bloggang.com mainmenu search


ออสการ์ 2008 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ...กับการได้ผู้ชนะในสาขาสูงสุดเป็นหนังอเมริกันจ๋ากลิ่นอายคาวบอยตะวันตก ที่พูดถึงประเด็นอันเป็นสากล การเผชิญหน้ากันระหว่างคนดี คนกลาง และคนชั่ว

แม้ "No Country for Old Men" อาจจะถือว่าเป็นผู้ชนะที่มีคุณค่าและเหมาะสมกับตำแหน่งหนังยอดเยี่ยมแห่งปี ...ไม่มีอะไรให้ขัดอกขัดใจจนอาจต้องถกเถียงหนักหน่วงเหมือนเช่นสองปีก่อน ...แต่ถ้าถามว่าหนังเรื่องนั้นเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดในสายตาของคนดูคนหนึ่งหรือยัง ผมกลับคิดว่า ยังมีผู้ที่เหมาะสมมากกว่านั้นอยู่อีก สองเรื่อง ...และทั้งสองเรื่องนี้ มีความน่าสนใจเหมือนๆกัน ในประเด็นเรื่องที่พูดถึง 'ความบาป' และคู่นี้ก็ทำได้อย่างหนักหน่วงและหนักแน่นยิ่งกว่าหนังที่ได้รางวัลมาเสียอีก

เรื่องแรก คือ "Atonement" ...หนังที่ผมอยากให้ได้ออสการ์ยิ่งๆเป็นอันดับแรก (ติดแต่ว่ามันมีเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้น้อย) และสอง คือ หนังที่เป็นคู่แข่งอันสมน้ำสมเนื้อกับเจ้าของออสการ์มากกว่าใครเพื่อน ...หากสมมติว่าพี่น้องโคเอนพลาดท่า สุดท้ายก็เชื่อขนมกินว่ากรรมการต้องตบรางวัลให้กับหนังของผู้กำกับ "พอล โธมัส แอนเดอร์สัน" โดยแน่นอน



"There Will Be Blood" ... เล่าเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นของนักขุดแร่กระจอกๆที่ริก้าวหน้าเติบใหญ่เดินไปบนเส้นทางสายมั่งคั่งในฐานะเศรษฐีบ่อน้ำมัน ...ชายผู้สู้ชีวิตคนนี้ มีนามกรว่า "แดเนียล เพลนวิว"

แม้ชายที่ชื่อ แดเนียล เพลนวิว คนนี้ จะมีลักษณะเบื้องหน้าเป็นสุภาพบุรุษที่ใครต่อใครได้เห็นก็อยากนับหน้าถือตา ...ทั้งยังมีภาพของความเป็นพ่อ ที่อ่อนโยนและดูอารีย์ ของลูกชายตัวน้อย "เอช ดับเบิลยู" ที่มีความเข้มแข็งสู้ชีวิตไม่ต่างไปจากพ่อ ...แต่นั่นทั้งหมดมันก็เป็นแค่เบื้องหน้า ของชายที่ชื่อ แดเนียล คนนี้เท่านั้น...

เบื้องหลังที่ลึกลงไปในสัญชาตญาณของ แดเนียล เพลนวิว ...เขาคือ ชายผู้สู้ชีวิตที่ยอมทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความก้าวหน้า โดยไม่สนว่าสิ่งที่ต้องยอมนี้ อาจจะต้องแลกมาด้วย ตราบาป หรือต่อให้ต้องแลกด้วยเลือดของใครที่ไม่ใช่เขาก็ย่อมไม่เป็นปัญหา



แดเนียล ใช้ความเป็นสุภาพบุรุษและความเป็นพ่อบังหน้า ...เที่ยวบอกใครต่อใครว่า เขาทำงานเป็นครอบครัว ทั้งยังโอนตำแหน่งให้เด็กผู้ชายที่ความจริงไม่ใช่ลูกของเขาเลย เป็นหุ้นส่วนสำคัญ เพียงหวังจะใช้ความสดใสของ เอช ดับเบิลยู เพื่อกว้านซื้อที่ดินทุกอาณาเขตที่มีน้ำมันอยู่ใต้เท้า มาเป็นประโยชน์ทั้งการเงิน และอำนาจบารมีใส่ตัวล้วนๆ

