รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
26 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 

อย่างไรที่แปลว่า ไม่ยึดติด

นี่คือคำที่กำกวมในนักภาวนา ที่ว่า ไม่ยึดติด หมายความว่าอย่างไรกัน

ผมจะยกตัวอย่างทางโลกให้เข้าใจในเรื่องนี้

สมมุติว่า ท่านต้องการจะติดรูปภาพที่ฝาผนังบ้าน ท่านต้องมีรูปภาพ มีฝาผนังบ้าน มีตะปู มีฆ้อน เมื่อท่านหาที่ได้แล้ว ท่านก็ใช้ฆ้อนตอกตะปูเข้ากับผนังบ้านทันที
เมื่อตะปูถูกตอกติดดีแล้วกับฝาผนัง ท่านก็แขวนภาพได้

อาการที่ภาพถูกแขวนที่ฝาผนัง โดยไม่ตกลงมาที่พื้น นี้คือ การที่รูปภาพมีการ.ยึดติด.กับผนังบ้านเรียบร้อยแล้ว

ในทางธรรมชาติของจิตใจ เมื่อมีแรงกระทบผ่านเข้ามาทางอายตนะแล้วผ่านมาที่มโนทวารที่แรงพอ เปลือกอวิชชาจะสั่นไหว จะปล่อยพลังงานดำมืดที่เรียกกันว่า โมหะออกมา เมื่อโมหะถูกปล่อยออกมา และ คนก็ไม่มีกำลังของสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นในจิตใจพอ อำนาจของโมหะจะแรงกว่ากำลังจิต ทำให้จิตถูกครอบงำจากโมหะนั้นกลายเป็นจิตที่ดำมืดที่ไร้แรงต้านทาน จิตที่ดำมืดจะถูกอำนาจของ.ตัณหา.ดึงให้ไปเกาะติดกับกิเลสที่เกิดขึ้นจากอวิชชาทันที นี่คือ การยึดติดในจิตใจ ซึ่งแปลง่าย ๆ ก็คือ จิตไปเกาะติดกับกิเลสด้วยอำนาจของตัณหา

ผลของจิตที่ไปเกาะติดกับกิเลสด้วยอำนาจของตัณหา คน ๆ นั้นจะสูญเสียความรู้สึกตัว สูญเสียการควบคุมอารมณ์ สูญเสียการควบคุมร่างกาย ทำให้เป็นคนขาดการยั้งคิดไปทันที ทำอะไรออกมาตามอำนาจของกิเลสที่เกาะติดกับจิตนั้น

ส่วนการไม่ยึดติดนั้นจะมีอาการดังนี้

เมื่อเปลือกอวิชชาสั่นไหวและปล่อยพลังงานออกมา แต่จิตที่มีกำลังแห่งสัมมาสมาธิทีตั้งมั่น อำนาจของพลังงานที่อวิชชาปล่อยมา จะไม่สามารถเข้าครอบงำจิตได้ เพราะกำลังแห่งสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น เมื่ออวิชชาครอบงำจิตไม่ได้ ตัณหาก็ไม่สามารถจะลากพาเอาจิตไปไหนได้ จิตจะตั้งมั่นเด่นสง่าอยู่อย่างนั้น โดยที่กิเลสทำอะไรจิตไม่ได้เลย และกิเลสก็จะสลายตัวลงไปตามธรรมชาติเป็นไตรลักษณ์ของเขาเอง และจิตที่มีสมาธิตั้งมั่น ก็จะเห็นการสลายตัวไปของกิเลส อันทำให้เกิดภาวนามยปัญญาที่เห็นกิเลสเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของ ๆ เรา

ท่านจะเห็นว่า กิเลสนั้นจะเกิดขึ้นเพราะมีเหตุที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะที่แรงพอ นี่คือเหตุ ที่อย่างไรก็ต้องเกิด แต่ว่า ถ้าคน ๆ นั้นมีสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น จิตก็จะสามารถเอาชนะอำนาจของกิเลสได้เอง

