กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
16 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ใช้เวลาสักนิด กับ  เรื่องภวังคจิต


 
 
235 ใช้เวลาสักนิด กับ  เรื่องภวังคจิต
 
 
     เมื่อพูดถึงภวังค์คือภวังคจิต ก็ควรทราบเป็นพื้นไว้บ้าง เพราะในภาษาไทยก็มีการพูดถึงบ่อยเหมือนกัน และบางทีก็เข้าใจกันเพี้ยนไป หรือไม่ก็คลุมเครือ จึงขอเติมเรื่องนี้แทรกไว้
 
     ที่จริง จิตของเราเกิดดับต่อเนื่องไปและสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา ถึงเราจะไม่รู้ตัว มันก็เป็นอย่างนั้น จะเรียกว่ามันทำงานหรือทำหน้าที่ของมันตลอดเวลาก็ได้
 
     จิตที่ทำงานคือสืบต่อกันไปในระดับที่ไม่รู้ตัวนั้น  เป็นส่วนหลัก หรือส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา จะเรียกว่าเป็นจิตยืนพื้นก็ได้  มีคำเรียกเฉพาะว่า ภวังคจิต  แปลว่า จิตที่เป็นองค์แห่งภพ
 
     ที่ว่า จิตในระดับที่ไม่รู้ตัวนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นสำนวนพูด จะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นการทำงานรู้เข้าใจคิดนึกในกระบวนการรับรู้อย่างที่ว่ากันทั่วไป  แต่เป็นการทำงานในความหมายว่าเป็นการเกิดดับสืบต่อกันตามธรรมดาของมัน
 
     เมื่อพูดในแง่ทั่วๆ ไป ให้รู้สึกเป็นตัวตนน้อยลง แทนที่จะใช้คำว่า ภวังคจิต ท่านใช้คำว่าการสืบต่อของจิต ที่เป็นไปไม่ขาดสาย  (ในช่วงที่ไม่อยู่ในกระบวนการรับรู้)  เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “จิตตสันดาน” (แต่คำนี้ ในภาษาไทยเราก็นำมาใช้ในความหมายที่เพี้ยนไปอีก หนีไม่พ้นปัญหา)
 
     ข้อสำคัญ ภวังคจิต ที่ว่านั้น เป็นจิตส่วนวิบาก  เมื่อมันสืบต่อกันไป ก็คือการสืบทอดผลรวมแห่งกรรมของเราต่อเนื่องไปนั่นเอง  เราจึงพูดให้เข้าใจกันง่ายขึ้นเป็นภาษารูปธรรมว่า กรรมของเราสั่งสมสืบมาในภวังคจิตนี้  ที่สืบต่ออยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย
 
     เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตนี้  พูดได้ยาก เพราะเมื่อจะให้คนทั่วไปเข้าใจ ก็ต้องใช้ถ้อยคําเชิงรูปธรรม หรือสํานวนภาษาเหมือนอย่างเป็นตัวเป็นตน ซึ่งก็จะชวนให้เกิดความเข้าใจเกินเลยสภาวะไป อันเป็นความเข้าใจผิดไปอีกด้านหนึ่ง  จึงถือว่าพูดกันพอให้เห็นเค้าเรื่องเท่านั้น
 
     ภวังคจิต    แปลว่า  จิตที่เป็นองค์แห่งภพ  (ถ้าใช้ศัพท์เชิงปฏิจจสมุปบาท เพื่อช่วยให้ชัดขึ้น  ก็พูดว่าจิตที่เป็นองค์แห่งอุปัตติภพ)  ซึ่งเกิดสืบต่อกันไปตลอดเวลา  ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบชีวิตของเรา  คือ ตลอดชีวิต   (พูดเป็นคำศัพท์ว่า  ต่อจากปฏิสนธิ  จนถึงจุติ)   พูดเป็นภาษารูปธรรม หรือภาษาตัวตนว่า   เป็นจิตยืนพื้น  ใกล้กับคำที่ท่านใช้ว่าเป็น  “ปกติจิต”
 
     ภวังคจิต  นี้ เป็นจิตที่เป็นวิบาก  เมื่อมันเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดชีวิตของเรา จึงเท่ากับเป็นผลรวมแห่งกรรมทั้งหมดของเรา  พูดเป็นภาษารูปธรรมหรือภาษาตัวตนว่า เป็นที่เก็บสะสมผลกรรมของเรา หรือทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตของเรา หรือเป็นที่ประมวลผลแห่งการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในตัวเรา  เท่าที่ทำได้ และได้ทำมาทั้งหมดในชีวิต
 
     พูดเชิงอนาคตว่า ภวังคจิต เป็นแหล่งแห่งศักยภาพ หรือเป็นศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่
 
     ภวังคจิต   เป็นชื่อที่ใช้เรียกในแง่การสืบต่อของชีวิต  แต่ถ้าพูดในแง่การทำงานในกระบวนการรับรู้ตามปกตินี้  ก็เรียกว่า มโน คือ มนายตนะ หรือ มโนทวาร นั่นเอง
 
