กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
18 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ความไม่ประมาท คือความสามารถที่จะไม่เสื่อม



 
 
 
ความไม่ประมาท คือ ความสามารถที่จะไม่เสื่อม
 
235 การเมืองของชมพูทวีป:   สืบสู่อินเดียหลังพุทธกาล
 

     ขอเล่าเลยต่อไปด้วย ดังที่ได้พูดให้โยมฟังแต่ต้นแล้วว่า ในสมัยพุทธกาล ในบรรดาแคว้น ๑๖ แคว้น แคว้นที่ยิ่งใหญ่มีอำนาจมากก็มีแค่ ๕ แคว้น หรือ ๕ รัฐ หรือ ๕ ประเทศ คือ
 
        ๑. มคธ   มีราชคฤห์เป็นเมืองหลวง
                                                                       
        ๒. โกศล   มีสาวัตถีเป็นเมืองหลวง
 
        ๓. วัชชี   มีเวสาลีเป็นเมืองหลวง   แต่ต่อมาถูกพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพไปกำจัด
 
        ๔. วังสะ    มีโกสัมพีเป็นเมืองหลวง
 
        ๕. อวันตี   มีอุชเชนีเป็นเมืองหลวง   ดังที่คนไทยรู้จักกันมากในนิยายรัก เรื่องกามนิต-วาสิฏฐี
 
     สองแคว้นหลังนี้อยู่ไกลออกไปทางตะวันตก  โดยเฉพาะแคว้นอวันตีอยู่ไกลมาก วัดจากราชคฤห์ ไม่คำนึงถึงถนนหนทาง ลัดฟ้า ตัดตรงเป็นเส้นไม้บรรทัด ถึงเมืองหลวง อุชเชนีก็ ๘๑๕ กิโลเมตร และคงเดินทางยาก  อยู่ในแถบเทือกเขาวินธัย (เขียนตามศัพท์แท้ๆ เป็นวินธยะ) เรียกกันว่าเป็นทักขิณาบถ หรืออย่างสันสกฤตว่าทักษิณาบถ คือดินแดนหนใต้เป็นปัจจันตชนบท เลยไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องมาก ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปที่อุชเชนี
 
     แต่ถึงจะเป็นแดนห่างไกล ก็เป็นถิ่นของพระมหาสาวกสำคัญท่านหนึ่ง คือพระมหากัจจายนะ ที่ว่ากันว่าเป็นที่มาของพระสังกัจจายน์
 
     ศิษย์เอกของพระมหากัจจายนะนี้ ก็เป็นมหาสาวกด้วย คือพระโสณะกุฏิกัณณะ ซึ่งได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากบวชได้ ๑ พรรษา และนําคําของพระอุปัชฌาย์มากราบทูลถึงสภาพไม่เรียบรื่น คล่องสะดวกของปัจจันตชนบท เพื่อขอผ่อนผันพุทธบัญญัติบางข้อ
 
     ทั้งนี้   รวมทั้งข้อที่ต้องอุปสมบทด้วยสงฆ์ทสวรรค คือ ๑๐ รูป (พระโสณะเองบวชเณรแล้วจะอุปสมบทต้องรอถึง ๓ ปี จึงได้พระภิกษุครบจำนวน) เป็นเหตุให้ทรงมีพระพุทธานุญาตให้อุปสมบทในปัจจันตชนบทได้ด้วยสงฆ์ปัญจวรรค (โดยมีพระวินัยธรเป็นที่ครบ ๕)
 
     ขอแทรกเป็นเกร็ดความรู้ สำหรับไว้ทายกันก็ได้ว่า มีพระมหาสาวก ๒ ท่าน ชื่อว่า “โสณะ” เหมือนกัน   แต่อยู่ไกลกันสุดแดนตรงข้าม ได้แก่  พระโสณะกุฏิกัณณะ แห่งแคว้นอวันตีนี้ อยู่ทางสุดด้านซ้ายของแผนที่ (ทางตะวันตกเฉียงลงมาใต้–อยู่ในเส้นทางบิน จากเมืองไชปูร์คือชัยปุระ ลงมาออรังคาบาด เกินครึ่งทางเล็กน้อย)   

     อีกท่านหนึ่งคือ พระโสณะโกฬิวิสะ แห่งเมืองจัมปา ในแคว้นอังคะ สุดด้านขวา (ใกล้กัลกัตตา หรือด้านบังคลาเทศ)
 
