กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
29 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ชวา ขึ้นมาล้ำ สุมาตรา


 
 
235 ชวา ขึ้นมาล้ำ สุมาตรา
 

     บนเกาะชวา   ที่อยู่ต่อลงไปทางใต้ถัดจากสุมาตรา  โดยมีช่องแคบซุนดา (Sunda Strait) คั่นอยู่ มีอาณาจักรที่เจริญมาแต่โบราณ   ซึ่งอาจจะเก่าแก่กว่าศรีวิชัย  อย่างน้อยก็เคียงข้างหรือแข่งคู่กันมา แต่ไม่ใหญ่โตเท่า จึงไม่ปรากฏชื่อเด่น
 
     เพื่อรวบรัด  ขอเล่าสั้นๆว่า  อย่างที่กล่าวแล้ว  เมื่อหลวงจีนฟาเหียนเดินทางกลับเมืองจีนทางทะเล ตอนต้น ค.ศต. 5 (ราว พ.ศ.๙๕๖) เรือที่ท่านโดยสารมา  ถูกคลื่นซัดไปขึ้นฝั่งเกาะหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นชวา และพระคุณวรมัน ที่ออกบวชจากราชวงศ์  ซึ่งมาจากกัศมีระ/แคชเมียร์ก็ได้ เขียนเรื่องราวในยุคเดียวกันนี้  บอกไว้เกี่ยวกับการที่ท่านได้มาสั่งสอน
 
     บันทึกที่ว่านั้น    ทำให้คนยุคหลังรู้ว่า  การเดินทางค้าขายระหว่างจีนกับชวาได้มีมานานแล้ว และพระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นอยู่แล้วที่นั่น  ซึ่งคงนานแล้วก่อนที่ท่านทั้งสองไปถึง
 
     มีศิลาจารึกบอกไว้ให้ทราบว่า แถวๆ เมืองจาการ์ตา (Jakarta) ปัจจุบันนี้ ย้อนไปเมื่อ ค.ศต. 5-6/พ.ศต. ๑๐–๑๑ เคยมีอาณาจักรโบราณเก่าแก่ที่สุดแห่งชวาตะวันตก ชื่อว่า ตรุมา (Taruma; เรียกเต็ม ว่า ตรุมานคร/Tarumanegara บันทึกฝ่ายจีนเรียกว่า โตโลมา/ To-loma) ซึ่งเป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา (บางตำราว่าเป็นฮินดู) มีราชาที่เข้มแข็งที่สุด พระนามว่าปูรณวรมัน แต่เรื่องราวของอาณาจักรนี้ นักประวัติศาสตร์ไม่อาจหารายละเอียดมาเล่าได้
 
     ครั้นถึงต้น ค.ศต. 7 (ยุคเดียวกับศรีวิชัยในสุมาตรา) ก็ได้มีอาณาจักรสำคัญเกิดขึ้นแล้วในชวาหลายแห่ง ทั้งอาณาจักรค้าขายชายฝั่งทะเล และอาณาจักรกสิกรรมทำนาข้าว  ลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน
 
     โดยเฉพาะในชวาภาคกลาง และภาคตะวันออก เมื่อต้น ค.ศต. 8 (ราว พ.ศ.๑๒๕๐) มีอาณาจักรกสิกรรมรุ่งเรืองอยู่  ชื่อว่ามาตาราม (Mataram) เป็นถิ่นนับถือศาสนาฮินดูมีกษัตริย์ในสายราชวงศ์สัญชัย
 
     บางตำราว่า เมื่อถึงครึ่งหลังของค.ศต.8 (ราว พ.ศ.๑๓๐๐) อาณาจักรมาตาราม ได้เสื่อมลงไป โดยมีอาณาจักรใหม่ของชาวพุทธแห่งราชวงศ์ไศเลนทร (Sailendra) เจริญขึ้นมาบนที่ราบเกทุ (Kedu Plain) ที่อยู่ใกล้เคียง
 
     อย่างไรก็ดี   เรื่องราวตอนนี้   นักประวัติศาสตร์ว่าไว้ต่างกัน   บางพวกว่า อาณาจักรมาตารามนั่นเองมีกษัตริย์เป็นราชวงศ์ไศเลนทร คือ เป็นอาณาจักรเดียวกัน และกล่าวว่ากษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรนี้    ตอนต้น   นับถือศาสนาฮินดู   แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นนับถือพระพุทธศาสนา
 
     (ถ้ายอมรับว่าเป็นอาณาจักรเดียวกันตามมตินี้ ก็น่าพิจารณาว่า เมื่อเลิกนับถือฮินดูแล้วมานับถือพุทธศาสนา จะสร้าง Borobudur ก่อน แล้วไปสร้าง Prambanan ทีหลัง ตามเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ได้อย่างไร)
 
     กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร   ได้สร้างมหาสถูปยิ่งใหญ่   ที่เรียกว่า Borobudur  (สันนิษฐานกันว่าอาจเลือนมาจากคำว่า “บรมพุทโธ”)  ขึ้น  เมื่อ  ราว 800/๑๓๕๐  (บางตำราว่า สร้างตอนกลาง ค.ศต. 9; อยู่ห่างจากเมือง Jogjakarta/Yogyakarta ประมาณ ๖๘ กม.)
 
