กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
25 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ฮินดูฟื้น พุทธศาสนาสลบ


 
 
235 ฮินดูฟื้น พุทธศาสนาฟุบ

 
     นับแต่พุทธกาลที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว พราหมณ์ก็เสื่อมอำนาจ เสียอิทธิพล เสียผลประโยชน์จึงได้ปรับปรุงพัฒนาตนขึ้น
 
     หลังพุทธกาล    พวกพราหมณ์ได้เอาคำสอนในพระพุทธศาสนาเข้าไปใช้ในศาสนาฮินดู เช่น เอาหลักในธรรมบทไปบรรจุไว้ในภควัทคีตา และแม้ในมหากาพย์มหาภารตะ  เช่น  ธรรมบทคาถาที่ ๒๒๓   (อกฺโกเธน  ชิเน  โกธํ  ฯเปฯ - พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ฯลฯ)   ก็ไปอยู่ในอุทโยคบรรพ  ในมหาภารตะ   (แต่เปลี่ยนจากบาลีเป็นสันสกฤต)
 
     ภควัทคีตา เป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาฮินดู ที่เขาถือว่าเป็นสุดยอด เกิดขึ้นภายหลังพุทธกาล ๖๐๐-๗๐๐ ปี (Encycl. Britannica, 1988, vol. 2, p. 183 ว่าคงเรียบเรียงขึ้นใน ค.ศต. ที่ ๑ หรือ ๒) และจัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งก็เรียบเรียงขึ้นหลังพุทธกาลเช่นกัน (จัดรวมเข้าในบรรพ ๖ คือ ตอนหรือบทที่ ๖)
 
     ถ้าไปตรวจดูจะเห็นว่า มีพุทธพจน์ในพระธรรมบทเข้าไปเป็นต้นความคิดรวมอยู่ในนั้น (เช่น ธรรมบทคาถาที่ ๑๖๐, ๑๖๕, ๓๗๙ เป็นที่ มาของบางโศลกในภควัทคีตา, ๖.๕-๖; ดู Joshi, 333)
 
     แสดงว่าเขามาเอาไป คือหลักธรรมอะไรต่างๆ ที่ดีก็เลือกเอาไป แต่รักษาหลักการของตนไว้ คือ เรื่องความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้า เรื่องวรรณะ เรื่องอาตมัน เรื่องการบูชายัญ เป็นต้น
 
     ตอนนี้ก็มีข้อสังเกตที่น่าจะโยงเข้ามาหาการที่ฮินดูมาสร้างถ้ำเหล่านี้ในระยะประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๓๐๐ (ประมาณนั้น)
 
     เป็นไปได้ไหมว่า ระยะนั้นคือยุคที่ฮินดูพยายามขยายอำนาจ
 
     ที่จริงฮินดูหาทางฟื้นอำนาจมาทุกตอน ขอย้อนหลังกลับไปเล่าเรื่องว่า เมื่อพุทธศาสนาเจริญขึ้นมา พราหมณ์ก็เสื่อมอำนาจ จนกระทั่ง หลังพุทธกาลพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก ยิ่งได้พระเจ้าอโศก (พ.ศ.๒๑๘–๒๖๐) อุปถัมภ์ด้วย พระพุทธศาสนาก็แพร่หลายไปทั่ว
 
     แต่พระเจ้าอโศกเป็นชาวพุทธ ไม่เบียดเบียนศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าศาสนาไหนก็ให้ความคุ้มครองทั่วหมด  พวกพราหมณ์ก็มาเป็นอำมาตย์ อยู่ในราชสำนักด้วย
 
     แม้ว่าพระเจ้าอโศกจะทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา แต่ข้อสำคัญ พระเจ้าอโศกประกาศห้ามการฆ่าสัตว์บูชายัญ และเน้นนักย้ำบ่อยในเรื่องนี้ ดังปรากฏชัดในศิลาจารึกราชโองการ  อีกทั้งไม่ให้อภิสิทธิ์แก่พราหมณ์  จึงเป็นการบีบคั้นใจของพราหมณ์เป็นอย่างยิ่ง
 