จนกระทั่งได้มีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ "พอล" ได้มาขอพบเพื่อบอกว่ามีที่ดินผืนกว้างใหญ่ที่ฝังน้ำมันอยู่ในแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดของเขาว่างอยู่ ...และต้องการให้เขาไปซื้อ หวังจะให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว "ซันเด" ของพวกเขา โดยหารู้ไม่ว่า ความละโมบของแดเนียล อาจจะทำให้ที่ดินของพวกเขาต้องลุกเป็นไฟ ...แล้วยิ่งเมื่อ แดเนียล จำเป็นต้องมารู้จักกับน้องชายของพอล นาม "อีไล" ด้วยแล้ว นั่นก็ยิ่งทำให้กิจการของแดเนียลต้องประสบการสั่นคลอน ...ทั้งจากการเข้ามายุ่มย่ามของตัว อีไล แล้วยังมีเหตุร้ายๆบังเกิดขึ้น โดยที่ตัวอีไลพยายามตบตาชาวบ้านว่าเป็นบัญชาของพระเจ้าเบื้องบนเหนือหัวของพวกเขากำหนดมาให้ แดเนียล ผู้บาปหนาต้องพบเจอ



แม้ชายที่ขื่อ อีไล ซันเด คนนี้ จะมีลักษณะเบื้องหน้าเป็นสาธุคุณที่ยึดถือบูชาในพระเจ้า เชื่อในพระพรของพระคริสต์ ทั้งยังเป็นคนหนุ่มที่สามารถจะเป็นเสาหลักในการยึดเหนี่ยวรวมใจชาวบ้านเอาไว้ด้วยกัน... แต่นั่นทั้งหมดมันก็เป็นแค่เบื้องหน้า ของชายที่ชื่อ อีไล เท่านั้น...

เบื้องหลังที่ลึกลงไปในสัญชาตญาณของ อีไล ซันเด ...เขาคือ สาธุคุณที่สักแต่ลวงหลอกคนในหมู่บ้าน ว่าเป็นผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ที่สามารถขับไล่ความชั่วร้ายออกไปจากเรือนกายของทุกผู้คนได้...ทั้งยังเอาศาสนามาบังหน้า เพื่อขายวิญญาณให้กับพระเจ้าเงินที่หวังจะให้เอามาอุดหนุนทางผลประโยชน์และบารมีใส่ตัวเองโดยล้วนๆ ...ซึ่งก็มีความทะยานอยาก แทบจะไม่ต่างไปจากศัตรูที่เขานึกเกลียดชังอย่าง แดเนียล ไปเสียเลย

การขับเคี่ยวทางบารมีของคนสองคน ที่หวังมุ่งเน้นผลประโยชน์เป็นสำคัญ ยิ่งเข้มข้นเข้าไปอีก... เมื่อแดเนียลต้องการขยายกิจการ หวังจะต่อท่อน้ำมันเพื่อส่งออกไปทางทะเล หากแต่ก็ประสบปัญหาสำคัญเมื่อ ที่ดินบางส่วนซึ่งต้องทอดท่อผ่าน ยังไม่ได้รับการตกลงจากเจ้าของพื้นที่เลย ...หากพอได้ตกลงกัน เจ้าของที่ ก็มีข้อแม้ขึ้นมาหนึ่งสิ่ง ที่ต้องบังคับให้ แดเนียล ทำให้ได้ นั่นคือ การไปสารภาพบาปต่อหน้าผู้คนในหมู่บ้าน โดยมีอีไล เป็นผู้ดำเนินการในพิธี ...แม้ใจจริง แดเนียลไม่เคยศรัทธาในพระเจ้า และไม่มีวันที่เขาจะทำเป็นอันขาด หากก็ต้องยกเว้นอย่างจำใจเมื่อสิ่งนั้นจะทำให้กิจการของเขาดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด



เมื่อแดเนียลจำต้องยอมก้มหัวศิโรราบให้ศาสนาเพื่อความก้าวหน้า ในขณะที่อีไลก็จำต้องพึ่งพาท่อน้ำเลี้ยงเป็นน้ำมันเพื่อจะเป็นสาธุคุณของชาวบ้านที่เลื่อมใสจำนวนเพิ่มขึ้น ...ความจำเป็นที่ต้องรู้จักกันมันเลยเป็นเรื่องของ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ที่ต่อให้จะเกลียดเดียจฉันท์กันเยี่ยงไร สองคนนี้ก็เลยขาดกันไม่ได้ ...เสมือนลงเรือลำเดียวกัน วิ่งออกทะเลพร้อมๆกัน และยังต้องใช้ถังออกซิเจนหายใจร่วมกัน เพื่อจะได้ดำดิ่งดำลึกไปสู่ศรัทธา และความเชื่อ ที่ต่างคนต่างก็มีความหมายคนละแบบในใจ หากจุดสูงสุดนั้นไซร้ ก็คือจุดเดียวกัน ...จุดหมายของความยิ่งใหญ่