     มหาสถูป Borobudur นี้ ใหญ่เพียงใด  ขอพูดไว้เพียงว่า สร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ ๒ ล้านตารางฟุต บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้าน ละ ๑๒๑ เมตร (๔๐๓ ฟุต) สูงขึ้นไปเป็นรูปทรงแบบปิระมิด มีลานเป็นขั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ๘ ชั้น และในแปดชั้นนั้น ๕ ชั้นล่างเป็นลานสี่เหลี่ยม ๓ ชั้นบนเป็นลานวงกลม และบนลานกลมชั้นสูงสุด มีพระสถูป ตั้งสูงขึ้นไปอีก ๓๑.๕ เมตร
 
     ส่วนอาณาจักรมาตาราม ที่เสื่อมลงไป ต่อมาก็ตั้งขึ้นใหม่อีก   ในตอน กลาง ค.ศต.9 แล้วเจริญมาอีกหลายศตวรรษ
 
     โดยเฉพาะในตอนต้น ค.ศต.10 (900-930/๑๔๔๓–๗๓) มาตาราม ซึ่งเป็นอาณาจักรฮินดู ได้สร้างมหาเทวสถาน  เรียกว่า ปรัมพนัน/ Prambanan (เขียนปรัมพนัม/Prambanam ก็มี) ขึ้นมา เพื่อเป็นที่บูชาพระศิวะ อันนับว่าเป็นศิวเทวาลัยใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
 
     มหาสถูป Borobudur ฝ่ายพุทธศาสนา ของราชวงศ์ไศเลนทร กับมหาเทวสถาน ปรัมพนัน ฝ่ายฮินดู ของอาณาจักรมาตารามนี้ ใหญ่มหึมาทั้งสองแห่ง และอยู่ใกล้กันด้วย (ห่างกันไม่ถึง ๘๐ กม.) จึงเป็นที่สังเกต และเป็นแหล่งศึกษาเชิงเปรียบเทียบสำหรับนักค้นคว้า
 
     เรื่องของราชวงศ์ไศเลนทรนี้  นอกจากที่เกี่ยวกับการสร้างมหาสถูป Borobudur แล้ว ก็ไม่ค่อยรู้อะไรกันอีก หรือรู้กันแบบไม่ค่อยชัด
 
     นักประวัติศาสตร์เห็นกันว่า  พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (Jayavarman II; น่าสังเกตว่าชัยวรมันที่ ๑ ไม่ปรากฏ) ผู้สถาปนาอาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งมีเชื้อสายทางวงศ์กษัตริย์แห่งฟูนันด้วย  มาจากราชสำนักแห่งไศเลนทร ในตอนปลาย  ค.ศต.8 เมื่อประมาณปี  790/๑๓๓๓ และได้ประกาศอาณาจักรขอมเป็นอิสระจากไศเลนทร ในปี 802/๑๓๔๕
 
     เท่าที่พูดกันอันสำคัญอีกตอนหนึ่งคือเรื่องที่ว่า ในช่วงกลาง ค.ศต. 9  (ราวพ.ศ.๑๔๐๐)ขณะทราชวงศ์มาตารามเข้าครองดินแดนของไศเลนทร ในชวา กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรนี้  ก็ได้ ไปเป็นใหญ่ครองอาณาจักรศรีวิชัยในสุมาตรา โดยมีอำนาจครองดินแดนแหลมมลายูส่วนใหญ่ด้วย จนกระทั่งศรีวิชัยที่ราชวงศ์ไศเลนทรปกครองนั้นเสื่อมไปในกลาง ค.ศต.11
 
     ในยุคที่ศรีวิชัยในสุมาตราเสื่อมลงช่วงต้นๆ คือใน ค.ศต.11 ได้เกิดมีอาณาจักรใหม่ขึ้นในชวาตะวันออก ชื่อว่ากาทิรี (Kadiri; ปัจจุบันเรียก ว่า Kediri) มีเมืองหลวงชื่อว่าดาหา (Daha; อ่านอย่างบาลี-สันสกฤตว่า ทหะ เหมือนในคำว่าเทวทหะ)
 
