กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
8 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จะประกาศธรรมแสนยาก



235 ตรัสรู้แล้ว จะประกาศธรรมแสนยาก  คนเปิดปากปิดหู ไม่อยากฟังว่าตัวต้องทําอะไร


     อย่างไรก็ตาม  ความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาง่ายๆ นี่แหละ แต่สําหรับคนทั่วไปผู้อยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม  มีความคิดความเชื่อถือที่ถ่ายทอดกันมาจนกระทั่งมีการติดยึดถือมั่นเป็นวัฒนธรรม  เป็นศาสนา และเป็นอะไรต่างๆ แล้ว  พอมีการยึดติดถือมั่นขึ้นมา ก็ทําให้เข้าถึงความจริงได้ยากมาก

     บางที  สิ่งที่เราเชื่อ  สิ่งที่เรายึดถือนี่แหละ  ก็กลับมาปิดบังตา หรือ กีดกั้นตนเองไม่ให้ยอมรับยอมฟัง ไม่ยอมศึกษา และไม่สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้  เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะนําธรรมมาแสดง

     จะเห็นได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงมารําพึง ถึงธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วพระองค์ก็โน้มพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงสั่งสอน  ตามที่เราเรียนในพุทธประวัติ  เราแปลว่า ท้อพระทัย  ที่จริงไม่ใช่แปลว่า ท้อพระทัย ท้อพระทัยนั้นเป็นสํานวนพูดของชาวบ้าน

     พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในการที่จะไม่ทรงแสดงธรรม ทําไมจึงน้อมพระทัยที่จะไม่แสดง ก็เพราะทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมที่ตรัสรู้นั้น  คนทั้งหลายที่วุ่นวายอยู่ในความลุ่มหลงมัวเมา เพลิดเพลินติดอยู่ ในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะทางวัตถุจะรู้ตามและเข้าใจตามได้ยาก

    ธรรมที่รู้เข้าใจตามได้ยากนี้  พระองค์ตรัสสั้นๆว่า  คือ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน  ดังระบุในคาถาที่ทรงอุทานข้างต้นนั้น 

     หลักทั้งสองนี้  แสดงความจริงในธรรมชาติซึ่งยากที่คนทั้งหลายจะเข้าใจ เพราะมีสิ่งหุ้มห่อเคลือบคลุมปิดบังอย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้คือความลุ่มหลง ความเพลิดเพลิน  ความมัวเมาต่างๆ ตลอดจนความเชื่อ  วัฒนธรรม และประเพณีที่ยึดติดถือมั่น จึงยากที่จะมองทะลุออกไปและเข้าใจได้ พระองค์จึงน้อมพระทัยไปในการไม่แสดงธรรม

     มีเรื่องต่อมาว่า พระพรหมชื่อสหัมบดี ได้มาอาราธนาคือนิมนต์พระพุทธเจ้า ว่ายังมีสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อย หวังว่าสัตว์เหล่านั้นคงพอเข้าใจได้บ้าง

     หมายความว่า  ถ้าพูดถึงคนส่วนใหญ่ก็ยากที่จะเข้าใจ  แต่คนที่มีสติปัญญา และไม่มีความลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาติดในอามิสวัตถุทั้งหลายมากมายนัก  ก็พอมีอยู่บ้าง ท่านเหล่านั้นคงจะพอสามารถรับการแนะนําสั่งสอนให้เกิดความเข้าใจได้บ้าง   

     คําอาราธนาหรือนิมนต์นี้ทําให้พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จออกมาทรงแสดงธรรมสั่งสอน

     ในเรื่องนี้มีจุดสังเกตที่พึงระลึกไว้เป็นข้อสําคัญ คือ

        ๑. พุทธพจน์ที่ตรัสว่า  ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้เป็นสิ่งที่รู้เข้าใจตามได้ยาก สัตว์ทั้งหลายที่ลุ่มหลงเพลิดเพลินอยู่จะมองเห็นได้ยาก  (ตรัสด้วยว่าเป็นธรรมทวนกระแส คือ ปฏิโสตคามี)

