กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
14 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

อิสรภาพของมนุษย์ จะได้ด้วยการศึกษาที่ถึงธรรม




235 อิสรภาพของมนุษย์ จะได้มาด้วยการศึกษาที่ถึงธรรม
 
 
     เมื่อดูความจริงตามเหตุปัจจัยแล้ว  มันก็เล็งมาที่ตัวเองว่าเราจะต้องทำอะไร เพราะว่าเราต้องทำเหตุเพื่อให้ได้ผลที่เราต้องการ จะต้องถามว่า เราจะต้องทำอะไร
 
     นอกจากทำอะไรแล้ว เพื่อให้รู้เหตุปัจจัยที่จะทำให้ถูกต้อง และมีความสามารถที่จะทำให้สำเร็จ เราจะต้องทำอะไรกับตัวเราด้วย  โดยการพัฒนาตัวเองให้มีสติปัญญาความสามารถ
 
     เพราะฉะนั้น  ตามหลักการของพระพุทธศาสนา จงขอย้ำอีกทีว่า
 
        ๑) พระพุทธเจ้าได้ชี้ไปที่ ธรรม คือ ความจริงแห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ  และ
 
        ๒) ในความจริงของกฎธรรมชาติที่สัมพันธ์กับตัวมนุษย์  เหตุปัจจัยนั้นก็คือการกระทำของเราเอง  การกระทำเหตุปัจจัยของมนุษย์นั้น เรียกว่า กรรม
 
     จึงได้บอกว่า ภายในธรรมนั้น ก็มีกรรม
 
     ธรรม เป็นกฎใหญ่ คือ ความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ หรือ ความเป็นไปของเหตุปัจจัยในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด
 
     ส่วน กรรมนั้น ก็คือ กฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย  ในส่วนที่สัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์ ที่มนุษย์เป็นผู้ทำ
 
     กรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องทำ  ต่างกับเรื่องของการดลบันดาล  ถ้าเป็นการดลบันดาลของเทพเจ้า สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือการอ้อนวอน
 
     การดลบันดาล ของเทพเจ้า คู่กับการอ้อนวอน
 
     แต่การกระทำ ของมนุษย์  คู่กับความเพียรพยายาม  เมื่อมนุษย์จะทำ มนุษย์ก็ต้องเพียรพยายาม
 
     สองหลักนี่ไปคนละทาง 
 
     > เทพ  สัมพันธ์กับมนุษย์ที่การดลบันดาล ซึ่งจะสำเร็จด้วยการที่มนุษย์จะต้องอ้อนวอน
 
     > ส่วน ธรรม นั้น สัมพันธ์กับมนุษย์ที่กรรม ซึ่งจะสำเร็จด้วยการที่มนุษย์ต้องเพียรพยายามทำ
 
     เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงได้พระนามว่า กรรมวาท และ วิริยวาท
 
     กรรมวาท คือ ผู้ประกาศหลักกรรม และ
 
     วิริยวาท คือ ผู้ประกาศหลักความเพียร
 
     สองอย่างนี้คู่กัน  เป็นคำแสดงหลักการของพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ว่าไว้อย่างนี้ หลักกรรมต้องมากับความเพียร  เพราะมนุษย์จะทำเหตุให้ได้ผล  มนุษย์จะต้องมีความเพียรพยายาม
 
     แต่การที่มนุษย์จะทำความเพียรให้สำเร็จผล มนุษย์จะต้องรู้เหตุปัจจัย  เพราะว่าตัวการที่จะให้สำเร็จผลก็คือ  กฎของธรรมชาติ  ได้แก่ ธรรม  ฉะนั้น  ถ้ามนุษย์จะทำการให้ได้ผลดี มนุษย์จะต้องมีปัญญารู้ธรรม คือ รู้ความเป็นไปของเหตุปัจจัย
 
     มนุษย์จะมีปัญญา  รู้ธรรมได้  มนุษย์จะต้องพัฒนาตน คือจะต้องมีสิกขา อันได้แก่ การฝึกฝนพัฒนา
 
     ตรงนี้ก็พอดีว่า   มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ คือเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้  เรียกว่าเป็นทัมมะ ซึ่งฝึกได้   จนกระทั่งรู้ธรรม
 
     ในพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า   มีพระคุณหนึ่งว่า   อนุตฺตโร  ปริสทมฺมสารถิ    สังเกตไหมว่า  ในข้อความนี้มีคำว่า “ทัมมะ”  อยู่  อันนี้แหละ  คนไม่ค่อยดู
 
     “ทัมมะ” นี่แหละ  ตัวสำคัญละ พวกเรานี่เป็นทัมมะ ทั้งนั้น คือ เป็นสัตว์ที่จะต้องฝึก และฝึกได้ด้วย  ความวิเศษเก่งกล้าความประเสริฐของเราอยู่ที่นี่  คืออยู่ที่ทัมมะ
 