     ขอแทรกว่า ตรงนี้ตำราทั้งหลายว่าต่างกันจนสับสน เมื่อตรวจสอบสืบค้นไปก็พอเชื่อมความตามแหล่งข้อมูล ๒-๓ แห่งได้ว่า  เป็นเรื่องสืบมาจากอาณาจักรมาตารามนี้เอง  จากตั้งขึ้นใน ค.ศต. 8 โดยพระเจ้าสญชัย (ครองราชย์ปี 732-778/ ๑๒๗๕–๑๓๒๑) แล้ว  ก็มีอำนาจขยายออกไปตั้งแต่ชวาภาคกลางถึงภาคตะวันออก
 
     ต่อมาต้น ค.ศต. 10 ศูนย์กลางอำนาจของมาตารามได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันออก
 
     เวลาผ่านไป  ได้เกิดภัยพิบัติ  ถูกศรีวิชัยที่ขัดแย้งกันมาทำลายบ้าง  ถูกกบฏทำลายบ้าง จนกระทั่งปี 1019/๑๕๖๒ เกิดมรราชาองค์สำคัญของมาตาราม (มรพระนามเขียนกันว่า Airlangga บ้าง Erlangga บ้าง)  รวมกำลังฟื้นอาณาจักรให้เข้มแข็ง แล้วแบ่งอาณาจักรให้โอรส้ ๒ องค์ครอง
 
     ครั้งนั้นมาตารามหายไป แยกเป็น ๒ อาณาจักร คือ กาทิรี กับ ชังคละ ทำให้แตกกันและอ่อนแอลง  กระทั่งราชาชยาภัย (ครองราชย์1135-57) รวมชังคละเข้ากับกาทิรีได้ (ตามเรื่องที่เล่ามาว่า โอรสและธิดาของ ๒ แดนนั้น คือ อิเหนา กับ บุษบาอภิเษกสมรส อิเหนาจึงครองเป็นอันเดียว)
 
     กาทิรีขยายดินแดนออกไปได้มาก   แต่ก็ยังไม่สามารถคุมสุมาตราที่ศรีวิชัยครองอยู่ได้ แล้วในที่สุด ถึงปี1222/๑๗๖๕ ได้มีกบฏโค่น พระเจ้ากฤตชัย (ตำราภาษาอังกฤษเขียน Kertajaya น่าจะเพี้ยนจาก Kritajaya) ราชาองค์สุดท้ายของอาณาจักรกาทิรีลง และตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมาแทนที่ ชื่อว่าสิงหสารี (Singhasari/Singasari/Singosari; ใน อิเหนาเรียกว่า “สิงหัดส่าหรี”)
 
     อาณาจักรสิงหสารีแห่งชวาตะวันออก เป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้รุ่งเรืองเด่นในรัชกาลพระเจ้ากฤตนคร (ภาษาอังกฤษ เขียนกันว่า Kertanagara น่าจะเพี้ยนจาก Kritanagara; 1268-1292/ ๑๘๑๑–๑๘๓๕) โดยมีอำนาจควบคุมดินแดนเป็นอันมากในสุมาตรา ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของศรีวิชัย
 
     ต่อมา ในปี 1289/๑๘๓๒ จักรพรรดิกุบไลข่าน เมืองจีน ทรง พิโรธว่าทางสิงหสารีปฏิบัติต่อราชทูตของพระองค์อย่างไม่ควรแก่เกียรติ ยศ จึงเตรียมจะส่งกองทัพมาลงโทษ
 
     แต่ระหว่างนั้น ในปี1292/๑๘๓๕ อาณาจักรกาทิรีคู่แข่ง ที่ถูก สิงหสารีปราบลงก่อนนั้น ได้ก่อการกบฏ มายึดพระราชวัง และได้ สังหารพระเจ้ากฤตนครเสีย ทำให้อาณาจักรสิงหสารีสิ้นสลาย
 
     คราวนั้น (ปี1292/๑๘๓๕) เจ้าชายวิชัยโอรสของพระเจ้ากฤตนคร หลบหนีไปได้  ครั้นทัพมองโกลมาถึง  เจ้าชายวิชัยก็หันไปร่วมกับทัพมองโกลนั้นกำจัดกษัตริย์แห่งกาทิรีได้ เสร็จแล้วเจ้าชายวิชัยก็หันมาสู้กับพวกมองโกล และสามารถขับไล่ทัพมองโกลออกไปจากชวาสำเร็จ
 
     จากนั้น   เจ้าชายวิชัยได้ตั้งอาณาจักรแห่งชวาตะวันออกขึ้นใหม่  ชื่อว่ามัชปาหิต ในปี1293/๑๘๓๖ ซึ่งได้เจริญขึ้นเป็นใหญ่ที่สุดในแถบนี้   โดยครองดินแดนที่เป็นอินโดนีเซียบัดนี้ และแผ่นดินแหลมมลายูเป็นอันมาก ตลอดทั้งสิงคโปร์
 