        ๒. พระองค์น้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่แสดงธรรม   แต่ได้เสด็จออกทรงสั่งสอนต่อเมื่อพรหมอาราธนา เพื่อเห็นแก่คนที่มีธุลีในดวงตาน้อยพอที่จะปฏิบัติตามได้บ้าง

     พุทธพจน์และเหตุการณ์ตอนนี้   เป็นเครื่องเตือนใจให้สำนึกตระหนักไว้ว่า  ธรรมนี้มิใช่สิ่งง่ายๆ และการที่มีการถ่ายทอดสืบต่อมาถึงเรานี้ก็เป็นมาโดยยาก  เราจะได้ไม่ประมาท  เอาใจใส่ศึกษาด้วยความตั้งใจจริง

     อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ว่าพุทธพจน์นี้จะเป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้สำนึกตระหนักว่าการที่จะเข้าใจตัวธรรมแท้ๆ นี้  ถ้าจะเอาให้ถึงที่สุดแล้ว  ก็จะได้เพียงคนส่วนน้อย  แต่พุทธศาสนาก็มองมนุษย์ ในแง่ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องพัฒนากันไป  ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะยังไปไม่ถึงที่สุด คือไม่ถึงความจริงสูงสุด  แต่ก็จะช่วยให้เขาดีขึ้นกว่าเดิม  แล้วก็ค่อยพัฒนากันต่อๆ ไป

     เพราะฉะนั้น  เมื่อได้เสด็จออกสั่งสอน จึงทรงวางจุดหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่สอนจํากัดเพียงเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย  ดังที่ได้เป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนาว่า  “พหุชนหิตาย  พหุชนสุขาย  โลกานุกมฺปาย”   (เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน เพื่อเห็นแก่ชาวโลก)

     เมื่อมองในแง่นี้  เราก็สามารถทําให้พระพุทธศาสนาเกิดผลเป็นประโยชน์แก่มนุษย์จํานวนมากได้   ถ้าหันไปมองดูสภาพของอินเดียในสมัยพุทธกาล  ก็จะเห็นความจริงที่ทําให้พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยที่จะไม่ทรงสั่งสอน

     อินเดียในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างไร ?   ชมพูทวีปนั้นเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำใหํจิตใจของคนเหินห่างจากความจริง ห่างจากตัวธรรม

     มองดูอย่างง่ายๆ คนในสมัยก่อนพุทธกาล คือก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ตกอยู่ใต้อํานาจคําสอนตามหลักลัทธิของศาสนาพราหมณ์ ให้มีความเชื่อในพระพรหม ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างสรรค์บันดาลโลก

     พระผู้เป็นเจ้าหรือพระพรหมนี้  สร้างสรรค์บันดาลทุกอย่าง  นอกจากสร้างโลกและสร้างชีวิตมนุษย์ขึ้นมาแล้ว  ยังแถมกําหนดมาเสร็จว่า ให้มนุษย์แบ่งกันเป็นวรรณะ ๔ คือ เป็นกษัตริย์  เป็นพราหมณ์  เป็นแพศย์  เป็นศูทร  เกิดมาอย่างไรก็ต้องอยู่อย่างนั้นตลอดชาติ

     อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์   เช่น   ในเรื่องวรรณะนี้   มีความแน่นหนัก  ฝังลึกเหลือเกิน

     วรรณะ ๔ นี้จะเห็นได้ว่า  เป็นเรื่องที่ยึดถือกันจริงจังอย่างยิ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  เวลานี้ การถือวรรณะ ๔ ก็ยังครอบงำคนอินเดียอยู่