*******************
ท่านนักภาวนาสมควรทำความเข้าใจกับคำศัพท์ในการภาวนาให้ท่องแท้ มิฉะนั้น ท่านจะหลงผิดไปว่า ทำไมภาวนาแล้วไม่เห็นความก้าวหน้า กิเลสยังโผล่มาให้เห็นบ่อย ๆ
ถ้าท่านทราบความจริงว่า กิเลส มันต้องโผล่เพราะมีเหตุ แต่ถ้าท่านภาวนาได้ดี มีสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น กิเลสโผล่ก็ช่างมัน มันทำอะไรจิตที่มีกำลังสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นไม่ได้เลย เดียวกิเลสมันก็สลายไปเอง และท่านก็จะได้ภาวนามยปัญญาตามมาอีกด้วย

แต่ถ้าท่านภาวนาแล้วกิเลสไม่ยอมโผล่มานิซิ อย่างนี้ท่านจะไม่ได้ภาวนามยปัญญาว่า กิเลสนั้นไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่ของ ๆ ท่าน

แต่ถ้าท่านยังไม่มีกำลังจิตพอที่จะสู้กับกิเลส ก็ห่าง ๆ มันไว้ละดีทีสุดครับ พอมีกำลังแล้ว ก็ลองประหมัดกับมันสักตั้งเพื่อพิสูจน์ผลการฝึกของท่าน

********************
เรื่องท้ายบท

1...มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่นักภาวนาสมควรเข้าใจเพิ่มก็คือ เมื่อท่านมีกำลังสัมมาสมาธิแล้วสิ่งที่ท่านจะได้มาก็คือทางเลือกปฏิบัติครับ ท่านจะทำหรือไม่ท่านเลือกได้ แต่ถ้าไม่มีกำลังสัมมาสมาธิ ท่านไม่มีสิทธิเลือก ท่านต้องทำเพราะกิเลสมันบงการท่านไปแล้ว

ยกตัวอย่าง สมมุติว่าท่านเป็นหัวหน้าคน ลูกน้องทำงานไม่ได้เรื่อง ทำงานให้ท่านเสียหาย
ถ้าท่านแพ้ต่อกิเลส ท่านจะพูดกับลูกน้องอย่างคนเสียสติทันทีเพราะถูกอำนาจของกิเลสครอบงำ แต่ถ้าท่านมีสัมมาสมาธิ กิเลสทำอะไรท่านไม่ได้ ท่านจะมีสิทธิเลือกได้ว่า ท่านจะพูดอย่างไรดีกับลูกน้อง ท่านได้รับสิทธินี้ทันที โดยไม่ต้องไปขอคุณไตรภพเลย

2...ผมไปอ่านในกระทู้ มีการพูดถึงการไม่มีตัวตนของนักภาวนา และมีคำถามว่า ถ้าไม่มีตัวตนแล้ว นักภาวนากล้าจะเผาเงินแสนของตนหรือไม่

การไม่มีตัวตนนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้นที่ว่าเมื่อไม่มีตัวตนแล้วจะเอาเงินแสนไปทำอะไรกัน นี่คือการขาดปัญญาครับ การไม่มีตัวตนนั้น ย่อมมีปัญญาอยู่เสมอที่เข้าใจในเรื่องโลกและเรื่องธรรม ไม่ใช่ว่ารู้ธรรมแต่กลายป็นคนซื่อเบื่อในทางโลกไปถึงกับเผาเงินของตัวเองเล่นแล้วบอกว่า ฉันไม่มีตัวตนแล้ว

ความไม่มีตัวตนนั้น มาจากสภาพของจิตไร้อวิชชาห่อหุ้ม จิตจะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงแล้วนักภาวนาจะเห็นจะเข้าใจได้ว่า ความเป็นตัวตนนั้นมันมาจากอวิชชาที่หุ้มห่อจิตไว้ อันเป็นปัญญาทางธรรมที่เพิ่มขึ้นมาจากทางโลก เมื่อทางโลกเข้าใจอยู่แล้วว่าควรทำอย่างไร ปัญญาทางโลกก็ไม่สูญไปเพราะการรู้แจ้งแห่งความไม่มีตัวตนของนักภาวนา





 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2553
15 comments
Last Update : 29 มกราคม 2555 15:11:25 น.
Counter : 1177 Pageviews.