     (เป็นอันจับความรวมได้ว่า มาตารามหายมาเป็นกาทิรี  แล้วกาทิรีถูกแทนที่ด้วยสิงหสารีและสิงหสารีก็เปลี่ยนเป็นมัชปาหิต)
 
     มัชปาหิต * ที่ชวา  รุ่งเรืองอยู่นาน  แต่นับจากปี  1389/๑๙๓๒ อำนาจก็เริ่มถูกท้าทาย ดังได้เล่าแล้วว่า ทางด้านสุมาตรา เจ้าชายปรเมศวรแห่งแดนศรีวิชัยเดิม คิดตั้งตัวเป็นอิสระ  แม้ว่ามัชปาหิตจะขับไล่ผู้ท้าทายนั้นพ้นไป   และตามไปกำจัดที่สิงคโปร์จนเสร็จ แต่เจ้าชายปรเมศวรก็ไม่ลดละ  หนีต่อไปตั้งตัวได้ที่มะละกา กลายเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ชาห์  ทำให้เกิดรัฐสุลต่านแห่งมะละกาขึ้น  ดังเล่าข้างต้น  เมื่อปี 1402-03/๑๙๔๕-๔๖
 
     มัชปาหิตเสื่อมอำนาจ   จนในที่สุดก็ถูกชนมุสลิมโค่นลงในปี 1478/ ๒๐๒๑  (บางตำราว่าปี 1486/ ๒๐๒๙)  แต่ยังไม่หมดกำลังสิ้นเชิง กระทั่งถึงต้น ค.ศต.16 อำนาจก็ยังเหลืออยู่บ้างนั้นถูกกำจัดสิ้นไปในราวปี 1527/๒๐๗๐
 
     ในช่วงที่ชนมุสลิมเข้าครองนั้น  ชาวฮินดู มัชปาหิต ทั้งเจ้านาย  ขุนนาง และประดาคนชนสูงได้พากันอพยพหนีภัยไปยึดเอาบาหลีเป็นที่มั่นสุดท้าย
 
     เกาะบาหลี  (Bali คือพลี  ที่แปลว่า  มีกำลัง แข็งแรง) อยู่ห่างไปทางตะวันออกของเกาะชวา โดยข้ามช่องแคบเพียงประมาณ ๒ กม. และบาหลี เป็นถิ่นแดนเดียวในอินโดนีเซียปัจจุบัน  ที่นับถือศาสนาฮินดู  ซึ่งเป็นฮินดูแบบบาหลี (Balinese Hinduism) มีพุทธศาสนาแทรกเสริม ผสมผสานกับลัทธินับถือบรรพบุรุษผีสางและไสยเวท  ถือระบบวรรณะของฮินดู แม้จะหย่อนกว่าในอินเดีย  ชาวบาหลีส่วนใหญ่ ราว ๙ ใน ๑๐ เป็นคนวรรณะศูทร
 
     ถึงตอนนี้  ก็ควรตามไปดูบนผืนแผ่นดินแหลมมลายู  คืออาณาจักรมะละกาที่เคยว่าไว้นั้น
 
     (แต่ก็จะย้อนมาที่ชวาอีกที เพราะจะมีอาณาจักรมาตารามเกิดขึ้นใหม่ ในยุคเป็นแดนมุสลิมในกาลข้างหน้าหลังสิ้นมาตารามเก่าไป ๕๐๐ กว่าปี )
 
 
 
*  การเขียนเทียบเสียงชื่อต่างๆ ในภาษาของอินโดนีเซีย เป็นภาษาไทยนั้นทำได้ยากมาก เพราะเรามักอ่านผ่านภาษาอังกฤษ เว้นแต่คำจากบาลี-สันสกฤต ซึ่งอาจบอกคำเดิมได้ทันที (เช่น สิงหสารี, สิงหราชา ฯลฯ ซึ่งในอินโดนีเซียบัดนี้ ก็ยังออกเสียงอย่างนั้น ) แต่กระนั้น  หลายคำก็เพี้ยนเสียงไปไกลเกินที่จะคาดเดา
 
   มีชื่อสำคัญ ๒-๓ ชื่อ ที่แม้จะได้พยายามสืบบและสอบค้นตั้งแต่ก่อนเขียน   จนเขียนภาคผนวก นี้จบ  ก็ยังไม่ยุติ   โดยเฉพาะ Majapahit และ Mataram ซึ่งในที่นี้ยังเขียนเป็นมัชปาหิต และ มาตาราม โดยถือหลักว่า  เมื่อยังหาคำเดิมที่มั่นใจว่าถูกแท้ไม่ได้ใช้ตามของเก่าไปก่อน


 


Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2567 12:17:19 น. 0 comments
Counter : 36 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space