กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
20 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

สติมา ปัญญาเกิด



235 ถ้ามนุษย์พัฒนาจริง  ก็ต้องพ้นวงจรแห่งความเจริญแล้วเสื่อม
 

     หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้สำคัญยิ่งนัก จึงจะต้องสำนึกตระหนักอยู่เสมอถึงความสำคัญของความไม่ประมาท เพราะเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสดักไว้ในขั้นสุดท้าย
 
     ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางวัตถุหรือทางจิตใจ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาวบ้าน หรือชาววัด  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิจการบ้านเมือง หรือเรื่องโลกุตตรธรรม  ก็ต้องใช้ความไม่ประมาททั้งนั้น
 
     เพราะเหตุนี้แหละ  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  “คนไม่ประมาทจะบรรลุประโยชน์หรือจุดหมายทั้งชนิดที่ตามองเห็น และชนิดที่เลยตามองเห็น  (คือทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ)(สํ.ส.๑๕/๓๘๐; ๓๘๕ ฯลฯ)
 
     สำหรับการปกครองบ้านเมือง  ก็ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระมหากษัตริย์ต้องมีกัลยาณมิตร และไม่ประมาท กิจการใดๆ ในบ้านเมืองอย่าปล่อยปละละเลย ต้องดูแลเอาใจใส่ เป็นแบบอย่างกระตุ้นเตือนนำให้ประชาชนพากันไม่ประมาทไปด้วย ตลอดไปทั่วจนถึงชาวไร่ ชาวนา ชาวชนบท ยุ้งฉางเรือนคลังเป็นอย่างไร  ต้องเอาใจใส่ตรวจตรา สอดส่อง อะไรที่ต้องรู้ด้วยตัวเอง ก็ต้องให้ประจักษ์ด้วยตัวเอง
 
     สำหรับผู้หวังบรรลุโลกุตรธรรม  แม้แต่เป็นอริยบุคคลแล้ว ก็ไม่ให้มัวสันโดษพอใจกับธรรมวิเศษที่ตนได้บรรลุแล้ว จะต้องเร่งขวนขวายเพื่อให้บรรลุธรรมสูงยิ่งขึ้นไป  จนกว่าจะถึงที่สุดลุจุดหมาย ดังที่เคยว่าไปแล้ว
 
     สำหรับทุกคน เลยทีเดียว จะต้องสำนึกตระหนักในความจริงที่ว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ชีวิตไม่เที่ยง สังขารจะต้องแตกสลาย  เพราะฉะนั้น  จะนิ่งนอนใจไม่ได้  ต้องเร่งรัดทำการที่ควรทำ ตั้งใจบำเพ็ญกิจหน้าที่ พัฒนาชีวิตให้บรรลุความดีงามประเสริฐเลิศล้ำ ที่ความเป็นมนุษย์จะอำนวยให้แก่เราได้
 
     ในที่สุดก็ตรัสว่า  ความไม่ประมาท เป็นดุจรอยเท้าช้าง ที่ใหญ่กว้างครอบคลุมธรรมอื่นหมด
 
     แล้วยังตรัสเป็นปัจฉิมวาจา คือวาจาสุดท้ายด้วยว่า จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
 
     ชาวพุทธและมนุษย์ทุกคน  จะต้องยึดถือความไม่ประมาทนี้เป็นหลักสำคัญยวดยิ่ง เพราะว่า ถึงแม้เราอาจจะก้าวหน้าในการปฏิบัติ  เป็นคนดีประสบความสำเร็จ มีความสุข แต่ถ้าเราตกหลุมความประมาทเสีย  ความเสื่อมความพลาดหรือแม้กระทั่งความวิบัติก็จะเข้ามา แม้แต่พระโสดาบันก็ยังเสื่อมจากธรรมที่ยังไม่บรรลุ
 
     จึงต้องย้ำพุทธพจน์ที่ตรัสว่า  พระองค์ไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรม  ทรงสรรเสริญอย่างเดียวเฉพาะแต่ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรม
 
     พร้อมทั้งกำกับด้วยพระดำรัสที่ว่า   การที่พระองค์บรรลุโพธิญาณได้นั้น   ทรงประจักษ์คุณของธรรมของธรรม  ๒ อย่าง คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรม และความเพียรไม่ระย่อ
 