แดเนียล ต้องการยิ่งใหญ่ เพื่อจะได้เป็น พระเจ้าแห่งอุตสาหกรรมน้ำมัน ที่ทุกผู้ในวงการต้องศรัทธา และยอมศิโรราบในความเป็นผู้นำ ...ส่วน อีไล ต้องการยิ่งใหญ่ เพื่อจะได้เป็น ผู้ใกล้ชิดกับพระเจ้า ที่ทุกคนต่างต้องนบน้อมให้ความเชื่อถือ ยอมรับว่าเขาคือที่สุดแห่งบาทหลวงที่จะช่วยเหล่าลูกๆทั้งหลายหลุดพ้นจากบ่วงบาปที่เคยได้ทำไว้

นอกไปจากเรื่องของตราบาป ที่หนังพยายามตีความให้กลายเป็นลักษณะของสองตัวละครหลักที่ต่างขั้ว แต่ชั่วเหมือนกัน ..."There Will Be Blood" ยังทำการวางเส้นแบ่ง ความยิ่งใหญ่และหายนะ ให้คั่นกลางด้วย 'พระเจ้า' อันเป็น สิ่งเคารพที่คนทั้งสองก็มีเหมือนกัน ...จะแตกต่างก็แค่ตัวตนและรูปแบบที่ต่างคนก็ให้ความเคารพด้วยกลวิธีที่ไม่เหมือนกัน



ตัวตนของ พระเจ้า ในความศรัทธาของ แดเนียล คือ "น้ำมัน"
ตัวตนของ พระเจ้า ในความเชื่อของ อีไล คือ "ศาสนา"

กลวิธีที่ แดเนียล ให้ความศรัทธาในพระเจ้าของเขา คือ... การบูชาตัวตนให้ยึดติดแต่กับการขุดหาน้ำมันอย่างบ้าคลั่ง
กลวิธีที่ อีไล ให้ความเชื่อในพระเจ้าของเขา คือ... การบูชาตัวตนให้หลงใหลเพ้อพกกับการได้เป็นผู้เผยแพร่คำสอนขององค์ศาสดา

แม้ทั้งสอง จะได้เป็นคนที่มีชื่อว่ามีศรัทธา และต่างก็เชื่อในพระเจ้าของตนไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ...หากสิ่งหนึ่งที่สองคนกลับมีเหมือนๆกัน ทั้งการกระทำและความคิด คือ การได้เข้าถึงในพระเจ้าอย่างใกล้ชิดเป็นที่สุด ด้วยการทำร้ายคนทุกๆคนที่อยู่รอบข้างเขา โดยไม่สนว่าเป็นใครหน้าไหน ...เขายอมที่จะสละความเป็นคน ตัวตนด้านดีที่พระเจ้าสร้างมา เพื่อแลกกับการได้เข้าพบพระเจ้าในระยะที่สามารถแสดงความรักและความเชื่อได้โดยสะดวก



หากแม้ แดเนียล และอีไล จะต่างก็ประสบความสำเร็จในการกระทำและแสดงความคิด ที่พวกเขาอยากจะสื่อถึงพระเจ้าได้โดยตรงก็ตาม ...แต่ในที่สุดแล้ว ทุกสิ่งที่เคยแลกคืนกับความดีงามของการเป็นมนุษย์ให้หมดไป กลับกลายให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายต่ำทรามกับชีวิตของคนทั้งสอง

คนสองคน ที่ตอนจบไม่เหลือใครให้ความเคารพ ไม่มีคนจะคบหา (แม้กระทั่งคนที่เป็นญาติก็ยังทิ้งได้ลง) ...คือ คนสองคน ที่ต้องกลับมาพบกันอย่างจำใจ ไม่ใช่เพราะเหงาหรือว่าโดดเดี่ยว แต่ล้วนเกิดจากความค้างคา ในหนี้และแรงแค้นอันหลงเหลือ เพียงสองสิ่งนี้ที่สามารถชักนำให้ตัวละครทั้งสองต้องกลับมาต่อรองกันเป็นครั้งสุดท้าย