     เราผ่านมาเมื่อวานนี้ก็เห็นชัดเจน  ไปแค่ตโปทาราม ก็ได้เห็นคนอินเดียมาอาบน้ําที่บ่อน้ำร้อน แล้วแบ่งกันเป็นเขตๆ  คนที่เป็นวรรณะสูง ก็อาบตอนบน  ส่วนคนวรรณะต่ำลงมาก็ยอมรับสถานะของตัวเอง  อยู่ชั้นล่าง ยอมอาบน้ำที่คนวรรณะสูงเขาใช้อาบแล้วมาอาบตัวเอง

     สภาพความยึดติดถือมั่นนี้ฝังลึกมาก  เพราะเชื่อว่า พระพรหม ท่านสร้างมาอย่างนั้นจึงแก้ไขไม่ได้ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเจริญรุ่งเรือง  พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมประกาศความจริง บอกให้เลิกถือวรรณะ  แต่ในที่สุดพระพุทธศาสนาเองก็อยู่ไม่ได้  พระพุทธศาสนาก็ปลาสนาการไปจากอินเดีย  คนอินเดียก็นับถือวรรณะ ๔ กันต่อไป

     อังกฤษเข้ามาปกครองตั้งนานก็แก้ไม่ตก  อินเดียได้เอกราชปกครองแบบประชาธิปไตย  มีกฎหมายรัฐธรรมนูญห้าม  ก็ไม่สําเร็จ  เวลานี้  ก็ยังอยู่กันในสภาพนั้น นี่ก็คือ ความฝังลึก

     จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาด้วยความยากลําบากขนาดไหน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแห่งความเป็นจริงอย่างนี้

     พร้อมกันนั้น  อีกด้านหนึ่งที่สัมพันธ์กับเรื่องเดียวกัน  มาจากเหตุเดียวกัน ก็คือ ความเชื่อในเทพเจ้าสูงสุดที่สร้างสรรค์บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง  พร้อมทั้งเทพเจ้าใหญน้อยอีกเยอะแยะมากมาย  เป็นหมื่น  เป็นแสน  เทพเจ้าเหล่านั้นล้วนมีอํานาจ  มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นผู้ที่จะดลบันดาลสิ่งต่างๆ

     มนุษย์อยากได้อะไร ก็ไปอ้อนวอนขอกับเทพเจ้าเหล่านั้น กลัวภัย อันตรายต่างๆ ก็ไปเอาอกเอาใจขอให้ช่วยบําบัดปัดเป่า

     เมื่อเชื่อถืออย่างนี้  คนอินเดียก็ได้ประดิษฐ์ประดอยวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้า จนเกิดเป็นการบวงสรวงอ้อนวอนต่างๆ

     การบวงสรวงอ้อนวอนเหล่านั้น ได้ถูกทําให้ใหญ่โตขึ้น วิจิตรพิสดารมากขึ้น จนกระทั่งซับซ้อนมากมาย เป็นพิธีที่เรียกรวมๆ ว่า การบูชายัญ

     การบูชายัญ ก็คือวิธีการเอาอกเอาใจเทพเจ้านั่นเอง   แต่ในการเอาอกเอาใจนั้น เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเทพเจ้าท่านจะพอใจแค่ไหน   เราทําพิธีไปแค่นี้ เห็นว่าเหตุร้ายยังไม่หมดไป เราก็นึกว่าเทพเจ้าท่านยังไม่พอใจ  เราก็เอาใจมากขึ้นอีก  หรืออยากจะได้สิ่งที่ปรารถนา คราวนี้อ้อนวอนไปแล้ว  ทำพิธีบูชายัญบวงสรวงไปเท่านี้ยังไมได้  แทนที่จะคิดถึงเหตุผล แทนที่จะคิดสงสัยต่อเทพเจ้า ก็ไปคิดว่าตนเองคงยังเอาใจไม่พอ 

     เมื่อเอาใจไม่พอ  ก็พยายามเอาใจให้มากขึ้นอีก  พิธีบูชายัญบวงสรวงจึงวิจิตรพิสดารขึ้นทุกที  จนกระทั่งมีพิธีบูชายัญขนาดใหญ่  ที่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย อย่างละจํานวนห้าร้อยๆ โดยเฉพาะวัว ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ จนในที่สุดก็ถึงขั้นเอาคนบูชายัญ