 

ดีครับ ได้แง่คิดอะไรหลายๆอย่าง

 

โดย: AkuAki 26 พฤศจิกายน 2553 11:52:39 น.  

 

จิตที่รับอารมณ์จากตา หู จมูก พร้อมๆกัน แต่จิตไม่คิดปรุงแต่งอะไร คือเฉยๆ แต่รู้สึกตัว เป้นอย่างนี้บ่อยๆจะทำให้เกิดกำลังสติมากขึ้น จะสามารถเห็นสภาวะของปรมัตถ์
เช่นรูป-นาม การเกิดดับ โดยปัญญาญาณ อย่างไร

 

โดย: cakecode 26 พฤศจิกายน 2553 13:02:25 น.  

 

ที่จิตรู้สึกเฉยนั้นเป็นความว่าง กับการรู้สึกตัวในกายประกอบกัน ต้องพิจารณาความว่างหรือเปล่า หรือเพราะการกระทบทางผัสสะยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เราได้เห็น
การเกิดกิเลสและการปรุงแต่ง คือเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยโกรธหรือโกรธน้อยลง ความอยากต่างๆก็น้อยลง คือพิจารณาเอาเองเกี่ยวกับเหตุและปัจจัยโดยการใคร่ครวญในประสบการณ์ ของเราเอง ความยึดมั่นถือมั่นก็น้อยลง

 

โดย: cakecode 26 พฤศจิกายน 2553 13:21:09 น.  

 

คำถามของคุณ cakecode เป็นคำถามที่ลึกแต่มีประโยชน์ถ้าเข้าใจ
ผมขอตอบคำถามนี้จากประสบการณ์ที่ผมพบมาเอง ผิดถูกอย่างไร ก็ฝากไว้พิจารณาก็แล้วกัน

1..จิตที่รับอารมณ์จากตา หู จมูก พร้อมๆกัน แต่จิตไม่คิดปรุงแต่งอะไร คือเฉยๆ แต่รู้สึกตัว เป้นอย่างนี้บ่อยๆจะทำให้เกิดกำลังสติมากขึ้น จะสามารถเห็นสภาวะของปรมัตถ์
เช่นรูป-นาม การเกิดดับ โดยปัญญาญาณ อย่างไร

ตอบ..ในปุถุชน จิตมักไหลออกไปตามอายตนะเสมอ ๆ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ในขณะที่จิตไหลออก เพราะว่า จิตถูกโมหะเข้าครอบงำ ซึ่งแปลว่า ในขณะนั้น เขากำลังไม่รู้สึกตัวครับ
นี่คือ ความเคยชินที่เกิดในปุถุชน เคยชินที่จะไม่รู้สึกตัว
แต่เมื่อนักภาวนามาฝึกฝน เขาเพียงรู้สึกตัวเท่านั้น ในสภาพปรกติของเขา จิตก็จะไม่ไหลออกทางอายตนะแล้ว ยกเว้นแต่ว่า เขาจะไปพบกับสภาพการสัมผัสที่รุนแรงมากกว่าปรกติ
เมื่อผมบอกใน blog ว่าให้รู้สึกตัว เฉย ๆ นี่คือการเข้าถึงสภาพที่ไม่มีโมหะครอบงำแล้ว เมื่อรูุ้สึกตัวได้อย่างนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่มีโมหะ ก็คือ นักภาวนาจะรับรู้การสัมผัสทางระบบประสาทต่างๆ ได้เองโดยที่ไม่ต้องไปจ้องมองเลย แต่ในระบบประสาทที่รับรู้ จะมีทั้งหยาบและละเอียดแตกต่างกัน
ส่วนที่เป็นจิตใจจะละเอียดมากสุด ตารองลงมา และที่หยาบ ๆ ก็มีทางลิ้น ทางผิวหนัง
เมื่อปุุุุถุชนมาฝึกฝน การให้จิตสัผผัสกับความละเอียดมาก ๆ จิตจะสัมผัสไม่ได้ หรือ ได้ก็ไม่ดี จำเป็นต้องให้จิตสัมผัสสิ่งหยาบๆ ที่สัมผัสได้ดีเสียก่อน ซึ่งก็คือ ทางผิวหนังร่างกาย หรือ ทางลิ้น แต่ที่สะดวกต่อการฝึกคือทางผิวหนังร่างกาย ทางลิ้นก็ได้ แต่ไม่สะดวกเท่าผิวหนังร่างกาย แต่ถ้าใครมีอาชีพที่ต้องกินบ่อย ๆ เขาก็ใช้สัมผัสทางลิ้นได้เช่นกัน