     เมื่อพระเจ้าอโศกสวรรคตล่วงไปถึงหลานถึงเหลน  พวกพราหมณ์ที่รับราชการอยู่ในวังก็ได้คิดการใหญ่ ได้จับหลานหรือเหลนของพระเจ้าอโศกปลงพระชนม์   แล้วก็ตั้งราชวงศ์ใหม่ เรียกว่าราชวงศ์ศุงคะ ขึ้นครองอำนาจ  (นับแบบฝรั่งราว พ.ศ.๓๐๐; นับอย่างเราราวพ.ศ.๓๖๐)
 
     ราชวงศ์ศุงคะของพราหมณ์นี้ ได้ล้างผลาญชาวพุทธ ถึงกับมีคำเล่าในประวัติศาสตร์ว่า ให้กำหนดค่าหัวชาวพุทธ  เอากันขนาดนั้นเลย  คือกำจัดชาวพุทธเป็นการใหญ่
 
     แต่ชาวพุทธรอดมาได้   เพราะหลังสมัยพระเจ้าอโศกมาถึงรุ่นหลานเหลนแล้วนี้   ราชวงศ์ศุงคะไม่สามารถจะรักษาอาณาจักรทั้งหมดไว้ได้
 
     อาณาจักรของพระเจ้าอโศกนั้น ยิ่งใหญ่ไพศาล มีอาณาเขตมากกว่ายุคปัจจุบันอีก พอสิ้นสมัยพระเจ้าอโศกไปไม่นาน  อาณาจักรของพระองค์ก็ค่อยๆ แตกสลาย พวกราชวงศ์ศุงคะก็ไม่สามารถจะมีอำนาจ ไปทั่วดินแดนเก่าของพระเจ้าอโศก อาณาจักรอื่นๆ ก็ยังรักษาพระพุทธ ศาสนาไว้อยู่
 
     ตัวอย่างเช่นดินแดนแคว้นโยนก (Bactria) ของกษัตริย์เชื้อชาติกรีก  ซึ่งสืบมาถึงพระเจ้าเมนานเดอร์ ที่ภาษาบาลีเรียกว่าพระเจ้ามิลินทะ  ก็ยังเป็นชาวพุทธอยู่  ต่อมาพวกสืบสายของกรีกนี่แหละ ที่ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเป็นพวกแรก
 
     ขอย้อนกลับไปพูดในเรื่องเก่า  เมื่อพราหมณ์มีอำนาจขึ้นมา ก็ใช้อิทธิพลการเมืองด้วย พร้อมกับที่อีกด้านหนึ่ง  ก็เอาคำสอนในพระพุทธศาสนาไปใช้แล้วปรับตัวขึ้นมา
 
     เราเรียกศาสนาพราหมณ์ที่ปรับตัวใหม่นี้ว่า ศาสนาฮินดู  พราหมณ์ กับ ฮินดูจึงเรียกแทนกันได้เป็นศาสนาเดียวกัน
 
     แต่เรามักจะเรียกศาสนาพราหมณ์  ในความหมายว่าเป็นศาสนาเดิม  ส่วนศาสนาพราหมณ์ที่ปรับตัวใหม่แล้ว เรียกว่าศาสนาฮินดู
 
     เพราะฉะนั้น ศาสนาฮินดูจึงเป็นคำเรียกศาสนาพราหมณ์หลังพุทธกาลแล้ว  ถ้าก่อนพุทธกาลไม่เรียกว่าฮินดู   นี้เป็นข้อสังเกตทั่วไป  แต่ไม่ถือเป็นเด็ดขาดพูดในแง่หนึ่ง ก็บอกได้ว่า ศาสนาฮินดูเกิดหลังพระพุทธศาสนา คือเป็นศาสนาพราหมณ์ที่ปรับตัวขึ้นมาใหม่


 



Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2567 8:58:34 น. 0 comments
Counter : 104 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space