าทะเลสาบ เจดีย์องค์ขาวและพื้นที่เล็ก ๆ ที่เป็นแอ่งน้ำกลางหุบเขา ดูเหมือนว่า หลังจากที่ออกแรงเดินมาอย่างยาวนาน สิ่งเดียวที่เราอยากทำก็คือการแค่ได้ไปนั่งพักอยู่บริเวณริมน้ำเฉย ๆ ถอดรองเท้าถุงเท้ากองไว้และหย่อนเท้าลงไปให้คลายความล้าของฝ่าเท้า พักร่างเอกเขนกมันตรงนั้นอยู่ นานเลยทีเดียว ไม่รู้สิอยู่ ๆ ก็เกิดอาการหมดแรง ทั้งที่รู้ว่ายังสามารถเดินหามุมถ่ายภาพให้มันดีกว่านี้ก็ได้ ด้วยการเดินรอบทะเลสาบซึ่งมีพื้นที่กระจิ๊ดริดนิดเดียวเอง
สำหรับใครที่เห็นบรรยากาศบนนี้แล้วถ้าอยากพักแรมสักคืน ก็สามารถหาเอาเต็นท์มากางได้นะ แต่ก็ต้องยอมลำบากเรื่องการพกพาเสบียงมาให้พร้อมและทำใจเรื่องห้องน้ำกลางแจ้งนี่แหละ เห็นที่พักของเรามีป้ายแจ้งว่า มีเต็นท์ให้เช่า ทีแรกก็ไม่ได้เอะใจหรอกว่าเขาไปปักหลักตั้งแคมป์ กันที่แถวไหนบ้างใน Dhankar โถ...กว่าจะนึกออก ก็เดินมาถึงหน้าทะเลสาบนี่เรียบร้อยแล้ว
อยู่บนนี้ไปได้เกือบชั่วโมง สูดอากาศจนเต็มปอด พักเอาแรงจนพร้อมออกเดินแล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นนอกเหนือไป จากเราก็มีเพียงแค่ลาสามตัวที่กำลังเล็มหญ้าอยู่ตรงเนินเขาฝั่งตรงข้ามโน่น ในช่วงที่เรากำลังจะเตรียมออก เดินจากที่นี่ไป อยู่ ๆ ก็เห็นชาวบ้านที่เป็นเจ้าของลาเดินโผล่มาจากไหนไม่รู้ คงลัดเลาะมาจากเนินเขาสักทาง ส่งสัญญาณเรียกให้มันเดินตามไป นี่ถ้าไม่ใช่คนพื้นที่จริง ๆ ก็มองแทบไม่ออกเลยนะว่าอาณาบริเวณนี้มันลัด พาไปเชื่อมต่อยังหมู่บ้านไหนได้อีก?

⭗ ระดับความลึกของน้ำในช่วงเวลานี้ 
⭗ เจดีย์องค์ขาวที่ตั้งอยู่บนเนินก่อนถึงทะเลสาบ

⭗ ลองใช้กล้องอีกตัวมาลองถ่ายดู พอย้อนกลับมาทำรูปลงบล็อก ก็รื้อหาภาพทะเลสาบที่ถ่ายไว้เป็นมุมสวย ๆ แทบไม่เจอ (ต้องโทษความขี้เกียจ ณ ช่วงเวลานั้นได้เลยนะเนี่ย)
ช่วงขากลับ ระยะทางที่เดินเริ่มไกลห่างไปจากทะเลสาบราว ๆ 15 นาที นักท่องเที่ยวรายแรก ที่เดินสวนมาในตอนนั้นเป็นหญิงสาวชาวตะวันตก เธอถามถึงทะเลสาบว่าอยู่อีกไกลมั้ย
"อีก 15 นาที" อ้างอิงจากที่เวลาที่เราเพิ่งเดินออกนี่แหละ
ถัดไปอีกไม่นาน ก็เริ่มเจอผู้คนสวนมาเรื่อย ๆ เรารู้สึกเหมือนเป็นคนบอกทาง ไม่ก็ช่วยแจ้งระยะให้พวกเขาได้รู้ แหม ถ้ารู้ว่าจะพากันขึ้นมาในช่วงนี้กันเยอะ เราคงปรับเวลาเดินขึ้นมาสักบ่ายสี่จะดีกว่า กิจกรรมเดินขึ้นมายังทะเลสาบดูเหมือนจะไม่ได้นิยมกันมากมายนัก นาน ๆ ที ถึงจะเจอคนสวนมา ด้วยความที่ไม่มีอะไรต้องเร่งรีบแล้ว เราจึงออกนอกเส้นทาง แวะไปถ่ายดอกไม้บนเนินบ้าง กลุ่มคนที่เพิ่งขึ้นมาใหม่เห็นแล้วก็เกิดอาการลังเล คิดว่าจุดที่เรายืนอยู่คือทางไปทะเลสาบหรือควรไปตามลูกศรกันแน่ ดีที่พวกเขา ตะโกนถาม “นี่เธอ พวกเราเดินถูกทางใช่มั้ย” "ถูกแล้ว เลี้ยวอ้อมตามลูกศรไปเลย" เราตะโกนตอบกลับแล้วชี้ไปอีกทาง "ขอบคุณ!"