"There Will Be Blood" ... อาจจะเหมือนหนังดรามา วิพากษ์ความเป็นคนทั่วไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมักจะหาบทสรุปให้โยงเอาตัวละครสำคัญหลักๆมาเผชิญหน้าท้าความจริงที่ทรงพลังกันในฉากจบ ...แต่ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้มีไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ คือ การผูกให้ตัวละครสองฝ่าย ต่างก็เป็นผู้ร้ายตัวชั่ว ชนิดที่แทบหาความดีใดๆไม่ได้เลยในบทบาทของพวกเขา

ก่อนหน้าที่จะถึงฉากสุดท้าย... หนังใช้ช่วงเวลานานนับสองชั่วโมงครึ่งอันเนิบนาบ ให้หมดไปกับการนำเสนอตัวตนจากภาพของบุรุษอันน่าเคารพของ แดเนียล เพลนวิว ที่ถูกแปรผันไปเรื่อย ด้วยความโลภที่ดึงดันชักนำให้เข้าสู่ด้านมืด ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็มี อีไล เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมอันรุนแรงที่นับวันก็ยิ่งหนักข้อ ยิ่งเข้าใกล้สัญชาตญาณความเป็นสัตว์ดุร้ายมากเท่าไหร่ วิญญาณแห่งความเป็นคนก็ลดไปเท่านั้น ...

พอเมื่อมาถึงฉากสุดท้าย... กับการที่หนังสามารถผูกมัดรวมเอาเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลในเวลาอันเนิ่นนานมาสรุปความด้วยฉากๆนี้ เพียงฉากเดียว ...แค่ได้เห็นคนสองคนกลับมาเผชิญหน้ากันอีกหนในช่วงเวลาที่ทรงพลังที่สุด มันก็ก่อความรู้สึกที่ไม่ต้องการคำบรรยายใดๆอีกต่อไป ...ถึงต่อให้หนังจะลากจะขีดเส้นตรงเส้นที่เหลือให้มันไปทับที่จุดจบในทางสุข ทางทุกข์ หรือจะเป็นทางสายกลาง ก็คือเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องสน ...เพราะ There Will Be Blood มันได้ทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ กันตั้งแต่ที่จุดเริ่มต้นของฉากสุดท้ายไปเรียบร้อยแล้ว



ถ้าจะถามผมว่า ผมรู้จักชื่อของผู้กำกับ "พอล โธมัส แอนเดอร์สัน" คนนี้ได้อย่างไรกัน ...คำตอบที่ผมจะคิดออกเป็นประการแรก ก็คือ ความกล้าที่เคยสามารถดึงเอาซูเปอร์สตาร์พระเอกตัวเงินตัวทอง (โปรดเข้าใจว่า ไม่ได้หมายถึง สัตว์ตัวนั้น แต่อย่างใด) ระดับ 'ทอม ครูซ' มารับบทเป็นตัวประกอบได้อย่างไม่น่าเชื่อ (ในหนัง Magnolia) ...ส่วนประการที่สอง ก็คงเป็นเรื่องที่เขามีชื่อละม้ายคล้ายชวนให้สับสนกับผู้กำกับหนังอีกคนอย่าง 'พอล ดับบลิว เอส. แอนเดอร์สัน' (พี่ท่านคนนี้ก็คือ ผู้กำกับ หนังผีตระกูลชีวะ และ สงครามเลี่ยนปะเตอร์ ในภาคแรก นั่นเอง)

แต่มาในวันนี้ ...ประการทั้งสอง ก็ได้กลายเป็นเรื่องที่สุดแสนจะไร้สาระสิ้นไป (ความจริง ก็ไม่ควรเอามาคิดถึงเลยด้วยซ้ำ) ...เพราะผมได้มีโอกาสรู้จักตัวตนจริงๆอย่างจังๆของ พีที แอนเดอร์สัน คนนี้ ผ่านงานหนังความยาว 160 กว่านาที ที่พูดถึงแต่เรื่องอันไม่น่าเจริญหูเจริญตาเอาซะเลย