เมื่อจิตได้สัมผัสสิ่งหยาบทางผิวหนังร่างกายบ่อย ๆ พร้อมด้วยความรู้สึกตัว นี่คือการพัฒนากำลังสติสัมปชัญญะ ยิ่งสัมผัสมาก ก็ยิ่งมีการพัฒนาได้มาก เมื่อกำลังสติและความรู้สึกตัวได้ถูกฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะเกิดความคุ้นเคยใหม่ที่เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นคนที่ไร้ความรู้สึกตัวมาเป็นความรู้สึกตัว ในขณะเดียวกัน กำลังสัมมาสติก็มีการพัฒนามากขึ้นจากการสัมผัสความรู้สึกหยาบ ๆ และสัมผัสบ่อย ๆ

2 สิ่งนี้ต้องไปด้วยกันคือความรู้สึกตัวและความสามารถของกำลังสติจึงจะเกิดความตั้งมั่นของจิตได้

เมื่อจิตใจตั้งมั่นได้พอระดับหนึ่ง ความตั้งมั่นนี้จะทำให้เห็นอาการของจิตปรุงแต่งที่เป็นไตรลักษณ์ได้ จิตปรุงแต่งในระดับแรก ๆ ทีนักภาวนามือใหม่ ที่เห็นได้ก็คือ ความคิดและอารมณ์ที่แรง ๆ เช่นอารมณ์โกรธ

กำลังสติที่มี คือ ความไวของจิต เมื่อจิตปรุงแต่งเริ่มไหวตัวขึ้น สติจะจับการไหวตัวนี้ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ความรูุ้สึกตัวก็จะเป็นเกราะป้องกันโมหะไว้ ไม่ให้เข้าครอบงำจิตได้ เพราะในเวลาที่จิตเริ่มไหวตัว พลังงานการไหวตัวนี้จะอ่อนแอ ซึ่งสติที่ว่องไวและความรู้สึกตัว จะเป็นตัวต้านพลังโมหะที่เพิ่งเกิดและกำลังอ่อนแออยูุ่นี้ เมื่อพลังจิตชนะพลังโมหะได้ จิตก็ยังคงเป็นอิสระได้อยู่ และ พลังโมหะ ก็จะสลายตัวลงไปเองตามธรรมชาติของเขาเอง โดยที่นักภาวนาไม่ต้องทำอะไรเลย นี่คือสิ่งที่เรียกว่า สมาธิกำจัดกิเลสอย่างกลางได้

การที่สมาธิกำจัดกิเลสอย่างกลางได้นี้ นักภาวนาจะเห็น กิเลสมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นไตรลักษณ์ได้ และเป็นภาวนามยปัญญาให้แก่ผู้ภาวนา