     ในพระพุทธคุณข้อที่ว่า  อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ   พระพุทธเจ้าเป็นสารถีฝึกคนที่จะต้องฝึกอย่างไม่มีใครยิ่งกว่า คือยอดเยี่ยม ก็คือเป็นสารถีฝึกมนุษย์ทั้งหลายนี่เอง
 
     ที่ว่าเป็น “สารถี” ก็คือ ฝึกให้เขาเดินในทางที่ถูกต้อง สารถีเป็นผู้ฝึกนำให้สัตว์เดินไปในทางถูกต้อง
 
     เราก็เป็นทัมมะ ซึ่งจะต้องฝึกตนไปจนกระทั่งเข้าถึงธรรม  แล้วชีวิตนี้ก็จะสมบูรณ์  ธรรมนี้ก็จะทำให้เรากลายเป็นพุทธะ อย่างที่เคยพูดไว้แล้วที่พุทธคยา
 
     เป็นอันว่า ที่พระพุทธเจ้าประสูติตอนแรกเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้นเปล่งอาสภิวาจา ก็คือประกาศอิสรภาพของมนุษย์  ว่า  มนุษย์อย่าไปมัวขึ้นต่อพระพรหม  อย่ามัวไปหวังอำนาจดลบันดาล และมัวแต่บูชายัญอยู่
 
     แต่ให้มามองที่ธรรม คือตัวความจริงตามกฎธรรมชาติ และให้พัฒนาปัญญาของตนขึ้นมา  เพื่อมนุษย์จะได้เข้าถึงธรรม  รู้ความจริง  แล้วมนุษย์จะกลายเป็นสัตว์ประเสริฐ  เป็นพุทธะได้  เป็นผู้ที่แม้แต่เทวดา  และพระพรหมจะเคารพบูชา  อย่างที่เราได้เห็นพุทธพจน์อยู่บ่อยๆ ว่า
 
        มนุสฺสภูตํ   สมฺพุทฺธํ        อตฺตทนฺตํ   สมาหิตํ  
 
        เทวาปิ  นํ  นมสฺสนฺติ       . . . . . . . . . . .  (องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๑๔)
 
     พระคาถานี้บอกว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้  ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ได้ฝึกฝนพัฒนาพระองค์แล้ว  มีพระทัยอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลาย  ก็น้อมนมัสการ
 
     อย่างนี้เป็นคาถาที่มีปรากฏบ่อย  เป็นเครื่องให้กำลังใจแก่มนุษย์ ว่า เรานี้เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก  ถ้าเราฝึกดีแล้วก็จะเป็นพุทธะ ผู้ประเสริฐแท้จริงได้
 
     อย่าไปมัวหวังผลดลบันดาลด้วยการอ้อนวอน ซึ่งทำให้ละเลยมิได้พิจารณาว่า ตนเองจะต้องทำอะไร และจะต้องทำอะไรกับตัวเอง
 
     ถ้าทำตามธรรม เราก็จะได้มาคิดมาพิจารณาเหตุผลว่า เราจะต้องทำอะไร แล้วก็จะได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเรานั้นให้สามารถที่จะทำ
 
     มนุษย์นี้  มักมีความอ่อนแออย่างหนึ่ง  คือ  มีใจโน้มเอียงไปในทางที่ไม่อยากจะเพียรพยายาม  แต่อยากพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้มาช่วยทำให้  การอ้อนวอนมันง่ายดี ง่ายกว่าจะเพียรพยายามด้วยตัวเอง  เพราะฉะนั้น  ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่มีหลักเตือนใจ  เราจะอ่อนแอและเขวเรื่อยไป
 
     ด้วยเหตุนี้  เราจึงต้องมีพระรัตนตรัยไว้  ถ้ามิฉะนั้น  เราก็ไม่จำเป็นต้องมีศรัทธา
 
     การที่เรามีศรัทธา  ก็เพื่อจะได้มีกำลังใจ  ที่จะให้เราอยู่ในหลักและเริ่มเดินหน้าได้ อย่างน้อยก็ดึงไว้   ไม่ให้เขวออกไป
 
     มิฉะนั้นแล้ว  เดี๋ยวก็จะเอาความอ่อนแอ และความเห็นแก่ง่ายของตัว  มาพาให้หันไปหาความช่วยเหลือ คอยพึ่งปัจจัยภายนอกที่จะมาดลบันดาลให้อยู่เรื่อย
 
     พระพุทธศาสนา เป็นหลักที่ให้มนุษย์ศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความจริงของธรรมชาติ  พูดง่ายๆ ว่าต้องถึงธรรม
 
     ถ้าเรารู้จักใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า  นำมาปฏิบัติตามอยู่เสมอ  เราก็จะก้าวหน้าพัฒนาไปเรื่อยๆ  ไม่หยุดหย่อน จนในที่สุดก็จะเป็นพุทธะได้เช่นเดียวกับพระองค์
 




 

Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2567
0 comments
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2567 20:23:13 น.
Counter : 123 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space