ในตอนแรกที่ผมได้รู้ว่าหนังว่าที่ออสการ์คำวิจารณ์แหล่มอย่าง There Will Be Blood จะมีความยาวจำนวนนาทีมากมายถึงเท่านี้ ...ก็เคยแอบตะลึงพึงหวั่น ชวนให้นึกตื่นตูมไปเองโดยล่วงหน้า ว่า(ถ้าไปดู)อาจมีหลับซะละมั้ง ...ซึ่งพอได้ไปดูจริงก็เหมือนจะคาดไม่ผิดอีกด้วยซ้ำซะอย่างงั้น



ช่วงเวลา 30 นาทีแรก ของ TWBB ...ได้นำเสนอ สิ่งที่เรียกว่า ความเนิบนาบอันราบเรียบ ของหนังสักเรื่อง ที่เนื้อเรื่องเหมือนจะไม่มีอะไรดำเนินไปเลย ...ถ้าจะถามหาความสำคัญหรือ? ก็เห็นมีแต่ภาพผู้ชายคนหนึ่งขุดแร่ -> ขุดน้ำมัน -> ตะลอนหาซื้อที่ดิน -> แล้วไปจบลง ณ ที่ดินแดนอันกันดารแห่งหนึ่ง ที่มีชายหนึ่งคนบอกให้เขาต้องเดินทางไป ...เอาเพียงแค่ 4 อย่างนี้ ก็มากพอจะชวนเกรงกลัวว่า หนังทั้งเรื่องที่เหลือ จะมีอะไรที่รอให้เราเกิดรู้สึกอยากติดตามรับชมเรื่องราวของผู้ชายคนนี้บ้างหรือเปล่าวะเนี่ย? ...หรือมันคงจะเป็นหนังขวัญใจนักวิจารณ์อีกเรื่องที่ไม่เข้าทางผม หรืออย่างไรกัน?

แต่นั่นก็เป็นคำถามที่ไม่ต้องหาคำตอบนานจนเกินไป ...เมื่อสิ้นภาพและเสียงการระเบิดอันใหญ่โตมโหฬารของบ่อน้ำมัน กับเวลาอีกราวๆ 30 นาทีที่ เนิบนาบราบเรียบ(จนเกินไป)ได้ผ่านพ้น ...TWBB ก็ทำให้ผมตื่นขึ้นจนเต็มตา พร้อมปลุกเซลล์สมอง ประลองปัญญา (แกะดำ ไม่แกะดำ ...เล่นหนัง ไม่เล่นหนัง ...เย้ย! คนละเรื่องกันแว้ว) พลันดึงให้ใจคอกลับมาอยู่กับภาพและเสียงบนจอหนัง และหลังจากนั้นก็ไม่เคยเผลอตัวหลับลงได้อีกเลย



นี่คือ ความอัศจรรย์ อันดับแรก ที่ พีที แอนเดอร์สัน พยายามเล่นกับคนดู และทำได้อย่างสำเร็จ ...เมื่อ(เหมือนจะ)รู้ว่าคนกำลังจะทยอยพล่อยหลับกันไปทีละคน สองคน สามคนแล้ว... หนังก็ดีดตัวเองให้คึกคักสร้างเหตุการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจ(แถมสมจริงชวนขนลุก)ขึ้นมาในบัดดล แล้วยิ่งไปบวกกับเสียงเพลงประกอบที่โหมบรรเลงความระทึกอย่างอึกทึกใส่เครื่องดนตรีดังครึกโครมเข้าไปด้วย ก็ยิ่งบาดหูเสียดใจเสียจนลูกตาจำต้องเบิกโพลง

ความอัศจรรย์ ในอันดับต่อๆมา... หลังจากการสลายความง่วงในหัวคิดได้เป็นปลิดทิ้ง หนังก็เริ่มเข้ารูปเข้าประเด็นที่สำคัญในทันใด... และนับแต่ทันนั้นเป็นต้นมา การเดินหน้าของหนังที่เนิบนาบ ก็มีแรงขับเคลื่อนที่นำพาความน่าติดตาม มาเรียกร้องความสนใจจากคนดูได้อยู่หมัดไปจนถึงตลอดรอดฝั่ง ...แม้จังหวะที่ยังคงช้าจะมีอยู่บ่อยๆ มากันถี่ๆ ก็ยังดูๆเหมือนน่าเบื่อ แต่กระนั้น ก็มิอาจต้านทานความแข็งแรงของบทและเรื่อง ที่เป็นส่วนให้หลงลืมเรื่องเวลาอันยาวนานไปเลย