ในขณะที่กำลังมีความรู้สึกตัวอยู่ และนักภาวนาได้สัมผัสถึงการรับรู้ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้อยู่ การรับรู้เหล่านี้ ก็เป็นไตรลักษณ์เช่นกัน เพียงแต่ว่า สิ่งเหล่านี้ มันคุ้นเคยกับคนเราอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้คนเราไม่ได้ใส่ใจมันถึงความเป็นไตรลักษณ์ของสิ่งเหล่านี้ แต่ไตรลักษณ์ของจิตปรุงแต่งนั้น คนเราไม่เคยพบมาก่อน พอมาพบเข้า ก็เลยกลายเป็นของแปลกใหม่ขึ้นมา
และทำให้คนเราเห็นมันเป็นไตรลักษณ์

แต่ถ้านักภาวนาได้เห็นจิตปรุงแต่งเป็นไตรลักษณ์บ่อยๆ ก็จะเกิดความคุ้นเคยอีกเช่นกัน และก็กลายเป็นของธรรมดาสำหรับนักภาวนาไป

การพบเห็นไตรลักษณ์ของจิตปรุงแต่ง จะเป็นเหตุให้นักภาวนาเห็นมโนทวารได้ เพราะจิตปรุงแต่งนี้แปรเปลี่ยนในมโนทวาร เมื่อนักภาวนาเห็นจิตปรุงแต่งเกิดและดับไปบ่อย ๆ เขาจะสังเกตเห็นความว่างของมโนทวารได้ ซึ่งเรื่องนี้คล้าย ๆ กับเวลาแสงสว่างส่องมาโดนฝุ่นละอองในอากาศ ทำให้คนเห็นความว่างที่ฝุ่นละอองลอยอยู่นั้นได้

การเห็นมโนทวารนี้ได้ จะเริ่มการมี ปัญญาญาณ ของนักภาวนาแล้ว เมื่อนักภาวนาเริ่มเห็นมโนทวารได้ ต่อไป เขาก็จะเห็นได้บ่อย ๆ เองซึ่งมันปรากฏอยู่ตรงหน้าของเขานี่เอง เห็นได้โดยไม่ใช่ตามอง

พอนักภาวนาเห็นมโนทวารได้บ่อย ๆ ในยามที่นักภาวนาเห็นมโนทวารได้อยู่
อาการจิตปรุงแต่งก็ยากที่จะเกิดได้ ทำให้นักภาวนารู้สึกเฉย ๆ เหมือนไม่มีกิเลสเกิดขึ้น นี่เป็นความสงบของจิตระดับฌานของสัมมาสมาธิ

แต่การภาวนายังไม่จบแค่นี้ ต้องเดินต่อไป ผมตอบเท่านี้เพื่อให้เข้าใจได้ถึงการพัฒนาปัญญาญาณว่ามาได้อย่างไร

 

โดย: นมสิการ 26 พฤศจิกายน 2553 15:30:07 น.  

 

2..ที่จิตรู้สึกเฉยนั้นเป็นความว่าง กับการรู้สึกตัวในกายประกอบกัน ต้องพิจารณาความว่างหรือเปล่า หรือเพราะการกระทบทางผัสสะยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เราได้เห็น
การเกิดกิเลสและการปรุงแต่ง คือเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยโกรธหรือโกรธน้อยลง ความอยากต่างๆก็น้อยลง คือพิจารณาเอาเองเกี่ยวกับเหตุและปัจจัยโดยการใคร่ครวญในประสบการณ์ ของเราเอง ความยึดมั่นถือมั่นก็น้อยลง

ตอบ...เมื่อนักภาวนาเห็นมโนทวารเป็นความว่างเปล่าได้แล้ว ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรทั้งสิ้น นักภาวนาต้องหมั่นฝึกฝนต่อไปเหมือนเดิม ดังได้เขียนไว้ข้างบนแล้วว่า เมื่อนักภาวนาเห็นมโนทวาร เป็นความสงบระดับฌานในสัมมาสมาธิ ทำให้กิเลสมันไม่เกิดขึ้น จิตใจจะเฉย ๆ อยู่ มันเป็นอย่างนี้เอง ถ้านักภาวนาไม่พบผู้รู้ที่ผ่านมาก่อน เขาจะเข้าใจว่า เขาได้สำเร็จธรรมชั้นสูงสุดแล้ว แต่จริง ๆยังไปไม่ถึงครับ