⭗ พุ่มเล็ก ๆ ของดอกไม้ป่าที่ยังขึ้นให้เห็นตามทางในช่วงนี้
 ⭗ Dhankar Monastery เนินเขา และอาคารบ้านเรือนบริเวณหน้าผา วิวระยะไกลจากทางเดินไปทะเลสาบ
ส่วนรายสุดท้ายที่กำลังเดินสวนมาเป็นชาวอินเดียหนึ่งนาย เขากำลังพยายามเดินขึ้น อย่างเชื่องช้า เสียงเหนื่อยหอบนี่ชัดเจนมากแต่สีหน้ายังโอเคดี ในช่วงนั้นก็ราวบ่ายสี่ กว่า ๆ พวกเราเดินผ่านกันก่อนที่จะได้รับคำถามเช่นเดิม "อีกนานมั้ย" เรายังนาฬิกาขึ้นมาดู "น่าจะราว ๆ 45 นาที ขาไปอาจจะใช้เวลานานกว่านี้"
"ฮ้าาาา" เราจำได้ถึงอากัปกิริยาหลังฟังคำตอบเมื่อได้ยิน เขาถอนหายใจยาว เหมือนจะท้อ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะเดินต่อไป นี่อาจเป็นคนสุดท้ายที่ปิดทางไล่หลัง ผู้คนทั้งหมด 
⭗ ภูเขาหินทรายที่มีความผุกร่อนจากการดักเซาะของธรรมชาติจนมีรูปทรงแปลก ๆ

⭗ กลุ่มแรงงานที่ขึ้นมาทำงานก่อสร้าง พวกเขามีพื้นเพเดิมมาจากท้องที่อื่น ๆ ในอินเดีย ไม่ก็เนปาล
ใคร ๆ ก็ชื่อ เทนซิน
โจทย์การท่องเที่ยวใน Dhankar เราคงเก็บหมดจนแล้ว ช่วงเดินกลับไปที่พักก็สวนทางกับพวกนักเรียนหญิง น้อง ๆ 3 คน คงเพิ่งเลิกเรียน พากันเดินมาทักถามว่าเราชื่ออะไร มาจากประเทศอะไร หลังจากที่ตอบไป ก็มี การแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษเสียงแจ้ว ๆ ดูทรงแล้วเหมือนจะเป็นเด็กชั้นประถม ฉันชื่อ เทนซิน ดอลม่า ฉันชื่อ เทนซิน เซริ่ง และฉัน เทนซิน เปม่า ยินดีที่ได้รู้จักพี่นะคะ
บ๊ายบาย เด็กชาวสปิติรุ่น ๆ นี้ หรืออาจโตกว่านี้ หลายคนมีชื่อแรกเหมือนกันเกือบหมด โดยเหตุผลที่พ่อแม่นิยม ตั้งชื่อให้ลูกว่า เทนซิน ก็เพื่อให้พ้องกับนามของท่านทะไลลามะลำดับที่ 14 (Tenzin Gyatso) นั่นเอง วันนี้เดินนานไปหน่อยเลยคิดมุขไม่ทัน น่าจะอำน้องเขาไปเนอะ พี่ก็ชื่อเทนซินเช่นกัน ยินดีที่ได้รู้จัก

⭗ โกดัม เตรียมผักมาหั่นเตรียมไว้ผัดหมี่สำหรับมื้อเย็น ตามคำเรียกร้องที่ว่าขอผักเยอะ ๆ
มื้อเย็นใน Dhankar หนนี้ก็ยังฝากท้องไว้กับที่พักเหมือนเดิม สั่งหมี่ผัดพิเศษผักไว้กับโกดัม ทีแรกว่าจะนั่งรอบนดาดฟ้าของจุดที่เป็นร้านอาหาร แต่ช่วงนี้มันก็เริ่มมีอากาศเย็นขึ้นแล้ว หลังดวงอาทิตย์ตก เลยไปนั่งรอตรงห้องครัวที่อยู่ชั้นล่างไปก่อนแล้วค่อยยกไปกินบนร้าน