     ในพุทธกาล แคว้นอวันตีมีพระราชาพระนามว่า จัณฑปัชโชต
 
     ส่วนแคว้นวังสะ ซึ่งพระเจ้าอุเทนปกครอง ที่จริงก็ไม่ไกลนัก วัดตัดตรงจากราชคฤห์มาถึงโกสัมพีก็แค่ ๔๐๕ กม. (โกสัมพีวัดตัดตรงต่อไปยังอุชเชนีได้  ๖๒๐ กม.)   แต่มีเรื่องราวเกี่ยวกับอำนาจการเมืองไม่มาก จึงตัดไป
 
     พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองโกสัมพีหลายครั้ง  ส่วนมากประทับที่วัดโฆสิตาราม  รวมทั้งทรงจำพรรษาที่ ๙ ที่นั่น  (เกิดกรณีสงฆ์แตกแยกกันแล้วเสด็จไปจำพรรษาที่ ๑๐ ณ ปาริไลยก์)  นอกนั้น  ประทับที่พทริการาม และที่สีสปาวัน (แปลกันว่าป่าไม้สีเสียดบ้าง ป่าไม้ประดู่ลายบ้าง) ซึ่งพบหลักฐานเพียงแห่งละครั้งเดียว
 
     เมื่อจำกัดให้แคบเข้าเหลือสาม  คือเอาแคว้นอวันตีที่มีเมืองอุชเชนีเป็นเมืองหลวง  กับแคว้นวังสะที่มีเมืองโกสัมพีเป็นเมืองหลวงออกเสีย ก็เหลือ  ๓ แคว้น คือ มคธ แคว้นโกศล แคว้นวัชชี
 
     เคยเล่าไปแล้วว่า แคว้นวัชชีนี้ ต่อมาหมดอำนาจไป เพราะความแตกสามัคคีกัน เนื่องจากวัสสการพราหมณ์เข้ามายุแหย่ ทำให้มคธยกทัพมาตีได้โดยสะดวก
 
     ส่วนโกศลเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจ ก่อนจะถึงพุทธกาล ได้ผนวกเอาแคว้นกาสีเข้ามาด้วย  กาสีซึ่งมีพาราณสีเป็นเมืองหลวง  จึงตกเป็นส่วนหนึ่งของโกศล  เลยหมดอำนาจไป  พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จัดการปกครองทั้งสองแคว้น
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศล  มีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าพิมพิสาร เพราะทรงเป็นพี่เขย กล่าวคือเจ้าหญิงโกศลเทวี  ซึ่งเป็นน้องสาวหรือพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร
 
     พระนางโกศลเทวี  ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงมีพระปรีชาสามารถ เป็นสตรีที่เป็นบัณฑิต จึงปรากฏคำเรียกพระนางว่าเป็น   “เวเทหิ”   (แปลว่า ผู้มีปรีชา หรือเป็นบัณฑิต)
 
     เมื่อองค์ราชาทรงเป็นพระญาติกันแล้ว แคว้นทั้งสองนี้ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะแข่งอำนาจกัน ก็อยู่กันโดยสงบ และมีความใกล้ชิดกันมาก   ข้อนี้อาจจะเป็นโยงใยอย่างหนึ่งที่ว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารมีความสัมพันธ์เลื่อมใสพระพุทธเจ้า ก็ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเลื่อมใสง่าย เพราะมีความใกล้ชิดเป็นพระญาติกัน
 
     เมื่อพระเจ้ามหาโกศล  พระราชบิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล   พระราชทานพระราชธิดาไปอภิเษกสมรสกับพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ก็ได้พระราชทานหมู่บ้านในแคว้นกาสีหมู่บ้านหนึ่ง ให้เป็นของขวัญในงานอภิเษกสมรสแก่แคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสาร
 
     ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาคือพระราชาพิมพิสาร  พระนางโกศลเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร และเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล  ทรงเสียพระทัยมาก จนเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ตามไป
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลกริ้วพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นอย่างยิ่ง  จึงยึดเอาหมู่บ้านกาสีที่ให้เป็นของขวัญนั้นคืนมา โดยทรงถือว่าผู้ฆ่าพ่อไม่มีสิทธิ์ได้ทรัพย์สมบัติของพ่อ แล้วต่อมาก็ทรงทําสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรู ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ
 
     ครั้งสุดท้าย   พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะ จับเป็นพระเจ้าอชาตศัตรูได้   พอจับเป็นได้   ก็ไม่ฆ่าอีกเพราะเห็นเป็นพระนัดดา แต่ให้สละราชสมบัติ  และต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลคงจะเห็นพระทัย โปรดให้กลับไปครองราชสมบัติอีก และยังพระราชทานพระราชธิดาให้ไปด้วย จึงกลับมีสัมพันธไมตรีกันอีก  มคธกับโกศลก็เป็นไมตรีกันจนกระทั่งสิ้นรัชกาล
 