เมื่อนักภาวนามาถึงระดับนี้ได้ ผมแนะนำว่า การปฏิบัติของเขาสมควรพิจารณาดูว่า เป็นธรรมชาติมากขึ้นหรือไม่ ความเป็นธรรมชาติของเขาเอง คือ การไม่เกร็งสิ่งใด จิตใจวางไว้ตามธรรมชาติตามปรกติ นี่คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติแต่ยากสุด ๆ เพราะคนเราชำนาญในสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ พอเรามีความรู้สึกตัวขึ้นมา ก็มักจะเกินธรรมชาติไป

ความเป็นธรรมชาติของจิตใจ จะมีลักษณะที่บางเฉียบของความรู้สึกตัว เบาบางเหมือนไม่รู้สึกตัว แต่ยังรู้สึกตัว จะพบได้เมื่ออยู่ในกิจวัตรประจำวันของเรานี่เอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน หรือ ทำงานบ้านอะไรก็ได้
ขอเพียงนักภาวนาสังเกตเป็นระยะ ๆ แต่อย่าบ่อย ก็จะเห็นความเป็นธรรมชาติแบบนี้ได้แว๊บ ๆ สั้น ๆ แล้วหายไป เพราะถ้าสังเกตนานก็จะไม่เป็นธรรมชาติอีก ยิ่งฝึกฝนในรูปแบบ ยิ่งไม่มีทางเป็นธรรมชาติได้เลย เพราะมันเกินเลยไปจากสภาพปรกติของมันแล้ว

ในระดับนี้ ความตั้งใจฝึกฝนก็เกินเลยธรรมชาติไป ไม่ต้องไปพูดถึงคนที่บ้าระห่่ำที่อยากรู้ธรรมขั้นสูง ฝึกอย่างบ้าคลั่ง ยิ่งไม่มีทางเข้าสู่ความเป็นธรรมชาติได้เลย

เมื่อในขณะที่เป็นธรรมชาติปรกติ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น อยู่อย่างนั้นไปตามหน้าที่ทางโลกที่มีกิจต้องทำ ความเป็นธรรมชาติจะปรากฏ มโนทวารจะเห็นได้จาง ๆ ไม่เข้มชัด แล้วอาการจิตปรุงแต่งก็จะปรากฏขึ้นเองในมโนทวาร
แต่ถ้าไม่เป็นธรรมชาติ แต่มันเกินเลยไป นักภาวนาจะเห็นมโนทวารชัดเจนมาก แต่การเห็นชัดแบบนี้ จิตจะนิ่งสงบไม่ไหวติง ทำให้ขาดปัญญาในระดับสูงไป

ในยามที่เป็นธรรมชาติ ถ้านักภาวนามีความไวของสัมมาสติ ก็จะเห็นขณะที่จิตปรุงแต่งเริ่มเกิดได้ และ เห็นมันดับลงไปได้ ตั้งแต่ต้น จนจบ ซึ่งในข้อ 1 ข้างต้น นักภาวนาจะยังไม่เห็นตอนมันเกิด แต่เห็นมันเกิดมาแล้ว ซึ่งต่างกันเพราะความรวดเร็วในการเห็นไม่เท่ากัน

การเห็นทั้งหมด ก็สักแต่ว่า เห็น ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องพิจารณาอะไรทั้งสิ้น
เพราะการเห็น ก็คือ เห็นด้วยจิต แต่ถ้าไปคิด มันคือการใช้ สัญญา สังขาร มันเป็นคนละตัวกันกับจิต

การภาวนานั้น เพียงแต่ให้จิตเขาเห็น ก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องคิดไม่ต้องพิจารณาอะไรเลย แล้วจิตเขาจะปฏิวัติตัวเองให้เข้าสู่การหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงของเขาเองอีกเช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้ ก็อยู่ในสภาพที่เป็นปรกติของนักภาวนาจริง ๆ เกินไปก็ไม่ได้ ขาดไปก็ไม่ได้อีกเช่นกัน นีคือสิ่งที่่ยากที่สุดของการภานาในขั้นปลาย ที่ไม่เกินไป ไม่ขาดไป ทุกอย่างพอดีพร้อม

 

โดย: นมสิการ 26 พฤศจิกายน 2553 15:56:34 น.  