"โกดัม...โกดัมไบย่า...โกดัมไบย่า"
มีสาวนักท่องเที่ยวชาวอินเดียรายนึง มายืนตะโกนเรียกเขา พร้อมชะเง้อเข้ามาในครัว แต่ช่วงเวลานั้น โกดัมหายตัวไปไหนก็ไม่รู้สักพักใหญ่ เธอบอกว่าจะมาติดต่อโกดัม เรื่องรถรับจ้างที่ฝากให้หาเอาไว้
"ฉันมาจากรัฐมัธยประเทศ...มันอยู่ตอนกลางของอินเดีย นี่เธอมาคนเดียวเหรอ"
"ใช่ พักอยู่ที่นี่แหละ" เราชี้ไปตรงอาคารที่อยู่ใกล้ ๆ กัน กว่าโกดัมจะกลับมาสาวอินเดียกลางคนนั้นก็เดินหายไปที่อื่นเสียก่อน
การคมนาคมขนส่งบน Dhankar และการสื่อสารแบบไร้สาย
แน่นอนว่าไม่มีรถประจำทางวิ่งขึ้นมาถึงที่นี่ และหากจ้างรถขึ้นมาส่งขาเดียวแบบไม่เหมาจ้าง พาเที่ยว One day trip ก็อาจไม่ได้รับประกันว่าช่วงขากลับจะหาได้ง่าย ๆ หรอกนะ ส่วนเรา ไม่มีปัญหาอะไรเพราะจะเดินลงไปข้างล่างเอง (รู้เส้นทางลัดแล้วด้วย)
ตกค่ำเธอกลับมาอีกครั้งหนึ่งกับสองคนที่น่าจะเป็นไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น พวกเราล้อมวงคุย บนโต๊ะเดียวที่ดาดฟ้าของร้านอาหาร "ฉันกำลังหาคนหารค่ารถกลับไปยัง Kaza พรุ่งนี้เช้า ถ้าเธออยากไปด้วยก็ได้นะ" เราจะไปต่อที่ Tabo ซึ่งมันเป็นคนละทางกับเธอเลย “อื้ม ฉันแค่ อยากถามไว้ก่อนเผื่อเธอเปลี่ยนใจ”
ดูเหมือนว่า Dhankar ไม่ค่อยสะดวกสบายสักเท่าไหร่ในเรื่องหารถเที่ยวกลับ เราก็ไม่ได้ถาม เสียด้วยว่า เธอขึ้นมาถึงที่นี่ได้ยังไงกัน จากนั้นคนที่เป็นธุระจัดหารถให้ก็เดินเข้ามาบอกข่าว
"มาดาม พรุ่งนี้ไม่มีรถสักคันออกตอนเช้า"
พอฟังแล้วเธอมีสีหน้าไม่ดีนัก เหมือนว่าการเดินทางจะถูกเลื่อนออกไปให้ช้าลงกว่ากำหนด
"ก็เหลืออีกตัวเลือกนึง แทร็กเตอร์"
เขากระดกลิ้น เน้นที่คำว่า แทร็ก ได้กวนประสาทดี "หืม หมายความว่ายังไง...แทร็กเตอร์" สาวอินเดีย เรียกชื่อรถที่ว่าตาม พร้อมกระดกลิ้นเลียนแบบเขาอีก แต่ดูแล้วเธอจะไม่เข้าใจความหมายจริง ๆ
นึกออกแล้ว! เราหยิบโทรศัพท์เปิดคลิปตอนที่นั่งอยู่ท้ายรถพ่วงตอนที่จะหาทาง ไปหมู่บ้าน Komic ให้ดู เผื่อว่าจะตัดสินใจง่ายขึ้น พวกเขาก็เลยพากันหัวเราะ