     พระองค์ตรัสสอนให้สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว   แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นการฝึกกายวาจา  การพัฒนาปัญญาของตน   การเข้าถึงสัจธรรม   การสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม   การทำประโยชน์สุขแก่สังคม  อันนี้ต้องทำกันไปเรื่อย  หยุดไม่ได้ต้องทำเพิ่มยิ่งขึ้นไปจนกว่าจะไพบูลย์  นี่คือความไม่สันโดษในกุศลธรรม
 
     ถ้าใครจับหลักนี้ได้  ก็เอาความสันโดษในวัตถุบำเรอความสุขส่วนตัว มาเป็นตัวเกื้อหนุนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม  มันก็เข้าคู่กันไป ก็จะมีความเพียรพยายามมาก พร้อมกันนี้เราก็ได้บำเพ็ญความไม่ประมาทไปด้วย
 
     ตอนนี้จะได้เห็นแล้วว่า หลักความจริงของธรรมชาติ   คือความเป็นอนิจจังนั้น พระพุทธเจ้าตรัสมาประสานบรรจบกับความไม่ประมาท  ในพุทธโอวาทเป็นปัจฉิมวาจาว่า วยธมฺมา สงฺขารา, อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ   แปลว่า  “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”
 
     เมื่อเราไม่ประมาท ก็สามารถพลิกอนิจจังให้มาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตทันที   ฉะนั้น  จึงบอกว่า สังคมของเราไม่จำเป็นต้องเสื่อม   พระองค์ตรัสแล้วว่า ถ้าเราไม่ประมาท เราก็สามารถรักษาความเจริญไว้ได้
 
     แต่ความไม่ประมาทที่แท้คืออะไร   คือ  การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ขาดสติ  เพื่อจะได้ใช้ปัญญาอยู่เสมอ
 
     ความไม่ประมาท คือการอยู่โดยไม่ปราศจากสติ   เมื่อมีสติก็ตื่นตัวรู้ทัน  ตรวจตราทุกอย่าง   พอสติมา ปัญญาก็ทำงานต่อ
 
     ปัญญาทำงานอะไร  ก็เอาเหตุปัจจัยที่เป็นไปตามกฎอนิจจังในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ กลายเป็นผู้ทำเหตุปัจจัยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอนิจจังในทางที่พึงปรารถนา ก็ทำให้เกิดความเจริญขึ้นมา อนิจจังก็เลยกลายเป็นดีแก่เรา
 
     อนิจจังเป็นกฎธรรมชาติ   คือเป็นอาการแห่งความเป็นไปของธรรมชาติทั้งหลาย   ตามธรรมดาของมัน เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว  คำสอนว่า  อนิจจังไม่ดี   ไม่มีในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา   พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนอย่างนี้
 
     บางคนไปเข้าใจว่าอนิจจังไม่ดี  อนิจจังเป็นกฎธรรมชาติจึงไม่ดีไม่ชั่ว  เป็นของกลางๆ แต่มันมาดีหรือชั่วที่ตัวมนุษย์เอง  ถ้าเราจัดผันมันเสีย รู้จักใช้ประโยชน์  เราก็ได้ประโยชน์จากอนิจจัง  อนิจจังก็กลายเป็นดีสำหรับเรา
 
     การปฏิบัติต่ออนิจจัง ก็มี ๒ ตอน คือ มีสติไม่ประมาท และใช้ปัญญาพิจารณาดำเนินการ
 
     การที่จะได้ ๒ ตอน ก็ต้องมีปัญญา ๒ ชั้น
 
     เริ่มต้นก็ต้องมีปัญญารู้เท่าทันความจริงของอนิจจัง และด้วยความรู้เท่าทันนั้น เราก็ไม่ทุกข์ร้อนมากเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
 
     พร้อมนั้นอีกชั้นหนึ่ง ด้วยปัญญาที่รู้ถึงเหตุปัจจัยที่อยู่ภายในความเป็นอนิจจัง  เราก็ทำการที่ควรทำกับเหตุปัจจัยนั้นๆ ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท
 
     เหตุปัจจัยมีเท่าไร   เราก็พิจารณารู้ทันว่า อ้อ มันเป็นไปได้แค่นี้ ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ เหตุปัจจัยส่วนไหนเราทำได้ เราก็ทำ เราทำดีที่สุด ได้แค่นี้ๆ เต็มที่ตามเหตุปัจจัย เมื่อปฏิบัติธรรมอย่างนี้ คนก็ใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้ด้วย  พร้อมกันนั้น  เขาก็ไม่ทุกข์ร้อนเกินไปเพราะความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามอนิจจัง
 
 




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2567
0 comments
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2567 21:58:47 น.
Counter : 201 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณnewyorknurse

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space