 

สาธุ

 

โดย: mcayenne94 27 พฤศจิกายน 2553 12:01:16 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะที่ได้กรุณาอธิบายให้ฟัง ตอนนี้ดิฉันฝึกจากธรรมชาติแล้ว เช่นเก็บกวาดบ้าน แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว
ไม่มีรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรมและทั้งคำบริกรรมแล้ว ใช้ความเป็นธรรมชาติในการดำเนินชีวิตประจำวันแทนและใช้ความรู้สึกตัวให้มีสติสัมปชัญญะ จิตรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เร็วและวางลงได้เร็วขึ้นค่ะ คนรอบข้างว่าเหมือนเราจืดๆชืดๆเป็นแบบนั้นใช่หรือเปล่าคะ

 

โดย: cakecode 27 พฤศจิกายน 2553 17:49:04 น.  

 

ใช่ครับ

 

โดย: นมสิการ 27 พฤศจิกายน 2553 20:06:33 น.  

 

การเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ จะส่งผลออกมาที่จิตใจที่ไม่เกร็ง
เมื่อจิตใจไม่เกร็ง จิตใจจะเป็นอิสระที่นิ่มนวล
เมื่อจิตใจอิสระนิ่มนวล สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ จะทำงานอย่างเป็นอิสระ
ซึ่่งหมายความว่า ในชีวิตประจำวัน จะมีความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิดมักจะผุดออกมาเองเสมอ ๆ นักภาวนาเพียงแต่รู้/เห็น ความคิดเหล่านั้นเท่านั้น ความคิดเหล่านั้นก็จะดับไปเอง บางครั้งความคิดจะออกมาเป็นคล้ายเสียงพากษ์ให้รู้ได้ ก็ปล่อยมันทำงานของมันไปอย่างเป็นอิสระ

การที่นักภาวนาไม่เกร็งจิต แล้วปล่อยให้สัญญา สังขาร มันทำงานของมันเอง และนักภาวนาเห็นการทำงานของมันบ่อย ๆ ยิ่งจะเพิ่มกำลังแห่งสัมมาสมาธิให้ตั้งมั่นมากขึ้น ยิ่งเห็นมากแต่ไม่เข้าไปยึดกับมัน จะยิ่งทำให้มีกำลังจิตมากขึ้น ความคิดที่ไม่ตั้งใจคิดที่มันผุดออกมาเองอย่างนี้ ถ้านักภาวนามีความไวของสติสูงมากพอ จะเห็นตอนมันเกิดได้ ถ้าเห็นตอนมันเกิดได้ ยิ่งจะเพิ่มปัญญาให้แก่จิตที่เข้าไปเห็นแดนเกิดของจิตตสังขาร

นักภาวนาทีไม่เข้าใจการภาวนาดีพอ ก็จะพยายามทำจิตใจเกร็งแข็ง เพื่อที่จะให้จิตนิ่ง เลยไม่เกิดปัญญาในระดับสูง จะมีแต่ความสงบทางจิตเท่านั้น

หลวงพ่อเทียนท่านสอนว่า ยิ่งคิดยิ่งรูุ้ นี่คืออย่างนี้เองครับ

จำไว้นะครับ ยิ่งผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ทำตัวเป็นธรรมชาติมากเท่าใด ยิ่งเข้าใจธรรมได้ ยิ่งเห็นธรรมได้เท่านั้น

 

โดย: นมสิการ 27 พฤศจิกายน 2553 20:44:36 น.  