"ใช่ ๆ ประมาณนี้เลย มาดาม" ช่วงหนึ่งทุ่มกว่ามีเสียงดังแทรกขึ้นมาจากเนินด้านล่างฝั่งเดียวกับเรา ตรงเพิงที่พักของเหล่า คนงาน หัวหน้าคนงานตะโกนไปยังฟากตรงข้ามด้วยประโยคหนึ่ง แล้วก็มีเสียงโต้ตอบกลับมา เป็นแบบนี้อยู่สองสามหน พื้นที่เนินล่างที่เป็นแอ่งลึกแบบนั้นน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียง สะท้อน พวกเราก็ได้แต่เงี่ยหูฟังแบบเงียบ ๆ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น โกดัมบอกว่าเป็นแค่ การเรียกให้แรงงานมารับเงินค่าจ้างวันนี้ ส่วนเราเข้าใจไปเองแต่แรกว่าชาวบ้านตะโกนคุยกัน ข้ามเขาในแบบไม่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือให้เปลืองแค่ค่าบริการ เฮ้ ทุกคน คน คน…. มารับเงินที่นี่ นี่ นี่ นี่ นี่ นี่ เออ รู้แล้ว แล้ว แล้ว แล้ว ...เดี๋ยวไปรับ รับ รับ รับ
สรรพเสียงแห่งความเงียบงัน อย่างที่เคยพูดไปสเน่ห์ของหุบเขาสปิติสำหรับเรา คือความสงบเงียบแบบที่ไม่เคยเจอจากไหน แต่บางคนกลับไม่ใช่ เมื่อมีคนมารวมตัวแบบนี้ โกดัมได้ถือโอกาสเล่าความรันทดให้คนในกลุ่มได้ฟังคล้ายกับอยากระบายความในใจ เพื่อ ปิดเรื่องส่งท้าย ก่อนที่จะแยกย้ายกลับที่พักไปนอน
เมื่อหกเดือนที่แล้วเขารับจ้างเฝ้าร้านอยู่ที่ Goa มันเป็นเมืองชายทะเลที่มีผู้คนคึกคักมาก แต่แล้วก็ได้รับการติดต่อจากนายจ้างผู้เป็นเจ้าของกิจการที่พักและร้านอาหารให้ย้ายมา ดูแลที่นี่...ไม่รู้ว่าโกดัมได้รับข้อเสนอที่ดียังไงหรือปล่าวนะ ถึงได้ยอมย้ายมา เขาเปิดโทรศัพท์ โชว์ภาพตัวเองจากที่มาถึงครั้งแรกเมื่อหกเดือนก่อน จากหนวดเครา ที่เกลี้ยงเกลา (จนถึงตอนนี้ที่ขึ้นเฟิ้มเป็นลุงเพราะไม่ได้โกนตั้งแต่วันที่มาอยู่) วิวทิวทัศน์ช่วง ฤดูร้อนของ Dhankar และที่ต่าง ๆ ที่เขาได้นั่งรถผ่านในหุบเขาสปิติ ถูกถ่ายภาพเก็บไว้หลาก หลายมุม คล้ายกับการได้เจอโลกใบใหม่ที่ดูน่าตื่นเต้น ทุก ๆ อย่างดูอลังการและสวยงาม
กระทั่งฤดูท่องเที่ยวช่วงพีคกำลังผ่านพ้นไป จากที่วันหนึ่งได้เจอผู้คนแวะเวียนมา เยือนแบบมากหน้าหลายตา ก็เริ่มเบาบางลงและเข้าขั้นเกือบเข้าสู่สภาวะเดิม ตามแบบ ที่มันเคยเป็น ทุกอย่างเริ่มเงียบเหงา ต้นไม้เริ่มร่วงโรย อากาศก็เริ่มหนาวเย็นลงแบบแล้ง ๆ