     ในตอนปลายรัชกาล  เจ้าชายวิทูฑภะซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ยึดอำนาจพระเจ้าปเสนทิโกศล
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงม้าหนีไป โดยตั้งพระทัยจะไปขอกำลังพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นพันธมิตรกันแล้วและก็เป็นหลานด้วยให้มาช่วย   ได้ทรงม้าตลอดเวลายาวนานและรีบร้อน   ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก โดยมีผู้ติดตามไปคนเดียว
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปไม่ทัน   ประตูเมืองปิดเสียก่อน  เพราะที่เมืองราชคฤห์นั้น พอค่ำเขาก็ปิดประตูเมือง และไม่ว่าใครทั้งนั้น  ไม่ยอมให้เข้า   จึงต้องประทับค้างแรมอยู่นอกเมือง
 
     ขณะนั้น    ทรงพระชรามากแล้ว    มีพระชนมายุถึง ๘๐ พรรษา อีกทั้งอากาศก็หนาวมากและทรงเหน็ดเหนื่อยมาด้วย เลยเสด็จสวรรคตที่หน้าประตูเมือง พอรุ่งเช้า ข่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูก็เสด็จมาอัญเชิญพระศพไปจัดพิธีถวายพระเพลิง
 
     เรื่องราวเป็นมาอย่างนี้ และต่อมาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูได้ยกทัพไปกำจัดแคว้นวัชชีสำเร็จ และอีกด้านหนึ่ง  ก็ได้ผนวกแคว้นโกศลเข้าไปอยู่ใต้อำนาจแคว้นมคธ  ตกลงทั้งแคว้นวัชชีและแคว้นโกศลก็เข้าไปรวมอยู่ในแคว้นมคธ
 
     โดยนัยนี้  แคว้นมคธก็รุ่งเรือง  เป็นแคว้นเดียวที่ยิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจสูงสุด และแผ่อำนาจต่อๆมา
 
     ดังได้เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า วงศ์กษัตริย์ของพระเจ้าพิมพิสาร ครองราชย์สืบต่อมาถึง พ.ศ. ๗๒ อำมาตย์และราษฎรไม่พอใจที่กษัตริย์วงศ์นี้เป็นวงศ์ปิตุฆาต  ได้ถอดพระเจ้านาคทัสสก์ (นาคทาสก์ก็ว่า)   ออกจากราชสมบัติ และสถาปนาพระเจ้าสุสูนาคขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อว่าราชวงศ์ไศศุนาค
 
     ในรัชกาลนี้เอง  แคว้นมคธก็ปราบแคว้นอวันตีได้  ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมคธ
 
     พระเจ้าสุสูนาคครองราชย์อยู่ ๑๘ ปี แล้วราชโอรสพระนามว่า กาลาโศกที่เป็นองค์อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ ได้ครองราชย์ต่ออีก ๒๘ ปี   (สังคายนาครั้งที่ ๒ ในปีที่ ๑๐ ของรัชกาลนี้)
 
     พระเจ้ากาลาโศก  (คัมภีร์บาลีเรียกเพียงอโสก)   มีราชโอรส ๑๐ พระองค์ ซึ่งได้ร่วมกันปกครองแผ่นดินต่อจากพระเจ้ากาลาโสกอีก ๒๒ ปี
 
     (หลักฐานตอนนี้ขัดแย้งกันบ้าง   ที่กล่าวนี้ว่าตาม วินย.อ. ๑/๗๓ แต่หนังสือ Encyclopaedia Britannica สันนิษฐานว่า พระเจ้ากาลาโศกถูกจับปลงพระชนม์โดยกษัตริย์ที่ตั้งราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์นันทะ - “Shaishunaga dynasty”, Encyclopaedia Britannica, 1988, vol. 10, p. 341)
 
     ต่อจากนั้น ราชวงศ์ไศศุนาคได้สิ้นสุดลง เพราะพระเจ้ามหาปัทมนันทะแย่งราชสมบัติได้ และตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์นันทะ กษัตริย์พระองค์นี้เหี้ยมโหดมาก และได้ขยายอาณาจักรออกไปอีกกว้างไกล  
 
     ราชวงศ์นันทะ มีกษัตริย์ปกครองต่อมารวม ๙ รัชกาล  นับเป็นเวลาทั้งหมด ๒๒ ปี
 
     กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้ พระนามว่าธนนันทะ ครองราชย์ในช่วงที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กรีฑาทัพมาถึงเขตแดนชมพูทวีป และเตรียมการทำสงคราม
 