 

ขณะนั่งสมาธิที่จิตนิ่งๆขณะหนึ่งรู้สึ่กว่ามีพลังงานความร้อนออกที่ฝ่ามือ2ข้าง ,ตรงกลางกระหม่อมบ้าง ไหล่ด้านซ้ายบ้าง บางครั้งมาพร้อมกันทีเเดยว3 จุด บางครั้งมีกลิ่นหอมของดอกไม้อ่อนๆ ดิฉันควรทำอย่างไร ต้องกำหนดอย่างไร บางครั้งก็มีเห็นแสงเป็นวงๆสีเขียวสีเหลืองบ้างสลับกัน
บางครั้งรู้สึกกลัวเหมือนมีใครอยู่ด้วยตลอดเวลาก็เลิกทำสมาธิช่วยแนะนำหน่อยคะ

 

โดย: vagus IP: 117.47.189.206 27 พฤศจิกายน 2553 22:31:53 น.  

 

ขอคำแนะนนำหน่อยค่ะ ขณะนั่งสมาธิดิฉันรู้สึกว่ามีพลังงานความร้อนออกจากฝ่ามือ 2 ข้าง บ้าง กลางกระหม่อมบ้าง ไหล่ด้านซ้าย บ้างครั้งเกิดพร้อมกัน 3 จุด ,บ้างก็มีกลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายดอกไม้ป่า หรือมีแสงสีเหลืองเป้นวงๆสลับกัแสงสีม่วง แดงบ้างเป็นพักๆ ดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ บางครี้งกลัวก็เลยไม่นั่งสมาธิเพียงแค่สวดมนตเท่านั้นเอง และในเวลาปกติบางครั้งที่ไม่ได้นั่งสมาธิ ก็รู้สึกมีพลังงานความร้อนที่ไห่ล่ซ้าย คล้ายมาเตือนให้ไหว้พระสวดมนต์ จิตใต้สำนึกบอกดิฉันแบบนี้

 

โดย: vagus IP: 117.47.189.206 27 พฤศจิกายน 2553 22:40:41 น.  

 

เรียน อาจารย์ครับ
ขอแสดงความยินดีด้วยครับกับคุณcakecode ที่สำเร็จถึงระดับหนึ่งแล้ว อยากให้ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ที่ละเอียดหรืออธิบายว่าปฏิบัติอย่างไร ซึ่งก็จะเป็นกำลังใจให้เราพยายามกันต่อไป
ส่วนผมก็ลูบ แขน ขา มือ แต่ก็เผลอยาวมาก บางทีก็มีอยากรู้ผสมเข้ามาด้วยความเคยชิน
ขอบคุณมากครับ

 

โดย: คนใหม่ IP: 223.207.125.138 27 พฤศจิกายน 2553 23:36:53 น.  

 

ตอบ คุณ vagus

ขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ วิธีการปฏิบัติที่ผมแนะนำในนี้ ไม่ใช่การนั่งสมาธิครับ แต่เป็นการปฏิบัติเรื่องการเจริญสติสัมปชัญญะ อาการของคุณนั้นมาจากการนั่งสมาธิ ซึ่งผมไม่อาจจะแนะนำใด ๆ ได้ เพราะผมไม่ได้ฝึกมาทางแบบนั้น

ต้องขออภัยอีกครั้งครับ

 

โดย: นมสิการ 28 พฤศจิกายน 2553 6:55:52 น.  

 

ตอบ คุณคนใหม่

เมื่อคุณฝึกอย่างถูกทาง ใหม่ๆ ก็ต้องเป็นทุกคน คือ เผลอบ้าง อยากรู้บ้าง ก็ไม่เป็นไร ทำใจให้สบาย ฝึกไปเรื่อย ๆก็จะคุ้นเคยในของใหม่ครับ
ขอเพียงมีความเพียรในการฝึกที่ถูกต้อง รู้สึกตัว ผ่อนคลาย สบาย ๆ
สักวันหนึ่ง คุณก็เดินทางไปได้ไกลเองครับ

 

โดย: นมสิการ 28 พฤศจิกายน 2553 6:57:43 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 29 มกราคม 2555 15:27:55 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.