กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
17 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ได้ดุลพอดี ที่เป็นลักษณะทางสายกลาง

 
235 ความได้ดุลพอดี  ที่เป็นลักษณะสำคัญของทางสายกลาง
 

     ลักษณะของทางสายกลางอีกอย่างหนึ่งก็คือดุลยภาพ ในทางสายกลางนี้ มีความพอดีอย่างที่พูดไปแล้ว ซึ่งเกิดจากความได้สัดส่วนขององค์ประกอบทั้งหลายที่มาทำงานร่วมกันอย่างประสานกลมกลืนลงตัว  ในสมัยปัจจุบัน  เรียกว่าองค์รวม
 
     สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดจากส่วนประกอบทั้งนั้น ถ้าส่วนประกอบไม่พอดีกันก็ยุ่ง เกิดปัญหา แต่ถ้าส่วนประกอบต่างๆ ประสานกันพอดีแล้วทุกอย่างก็ลงตัว กลมกลืนกันทั้งหมด และจะได้ผลดีด้วย
 
     ดังตัวอย่างที่ได้พูดมาแล้วในเรื่อง พรหมวิหาร ซึ่งมี ๔ ข้อ ที่จะต้องมีดุลยภาพ ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้พรหมวิหาร ๔ นี้เสียดุลไป แม้ว่าพรหมวิหารแต่ละข้อจะเป็นกุศลธรรมก็ทำให้เกิดผลร้ายได้
 
     เรื่องนี้เราไม่ค่อยคิดกัน พรหมวิหาร ๔ ต้องปฏิบัติให้ได้สัดได้ส่วนกันพอดีตามสถานการณ์
 
     ถ้าใช้ผิดสถานการณ์  เช่น ในสถานการณ์ที่ควรใช้อุเบกขา กลับไปใช้เมตตากรุณา สถานการณ์ที่ควรจะใช้เมตตากรุณา กลับไปใช้อุเบกขาก็ทำให้เกิดปัญหา ทั้งๆ ที่เมตตากรุณาและอุเบกขาเป็นกุศลธรรม แต่เมื่อใช้ไม่เป็น ก็เสียหายไปหมด ชีวิตก็เสีย สังคมก็เสีย
 
     ในเมืองไทยเรานี้ ตอนหลังๆ มีแนวโน้มที่จะดึงธรรมออกมาแยกเป็นข้อๆ  จนกระทั่งในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ  สำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียน  ระยะหลังๆ  นี้ก็ทำอย่างนั้น   ทำอย่างไร ?  คือ ดึงธรรมมาเป็นข้อๆ โดยมาถกเถียงกันว่าเราจะ  สอนเด็กให้มีธรรมข้อไหนบ้าง  เมตตาดีนะ  ก็เอามาสอน  กรุณาดีนะ  ก็เอามาสอน  แล้วขันติก็ดีนะ  เอามาสอน   เลือกเอามาเป็นข้อๆ
 
     นี่เป็นการทำไปด้วยความไม่รู้   ไม่เข้าใจ  ทำให้ชีวิตวุ่น  และสังคมปั่นป่วน  เพราะไม่เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมเป็นชุดๆ ทำไม
 
 
     พรหมวิหาร ๔ นั้นต้องมาทั้งชุด   ถ้าเสียชุด  ก็เสียหลัก แล้วผลร้ายต่างๆ ก็ตามมา การที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมไทยที่ผ่านมา ก็เพราะเราปฏิบัติธรรมไม่ค่อยครบชุด เช่น ได้บอกแล้วว่า พรหมวิหาร ๔  พ่อแม่  ต้องใช้ให้ครบ  มิฉะนั้นลูกจะเสีย  การรักลูกระยะสั้น  บางทีก็ทำให้ลูกเสียระยะยาว  ถ้าพ่อแม่มีแต่ เมตตา กรุณา มุทิตา แต่อุเบกขาไม่มี  ลูกก็ไม่รู้จักโต ลูกทำอะไรไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองไม่ได้
 
     พ่อแม่มักมีความโน้มเอียงที่จะลำเอียงเข้าข้างลูก   สมัยโบราณต้องใช้วิธีให้ลูกห่างพ่อแม่เสียบ้าง   เท่ากับให้พ่อแม่ใช้อุเบกขาโดยไม่รู้ตัว   เช่น   เอาลูกไปฝากวัด  หรือ
 
     ถอยหลังไปอีก  พ่อแม่ที่มั่งคั่งร่ำรวยสมัยโบราณ  ให้ลูกไปเรียนที่เมืองตักศิลา ไปอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์  พอไปอยู่กับอาจารย์  ท่านไม่เข้าข้าง  ต้องดูแลตัวเอง  เจออุเบกขาเยอะ  ท่านให้เรียน  ให้หัดทำงาน   ให้รับผิดชอบอะไรต่างๆ เด็กก็รู้จักรับผิดชอบตัวเอง
 
     เด็กสมัยนี้ บางทีอยู่กับพ่อแม่ตลอด   พ่อแม่ตามใจ    มีอะไรก็ทำให้  ทำแทนหมด เพราะกลัวลูกจะเหน็ดเหนื่อย  ลูกเลยอ่อนแอ  โตขึ้นมาทำอะไรไม่เป็น  ต้องส่งไปเรียนต่างประเทศ พอไปเรียนต่างประเทศ ถูกฝรั่งอุเบกขาเข้า ก็เริ่มหัดรับผิดชอบตัวเองได้ รู้จักทำอะไรต่ออะไรเป็นขึ้น การมีอุเบกขา  ชนิดที่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศของพ่อแม่  ทำให้ไม่ต้องมีเมตตากรุณาตลอดเวลา
 