นอกเหนือไปจากการเล่นล้ออย่างท้าทายกับสายตาของคนดูที่พาลจะเลื่อนออกจากจอตลอดเวลาหนังแล้ว ...อีกสิ่งที่งานกำกับและเขียนบทของ พีที สามารถกำใจความหนังไว้ได้แนบแน่น ก็คือ กลวิธีการเล่า ที่ตรงๆโต้งๆไม่ลีลา แทบจะหาไม่มีจุดลับจุดเร้นใดๆ ซ่อนเอาไว้ บทจะให้ตีความอะไร ก็คิดได้ออกเพียงภาพที่ได้เห็น นั่นจึงเป็นจุดซึ่งทำให้หนังออสการ์เรื่องนี้ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ...เมื่อลองเอาไปเปรียบชั้นเชิงกับ No Country for Old Men หรือกระทั่ง Atonement ที่มีดีกรีความยากด้วยลีลาการเล่าแล้ว TWBB ก็เลยกลายเป็นของที่ย่อยได้เร็ว แถมยังไม่จำเป็นต้องจริงจังกับมัน ก็พอรู้ใจความที่หนังจะสื่อ

แต่ถึงกระนั้น ความดูง่าย เข้าใจเร็ว ก็มิได้เป็นข้อเสียที่มีเหตุมีผลไปลดความควรค่าจะเป็นหนังออสการ์ยอดเยี่ยมแต่อย่างใด ...หนำซ้ำแล้ว สิ่งนี้ยังไปเสริมส่งพลังหนังให้สามารถเข้าถึงคนดูได้อย่างเต็มที่อีกต่างหาก โดยนั่นก็ยังต้องรวมสนธิกับพลังจาก ฝีมืออันเฉียบคมของ "พีที แอนเดอร์สัน" กับหน้าที่ในงานทั้งสองส่วน ที่ตั้งใจจะเล่า มั่นใจจะสื่อ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ...



และอีกคนหนึ่ง ที่เรียกได้ว่าสำคัญ และจำเป็นยิ่งที่จะต้องเรียกใช้การแสดงของใครสักคนที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงในบทบาทของตัวเอกอันโดดเด่นจนโดดเดี่ยว ...การได้มาซึ่งบทบาทสุดอัศจรรย์ในครั้งนี้ ของ นักแสดงสุดเก๋าตัวอ๋องขั้นเทพ นาม "แดเนียล เดย์-ลูอิส" จึงไม่เป็นที่กังขาใดๆ ที่จะได้ชิงออสการ์อีกครั้ง และควรค่าจะจดจำมากกว่า ด้วยการมอบรางวัลนี้ให้ไปอย่างสมศักดิ์ศรีถึงที่สุด

คาแรกเตอร์ "แดเนียล เพลนวิว" นับเป็น อีกครั้งหนึ่งหลังจาก Gangs of New York ที่ส่งตรงให้ ป๋าแดเนียล ได้บทโชว์พาว ดึงเอาสปิริตความเจ๋งอย่างเป้งๆมาใช้ ในมาดบุรุษอันภูมิฐาน ที่เนื้อในร่างอันดูดีกลับมีใจอันฟอนเฟะและอำมหิตผิดภาพในเบื้องนอกโดยสิ้นเชิง ...แม้หนังจะไม่ได้ถ่ายเทเวลาให้ ป๋าแดเนียล ได้แสดงออกแบบ One Man Show สักเท่าไหร่ก็ตามที ...แต่ก็อาจห้ามไม่ได้ ที่รัศมีความเด่น จะทาบเอาคนอื่นๆบนจอ ให้กลืนหายสลายจากหน่วยความจำของคนดูไปเสีย ...หากจะมียกเว้นก็แต่...



"พอล ดาโน่"... เขาคือ คนเดียว ที่สามารถเทียบความเด่น ขับความตั้งใจ ให้คนดูได้เห็นความเก่งคู่เคียงกับ ป๋าแดเนียล ได้อย่างไม่เคอะเขิน ...แม้จะได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งที่ใบหน้ายังสดใหม่ แต่บท "อีไล ซันเด" ที่เขาได้รับ กับเหมือนมีนักแสดงระดับเซียนมาสวมทับได้อย่างน่าเชื่อถือ ...ยิ่งถ้าใครได้เคยดู Little Miss Sunshine มาด้วยแล้ว ก็คงจะทึ่งยิ่งๆ กับพัฒนาการอันรุดหน้าของอดีตเด็กบ้าใบ้ ที่องอาจจะระเบิดคำพูดเป็นชุดใหญ่ๆใส่หูของคนดูในหนังเรื่องนี้ให้ฟังจนกลายเป็นความน่ารำคาญ ...แต่ก็เป็นความน่ารำคาญที่มันส์ในอารมณ์จนถึงจุดยอด กับสองฉาก (โบสถ์/บ้านแดเนียล) อันถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด พีคที่สุด และยังต้องรวมนิยามของคำว่า "คลาสสิค" แห่งความทรงจำเข้าไปอีกด้วย