     ในฐานะเป็นมโน หรือเป็นมโนทวาร นั้น มันเป็นที่เกิด หรือที่ปรากฏของมโนวิญญาณ ที่ทำงานในระดับแห่งวิถีจิต
 
     อนึ่ง  ในฐานะแห่งจิตที่เป็นวิบาก  ภวังคจิต  จึงเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว คือไม่เป็นกุศลและไม่เป็นอกุศล เป็นจิตในภาวะที่กิเลสไม่ได้มาแสดงบทบาท   แม้จะมีคุณสมบัติตามที่ประมวลผลเป็นวิบากไว้  ก็เป็นจิตตามสภาวะของมัน คือไม่มีตัวแปลกปลอมภายนอกมายุ่มย่าม
 
     ดังนั้น ท่านจึงว่า  ภวังคจิต  นี่แหละ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  จิตเป็นประภัสสร คือสะอาดผ่องใส   หมายความว่าจิตโดยสภาวะ คือตามภาวะของมันเอง  เป็นอย่างนั้น  แต่มันมัวหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา
 
     ก็เพราะธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนั้น  คือกิเลสมิใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของมัน การชำระจิตด้วยการกำจัดกิเลสให้หมดไป  จึงเป็นไปได้  ดังพุทธพจน์ที่ว่า (ยกมาให้ดูพอเห็นรูปเค้า)
 
        ปภสฺสรมิทํ   ภิกฺขเว   จิตฺตํ.   ตญฺจ   โข   อาคนฺตุเกหิ  อุปกฺกิเลเสหิ   อุปกฺกิลิฏฺฐนฺติ …จิตฺตภาวนา  อตฺถีติ   วทามีติ ฯ  
 
        ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส แต่จิตนั้นแล เศร้าหมอง ด้วยอุปกิเลสที่จรมา…
 
        ภิกษุทั้งหลาย  จิตนี้ผ่องใส และจิตนั้นแล  หลุดพ้นแล้ว  จากอุปกิเลสที่จรมา.   อริยสาวกผู้ได้เรียนสดับแล้ว  ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า อริยสาวกผู้ได้เรียนสดับแล้ว  ย่อมมีการเจริญพัฒนาจิต (จิตตภาวนา)  (องฺ.เอก.๒๐/๕๐–๕๓)
 
     เปรียบได้กับน้ำ ถึงจะขุ่นมัวสกปรกเพียงใด   เราก็สามารถชำระให้ใสสะอาดได้ เพราะสิ่งที่ทำให้ขุ่นมัวนั้นเป็นของแปลกปลอม    หมายความว่าน้ำนั้น   โดยสภาวะของมันเอง ก็คือน้ำ ไม่ใช่เป็นของสกปรกนั้น   พูดง่ายๆว่า  เมื่อน้ำสกปรก ถึงจะเน่าเหม็นอย่างไร ถ้าคนมีปัญญา ก็หาทางทำน้ำนั้นให้สะอาดได้  
 
     อย่างไรก็ตาม  ถึงจะเทียบจิตกับน้ำ ก็เป็นการเทียบได้ในแง่หนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เหมือนกันทีเดียว เพราะถึงอย่างไร ก็เป็นสภาวะต่างอย่างกัน  ถึงจะเหมือนกัน  แต่ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งเป็นนามธรรม กับ รูปธรรม การเปรียบเทียบบางทีก็ต้องเทียบกับอันโน้นอันนี้ทีละแง่
 
     ขอเทียบให้ฟังอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่ศักยภาพ ลองดูเมล็ดพืช เช่นเม็ดมะม่วง เราเอาเม็ดมะม่วงเม็ดหนึ่งไปปลูก จากมะม่วงเม็ดนั้น  ต่อมามีต้นมะม่วงงอกขึ้นมา และเจริญงอกงาม มีกิ่ง ก้าน ใบ ดอก และผล ซึ่งทั้งหมดก็มาจากมะม่วงเม็ดเดียวนั้น
 
     จึงเหมือนกับว่ากิ่ง ก้าน ใบ  ดอก และผลมะม่วงทั้งหมด มีพร้อมอยู่ในมะม่วงเม็ดเดียวนั้นแล้ว แต่ขณะที่มันเป็นเม็ดมะม่วงนั้น  เราชี้บอก ได้ไหมว่า  ตรงไหนเป็นกิ่ง ตรงไหนเป็นก้าน-ใบ-ดอก-ผล ตลอดจนลักษณะเฉพาะของมันที่สะสมมาแม้แต่ที่เริ่มแปลกพันธุ์ ก็บอกไม่ได้ นี่ คือที่ใช้คำว่าศักยภาพ
 
     เรื่องภวังคจิต ที่ว่าเป็นผลรวมวิบากของเรา เมื่อเทียบในแง่หนึ่ง ก็พึงเข้าใจทำนองนี้
 
 


Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2567 11:51:56 น. 0 comments
Counter : 191 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space