     ถ้าพ่อแม่ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ได้สัดส่วนกันแล้ว ลูกก็จะโต รับผิดชอบตัวเองได้  มีความเจริญเติบโตอย่างถูกต้อง
 
     พระพรหมจะสร้างโลกได้ถูกต้อง พระพรหมจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์  ต้องมีดุลยภาพของ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยเฉพาะ ดังได้แยกไว้แล้ว มี  ๔ ข้อ จัดได้เป็น ๒ ภาค คือ
 
        ก) ภาค คน-คน ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นธรรมสำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือมนุษย์ต่อมนุษย์  โดยคนปฏิบัติต่อกันเพื่อประโยชน์ของคน  พูดสั้นๆ ว่า คนต่อคน เพื่อคน
 
        ข) ภาค คน-ธรรม ได้แก่ อุเบกขา เป็นธรรมสำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมที่เป็นกฎธรรมชาติ  หรือตัวความจริงของธรรมชาติที่รองรับโลกมนุษย์ไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยคนปฏิบัติต่อกันเพื่อรักษาธรรม  พูดสั้นๆ ว่า คนต่อคน เพื่อธรรม
 
     ถ้าเราเอาแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงความจริงของธรรมชาติ  ชีวิตและสังคมมนุษย์นั้นเองก็จะเสียดุลยภาพ   จะต้องรักษาไว้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม
 
     มนุษย์มิใช่จะอยู่ด้วยกันโดยลำพังบนโลกมนุษย์  แต่มนุษย์บนโลกทั้งโลกดำรงอยู่บนฐานของธรรม  ธรรมรักษาโลกไว้อีกชั้นหนึ่ง   ฉะนั้นจะต้องไปให้ถึงอุเบกขา  อุเบกขาเป็นตัวรักษาธรรมไว้   รักษาตัวหลักการไว้
 
     ถ้าพ่อแม่มีอุเบกขา  ก็ช่วยให้ลูกเติบโต  รู้จักรับผิดชอบตัวเอง รู้จักทำอะไรเป็น อย่างที่ได้พูดไปแล้ว  พ่อแม่จึงต้องรักษาอุเบกขา ต่อลูกใน ๓ กรณี  เรื่องนี้ไม่ขอทวนอีก
 
     ในสังคมก็เช่นเดียวกัน  สังคมใดที่มนุษย์เอาแต่ เมตตา กรุณา ก็จะช่วยกันจนกระทั่งลืมหลักการ  มองข้ามกฎเกณฑ์กติกา จึงเสียความชอบธรรมในสังคม
 
     นอกจากนั้นยังเสียอีกด้านหนึ่งด้วย คือทำให้คนหวังพึ่งกันเกินไป  คนไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ก็หวังพึ่งแต่คนอื่น  ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย  กลายเป็นคนอ่อนแอเฉื่อยชา  แล้วผลเสียก็เกิดแก่สังคม  ทำให้สังคมไม่เจริญก้าวหน้า
 
     สังคมที่คนมีอุเบกขามาก  ก็จะตัวใครตัวมัน  ไม่เอาใจใส่กัน   ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็ขาดความอบอุ่น  ทำให้ชีวิตเคร่งเครียด   มีความทุกข์   เป็นโรคเส้นประสาทมาก   แต่ทุกคนจะกระตือรือร้นขวนขวายดิ้นรนมาก  มีความเข้มแข็ง  เป็นนักแข่งขัน และอยู่กันด้วยหลักการกฎเกณฑ์กติกา  ไม่เห็นแก่หน้ากัน  ก็ได้อย่างเสียอย่าง กันอยู่อย่างนี้
 
     โลกมนุษย์เรามักตกอยู่ในสภาพที่ว่า  ถ้าไม่ตึงไป  ก็หย่อนไป สุดโต่งไปข้างโน้นที ข้างนี้ที พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะปรับให้พอดี
 
     ถึงตรงนี้ ก็เป็นอันว่าได้พูดถึงลักษณะสำคัญของความเป็นทางสายกลางมา ๒ ข้อแล้ว ใน ๓ ข้อ คือ
 
        ๑. ให้เห็นว่า ทางสายกลางต้องอาศัยปัญญา  ถ้าเรารู้เข้าใจจุดมุ่งหมายของการกระทำ  ความรู้นั้น  ก็จะเป็นตัวปรับพฤติกรรมให้พอดี  เช่น  การกินอาหาร เป็นต้น
 
        ๒. จะต้องมีดุลยภาพ ระหว่างองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นองค์ร่วมในองค์รวมนั้น องค์ประกอบทั้งหลายจะต้องได้สัดส่วนสัมพันธ์กันพอดี
 
        ๓. ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นปัจจัยแก่กัน  เช่น  กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้  อกุศลก็เป็นปัจจัยแก่กุศลได้   ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันในความเป็นทางสายกลาง
 


Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2567 11:09:41 น. 0 comments
Counter : 104 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space