     หลักฐานฝ่ายกรีกบันทึกไว้ว่า   กองทัพมคธของราชวงศ์นันทะ มีรี้พลทหารราบ ๒๐๐,๐๐๐ ทหารม้า ๒๐,๐๐๐ กองทัพรถ ๒,๐๐๐ และ กองทัพช้าง ๓,๐๐๐
 
     ประวัติศาสตร์บันทึกว่า  พระเจ้าอเลกซานเดอร์ ได้ยกทัพกลับประเทศกรีก  แต่สวรรคตกลางทาง   โดยไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงไม่รบกับแคว้นมคธ  แต่มีหลักฐานว่า  เมื่ออเลกซานเดอร์ทําสงครามผ่านปัญจาบเข้ามา   ทหารกรีกก็ไม่ยอมรบต่อไปอีก
 
     นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า   ทหารกรีกเห็นกองทัพของกษัตริย์นันทะแห่งมคธแล้วหวาดกลัว ไม่ยอมรบ (ดู Encycl. Britannica, 1988, vol.21, p. 36)
 
     ในรัชกาลนี้เอง จันทรคุปต์  พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช ทำสงครามล้มราชวงศ์นันทะสำเร็จ เข้าครองมคธ ตั้งราชวงศ์ใหม่  คือ ราชวงศ์โมริยะ หรือสันสกฤตว่า เมารยะ
 
     พระเจ้าจันทรคุปต์ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง และครอบครองอยู่นาน ๒๔ ปี  จากนั้นพระเจ้าพินทุสาร ราชโอรส ครองราชย์ต่อมาอีก ๒๘ ปี   สิ้นรัชกาลนี้  ก็ถึงสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
 
     เวลานั้น กรุงอุชเชนีเป็นเมืองหลวงของแคว้นอวันตี  ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธไปแล้ว พระเจ้าอโศกตอนเป็นราชกุมารไป เป็นอุปราชอยู่ที่โน่น
 
     พอพระเจ้าพินทุสาร พระราชบิดาสวรรคต อโศกกุมารก็เข้ามาจัดการเข่นฆ่าพี่น้อง เหลือไว้แต่พระอนุชาร่วมพระมารดาองค์เดียว ขึ้นครองราชย์แต่ผู้เดียว แล้วทำสงครามขยายดินแดนออกไปอีก
 
     แคว้นมคธก็ได้เป็นมหาอาณาจักรที่กว้างขวางยิ่งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ของอินเดีย
 
     นี้เป็นเรื่องราวเก่าๆ เอามาเล่าไว้โยมจะได้ทราบความเป็นไป   แต่รวมความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่มีพระนามว่าปเสนทิโกศลนี้   มีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดยิ่ง
 
     มีพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้มาก   บางแห่งถึงกับรวมเป็นหมวดหนึ่ง (ได้แก่ โกสลสังยุตต์ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ คือ สคาถวรรค สังยุตตนิกาย)
 
     ฉะนั้น   บุคคลหนึ่งที่เราไม่ควรจะลืม ก็คือพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา
 
     เท่าที่พูดมานี้ คิดว่าคงจะได้ภาพทั่วๆไปของแว่นแคว้นดินแดนที่เรามานั่งอยู่นี้  นี่แหละคือศูนย์กลางของพระศาสนาแห่งหนึ่งที่คัญอย่างยิ่ง  ได้แก่  พระเชตวัน  ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ทั้งหมด  ๑๙ พรรษา รวมกับบุพพารามของนางวิสาขามหาอุบาสิกาด้วยอีก ๖ เป็น  ๒๕ พรรษา
 
     ส่วนราชการามของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น พระพุทธเจ้าได้แต่เคยเสด็จไปประทับ แต่ไม่เคยจำพรรษา
 
     พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชาชนมากมาย รวบรวมเป็นพระธรรมที่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ เราเรียนกันมาว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  จัดเป็นเล่มพระไตรปิฎกฉบับอักษรไทย ๔๕ เล่ม
 
     หลังจากทรงสั่งสอนธรรมเป็นเวลายาวนานถึง ๔๕ พรรษาแล้ว ในที่สุด เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ได้ตรัสวาจาสุดท้ายเรียกว่า ปัจฉิมวาจาเพียงสั้นๆว่า
 
     วยธมฺมา สงฺขารา, อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ  แปลว่า   “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”   (ที.ม.๑๐/๑๔๓)
 
     ชาวพุทธจะต้องระลึกตระหนักตลอดเวลาว่า  พระดำรัสสุดท้ายนี้  เป็นพุทธพจน์ที่สำคัญอย่างยิ่ง
 




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2567
0 comments
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2567 16:18:20 น.
Counter : 104 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space