จนตอนนี้เขาเริ่มจดจำกำหนดการของเวลาได้ ยามเช้าของทุกวันที่ตื่นมาปัดกวาดสถานที่ เมื่อเจอกับหลวงพี่ผู้ดูแลวัดเก่าเดินผ่านมา พวกเขาก็ส่งเสียงทักกันแค่ประโยคเดิม ๆ "จูเล ฮาวอาร์ยู" เช่นนี้เสมอทั้งรอบเช้าและเย็น ช่วงสายจนถึงบ่ายก็เริ่มมือไม่ว่างกับการผัดข้าว ทำอาหาร ชงชา เสิร์ฟให้กับเหล่านักท่องเที่ยวที่แวะมานั่งพักผ่อน ยามเย็นก็ไล่เก็บจานชาม มาล้าง ทำความสะอาดร้านและที่พัก พอเริ่มตกค่ำก็เริ่มเข้าสู่ภวังค์แห่งความเงียบสงัดเพราะ ไม่ค่อยจะมีแสงไฟเปิดจ้าให้เห็น เสียงตะโกนของหัวหน้าคนงานที่คอยเรียกให้ลูกน้องมารับ ค่าจ้างจะเริ่มตอนช่วงทุ่มครึ่ง หากวันไหนไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักเขาจะเข้านอนแต่หัววัน เพราะไม่มีอะไรให้ทำมากกว่านี้ และช่วงสามทุ่มของทุกคืนก็ต้องมาทนฟังพวกลามันร้องส่ง เสียง แง้ก ๆ กันให้ระงมอีก...ช่าง หดหู่สิ้นดี!
ทุกคนตั้งใจฟังเหมือนกำลังรับบทจิตแพทย์ โดยคาดว่าโกดัมเริ่มมีอาการซึมเศร้าเล็ก ๆ เพื่อนของเขาที่เป็นชาวสปิติ ล้วงหยิบวัชระที่ห้อยคอไว้ออกมาสวดไหว้พึมพำแล้วยกขึ้น แตะหน้าผากตัวเอง จนโกดัมอดแซวกลับไม่ได้ "โอ...ให้ตายเหอะ ดูเขาสิ อยู่แบบนี้ มานานจนจะกลายเป็นเหมือนพวกพระไปแล้ว"
ข้อมูลอื่น ๆ
*การเดินทางด้วยรถประจำทาง ไม่มีเที่ยวรถวิ่งถึง Dhankar โดยตรง ลงที่ Shichling แล้วเดินขึ้นไปยังด้านบนเอง หรือลองบอกกระเป๋ารถฯ ให้จอดลงตรงทางขึ้นที่เป็นทางลัดไป Dhankar ค่ารถ 35 รูปี (พกเศษเงินติดไว้เยอะ ๆ ด้วยนะ จ่ายไป 40 รูปีไม่มีทอนให้จ้า) แต่บางทีต้องให้คนท้องถิ่นช่วยบอกจุดลงจะดีกว่า เพราะพนักงานขับรถส่วนใหญ่ เป็นคนนอกพื้นที่ อาจไม่ชำนาญเส้นทางเดินเท้า*การเทรกระหว่างหมู่บ้าน ให้เลือกเชื่อมต่อเส้นทางจากหมู่บ้าน Lalung จะง่ายกว่า *สถานีเติมน้ำดื่ม ตั้งอยู่ตรงลานด้านบนวัดเก่า
Create Date : 25 มีนาคม 2566 |
Last Update : 6 เมษายน 2566 14:00:49 น. |
|
14 comments
|
Counter : 840 Pageviews. |
 |
|
แดดยังแรงเหมือนเดิม ดูเหมือนจะร้อนแต่อากาศน่าจะเย็นใช่มั้ย?
การเดินทางยากลำบากจริงๆ ขากลับ เดินนี่ก็เหนื่อยเอาเรื่องเหมือนกันนะ จะกลับต้องเตรียมตัวดีๆ ก่อนเดินทาง