นอกไปจากงานสามส่วนหลักๆ (กำกับ/เขียนบท/การแสดง) ที่ได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมแล้ว ...อีกสองอย่างที่ลืมไม่ได้ จะต้องพูดถึง ก็คือ งานถ่ายภาพที่เน้นความดิบหยาบ เพื่อตั้งใจอยากจะให้คนดูรู้สึกแห้งแล้งและมืดมนไปพร้อมกับบรรยากาศ แต่กระนั้นที่ผิดแผกไปจากการสร้างภาพ ก็ยังแอบแฝงพลังต่อตัวหนังไว้ได้อย่างงดงามเป็นที่สุด (สมแล้วที่ได้ออสการ์เป็นประกันไปอีกหนึ่งตัว) และสุดท้าย ...ดนตรีประกอบ ก็คืออีกองค์ประกอบจำเป็นที่ขับเน้นความบ้าคลั่งในเรื่องที่หนังต้องการสื่อสารอย่างสุดกู่ ...ถึงจะดูมากไป ล้นไป จัดจ้านไป สำหรับหนังดรามาที่เดินเรื่องอย่างเอื่อยเฉื่อย แต่มันก็เร้าใจบิวต์อารมณ์ ให้เราต้องตื่น ตาลื่นไปกับหนัง และยังจะคงฟื้นคืนความจำได้เสมอ เมื่อเสียงเพลงนั้นยังคงก้องเสียดแทงหู หลอนใจมาจนถึงวันนี้



"There Will Be Blood" ... ถ้าหาก No Country for Old Men ไม่โดดเด่นและอเมริกันจ๋าจนออกนอกหน้ามากไปนิดแล้ว หนังชื่อโชกเลือดเรื่องนี้ ก็ควรแก่ตำแหน่งยอดเยี่ยมแห่งออสการ์อย่างถึงที่สุด ...แต่หากสมมติว่าสุดท้ายจะได้ออสการ์มาก็ตาม ตุ๊กตาทองตัวนั้นก็คงไม่อาจเป็นตัวสรุปความสุดยอดของหนังเรื่องนี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง และหมดจด กันอย่างแน่แท้ ...ที่เหลือจากนี้แล้ว จึงเป็นเรื่องของเวลาที่ต้องพิสูจน์กันว่า จะสามารถเอาคำว่า "คลาสสิค" มาเป็นอีกหนึ่งตัวแทนให้กับสุดยอดหนังเยี่ยมเรื่องนี้ได้หรือไม่

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สามารถใช้คำว่า "คอหนังพันธุ์แท้" เป็นตัวแทนของคุณได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ...ก็จงห้ามพลาดความสุดยอดครั้งนี้ด้วยประการทั้งปวง ...เฉพาะที่ "เอเพ็กซ์ ลิโด" ที่เดียวในประเทศไทยเท่านั้น


ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง...ครับ

เกรด A ... {}

ส่วนที่เป็นฟอนท์สี เขียว-แดง เพิ่มเข้ามา... ซึ่งที่เน้นนั้นจะเป็นที่ผมพูดถึง ส่วน ดูดี(เขียว)-ดูด้อย(แดง) ของหนังแต่ละเรื่องครับ ...สำหรับบางคนที่ยังไม่ได้ดูหนัง แล้วอยากจะรู้ว่าหนังมีอะไรดีอะไรด้อยบ้าง ก็อ่านเอาจากที่ผมทำไฮไลท์ไว้ก็ได้เลยครับ ตามแต่สะดวกละกัน

ขอเชิญทุกท่านเสนอความคิดเห็นกัน...
1 Comment ของคุณ คือ 1 Happy ของเจ้าของบล็อก ขอบคุณมากครับ
Create Date :03 มีนาคม 2551 Last Update :3 มีนาคม 2551 11:46:28 น. Counter : Pageviews. Comments :10