     ต่อมา ประเทศชาติเจริญมากขึ้น สังคมเจริญมากขึ้น ก็มีการออกกฎหมายห้าม ในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองก็มีการออกกฎหมายห้าม และเมื่อประเทศอินเดียได้เอกราชเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็มีกฎหมายขึ้นมา  ไม่ให้เอาคนไปฆ่าบูชายัญ เพราะการฆ่าคนก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว  แม้กระนั้น  ความเชื่อทางศาสนาก็ยังเป็นเหตุให้คนพยายามทํา เพราะอยากจะได้ผลประโยชน์จากการบูชายัญ

     ที่เมืองกัลกัตตา (Calcutta, รัฐบาลให้เปลี่ยนเรียกว่า Kolkata ในปี 2001/๒๕๔๔)  พระที่นั่นเล่าว่า ยังมีคนพยายามฆ่ามนุษย์บูชายัญ คือมี การลักพาหญิงสาวพรหมจารี   เอาไปฆ่าสังเวยเจ้าแม่กาลี  ที่เทวาลัยเจ้าแม่กาลี   เมืองกัลกัตตา  เป็นครั้งคราว  อยู่ๆ หญิงสาวพรหมจารีก็หายไปจากบ้าน  กว่าจะสืบหาได้ก็ปรากฏว่าถูกนําไปฆ่าสังเวยเจ้าแม่กาลีเสียแล้ว

     เมืองกัลกัตตาเองนั้น มีประวัติเกี่ยวกับเจ้าแม่กาลี   โดยที่ชื่อเมืองเองก็บ่งบอกว่าเป็นถิ่นนับถือเจ้าแม่กาล

     คําว่า  “กัลกัตตา”  (Calcutta)  มาจากภาษาเบงกาลีว่า Kalikata ซึ่งมีการสันนิษฐานหาความหมายกันหลายอย่าง บางท่านว่า  มาจากคําว่า กาลี+เกษตร (กาลีเกษตร = ดินแดนของเจ้าแม่กาลี)  บางท่านก็ว่า  มาจาก กาลี+ฆาฏ (กาลีฆาฏ = ท่าน้ำของเจ้าแม่กาลี) บางท่านก็ว่าอย่างอื่นอีก  ยังไม่ยุติ   แต่คําแรกแน่นอนว่า  คือเจ้าแม่กาลี

     ที่ศาลเจ้าแม่กาลีนั้น  มีแท่นบูชายัญ  เขาบอกว่าเมื่อเอาคอคนไปวางแล้ว  เวลาตัดศีรษะ เลือดจากคอคนจะพุ่งตรงไปที่ปากเจ้าแม่กาลีพอดี 

     เขาช่างประดิษฐ์ประดอยดีเหลือเกิน  ถ้าเอาความคิดและความสามารถนี้มาประดิษฐ์สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์   จะได้คุณค่ามหาศาล   แต่แทนที่จะคิดอย่างนี้  เขากลับเอาไปประดิษฐ์ประดอยหาทางเอาใจเทพเจ้า เช่น เอาใจเจ้าแม่กาลี

     นี่แหละ  เป็นกันมาจนกระทั่งบัดนี้  แม้แต่กฎหมายลงโทษรุนแรง  เขาก็ยังกล้า ยังพยายามหาทางหลีกเลี่ยง นี่คือสภาพแวดล้อมในสังคม อินเดียที่สืบมาสู่ปัจจุบัน ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล  แม้เวลานี้คนก็ยังลุ่มหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้  ยังชอบอ้อนวอนขออํานาจดลบันดาลจากเทพเจ้า


https://www.facebook.com/photo/?fbid=353805387520579&set=a.115981967969590
 



 
 




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2567
0 comments
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2567 6:56:25 น.
Counter : 180 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space